รถจักรไอน้ำ รถไฟรุ่นบุกเบิก มนต์เสน่ห์ที่ทรงคุณค่า กับการเดินทางยาวนานกว่า 124 ปี
top of page

รถจักรไอน้ำ รถไฟรุ่นบุกเบิก มนต์เสน่ห์ที่ทรงคุณค่า กับการเดินทางยาวนานกว่า 124 ปี

รถไฟเก่าแก่สุดคลาสิคที่ยังคงเหลืออยู่เพียง 5 คันสุดท้าย! ในประเทศไทย

รถจักรไอน้ำ รถไฟรุ่นบุกเบิก มนต์เสน่ห์ที่ทรงคุณค่า กับการเดินทางยาวนานกว่า 124 ปี

เรื่องราวในบทความฉบับนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ รถจักรไอน้ำ รถไฟเก่าแก่ ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวคุณทวด ซึ่งคงเหลืออยู่เพียง 5 คัน สุดท้ายในประเทศไทย อีกทั้งเคยผ่านเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์มาอย่างนับไม่ถ้วน พร้อมกับน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมองเห็นความสำคัญของการมีระบบคมนาคมทางรางในสยามประเทศเอง ซึ่งในสมัยนั้นถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่และเจริญมากๆ เหมือนดั่งที่มีในประเทศทางตะวันตก จนถึงยุคที่เรามีเส้นทางรถไฟสำเร็จเป็นเส้นทางแรก กรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา สู่พัฒนาการด้านคมนาคมอย่างในปัจจุบันนี้เอง

“รถไฟเล็ก” โมเดลตัวต้นแบบ แรงบันดาลใจที่ได้รับมอบจาก "ราชวงศ์อังกฤษ"

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2398 ซึ่งตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียประเทศอังกฤษ ส่งอุปทูตและคณะตัวแทนเข้าเฝ้า เพื่ออัญเชิญพระราชสาสน์พร้อมด้วยเครื่องบรรณการ “รถไฟเล็ก" ขบวนรถไฟแบบจำลองที่ประกอบไปด้วย รถจักรไอน้ำ และรถพ่วงครบขบวน ถวายแด่องค์รัชกาลที่ 4 เพื่อให้เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยในการเริ่มก่อตั้ง กรมกิจการรถไฟ เหมือนกับที่มีอยู่ในประเทศอังกฤษ โดยปัจจุบัน ขบวนรถไฟเล็ก ขบวนนี้ ถูกจัดเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติให้ประชาชนทั่วไปได้เยี่ยมชม

รถไฟเล็ก  ขบวนรถไฟแบบจำลองที่ประกอบไปด้วย รถจักรไอน้ำ และรถพ่วงครบขบวน ถวายแด่องค์รัชกาลที่ 4

รถไฟเล็ก
รถไฟเล็กที่ควีนวิคตอเรียได้มอบให้สยาม จำลองโดยการย่อส่วนมาจากรถจักรไอน้ำและรถพ่วงโบกี้ ซึ่งเป็นของจริงที่ใช้อยู่ในประเทศอังกฤษในอดีต ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

คณะราชทูตไทยชุดแรกที่ไปอังกฤษในปี พ.ศ. 2400
คณะราชทูตไทยชุดแรกที่ไปอังกฤษในปี พ.ศ. 2400

คณะราชทูตไทยชุดแรกที่ไปอังกฤษในปี พ.ศ. 2400
คณะราชทูตไทยชุดแรกที่ไปอังกฤษในปี พ.ศ. 2400

“ยุคเริ่มต้น" ระบบรางในประเทศไทย

การพัฒนารถไฟไทยที่เห็นชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ได้รับอิทธิพลมาจากการเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนและเห็นวิถีชีวิตของคนที่ประเทศตะวันตก ประกอบกับทรงมองเห็น ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับราษฏร ทั้งด้านการป้องกันการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลกรุงเทพ หรือ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นทางด้านเศรษฐกิจในการขนถ่ายสินค้ามากมาย จึงเริ่มดำริให้บริษัทก่อสร้าง ได้เข้ามาสำรวจเส้นทางและเริ่มก่อสร้างในประเทศไทย จนกระทั่งเริ่มก่อสร้างจริงใน พ.ศ. 2436 ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพ – นครราชสีมา จึงถือได้ว่านี่คือเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย ในการก่อสร้างสมัยนั้น รถหัวจักร ก็ได้เข้ามามีบทบาทแล้ว ในการใช้ขนถ่ายอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการก่อสร้าง ช่วงแรกมีการนำเข้ามาทั้งสิ้น 2 ขบวน ก่อนที่สั่งนำเข้ามาอีก 4 ขบวน รวมเป็นทั้งสิ้น 6 คัน พ.ศ. 2439 มีการก่อสร้างสำเร็จบางช่วง จึงมีการเปิดให้เดินรถได้ ระหว่าง สถานีกรุงเทพ –อยุธยา ระยะทางรวม 71 กิโลเมตร มีอยู่ทั้งสิ้น 9 สถานี ในวันที่ 26 มีนาคม 2439 โดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวเสด็จเป็นประธานในพิธี กรมรถไฟหน่วยงานที่ดูแลรถไฟในสมัยนั้นจึงถือว่า ทุกวันที่ 26 มีนาคม เป็น วันสถาปนารถไฟไทย ก่อนที่อีก 2 วันถัดมา 28 มีนาคม 2439 จะเปิดให้บริการประชาชน

