ภัยการศึกษา! จากข่าวทำร้ายนักเรียน สู่การเปิดโปงกิจการ “กวดวิชาเถื่อน”


สวัสดีค่ะ จากข่าวที่มีนักเรียนถูกทำร้ายในสถาบันกวดวิชาเข้าโรงเรียนเตรียมทหารแห่งหนึ่งจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ทำให้ตรวจสอบแล้วพบว่า สถาบันกวดวิชาแห่งนั้นเป็นสถาบันไม่ได้จดทะเบียน หรือ “กวดวิชาเถื่อน” นำไปสู่ข้อมูลที่เป็นที่น่าตกใจมากว่า ในประเทศของเรามีกวดวิชาเถื่อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งสถาบันกวดวิชานับว่าเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเด็กและระบบการศึกษาหลัก การมีกวดวิชาเถื่อนเป็นคำถามต่อไปว่า แล้วมาตรฐานการศึกษาของสถาบันกวดวิชาอยู่ตรงไหน?
 

ประเด็นร้อนในครั้งนี้ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสถาบันกวดวิชา เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกเรียนในสถาบันเหล่านี้ก่อนที่จะเขาเรียนจริงและจ่ายเงินจริง โดยการสัมภาษณ์ พี่เอ อาจารย์พงษ์กิจ เอกวิทยาเวชนุกูล เจ้าของสถาบันกวดวิชาแมท-ไซน์ MATH-SCIENCE และสถาบันกวดวิชาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร CADET-TUTOR

ต้องจดทะเบียนถูกต้อง
สถาบันกวดวิชาทุกแห่ง จะต้องมีการขึ้นทะเบียนเป็นสถาบันกวดวิชากับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบ โดยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) ซึ่งทุกประเภทของสถาบันกวดวิชาจะต้องมาขึ้นทะเบียน โดยมีการแยกว่าเป็นสถาบันกวดวิชาสอนอะไร มีหน่วยงานที่ดูแลคือสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

มีหลักสูตรเฉพาะ ให้ศธ.อนุมัติ
การจะไปขอขึ้นทะเบียนเป็นสถาบันกวดวิชา จะต้องมีการเขียนหลักสูตรของสถาบันกวดวิชาของตนเอง เพื่อให้ทางกระทรวงศึกษาธิการอนุมัติ โดยหลักสูตรนั้นก็จะมีหลายแบบ เช่น หลักสูตรตามกระทรวงฯ คือสอนเนื้อหาตามหลักสูตรของกระทรวงฯ เลย หรือ หลักสูตรกวดวิชาเตรียมทหาร, หลักสูตรกวดวิชาภาษา, หลักสูตรกวดวิชาดนตรี, หลักสูตรการสอนเสริมสวย เป็นต้น เมื่อขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะมีการตรวจสอบจากภาครัฐ เข้าระบบการเสียภาษีอย่างถูกต้อง มีการทำประกันสังคมให้กับพนักงานที่อยู่ในสถาบันกวดวิชา มีการขอความร่วมมือต่างๆจากทางกระทรวงฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา
 

การเรียนในสถาบันกวดวิชาเตรียมทหาร
สำหรับหลักสูตรของสถาบันกวดวิชาเตรียมทหาร จะเป็นหลักสูตรที่อ้างอิงหลักสูตร ม.4 ของทางกระทรวงฯ และเพิ่มวิชาพลศึกษาที่ใช้สอบเข้าเตรียมทหาร ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นการปรับใหม่เมื่อ 2 ปีก่อน จากเดิมสอบเข้าเตรียมทหารจะใช้หลักสูตร ม.3 แต่ปรับเป็น ม.4 ทางสถาบันกวดวิชาเตรียมทหารเองก็ต้องปรับหลักสูตรด้วย เนื้อหาที่ใช้สอบเข้า โรงเรียนเตรียมทหาร ก็จะเป็นเนื้อหาจาก ม.4 (สายวิทย์) ประมาณ 70% และเนื้อหาจาก ม.ต้น อีก 30%

นอกจากเนื้อหาวิชาการแล้ว หลักสูตรของสถาบันกวดวิชาเตรียมทหารจะสอนพลศึกษา มีการฝึกวิ่ง จะต้องวิ่งระยะทาง 1 กิโลเมตร ในเวลาไม่เกิน 5 นาที และฝึกการว่ายน้ำ ต้องว่ายน้ำในระยะ 50 เมตร โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 นาที 20 วินาที การสอบวิ่งและว่ายน้ำเป็นส่วนสำคัญที่ผู้สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารจะตกไม่ได้ ซึ่งแต่ละเหล่าทัพจะมีเกณฑ์คะแนนในส่วนนี้ต่างกัน นอกจากฝึกการวิ่งและว่ายน้ำแล้ว ก็จะมีการฝึกอย่างอื่นด้วย เช่น ดึงข้อ/โหนบ่า (20ครั้ง), ยืนกระโดดไกล, นั่งงอตัว, ซิทอัพ, มีดันพื้น, วิ่งกลับตัว เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดการสอบเหล่านี้แต่ละเหล่าทัพกำหนดไม่เหมือนกัน สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของแต่ละเหล่าได้เลย

