สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ เฮลั่น! หลังผู้ว่าฯ ลงนามคำสั่งเปิดทางให้ยื่นขอเปลี่ยนเป็นร้านอาหารได้

เชียงใหม่-คลัสเตอร์ร้านอาหารขายเหล้าเชียงใหม่ยอดติดเชื้อโควิด-19ยังเพิ่มไม่หยุด ขณะที่สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ เฮลั่น หลังผู้ว่าฯลงนามคำสั่งเปิดทางให้แปลงร่างเป็นร้านอาหาร โดยต้องขออนุญาตและผ่านการตรวจสอบประเมินความพร้อม รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการCovid Free Setting อย่างเคร่งครัด

จากกรณีช่วงค่ำวันที่ (12 ม.ค.65) คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 187 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างพื้นที่ 13 ราย ได้แก่ ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ตามโปรแกรม Test & Go 8 ราย, กรุงเทพมหานคร 3 ราย, เชียงราย 1 ราย และลำพูน 1 ราย ส่วนอีก 174 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด โดยมาจากคลัสเตอร์ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 20 ราย จาก 11 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย ร้าน Hom Bar 4 ราย สะสม 117 ราย, ผู้มีไทม์ไลน์ไปสถานที่เสี่ยงหลายแห่ง 3 ราย สะสม 84 ราย, ร้าน The Toy 3 ราย สะสม 12 ราย, ร้านเสี่ยว ย่านสันติธรรม 2 ราย สะสม 37 ราย, ร้าน Lism Café 2 ราย สะสม 4 ราย, ร้าน Living Machine 1 ราย สะสม 163 ราย, ร้านฉลุย คาเฟ่ 1 ราย สะสม 27 ราย, ร้าน Café Wander ย่านช้างม่อย 1 ราย สะสม 3 ราย, ร้าน The Pheonix แม่โจ้ 1 ราย สะสม 2 ราย, ร้าน Fullmoon Chiangmai ศรีภูมิ 1 ราย สะสม 2 ราย และร้าน Zoe in Yellow 1 ราย สะสม 87 ราย

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

โดยเบื้องต้นในขณะนี้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งปิดร้านเหล่านี้เป็นการชั่วคราว พร้อมส่งทีมควบคุมโรคเข้าทำการควบคุมโรค ฆ่าเชื้อ ตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่มเสี่ยงต่ำ และออกคำสั่งกักตัวผู้สัมผัสที่มีผลตรวจเป็นลบเป็นเวลา 14 วันแล้ว ส่วนคลัสเตอร์อื่นๆ ในชุมชนมี 11 ราย จาก 5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย ตำรวจภูธรภาค 5 หนองหอย 4 ราย, วัดดอนจั่น 3 ราย, ตลาดประตูเชียงใหม่ 2 ราย, พนักงานแผนกช่างกล โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา อำเภอแม่แตง 1 ราย และธนาคารกรุงไทย เซ็นทรัลเฟสติวัล ชั้น 3 จำนวน 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคและเชื่อมโยงคลัสเตอร์อีก 40 ราย และผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า 103 ราย ขณะที่การติดเชื้อในครอบครัว ไม่พบเพิ่ม

ด้านผู้เสียชีวิต พบเพิ่ม 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 72 ปี มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน และโรคหัวใจ ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อมาจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อในชุมชน เคยได้รับการฉีดวัคซีน AstraZeneca มาแล้ว 1 เข็ม โดยวันที่ 10-31 ธันวาคม 2564 ทราบว่าติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนจนครบกำหนด และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2565 มีอาการไอ หายใจเหนื่อยหอบ จึงได้ไปตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง ที่โรงพยาบาลสารภี พบว่า ติดเชื้อโควิด-19

จากนั้น มีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น ออกซิเจนในเลือดต่ำ จึงส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ กระทั่งวันที่ 10 มกราคม พบว่าติดเชื้อในกระแสเลือด ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตลง

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อทั้งสายพันธุ์เดิม Delta และสายพันธุ์ใหม่ Omicron จังหวัดเชียงใหม่จึงได้เปิดจุดตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้นอีก 1 จุด รวมเป็น 3 จุด ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชนที่มีความเสี่ยง หรือสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงได้เข้าถึงการตรวจหาเชื้อ ซึ่งเปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30 น. จนถึง 15.00 น. ได้แก่ ที่อาคารเอนกประสงค์สวนสุขภาพบ้านเด่น ตำบลวัดเกต, ที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ตำบลศรีภูมิ และที่ศูนย์วัณโรคเขต 10 เชียงใหม่ ตำบลช้างคลาน

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

นอกจากนี้ ยังเปิดสายด่วนให้คำปรึกษา สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา เพิ่มจากสายด่วน สปสช. 1330 กด 14 ตลอด 24 ชั่วโมง อีก 5 หมายเลข คือ 065-4724315, 065-4724316, 065-4724317, 065-4724318 และ 065-4724319 รวมทั้งเปิดศูนย์ประสานงาน ATK ระดับอำเภอทุกอำเภอ ซึ่งสามารถโทรได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 20.00 น. ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะประสานและจับคู่สถานพยาบาลเพื่อรักษาตามระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้ติดเชื้อจะได้รับการดูแลจากสถานพยาบาล รับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ และยาพื้นฐานอื่นๆ พร้อมกับประสานส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหากมีอาการที่รุนแรงขึ้น

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19ของจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มจำนวนสูงขึ้นมากหลังจากช่วงเศกาลปีใหม่ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายและให้ดื่มในร้านได้


อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 9 ม.ค.65 นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 9/2565 เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เฉพาะในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอจอมทอง อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่แตง และอำเภอแม่ริม ภายหลังนายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 41) ลงวันที่ 8 มกราคม 2565 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ

โดยให้ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID – Free Setting) ของกระทรวงสาธารณสุข สามารถเปิดให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ตามเวลาปกติ และอนุญาตให้มีการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ ไม่เกินเวลา 21.00 น

ส่วนสถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ต้องการจะเปิดบริการ ให้เปิดในลักษณะร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มเท่านั้น โดยต้องยื่นขออนุญาตศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบและประเมินความพร้อมของสถานที่ บุคลากร และการจัดการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่กำหนด และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ภายในวันที่ 15 มกราคม 2565 ก่อนเปิดให้บริการได้ภายใต้การกำกับติดตามของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด

สำหรับการให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการในรูปแบบเป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2565 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยผู้ประกอบการสถานบันเทิง บาร์,ผับ,ครราโอเกะ แห่ยื่นทำเรื่องขอเปลี่ยนเป็นร้านอาหารกันจำนวนมาก

ร่วมแสดงความคิดเห็น