HomeBrand Move !!3 กลยุทธ์ ‘ไปรษณีย์ไทย’ สร้างจุดต่าง หนีสงครามราคา ต้องเป็นมากกว่าบริการขนส่ง

3 กลยุทธ์ ‘ไปรษณีย์ไทย’ สร้างจุดต่าง หนีสงครามราคา ต้องเป็นมากกว่าบริการขนส่ง

แชร์ :

Thailand post MD

การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์มูลค่า “แสนล้าน” อยู่ในภาวะแข่งขันรุนแรง มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดต่อเนื่อง ทุกรายใช้ “สงครามราคา” แย่งชิงลูกค้า ธุรกิจขนส่งพัสดุวันนี้ พูดได้ว่าเป็นบริการ “ยิ่งใช้ราคายิ่งถูกลง” นับเป็นเรื่องที่องค์กร 139 ปี “ไปรษณีย์ไทย” ต้องแก้โจทย์

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในปี 2564 ธุรกิจโลจิสติกส์ทุกประเภทมีมูลค่าแสนล้านบาท แต่หากดูเฉพาะธุรกิจขนส่งพัสดุจะอยู่ที่ราว 50,000 ล้านบาท เป็นตลาดที่ยังเติบโตต่อเนื่องในช่วง 3 ปีนี้ (2565-2567) เฉลี่ยปีละ 11% แต่เป็นธุรกิจที่ไม่มีความแตกต่างของบริการ เป็นเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) บริการน้ำประปา ไฟฟ้า เพราะผู้ให้บริการทุกรายพัฒนาบริการโลจิสติกส์ ขยายจุดรับ (drop off) หรือเรียกไปรับหน้าบ้านลูกค้า (pick up service) ก็ทำได้เหมือนกันหมด

สุดท้ายธุรกิจขนส่งจึงต้องไปเล่น “สงครามราคา” เพราะเป็นจุดต่างที่ลูกค้าเห็นได้ชัดเจน การแข่งขันจึงวนเวียนอยู่แบบนี้

ดังนั้นการเติบโตในตลาดนี้ จึงต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด วางเป้าหมายไว้ว่าในปี 2565 ปณท ต้องเป็นมากกว่าการให้บริการขนส่ง (Beyond Logistics) แม้โลจิสติกส์ยังเป็น Core Business แต่จะต่อยอดธุรกิจไปในน่านน้ำใหม่ โดยใช้จุดแข็งของ ไปรษณีย์ไทย องค์กรอายุ 139 ปี สร้างจุดต่าง สรุป 3 กลยุทธ์หลัก

1. กลยุทธ์ Parcel Centric เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม

โดยสภาพตลาดธุรกิจขนส่งเป็นบริการที่ไม่มีความแตกต่างของผู้ให้บริการขนส่งแต่ละราย คือ ทำได้เหมือนกันหมด ตั้งแต่ รับของ ส่งต่อ นำจ่ายปลายทาง ในเวลาที่กำหนดไว้ รวมทั้งลูกค้าแต่ละเซ็กเมนต์ก็ไม่ต่างกัน ปณท จึงให้ความสำคัญกับ “ของที่จัดส่ง” ด้วยกลยุทธ์ Parcel Centric ออกแบบบริการโดยยึดที่ตัวของ (Parcel) เป็นหลัก เพื่อเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ซึ่งไม่ได้มองเรื่องราคาเป็นหลัก ตัวอย่าง บริการจัดส่งที่ ปณท พัฒนาออกมาดังนี้

– การจัดส่งต้นไม้ กล้าไม้ เป็นตลาดที่กำลังได้รับความนิยม โดยต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมทั้งเรื่องอากาศและแสงแดด ต่อมาเป็นเรื่องการคัดแยกและนำจ่าย ทุกขั้นตอนต้องทำให้ต้นไม้คงสภาพเดิมตั้งแต่ต้นทางถึงมือผู้รับ

– บริการ Logispost ส่งของชิ้นใหญ่ น้ำหนัก 30-200 กิโลกรัม กลุ่มนี้มีดีมานด์จากผู้บริโภคที่อยู่บ้านมากขึ้นในช่วงโควิด จึงซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ ทั้ง จักรยาน มอเตอร์ไซค์ บิ๊กไบค์ ถุงกอล์ฟ เป็นต้น การจัดส่งสินค้าชิ้นใหญ่จึงต้องดูแลเป็นพิเศษตั้งแต่จุดรับและนำส่งปลายทาง

– การจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ เป็นของที่ต้องควบคุมอุณหภูมิตั้งแต่ 5-8 องศา ไปจนถึง -15 ถึง -20 องศา ซึ่งมีรูปแบบการส่งแตกต่างกัน รวมทั้งระยะเวลาการจัดส่งต้องตามเวลาที่กำหนด ในกลุ่มนี้มีความต้องการทั้งจากกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ในช่วงโควิด และกลุ่มที่ดูแลสุขภาพตัวเอง จากการให้บริการด้าน Telemedicine เทรนด์ที่กำลังเติบโตสูง ปณท ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเป็นผู้ให้บริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์

– บริการจัดส่งผลไม้ให้เกษตรกรและสินค้าชุมชน ทั้งที่สาขาไปรษณีย์ทั่วประเทศ และออนไลน์ผ่าน Thailandpostmart โดยเป็นช่องทางระบายสินค้าสนับสนุนเกษตรกร และช่องทางให้ผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้า การจัดส่งมีบริการแบบเหมา 20 กิโลกรัม

สำหรับบริการส่งด่วน (EMS)  ธุรกิจหลักของ ปณท โดยผู้ใช้หลักเป็นธุรกิจออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ปณท ได้พัฒนาบริการ EMS ส่งได้ทุกวันทั้งที่สาขาและเรียกมารับสินค้าที่บ้าน โดยบางสาขาให้บริการ 24 ชั่วโมง และให้บริการนำจ่ายทุกวัน ตรวจสอบสถานะการส่งได้ 24 ชั่วโมง

ในกลุ่มนี้เป็นตลาดแมสที่ยังมองเรื่องราคาเป็นหลัก แต่ ปณท จะต่อยอดด้วยการให้บริการ Fulfillment กับพ่อค้าแม่ค้า ตั้งแต่แพ็คของ จัดเก็บ ขนส่ง จัดส่ง เก็บเงินปลายทาง สนับสนุนผู้ใช้บริการไม่ต้องมาเสียเวลาดูแลเรื่องสินค้า ปณท จะออกแบบบริการที่เหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไปโฟกัสเรื่องการขายสินค้าแทน หากขายได้มากขึ้น ปณท ก็จะมีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นด้วย

ปณท ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการขนส่งที่รอลูกค้ามาใช้บริการ แต่จะสร้างงานขึ้นมาเองด้วย ตั้งแต่ต้นทางจากการเข้าไปสนับสนุนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์และชุมชน ไม่เข้าไปเล่นแต่เรื่องราคา แต่จะโฟกัสสร้างความแตกต่างด้านบริการ

“การเจาะกลุ่ม Niche Market สร้างจุดแตกต่างด้านบริการ ที่ไม่ได้ต้องการแค่รับส่งของ อย่างพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องการให้ช่วยบริหารจัดการอื่น ๆ ทำ CRM โฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่ ปณท สามารถออกแบบแพ็คเกจให้บริการลูกค้ากลุ่มเฉพาะได้ เป็นการหนีตลาดแมส Red Ocean ที่แข่งขันกันด้วยสงครามราคา หากยังอยู่ในเกมนี้บาดเจ็บแน่นอน”

2. ต่อยอดจุดแข็ง “บุรุษไปรษณีย์” สร้างรายได้ใหม่

ปี 2565 ไปรษณีย์ไทยได้ Refresh Brand เพื่อโฟกัสสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ชัดเจน เชื่อมโยงกับสังคมไทย ต่อยอดองค์กร 139 ปี จากตัว “บุรุษไปรษณีย์” ที่รู้จักคนไทยในทุกพื้นที่ เป็นจุดแข็งสร้างมาเป็น 100 ปี ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น ความคุ้นเคยระหว่าง ปณท กับคนไทย ทำให้เกิดความเชื่อถือ เหมือน “คนที่เป็นเพื่อนกัน” เป็นจุดที่สามารถต่อยอดทางธุรกิจให้บริการต่าง ๆ และ Retail Business โดยได้รับความเชื่อใจจากประชาชน

