ค้นพบนกชนิดใหม่ของโลก

เป็นเรื่องน่าดีใจอย่างเหลือเชื่อ ที่เรายังคงค้นพบ “นกชนิดใหม่ของโลก” ในปี 2019 โดยล่าสุดเป็นกรณีของนกปรอด ที่นักดูนกแสนจะคุ้นเคยกันดี นับได้ว่าเป็นนกชนิดใหม่ ที่ถูกมองข้ามอย่างแท้จริง

นกปรอดชนิดใหม่ล่าสุดนี้ เดิมทีถูกเข้าใจกันว่าเป็นเพียงประชากรหนึ่งของ นกปรอดสีน้ำตาลตาขาว (Cream-vented Bulbul; Pycnonotus simplex) ซึ่งมีถิ่นกระจายพันธุ์ตั้งแต่ภาคใต้ของไทย ไปจนถึงเกาะบอร์เนียว สุมาตรา และชวา โดยประชากรทางภาคใต้ของไทย มีดวงตาเป็นสีขาวหรือสีครีมอ่อนๆ ในขณะที่ประชากรบนเกาะบอร์เนียว มีทั้งที่มีดวงตาเป็นสีครีมและสีแดงเข้ม

โดยประชากรบนเกาะบอร์เนียวนี่เองที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะล่าสุดมีงานวิจัยโดย Shakya, S B et al. (https://goo.gl/qHeK3p) ที่แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ประชากรที่มีตาสีครีม (A) และประชากรที่มีตาสีแดง (B) บนเกาะบอร์เนียว ต่างเป็นนกคนละชนิดกัน

ที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือประชากรที่มีตาสีแดงนั้น มีเชื้อสายใกล้ชนิดกับประชากรที่มีตาสีขาวครีม ที่พบทางภาคใต้ของไทย ในขณะที่ประชากรที่มีตาสีครีมบนเกาะบอร์เนียว กลับเป็นนกชนิดใหม่ของโลก ซึ่งไม่ได้มีเชื้อสายใกล้ชิดกับนกปรอดสีน้ำตาลตาขาว แต่กลับไปใกล้ชิดกับนกปรอด ที่มีชื่อว่า Ashy-fronted Bulbul (Pycnonotus cinereifrons) ที่พบได้เฉพาะบนเกาะ Palawan ประเทศฟิลิปปินส์เท่านั้น

หากพินิจพิจารณาดูให้ถี่ถ้วน จะเห็นว่าถึงแม้ดวงตาของนกปรอดชนิดใหม่นี้ จะเป็นสีขาวครีมคล้ายกันกับนกปรอดสีน้ำตาลตาขาว แต่สีสันโดยรวมกลับแตกต่างกันเล็กน้อย โดยนกปรอดชนิดใหม่นี้ มีคอและท้องเป็นสีออกเหลืองกว่า ทำให้เห็นแถบอกสีน้ำตาลเข้มชัดกว่าเล็กน้อย โดยตอนนี้นักวิจัยตั้งชื่อให้กับนกปรอดชนิดใหม่นี้ว่า Cream-eyed Bulbul (Pycnonotus pseudosimplex)

ใครที่อยากเห็นนกปรอดชนิดใหม่นี้ ต้องเดินทางไปตามหากันที่เกาะบอร์เนียวเท่านั้น โดยสามารถพบได้ในป่าดิบทั่วทุกภาคของเกาะ แต่จัดว่าหาดูได้ยากกว่าประชากรที่มีตาสีแดงพอสมควร และอาจอาศัยอยู่เฉพาะในป่าดิบที่อุดมสมบูรณ์กว่าอีกด้วย

ข้อมูล : สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็น