30 ม.ค. 2020 เวลา 09:30 • สุขภาพ
Ep.16 ลิ้นหัวใจรั่ว ตอนที่ 3/3 รู้จักลิ้นหัวใจเทียม
รู้จักลิ้นหัวใจเทียมแบบง่ายๆ
ลิ้นหัวใจรั่ว มีสาเหตุหลักๆ มาจากความผิดปกติของหัวใจที่มีความบกพร่องตั้งแต่กำเนิด มีโครงสร้างของลิ้นหัวใจมีความผิดรูป ปิดไม่สนิท หรืออาจมีสาเหตุที่เกิดจากโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งส่งผลให้ลิ้นหัวใจทำงานหนักและผิดปกติไปด้วย
ลิ้นหัวใจผิดรูปหรือผิดปรกติ
ลิ้นหัวใจมีหน้าที่ในการควบคุมการไหลของเลือดในห้องหัวใจให้ไปในทิศทางเดียว ลิ้นหัวใจรั่วซึ่งแบ่งตามตำแหน่งของลิ้นหัวใจที่มีการรั่ว แต่ตำแหน่งที่พบบ่อยคือ ลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว (Mitral Regurgitation) เมื่อลิ้น Mitral นี้รั่ว เวลาที่หัวใจบีบตัว ตัวลิ้นนี้มีความผิดปรกติและปิดไม่สนิด ทำให้เลือดไหลในสองทิศทางระหว่างการหดตัว เป็นสาเหตุให้เลือดไหลย้อนกลับขึ้นมาด้านบนได้ หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้เพียงพอ
ลิ้นหัวใจรั่วหรือปิดไม่สนิท ทำให้เลือดไหลย้อนกลับขึ้นไปด้านบน
หากพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วหรือทำงานผิดปรกติแพทย์จะรักษาตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้
ในรายผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง แพทย์มักควบคุมและรักษาอาการของโรคลิ้นหัวใจ​ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อควบคุมไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น และฟื้นฟูการทำงานของหัวใจ โดยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลตัวเอง และแพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาเพื่อช่วยเสริมการทำงานของหัวใจให้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น

ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เพื่อช่วยขับน้ำส่วนเกินที่สะสมอยู่ในปอดและในร่างกายออกมา ทำให้ปริมาณน้ำหรือของเหลวในร่างกายลดลง ลดอาการเหนื่อยหอบและอาการบวมตามร่างกายลง

ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitor) เพื่อปรับสภาพการทำงานของหัวใจ และชะลอการเกิดอาการหัวใจโต รวมทั้งช่วยลดความดันโลหิตของผู้ป่วยไม่ให้หัวใจทำงานหนักมากเกินไป

ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulation Medication) ในรายผู้ป่วยมีภาวะหัวใจสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation) แพทย์อาจมีการใช้ยาชนิดนี้เพื่อช่วยป้องกันการอุดตัดของลิ่มเลือดจากภาวะหัวใจสั่นพริ้วร่วมด้วย

ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง (Antihypertensive) ความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจและลิ้นหัวใจทำงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากคุณมีความดันโลหิตสูงแพทย์อาจสั่งยาเพื่อช่วยลดความดันโลหิต
แต่ในรายผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์จะพิจารณาใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมี 2 วิธีการผ่าตัด ดังนี้

1 การผ่าตัดเย็บซ่อมแซมลิ้นหัวใจ (Vale Repair) เป็นการซ่อมแซมลิ้นหัวใจที่มีความผิดปกติให้กลับมาทำงานได้ปรกติอีกครั้ง ซึ่งสามารถทำได้บางรายเท่านั้น

2 การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Replacement) เป็นการเอาลิ้นหัวใจผิดรูปนี้ออก แล้วเอาลิ้นหัวใจเทียมใส่เข้ามาแทน มักทำในกลุ่มคนไข้ที่หากลิ้นหัวใจไม่สามารถกลับมาทำงานตามเดิมได้อีก 

ซึ่งลิ้นหัวใจเทียมนี้มีอยู่ 2 ชนิด

“ลิ้นโลหะ” จะมีอายุการใช้งานตลอดชีวิตคนไข้ แต่ข้อเสียคือ ต้องกินยาป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัวง่าย เช่น Warfarin ไปตลอดชีวิต

“ลิ้นเนื้อเยื่อ” มีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 15 ปี ซึ่งเหมาะกับคนไข้ที่มีอายุมาก เช่น 70 ปีขึ้นไป
การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Replacement)
ซึ่งการรักษาจะใช้การผ่าตัดเย็บซ่อมแซมลิ้นหัวใจ (Valve Repair) หรือวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Peplacement) ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ที่ผ่าตัด
การผ่าตัดลิ้นหัวใจ ซึ่งมี 2 วิธีการ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Replacement) และ การเย็บซ่อมแซมลิ้นหัวใจ (Valve Repair)
การดูแลและข้อควรระวังของผู้ป่วยหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
ปัญหาใหญ่ของคนไข้ที่มีปัญหาลิ้นหัวใจเทียมที่เป็นชนิดโลหะ เนื่องจากความที่เป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นโลหะ โอกาสที่จะมีก้อนเลือดไปเกาะหรืออุดตันที่ลิ้นหัวใจเทียมจึงเป็นไปได้สูง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้คนไข้รับการผ่าตัดหัวใจซำ้อีกรอบหนึ่ง
การเกิดลิ่มเลือดในผู้ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหั
นอกจากนี้ภาวะลิ่มเลือดที่เกาะที่ลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ ยังสามารถที่จะหลุดออกจากหัวใจแล้วอาจลอยไปที่สมอง จนเกิดภาวะหลอดเลือดในสมองอุดตัน (Stroke) หรือว่าอัมพาต อย่างที่เคยกล่าวไปในบทความเรื่องของอัมพาตที่ผ่านมา
ลิ่มเลือดอาจลอยไปอุดตันที่สมอง
ดังนั้นการดูแลปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง โดยการควบคุมความดันโลหิต รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก ป้องกันภาวะลิ้นหัวใจอัหเสบ การหมั่นไปพบแพทย์ตามนัด ฯลฯ การกินยาละลายลิ่มเลือดในคนไข้ที่ผ่าตัดลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
นพ. วิโรจน์ ตันติโกสุม
อายุรแพทย์หัวใจและหลอดเลือด
โปรดติดตามทาง Facebook https://bit.ly/2RqmagT
ทาง Youtube ช่อง หมอเล่าเรื่อง
Ep.16 ลิ้นหัวใจรั่ว 3/3 รู้จักลิ้นหัวใจเทียม
พูดคุยสุขภาพ หรือแนะนำเรื่องที่อยากให้เราเล่า
รู้จัก ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ชีวา ซีเนียร์ แคร์
บางใหญ่ นนทบุรี
โฆษณา