bloggang.com mainmenu search



 

18 มกราคม 2559

แพทยสภาแถลงข่าวเตือนแพทย์ระมัดระวังการโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทางโซเชียลมีเดีย

******************************

 

แพทยสภา ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคออกเตือนแพทย์และสถานพยาบาลต่างในการโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรมต่อประชาชนทางโซเชียลมีเดีย

 

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559เวลา 15.00 น. ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา นายกแพทยสภาพร้อมด้วย ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐ์สุวรรณผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและพล.อ.ต.นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันแถลงข่าวเนื่องจากปัจจุบันกระแสของการโฆษณาทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับศัลยกรรมเพื่อความงามนับวันจะทวีมากขึ้น

 

ผู้รับอนุญาตผู้ดำเนินการสถานพยาบาลและแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลนั้นต้องระมัดระวังในการที่ผู้อื่นมาเผยแพร่เรื่องการรักษาพยาบาลของตนหรือการดำเนินการในสถานพยาบาลของตนในโชเชียลมีเดีย เป็นไปในทำนองความสามารถ ความเชี่ยวชาญเกินกว่าความเป็นจริงเพราะข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549ที่บังคับใช้กับแพทย์ หมวด 7 การปฏิบัติตนเกี่ยวกับสถานพยาบาล ข้อ 36ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องไม่โฆษณาสถานพยาบาลหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาสถานพยาบาลที่ตนเป็นผู้ดำเนินการในลักษณะดังต่อไปนี้

 

1)โฆษณาสถานพยาบาลในทำนองโอ้อวดของสถานพยาบาลนั้น หรือกิจกรรมอื่นของสถานพยาบาลเกินกว่าที่เป็นจริงส่วนแพทย์ที่ไม่ใช่ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องระมัดระวังในการที่ผู้อื่นมาเผยแพร่เรื่องการรักษาพยาบาลของตนหรือการดำเนินการในสถานพยาบาลของตนโดยเฉพาะการลงรูปถ่ายต่างๆในโชเชียลมีเดีย

 

เป็นไปในทำนองเข้าข่ายโอ้อวดความสามารถความเชี่ยวชาญเกินกว่าความเป็นจริง เพราะข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 จะอาจผิดข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ใน หมวด 3การโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อ 8 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่โฆษณา ใช้จ้าง หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรมความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของตนซึ่งมีบทลงโทษทางจริยธรรมตั้งแต่ตักเตือน พักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้

 

และพระราชบัญญัติสถานพยาบาลพ.ศ.2541 ได้มีบทในการอนุญาตให้และห้ามโฆษณาภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาล

 

ในกรณีของสถานพยาบาลมีกฎหมายของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งเป็นกฎหมายในชั้นของพระราชบัญญัติ ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐ์สุวรรณผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกล่าวว่าทางกรมฯเป็นผู้ดูแลและให้อนุญาตสถานพยาบาลและคลินิกต่างๆในการโฆษณาซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานโดยมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 11 ( พ.ศ. 2546) เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาลหากสถานพยาบาลซึ่งรวมทั้งโรงพยาบาลและคลินิกเอกชนไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษโดยต้องระวางโทษปรับไม่เกิน20,000 บาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000บาท นับแต่วันที่ฝ่าฝืน ทั้งนี้จนกว่าจะระงับการโฆษณาดังกล่าว

 

ส่วนกรณีการห้ามโฆษณาที่สำคัญนั้นเช่น การใช้ข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่ไม่มีมูลความจริงทั้งหมด ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจผิดไม่สามารถกระทำได้ รวมทั้งการโฆษณากิจการสถานพยาบาลหรือการโฆษณาความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญในการรักษาพยาบาลคุณภาพ หรือประสิทธิผลของผู้ประกอบวิชาชีพหรือสรรพคุณของเครื่องมือเครื่องใช้ของสถานพยาบาลหรือกรรมวิธีการรักษาหรือโรคที่ให้การรักษาหรือเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการรักษาไปในทำนองให้เข้าใจผิดโดยไม่ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมาตรฐานวิชาชีพหรือทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังในสรรพคุณเกินความจริง

 

