24 มิ.ย. 2019 เวลา 12:59 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สงสัยเรื่องแรก: ทำไมพิมพ์เขียว (Blueprint) ต้องเป็นสีฟ้า?
ทุกครั้งที่ดูหนังโจรกรรมหรือหนัง Sci-fi ต่างๆช่วงทีทีมพระเอกกำลังวางแผนกันอยู่แล้วคลี่แผ่นพิมพ์เขียวออกมา ‘แครบบบบ…บบ!’ ในหัวตอนนั้นผุดคำถามหนึ่งขึ้นมาทันที ไม่ใช่ว่าอยากรู้นะว่าในแผ่นนั้นน่ะเขียนอะไรไว้ แต่อยากรู้ว่าทำไมมันต้องเป็นแผ่นสีฟ้า
ก็เลยไปค้นข้อมูลมาแล้วพบว่า...
ที่มันเป็นสีฟ้าเพราะกระดาษมันเคลือบด้วยสารพิเศษ 2 ชินิดที่ไวต่อแสง ammonium iron citrate กับ potassium ferrocyanide ซึ่งเป็นสารที่พอผสมกันแล้วนำมาทาลงบนกระดาษและฉายแสง UV จนแห้งจะกลายเป็นสีฟ้าอย่างที่เห็น สีฟ้าจากการแปรสภาพนี้มีชื่อเรียกว่า Blue Ferric Ferrocyanide หรืออีกชื่อที่ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกกันติดปากว่า Prussian Blue
แล้วพิมพ์เขียวนี้มันมีที่มาที่ไปยังไงกัน...จุดเริ่มต้นมาจากนักดาราศาสตร์ชื่อว่า John Herschel ชาวอังกฤษ คิดค้นวิธีทำพิมพ์เขียวที่ชื่อว่า Cyanotype ขึ้นมาในปี 1842 ใช้สำหรับคัดลอกสำเนารูปภาพและเอกสารสำคัญต่างๆ...คุ้นๆมั้ยครับ มันคือต้นแบบเครื่องถ่ายเอกสารนี่เอง
และในสมัยนั้น อาชีพที่ต้องพึ่งพิมพ์เขียวก็หนีไม่พ้นวิศวกรและสถาปนิกที่ต้องคัดลอกแบบแปลนอาคารบ้านเรือนหรือแม้แต่โครงสร้างเรือต่างๆอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเขียนใหม่
วิธีคัดสำเนาด้วยพิมพ์เขียวก็คล้ายๆกับที่เราใช้เครื่องถ่ายเอกสารเลยครับแค่มีกรรมวิธีเพิ่มหลายสเต็ปหน่อย โดยที่ 1) นำกระดาษขาวมาทาด้วยสาร 2 อย่างให้ทั่วแผ่น 2) นำสำเนาต้นฉบับมาแปะทาบไว้ในตำแหน่งที่ต้องการ กระดาษต้นฉบับมักเป็นกระดาษไขเพราะบางพอที่แสงส่องผ่านได้
ทาสารผสมของ ammonium iron citrate และ potassium ferrocyanide ให้ทั่วแผ่น
3) เอาไปฉายแสง UV จนแห้ง
นำไปอบแสง UV ให้กรอบ เอ้ย! ให้แห้ง
4) ลอกเอาต้นฉบับออกแล้วเอาตัวสำเนาไปล้างน้ำเป็นอันเสร็จก็จะได้กระดาษพิมพ์เขียวสีฟ้าพร้อมข้อความหรือรูปร่างต่างๆจากฉบับจริงปรากฏลงเป็นสีขาว
แห้งแล้วนำมาล้างน้ำสะอาดแล้วก็จะได้พิมพ์เขียวตามต้องการ
สงสัยต่อสินะว่าทำไมข้อมูลที่คัดลอกมามันเป็นสีขาว ก็เพราะแสง UV ไม่สามารถส่องผ่านหมึกจากตัวต้นฉบับได้ ทำให้ส่วนที่ทาสารเคมีใต้ลวดลายไม่โดนฉายแสงแล้วเปลี่ยนสีนั่นเอง
ต้องขอบคุณ John Herschel ที่ริเริ่มนวัตกรรมนี้ขึ้นมาจนต่อยอดและคงอยู่จนถึงทุกวันนี้
หายสงสัยแล้ว แชร์ให้เพื่อนอ่านด้วยนะคร้าบ
#worldwhyweb
'Doubt everyday, discover everyday'
ติดตาม World Why Web ตอนต่อไปได้ทาง
Blockdit @worldwhyweb
Facebook @worldwhyweb
และ Twitter @WWWtldr สำหรับคนชอบอ่านสั้นๆได้ใจความ
ข้อมูลดีๆจาก
ภาพประกอบจาก: https://youtu.be/bimjuIdKReU
โฆษณา