 

ส่วนการเข้าค่าย คือเข้าไปกินนอนในสถาบันกวดวิชาเตรียมทหารเลย อันนี้แล้วแต่หลักสูตรของแต่ละสถาบัน จะมีทั้งแบบเรียนเสาร์-อาทิตย์, เรียนปิดเทอม, หรือเรียนทั้งปี ซึ่งบางแห่งจะมีการทำ MOU ร่วมกับโรงเรียนเอกชน โดยนักเรียนจะมาเรียนที่สถาบันกวดวิชาเตรียมทหารทั้งปี แต่เมื่อจบแล้วจะได้วุฒิการศึกษาเหมือนเป็นนักเรียนของโรงเรียนเอกชนในระบบ การมาเข้าค่ายจะเป็นการฝึกการใช้ชีวิตเสมือนจริงของนักเรียนเตรียมทหาร เข้านอนตรงเวลา ปิดโทรศัพท์มือถือ ตื่นตรงเวลา พับผ้า เก็บที่นอน ฝึกนั่งสมาธิ สอนคุณธรรมจริยธรรม และการเข้าร่วมสังคมกับคนอื่น

กวดวิชาเตรียมทหารมี 200 แห่ง แต่จดแค่ทะเบียน 50 แห่ง
จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าสถาบันกวดวิชาในประเทศไทยตอนนี้ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องเกินครึ่งหนึ่ง ถ้านับแค่สถาบันกวดวิชาเตรียมทหารในประเทศมีประมาณ 200 แห่ง พบว่าขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องเพียง 50 แห่งเท่านั้น เหตุผลที่ไม่อยากขึ้นทะเบียนเพราะจะต้องได้รับการตรงสอบจากกระทรวงฯ ต้อเข้าระบบสรรพากรเสียภาษีถูกต้อง ต้องเข้ากิจกรรมต่างๆ ทำให้เสียเวลา เลยกลายเป็นว่ามีสถาบันกวดวิชาเถื่อนมากกว่าสถาบันกวดวิชาที่ขึ้นทะเบียนในระบบ
 

ในสถาบันกวดวิชาเตรียมทหาร ที่เป็นสถาบันในระบบมีการตรวจสอบเป็นมาตรฐาน มีครูที่เป็นสายตรงในการดูแลเด็ก เช่น ครูทางด้านจิตวิทยาเด็ก, ครูฝึกพลศึกษา, หมอกายภาพสายตรง ที่จะคอยดูแลตลอดการเรียนในคอร์ส แต่ถ้าเป็นกวดวิชาเถื่อนอาจจะไม่มีส่วนนี้ เป็นเด็กดูแลกันเอง หรือเจ้าของสถาบันเป็นผู้ดูแล ที่จะไม่ได้ทั่วถึง อาจเกิดเหตุการณ์ที่เด็กจับกลุ่มกันเอง ซ่องสุมสูบบุหรี่ ยกพวกตีกัน ในระหว่างเข้าค่ายผู้ปกครองจะไม่รู้เพราะปิดโทรศัพท์ จะรู้อีกทีก็ตอนเรียนจบแล้ว หรือไม่ก็ไม่รู้เลย

ตรวจสอบยาก พบการหนุนหลัง
หน่วยงานที่เข้าไปตรวจสอบการเปิดสถาบันกวดวิชาเถื่อนก็คือ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งไม่ได้มีกำลังคนหรืองบประมาณที่มากพอในการดูแลได้อย่างทั่วถึง เมื่อมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบทำได้เพียงการเข้าไปตรวจสอบและให้ทางสถาบันฯนั้นขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง แต่หลายครั้งก็ไม่ค่อยได้ผล ตรวจสอบยาก ไม่มีหน่วยงานดูแลโดยตรง สุดท้ายกลายเป็นสถาบันกวดวิชาเถื่อนที่ไม่ได้มาตรฐานสำหรับนักเรียน

“ตกเบ็ด” โกงเงินผู้ปกครองหลักแสน
วิธีการเรียกเงินจากผู้ปกครองของสถาบันกวดวิชาเตรียมทหารที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน จะมีหลายแบบ เช่น โอนเงินลงเรียนแล้วยกเลิกคอร์ส ไม่คืนเงิน, การันตีว่าเด็กสอบติด แต่สุดท้ายไม่ติด ก็ไม่ได้คืนเงิน แต่วิธีการโหดสุดที่ขอยกให้เลยก็คือวิธี “ตกเบ็ด” เรียกเงินจากผู้ปกครองประมาณ 500,000 - 1,000,000 บาท โดยมีการการันตีว่ามาเรียนที่สถาบันแล้วเด็กสอบติดแน่นอน