พล.อ.ต.นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญในฐานะคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีนโยบายคุ้มครองประชาชนทางด้านความงามแบบครบวงจรโดยจะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อรับเรื่องร้องเรียนและแก้ปัญหาให้กับประชาชนโดยอาศัยผู้ซึ่งดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอันประกอบด้วยสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ เช่น แพทยสภา ทันตแพทยสภา สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะกรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่ดูแลคลินิกต่างๆ ตำรวจ บกปคบ. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยทำงานร่วมกันเพื่อมาดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเข้ารับบริการสามารถโทรแจ้งได้ที่สคบ. 1166 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

""""""""""""""""""""""""""""""""""

 

การโฆษณา ในแง่ของส่วนตัวแพทย์

 

- ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๔๙ หมวด 3 และ หมวด

 

แต่ถ้าเป็นการโฆษณาสถานพยาบาล

 

- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2546) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาล

 

- ประกาศแพทยสภา ที่ 50/2549 เรื่อง คำที่ห้ามใช้ในการโฆษณา

 

 

 

ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมพ.ศ. ๒๕๔๙

https://www.tmc.or.th/service_law02_17.php

 

หมวดที่ ๓ การโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

 

ข้อ ๘ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้างหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรมความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของตน

 

ข้อ ๙ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้างหรือให้ผู้อื่นโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรมความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของผู้อื่น

 

ข้อ ๑๐ การโฆษณาตามข้อ ๘ และข้อ ๙อาจกระทำได้ในกรณีต่อไปนี้

 

(๑)การแสดงผลงานในวารสารทางวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุขหรือในการประชุมวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุข

(๒) การแสดงผลงานในหน้าที่หรือในการบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ

(๓)การแสดงผลงานหรือความก้าวหน้าทางวิชาการหรือการค้นพบวิธีการและเทคนิคใหม่ๆในการรักษาโรคซึ่งเป็นที่ยอมรับทางการแพทย์เพื่อการศึกษาของมวลชน

(๔)การประกาศเกียรติคุณเป็นทางการโดยสถาบันวิชาการ สมาคม หรือมูลนิธิ

 

 

ข้อ ๑๑ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอาจแสดงข้อความเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของตนที่สำนักงานได้เพียงข้อความเฉพาะเรื่องต่อไปนี้

 

(๑) ชื่อ นามสกุลและอาจมีคำประกอบชื่อได้เพียงคำว่านายแพทย์หรือแพทย์หญิง อภิไธยตำแหน่งทางวิชาการฐานันดรศักดิ์ ยศ และบรรดาศักดิ์ เท่านั้น

(๒) ชื่อปริญญา วุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติหรือหนังสือแสดงคุณวุฒิอย่างอื่น ซึ่งตนได้รับมาโดยวิธีการถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของแพทยสภาหรือสถาบันนั้นๆ

(๓) สาขาของวิชาชีพเวชกรรม

(๔) เวลาทำการ

 

ข้อ ๑๒ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอาจแจ้งความการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเฉพาะการแสดงที่อยู่ที่ตั้งสำนักงาน หมายเลขโทรศัพท์ และหรือข้อความที่อนุญาตในหมวด ๓ ข้อ ๑๑ เท่านั้น

 

ข้อ ๑๓ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ทำการเผยแพร่หรือตอบปัญหาทางสื่อมวลชนถ้าแสดงตนว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสามารถแจ้งสถานที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้แต่ต้องไม่เป็นการสื่อไปในทำนองโฆษณาโอ้อวดเกินความเป็นจริง หลอกลวงหรือทำให้ผู้ป่วยหลงเชื่อมาใช้บริการและในการแจ้งสถานที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ปรากฏหมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัวในที่เดียวกัน

 

ข้อ ๑๔ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องระมัดระวังตามวิสัยที่พึงมีมิให้การประกอบวิชาชีพเวชกรรมของตนแพร่ออกไปในสื่อมวลชนเป็นทำนองโฆษณาความรู้ความสามารถ

 

 

หมวด ๗ การปฏิบัติตนเกี่ยวกับสถานพยาบาล

 

ข้อ ๓๖ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องไม่โฆษณาสถานพยาบาลหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาสถานพยาบาลที่ตนเป็นผู้ดำเนินการในลักษณะดังต่อไปนี้

 

(๑)โฆษณาสถานพยาบาลในทำนองโอ้อวดการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือกิจกรรมอื่นของสถานพยาบาลเกินกว่าที่เป็นจริง

(๒) โฆษณาสถานพยาบาลโดยโอ้อวดกิจกรรมของสถานพยาบาลนั้นหรือสรรพคุณของเครื่องมือเครื่องใช้ของสถานพยาบาลไปในทำนองจูงใจให้ผู้อื่นเข้าใจผิดโดยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่เป็นมาตรฐานของวิชาชีพเวชกรรมหรือทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังในสรรพคุณเกินความเป็นจริง

(๓) โฆษณาสถานพยาบาลที่มีลักษณะเป็นการลามกไม่สุภาพ สำหรับสาธารณชนทั่วไปหรือมีลักษณะเป็นการกระตุ้น หรือยั่วยุกามารมณ์หรือเป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดี

(๔)โฆษณาสถานพยาบาลทำนองว่าจะให้ส่วนลดเป็นเงินหรือให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ใดให้เป็นไปตามระเบียบที่แพทยสภากำหนด

(๕) โฆษณาสถานพยาบาลว่ามีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้หนึ่งผู้ใดมาประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสถานพยาบาลนั้นโดยไม่เป็นความจริง

 

ข้อ ๓๗ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องไม่ให้หรือยอมให้มีการให้ค่าตอบแทนเป็นเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทนใดๆแก่ผู้ชักนำผู้ไปขอรับบริการจากสถานพยาบาลนั้น

 

ข้อ ๓๘ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องไม่ให้หรือยินยอมให้มีการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือวิชาชีพใดๆ ทางการแพทย์หรือการสาธารณสุข

หรือการประกอบโรคศิลปะโดยผิดกฎหมายในสถานพยาบาลนั้นๆ

 

ข้อ ๓๙ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใดไปทำการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสถานพยาบาลมีสิทธิที่จะประกาศหรือยินยอมให้มีการประกาศชื่อของตน ณสถานพยาบาลนั้นเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานเป็นเวลาแน่นอนหรือปฏิบัติงานเป็นประจำเท่านั้น โดยต้องมีข้อความระบุ วันเวลาที่ไปปฏิบัติงานประกอบชื่อของตนไว้ในประกาศนั้นให้ชัดเจนด้วย

 

ข้อ ๔๐ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใดที่ไปทำการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสถาน พยาบาลถ้ามิได้เป็นผู้ปฏิบัติงานประจำหรือไปปฏิบัติงานไม่เป็นเวลาที่แน่นอนไม่มีสิทธิที่จะให้มีการประกาศชื่อของตน ณ สถานพยาบาลนั้น เว้นแต่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะมีการทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับผู้ดำเนินการสถานพยาบาลนั้นๆ

 

 

หมวด ๘ การปฏิบัติตนในกรณีที่มีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ

 

 

 

ข้อ ๔๑ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่รับเงินจากผู้ประกอบธุรกิจไม่ว่ากรณีใดๆยกเว้นกรณีรับค่าตอบแทนจากการเป็นที่ปรึกษา เป็นวิทยากรการบรรยายทางวิชาการเป็นผู้ได้รับทุนวิจัยจาก ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว

 

 

ข้อ ๔๒ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่รับสิ่งของ การบริการหรือนันทนาการที่มีมูลค่าเกินกว่าสามพันบาทจากผู้ประกอบธุรกิจไม่ว่ากรณีใดๆยกเว้นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่งานด้านวิชาการที่ส่งผลถึงการบริการที่ยังประโยชน์แก่ผู้ป่วยโดยให้รับในนามของสถาบันต้นสังกัด

 

 

ข้อ ๔๓ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด เมื่อรับทุนจากผู้ประกอบธุรกิจในการไปดูงานไปประชุมหรือไปบรรยายทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ให้รับทุนได้เฉพาะค่าเดินทางค่าลงทะเบียน ค่าวิทยากร ค่าอาหาร และค่าที่พัก สำหรับเฉพาะตนเองเท่านั้นและจำกัดเฉพาะช่วงเวลาของการดูงาน การประชุม หรือการบรรยายเท่านั้น

 

 

ข้อ ๔๔ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใดถ้าต้องการแสดงตนเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ต่อสาธารณชนจะต้องไม่ใช้คำว่านายแพทย์ แพทย์หญิง คำอื่นใด หรือกระทำการไม่ว่าโดยวิธีใดๆให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความ ภาพ เครื่องหมาย หรือกระทำอย่างใดๆให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

 

 

