สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ว่า สัญญามาตรฐานสำหรับยูเรเนียมออกไซด์ ซึ่งถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ เมื่อได้รับการเสริมสมรรถนะ เพิ่มขึ้นเป็น 85.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ (ราว 3,000 บาท) เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2550

การเพิ่มขึ้นของราคายูเรเนียม เป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ รวมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปสงค์ที่ฟื้นตัว เนื่องจากการกลับมาให้ความสนใจในพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงความกลัวเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หลังรัสเซียปฏิบัติการทางทหารในยูเครน และการสะสมยูเรเนียมสำรองปริมาณมาก ของผู้เล่นทางการเงินบางคน

ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (อีไอเอ) ระบุว่า ราคายูเรเนียมที่สูงขึ้น จะสร้างความลำบากใจให้กับประเทศที่พึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์อย่างมาก เช่น ฝรั่งเศส ซึ่งผลิตไฟฟ้าเกือบ 70% จากพลังงานนิวเคลียร์ เมื่อปี 2564 ตลอดจนหลายประเทศที่อนุมัติการขยายการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่หลายแห่ง อาทิ เบลเยียม, สหราชอาณาจักร, โรมาเนีย, สหรัฐ หรือแม้แต่ประเทศที่เปิดตัวโครงการใหม่ ได้แก่ จีน, อินเดีย, ตุรกี และอียิปต์

“อุปสงค์พลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น แต่อุปทานยังไม่ตอบสนองมากพอ” นายโจนาธาน ฮินเซ ประธานบริษัทวิจัยอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ “ยูเอ็กซ์ซี” (UxC) กล่าว

ขณะที่สมาคมนิวเคลียร์โลก (ดับเบิลยูเอ็นเอ) ระบุเสริมว่า คาซัคสถาน ซึ่งเป็นผู้ผลิตยูเรเนียมรายใหญ่ที่สุดของโลก ประสบปัญหาด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการขาดแคลนกรดซัลฟิวริกที่ใช้ในการสกัด ส่งผลให้ยูเรเนียมมีปริมาณที่จำกัดเช่นกัน

“ความต้องการยูเรเนียมยังคงแข็งแกร่งและเติบโต แต่มันเป็นไปไม่ได้ ที่จะเพิ่มอุปทานในชั่วข้ามคืน ด้วยเหตุนี้ ราคายูเรเนียมจะสูงขึ้นไปอีกในระยะกลาง ไม่ใช่ลดลง” ฮินเซ กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP