เส้นทางเรียนต่อ “ศัลยแพทย์” หลังจบป.ตรี! พร้อมส่อง “ปั้นดินน้ำมัน” หนึ่งในเกณฑ์การคัดเลือก


 
     ช่วงนี้ก็อยู่ในช่วงการสมัครสอบ “กสพท” ที่เป็นการรวมกลุ่มของคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ ของสถาบันต่างๆ เพื่อทำการทดสอบวิชาความถนัดแพทย์ และพิจารณาคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในระบบ TCAS รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน โดยน้องๆ จะต้องยื่นคะแนนวิชาสามัญควบคู่ไปด้วย
 

 
     อย่างที่ได้ยินหลายคนพูดถึงกันว่า กว่าจะผลิต “แพทย์” ที่เชี่ยวชาญสักคนนึง ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก กินเวลามากกว่า 6 ปี เพราะโดยพื้นฐานแล้ว การเรียนแพทย์จะต้องเรียนอย่างน้อย 6 ปี เมื่อจบออกมาจะได้รับวุฒิ “แพทยศาสตรบัณฑิต” ผ่านการสอบใบประกอบวิชาชีพ ก็จะสามารถ “รักษาคนไข้ ตรวจโรคทั่วไปได้” แต่ก็มีหลายคนเข้าใจผิดว่า เรียนจบ 6 ปีแล้วสามารถรักษาเฉพาะทาง ทางใดทางหนึ่งได้เลย
      ในการเรียนแพทย์ 1 – 3 ปีแรก จะเรียกรวมๆ ว่า “ชั้นพรีคลินิก (Pre-Clinic)” จะเรียนความรู้พื้นฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์พื้นฐานทางการแพทย์ พอเข้าปี 4 -6 จะเรียกว่า “ชั้นคลินิก (Clinic)” จะไปเรียนในโรงพยาบาล เหมือนเรียนไป ทำงานไป มีอยู่เวร ได้ดูแลคนไข้จริงๆ โดยในโรงพยาบาล ซึ่งนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 จะถูกเรียกว่า “เอกซ์เทิร์น (Extern)” แต่สำหรับใครที่อยากจะเชี่ยวชาญในการรักษาเฉพาะทางเพิ่มมากขึ้น หลังจากใช้ทุนเป็น “อินเทิร์น (Intern)” แล้ว ก็จะต้องลงเรียนต่อไปอีกอย่างน้อย 3-5 ปี หรือที่ เรียกกันว่า “แพทย์ประจำบ้าน (Resident)” และถ้าใครอยากเชี่ยวชาญมากขึ้นไปอีก ก็สามารถลงเรียนเพิ่มเติม ที่เรียกว่า “แพทย์ประจำบ้านต่อยอด (Fellow)” และยังสามารถเรียนต่อไปได้อีก...
     ก่อนหน้านี้ก็มีน้องๆ สอบถามกันเข้ามาถึงการสอบเรียนต่อ "แพทย์ประจำบ้าน (Resident)" หรือแพทย์เฉพาะทาง หลังจากเรียนปริญญาตรีจบ 6 ปี รวมไปถึงที่น้องๆ พบข้อความในทวิตเตอร์ว่า มีการสอบ "ปั้นดินน้ำมัน" เพื่อคัดเลือกเข้าในสาขาศัลยแพทย์ฯ ว่าเป็นมาอย่างไร
 

 
     จากการพูดคุยกับเจ้าของโพสต์ พบว่า "การปั้นดินน้ำมัน เป็นเกณฑ์คัดเลือกส่วนหนึ่ง (เล็กน้อยมาก) ของสาขาศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เท่านั้น เพราะสำหรับคนที่เรียนศัลยกรรม ควรมีทักษะการใช้มือ ใช้มีดที่ดี เป็นการบอกถึงความสามารถในการใช้มือทางอ้อม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร อย่างที่ญี่ปุ่น บางสถาบันเขาก็คัดด้วยการให้ทำซูชิจิ๋ว พับนกจิ๋ว พับ Origami แต่ที่เราใช้ดินน้ำมัน อาจเป็นเพราะมันประหยัดดี"
     อย่างที่บอกค่ะ การปั้นดินน้ำมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการคัดเลือกในบางสถาบันเท่านั้น แต่เอ๊ะ....เส้นทางในการสอบเข้าเรียน "แพทย์ประจำบ้าน (Resident) สาขาศัลยกรรม" ปกติทั่วไปแล้ว เป็นยังไงกันบ้าง ไปดูกันค่ะ
     ในการสอบแพทย์ประจำบ้าน หรือ Resident สาขาศัลยกรรม สามารถแบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง คือ
1. Resident Trainning หรือ สมัครเป็นแพทย์ประจำบ้าน
     หลังจากจบ แพทยศาสตรบัณฑิต ก็ไปใช้ทุน หรือทำงานในสังกัดของรัฐ 1-3 ปี กลับมาสมัครเป็นแพทย์ประจำบ้าน Resident ที่โรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลต่างๆที่สามารถฝึกอบรมได้ ซึ่งจะมี 2 ทางเลือก คือ
- สามารถรับทุนจากโรงพยาบาลของรัฐ (ตามที่โรงพยาบาลเปิดรับ) เพื่อเรียนต่อ และกลับไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลนั้นๆ ตามสัญญา
- เป็น Free Train เข้าไปสมัครเรียนที่โรงเรียนแพทย์
 