ข้อ ๔๕ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใดเมื่อแสดงความเห็นต่อสาธารณะโดยการพูดการเขียนหรือโดยวิธีการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์สุขภาพใดต้องแสดงโดยเปิดเผยในขณะเดียวกันนั้นด้วยว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องโดยได้รับผลประโยชน์ใดๆจากผู้ประกอบธุรกิจนั้น เช่น เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ร่วมทุนเป็นผู้ได้รับทุนไปดูงาน ไปประชุมหรือบรรยายจากผู้ประกอบธุรกิจนั้นๆ

 

 

ข้อ ๔๖ ราชวิทยาลัยและวิทยาลัยในสังกัดแพทยสภาอาจวางระเบียบกำหนดแนวปฏิบัติตามข้อบังคับในหมวดนี้สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่เป็นสมาชิกของราชวิทยาลัยและวิทยาลัยนั้นๆได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้

 

""""""""""""""""""""""""""""""""""""

 

 

15คำห้ามแพทย์โม้โฆษณา

https://www.facebook.com/themedicalcouncil/posts/821843704609353

 

18 ข้อห้ามคลินิก -รพ.เอกชนโฆษณา ฝ่าฝืนปรับวันละหมื่นจนกว่าจะระงับ 15 คำบังคับแพทย์ห้ามใช้จ้อโทษตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ - เพิกถอนใบอนุญาตฯ

 

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2546)เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาล ซึ่งออกตามมาตรา 38พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่กำหนดว่าห้ามโฆษณาหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาด้วยถ้อยคำที่เป็นเท็จหรือโอ้อวดโดยใช้บังคับกับสถานพยาบาลที่ไม่ใช่สังกัดของหน่วยงานราชการ ประกาศดังกล่าว กำหนด18 ข้อห้ามโฆษณาสถานพยาบาลในลักษณะ ดังนี้

 

 

1. ห้ามใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่ไม่มีมูลความจริงทั้งหมดหรือบางส่วนหรือมีลักษณะหลอกลวงหรือปกปิดความจริงหรือทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นจริง

 

2.การใช้ข้อความทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่ามีบุคลากร เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์แต่กลับไม่มีให้บริการ

 

3. การใช้สถาบัน หน่วยงานองค์กร หรือบุคคล ที่ไม่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานรัฐ

 

4.การโฆษณาบริการโรคที่ไม่มีอยู่ในสาขาที่ผู้ประกอบวิชาชีพมีหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตร

 

5. การอ้างอิงรายงานวิชาการผลงานวิจัย สถิติ โดยข้อมูลที่อ้างอิงไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ

 

6. การใช้ข้อความหรือรูปภาพโอ้อวดเกินจริงหรือข้อความที่กล่าวอ้างหรือบ่งบอกว่าของตนดีกว่า เหนือกว่าดีที่สุด รายแรก แห่งแรก รับรองผล 100% หรือการเปรียบเทียบหรือข้อความที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าการบริการของสถานพยาบาลแห่งนั้นมีคุณภาพที่ดีกว่าเหนือกว่าหรือสูงกว่าที่อื่น

 

7.การโฆษณากิจการสถานพยาบาลหรือการโฆษณาความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญในการรักษาพยาบาลคุณภาพหรือประสิทธิผลสรรพคุณ กรรมวิธีหรือเปรียบเทียบผลก่อน - หลังในทำนองให้เข้าใจผิด

 

8.การใช้ชื่อสถานพยาบาลหรือข้อความที่ทำให้เข้าใจว่ามีการประกอบกิจการที่ไม่ตรงกับการรับอนุญาต

 

9.การโฆษณาสถานที่ซึ่งไม่ใช่เป็นของสถานพยาบาล

 

10.การโฆษณาด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกายหรือจิตใจหรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่ประชาชน

 

11.การใช้ภาพหรือเสียงที่ไม่เหมาะสมสร้างความหวาดกลัวหรือมีลักษณะเป็นการส่อไปในทางลามกอนาจาร กระตุ้นหรือยั่วยุทางกามารมณ์

 

12.การใช้ภาพหรือเสียงโดยไม่สุภาพหรือแสดงอาการทุกข์ทรมานของผู้ป่วย

 

13. การให้ร้าย เสียดสีหรือทับถมสถานพยาบาลหรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่น

 

14. ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม

 

15. การโฆษณาที่รวมอยู่กับข้อความถวายพระพรหรือข้อความอย่างอื่นที่อ้างอิงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เว้นแต่ชื่อของสถานพยาบาลหรือผู้ประพันธ์บทความดังกล่าว

 

16. การโฆษณาการให้บริการฟรี

 

17. การโฆษณาที่จัดให้มีการแถม แลกเปลี่ยนให้สิทธิประโยชน์ รางวัล หรือการเสี่ยงโชคจากการรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาล

 

18. ห้ามการให้ส่วนลดค่าบริการหรือค่ารักษาพยาบาลเว้นแต่ลดเพื่อการอนุเคราะห์บุคคลด้อยโอกาสลดต่อสมาชิกกลุ่มบุคคลหรือสถาบันหรือองค์กรเป็นการแจ้งให้ทราบเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

 

 

ทั้งนี้ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1หมื่นบาท นับแต่วันที่ฝ่าฝืน จนกว่าจะระงับการโฆษณา

 

 

 

“””””””””””””””

 

https://www.tmc.or.th/service_law03_12.php

 

ในส่วนของแพทย์ตามประกาศแพทยสภา ที่ 50/2549 เรื่อง คำที่ห้ามใช้ในการโฆษณาออกบังคับใช้กับแพทย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 กำหนดคำที่ห้ามแพทย์ใช้ในการโฆษณา 15คำเบื้องต้น ดังนี้

 

1. คำว่า เพียง เช่น เพียง4,000 บาท ต่อ ครั้ง

 

2. คำว่า เท่านั้น เช่นรักษาครั้งละ 500 บาท เท่านั้น

 

3. คำว่า พิเศษ เช่น พิเศษสำหรับสมาชิกบัตรเครดิตค่ารักษา

 

4. คำว่า เฉพาะ เช่นราคานี้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น

 

5. คำว่า ล้ำสมัย หรือ เช่นด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แห่งเดียว/แห่งแรกในประเทศไทย

 

6. คำว่า นำสมัย เช่นอุปกรณ์ที่นำสมัยในการให้การรักษา

 

7. คำว่า ราคาเดิม เช่นเสริมจมูก ตกแต่งใบหน้า 3,000 บาท จากราคาเดิม 4,000 บาท

 

8. คำว่า ครบวงจร เช่นโดยทางศูนย์ให้บริการแบบครบวงจร การแสดงราคาเปรียบเทียบ เช่น จากเดิม 6,000 บาทเหลือ 4,000 บาท หรือการแสดงราคาเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลอื่น เช่น โรงพยาบาล น.ราคาโปรแกรมตรวจสุขภาพ ราคา 3,000 บาท แต่โรงพยาบาล ร.โปรแกรมตรวจสุขภาพ ราคา2,000 บาท การใช้คำว่า ปกติ กับ เหลือ เช่น ปกติ ราคา 500 บาท จองวันนี้ เหลือ 300บาท โดยสิทธิ์นี้ใช้ได้ จนถึงสิ้นเดือน

 

9. คำว่า ฟรี เช่นจองวันนี้แถมฟรี ตรวจความดันปัสสาวะ ฯลฯ .

 

10. คำว่า สวยจริง จริงบอกต่อ

 

11. คำว่า อยากสวย สวยที่

 

12. คำว่า งดงามที่...มีเสน่ห์ที่...

 

13. คำว่าสวยเหมือนธรรมชาติที่...

 

14. คำว่า เหนือกว่า / สูงกว่า

 

15. คำว่า โรค...รักษาได้(ต้องมีข้อมูลทางวิชาการ 80% ขึ้นไป ว่าโรคดังกล่าวสามารถรักษาหายได้)

 

 

 

ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือนภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และเพิกถอนใบอนุญาตฯ

 

 

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

 

แพทยสภา "หมอโฆษณาขายยาผิดไหม?"

 

 คำถาม : กรณีหมอไปโฆษณาขายยาอาหารเสริม ใน Facebook ทำได้หรือไม่?

 คำตอบ :ปกติทำไม่ได้...ถ้าถามว่าทำได้แค่ไหน..โปรดอ่านข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๔๙ ประกอบ

 หมวด ๘การปฏิบัติตนในกรณีที่มีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ

 ข้อ ๔๔ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด ถ้าต้องการแสดงตนเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆต่อสาธารณชนจะต้องไม่ใช้คำว่า นายแพทย์ แพทย์หญิง คำอื่นใดหรือกระทำการไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความ ภาพ เครื่องหมายหรือกระทำอย่างใดๆ ให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

 ข้อ ๔๕ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด เมื่อแสดงความเห็นต่อสาธารณะโดยการพูดการเขียนหรือโดยวิธีการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์สุขภาพใดต้องแสดงโดยเปิดเผยในขณะเดียวกันนั้นด้วยว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องโดยได้รับผลประโยชน์ใดๆจากผู้ประกอบธุรกิจนั้น เช่น เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ร่วมทุนเป็นผู้ได้รับทุนไปดูงาน ไปประชุมหรือบรรยายจากผู้ประกอบธุรกิจนั้นๆ

https://www.tmc.or.th/news_file/tmc-rule-2549.pdf

 

คำถาม : ในกรณีไม่ได้บอกว่าเป็นนายแพทย์ หรือ แพทย์หญิง ใน Facebook ทำได้หรือไม่ ?

