bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : พระตำหนักดาราภิรมย์ แม่ริม, เชียงใหม่ Thailand
พิกัด GPS : 18° 54' 46.52" N 98° 56' 31.80" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม







 
สถานที่ท่องเที่ยวในเชียงใหม่ที่ไปมาในทริปเชียงใหม่ในปีนี้แห่งต่อไปขอบอกว่า .... ชอบ ... ไม่ใช่แค่ชอบครับ ... นอกจากจะเป็นสถานที่ที่น่าไปเยือน  สวยงาม  สงบ  ร่มรื่น  แล้วยังเป็นสถานที่ที่เจ้าของบล็อกเคารพที่สุดครับ ....
 

 
 

พระตำหนักดาราภิรมย์  แม่ริม  เชียงใหม่
 
 


 
 
 



(โปรดกด “เล่น”  เพื่ออรรถรสในการอ่านบล็อก :  การแสดงพื้นเมืองของภาคเหนือเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญประการหนึ่งของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี  โปรดให้แต่งละครซอ (เลียนแบบโอเปร่า)  เรื่อง  “น้อยไชยา – แว่นแก้ว”  และนี่คือเพลงน้อยใจยาแบบราชสำนักก่อนที่ศิลปินแห่งชาติ  จรัล  มโนเพชร  จะมาปรับปรุงเป็นเพลงน้อยใจยาแบบที่ได้ยินกันจนคุ้นหู)
 


 

พระตำหนักดาราภิรมย์  ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายดารารัศมี  หลังที่ว่าการอำเภอ อำเภอแม่ริม  แต่การเดินทางจะต้องไปใช้ซอยวัดแม่ริม  ผ่านโรงเรียนวัดแม่ริมทางขวามือแล้วจะเห็นประตูรั้วทางเข้าพระตำหนักทางซ้ายมือครับ
 
 
เจ้าของบล็อกเคยได้อ่านพระราชประวัติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี  รวมถึงประวัติของเจ้านายฝ่ายหลายท่านตั้งแต่เล็กๆ  จินตนาการไม่ออกว่า  “เจ้านายฝ่ายเหนือ”  จะเป็นยังไงเพราะความเป็นเด็ก  ความรู้รอบตัวยังน้อย  จนมาได้อ่าน  “สีแผ่นดิน”  ซึ่ง  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมช  ได้บรรยายไว้ว่า – เป็นตำหนักตึกขนาดใหญ่  ข้าราชบริพารล้วนไว้ผมยาวเกล้ามวย  นุ่งซิ่น  สูบบุหรี่ขี้โย  ใช้ชีวิตแบบเชียงใหม่  ก็ยิ่งติดใจวัฒธรรมของภาคเหนือ  ยิ่งเมื่อได้รู้ว่าพระตำหนักของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี  สร้างด้วยเงินประทานของเจ้าอินทวิชยนนท์ยิ่งพอจะจินตนาการภาพของเจ้านายฝ่ายเหนือได้ว่าร่ำรวยมากๆ  ในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากพระบรมวงศานุวงศ์แล้วก็คงไม่มีใครที่สามารถสร้างตึกขนาดใหญ่ได้  “เจ้านายฝ่ายเหนือ”  ที่สร้างตึกขนาดใหญ่ในพระราชฐานฝ่ายในได้คงต้องมีฐานะและอำนาจที่  “มั่งคั่ง”  มาก 
 
 
พระราชายาเจ้าดารารัศมีได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายในเมื่อพระชนมายุ  14  ปี  เมื่อครั้งที่ตามเสด็จเจ้าอินทวิชยนนท์ลงมากรุงเทพฯเพื่อร่วมงานพระราชพิธีลงสรงและสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร  ทรงประทับอยู่ที่กรุงเทพฯตลอดมาเป็นเวลา  22  ปี  ถึงได้มีโอกาสเสด็จกลับมาเชียงใหม่ในปี  พ.ศ. 2451 
 
 
ในเดือนตุลาคม  พ.ศ. 2453  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต  และในปี พ.ศ. 2457  ได้กราบบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติเชียงใหม่เป็นการถาวร  เมื่อเสด็จนิวัตเชียงใหม่แรกๆประทับอยู่ที่คุ้มเจดีย์กิ่ว     
 
ในบั้นปลายพระชนมชีพทรงประทับอยู่ที่
พระตำหนักดาราภิรมย์มาตลอด  ก่อนจะย้ายไปประทับที่คุ้มรินแก้ว  (เคยมีผู้รู้บอกว่าเคยอยู่ตรงข้ามเซ็นทรัลกาดสวนแก้วแต่ปัจจุบันรื้อลงแล้ว)  เพราะประชวร
 
