รายงานข่าวจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แจ้งว่า ความคืบหน้าการแก้ปัญหากรณีรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) ยี่ห้อ BONLUCK หรือ BLK จำนวน 486 คัน หลังจากจอดไว้ที่อู่รถเมล์ และหยุดให้บริการ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ที่มี บริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) (SCN) และ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ (CHO) เป็นคู่สัญญา ได้แจ้งและส่งหนังสือบอกเลิกสัญญามาให้ ขสมก. แล้วนั้น

ขณะนี้คณะอนุกรรมการกฎหมาย ขสมก. อยู่ระหว่างเตรียมออกหนังสือเชิญ กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO เข้ามาหารือเกี่ยวกับการบริหารสัญญาการซ่อมบำรุงรถเมล์เอ็นจีวี 486 คัน ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุป ทั้งนี้ หารือกันแล้วผลจะได้ข้อสรุปหรือไม่ได้ข้อสรุป จะนำเสนอเรื่องนี้ให้คณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) พิจารณาบอกเลิกสัญญา และเป็นไปตามระเบียบของข้อกฎหมายอย่างรอบด้าน ซึ่งหลังจากบอกเลิกสัญญาแล้ว จะเร่งดำเนินการหาบริษัทผู้รับเหมาซ่อมบำรุงรถเมล์เอ็นจีวี 486 คัน รายใหม่ต่อไป เนื่องจากรถเมล์ยังอายุใช้งาน 5-6 ปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องดำเนินการให้จบเร็วที่สุด เพราะถ้าปล่อยไว้นานจะเกิดความเสียหายจำนวนมากกับองค์กร ทั้งเรื่องรายได้ที่มาจากการเดินรถ และบริษัทคู่สัญญาที่ติดโฆษณาบนรถเมล์ เป็นต้น เพราะขณะนี้รถเมล์เอ็นจีวีได้จอดไว้ที่อู่รถเมล์ทั้งหมด ไม่มีการนำมาวิ่งให้บริการประชาชนแล้ว ทำให้ปัจจุบัน ขสมก. มีรถเมล์ให้บริการเพียง 2,399 คัน จากก่อนหน้านี้ (รวมรถเมล์เอ็นจีวี 486 คัน) มีรถเมล์ให้บริการ 2,885 คัน โดย ขสมก. ต้องแก้ไขปัญหานำรถเมล์เส้นทางอื่นๆ หมุนเวียนมาให้บริการทดแทน เพื่ออำนวยความสะดวกและบรรเทาความเดือดร้อนผู้โดยสาร

ขณะเดียวกัน หลังจากรถเมล์เอ็นจีวีหยุดให้บริการทั้งหมด ขสมก. เก็บข้อมูลจำนวนผู้โดยสารพบว่า ยังใช้บริการเท่าเดิม คือ 600,000-700,000 คนต่อวัน เพราะ ขสมก. มีการบริหารจัดการเดินรถเมล์ที่เหลืออยู่ นำมาใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น รถเมล์บางเส้นทางมีช่วงกำหนดเวลาวิ่ง เมื่อวิ่งครบเวลากำหนดแล้วจะนำรถไปจอดในอู่ เพื่อพักการใช้งาน แต่ทั้งนี้ เมื่อมีกรณีรถเมล์เอ็นจีวี 486 คันจอด จำเป็นต้องนำรถเมล์ที่จอดนี้ ขสมก. จะนำมาหมุนเวียนให้บริการเส้นทางที่รถเมล์เอ็นจีวีวิ่ง รวมทั้งเพิ่มจำนวนเที่ยวในเส้นทางที่ใช้บริการหนาแน่น เพื่อให้รถเมล์บริการเพียงพอกับจำนวนผู้โดยสาร

ส่วนรายได้พบว่าลดลงเหลือวันละ 7 ล้านบาท จากเดิมมีรายได้วันละ 8-9 ล้านบาท หายไปวันละ 1 ล้านบาท เนื่องจากรถเมล์เอ็นจีวี เก็บค่าโดยสาร 15-20-25 บาท (ตามระยะทาง) ทางด่วนเพิ่มค่าบริการ 2 บาท แต่เมื่อหมุนรถเมล์ธรรมดา (รถเมล์ร้อน) สีครีม-แดง มาให้บริการแทน ค่าโดยสารอยู่ที่ 8 บาทตลอดสาย และรถเมล์ปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) ยูโรทู สีเหลือง-ส้ม ราคา 13-15-17, 19-21-23-25 บาท (ตามระยะทาง) ทางด่วนเพิ่มค่าบริการ 2 บาท เนื่องจากรถเมล์ร้อน และรถเมล์ยูโรทู จะเก็บค่าโดยสารถูกกว่ารถเมล์เอ็นจีวี เพื่อเป็นไปตามเงื่อนไขการเดินรถที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนด

ส่วนกรณีรถเมล์เอ็นจีวี 486 คัน บางคันที่จอดอยู่ในอู่รถเมล์ในช่วงที่ไม่สามารถนำออกวิ่งได้ มีการถอดป้ายทะเบียนออกนั้น เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นรถเมล์ที่ครบรอบตรวจสภาพกับ ขบ. ตามรอบภาษี ซึ่งจะมีการตรวจสภาพรถทุก 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง ซึ่งในเดือน เม.ย. 67 พบว่ามีรถเมล์ต้องนำไปตรวจสภาพตามรอบภาษีจำนวน 199 คัน แต่เนื่องจากรถเมล์อยู่ระหว่างการรอซ่อมบำรุงไม่สามารถนำไปตรวจสภาพได้ ขสมก. จึงแจ้ง ขบ. เพื่อขอระงับการใช้งานรถเมล์จำนวน 199 คัน ชั่วคราว และส่งป้ายทะเบียน พร้อมสมุดคู่มือประจำตัวรถ (เล่มทะเบียนรถ) คืนให้ ขบ. เพื่อเป็นไปตามเงื่อนไขเดินรถที่ ขบ. กำหนดก่อน จากนั้นเมื่อรถเมล์ซ่อมบำรุงเรียบร้อยจะนำรถเมล์ไปตรวจสภาพตามรอบภาษี พร้อมขอยกเลิกระงับการใช้รถเมล์จำนวน 199 คันดังกล่าวชั่วคราว จากนั้นจะได้รับป้ายทะเบียนรถดังกล่าว พร้อมสมุดคู่มือประจำตัวรถคืน และสามารถนำรถเมล์เข้าสู่ระบบให้บริการปกติต่อไป ขณะเดียวกันหากยังไม่สามารถซ่อมบำรุงรถเมล์เรียบร้อย และพบว่ามีรถเมล์ที่ครบกำหนดเวลาต้องนำไปตรวจสภาพตามรอบภาษีอีก ขสมก. จะแจ้ง ขบ. เพื่อขอระงับการใช้การใช้งานรถเมล์เพิ่มเติมต่อไป

ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ซึ่งกำกับดูแล ขสมก. กล่าวว่า ได้เร่งรัดให้บอร์ด ขสมก. และ ขสมก. แก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเร็ว โดยเฉพาะการบอกเลิกสัญญาเหมาซ่อมกับบริษัทคู่สัญญา เพื่อจะหาบริษัทเหมาซ่อมรายใหม่เข้ามาดำเนินการซ่อมบำรุงรักษารถเมล์เอ็นจีวีต่อไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน