Unseen EGAT By ENGY ตอน ล้วงลึกโรงไฟฟ้าและการบำรุงรักษาแบบเข้าใจง่าย

10 October 2022

     หลายคนได้ยินและได้รู้จักกับโรงไฟฟ้า ถ้าหากมองภายนอกก็มีลักษณะคล้ายโรงงานทั่ว ๆ ไป มีน้อยคนนักที่จะได้เข้าไปเห็นด้านในของโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่โรงไฟฟ้าหยุดเดินเครื่องเพื่อบำรุงรักษา เครื่องจักรภายในโรงไฟฟ้าก็จะถูกชำแหละออกมาทีละชิ้น ๆ ถ้าเปรียบเหมือนมนุษย์ก็คงเหมือนการผ่าหัวใจ ปอด ตับ หรือไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญออกมารักษาแล้วจึงใส่กลับเข้าไปใหม่ วันนี้เอนจี้มีนัดกับพี่ ๆ ทีมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล และฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า ที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการบำรุงรักษา เอนจี้จึงไม่พลาดที่เข้าไปเก็บภาพบรรยากาศภายในโรงไฟฟ้า พร้อมทั้งเรื่องเล่างานบำรุงรักษาจากทีมงานมาฝากกันด้วยครับ

     โรงไฟฟ้าน้ำพองที่ทีมบำรุงรักษาจะพาเอนจี้เข้าไปดูนั้น เป็นโรงไฟฟ้าหลักของภาคอีสาน มีกำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม เล่าให้เข้าใจง่าย ๆ คือ มี 2 วัฏจักรในการผลิตไฟฟ้า ประกอบด้วย การผลิตไฟฟ้าจากกังหันก๊าซ (Gas Turbine) ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เผาไหม้จนเกิดความร้อนแล้วนำมวลความร้อนเหล่านี้มาขับเคลื่อนกังหันก๊าซและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า หลังจากนั้นจะใช้ Heat Recovery Steam Generator หรือ HRSG นำความร้อนจากวัฏจักรแรกมาทำให้น้ำเดือดและกลายเป็นไอน้ำที่มีแรงดันสูง ซึ่งไอน้ำแรงดันสูงนี้จะขับเคลื่อนกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) ให้ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้อีกหนึ่งครั้ง ดังนั้น ส่วนประกอบสำคัญของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมนั้นจะประกอบไปด้วย กังหันก๊าซ (Gas Turbine) , HRSG , กังหันไอน้ำ (Steam Turbine) และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เมื่อรู้ถึงส่วนประกอบสำคัญของโรงไฟฟ้าประเภทนี้แล้ว ตามเอนจี้และทีมบำรุงรักษาเข้าโรงไฟฟ้าไปพร้อม ๆ กันเลยนะครับ

     จากภาพด้านบนนี้ คือ การบำรุงรักษากังหันก๊าซ (Gas Turbine) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในวัฏจักรแรก โดยการบำรุงรักษาครั้งนี้เป็นการบำรุงรักษาเฉพาะบางส่วน (Minor Inspection) ดังนั้น จึงได้เห็นทีมงานบำรุงรักษากำลังเปลี่ยนชิ้นส่วนของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามรอบอายุการใช้งาน เช่น Combustion Part และ Turbine Stationary Blade & Moving Blade ที่เราจะเรียกรวม ๆ ว่า Turbine Part ซึ่งอุปกรณ์ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นของที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก จึงต้องมีการใช้เครนช่วยในการขนย้ายด้วยความชำนาญและระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งยังมีการตรวจสอบความพร้อมใช้งานของเครื่องจักรด้วยสายตาและเครื่องมือวัด เช่น เครื่องตรวจสอบโครงสร้างจุลภาค เครื่องตรวจสอบความแข็งด้วย

     ส่วนถัดมาในกระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่เชื่อมต่อมาจากกังหันก๊าซ เรียกว่า Heat Recovery Steam Generator หรือ HRSG ซึ่งนำความร้อนจากวัฏจักรแรกมาทำให้น้ำเดือด จนกลายไปเป็นไอน้ำและปรับให้เป็นไอน้ำที่มีแรงดันสูง โดย HRSG จะอยู่บริเวณด้านนอกอาคาร มองดูด้วยตาเปล่าแล้วมีความสูงมากกว่าตึก 10 ชั้น การทำงานบนที่สูงเช่นนี้เอนจี้ว่า น่าจะมีความหวาดเสียวอยู่ไม่เบาเลยทีเดียว

     ทีมบำรุงรักษาเล่าว่า สำหรับการบำรุงรักษา HRSG จะต้องตรวจสอบทั้งท่อน้ำ ภาชนะรับแรงดันไอน้ำ และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ ซึ่งมีการเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน นอกจากจะทำให้อุปกรณ์มีความพร้อมใช้งานแล้ว ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรับรองความปลอดภัยตามกฎหมาย ซึ่งทีมงานบำรุงรักษาจะต้องมีความเชี่ยวชาญและมีใบอนุญาตในการตรวจรับรองความปลอดภัย HRSG ตามกฎหมายด้วย

     เดินกลับเข้ามาด้านในโรงไฟฟ้า ทีมบำรุงรักษาพาเอนจี้มาพบกับวัฏจักรที่ 2 นั่นคือ กังหันไอน้ำ (Steam Turbine) ซึ่งเป็นปลายทางของกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยไอน้ำแรงดันสูงจาก HRSG จะส่งต่อมาที่กังหันไอน้ำทำให้เกิดการหมุนของกังหันไอน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจนเกิดเป็นกระแสไฟฟ้าในที่สุด

      ในงานบำรุงรักษากังหันไอน้ำในครั้งนี้ มีการตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น วาล์วไอน้ำแรงดันสูง (Main Steam Valve) ที่ใช้ควบคุมปริมาณของไอน้ำจาก HRSG, ตรวจสอบ Bearing ของกังหันไอน้ำ รวมถึงการตรวจสอบใบพัดของกังหันไอน้ำ (Steam Turbine Blade) ด้วยสายตา เครื่องมือวัด และกระบวนการทดสอบขั้นสูงอย่างมีมาตรฐาน

     สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) ส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะมีอยู่ทั้งในกังหันก๊าซและกังหันไอน้ำ ก็มีการบำรุงรักษาเช่นกัน โดยเน้นการตรวจสอบทางด้านไฟฟ้าของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เช่น Inspection Stator และ Terminal Lead ให้มีความพร้อมในการใช้งาน

     จากจุดเริ่มต้นพวกเราก็มาถึงขั้นตอนสุดท้ายในที่สุด พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ทุกหน่วยจะต้องถูกส่งผ่านออกจากโรงไฟฟ้าไปยังหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อทำหน้าที่ปรับระดับแรงดันไฟฟ้าส่งไปยังระบบส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อส่งต่อไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA แจกจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนต่อไป โดยในการบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าจะมีการทดสอบสภาพความพร้อมใช้งานด้วยเครื่องมือวัดทางไฟฟ้า และทำความสะอาดอุปกรณ์ให้มีความพร้อมใช้งาน ซึ่งระหว่างการทำงานจะต้องมีการใช้อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยและปฏิบัติงานตามขั้นตอนความปลอดภัยตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันอันตรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานบนที่สูง นอกจากนั้นยังมีการเก็บตัวอย่างน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าส่งเข้าห้องปฏิบัติการทางเคมี เพื่อวิเคราะห์สภาพของหม้อแปลงไฟฟ้า ป้องกันความเสียหายต่าง ๆ อีกด้วย

     เต็มอิ่มและจุใจมาก ๆ สำหรับการเก็บภาพบรรยากาศการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าน้ำพอง เชื่อว่าหลายคนไม่เคยเห็นกันอย่างแน่นอน ทีมงานได้ร่วมกันบำรุงรักษาโรงไฟฟ้ากันคนละไม้คนละมือด้วยความมุ่งมั่น ภารกิจเหล่านี้ก็เพื่อให้โรงไฟฟ้ามีความพร้อมใช้งาน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง มั่นคงตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ไฟฟ้าทุกหน่วยที่ผลิตมีความมั่นคง เพียงพอ เพื่อส่งต่อไปให้กับคนไทยได้ใช้อย่างมีความสุข

Skip to content