28 มี.ค. 2020 เวลา 23:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ฝ้ายและนุ่น
(ภาพดัดแปลงจาก By I, J.M.Garg, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2639916 และ Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=689304)
ฝ้ายและนุ่นเป็นพืชที่ให้เส้นใยสองชนิด เราอาจจะคุ้นเคยกัน เรารู้จักผ้าฝ้าย สำลี ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของฝ้าย และนุ่นที่นำมายัดหมอน ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของนุ่น แต่ทั้งสองแม้จะดูคล้ายกัน แต่จริงๆ แล้วเป็นพืชคนละชนิด มีที่มา การแพร่กระจายที่แตกต่างกัน
พืชทั้งสองชนิดเป็นพืชในวงศ์เดียวกันคือ วงศ์ฝ้าย หรือวงศ์ชบา (Family Malvaceae) ฝ้ายจะมีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ในขณะที่นุ่น (ชื่ออื่นๆ เช่น ง้าว งิ้วน้อย งิ้วสร้อย งิ้วสาย) เป็นไม้ยืนต้น เมื่อพืชทั้งสองมีฝัก (ในฝ้ายจะเรียกว่า สมอฝ้าย) จะมีเส้นใยเกิดขึ้นรอบๆ เมล็ด และมนุษย์ก็นำเส้นใยเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้
2
ฝ้าย เป็นชื่อเรียกพืชในสกุล [Gossypium] ซึ่งชนิดพันธุ์ที่เป็นพืชเศรษฐกิจมี 4 ชนิด คือ [Gossypium hirsutum] (มากกว่า 90% ของผลผลิตฝ้ายในโลกเป็นชนิดนี้) และ [Gossypium barbadense] ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา [Gossypium arboreum] ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ปากีสถาน และ [Gossypium herbaceum] ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา
1
สมอของฝ้ายชนิด [Gossypium hirsutum] (ที่มา https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=689304)
โดยชนิด [Gossypium hirsutum] ที่นิยมปลูกมากที่สุด เนื่องจากให้เส้นใยยาวที่สุด แข็งแรงที่สุด และเส้นเล็กที่สุดเป็นลูกผสมของพืช 2 ชนิด ได้แก่ [Gossypium arboretum] ที่พบในธรรมชาติในอินเดียและปากีสถาน และ [Gossympium raimondii] ที่เป็นชนิดที่พบในธรรมชาติของเปรู โดยการเกิดลูกผสมเกิดในธรรมชาติตั้งแต่เมื่อ 1-2 ล้านปีก่อน โดยยีนจาก [Gossypium arboretum] มีผลช่วยให้เส้นใยของฝ้ายมีคุณภาพดี ในขณะที่ยีนจาก [Gossypium raimondii] จะส่งเสริมความทนต่อสิ่งแวดล้อม
ฝ้ายถูกนำมาใช้ตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อน โดยในทวีปอเมริกามีการพบผ้าฝ้ายในประเทศเปรู ในสุสานโบราณที่มีอายุมากกว่า 8,000 ปี และมีการพบสมอฝ้ายในถ้ำที่ Tehuacán Valley ประเทศเม็กซิโกที่มีอายุมากกว่า 7,000 ปี และมีหลักฐานว่ามีการเริ่มเพาะปลูกฝ้ายในบริเวณประเทศเม็กซิโกและรัฐอาริโซนาเมื่อตั้งแต่ 5,000 ปี
ในทวีปเอเชีย มีการค้นพบหลักฐานว่ามีการใช้ฝ้ายและเพาะปลูกฝ้ายมาตั้งแต่เมื่อ 7,000 ปีก่อนที่แหล่ง Mehrgarh ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน และเมื่อ 5,000 ปีก่อนในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน
นุ่น [Ceiba pentandra] เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกาตั้งแต่เม็กซิโก แคริบเบียน จนถึงตอนเหนือของอเมริกาใต้ และได้เข้ามาแพร่หลายในโลกเก่า (ทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา) หลังจากที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสได้ทำการค้นพบทวีปอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1500 และแพร่หลายไปทั่วเขตร้อนของทวีปเอเชียและแอฟริกา โดยพืชสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งจากเส้นใย และเนื้อไม้ แต่เส้นใยไม่สามารถปั่นได้เหมือนฝ้าย ทำให้เส้นใยนุ่นถูกใช้ประโยชน์ในการยัดสิ่งต่างๆ เช่น หมอน ที่นอน ตุ๊กตา
ต้นนุ่น (ที่มา https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=62146)
ฝักของนุ่น (ที่มา By I, J.M.Garg, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2639902)
ผลแก่ของนุ่นที่แตกแล้ว (ที่มา By I, J.M.Garg, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2639916)
เอกสารอ้างอิง
2. L. Fang, X. Guan, T. Zhang. Asymmetric evolution and domestication in allotetraploid cotton (Gossypium hirsutum L.)
Crop J., 5 (2017), pp. 159-165

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา