bloggang.com mainmenu search


กลับมาที่บล็อกประวัติศาสตร์ภาคเหนือกันอีกครั้งครับ คิดว่าอีกแค่สามบล็อกก็จะจบภาคเหนือแล้วหละ หนก่อนเล่าเรื่องหริภุญชัยของลำพูนไปแล้ว ถัดจากลำพูนก็ต้องเป็นลำปาง อดีตเขลางค์นครที่อยู่คู่หริภุญชัยมานาน และเป็นเมืองที่เพิ่มบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะยุคแห่งการปลดปล่อยล้านนาจากเงื้อมมือพม่า

เดิมทีเมืองเก่าแก่ที่ตั้งในพื้นที่ลำปางคือเมืองเขลางค์นครมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดพระแก้วดอนเต้า หลังจากนั้นในยุคล้านนาได้ย้ายศูนย์กลางมาที่วัดปงสนุก ส่วนบริเวณพระธาตุลำปางหลวงเป็นเวียงเก่าที่เรียกว่าเวียงลำปางหรือลัมพกัปปนคร (เป็นอีกเมืองที่มีฐานะเป็นรองเขลางค์นครนะครับ) พอมายุคล้านนาจากชื่อเมืองเขลางค์นครก็เหลือแค่ "เมืองนคร" หรือ "ลคอร" และต้นยุครัตนโกสินทร์ก็มาเรียกเขลางค์นครกับเวียงลำปางรวมกันว่า "เมืองนครลำปาง" จากนั้นก็ตัดนครออกเพราะมีความหมายว่าเมืองอยู่แล้วจนกลายเป็นชื่อ "เมืองลำปาง" ในปัจจุบัน ตัวเมืองจะอยู่ที่อีกฝั่งของแม่น้ำยม ตรงข้ามเขลางค์นครเก่า มีศูนย์กลางที่วัดบุญวาทย์



แผนที่เมืองลำปาง (คลิ๊กเพื่อชมภาพขยาย)

ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 หลังสละราชสมบัติเมืองหริภุญชัยแล้ว พระนางจามเทวีแต่งตั้งให้เจ้ามหันตยศลูกชายคนโตปกครองเมืองต่อ ในขณะที่เจ้าอนันตยศลูกชายคนเล็กนั้น พระนางให้สุพรหมฤาษีสร้างเมืองเขลางค์นครให้ปกครอง ซึ่งชื่อเขลางค์นครนั้นมาจากชื่อพรานเขลางค์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางพระเจ้าอนันตยศไปหาสุพรหมฤาษีนั่นเอง แล้วเขลางค์นครก็มีฐานะเป็นเมืองอุปราชมาตั้งแต่นั้น ผู้ใดจะครองหริภุญชัยต้องมาฝึกงานครองเมืองนี้ก่อน แรกเริ่มเดิมทีเมืองนี้เป็นรูปวงรีเหมือนเมืองหริภุญชัย ขนาด 600 เมตร x 1400 เมตร



อนุสาวรีย์พระนางจามเทวีที่ อ.เกาะคา


เขลางค์นครแทบไม่ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์อีกเลย จนกระทั่งสิ้นยุคหริภุญชัย เมื่อพญามังรายแห่งแคว้นโยนกต้องการเข้ายึดครองหริภุญชัยที่รุ่งเรือง จึงส่งขุนอ้ายฟ้าไปเป็นไส้ศึก แสร้งทำเป็นถูกพญามังรายเนรเทศ ต้องหนีไปพึ่งบารมีของพญายีบา เจ้าเมืองหริภุญชัยขณะนั้น แล้วคอยสร้างกระแสเกลียดชังพญายีบาให้แก่ชาวเมือง หลังจากนั้น 7 ปี พญามังรายได้เข้าตีหริภุญชัยในปี พ.ศ. 1835 แต่ทหารก็ป้องกันเมืองอย่างเข้มแข็ง พญามังรายจึงสั่งระดมยิงธนูเพลิงเข้าเผาเมืองหริภุญชัยพินาศในกองเพลิง พญายีบาต้องทิ้งเมืองหนีมาอยู่กับพญาเบิก บุตรชายที่เมืองเขลางค์นคร ส่วนพญามังรายประทับที่หริภุญชัยที่ยึดมาได้ไม่นานก็ย้ายไปสร้างเวียงกุมกามในปี พ.ศ. 1837 และสร้างเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1839

ในปีที่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่นี้เอง พญาเบิกต้องการเข้าทำลายเชียงใหม่เพื่อล้างแค้นที่พญามังรายทำลายหริภุญชัย จึงได้สร้างเวียงต้านในเขตอำเภอห้างฉัตรปัจจุบัน ซึ่งเป็นชายแดนของเขลางค์นครและล้านนา (รวมหริภุญชัยที่ถูกยึดครองไปแล้ว) ในสมัยนั้น เพื่อเป็นที่สั่งสมกำลัง และใช้ทิวเขาสูงเป็นแนวสกัดกองทัพของพญามังรายเรียกว่าดอยขุนต้าน แล้วจัดกองทัพขนาดใหญ่เข้าตีเชียงใหม่ กองทัพนี้ยิ่งใหญ่มืดฟ้ามัวดินจนตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ต้องบันทึกว่าเป็น "สงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น" พญามังรายต้องเรียกตัวขุนครามราชโอรสที่ครองเมืองเชียงรายมาช่วยรบ พร้อมทรงช้างศึกเพชรบัลลังก์มาสู้ศึกด้วยตนเองด้วย กองทัพล้านนาสามารถเอาชนะพญาเบิกได้ พญาเบิกได้ถอยทัพกลับมาถึงตำบลหนองหล่ม อ.ห้างฉัตร ก็ถูกกองทัพของขุนครามไล่ตามทันและถูกประหารชีวิตที่บริเวณนี้ ปัจจุบันยังมีร่องรอยการเดินทัพหลงเหลืออยู่บนดอยขุนตาล ส่วนพญายียาได้หนีไปอยู่กับพระยาพิษณุโลกที่เมืองสองแคว ของแคว้นสุโขทัย ซึ่งเป็นมิตรกับล้านนา (พญามังรายเป็นมิตรกับพ่อขุนรามคำแหง) พญามังรายจึงไม่ติดตามต่อครับ หลังจากนั้นเขลางค์นครก็ถูกผนวกเข้ารวมกับอาณาจักรล้านนา



อนุสาวรีย์พญาเบิกที่อุทยานประวัติศาสตร์เจ้าพ่อขุนตาล



เมืองเวียงต้าน ปัจจุบันรกร้าง

ผู้คนในอำเภอห้างฉัตรบูชานับถือพญาเบิกด้วยความกตัญญูที่มีต่อบิดาและความเก่งกาจในการสงคราม ผู้คนมักยกย่องวีรบุรุษในท้องถิ่นของตน แต่อันที่จริงคนลำปางปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากไทยวนพวกเดียวกับพญามังรายมากกว่านะครับ แหม่ แต่ก็นับเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่ผู้พ่ายแพ้ไม่ได้ถูกลบไปจากความทรงจำของผู้คนเสียทีเดียว หากได้ต่อสู้เพื่อแผ่นดินจนสุดความสามารถอย่างพญาเบิก ไม่ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปกี่ร้อยกี่พันปี ผู้คนรุ่นหลังก็ยังสดุดีวีรกรรมและความกล้าหาญสืบต่อไปครับ มีการเอามาเล่าขานเพิ่มเติมไปว่าพญาเบิกเป็นอมตะฆ่าไม่ตาย พญามังรายเลยต้องเอาตัวไปฝังดินด้วย Smiley