 คำตอบ : Facebook มี profile และ post อื่นๆต่อเนื่องกัน หากมีที่เข้าข่าย...

"..คำอื่นใด หรือกระทำการไม่ว่าโดยวิธีใดๆให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความ ภาพ เครื่องหมาย หรือกระทำอย่างใดๆให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม.." รวมถึง postก่อนหน้า หรือหลังจากนั้น เช่นไปตรวจคนไข้ ไปอยู่เวร เรียนจบรับปริญญา ย่อมง่ายแก้การเข้าองค์ประกอบความผิดได้ตามข้อบังคับแพทยสภา..เลี่ยงบาลีย่อมทำไม่ได้

 

คำถาม : การลงโทษของแพทยสภาเป็นระดับใด?

 คำตอบ : คณะอนุกรรมการจริยธรรมและสอบสวน จะพิจารณาขึ้นกับ เจตนา พฤติกรรม และวิสัย จำนวนครั้งที่กระทำความผิดและหากทำซ้ำเพิ่มโทษ ตั้งแต่ตักเตือน ถึงเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม และอาจถูกพิจารณาประกอบกรณี การขอเข้าศึกษาต่อ จนถึงรับทุนต่างๆ และไม่สามารถออกใบรับรองความประพฤติดีให้ได้เมื่อยามไปเรียนต่างประเทศ

 คำแนะนำ :ขอให้คุณหมอโปรดสำรวจในเพจตนเอง ท่านใดที่เผลอไปลงที่เข้าข่าย โฆษณา โดยไม่ตั้งใจหรือ ไม่ทราบข้อบังคับ ให้รีบไปแก้ไขให้ถูกข้อบังคับหากไม่แก้ไขแล้วมีผู้ร้องเรียนมา แพทยสภาจำเป็นจะต้องดำเนินการสอบสวนลงโทษตามข้อบังคับจริยธรรมต่อไป

 สำนักเลขาธิการแพทยสภา 9 ธค.2561 https://www.facebook.com/thaimedcouncil/posts/2163059983958895

 

*********************************************

Smart Consumer
https://www.facebook.com/smartconsumer4.0/posts/820061895072910?__tn__=K-R

โฆษณาสถานพยาบาล
.
“โฆษณา” คือ การกระทำการไม่ว่าโดยวิธีการใดๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบ ข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า
.
“สถานพยาบาล” คือ สถานที่รวมถึงยานพาหนะซึ่งจัดไว้เพื่อการประกอบ โรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ ไม่ว่าจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่” จากอำนาจตามความในมาตรา 38 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 อธิบดีกรมสนับสนุน บริการสุขภาพในฐานะผู้อนุญาต จึงได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล พ.ศ. 2562
.
สามารถทำการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล โดยไม่ต้องยื่นคำขอ เกี่ยวกับ
1) ชื่อย่อ ชื่อที่เป็นภาษาต่างประเทศ ชื่อที่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า และสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายเช่นเดียวกับชื่อสถานพยาบาล
.
2)คุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข
.
3) อัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการอื่น ๆ การโฆษณาอัตราค่าบริการแบบเหมาจ่ายต้องแจ้งรายละเอียดของเงื่อนไขในการโฆษณานั้น โดยต้องแจ้ง เงื่อนไขให้ผู้รับบริการ
.
4) สิทธิของผู้ป่วย ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
.
5) การบริการทางการแพทย์ ให้แจ้งเฉพาะบริการที่มีในสถานพยาบาล วัน เวลา ที่ให้บริการ ตามที่ได้รับอนุญาต
.
6)การเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและผลงานวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องไม่เป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการให้บริการของสถานพยาบาล
.
7) การแจ้งข่าวสาร เช่น แจ้งทำลายเวชระเบียน แจ้งย้ายสถานที่ เป็นต้น
.
ห้ามมิให้โฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล มีลักษณะดังนี้