บรรยากาศสถานีกรุงเก่า (อยุธยา) ราวปี พ.ศ. 2450 ภาพจาก หนังสือฟิล์มกระจกจดหมายเหตุฯ
บรรยากาศสถานีกรุงเก่า (อยุธยา) ราวปี พ.ศ. 2450 ภาพจาก หนังสือฟิล์มกระจกจดหมายเหตุฯ

การเปิดเดินรถไฟหลวงสายใต้จาก บางกอกน้อย - เพชรบุรี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่นายช่างและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายนาย รวมทั้งนายเกิรต์ส นายช่างชาวเยอรมันที่ได้รับการเชิญชวนจากนาย เค เบธเก้ ผู้บัญชาการรถไฟหลวงคนแรก (พ.ศ.2390 - 2443)
การเปิดเดินรถไฟหลวงสายใต้จาก บางกอกน้อย - เพชรบุรี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่นายช่างและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายนาย รวมทั้งนายเกิรต์ส นายช่างชาวเยอรมันที่ได้รับการเชิญชวนจากนาย เค เบธเก้ ผู้บัญชาการรถไฟหลวงคนแรก (พ.ศ.2390 - 2443)


"เรารู้สึกว่า...การที่จะทำวันนี้เป็นเกียรติยศแก่ตัวเรา และเป็นที่ยินดีด้วยที่จะได้ทำการให้รถไฟสายนี้สำเร็จได้ถึงแม้เป็นส่วนหนึ่งตอนหนึ่งเพราะเหตุว่าได้ทำการเพื่อเป็นประโยชน์แก่พระราชอาณาจักรไม่เฉพาะแก่คนในประเทศของเรา แต่ได้เป็นประโยชน์ทั่วไปแก่มนุษย์ทั้งปวงด้วย...เราขออำนวยพรแก่ทางรถไฟสายนี้และกรมรถไฟซึ่งจะได้ทำการต่อไปภายหน้าขอให้การทั้งปวงสำเร็จ เป็นประโยชน์แพร่หลายยั่งยืนสืบไป.." พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวง เป็นปฐมฤกษ์ ณ บริเวณย่านสถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439


ยุคสงครามโลก ทำให้การรถไฟขาดความต่อเนื่องในการพัฒนา

การก่อสร้างดำเนินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2443 จึงสร้างเส้นทางกรุงเทพ – นครราชสีมา ก็แล้วสร็จ จากนั้นกรมรถไฟก็ได้ขยายเส้นทางออกไปมากขึ้น ไม่ว่าจะภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ภาคอีสาน อุบลราชธานี ภาคใต้ สถานีรถไฟหัวหิน เป็นต้น ความเจริญเหล่านี้ได้กระจายสู่ท้องถิ่นมากขึ้น แต่แล้วพอเข้าสู่ยุคสงครามโลก โดยเฉพาะ สงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วง พุทธศักราช 2480 เป็นต้นมา กรมรถไฟได้รับความเสียหายเยอะมาก รวมทั้งขาดแคลนหัวจักร ช่วงเวลานั้นประเทศได้มีนโยบายลดการใช้ไม้ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของรถจักรไอน้ำ เพราะทรัพยากรป่าไม้เริ่มถดถอยลง ทำให้ภาครัฐต้องหันมาดูแลในส่วนการฟื้นฟู การซ่อมแซมความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นแทน การวางรากฐานระบบทางรางจึงหยุดชะงักไป

สู่การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี

หลังพ้นยุคสมัยของสงครามไปไม่นานนัก เทคโนโลยีถูกพัฒนามากขึ้น มีการค้นพบเครื่องกำเนิดพลังกลขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า เครื่องยนต์ดีเซล จึงนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการรถไฟทั่วโลก โดยหลายประเทศเริ่มที่จะเลิกใช้ รถจักรไอน้ำ และหันมาใช้รถจักรดีเซลแทน เพราะสามารถให้กำลังและความเร็วสูงขึ้น แถมยังสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงน้อยกว่า ในขณะที่รถจักรไอน้ำนั้นได้พัฒนามาถึงจุดสูงสุด และไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้มีกำลังและเร็วมากกว่าเดิมได้แล้ว จึงปลดระวางออกไป ประเทศไทยได้สั่งรถจักรไอน้ำล็อตสุดท้ายคือปี 2492 - 2493 จำนวน 30 คันจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรถจักรรุ่นแปซิฟิค และ โดยมีหมายเลขประกอบรถนั่นก็คือ 821 - 850 ก่อนที่จะค่อยๆถูกลดความสำคัญและปลดระวางไปในที่สุดนั่นเอง


ขบวนรถพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยทางรถไฟด้วยขบวนรถพระที่นั่งเสด็จประพาสมณฑลปัตตานี เพื่อทรงทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ในภาพขณะขบวนรถนำขบวนถึงสถานีพัทลุง เมื่อปี 2472 / ภาพจาก : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถ่ายภาพยนตร์ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2468 บริเวณแก่งหลวง / ภาพจาก : ฉายานิทรรศน์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถ่ายภาพยนตร์ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2468 บริเวณแก่งหลวง / ภาพจาก : ฉายานิทรรศน์

แม้จะถูกลดความสำคัญ แต่ไม่สูญหายจากความทรงจำ

ในช่วง พ.ศ. 2490 เริ่มเข้าสู่ยุคท้ายของ รถไฟจักรไอน้ำ กรมรถไฟได้สั่งหัวรถจักรล็อตสุดท้ายเข้ามาอีก 30 คัน จากประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นรุ่นแปซิฟิค พอเข้าสู่พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา จึงเริ่มปลดระวาง ขบวนที่ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไปแล้ว กรมรถไฟในสมัยนั้นจึงมีแนวคิดจะเก็บรักษาหัวรถจักรที่เคยใช้งานจริงเหล่านี้ไว้ให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ทุกคนจะได้ไม่ลืม จึงสั่งให้มีการขนย้ายแต่ละหัวขบวนนำไปจัดแสดงอยู่ด้านหน้าสถานีรถไฟต่างๆทั่วประเทศ ที่ขบวนเหล่านี้เคยให้บริการพื้นที่นั้นๆ เช่น ตามที่เราเห็นได้ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น ด้านหน้าสถานีรถไฟฉะเชิงเทรา สถานีรถไฟ สถานีเชียงใหม่ ลำปาง ภาชี หัวหิน กาญจนบุรี เป็นต้น

กับการทำหน้าที่นำท่องเที่ยวในโลกยุคปัจจุบัน

แม้ปัจจุบันจะคงเหลือหัวรถจักรไอน้ำเพียงแค่ 5 คันสุดท้ายเท่านั้นแต่ทุกคันเองก็จะได้รับการดูแล ซ่อมแซมกันเป็นอย่างดีที่โรงรถจักรธนบุรี โดยทีมช่างที่มีความชำนาญ และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 การรถไฟแห่งประเทศไทย มีแนวคิดในการนำขบวนรถไฟจักรไอน้ำ ที่คลาสสิกนี้ออกมาวิ่งท่องเที่ยวได้อีกครั้ง ซึ่งได้เริ่มต้นในวันที่ 5 ธันวาคม ก่อนที่จะกลายเป็นธรรมเนียมประจำปีจนมาถึงทุกวันนี้มีผู้คนสนใจมาจองตั๋วกันเป็นจำนวนมาก เพราะอย่างเก็บประสบการณ์ไว้สักครั้งก่อนที่เค้าจะวิ่งอีกครั้งไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่วันเดินทางเท่านั้น ในวันที่เทสการเดินทาง เข้ามาจอดที่สถานีหัวลำโพง ก็จะได้รับความสนใจจากคนทั่วไปเป็นจำนวนมาก เข้ามาถ่ายรูป มาเช็คอินกันอย่างล้นหลาม




ใน 1 ปีจะกำหนดวันเดินทางเพียง 6 วันเท่านั้น ในเส้นทาง กรุงเทพ–อยุธยา และ กรุงเทพ–ฉะเชิงเทรา ซึ่งจะคอยสลับเปลียนกันหากท่านใดสนใจร่วมเดินทางกับขบวนพิเศษนี้ สามารถลิสต์วันสำคัญๆที่มีขบวนรถไฟออกเดินทาง ทั้ง 6 วันได้ตามรายละเอียดด้านล่างนี้

  • วันที่ 26 มีนาคม วันสถาปนากิจการรถไฟ

  • วันที่ 3 มิถุนายน วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

  • วันที่ 28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • วันที่ 12 สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และวันแม่แห่งชาติ

  • วันที่ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช ระลึกถึงพระบาทสมเด็จกระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบิดาแห่งการรถไฟไทย

  • วันที่ 5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันพ่อแห่งชาติ

หลังการคลายล็อกดาวน์นี้ ผู้อ่านท่านไหนที่กำลังมองหาทริปท่องเที่ยว เดินทางง่าย สะดวกสบาย กับรถไฟจักรไอน้ำ ขบวนรถไฟสุดคลาสสิกนี้ เตรียมตัวพบกับเรา ทีมงาน #GetawayHolidays โดย Buynow Travel World ได้ในวันที่ 26 ,ีนาคม 2565 นี้ ติดต่อทีมงานสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางไลน์ >> แชทผ่านไลน์ <<


👉 นั่งรถไฟหัวจักรไอน้ำเที่ยว "อยุธยา" 1 วัน เดินทาง 26 มีนาคม 2565




ขอบคุณข้อมูลจาก : วารสารรถไฟสัมพันธ์ 2564, การรถไฟแห่งประเทศไทย

bottom of page