 
พระราชายาเจ้าดารารัศมีสิ้นพระชนม์ในวันที่  9  มกราคม  พ.ศ. 2476  สิริพระชันษา  60  ปี











 


 
พระราชายาเจ้าดารารัศมีโปรดให้ก่อสร้างพระตำหนักขึ้นในที่ส่วนพระองค์ขึ้นประมาณช่วงปี พ.ศ. 2470 -2472










 
รูปแบบตัวอาคารได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตก  พระตำหนักดาราภิรมย์เป็นอาคารสองชั้นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ครึ่งตึกครึ่งไม้ ใต้ถุนโล่งแต่มีการต่อเติมใช้ประโยชน์ภายหลัง ชั้นบนเป็นไม้รวมทั้งโครงสร้างของหลังคา รูปแบบอาคารเป็นบ้านแบบฝรั่งประยุกต์ตามความนิยมในสมัยนั้น มีลักษณะคล้ายบ้านพักอาศัยในกรุงเทพฯ ที่ก่อสร้างในเวลาใกล้เคียงกัน ผังพื้นชั้นบนประกอบด้วยห้องขนาดใหญ่หลายห้องแต่ละห้องสูงโปร่ง มีลวดลายฉลุบริเวณคอสองเพื่อระบายอากาศ มีชุ้มทางเข้าหน้าอาคารสำหรับเทียบจอดรถยนต์และมีระเบียงร้านไม้ด้านหลัง

 
หลังคารูปทรงผสมแบบจั่ว Gable และแบบมะลิลา Hipped roof  หลังคาเป็นดาดฟ้า คอนกรีตเสริมเหล็ก สำหรับชมบริเวณสวนโดยรอบ ซึ่งได้รับ อิทธิพลจากต่างประเทศในยุคนั้น   เนื่องจากเป็นอาคารขนาดใหญ่ และมีความต้องการใช้สอยพื้นที่ใต้หลังคา จึงมีการยกระดับหลังคาบางส่วนเพื่อเป็นช่องแสงและยื่นชายคา มุงกระเบื้องซีเมนต์ใยหินสองเล็กสีแดง 






 


พระราชายาเจ้าดารารัศมี ทรงทำพินัยกรรมประทานที่ดินและพระตำหนักดาราภิรมย์ ให้เป็นมรดกแก่เจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่ ราชบุตรในเจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่) เจ้าราชวงศ์แห่งนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมรดก 1 ใน 4 ส่วนของพระราชายาเจ้าดารารัศมีต่อมาในปี พ.ศ. 2492   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขอซื้อที่ดินและ
พระตำหนักดาราภิรมย์ เพื่อเตรียมการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค แต่ต่อมาก็ไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด กระทั่งได้บูรณะและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์อันเป็นมรดกล้ำค่าของแผ่นดินแทน ปัจจุบันพระตำหนักอยู่ในความดูแลของศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้พัฒนาพื้นที่








 
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่า
พระตำหนักดาราภิรมย์อยู่ในสภาพทรุดโทรม แต่สภาพอาคารยังมีความมั่นคงแข็งแรง มีรูปแบบอาคารที่ชัดเจน อาจใช้เป็นกรณีศึกษา อาคารที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกในประเทศไทย การบูรณะใช้แนวทางอนุรักษ์และเตรียมการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2541 ด้วยการรักษาส่วนประกอบของอาคารและรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้อันเกี่ยวเนื่องกับพระราชชายาฯ เพื่อจัดตั้งแสดงและตกแต่งห้องต่างๆให้อยู่ในสภาพใกล้เคียงกับอดีตมากที่สุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือ พ่อค้า และประชาชนชาวเชียงใหม่ ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคและเสาหาสิ่งของเครื่องใช้เพื่อจัดตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์
 

ปัจจุบัน
พระตำหนักดาราภิรมย์อยู่ในการดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือ เครื่องใช้ส่วนพระองค์ ของที่ทรงได้รับพระราชทาน รวมทั้งพระราชหัตถเลขาระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระราชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรักระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ฝ่ายเหนือ ที่ได้ทรงดำรงพระอิสริยยศพระราชชายา อันเป็นพระฐานันดรศักดิ์พระมเหสีเทวีพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์ไทย







 
 