โดยเริ่มเห็นบุรุษไปรษณีย์ นำเสนอบริการต่างๆ กับประชาชนที่บ้านมากขึ้น จากปัจจุบันได้เริ่มจำหน่าย ซิมมือถือ ซิมเติมเงิน ตัวแทนรับสมัครลูกค้าอินเทอร์เน็ตบ้าน ต่อไปบุรุษไปรษณีย์ จะไม่ได้ทำหน้าที่แค่ส่งของ แต่สามารถให้บริการกับประชาชนที่บ้านได้หลากหลาย จะเห็นการต่อยอดบริการเหล่านี้ร่วมกับพันธมิตรของ ปณท มากขึ้นในปีนี้

“เรามีพนักงาน 40,000 คน เป็นบุรุษไปรษณีย์ 20,000 คน ส่วนใหญ่อยู่กับองค์กรตั้งแต่ต้นถึงเกษียณ Turnover เราต่ำมาก ทำให้มีความคุ้นเคยกับสังคมไทย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนในพื้นที่ จึงไว้ใจที่จะให้เสนอบริการต่างๆ เป็นโอกาสการสร้างธุรกิจในตลาดใหม่ที่เกิดจาก CRM ที่แข็งแกร่งของ ปณท”

อีกทรัพย์สินที่จะเห็นการต่อยอดใช้ประโยชน์ในปีนี้ คือ จุดให้บริการ ปณท กว่า 10,000 จุด ตู้ไปรษณีย์ 20,000 จุด โดยจะมีการบริหาร Touch Point ต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ใช้ประโยชน์จากเน็ตเวิร์ก และทรัพยากรที่มีอยู่เดิมหารายได้ให้มากขึ้น

Fuze Post

3. จับมือพันธมิตร M&A และ Collaboration

รูปแบบการทำธุรกิจปัจจุบันมีการจับมือเป็นพันธมิตรกันมากขึ้น ทั้ง M&A และ Collaboration ไปรษณีย์ไทย ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ปี 2564 ได้ร่วมมือกับ JWD และ Flash Express จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อทำธุรกิจขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ Fuze Post เพื่อสร้างโอกาสหารายได้ในตลาดขนส่งเย็น ที่มีมูลค่ากว่า 34,000 ล้านบาท มีแนวโน้มเติบโต 8-10% ในช่วง 3-5 ปี

ปีนี้จะเห็นไปรษณีย์ไทยจับมือเป็นพันธมิตรทำ M&A บริการต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเป็นอีกกลยุทธ์ สำคัญสร้างการเติบโตให้องค์กร

นอกจากนี้จะเดินหน้าเรื่อง “ดิจิทัล ทรานส์ฟอเมชั่น” เพื่อให้บริการ Digital Service เพราะในยุคดิจิทัลที่ผู้คนใช้บริการออนไลน์มากขึ้น มีหลายช่องทางในการสื่อสารแทนการส่งจดหมายที่มีดีมานด์ลดลง

ไปรษณีย์ไทย จึงปรับบริการจดหมายและเอกสารลงทะเบียนต่างๆ ให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Total Document Handling) และการทำ e-Timestamping การประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์รับเอกสาร และการยืนยันตัวตนของผู้รับ สำหรับเอกสารที่ต้องใช้อย่างเป็นทางการ กลุ่มนี้สามารถขยายฐานลูกค้าได้ทั้ง ลูกค้าทั่วไป ธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ และยังเป็นตลาด Blue Ocean

ในด้านการบริหารต้นทุนปีนี้ จะเริ่มเปลี่ยนไปใช้ EV ในรถนำส่งเริ่มที่ 250 คัน เพื่อเป้าหมายการลดต้นทุนระยะยาวและลดมลภาวะ เป็นบริการ Green Logistics ปีนี้จะใช้เงินลงทุนทุกด้านรวม 3,000 ล้านบาท

สำหรับปี 2564 ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย มีรายได้ราว 22,000 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจขนส่ง 57% ในแง่ของมูลค่า  ในปี 2565 วางเป้าหมายเติบโตตามตลาดอีคอมเมิร์ซ ปัจจุบันมีลูกค้าทั่วไป 95% และลูกค้าองค์กร 5% แต่กลุ่มนี้สร้างรายได้ 50% ปี 2565 จะโฟกัสลูกค้าอีคอมเมิร์ซ ในเซ็กเมนต์ใหม่ๆ มากขึ้น

“ไปรษณีไทยเติบโตมาจากบริการ Physical แต่วันนี้เรานำ Human Touch และ Digital Touch มาผสมผสานกันแบบไร้รอยต่อ และไม่ได้หยุดอยู่แค่โลจิสติกส์แน่นอน ตามดูสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดปีนี้


แชร์ :

You may also like