…นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการวิเคราะห์และสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ โดยนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ … เป็นการวิเคราะห์และสะท้อนไว้ถึงกรณี “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต” และ “ประมุขพระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร-เครือจักรภพ คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3” …โดยการวิเคราะห์ดังกล่าวนี้เป็นการวิเคราะห์ประเด็น “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”…

โฟกัส “ความสัมพันธ์กับประเทศไทย”

หลัง “สหราชอาณาจักรเกิดจุดเปลี่ยน”

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นยึดโยงการเมืองระหว่างประเทศ การบริหารประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งโฟกัสที่ “สหราชอาณาจักร” หรือ “สหราชอาณาจักรเกรตบริเตน และนอร์เทิร์นไอร์แลนด์” ที่แกนกลุ่มประเทศเครือจักรภพคือ “อังกฤษ” ที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีกษัตริย์เป็นประมุข เมื่อย้อนดูข้อมูล “ความสัมพันธ์ทางการเมืองไทย-สหราชอาณาจักร” ที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยเคยจัดทำไว้ในปี 2554 บางช่วงบางตอนระบุไว้ว่า…

ไทยกับสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน โดยได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2398 ซึ่งในเวลานั้นสหราชอาณาจักรได้ตั้งสถานกงสุลขึ้นในประเทศไทย ต่อมาเมื่อปี 2425 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (พระยศขณะนั้นคือหม่อมเจ้า) ราชทูต ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์นตราตั้ง แด่ สมเด็จพระราชินีนาถวิคทอเรีย และไทยได้เปิดสำนักงานผู้แทนทางการทูต (Siamese Legation) ขึ้นที่กรุงลอนดอน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรดำเนินไปอย่างราบรื่นบนพื้นฐานของมิตรภาพ ทั้งในส่วนของกรอบความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นและขยายตัวครอบคลุมทุกสาขาของความร่วมมือ ซึ่งถึงแม้ในขณะที่ไทยและสหราชอาณาจักรมิได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม หรือคณะกรรมการกำกับดูแลความสัมพันธ์ทวิภาคี ดังเช่นที่ไทยมีกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป แต่ทั้งสองฝ่ายก็ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทย-สหราชอาณาจักร ได้หยั่งรากลึกครอบคลุมทุกสาขาแล้ว ทั้งระดับสถาบันกับสถาบัน เอกชนกับเอกชน และประชาชนกับประชาชน

“สัมพันธ์แน่นแฟ้น” ฉายชัดมาแต่อดีต

ยึดโยงผู้คน การเมือง รวมถึงเศรษฐกิจ

และสำหรับด้านเศรษฐกิจ ที่ก็ยึดโยงจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็มีข้อมูลเดิมที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยเคยจัดทำไว้ในช่วงเวลาเดียวกับข้อมูลที่นำเสนอมาข้างต้น ซึ่งบางช่วงบางตอนระบุไว้ว่า… สหราชอาณาจักรก็ถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย มูลค่าการค้าเคยสูงเป็นอันดับ 2 ในสหภาพยุโรป โดยที่ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสหราชอาณาจักร โดยสินค้าหลัก ๆ ที่ไทยเคยนำเข้าจากสหราชอาณาจักร เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ น้ำแร่ น้ำอัดลม สุรา และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่สินค้าหลัก ๆ จากไทยที่เคยส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรได้มาก ก็เช่น ไก่แปรรูป น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องแปรรูป และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ความสนใจด้านการค้าและการลงทุนของสหราชอาณาจักรในไทยนั้น มีผลมาจากการที่ เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก (พระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2) ทรงดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ของ UK Trade and Investment (UKTI) และได้นำคณะนักธุรกิจและนักลงทุนมาเยือนไทยอย่างสม่ำเสมอ โดย ดยุกแห่งยอร์ก เสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ระหว่างวันที่ 6-10 ตุลาคม 2552 …นี่ก็เป็นข้อมูลสัมพันธภาพอีกส่วน ที่ฉายภาพมิติที่สำคัญ

ทั้งนี้ ย้อนดูสัมพันธ์กับไทยนับแต่อดีตดังที่ได้หยิบยกมานำเสนอไว้ข้างต้น แล้วลองมองไปถึงอนาคต หลังจากสหราชอาณาจักร หลังจากอังกฤษ เกิดการ “เปลี่ยนองค์พระประมุข” ซึ่งเป็นการ เปลี่ยนจากยุคควีน…สู่ยุคคิง โดย “เปลี่ยนจากรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2…สู่รัชสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3” เมื่อพลิกแฟ้มดูการวิเคราะห์และสะท้อนผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กับเหตุผลที่ทางนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ท่านนี้เชื่อว่า ความสัมพันธ์อังกฤษ-ไทย จะไม่มีผลกระทบใด ๆ นั้น ทาง รศ.ดร.สมชาย ได้ระบุไว้ว่า…

เนื่องเพราะ “สถาบันกษัตริย์อังกฤษไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการบริหารประเทศมานานมากแล้ว” ขณะที่ “คิงชาร์ลส์ที่ 3” นั้นก็ “ทรงวางพระองค์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการบริหารและการเมืองอังกฤษมาโดยตลอด”

ดังนั้น การเมืองของสหราชอาณาจักร ของอังกฤษ ก็จึงไม่น่าเกิดความเปลี่ยนแปลงจากการขึ้นครองราชย์ของ “คิงชาร์ลส์ที่ 3” และก็ไม่น่ามีผลใด ๆ ต่อประเทศไทย ซึ่งต่างจากประเทศในเครือจักรภพ ที่อาจมีผลในแง่การลดความผูกพัน หรือขอแยกตัวจากเครือจักรภพ …รศ.ดร.สมชาย ชี้ไว้ …แต่…ก็ต้องไม่ลืม “สหราชอาณาจักรก็เพิ่งเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี”

“สหราชอาณาจักร” ยุค “คิงชาร์ลส์ที่ 3”

มี “นายกรัฐมนตรีใหม่” คือ “ลิซ ทรัสส์”

จะอย่างไร “ไทยก็ต้องจับตา-เกาะติด”.