วิธีการจ่ายเงินก็คือจะจ่ายเป็นงวดๆ เริ่มที่ค่าเรียนทั้งคอร์ส พอถึงเวลาที่เด็กสอบก็มีการแบ่งจ่ายต่อ เช่น ถ้ามีรายชื่อสอบผ่านวิชาการก็จ่าย 200,000 บาท ถ้าสอบผ่านสัมภาษณ์ก็จ่ายอีก 300,000 บาท ซึ่งการสอบตรงนี้เด็กสอบติดได้เอง ไม่สามารถที่จะมีนอกมีในได้ อย่างในบางเคสเด็กไม่มีรายชื่อสอบผ่านวิชาการ ทางกวดวิชาเถื่อนก็ไปหลอกผู้ปกครองว่าได้ฝากเข้าให้เรียบร้อยแล้ว โอนเงินมาได้เลย และให้น้องเตรียมตัวไปสอบด่านต่อไป ซึ่งเป็นการหลอกลวงที่ไม่สามารถเรียกร้องคืนได้ ส่วนใหญ่พอได้เงินแล้วก็หาย ติดต่อไม่ได้อีกเลย

 

เซฟตัวเอง เลือกสถาบันให้เป็น
ในการเรียนโรงเรียนกวดวิชา ในทุกประเภทกวดวิชาไม่เพียงแค่กวดวิชาเตรียมทหารเท่านั้น พี่เอ อาจารย์พงษ์กิจ ได้ฝากวิธีการเลือกมาให้น้องๆ ดังนี้ค่ะ

1.ดูว่าทางโรงเรียนกวดวิชานั้นได้ขึ้นทะเบียน มีใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ ถ้าขึ้นทะเบียนแล้วจะมั่นใจได้ว่ามีการตรวจสอบอยู่ตลอด ถ้ามีการยกเลิกคอร์ส หรือปิดคอร์ส ทางผู้เรียนจะต้องได้รับเงินคืนอย่างถูกต้อง

2.ดูว่าคณะอาจารย์หรือครูผู้สอน รวมทั้งผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชา มีตัวตนจริงๆ หรือไม่ เรียนจบมาเหมาะสมที่มาเป็นผู้สอนหรือไม่ อย่างเหตุการณ์ข่าวที่เพิ่งเกิดขึ้น เจ้าของสถาบันเป็นผู้ที่เรียนไม่จบ ออกจากโรงเรียนเตรียมทหารฯก่อน แล้วมาเปิดกวดวิชาเตรียมทหารเถื่อน

3.ให้ตรวจสอบดูผลงานของโรงเรียนกวดวิชานั้นว่ามีผลงานเป็นอย่างไร มีนักเรียนที่มีผลการเรียนดีขึ้นจริง หรือมีเพียงแค่คำโฆษณาชวนเชื่อ

4.ก่อนที่จะตัดสินใจในการเลือกเรียก ให้ตัวนักเรียนและผู้ปกครองเข้าไปดูโรงเรียนกวดวิชาก่อน แล้วค่อยตัดสินใจสมัครแล้วจ่ายเงิน

 

เห็นแบบนี้แล้วก็แอบใจหายไม่ได้ มีโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่สามารถตรวจสอบได้อยู่เยอะมาก จนกลายเป็นธุรกิจไปแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วโรงเรียนกวดวิชาควรเป็นโรงเรียนแห่งที่ 2 ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนมากกว่าเป็นธุรกิจที่หลอกเงินจากผู้ปกครอง ก่อนที่น้องๆ จะเลือกเรียนในโรงเรียนกวดวิชาก็อย่าลืมตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อนนะคะ เพื่อความสบายใจของตัวเองด้วย และผู้ปกครองด้วย :)
 
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

เด็กนักเรียน 28 มิ.ย. 62 22:14 น. 1

ส่วนตัวไม่คิดว่าการขึ้นทะเบียน และใช้หลักสูตรจะดีนะครับ เนื่องจากประสพการณ์ตรงของผมมีปัญหาว่าการเรียนที่โรงเรียนได้ความรู้ไม่เพียงพอต่อการทำข้อสอบจริง เด็กและเพื่อนๆส่วนใหญ่จึงหนีปัญหามาเรียนนอกระบบบ้าง หรือเรียนพิเศษบ้าง เนื่องจากจะได้รับความรู้เพิ่มนอกเหนือจากหลักสูตร ตัวผมเองคิดว่าการขึ้นตรงกับกระทรวงการศึกษา ใช้ระบบ และหลักสูตรตามก็ไม่ต่างกับเรียนที่โรงเรียน แล้วเราจะเรียนพิเศษไปทำไมครับ?

ป.ล.จากคนที่หนีการเรียนจากในโรงเรยน

1
กำลังโหลด
กำลังโหลด