อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของบังกลาเทศ

ในฐานะที่เป็นประเทศที่อยู่ระหว่างการพัฒนา กิจกรรมการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นในบังกลาเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตซีเมนต์เติบโตตามไปด้วยเช่นกัน ปัจจุบัน นอกจากตอบสนองความต้องการในท้องถิ่น อุตสาหกรรมซีเมนต์ของบังกลาเทศยังส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินเดีย เมียนมาร์ เนปาล มัลดีฟส์ และศรีลังกา ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตปูนซีเมนต์บังกลาเทศ (BCMA) ยอดขายประจำปีของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์สูงถึง 3 แสนล้านตากา (ประมาณ 1 แสนล้านบาท)

ภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“Chhatak Cement Factory Limited” เป็นโรงงานปูนซีเมนต์แห่งแรกในพื้นที่ปัจจุบันของประเทศบังกลาเทศ ก่อตั้งขึ้นในเขต Sylhet ในปี 2484 เดิมชื่อ “Assam Bengal Cement Factory” ปัจจุบัน Chhatak Cement Factory Limited ได้กลายมาเป็นบริษัทปูนซีเมนต์ของรัฐ ต่อมาในปี 2516 โรงงานซีเมนต์แห่งที่สองของประเทศ “Chittagong Cement Clinker and Grinding Factory Limited” ได้ก่อตั้งขึ้นในจิตตะกอง แต่กำลังการผลิตของโรงงานเหล่านี้มีจำกัดมากและไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ บังกลาเทศจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อตอบสนองความต้องการซีเมนต์ของประเทศ จากข้อมูลของ DataBD ประมาณร้อยละ 95 ของซีเมนต์ทั้งหมดของประเทศนำเข้ามาจากอินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย และอินเดียจนถึงกลางทศวรรษที่ 1990

ด้วยความจำเป็นในการพัฒนาประเทศและปริมาณการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการท้องถิ่นและบริษัทข้ามชาติหลายแห่งเริ่มผลิตปูนซีเมนต์ในบังกลาเทศมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 90 หลังจากได้เห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมนี้ บริษัทต่างๆ เช่น Confidence Cement Limited (1991), Meghna Cement Mills Limited (1992) และ Aramit Cement (1995) เริ่มดำเนินการในประเทศในช่วงทศวรรษที่ 90 ในขณะเดียวกัน บริษัท Hyundai Cement Bangladesh Limited ซึ่งเป็นโรงงานปูนซีเมนต์ข้ามชาติแห่งแรกในบังกลาเทศก็ได้เริ่มดำเนินการ หลังจาก Hyundai Cement แล้ว บริษัทข้ามชาติอื่นๆ เช่น Heidelberg, Lafarge Holcim, Simex และ Ultratech ก็เริ่มเข้าสู่ตลาดบังกลาเทศเช่นกัน

ในปี พ.ศ. 2539 Heidelberg ได้เริ่มต้นดำเนินกิจกรรมในบังกลาเทศด้วยการสร้างท่าเทียบเรือลอยน้ำพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านบรรจุภัณฑ์บนเรือที่ท่าเรือจิตตะกอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ได้ก่อตั้งโรงงานชื่อ Scan Cement Limited ที่ Kanchpur เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งทางตลาดภายในประเทศ ในปี พ.ศ. 2543 ได้ซื้อหุ้นส่วนน้อยในโรงงานปูนซีเมนต์แห่งที่สองของประเทศ นั่นคือ Chittagong Cement Clinker and Grinding Factory Limited ในปี พ.ศ. 2546 ทั้งสองบริษัทได้ควบรวมกิจการเพื่อดำเนินงานต่อไปในชื่อ Heidelberg Cement Bangladesh Limited การพึ่งพาการนำเข้าซีเมนต์ของประเทศค่อยๆ ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่อุตสาหกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของ BCMA จำนวนบริษัทซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่า 4 เท่าในช่วงระหว่างปี 2551 ถึง 2561

