bloggang.com mainmenu search





พระบรมสารีริกธาตุ หมายถึงพระบรมอัฐิของพระพุทธเจ้า
ประเทศไทยมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่หลายจังหวัด
แสดงถึงการนับถือพระพุทธศาสนาที่มีมาอย่างยาวนาน
ส่วนใหญ่บรรจุอยู่ในพระสถูป เจดีย์ พระปรางค์ เป็นต้น

พระธาตุในภาคกลางและภาคใต้จะนับเป็นศูนย์กลางของเมือง
ในขณะที่พระธาตุในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ส่วนใหญ่จะมีตำนานที่เล่าขานถึงการเดินทางของพระธาตุ

คัมภีร์ปฐมโพธิกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ. สาลวโนทยาน ใกล้เมืองกุสินารา
มัลลกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองได้อัญเชิญพระสรีระไปประดิษฐาน
ที่มกุฏพันธนเจดีย์เพื่อประชุมเพิลงในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6

เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้วได้ปรากฏพระบรมสารีริกธาตุจำนวนมาก
มีลักษณะสัณฐานและพรรณแตกต่างกัน จำแนกออกเป็น 2 ประเภทคือ



นวิปปกิณหาธาตุ เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ปรากฏเฉพาะส่วน ไม่กระจัดกระจาย
มี 7 องค์ ได้แก่ พระเขี้ยวแก้ว 4 พระรากขวัญ 2 พระอุณหิศ 1
วิปปกิณหาธาตุ เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่กระจัดกระจาย มี 3 ขนาด
เล็กเท่าเม็ดผักกาด กลางเท่าเมล็ดข้าวสารหัก ใหญ่เท่าเมล็ดถั่วเขียวผ่าครึ่ง

ตามพุทธประวัติ นวิปปกิณหาธาตุทั้ง 7 องค์ ได้ประดิษฐานในที่ต่างๆ ดังนี้
พระเขี้ยวแก้วบนขวาและพระรากขวัญขวา พระอินทร์ไปไว้ที่เจดีย์จุฬามณี
พระเขี้ยวแก้วบนซ้าย ประดิษฐานที่สถูปเมืองกลิงคราษฏร์
(ศรีลังกาอ้างว่า ประดิษฐานที่วัดพระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี)

พระเขี้ยวแก้วล่างขวา ประดิษฐานที่สถูปเมืองคันธาธาราษฏร์
พระเขี้ยวแก้วล่างซ้าย ประดิษฐานที่นาคพิภพ
พระอุณหิศและพระรากขวัญซ้าย ประดิษฐานในทุสเจดีย์ในพรหมโลก

วิปปกิณหาธาตุที่กระจัดกระจาย มัลลกษัตริย์ได้อัญเชิญกลับเข้าเมือง
ประดิษฐานเหนือบัลลังก์ภายใต้เศวตฉัตร ต่อมาเมื่อข่าวถวายพระเพลิง
พระพุทธเจ้าแพร่กระจายออกไป เหล่ากษัตริย์และพราหมณ์ในแคว้นต่างๆ




ต่างประสงค์จะได้พระบรมสารีริกธาตุจึงส่งพระราชสาส์นมายังมัลลกษัตริย์
เพื่อขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุในพระสถูป ฝ่ายมัลลกษัตริย์ปฏิเสธ
อ้างว่าพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานและถวายพระเพลิงในเมืองกุสินารา
พระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดจึงควรจะอยู่ที่เมืองกุสินาราเท่านั้น

กษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง 7 พระนคร จึงยกทัพมาประชิดหมายจะชิงเอาไป
ขณะนั้นโทณะพราหมณ์ที่เป็นอาจารย์ของบรรดากษัตริย์ในชมพูทวีป
ได้เข้ามาห้ามปราม โดยอาสาเป็นผู้แบ่งพระธาตุเหล่านี้ให้เท่าๆ กัน
พราหมณ์โทณะได้ตวงพระธาตุได้พระบรมธาตุขาดใหญ่ 5 ทะนาน
ขนาดกลาง 5 ทะนาน ขนาดเล็ก 6 ทะนาน รวมเป็น 16 ทะนาน

เหล่ากษัตริย์ต่างตกอยู่ในอาการเศร้าโศกที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน
พราหมณ์โทณะจึงได้ลอบหยิบพระเขี้ยวแก้วบนขวาไป ด้วยทิพยญาน
พระอินทร์จึงเหาะลงมาหยิบเอาไปบรรจุไว้ที่จุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์
ครั้นตวงเสร็จโทณะพราหมณ์ลอบจับมวยผมก็รู้ว่าพระเขี้ยวแก้วหายไป

จึงได้ขอเหล่ากษัตริย์ว่า จะขอนำโทณะหรือทะนานทองนี้ไปบูชาเอง
หลังแบ่งพระธาตุเสร็จ กษัตริย์โมลียะแห่งโมรีนครเพิ่งจะทราบข่าว
การแบ่งพระธาตุ จึงสงสาร์นมายังมัลละกษัตริย์เพื่อขอเถ้าถ่านไปบูชา



พระเจ้าอชาตศัตรูทรงนำไปก่อสถูปไว้ที่กรุงราชคฤห์ แคว้นนมคธ
กษัตริย์ลิจฉวี ทรงนำไปไปก่อสถูปไว้ที่กรุงเวสาลี แคว้นวัชชี
กษัตริย์ศากยะ ทรงนำไปไปก่อสถูปไว้ที่ กรุงกบิลพัสดุ์
กษัตริย์โกลียะ ทรงนำไปไปก่อสถูปไว้ที่ กรุงรามคาม

พราหมณ์เวฏฐทีปกะ นำไปก่อสถูปไว้ที่ เวฏฐทีปกะ
กษัตริย์มัลละ แห่งปาวาทรงนำไปก่อสถูปไว้ที่นครปาวา
กษัตริย์มัลละ แห่งกุสินาราทรงนำไปก่อสถูปไว้ที่นครกุสินารา

นอกจากเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ยังมีเจดีย์ที่เกี่ยวข้องอีก 2 แห่ง
กษัตริย์โมรียะ ทรงนำพระสรีรางคารไปก่อสถูปไว้ที่โมรีนคร
โทณพราหมณ์ นำทะนานทองไปก่อสถูปไว้ที่นครกุสินารา

* แคว้นมัลละเป็นหนึ่งใน 16 แคว้นใหญ่ในสมัยพุทธกาล
โดยแบ่งเป็นฝ่ายเหนือมีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง
ฝ่ายใต้มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง ห่างกัน 12 กิโลเมตร คั่นกลางด้วยแม่น้ำหิรัญวดี
ที่เรียกมัลลกษัตริย์เพราะมีระบบการปกครองคล้ายๆ สาธารณรัฐ
คือเป็นการรวมกลุ่มกันของเจ้าเมืองต่างๆ ไม่ได้มีความเป็นเอกราชาเหมือนแคว้นอื่นๆ
Create Date :04 กรกฎาคม 2559 Last Update :7 กรกฎาคม 2559 13:47:04 น. Counter : 1593 Pageviews. Comments :4