ปัจจุบันสถานที่ๆพญาเบิกยกทัพมาจนมุมนี้เรียกว่าดอยขุนตาล มาจากชื่อดอยขุนต้าน และตำแหน่งที่พญาเบิกสิ้นชีวิตนี้ได้สร้างเป็นศาลเจ้าพ่อขุนตาล ซึ่งหมายถึงพญาเบิกนั่นเอง หากใครขับรถจากลำปางไปลำพูนผ่านทางหลวงสาย 11 บริเวณ กม.ที่ 38 จะพบศาลที่ชาวบ้านมาวางศาลพระภูมิแก้บนนับร้อยๆหลังนั่นละครับศาลเจ้าพ่อขุนตาลที่เหล่าคนเดินทางนับถือมาก นักท่องเที่ยวหลายคนที่ขึ้นมาพักบนอุทยานแห่งชาติขุนตาลก็จะมาขออนุญาตต่อเจ้าพ่อขุนตาลด้วย ศาลนี้อยู่ในเขตจังหวัดลำพูนนะครับ


ศาลเจ้าพ่อขุนตาล


หลังล้านนาถูกพม่ายึดครองในปี พ.ศ. 2101 ยุคบุเรงนอง ลำปางก็พ่วงเป็นเมืองขึ้นของพม่าไปด้วย พม่าได้แต่งตั้งคนไทยบ้าง พม่าบ้าง มาปกครองเมืองต่างๆในล้านนา โดยมีศูนย์อำนาจอยู่ที่เชียงแสนและเชียงใหม่ครับ

ช่วงหนึ่งลำปางว่างเว้นคนปกครอง ท้าวมหายศแม่ทัพจากลำพูนจึงเข้าตีและยึดครองเมืองลำปาง โดยยึดพระธาตุลำปางหลวงเป็นที่มั่น หนานทิพย์ช้าง พรานป่าผู้มีความเชี่ยวชาญในการใช้ปืนได้ลอบเข้าไปยิงท้วมหายศกลางวงหมากรุก ช่วยปลดปล่อยลำปางได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2275 ชาวลำปางจึงยกให้เป็นเจ้าเมืองนามว่าพระยาสุลวะลือไชย แต่ก็ยังคงต้องส่งบรรณาการให้พม่า เพื่อใช้อำนาจพม่ากำจัดกลุ่มอำนาจเก่าคือท้าวลิ้นก่าน ที่สืบเชื้อสายเจ้าเมืองลำปางเดิม หลังจากหมดท้าวลิ้นก่าน เจ้าสกุลล้านนาในลำปางก็ถูกกำจัดหมดสิ้นครับ ต่อมาเจ้ากาวิละหลานของเจ้าพ่อทิพย์ช้างจึงได้ร่วมมือกับพระยาจ่าบ้าน ต่อสู้เพื่อปลดแอกล้านนาจากพม่าอย่างแท้จริง และเป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน ในยุครัตนโกสินทร์ต่อมา



อนุสาวรีย์เจ้าพ่อทิพย์ช้างหน้าพระธาตุลำปางหลวง


มาเยี่ยมชมที่สถานที่สำคัญที่เกิดการต่อสู้ของเจ้าพ่อทิพย์ช้างกันครับ "พระธาตุลำปางหลวง" ศาสนสถานที่มีความสำคัญมากที่สุดของลำปางนั่นเอง ในอดีตที่นี่คือศูนย์กลางของเวียงลำปางหรือเวียงพระธาตุ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชื่อจังหวัดแทนที่เขลางค์นครตามที่เล่าไปด้านบน ที่มาของชื่อลำปางตามตำนานเล่าว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่นี่ (มาเกือบครบทุกวัดเลยนะครับ แหม่) แล้วลัวะผู้หนึ่งชื่ออ้ายคอนนำน้ำผึ้ง มะตูม และมะพร้าวมาถวายพระพุทธองค์ จึงทรงทำนายว่าที่นี่จะเป็นนครใหญ่ชื่อลัมภกัปปะนครหรือลำป้าง แล้วดึงผมส่งให้ลัวะประดิษฐานไว้ที่นี่ ลัวะจึงสร้างเป็นเจดีย์สูงเจ็ดศอก แล้วเจ้าเมืองลำปางรุ่นต่อๆมาก็บูรณะมาเรื่อยจนเป็นเจดีย์ใหญ่โตดังในปัจจุบัน

ผมมาที่นี่เป็นครั้งที่ 5 แล้ว แต่ครั้งนี้ดูท้องฟ้าสิครับ! ไม่มีอะไรมาหยุดการถ่ายรูปครั้งนี้ได้แล้ว!



บันไดนาคและซุ้มประตูโขงสร้างในปี พ.ศ. 2331 เป็นสัญลักษณ์ของป่าหิมพานต์ที่เชื่อมโลกมนุษย์เข้ากับดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง (องค์เจดีย์แทนเขาพระสุเมรุ)



วิหารหลวงสร้างปี พ.ศ. 2039 ตรงกลางมีซุ้มโขงประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง



วิหารพระพุทธ สร้างในปี พ.ศ. 2019



องค์เจดีย์ที่เห็นในปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยเจ้าหมื่นหาญแต่ท้อง ใน พ.ศ. 1992 โดยสร้างบนเนินตามคติการสร้างพระธาตุของภาคเหนือที่สร้างไว้บนเนินหรือดอย ผิดกับพระธาตุภาคกลางที่นิยมสร้างบนพื้นราบ พระธาตุลำปางหลวงเป็นพระธาตุประจำปีฉลูครับ องค์พระธาตุหุ้มทองจังโก (แผ่นทองแดงปิดทอง) สูง 45 เมตร





บริเวณรั้วล้อมพระธาตุด้านหน้าจะมีร่องรอยกระสุนปืน ซึ่งหนานทิพย์ช้างยิงใส่ท้าวมหายศขณะเล่นหมากรุกอยู่ในวัดแห่งนี้ นี่คือร่องรอยของการปลดปล่อยเมืองลำปางเมื่อ 280 ปีก่อนครับ!



วิหารละโว้อยู่ด้านหลังองค์พระธาตุ ว่ากันว่าสร้างตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ภายในมีพระพุทธบาทไม้และพระพุทธรูปสมัยลพบุรี



หอพระพุทธบาท ห้ามผู้หญิงขึ้นนะคะ แต่กะเทยขึ้นได้ค่ะ มีรูแสงลอดเลยสะท้อนภาพด้านนอกเข้ามาบนฉากผ้าใบแบบกล้องรูเข็ม เห็นเป็นภาพพระธาตุกลับหัวครับ ด้านล่างมีป้ายเขียนชัดๆว่าเป็นปรากฏการแสงหักเห แต่คุณลุงที่เฝ้าวัดดูแกตื่นเต้นกับภาพมหัศจรรย์นี้มากครับ โปรโมทให้ขึ้นไปดูใหญ่เลย



ที่นี่มีอาคารพิพิธภัณฑ์สามแห่ง ที่ดังที่สุดคือหอพระแก้วที่มีโบราณสถานมากมายทั้งพับสา จารึก พระพุทธรูป เงินตราโบราณ ดาบโบราณ ฯลฯ (ถ่ายรูปได้) ภายในสุดประดิษฐานพระแก้วดอนเต้าที่นำมาจากวัดพระแก้วดอนเต้าครับ



ในวัดยังมีวิหารและสิ่งน่าสนใจอีกหลายจุด เช่นวิหารน้ำแต้มที่มีภาพเขียนงดงาม หรือขนุนที่ว่ากันว่าปลูกโดยพระนางจามเทวี (ขนุนอายุ 1,200 ปีเรอะ?)


ใน อ.เกาะคายังมีวัดน่าเที่ยวหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือวัดเสลารัตนปัพพตารามหรือวัดไหล่หินแก้วช้างยืน สร้างโดยพระเกษรปัญโญเจ้าร่วมกับชาวเชียงตุงในปี พ.ศ. 2226 แม้จะไม่ใหญ่โต แต่เป็นวัดที่มีรายละเอียดสวยงามสมบูรณ์มากครับ วัดนี้เคยเป็นสถานที่ถ่ายทำฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องสุริโยไทด้วยนะ





