28 ส.ค. 2023 เวลา 07:42 • อสังหาริมทรัพย์

ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านและห้องชุด ต้องตรวจสอบอะไร

AREA แถลง ฉบับที่ 697/2566: วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม 2566
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4
จากกรณีโครงการแอชตันอโศก ทำให้หลายฝ่ายตระหนกและตระหนักว่า ก่อนที่จะซื้อบ้านหรือห้องชุด เราพึงตรวจสอบอะไรบ้าง ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) มีข้อแนะนำเบื้องต้นดังนี้:
1. ตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินว่าถูกต้องหรือไม่ โดยนำเอกสารสิทธิ์ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ว่าเป็นเจ้าของเดียวกับโครงการของบริษัทพัฒนาที่ดินนั้นๆ หรือไม่
2. ตรวจสอบภาระผูกพันของที่ดินโครงการที่พัฒนาว่ามีภาระผูกพันกับบุคคล นิติบุคคล หรือสถาบันการเงินใดหรือไม่ มีการขายฝาก หรือจำนองกับใครหรือไม่
3. ตรวจสอบการขออนุญาตจัดสรรที่ดิน โดยมากโครงการต่างๆ ก็จะแสดงไว้ชัดเจน แต่อาจนำไปตรวจสอบได้ที่สำนักงานที่ดินในท้องที่
4. ตรวจสอบสภาพสิ่งก่อสร้างให้ดีว่ามีจุดบกพร่องหรือข้อพึงแก้ไขอย่างไรบ้าง
5. ตรวจสอบสภาพและรายละเอียดของสาธารณูปโภครวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการ เช่น ถนน ท่อระบายน้ำ ไฟฟ้า น้ำประปา และสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการ ทั้งนี้พึงดูว่าทางโครงการมีการวางเงินค้ำประกันสาธารณูปโภคตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เป็นเงินเท่าไหร่ ทั้งนี้สามารถตรวจสอบได้จากโครงการ และผู้ออกหนังสือค้ำประกันสาธารณูปโภค (สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง)
6. ตรวจสอบสภาพแวดล้อม ว่าอยู่ใกล้สถานที่อันไม่พึงประสงค์ เช่น กองขยะ หรืออื่นๆ หรือไม่
7. ตรวจสอบแนวเวนคืนเพื่อการตัดถนนหรือก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ว่ามีหรือไม่ ทั้งนี้ตรวจสอบจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กทม. เมืองพัทยา อบจ. เทศบาล อบต.) กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท หรือส่วนราชการอื่น
8. ตรวจสอบผังเมือง ว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่เราจะซื้อหรือไม่ โดยตรวจสอบกับผังเมืองจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
9. ตรวจสอบถนนและทางเข้าออกว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ (จะได้ไม่ซ้ำรอยแอชตันอโศก)
10. ตรวจสอบการขออนุญาตก่อสร้าง โดยตรวจสอบกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ
11. ตรวจสอบว่ามีรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในกรณีที่เป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารที่ต้องมีรายงานที่ตรวจสอบโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
12. ตรวจสอบราคาและค่าส่วนกลางโดยเปรียบเทียบกับโครงการอื่นๆ
13. ตรวจสอบการบริหารนิติบุคคลบ้านจัดสรร/อาคารชุด (ถ้ามีแล้ว) ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
14. ตรวจสอบความคืบหน้าในการก่อสร้างอาคารและสาธารณูปโภคว่ามีความคืบหน้าต่อเนื่องหรือไม่
15. ตรวจสอบบริษัทพัฒนาที่ดินว่าได้มีทุนจดทะเบียนเพียงใด มีทุนที่ชำระแล้วเท่าไหร่ ผู้มีอำนาจลงนามคือใคร เป็นต้น
16. ตรวจสอบผลงานของผู้บริหาร และบริษัทเจ้าของโครงการที่ผ่านมาว่ามีชื่อเสียงดีไหม มีข้อบกพร่องอะไรบ้าง มีข้อร้องเรียนมากไหม ทั้งนี้อาจดูจากสื่อหรือ Social Media ต่างๆ
ถ้าตรวจสอบเองไม่ไหว ก็อาจว่าจ้างนักกฎหมาย หรือผู้ประเมินค่าทรัพย์สินไปช่วยตรวจสอบให้ก็ได้
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537
เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
โฆษณา