19 พ.ค. 2021 เวลา 10:05 • การศึกษา
รีวิว วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering) เรียนเกี่ยวกับอะไร? จบมามีงานทำดีไหม? มีรายได้เป็นอย่างไรบ้าง?
Electrical Engineering
Electricity หรือ ไฟฟ้า เกิดขึ้นครั้งแรกใน ทศวรรษที่ 17 โดยวิศวกรไฟฟ้าคนแรก ชื่อว่า วิลเลียม กิลเบิร์ต มีผลงานเด่นคือ เกี่ยวกับประจุไฟฟ้าสถิตย์ และการแยกความแตกต่างระหว่าง อำนาจแม่เหล็กและไฟฟ้าสถิตย์ นอกจากนี้ เขายังเป็นคนคิดค้นคำว่า Electricity หรือ ไฟฟ้า ขึ้นมาเป็นคนแรก
หลังจากที่มีการคิดค้นทฤษฏีไฟฟ้าสถิตย์ขึ้นมา ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการ เริ่มของทฤษฏีไฟฟ้าของยุคใหม่ขึ้นมา โดยผลงานของ เบนจามิน แฟรงกลิน ที่ทำการทดลองเก็บประจุไฟฟ้าจากเมฆ โดยการชักว่าผ่านเมฆ เพื่อพิสูจฯว่าฟ้าผ่านั้นเป็นกระแสไฟฟ้า ในปี ค.ศ. 1752 และหลังจากนั้น ก็มีนักวิทยาศาสตร์ คิดค้น ทฤษฏีทางด้านไฟฟ้าตามมาอีกมากมาย จนถึงทุกวันนี้
ประวัติของ วิศวกรรมไฟฟ้า ในประเทศไทย นั้น เริ่มต้นที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2476 คณะเริ่มเปิดสอนหลักสูตรปริญญาบัณฑิต ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ โดยทางมูลนิธิ ได้ส่ง ดร.ชารล เอม.สัน. เกวอรฺต ชาวสวีเดน ซึ่งได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา มาช่วยจัดหลักสูตรการสอน และเป็นหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าไปด้วย ในปี พ.ศ. 2478 ซึ่งต่อมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน และ ได้เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าตามมาเป็นลำดับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอก เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
 
วิศวกรรมไฟฟ้า หรือ Electrical Engineering นั้น เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับ ทฤษฏีและการประยุกต์ใช้ ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การออกแบบและการวิเคราะห์ระบบไฟฟ้า วงจรไฟฟ้า การรับส่งข้อมูลในรูปสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การควบคุมระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีสารกึ่งตัวนำทั้งในระดับขนาดไมโครเมตรและนาโนเมตร และยังเรียนเกี่ยวกับวิธีการแปรผันพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดให้นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน การวิเคราะห์และออกแบบระบบผลิต ระบบส่งจ่าย ระบบจำหน่ายไฟฟ้าไปยังพื้นที่ใช้งานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย วิศวกรรมการส่องสว่าง วิศวกรรมไฟฟ้าแรงสูง วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์กำลัง วิศวกรรมระบบควบคุม ระบบเครื่องมือวัด การวัดและกรรมวิธีทางอุตสาหกรรม ระบบไฟฟ้ากำลัง และเทคโนโลยีการป้องกัน เครื่องกลไฟฟ้า การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การประยุกต์ใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ เทคนิคทางดิจิตอล และระบบขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า ตลอดจนศึกษาทางด้านการออกแบบระบบไฟฟ้า และการประมาณราคาอีกด้วย และอื่นๆ
วิศวกรรมไฟฟ้า หรือ Electrical Engineering นั้นสามารถแบ่งแยกสาขาย่อยออกได้มากมายหลากหลาย แต่ผมจะขออนุญาติพูดถึงเฉพาะที่ นิยมในบ้านเราก็แล้วกันนะครับ หากมีพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ท่านใด มีข้อมูลที่ต้องการจะแชร์เพิ่มเติมก็ คอมเมนต์ มาได้เลยนะครับ ขอบคุณมากๆ ครับผม
