14 มิ.ย. 2019 เวลา 10:00 • ประวัติศาสตร์
เหล้า-เบียร์ในไทยยุคแรกขายขวดละกี่บาท?
เบียร์และเหล้า เป็นสิ่งที่อยู่คู่มนุษย์มานานมากแล้ว ย้อนประวัติไปได้นับพันปี
แต่หากย้อนกลับไปถึงจุดกำเนิดเหล้าและเบียร์ในไทยก็นับว่ามีความน่าสนใจทีเดียว
จากหนังสือ “โลกของเบียร์ : The World Beer Guide” โดย นพพร สุวรรณพานิช ได้เขียนอธิบายถึงประวัติของเหล้าและเบียร์ไทยว่าเหล้าได้เกิดและเป็นที่นิยมตั้งแต่สมัยทวาราวดี แต่มีหลักฐานในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองราวปีพ.ศ.2178 ว่ามีกฎหมายว่าด้วยการจัดเก็บภาษีสุรา
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายไว้ว่า มีการต้มกลั่นก็เก็บตามจำนวนเตา ในกรณีที่ต้มกลั่นตามใจ ก็เก็บตามจำนวนชายฉกรรจ์และคนที่ขายเหล้าก็โดนเก็บด้วย โดยคิดเป็นรายโอ่งหรือรายเท เทละ 19 ลิตรเศษ ต่อมาถึงคิดเป็น 20 ลิตร
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ทรงมีพระราชดำริว่า ไทยเป็นเมืองพุทธ ไม่ควรที่คนไทยจะหมกหมุ่นกับสุรา แต่การต้มกลั่นนั้นก็เพื่อทำเป็นเวชภัณฑ์ จึงทรงห้ามมิให้ต้มกลั่นแบบเสรี แต่โปรดให้ตั้งโรงต้มกลั่นขึ้นที่ตำบลบางยี่ขัน และในขณะนั้นก็มีคนจีนมาประมูลเหมาต้ม ชาวบ้านเรียกกันว่า เหล้าโรง เป็นเหล้าขาวที่ทำขึ้นจากหมักส่า จึงเกิดภาษีขายอากรสุรา หรือเจ้าภาษีนายอากรสุรา ซึ่งในปัจจุบันเรียกกันว่า “ภาษีอากร”
ทั้งนี้ ชื่อเหล้าส่วนใหญ่มักตั้งชื่อเป็นสัตว์ เช่น หงส์ทอง, แมวดำ บ้างก็เป็นชื่อในวรรณคดี ซึ่งเมรัยเกิดจากการนำธัญพืชที่มีแป้งเป็นวัตถุดิบมาหมักไว้ระยะหนึ่งจนเกิดแอลกอฮอล์ เรียกว่าน้ำตาลเมา แต่เหล้าต้องนำมากลั่นต่อเพื่อให้ได้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่แรงขึ้น
แต่เบียร์ต่างจากเหล้า เพราะเบียร์เกิดจากการหมักส่า คล้ายกะแช่ที่ทำจากน้ำตาลสด
ส่วนเบียร์ไทยนั้นเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อพระยาภิรมย์ภักดี ได้เดินทางไปศึกษาโรงเบียร์ที่เวียดนามและเยอรมนีในแคว้นบาวาเรีย และต่อมาก็ได้เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ในพ.ศ.2476 มีประจวบ ภิรมย์ภักดี เป็นผู้ควบคุมการผลิต
วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2477 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ได้ทรงเปิดป้ายบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ ซึ่งในขณะนั้นขายเพียงขวดละ 32 สตางค์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทผลิตเบียร์แห่งแรกในไทย
โฆษณา