(ซ้าย) แนวนี้เดิมทีเป็นกำแพงวัดเก่าแต่ตอนนี้เหลือแต่สิงห์ยืนอยู่สองข้าง
(ขวา) รูปปั้นมะพร้าว ของจริงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของวัดนี้ครับ (แต่ผมไม่ได้ถ่ายมา) ตามตำนานเล่าว่าพระมหาเกษรปัญโญได้เดินทางไปถึงเชียงตุง มีชาวบ้านมากราบไหว้ ท่านจึงได้มอบซีกกะลาให้เป็นของที่ระลึกแล้วจากไป จากนั้นชาวเชียงตุงผู้นั้นก็ได้มาพบท่านอีกครั้งที่ลำปางอย่างน่าอัศจรรย์ และสามารถนำกะลาของตนมาประกบกับอีกซีกที่ท่านเก็บไว้ได้พอดี

วิหารเป็นฝีมือช่างชาวเชียงตุงจากพื้นที่เชียงแสน จึงคล้ายศิลปะแบบเชียงแสนมากกว่าวิหารในลำปางปกติ



พระประธานในวิหาร ด้านหลังพระประธานมีรูปเหมือนของพระเกษรปัญโญ นับเป็นรูปเหมือนบุคคลที่เก่าแก่ที่สุดในล้านนา



พระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีรูปปั้น 12 นักษัตรล้อมรอบให้คนเกิดปีนั้นๆบูชาด้วย



ในเขตวัดมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บของเก่าไว้มากมาย เริ่มรวบรวมจากชาวบ้านในปี พ.ศ. 2502




วัดพระธาตุจอมปิง เป็นวัดดังอีกแห่งหนึ่งของ อ.เกาะคา สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราชในยุคล้านนาครับ (แต่ตำนานวัดเล่าว่าสร้างในสมัยพระนางจามเทวี ...วัดแถวนี้วัดไหนไม่รู้ว่าสร้างเมื่อไหร่ให้อ้างพระนางจามเทวีไว้ก่อนครับ)



องค์พระธาตุบรรจุกระดูกซี่โครงซ้ายของพระพุทธเจ้า



จุดขายของวัดนี้คือภาพพระธาตุเช่นเดียวกับที่วัดพระธาตุลำปางหลวง มีฉากผ้าใบให้ไปลองปรับสเกลพระธาตุกันเองด้วย ลุงที่เฝ้าโบสถ์แกสาธิตเปิดปิดแสง เลื่อนฉาก ทำมุมให้ดูหลากหลายมุมยาวเป็นห้านาทีจนได้ภาพสวยเช้ง





วัดม่อนจำศีล ไม่ค่อยดังแถมอยู่ห่างถนนใหญ่พอสมควร แต่ผมเลือกมาวัดนี้ครั้งที่มาลำปางรอบแรก เพราะอ่านประวัติแล้วเก่าแก่และหาภาพในเน็ตดูแล้วมีร่องรอยของความโบราณเหลือเยอะดี เข้ามาก็เจอกำแพงเก่าปรักหักพังครับ จุดเด่นคือที่วัดนี้มีเจดีย์ใหญ่ถึง 3 องค์



ม่อนคือเนินเล็กๆ ถ้าวัดมีชื่อม่อนๆก็แสดงว่าตั้งอยู่บนเนินเล็กๆนั่นเองครับ ไม่เกี่ยวกับโปเกม่อนหรือโดราเอม่อนแต่อย่างใด ตำนานเล่าว่าพระนางจามเทวีมาจำศีลที่นี่ตอนสร้างเขลางค์นครจึงได้ชื่อว่าวัดม่อนจำศีล แต่อันที่จริงวัดนี้สร้างโดยชาวพม่าช่วงที่ลำปางคึกคักด้วยอุตสาหกรรมไม้สักและมีพ่อค้าชาวพม่าเข้ามาค้าไม้เยอะต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ด้วยความที่ถูกทิ้งไว้นานโดยไม่ค่อยบูรณะทำให้วัดอายุ 100 กว่าปีแห่งนี้ดูเก่าแก่กว่าพวกวัดอายุเป็นพันๆปีซะอีก

ที่เห็นในภาพคือเจดีย์ฤาษีด้านในสุดของวัดครับ






เอาละ ได้ฤกษ์เข้าเขตเมืองเก่าเขลางค์นครเสียทีครับ



วัดปงสนุก เป็นศูนย์กลางเมืองในสมัยล้านนา ฟังชื่อก็สนุกแล้วครับ วัดนี้ชื่อเหมือนวัดปงสนุกในเมืองเชียงแสน เพราะบูรณะโดยชาวเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ลำปางช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมวัดนี้ชื่อวัดศรีเชียงภูมิ ไม่รู้ว่าสร้างขึ้นเมื่อไหร่ แต่ตำนานระบุว่าสร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าอันนตยศ ที่นี่เป็นหลักเมืองลำปางสมัยก่อนด้วยนะ จุดเด่นคือพระธาตุศรีจอมไคลและวิหารพระเจ้าพันองค์บนม่อนขนาดเล็ก ปัจจุบันได้แบ่งเขตเป็นวัดปงสนุกเหนือและวัดปงสนุกได้ เนื่องจากวัดมีขนาดกว้างใหญ่ไพศาล ปกครองลำบาก



ภายในวิหารพระเจ้าพันองค์ นอกจากพระพุทธรูปประทับใต้ต้นโพธิ์แล้วตามผนังยังฝังพระพุทธรูปขนาดเล็กไว้เป็นจำนวนมาก แสดงถึงพระพุทธเจ้าในอดีตจำนวนมากที่ได้ตรัสรู้ไปแล้ว



ที่นี่มีกู่เจ้านายสาย ณ ลำปาง แล้วยังมีพิพิธภัณฑ์เก็บของเก่าให้ชมด้วยครับ



ส่วนนี่คืออนุสาวรีย์หลักเมือง เดิมเคยมีหลักเมืองแรกของลำปางปักไว้ในปี พ.ศ. 2400 แต่ย้ายไปไว้ที่ศาลหลักเมืองลำปางปัจจุบันแล้ว




วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม เป็นศูนย์กลางเมืองเขลางค์ในยุคต้น ตามตำนานเล่าว่ามีพระมหาเถระมาจำพรรษาที่วัดนี้ แล้วนางสุชาดาที่ทำไร่แตงโมอยู่ใกล้วัดได้นำแตงโมมาถวาย เมื่อผ่าแตงโมดูก็พบมรกตซึ่งมีความแข็งมาก ไม่สามารถแกะสลักได้ พระอินทร์จึงช่วยนำแก้วมรกตนี้ไปสร้างเป็นพระพุทธรูป เรียกว่าพระแก้วดอนเต้า หลังจากนั้นมีข่าวว่านางสุชาดาและพระมหาเถระลักลอบเป็นชู้กัน เจ้าเมืองลำปางจึงสั่งประหารนางสุชาดา นางได้อธิษฐานว่าหากไม่ได้เป็นชู้ ขอให้เลือดของนางพุ่งขึ้นบนอากาศ แต่ถ้าเป็นชู้จริง ขอให้เลือดของนางตกลงเปื้อนพื้นดิน ซึ่งพอตัดคอแล้วเลือดของนางพุ่งขึ้นฟ้าจริงๆแสดงความบริสุทธิ์ หลังจากนั้นเจ้าเมืองล้มป่วยเพราะเสียใจที่ตัดสินผิดจนตายไป ส่วนพระเถระได้หนีออกจากวัดมายังวัดพระธาตุลำปางหลวง และนำพระแก้วดอนเต้าไปเก็บไว้ที่วัดลำปางหลวงมาตั้งแต่นั้น (องค์ที่เห็นในหอพระแก้วนั่นละครับ) บ้านของนางสุชาดาได้ตั้งขึ้นเป็นวัดชื่อวัดสุชาดาราม ต่อมาได้นำมารวมกับวัดพระแก้วดอนเต้า เป็นวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม



องค์เจดีย์บรรจุพระธาตุเกศาของพระพุทธเจ้า



นอกจากพระแก้วดอนเต้าแล้วที่นี่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตที่พวกเรารู้จักกันดีด้วยนะครับ พระแก้วมรกตค้นพบครั้งแรกที่จังหวัดเชียงราย จากนั้นพญาสามฝั่งแกนกษัตริย์ล้านนาได้อัญเชิญไปเชียงใหม่ แต่ช้างที่อัญเชิญพระแก้วพอมาถึงลำปางก็เกิดเบี้ยวไม่ยอมไปเชียงใหม่ขึ้นมา (สงสัยอยากกินร้านข้าวต้มบาทเดียว) พญาสามฝั่งแกนจึงประดิษฐานพระแก้วมรกตไว้ที่วัดนี้ถึง 32 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2011 พระเจ้าติโลกราชจึงอัญเชิญพระแก้วไปเชียงใหม่ และย้ายไปอีกหลายที่ก่อนจะมาอยู่ที่กรุงเทพในปัจจุบัน

พระเจ้าบัวเข็ม เป็นพระพุทธรูปแบบพม่าในมณฑปหน้าเจดีย์



ในวัดมีโบราณสถานเหลือให้ชมด้วย



แตงโมกลายเป็นจุดขายของพื้นที่แถวนี้เลยครับ ไปไหนก็เจอพระในแตงโม




ออกจากตัวเมืองตรงขึ้นไปสาย 1 ดิ่งขึ้นเชียงราย จะพบ วัดพระธาตุเสด็จ สร้างโดยพระเจ้าติโลกราชในปี พ.ศ. 2014 ครับ ตำนานเล่าว่ามีคนเห็นแสงขึ้นจากดอนบริเวณนี้และพระธาตุเสด็จออกมาในอากาศ ชาวบ้านจึงสร้างเจดีย์ขึ้นและให้ชื่อว่า "พระธาตุเสด็จ"




ลำปางเป็นสถานๆที่ผมพักในวันสิ้นปีทริปขึ้นเหนือ เลยได้ร่วมงานฉลองปีใหม่ที่ข่วงนครลำปางด้วย รอบที่แล้วที่ไปเชียงใหม่ก็ได้แวะพักที่ลำปางคืนสุดท้าย เลยได้มีโอกาสเดินเที่ยวเมืองจุดอื่นๆเพิ่มเติมครับ

ช่วง ร.5 มีต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจไม้สักในลำปางมาก ได้มีการขยายเส้นทางรถไฟขึ้นเหนือจนถึงลำปาง แล้วก็มีการนำรถม้าจากกรุงเทพขึ้นมาใช้งานด้วย ทำให้เมืองลำปางเจริญขึ้นผิดหูผิดตา หลังคนใช้รถยนต์มากขึ้นทำให้รถม้าล้มหายตายจากไปจากเมืองอื่นๆ แต่ลำปางก็ยังคงอนุรักษ์ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวนะครับ มีรถม้าวิ่งรอบเมืองทั้งวัน แต่ผมยังไม่เคยนั่งเลย



นอกจากรถม้าแล้วลำปางโดดเด่นเรื่องไก่ ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของจังหวัดครับ แต่ไก่ย่างที่อร่อยที่สุดให้ไปกินที่ชลบุรี (ตึ่งโป๊ะ!) ในตำนานกุกกุฏนคร (เป็นหนึ่งในชื่อนับสิบชื่อของลำปางแปลว่าเมืองของไก่) เล่าว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาแถวนี้ พระอินทร์กลัวชาวบ้านจะตื่นมาใส่บาตรไม่ทันเลยเนรมิตรไก่ขาวมาขันปลุกให้คนมาทำบุญกัน

