2 ส.ค. 2022 เวลา 02:23 • ประวัติศาสตร์
โรงรับจำนำเก่าที่สุดของกรุงเทพฯ
กำเนิด “โรงรับจำนำ” ยุคแรกสมัยรัชกาลที่ 4 เผยเทคนิค “จีนฮง” ทำกิจการรุ่งเรืองได้อย่างไร Moving Book จะมาอธิบายให้
ตรงสี่แยกสำราญราษฎร์ หรือสี่แยกประตูผี เคยมีโรงรับจำนำโรงหนึ่งชื่อ "ย่องเซี้ยง"ความน่าสนใจของโรงรับจำนำแห่งนี้คือ เป็นโรงรับจำนำแห่งแรกของกรุงเทพฯ
สมัยโบราณใช่ว่าจะไม่มีโรงรับจำนำ"มี" เพียงแต่ไม่ได้ตั้งเป็นโรงร้านอย่างเป็นกิจจะลักษณะ อาจเป็นบ้าน หรือโรงเรือนสำหรับอยู่อาศัย และตกลงจำนำของกันเงียบๆ เท่านั้น(สมัย ร.4 มีการปรับปรุงถนนเก่า ที่สร้างมาตั้งแต่สมัย ร.1 เป็นถนนแบบใหม่)
สมัย ร.4 ทรงพระราชทานนามถนนว่า "บำรุงเมือง" แล้วมีการพัฒนาต่อมาอีกในสมัย ร.5 ด้วยการสร้างร้านรวงเป็นตึกแถว อย่างที่เหลือให้เห็นมาถึงปัจจุบัน
ยุค 2520-2530 ผมไปที่โรงรับจำนำย่องเซี้ยงหลายครั้ง เพื่อพูดคุยงานสร้างพิพิธภัณฑ์กับ ดร.สุกรี เจริญสุข ครูดนตรี ซึ่งเป็นลูกเขยเจ้าของโรงรับจำนำแห่งนี้
แรกเริ่มที่จะจัดงานจำพวก “อวดของ” พ.ศ.2531 เช่นอวดของ 500 จำพวก อันเป็นที่มาของ พิพิธภัณฑ์เด็ก และบ้านพิพิธภัณฑ์ อ.สุกรี ก็ยังนำของเก่าที่ตกค้างในโรงรับจำนำมาแสดงด้วย เช่น ชฏาลิเก และเครื่องถ่ายเอกสารยุคเก่า เป็นต้น ก็เป็นที่ฮือฮฮากัน เพราะมันหมดสมัยไปแล้ว ดูแปลกตา
"ย่องเซี้ยง" ตามประวัติว่าเป็นโรงรับจำนำแห่งแรกของกรุงเทพฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัย ร.4 โดย "เจ๊กฮง"
(หนังสือวชิรญาณวิเศษ พ.ศ.2433 ระบุในหน้า 220 เลยว่า..)“มีจีนคนหนึ่งชื่อเจ๊กฮง คิดตั้งโรงจำนำขึ้นโรงหนึ่งที่ริมประตูผีนี้เอง เปนรากเง่าของโรงจำนำที่มีอยู่เดี๋ยวนี้....”
(ประวัติโรงจํานํา ให้ดูในหนังสือชื่อ "แรกมีในสยาม ภาค 1" โดยเอนก นาวิกมูล สำนักพิมพ์แสงดาวพ.ศ. 2559)
"ตึกย่องเซี้ยง" โดดเด่นอยู่ตรงสี่แยกมานาน สิ่งที่สวยงามเตะตามากที่สุดคือ ลายฉลุช่องลม (ทาสีฟ้า) และป้ายชื่อร้าน(สีแดง) ซึ่งดูจากเส้นสายแล้ว อาจเขียนในยุค 2470?