จากแหล่งข้อมูลดังกล่าง มีบริษัทผลิตปูนซีเมนต์จดทะเบียนประมาณ 76 แห่งในประเทศ และจากรายงานของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น The Daily Star ฉบับเดือนธันวาคม 2563 มีโรงงานปูนซีเมนต์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 37 แห่งในประเทศ บริษัท 10 อันดับแรกของประเทศในปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ ร้อยละ 81 ของตลาดปูนซีเมนต์ทั้งหมด โดย Shah Cement เป็นผู้นำตลาดโดยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 13 (12.96) และ Bashundhara Kings อยู่ในอันดับที่สองมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 12 (12.13) ตามมาด้วย Fresh (ร้อยละ 8.72) Crown (ร้อยละ 7.27) และ Seven Circle Cement (ร้อยละ 7.21) ในบรรดาบริษัทซีเมนต์ทั้งหมด ปัจจุบันมีบริษัท 7 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นของประเทศ ได้แก่ Aramit Cement, Confidence, Heidelberg, Lafarge, Meghna, MI และ Premier Cement โรงงานปูนซีเมนต์ส่วนใหญ่ของประเทศตั้งอยู่ใน 5 เขตภูมิภาค (ได้แก่ เขต Munshiganj, Narayanganj, Meghnaghat, Chittagong และ Mongla ตามรายงานของ IDLC ในเดือนมกราคม 2564 อุตสาหกรรมซีเมนต์จ้างงานโดยตรง 60,000 คน และจ้างงานทางอ้อมประมาณหนึ่งล้านคน

ตามรายงานของ IDLC ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ต่อหัวต่อปีในบังกลาเทศเพิ่มขึ้นจาก 45 กิโลกรัมเป็น 200 กิโลกรัมในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประกอบด้วยภาครัฐร้อยละ 45 ของความต้องการใช้ทั้งหมด บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 30 และบุคคลทั่วไปร้อยละ 25 นาย Mohammad Shahidullah รองประธานสมาคมผู้ผลิตปูนซีเมนต์บังกลาเทศ (BCMA) กล่าวว่าความต้องการปูนซีเมนต์ต่อเดือนในบังกลาเทศอยู่ที่ 4 ล้านตัน ปัจจุบัน ราคาปูนซีเมนต์ต่อถุงขนาด 50 กก. อยู่ที่ประมาณ 450 ตากา และจากการวิจัยของ EBL Securities พบว่าร้อยละ 60 ของปูนซีเมนต์ที่ผลิตส่วนใหญ่ขายดีในช่วงฤดูหนาว (ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน)
โดยปกติบังกลาเทศผลิตปูนซีเมนต์สองประเภทคือ Ordinary Portland Cement (OPC) และ Portland Composite Cement (PCC) ปูนซีเมนต์ทั้งสองประเภทนี้รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ CEM-1 และ CEM-2 ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คอมโพสิต PCC มีคุณภาพดีกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ทั่วไปในด้านความทนทาน จนกระทั่งการผลิต PCC เริ่มขึ้นในบังกลาเทศในปี 2546 OPC จึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย และมีความต้องการใช้ในระดับโครงการขนาดใหญ่มากกว่า

ภาครัฐบริโภค 45% บริษัทอสังหาริมทรัพย์บริโภค 30% และบุคคลทั่วไปบริโภค 25% ของการผลิตซีเมนต์ทั้งหมดต่อปี

นอกจากการผลิตและการขายซีเมนต์แล้ว หลายๆ บริษัทยังนำเสนอโซลูชั่นคอนกรีตผสมเสร็จที่ทำจากส่วนผสมของซีเมนต์ ทราย หินบด และน้ำให้กับลูกค้าอีกด้วย คอนกรีตผสมเสร็จนี้เตรียมสำหรับการใช้งานโดยตรงจากโรงงานผสมและจัดหาโดยรถผสมขนส่ง (Ready Mixed Concrete) โดยทั่วไปแล้วบริการคอนกรีตผสมเสร็จค่อนข้างมีประสิทธิภาพสำหรับโครงการขนาดใหญ่ บริษัทซีเมนต์หลายแห่งยังให้บริการต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนการจัดส่งของลูกค้า และการประเมินความต้องการใช้ในโครงการ เป็นต้น

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการส่งออก (Export Promotion Bureau-EPB) รายงานว่าบังกลาเทศมีการส่งออกซีเมนต์มูลค่า 10.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2561-2562 ลดลงเหลือ 9.14 ล้านในปีงบประมาณ 2562-2563 และตามรายงานของ IDLC ร้อยละ 90 ของซีเมนต์ของบังกลาเทศส่งออกไปยังอินเดีย การระบาดของโรคระบาดในปี 2563 ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตของตลาด รวมทั้งอุปทานและยอดขายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 11.5 อัตราการเติบโตลดลงและลดลงเหลือประมาณร้อยละ 7.65 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2563 ในช่วงที่มีโรคระบาด โครงการพัฒนาที่สำคัญทั้งของรัฐบาลและเอกชนในประเทศ ถูกปิดตัวลงเป็นเวลานาน ส่งผลให้ยอดขายของผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ลดลงถึงร้อยละ 90 ตามรายงานของ IDLC ในระหว่างการล็อกดาวน์ ผู้ผลิตใช้กำลังการผลิตเพียงร้อยละ 10 ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียมูลค่าทางการเงินมากกว่า 3,000 ล้านตากา บริษัทผู้ผลิตยังประสบปัญหาต่างๆ เช่น วิกฤตด้านการจัดหาวัตถุดิบ การซบเซาของกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ และยอดขายตกต่ำในช่วงพีคซีซัน อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ อุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ยอดขายเริ่มฟื้นตัวเนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลและกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์กลับมาดำเนินการต่อ ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตฟื้นตัวขึ้น

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

ในระยะเริ่มแรกของการผลิต ซีเมนต์ชนิดเดียวกันถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์หลายอย่าง แต่ปัจจุบันนอกจาก Ordinary Portland Cement (OPC) และ Portland Composite Cement (PCC) แล้ว ผู้ผลิตหลายรายได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด เพื่อให้สอดคล้องต่อการใช้งานของผู้ใช้ เช่น PlasterCrit ของ Lafarge Holcim Ltd. ซึ่งเป็นซีเมนต์เฉพาะสำหรับงานฉาบเท่านั้น นอกจากนี้ สายผลิตภัณฑ์ของแบรนด์อย่าง Shah Cement และ Crown Cement ได้ผลิต “Blast Furnace Cement” เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่และโครงการก่อสร้างอื่นๆ ที่มีต้องการอายุการใช้งานยาวนานและคงทนแข็งแรง

การสร้างแบรนด์และการตลาด

ในช่วงแรกของอุตสาหกรรม ผู้ผลิตซีเมนต์ของบังกลาเทศจะใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยในการทำการตลาดและการส่งเสริมการขาย แต่ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยจำนวนที่ผู้ผลิตซีเมนต์เพิ่มมากขึ้นในประเทศ แคมเปญโฆษณาส่งเสริมการขายและโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากการโฆษณากลางแจ้งแบบดั้งเดิมแล้ว แบรนด์ต่างๆ ยังเปิดตัวแคมเปญต่างๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ระดับโลกและระดับประเทศ การมีส่วนร่วมของบริษัทซีเมนต์ในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมส่วนรวมเพิ่มขึ้นเช่นกัน ผ่านการระดมแคมเปญต่างๆ เช่น แคมเปญวันพ่อของ Shah Cement และ “Export TVC” ของ Crown Cement ซึ่งมีผลตอบรับที่ดีในการสร้างตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาด และสร้างการรับรู้ของผู้บริโภค

เหตุผลเบื้องหลังการเติบโต:

โครงการของรัฐบาล

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นผลมาจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลบังกลาเทศ ในปีงบประมาณ 2562 เมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด 7 โครงการ ได้แก่ การก่อสร้างสะพาน ทางรถไฟ โรงไฟฟ้า และทางยกระดับรถไฟฟ้า มีงบประมาณรวมกันมากกว่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลดีโดยตรงต่ออุตสาหกรรมซีเมนต์ นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างสิ่งสาธารณะประโยชน์อื่นๆ ของรัฐบาลและการพัฒนาอุตสาหกรรมการก่อสร้างยังช่วยให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงขึ้น
รายได้ต่อหัวของประชากรที่สูงขึ้นและการส่งเงินกลับเพิ่มมากขึ้น
รายได้ต่อหัวและการส่งเงินกลับของแรงงานโพ้นทะเลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากมีรายได้เพียงพอในการก่อสร้างบ้านเป็นของตนเอง และส่งผลให้ปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นเช่นกัน

การขยายตัวของเมืองและโครงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น

ผู้คนจากพื้นที่ชนบทมักจะย้ายเข้ามาอยู่ในเขตเมืองด้วยความหวังว่าจะได้รับการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากข้อมูลของ Statista ในปี 2563 ประชากรในเขตเมืองในบังกลาเทศมีประมาณ 65 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากจำนวนเพียงประมาณ 50 ล้านคนในปี 2554 ด้วยเหตุนี้ การก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์จึงเพิ่มขึ้นในเขตเมืองอย่างกรุงธากา และในเขตเมืองส่วนอื่นๆ ของประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยของประชากรที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

ความท้าทาย
ผลผลิตล้นตลาด

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Daily Star เดือนธันวาคม 2563 ปัจจุบันผู้ผลิตปูนซีเมนต์มีกำลังการผลิตรวมกันต่อปีที่ 58 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการในประเทศเพียง 33 ล้านตัน หมายความว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีกำลังการผลิตส่วนเกินถึงร้อยละ 43 ของความต้องการทั้งหมด จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตปูนซีเมนต์บังกลาเทศ (BCMA) เนื่องจากผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมจะเพิ่มกำลังการผลิตในอีก 2-3 ปีข้างหน้า อัตรากำลังการผลิตส่วนเกินอาจเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากกำลังการผลิตล้น โรงงานจึงต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้นหรือต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปูนซีเมนต์เป็นสินค้าหนัก จึงไม่สามารถส่งออกปูนซีเมนต์เพิ่มเติมในปริมาณมากในภายหลังได้ เป็นผลให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตและการดำเนินงานเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่ออัตรากำไร

การพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้ามีการนำเข้าปูนเม็ด ตะกรัน หินปูน และยิปซั่ม จำนวน 18.6 ล้านตัน ในปีงบประมาณ 2562-2563

ปูนเม็ดเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่สำคัญที่สุดในการผลิตปูนซีเมนต์ และส่วนประกอบหลักในการทำปูนเม็ด คือ หินปูนซึ่งไม่สามารถจัดหาได้สอดคล้องกับความต้องการในบังกลาเทศ ปัจจุบันมีผู้ผลิตเพียงสองรายในบังกลาเทศที่ผลิตปูนเม็ดด้วยตนเอง รายแรกคือบริษัท Chhatak Cement Factory Limited ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งมีกำลังการผลิตที่จำกัดมาก อีกแห่งคือ Lafarge Surma Cement Limited ซึ่งผลิตปูนเม็ดประมาณร้อยละ 10 ของความต้องการทั้งหมดในประเทศ การนำเข้าประสบปัญหาทั้งจากเรื่องของภาษีนำเข้าที่สูง ภาษีอื่นๆ และการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ตามข้อมูลด่านศุลกากรจิตตะกองในปีงบประมาณ 2562-2563 บริษัทผู้ผลิตซีเมนต์นำเข้าปูนเม็ด ตะกรัน หินปูน และยิปซั่ม รวมกันถึง 18.6 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาในประเทศผ่านทางท่าเรือจิตตะกอง ในขณะที่ผู้ผลิตในบังกลาเทศครั้งหนึ่งเคยพึ่งพาจีนอย่างมากสำหรับวัตถุดิบ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศต่างๆ เช่น ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ต้นทุนการขนส่งสูง

เนื่องจากการโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายถนนที่ขาดคุณภาพในบังกลาเทศ ต้นทุนการขนส่งของผู้ผลิตจึงเพิ่มขึ้นอย่างมากในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการส่งมอบคำสั่งซื้อของลูกค้า รวมทั้งกฏหมายการกำหนดน้ำหนักกดเพลาหรือจำกัดน้ำหนักบรรทุก ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องการรถบรรทุกหลายคันในการจัดส่ง ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ในทางเลือกอื่น ผู้ผลิตต้องการขนส่งปูนซีเมนต์และวัตถุดิบทางเรือ แต่ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่มีเรือบรรทุกสินค้าเพียงพอ