1) เป็นเท็จ โอ้อวด หลอกลวง ปกปิดความจริง ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นจริงทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน เช่น บ่งบอกว่าของตนดีกว่า เหนือกว่า ดีที่สุด รายแรก แห่งแรก รับรองผล 100% หายขาด
.
2) ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจหรือคาดหวังว่าในสถานพยาบาล ว่ามีผู้ประกอบวิชาชีพ บุคลากร เครื่องมือ เครื่องใช้ ยา เวชภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่โดยข้อเท็จจริงไม่มีในสถานพยาบาล หรือไม่เป็นไปตามโฆษณาหรือประกาศ
.
3) การโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับชื่อสถานพยาบาล ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจ หรือ หลงเชื่อว่าสถานพยาบาลนั้น ประกอบกิจการไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ
.
4) วิธีการโฆษณาเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ หรือก่อความรำคาญ
.
5) สร้างความหวาดกลัว หรือมีลักษณะเป็นการส่อไปในทางลามกอนาจาร
.
6) ไม่สุภาพหรือแสดงอาการทุกข์ทรมานของผู้ป่วย
.
7) ดูหมิ่นให้ร้าย เสียดสีหรือทับถมสถานพยาบาล หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่น
.
8)ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรม อันดีของประชาชน
.
9) อ้างอิง เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
หากนอกเหนือจากนี้ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ สถานพยาบาล หรือผู้รับอนุญาต ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาต พร้อมด้วยข้อความ เสียงหรือภาพ ที่ใช้ในการ โฆษณาหรือประกาศ เอกสาร และ ชำระค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในการตรวจข้อความ

ภาพและเสียงการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับ สถานพยาบาล
.
1)ใบคำขออนุมัติโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาลเนื้อหาโฆษณา กระดาษขนาดเอสี่ ตัวอักษรขนาดไม่ต่ำกว่าสิบหกพอยต์ หน้าละห้าร้อยบาท สื่อโฆษณาที่เป็นภาพหรือเสียง วินาทีละ ห้าสิบบาท
.
2) ใบแทนหนังสืออนุมัติ ฉบับละสามร้อยบาท
ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562
.
หากฝ่าฝืน จะระวางโทษ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ฝ่าฝืนให้มีคำสั่งระงับการโฆษณา หรือประกาศ ทั้งนี้ จนกว่าจะระงับการโฆษณาหรือประกาศดังกล่าว
.
Reference : 1. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ. [cited 2019Dec26]. Available from: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/P…/2562/E/289/T_0044.PDF

2. สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร. [cited 2019Dec26]. Available from:
https://library2.parliament.go.th/…/co…/law107-201259-41.pdf






********************************************* 



ข้อแนะนำวิธีตั้งกระทู้ถามปัญหาสุขภาพ

 

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-06-2008&group=26&gblog=7

ชี้แจงเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาผ่านระบบอินเตอร์เนต

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-02-2008&group=26&gblog=8

มาทำบุญด้วยการตอบกระทู้ .... เป็น คำแนะนำเบื้องต้น ไม่ได้วินิจฉัยโรค ....

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-09-2009&group=26&gblog=9

 

Facebook, Line, Tweeter….จริยธรรมบนโลกออนไลน์.... โดย doctorlawyer"

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-06-2014&group=26&gblog=3

การระมัดระวังการใช้Social Media สำหรับแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุข... โดย หมอแมว

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-06-2014&group=26&gblog=5

แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพพ.ศ.2559

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=15-05-2017&group=26&gblog=1

แพทยสภาเตือน แพทย์ ระมัดระวังก่อนโพสต์รูปตนเอง/คนไข้หรือความเห็นส่วนตัวลง social media

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-06-2014&group=26&gblog=4

แพทยสภาเตือนแพทย์ระมัดระวังการโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทางโซเชียลมีเดีย

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=18-01-2016&group=26&gblog=2

ฝากเตือนแพทย์ เกี่ยวกับ การรับปรึกษา วินิจฉัย ผ่านแอพ ผ่านเวบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=19-09-2016&group=26&gblog=11

หมอไม่ควรไปตอบปัญหาทางเนตจริงหรือ ???

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=06-11-2009&group=26&gblog=10

 

Create Date :18 มกราคม 2559 Last Update :20 มกราคม 2563 22:53:36 น. Counter : 8154 Pageviews. Comments :1