โรงรับจำนำย่องเซี้ยง
หลังจากกิจการจีนฮงประสบความสำเร็จ จนอาจสร้างผลประโยชน์มหาศาล ทำให้มีการตั้งโรงรับจำนำผุดขึ้นมากมายเอาอย่างจีนฮงบ้าง เพราะการตั้งโรงรับจำนำในสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายควบคุม ใครอยากตั้งก็ตั้งได้ ไม่ต้องมีการขออนุญาต และยังไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม
อย่างไรก็ตาม เจ้าของโรงรับจำนำโดยส่วนมากแล้วเป็นคนจีน มีทั้งคนจีนที่มีฐานะดี หรือหากมีฐานะปานกลางก็จะรวบรวมกันเป็นกลุ่มเอาเงินมารวมกันตั้งโรงรับจำนำ แล้วเพราะเหตุใด คนไทยถึงไม่นิยมตั้งโรงรับจำนำ? เรื่องนี้มีอธิบายไว้ในหนังสือ วชิรญาณวิเศษ เล่ม 6 เดือนมีนาคม ร.ศ. 109 ความว่า
“เหตุใดคนไทยเราก็ย่อมทราบอยู่ด้วยกันแล้วว่า เกิดผลมากในการรับจำนำ ทำไมไม่คิดออกตั้งเป็นโรงรับจำนำขึ้นบ้างเล่า ขอชี้แจงให้เห็นการรับจำนำนี้มีประโยชน์มากจริงอยู่ แต่ทว่าคนไทยจะคิดตั้งขึ้นแล้ว เกรงว่าจะตั้งอยู่ไม่ได้นาน เพราะเหตุที่เป็นข้าศึกแก่คนไทย ในเรื่องรับจำนำมีหลายอย่าง จะชี้ตัวอย่างที่พอเห็นความจริงด้วยกันได้ว่า วิไสยคนไทยเราเกรงความร้อนใจเป็นประมาณทั่วกันทั้งนั้น
เรื่องรับจำนำนี้ มีแต่ความร้อนใจเป็นเบื้องต้นประเดี๋ยวต้องว่าความแทนคนนั้นด้วยเรื่องนั้น แทนคนนี้ด้วยเรื่องนี้ ตั้งแต่เสียเงินเสียทองเป็นเบื้องปลาย ไหนจะมีเรื่องอะไรต่ออะไรอีก ต้องตกเป็นผู้รับความร้อนใจอยู่อย่างนี้ร่ำไป แม้ถึงเห็นผลมีจริงก็ต้องเห็นโทษอยู่อย่างนี้ด้วยกัน จึงไม่สามารถตั้งโรงรับจำนำขึ้นได้เพราะเหตุนี้”
กิจการโรงรับจำนำรุ่งเรืองขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ในราว พ.ศ. 2433 ปรากฏว่ามีโรงรับจำนำในกรุงเทพฯ กว่า 200 โรง รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่ากิจการโรงรับจำนำมีทั้งคุณและโทษ ส่วนที่มีคุณ คือ ชาวบ้านที่ขัดสนเงินทุนที่จะนำมาหากินเลี้ยงชีพ ย่อมเอาทรัพย์สินไปจำนำเพื่อนำเงินไปทำทุนโดยง่าย แต่ส่วนที่มีโทษ คือ ชาวบ้านผู้มีสันดานทุจริตไม่ได้ทำมาหากินเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม ทำการปล้นชิงวิ่งราวเอาทรัพย์สินผู้อื่นมาแล้วนำไปจำนำได้เงินมาโดยสะดวก จึงเป็นช่องทางให้โจรผู้ร้ายก่อการกำเริบ
ป้ายหน้าร้านโรงรับจำนำย่องเซี้ยง
แต่จะเลิกหรือห้ามตั้งโรงรับจำนำนั้นก็จะเป็นการเดือดร้อนแก่ชาวบ้านที่หากินเลี้ยงชีพโดยสุจริต ด้วยเหตุนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ร.ศ. 114 ตรงกับ พ.ศ. 2438
พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ร.ศ. 114 มีหลักการสำคัญ คือ กำหนดให้ผู้จะดำเนินกิจการโรงรับจำนำสิ่งของที่มีต้นเงินต่ำกว่า 400 บาทลงมา ต้องขอใบอนุญาต โดยเสียค่าใบอนุญาตเดือนละ 50 บาท และต้องชำระล่วงหน้า หากในเดือนต่อไปมิใด้ชำระค่าธรรมเนียม ถือว่าใบอนุญาตนั้นขาดอายุ ผู้ใดฝ่าฝืนตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต หรือใบอนุญาตขาดอายุ ถือว่ามีความผิด นอกจากนี้ ยังมีสาระสำคัญอื่น ๆ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย, การกำหนดให้ทำตั๋วจำนำและบัญชีเป็นหลักฐาน ฯลฯ
ชฎาก็เป็นสิ่งของที่จำนำในสมัยก่อน
จำเนียรกาลผ่านไป....
เผลอหน่อยเดียว หน้าตาโรงรับจำนำก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือชื่อยี่ห้อ และผนังตึกไม่เหมือนเดิม
มีการเปลี่ยนมือเจ้าของ ชื่ออาคารกลายเป็นโรงรับจำนำสำราญราษฎร์ ประตู และหน้าต่างชั้นบน ด้านข้างทางซ้ายถูกปิดทึบ
ผมอยากจะรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดเมื่อไหร่ ก็ต้องอาศัยดูรูปถ่ายที่บันทึกไว้เป็นตัวช่วย
สรุปแล้วเมื่อปี 2541 โรงจำนำเปลี่ยนมือผู้ถือครองไปแล้ว
สี่แยกสำราญราษฎร์ อยู่ใกล้ประตูสำราญราษฎร์ อันเป็นประตูเมืองที่สร้างเมื่อสมัย ร.1
(ถูกรื้อไปนานแล้ว​ ยังหาปีรื้อไม่ได้เช่นเคย​ ประวัติศาสตร์ชาติไทย...)
ชาวบ้านเรียกประตูผี เพราะสมัยก่อนศพชาวบ้านธรรมดาห้ามเผาในกำแพงพระนคร ต้องหามออกไปเผายังวัดนอกกำแพง เช่น วัดสระเกศ
ย่านประตูผี มีตึกแถวสมัยรัชกาลที่ 5 และวังของน้องชายรัชกาลที่ 5 หลายวัง วังสวยๆ บางแห่งถูกทิ้งกลายเป็นสลัม น่าเวทนา เราผู้ยังอยู่ต้องต่อสู้ต่อไป ไม่รู้สู้กับอะไร ได้ยินแต่คนพูดบ่อยๆว่า สู้! สู้!
โฆษณา