เมื่อพูดถึงอีกหนึ่งอุปกรณ์ช่วงล่างที่สำคัญนั้น เชื่อว่าหลายๆ คน อาจจะนึกถึง “โช้คอัพ” กันไม่ใช่น้อย แต่น้อยคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ที่จริงแล้วทำงานอย่างไร แล้วเมื่อไหร่ที่ถึงเวลาเสียเงินในกระเป๋าที่ต้องเปลี่ยนกัน.. วันนี้ “รู้ก่อนเหยียบ” จะพาไปทำความรู้จักกันครับ

โช้คอัพ (Shock Absorber) เป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยรองรับแรงกระแทก และลดแรงสั่นสะเทือนของรถ มีหน้าที่ช่วยควบคุมการดีดตัวของสปริง-แหนบ หรือช่วงล่างให้สอดคล้องไปกับสภาวะของผิวถนนขณะที่รถวิ่ง โช้คอัพที่มีคุณภาพสูง จะช่วยลดการเสียดสีและการสึกหรอของยาง ตลอดจนอะไหล่ช่วงล่าง โดยเฉพาะลูกหมาก บูชยาง ระบบกันสะเทือน ตลอดจนช่วยให้รถยนต์เกาะถนนได้ดีทั้งทางตรงและขณะเข้าโค้ง

อายุขัยของโช้คอัพ
อายุการใช้งานของโช้คอัพ ขึ้นอยู่กับการใช้งานและวิธีการติดตั้งที่สมบูรณ์และถูกต้อง โดยปกติแล้วจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 50,000-100,000 กิโลเมตร หรือ 3 ปี โดยผู้ผลิตจะแนะนำให้ตรวจสอบโช้คอัพทุก ๆ 20,000 กิโลเมตร แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ จากสถิติรถยนต์เข้าศูนย์บริการ พบว่า 1 ใน 4 คัน โช้คอัพชำรุด

ประเภทของโช้คอัพ
– แบ่งตามโครงสร้างของกระบอก ได้แก่ โช้คอัพกระบอกเดี่ยว (Mono Tube) โช้คอัพกระบอกคู่ (Double Tube)
– แบ่งตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ โช้คอัพทำงานจังหวะเดียว โช้คอัพทำงานสองจังหวะ
– แบ่งตามคุณสมบัติ ได้แก่ โช้คอัพน้ำมัน จะใช้น้ำมันไฮดรอลิกเป็นตัวกลางทำงานเพียงอย่างเดียว โช้คอัพแก๊ส โช้คอัพชนิดนี้บรรจุน้ำมันไฮดรอลิก และแก๊สไนโตรเจนเข้าไปภายในกระบอกโช้คอัพ

อาการ “โช้คอัพ” ชำรุด
“โช้คอัพ” ที่ชำรุดจะส่งผลให้ระบบรองรับน้ำหนักและการบังคับเลี้ยวของรถยนต์เปลี่ยนไป เช่น รถจะมีอาการโคลง หรือโยนตัวขณะเลี้ยว ดอกยางสึกผิดปกติ การบังคับรถยากขึ้น และเกิดเสียงดัง

“โช้คอัพ” ชำรุดจะส่งผลอย่างไร
– เกิดการกระแทกอย่างรุนแรง เมื่อโช้คอัพแตกหรือรั่วซึม โช้คอัพจะไม่สามารถหน่วงการยึดหรือยุบตัวของสปริงได้ เมื่อล้อบดทับบนก้อนกรวดหรือตกหลุม สปริงจะมีการยุบและยืดตัวอย่างเต็มที่จนสุดระยะ เป็นผลให้เกิดการกระแทกของชิ้นส่วน
– เสียการทรงตัว จะควบคุมการขับได้ไม่ดี เพราะสปริง และระบบรองรับน้ำหนักของรถยนต์จะเต้นจนลอยจากพื้นถนน และหากเกิดในขณะที่ขับรถเข้าโค้ง จะทำให้สมดุลในการทรงตัวของรถทั้งคันเสียไปจนอาจเกิดอุบัติเหตุได้
– ยางสึกผิดปกติ การชำรุดของโช้คอัพจะส่งผลต่อการสึกของยางเพิ่มขึ้น โดยยางจะมีลักษณะการสึกเป็นหลุม ลึกเป็นช่วงๆ ยางรถยนต์จะสัมผัสกับถนนไม่เต็มหน้า
– ระยะเบรกเพิ่มขึ้น การขับขี่รถยนต์ที่มีการชำรุดของโช้คอัพ 50% ส่งผลต่อระยะเบรกที่เพิ่มขึ้น 2.6 เมตร ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
– เพิ่มอาการเหินน้ำ (Hydroplane) การชำรุดของโช้คอัพ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการเหินน้ำ ในขณะที่วิ่งบนถนนที่มีน้ำหรือในขณะฝนตก
– เสี่ยงต่ออุบัติเหตุในเวลากลางคืน การชำรุดของโช้คอัพทำให้รถโคลงตัว ซึ่งจะทำให้ไฟหน้าของรถยนต์ส่องไม่คงที่ ส่งผลให้ผู้ที่ขับรถสวนมา อาจตาพร่ามัว และทำให้เกิดอุบัติเหตุ

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเปลี่ยนโช้คอัพใหม่
– การติดตั้งโช้คอัพมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ดังนั้นควรได้รับการติดตั้งจากช่างผู้ชำนาญ
– แม้โช้คอัพเป็นอุปกรณ์ความสำคัญของระบบรองรับน้ำหนัก แต่โช้คอัพไม่ได้ทำหน้าที่รับน้ำหนักบรรทุก แต่เป็นตัวหน่วงเพื่อให้รถยนต์ได้รับแรงสะเทือนน้อยที่สุด ทำให้ล้อสัมผัสกับพื้นผิวของถนนขณะรถวิ่งได้อย่างสมดุล
– ควรหลีกเลี่ยงถนนที่มีสภาพไม่ดี เป็นหลุมเป็นบ่อ เพราะจะทำให้โช้คอัพต้องทำงานหนัก
– การขับรถตกหลุมแรงๆ หรือขับด้วยความเร็วขึ้น-ลง ลูกระนาด ทำอายุการใช้งานสั้นลง
– หลังการติดตั้งโช้คอัพใหม่ๆ ควรขับรถบนทางเรียบประมาณ 300-500 กิโลเมตรก่อน เพื่อเป็นการวอร์มโช้คอัพ

อย่างไรก็ตาม หลังการติดตั้งโช้คอัพใหม่ทุกครั้ง ต้องผ่านการตั้งศูนย์ล้อด้วยเสมอครับ..

………………………..
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ 
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]