สถานะ ชะลอโครงการ

ตั้งแต่ ปี 2530 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างบริษัท Marston & Marston Inc. เข้าสำรวจแหล่งถ่านหินในแอ่งสะบ้าย้อย โดย กฟผ. มีโครงการพัฒนาเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ที่ตำบลทุ่งพอ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เริ่มเข้าไปทำการขุดเจาะสำรวจแหล่งถ่านหินในชุมชน ต่อมาในปี 2536 ได้เกิดเหตุการณ์ปัญหามลพิษจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยชะลอโครงการไประยะหนึ่ง จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรื้อฟื้นโครงการเหมืองถ่านหินสะบ้าย้อยอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อกันแหล่งถ่านหินสะบ้าย้อยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าไปพัฒนา เพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยไม่ต้องมีการเปิดประมูล และมีการเชิญผู้นำชุมชนไปร่วมประชุมกันเพื่อทำประชาคม ที่พื้นที่เขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลว่า การดำเนินการครั้งนี้จะดำเนินการสำรวจข้อมูลใหม่เท่านั้น ไม่มีการตอบคำถามเรื่องการโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่

หลังจากนั้น 3 ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้พยายามดำเนินการสำรวจจนได้ข้อมูลแล้วเสร็จ ประชาชนเข้าใจว่าการเจาะหลุมสำรวจมีผลให้น้ำบ่อของชาวบ้านแห้งไปหลายบ่อ ซึ่งการขุดเจาะมีหลุมทั้งหมด 660 หลุม ความลึกรวม 131,622 เมตร ครอบคลุมในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน

พื้นที่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำการสำรวจแหล่งถ่านหินสะบ้าย้อย มีปริมาณสำรองทางธรณีวิทยา มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

โครงการศึกษาการมีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งถ่านหินสะบ้าย้อย เริ่มขึ้นในปี2549 โดยการคณะทำงาน 3 ชุดดังต่อไปนี้ คณะทำงานประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์, คณะทำงานศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม, คณะทำงานศึกษาแนวทางการพัฒนาแหล่งถ่านหินสะบ้าย้อย 

และในปี2554 มีการขอฉันทามติจากประชาชนในพื้นที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าไปศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย เพื่อให้รายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานทราบ โดยนายอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้ลงนาม ในหนังสือที่ สข 0016.2/ว3971 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรรมการศึกษาผลดีผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อยระดับอำเภอ  

ในระหว่างปี 2554–2555 กฟผ.แจ้งว่าจะมีการจัดงบประมาณเพื่อการศึกษาเหมืองลิกไนต์สะบ้าย้อย 20 ล้านบาท จัดงบประมาณเพื่อชุมชน ประมาณ 4 ล้านบาท หากผลการศึกษาแล้วเสร็จ ซึ่งเมื่อชุมชนตัดสินใจจะพัฒนาโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะมีงบประมาณเพื่อชุมชนปีละ 50 ล้านบาท เป็นเวลา 25 ปี จะรับผู้มีความรู้ความสามารถและแรงงานในท้องถิ่นมาทำงาน จ่ายเงินภาษีบำรุงท้องที่ตามที่รัฐกำหนด และเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโดยลงทุนในรูปแบบสหกรณ์ท้องถิ่น  สำหรับแหล่งถ่านหินลิกไนต์สะบ้าย้อยมีทั้งหมด 4 แหล่งในตำบลทุ่งพอและ 1 แหล่งในตำบลคอลอมูดอ อำเภอสะบ้าย้อย ซึ่งทาง กฟผ.มีการขีดวงชัดเจนว่าว่าจะดำเนินการในพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านซาว ตำบลทุ่งพอเท่านั้น