หลังจากต้องปิดปรับปรุงมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ตั้งแต่เดือน เม.ย.2562 ขณะนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม พร้อมกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งแล้ว

สำหรับไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือการจัดแสดงโบราณวัตถุในสมัยทวารวดี นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 (ราว พ.ศ.1100-1200) เนื่องด้วยนครปฐมเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเมืองสมัยทวารวดี และเป็นเมืองสำคัญที่ตั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน ทำให้พบหลักฐานโบราณวัตถุในสมัยทวารวดีเป็นจำนวนมาก ที่มีอายุมากกว่า 1,000 ปี!!!

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ แบ่งการจัดแสดงออกเป็นเรื่องราวในอดีตของนครปฐมสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวารวดี ผ่านโบรารวัตถุ และการเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์จากจารึกสำคัญที่พบในนครปฐม ส่วนต่อมาเป็นเรื่องราวของศาสนาและความเชื่อของชุมชนทวารวดีในนครปฐม ขณะที่ส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องราวความเจริญของนครปฐม หลังจากวัฒนธรรมทวารวดีเสื่อมลง จนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่จัดแสดง ประกอบด้วย จารึกวัดพระงาม เป็นหลักศิลาจารึกที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดหลักหนึ่ง ปรากฏข้อความมากที่สุด และมีความชัดเจนงดงามของรูปอักษรมากที่สุดนับตั้งแต่มีการขุดศึกษาแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี กำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 12

พระพุทธรูปสลักด้วยหินพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี ซึ่ง “พนัสบดี” เป็นสัตว์ที่มีปากเป็นครุฑ แต่มีหูและเขาอย่างโค มีปีกอย่างหงส์, ประติมากรรมประดับศาสนสถาน ทำเป็นภาพต่างๆ เช่น พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ภาพบุคคล ภาพสัตว์ เป็นต้น และ ธรรมจักร เครื่องหมายแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นกงล้อทำจากแผ่นหิน ซึ่งเมืองนครปฐมมีการค้นพบธรรมจักรจำนวนมากที่สุด มากกว่า 30 วง และมีขนาดใหญ่กว่าที่อื่น

จากการค้นพบ “ธรรมจักร” ที่มีจำนวนมากที่สุดนี้เอง จึงนำมาสู่ข้อเสนอที่ว่า เมืองโบราณนครปฐม คือศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ อีกด้วย 

………………………………………………..

คอลัมน์ : จุดเช็กอิน…ยลถิ่นชุมชน