โอกาส: เศรษฐกิจที่กำลังเติบโต

ด้วยเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตของบังกลาเทศ กิจกรรมการก่อสร้างโครงการของรัฐบาล เอกชน และการก่อสร้างเชิงพาณิชย์จึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ Mordor Intelligence ในช่วงปี 2563 ถึง 2568 ตลาดการก่อสร้างในบังกลาเทศคาดว่าจะเติบโตถึงร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความต้องการผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ตามธรรมชาติ นอกจากนั้น ปูนซีเมนต์ของบังกลาเทศกำลังได้รับความนิยมในอินเดียเนื่องจากค่าขนส่งค่อนข้างต่ำ ราคาที่แข่งขันได้ และคุณภาพได้รับการยอมรับตามมาตรฐานการส่งออก ตามรายงานของ Simnet เมื่อเดือนกันยายน 2563 กลุ่ม Bashundhara ของบังกลาเทศกำลังวางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตโดยการลงทุน 117.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อส่งออกไปยังรัฐเจ็ดสาวน้อยของอินเดีย (รัฐต่างๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย) กล่าวอีกนัยหนึ่ง แม้ว่าจะไม่สามารถส่งออกซีเมนต์ปริมาณมากไปยังประเทศที่ห่างไกลได้ แต่ผู้ผลิตในบังกลาเทศก็มีโอกาสที่จะคว้าโอกาสในการส่งออกเพิ่มเติมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียได้

การผลิตอิฐมวลเบา

อิฐมวลเบาเป็นอิฐบล็อกสี่เหลี่ยมมาตรฐานที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร อิฐมวลเบาก้อนเดียวสามารถใช้แทนอิฐธรรมดา 5 ก้อน ซึ่งช่วยลดต้นทุนการก่อสร้าง น้ำหนักที่ต่ำยังช่วยลดต้นทุนในการออกแบบโครงสร้างของอาคาร และยังช่วยลดขนาดของฐานรากและโครงสร้าง นอกจากนี้ ยังมีการใช้ปูนน้อยกว่าในการก่อสร้าง รวมทั้งยังช่วยลดเวลา แรงงาน และต้นทุนในเวลาเดียวกัน ส่วนประกอบหลักของอิฐมวลเบาคือปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ การใช้อิฐมวลเบาในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

คอนกรีตเสริมเหล็ก (RCC) ในการก่อสร้างถนน

RCC หรือ Reinforced Cement Concrete เป็นวัสดุที่แข็งแรงและใช้งานได้หลากหลายในงานก่อสร้าง การใช้ RCC ไม่เพียงแต่เพิ่มความแข็งแรงของคอนกรีตเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ทนต่ออุณหภูมิและแรงกดอัดได้อีกด้วย ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกล่าวว่า การใช้ RCC ในการก่อสร้างถนนควรได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ถนนมีความแข็งแรง คงทนต่อการใช้งานอย่างยั่งยืน

การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากไทย

ในช่วงปี 2563-65 บังกลาเทศนำเข้าปูนเม็ด พิกัด 252310 จากไทย ปริมาณ 3.3 3.8 และ 3.4 ล้านตัน มูลค่า 114.29 138.05 และ 139.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ปี 2566 ช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ นำเข้าแล้ว 0.57 ล้านตัน มูลค่า 23.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563-64 มีการนำเข้ายิปซั่ม พิกัด 25201000001 ปริมาณ 0.75 และ 1.2 ล้านตัน มูลค่า 0.16 และ 0.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไม่มีการนำเข้าในปี 2565 ซึ่งจากการติดตามข้อมูลการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากผู้นำเข้าพบว่า ราคาสินค้าของไทยสูงกว่าคู่แข่งจากประเทศอื่นเป็นอย่างมาก รวมทั้งการเข้มงวดส่งออกสินค้ายิปซั่มจากไทย ขณะนี้ บังกลาเทศหันไปนำเข้าจากเวียดนามเป็นการทดแทน

thThai