สาขาแรกที่แยกย่อยออกจาก วิศวกรรมไฟฟ้า
1. สาขาไฟฟ้ากำลัง เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับ กระบวนการผลิต การออกแบบ การวางวงจร การแปรรูป ระบบแรงดันไฟฟ้าต่ำไปจนถึงแรงดันไฟฟ้าสูง และการส่งถ่ายพลังงานไฟฟ้า ไปยังผู้ใช้งาน หรือผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักอาศัย แหล่งธุรกิจ และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องทำการศึกษาเกี่ยวกับ หลักเศรษฐศาสตร์ ของกำลังไฟฟ้าอีกด้วย รวมไปถึง การคำนวณ วิเคราะห์ ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบการค้าอีกด้วยครับผม วิชาหลักๆ ก็จะมี เช่น เครื่องกลไฟฟ้า วิศวกรรมไฟฟ้าแรงสูง ระบบไฟฟ้ากำลัง เป็นต้น
2. สาขาไฟฟ้าระบบควบคุม เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับ การวิเคราะห์ และ ออกแบบระบบควบคุม และเครื่องมือวัด หรือที่เรียกว่า ระบบอัตโนมัติ เช่น ระบบสายพานลำเลียงในโรงงานอุตสาหกรรม ระบบหุ่นยนต์ ระบบการจัดการคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกล อุปกรณ์ควบคุมต่างๆ เช่น ควบคุมความเย็น ควบคุมระดับ ควบคุมความเร็ว เป็นต้น สาขาไฟฟ้าระบบควบคุม ยังแบ่งสาขาย่อยไปได้อีก เช่น ระบบควบคุมและการวัด ระบบหุ่นยนต์ ระบบ AI และการควบคุมอัตโนมัติในงานอุตสาหกรรม เป็นต้น วิชาหลักๆ ก็จะมี เช่น การควบคุมอัติโนมัติ ระบบควบคุมเชิงตัวเลข ระบบปฏิบัติการและการวัดคุม เป็นต้น
3. สาขาไฟฟ้าสื่อสารหรือโทรคมนาคม เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับ การสื่อสารโทรคมนาคมทุกรูปแบบ ทั้งการออกแบบวงจร อุปกรณ์การสื่อสาร การติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระบบซ่อมบำรุง เช่น ระบบสื่อสารดาวเทียม ระบบเรดาร์ ระบบวิทยุ ระบบโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต สัญญาณดิจิทัล เส้นใยแก้วนำแสง เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องเข้าใจในเรื่อง โครงสร้างโดยรวมทางกายภาพของเครือข่าย และ สถาปัตยกรรมทางซอฟต์แวร์ ของระบบสื่อสาร อีกด้วย วิชาหลักๆ ก็จะมี เช่น การส่งสัญญาณโทรคมนาคม การประมวลผลสัญญาณเชิงตัวเลข การสื่อสารข้อมูล เป็นต้น
4. สาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับ การออกแบบและการควบคุมวงจรไฟฟ้าทั้งวงจรแบบอนาล็อกและดิจิทัล การทดสอบวงจรไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากๆ ของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกๆ ชนิด รวมถึงเครื่องจักรกล และ ยานพาหนะ อีกด้วย ยกตัวอย่าง เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องยิงสัญญาณดาวเทียม อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ไมโครเวฟ เครื่องจักรกล รถยนต์ เครื่องบิน ยานอวกาศ และหุ่นยนต์ เป็นต้น วิชาหลักๆ ก็จะมี เช่น อิเล็กทรอนิกส์วิศวกรรม การออกแบบวงจรดิจิทัลลอจิก การวิเคราะห์วงจรไฟฟ้า เป็นต้น
นอกจากสาขาที่กล่าวมาขั้นต้นแล้วนั้น สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า หรือ Electrical Engineering ยังมีสาขาวิชาย่อยๆ ที่แต่แยก ออกไปอีกมากมาย เช่น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเครื่องมือวัด วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ วิศวกรรมหุ่นยนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัยจะ จัดสรรสร้างหลักสูตรขึ้นมานั้นเอง
อยากจะฝาก น้องๆ หลายๆ คนนะครับว่า ตอนที่เราเลือกเรียนตอนแรกนั้น ต้องศึกษาให้ดีว่า หลักสูตรที่เราจะเลือกเรียนนั้น มันตรงกับที่เราชอบหรือเปล่านะครับ เพราะถ้าหากเลือกผิดตั้งแต่เริ่มแรก โอกาสที่จะกลับลำเรือ ไปสาขาที่ชอบมันอาจจะทำให้เสียเวลาได้นะครับ
สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า หรือ Electrical Engineering เรียนจบมาแล้ว ไปทำอะไรได้บ้าง ในวงการอุตสาหกรรม จริงๆ แล้วสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า นั้นสามารถ เข้าไปทำงานได้หลากหลายในทุกๆธุระกิจเลยทีเดียว ทั้งหน่วยงานของรัฐบาลและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท กสท โทรคมนาคม ทีโอที เครือข่ายมือถือยี่ห้อต่าง โรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การเกษตร อาหาร เครื่องจักรกล ธนาคาร โรงแรม รีสอร์ท โรงพยาบาล เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะชอบทำงานสายไหน และเรียนจบมาทางสายไหนนะครับ
ถ้าหากจะพูดในวงการอุตสาหกรรม ก็อาจจะทำงานเป็น System Engineer, Implementation Engineer, Electrical Engineer, Process Engineer, R&D Engineer, Design Engineer, Production Engineer, Maintenance Engineer, Sale Engineer, Purchasing Engineer, Manufacturing Engineer, Quality Engineer และอื่นๆ อีกมากมาย
ต่อไปมาดูเงินเดือนเริ่มต้น ของ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า กันนะครับ จริงๆ เงินเดือนเด็กจบใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์ แต่ละสาขาก็จะใกล้เคียงกัน ไม่แตกต่างกันมาก เงินเดือนก็จะเริ่มอยู่ที่ประมาณ 20,000 – 35,000 บาทต่อเดือน และหากมีประสบการณ์ตั้งแต่ 1 – 3 ปี เงินเดือนก็จะอยู่ที่ประมาณ 25,000 – 45,000 บาทต่อเดือน และหากมีประสบการณ์ ตั้งแต่ 3 – 5 ปี เงินเดือนก็จะอยู่ที่ประมาณ 35,000 – 55,000 บาทต่อเดือน และหากมีประสบการณ์ ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เงินเดือนก็จะอยู่ที่ประมาณ 50,000 – 85,000 บาทต่อเดือน
สำหรับ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า หรือ Electrical Engineering นั้นก็มีเปิดทำการเรียนการสอนแทบจะทุกมหาวิทยาลัยเลยก็ว่าได้ครับ ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ซึ่งในยุคแรกๆ ของประเทศไทยนั้น ก็จะมีอยู่ทั้งหมด 8 มหาวิทยาลัย ที่ทำการเปิดการเรียนการสอนใน คือ
1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2472
2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2506
3. มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2507
4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2510
5. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2510
6. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2512
7. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2518
8. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2519
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายมหาวิทยาลัยที่ทำการเปิดการเรียนการสอนใน สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ทั้งรัฐบาลและเอกชน ยังไง น้องๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตาม เว็บไซด์ ของแต่ละมหาวิทยาลัย ได้เลยนะครับผม
เป็นไงบ้างครับ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทุกๆท่าน พอจะมองภาพของ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า หรือ Electrical Engineering ได้ชัดเจนมากขึ้นบ้างไหมครับ หากมีคำถาม หรือ ต้องการที่จะรู้รายละเอียดของสาขาวิชาไหน ก็สามารถ เขียนคอมเม้นมาได้เลยนะครับ ติดตามกันไปเรื่อยๆ ฝากกดติดตาม ขอบคุณมากครับผม
โฆษณา