ที่ลำปางมีโรงงานผลิตชามตราไก่เป็นของขึ้นชื่อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ด้วยองค์ความรู้การทำเครื่องเซรามิกที่สั่งสมมายาวนานทำให้ปัจจุบันลำปางมีชื่อในฐานะเมืองเซรามิกที่มีผลิตภัณฑ์เซรามิกคุณภาพสูงเป็นที่น่าภาคภูมิใจด้วยครับ ตามถนนหนทางเราจะเห็นรูปปั้นชามตราไก่เต็มไปหมด มีกระทั่งวงเวียนชามไก่ (แต่ถ่ายรูปมาไม่สวยสักรูป)

แม้แต่เซ็นทรัลลำปางยังมีรูปไก่เป็นสัญลักษณ์ให้สมเป็นเมืองลำปางครับ



อันนี้ไปแวะห้างท้องถิ่น เสรีเซ็นเตอร์ ปีนี้อายุครบ 32 แล้ว แต่ละจังหวัดก็มีห้างเก่าแก่ที่เป็นเอกลักษณ์เหมือนที่ลพบุรีมีมังกี้มอลล์และระยองมีห้างแหลมทอง



ถนนกาดกองต้า เป็นย่านการค้าเก่าแก่ของลำปางตั้งแต่สมัยการค้าไม้สักรุ่งเรือง ที่นี่มีอาคารเก่าแบบตะวันตกและแบบจีนสวยงามมากมาย



อีกเรื่องที่น่าพูดถึงคืออาหารการกิน ลำปางจัดว่าอาหารอร่อยนะครับ ไม่ว่าจะมั่วเข้าไปร้านไหนก็อร่อยถูกใจทั้งนั้น (ขนาดคืนที่ไปนั่งกินมั่วๆในตลาดวันสิ้นปียังอร่อยเลย) ร้านที่โด่งดังมานานคือข้าวต้มบาทเดียวครับ เดี๋ยวนี้ชักจะมีหลายร้านทำแบบเดียวกัน แต่ต้นตำรับต้องร้านริมแม่น้ำวังนี่เลย สภาพร้านเป็นสังกะสีเก๋าๆนี่แหละ ถึงกับข้าวจะไม่หลากหลายเท่าไหร่แต่รสชาติดีและราคาถูกมาก วันที่ผมไปกินสั่งไปหกอย่าง 135 ...ลดให้เหลือ 120 อีกต่างหาก! ส่วนข้าวต้มบาทเดียวร้านอื่นน่ะถูกแต่ข้าวต้ม



อันนี้ร้านข้าวมันไก่และร้านโจ๊กใกล้หอนาฬิกาเทศบาลเมืองลำปางครับ ร้านข้าวมันไก่อร่อยและมีชื่อเสียงมาก แต่ผมเคยไปนั่งกินสองครั้ง เป็นมื้อเช้าทั้งสองครั้ง เลยเน้นโจ๊กมากกว่าอ่ะ



ครัวโซโล ร้านนี้เข้ามั่วครับ ตั้งแต่รอบที่ขึ้นเชียงรายปลายปี เที่ยววัดที่ลำปางเลทไปบ่ายแก่ๆ เลยแวะแบบเจออะไรก็กิน ซึ่งร้านเลือกมั่วนี่ก็อร่อย บรรยากาศดี ราคาไม่แพงครับ



สุดท้าย ขากลับจากเชียงใหม่รอบล่าสุดนี่เลย ตอนขับบนสาย 1 ขาออกจากลำปางเส้นทางยาวมากๆครับ เลทไปเกือบบ่ายสองแล้วด้วย กะว่าเจอร้านบ้าบอคอแตกอะไรอุตริขึ้นมาตั้งบนทางหลวงก็กินหมดครับ ว่าแล้วก็เลี้ยวเข้าร้านครัวป้าแจ๋ว เกือบถึงตากแน่ะ! ปรากฏว่าอร่อยทุกอย่างครับ สมศักดิ์ศรีมื้อปิดทริปภาคเหนือรอบนี้จริงๆ



บล็อกหน้าไปพะเยาจ้ะ Smiley



Create Date :17 มิถุนายน 2556 Last Update :22 กรกฎาคม 2560 12:33:59 น. Counter : 16006 Pageviews. Comments :44