ภายใน
พระตำหนักดาราภิรมย์มีพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้อันเกี่ยวเนื่องกับพระราชายาเจ้าดารารัศมี โดยให้มีสภาพ ใกล้เคียงกับอดีตมากที่สุด อาทิเช่น ห้องพักผ่อนพระอิริยาบถ จัดแสดงจานชาม เครื่องเสวย ของใช้ส่วนพระองค์ และเครื่องดนตรี เป็นต้น
 
 
1.โถงทางเดิน จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระปฐมวงศ์ พระประวัติพระตำหนักที่ประทับในพระราชายาเจ้าดารารัศมีพระตำหนัก ดาราภิรมย์
2.ห้องรับแขก จัดแสดงของถวายอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชายาเจ้าดารารัศมี และเครื่องเรือนร่วมสมัย
3.ห้องบรรทม จัดแสดงของถวายอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชายาเจ้าดารารัศมี และเครื่องเรือนร่วมสมัย
4.ห้องพักผ่อนพระอิริยาบถ จัดแสดงจานชาม เครื่องเสวย ของใช้ส่วนพระองค์ และเครื่องดนตรี
5.ห้องจัดแสดงพระกรณียกิจ ด้านการศาสนา ด้านการเกษตร และด้านศิลปะศาสตร์
6.ห้องจัดแสดงชุดเครื่องทรง ผ้าทอที่พระราชชายาฯทรงออกแบบลวดลายและส่งเสริมการทอ ชุดการแสดงที่พระราชชายาฯได้ทรง ฟื้นฟูและทรงดัดแปลงศิลปะภาคกลางให้เข้ากับศิลปะภาคเหนือ
7.ห้องสรง
 
 
ชั้นล่างจัดแสดงเครื่องมือเกษตร ที่ทรงใช้ในการทดลองการเกษตรแผนใหม่ ในสวนเจ้าสบาย นอกจากนั้นยังมีเครื่องทอผ้า ซึ่งใช้ทอผ้า สำหรับพระราชายาเจ้าดารารัศมีโดยเฉพาะ









 
พระราชายาเจ้าดารารัศมี ทรงสนพระทัยในการเกษตรและทรงหวังจะช่วยการกสิกรรมของภาคเหนือ ทรงสร้างสวนทดลองการเกษตรชื่อ "สวนเจ้าสบาย"  ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชสมาคมกุหลาบแห่งประเทศอังกฤษ ทรงริเริ่มและสนับสนุนการปลูกกุหลาบทั่วนครเชียงใหม่ และหัวเมืองใกล้เคียง ภายหลังทรงพบกุหลาบขนาดใหญ่พันธุ์หนึ่ง ซึ่งมีสีชมพูระเรื่อ ส่งกลิ่นหอมตลอดเวลา ทำให้ทรงหวนระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว จึงได้ประทานนามกุหลาบพันธ์นั้นตามพระนามในพระบรมราชสวามีว่า "จุฬาลงกรณ์" พระราชายาเจ้าดารารัศมี โปรดให้สร้างแปลงเพาะพันธุ์บน พระตำหนักม่อนจ๊อกป๊อก บนดอยสุเทพ ซึ่งมีอากาศเย็นทั้งปี เมื่อเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักดาราภิรมย์ ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ ก็โปรดให้ปลูกกุหลาบจุฬาลงกรณ์โดยรอบพระตำหนัก และทรงตัดดอกถวายสักการะพระบรมราชสวามี ซึ่งต่อมาภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำกุหลาบจุฬาลงกรณ์มาเพาะพันธุ์และโปรดให้ปลูกประดับโดยรอบพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์








 

ปัจจุบันในบริเวณ  สวนเจ้าสบาย  มีการปลูกกุหลาบสีสวยแปลกตาและมีกลิ่นหอมอยู่หลายพันธุ์






























 
 





 
รายละเอียดเพิ่มเติม


เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-วันอาทิตย์ ตั้งแ ต่เวลา 09.00-17.00 น. อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก/นักศึกษาในเครื่องแบบ 10 บาท พระสงฆ์และนักเรียนในเครื่องแบบเข้าชมฟรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 5329 9175








อีกช่องทางหนึ่งในการติดตาม “ทนายอ้วนพาเที่ยว” นะครับ




Chubby Lawyer Tour - ทนายอ้วนพาเที่ยว


https://www.facebook.com/ChubbyLawyerTour/






Chubby Lawyer Tour ………………….. เที่ยวไป............. ตามใจฉัน



 
132132132
Create Date :08 เมษายน 2562 Last Update :8 เมษายน 2562 19:38:43 น. Counter : 2011 Pageviews. Comments :11