ย้อนอดีต 65 ปี เหมืองลิกไนต์ “แม่เมาะ”

กิจการการทำเหมืองลิกไนต์ในประเทศไทย เริ่มต้นมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมรถไฟหลวง ทรงมีพระราชประสงค์จะสงวนป่าไม้เอาไว้ จึงได้โปรดให้มีการสำรวจหาเชื้อเพลิงอย่างอื่นนำมาใช้แทนฟืนสำหรับหัวรถจักรไอน้ำ ในการนั้นได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสชื่อนายบัวแยร์ (MG.Boy-er) ให้มาดำเนินการสำรวจ และในปี พ.ศ.2464 – 2466 ได้จ้างชาวอเมริกันชื่อนาย วอลเลซ ลี (Wallace Lee) การสำรวจในสมัยนั้นต้องประสบความยากลำบากมาก เนื่องจากเครื่องมือเครื่องใช้มีไม่เพียงพอ และการคมนาคมก็ไม่สะดวก ทั้งยังขาดแคลนเงินทุนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจครั้งนั้นได้พบว่ามีถ่านหินลิกไนต์ที่บริเวณแม่เมาะ จังหวัดลำปางและที่คลองขนาน จังหวัดกระบี่ ซึ่งก่อนหน้านี้ บรรษัทถ่านหินศิลากระบี่ ซึ่งดำเนินการโดยชาวอังกฤษได้รับพระราชทานให้ทำเหมืองที่บริเวณบ้านปูดำ จังหวัดกระบี่ ต่อมามีบริษัทบ่อถ่านหินศิลาสยาม จำกัด ได้เปิดการทำเหมืองลิกไนต์ที่บ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานี เมื่อปี พ.ศ.2465 ทำการขุดถ่านลิกไนต์ได้หลายพันตัน แต่กิจการถ่านหินลิกไนต์ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้งานในเหมือง เมื่อสัมประทานของบริษัทบ่อถ่านศิลาสยาม ได้หมดอายุลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2470 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ เพื่อให้ทางราชการเท่านั้นเป็นผู้ดำเนินการ และห้ามมิให้มีการสัมประทานทำเหมืองแก่เอกชนอีกต่อไป
ปี พ.ศ.2497 มีการจัดตั้งสำนักงานสำรวจภาวะถ่านหินลิกไนต์ขึ้น เพื่อดำเนินการตรวจสอบว่ามีถ่านหินลิกไนต์มากเท่าใด มีวิธีการขุดอย่างไรจึงจะเสียค่าใช้จ่ายน้อย และจะนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง การดำเนินการสำรวจพบว่ามีปริมาณถ่านหินในเหมืองแม่เมาะจำนวนกว่า 14 ล้านตันและคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในปริมาณถึง 120 ล้านตัน ดังนั้นจึงได้ร่างแผนงานเบื้องต้นขึ้นเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล โดยมีโครงการขุดถ่านหินลิกไนต์ขึ้นมาเพื่อจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า เมื่อรัฐบาลเห็นชอบในข้อเสนอดังกล่าว จึงได้ตราพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งองค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์ เพื่อดำเนินกิจการถ่านลิกไนต์ให้ได้ผลอย่างจริงจัง และในปีเดียวกันนั้นเอง องค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์ได้ก่อสร้างที่ทำการและบ้านพักที่แม่เมาะด้วยงบประมาณจากรัฐบาล เครื่องจักรเครื่องมือที่ได้รับจากรัฐบาลและสหรัฐอเมริกาและผู้เชี่ยวชาญองค์การลิกไนต์จากประเทศออสเตรเลียมาเป็นที่ปรึกษา ได้เปิดการทำเหมืองแม่เมาะโดยมีกำลังการผลิตรวม 12,500 กิโลวัตต์การทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ในประเทศไทยระยะแรกนั้น ใช้วิธีที่เรียกว่า “เหมืองหาบ” โดยใช้แรงงานคนทำการเปิดหน้าดินและขุนถ่าน รวมทั้งขนส่งถ่านหินขึ้นจากบ่อเหมือง ต่อมาเมื่อเครื่องจักรทุ่นแรงเริ่มแพร่หลายเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น จึงได้ใช้เครื่องจักรกลมาใช้ในการทำเหมืองการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่แม่เมาะ ทำเป็นแบบเหมืองเปิด ซึ่งก็คือเหมืองที่พัฒนามาจากเหมืองหาบ โดยใช้เครื่องจักรเปิดหน้าดินออกเป็นชั้น ๆ จนถึงชั้นถ่านหิน ปัจจุบันเหมืองแม่เมาะได้กลายเป็นเหมืองลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์และนับเป็นแหล่งเชื้อเพลิงและแหล่งพลังงานที่สำคัญของประเทศไทย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น