2. Fixed Ward
     เป็นการใช้ทุน ในสาขาที่เลือกไว้ตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ (Extern) แบ่งออกเป็น 2 แบบ
 
- สอบบอร์ดศัลยกรรมได้
     พอเป็นนักศึกษา Extern ก็ "เลือกสาขาศัลยกรรม" ไว้ หลังจากเรียนจบ ก็ไปใช้ทุน (Intern) ในโรงพยาบาลใหญ่ 1 ปี แล้วปีต่อมาก็เข้าที่แผนกศัลยกรรมเลือกไว้ เท่ากับเป็น Resident 1 เรียนทั้งหมด 4 ปี แล้วไปสอบบอร์ด (สอบใบวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือ Board Examination) ถ้าผ่านก็สามารถเป็นหมอศัลยกรรมได้เลย
 
- สอบบอร์ดศัลยกรรมไม่ได้
     พอเป็นนักศึกษา Extern ก็ "เลือกสาขาศัลยกรรม" ไว้ แต่เลือกเป็นจังหวัดอื่น โรงพยาบาลเล็ก หลังจากเรียนจบ ก็ไปใช้ทุน (Intern) ที่รพ.นั้นๆ พอปีถัดมาก็เข้าไปอยู่แผนกศัลยกรรม แต่จะสอบบอร์ดไม่ได้ ต้องกลับมาเรียน Resident ที่โรงเรียนแพทย์ก่อนถึงจะสอบแล้วไปทำงานได้ เหมือนไปฝึกประสบการณ์การผ่าตัดก่อน แล้วค่อยกลับมาเรียนใหม่
 
    ในการสมัครสอบแพทย์ประจำบ้าน (Resident) จะมีการยื่นเอกสาร เอกสารหลักฐานต่างๆ เช่น CV (ประวัติส่วนตัว) ใบเพิ่มพูนทักษะ transcript เกียรติบัตรต่างๆ เป็นต้น และมีการสอบสัมภาษณ์ ไม่ค่อยมีข้อสอบเท่าไหร่
    หมายเหตุ: การเรียนแพทย์ประจำบ้าน จะไม่สามารถย้ายสาขาได้ ถ้าอยากย้ายจะต้องลาออก เว้น 1 ปี ถึงจะสมัครใหม่ได้
 
 คำแนะนำในการเรียนเฉพาะทาง
     ปกติคนทั่วไปมักจะคิดว่า การเป็นแพทย์ทั่วไป ไม่เชี่ยวชาญ ไปเรียนต่อเฉพาะทางดีกว่า เก่งกว่า รวยกว่า หรือ ไม่รู้ว่าจะทำอะไรเลยมาเรียนต่อเฉพาะทาง แต่จริงๆ การเรียนต่อเฉพาะทาง น่าจะเหมาะกับคนที่รู้ตัวเอง (อาจจะไปใช้ทุนก่อน แล้วรู้ว่าชอบอะไร) ว่า ชอบทางด้านนี้ มีแรงที่อยากจะมาเรียน หรืออยากทำงานด้านนี้ทั้งชีวิต พร้อมจะเสียสละเวลาของตัวเอง เพราะการเรียนต่อเฉพาะทาง ใช้เวลานาน ค่อนข้างเหนื่อย ทั้งเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ค่อนข้างหนัก กดดัน ต้องแบกรับหลายๆ อย่าง (ส่วนใหญ่เลิกกับแฟน)
 
    ทั้งนี้ "การสอบเข้าเรียนแพทย์ประจำบ้าน" ของแต่ละโรงพยาบาล แต่ละสถาบันก็มีวิธีการที่แตกต่างกัน และในแต่ละสาขาก็มีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลกับการใช้ทุน (Intern) ทำให้จำนวนปีในการใช้ทุนแตกต่างกัน ดังนั้นให้น้องๆ สอบถามรายละเอียดไปยังสาขา หรือสถาบันเพิ่มเติมค่ะ

 
ขอบคุณข้อมูลจาก
Twitter : @latenightdocto1
พี่ไอซ์ ไกรพิชญ์ (Resident ศัลยกรรมปี 1)
นพ.เอกบุตร ลิ่วเฉลิมวงศ์ (อ.แผนกศัลยกรรม รพ.มหาราชฯ)
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด