การบินไทย : เปิดรายละเอียดหนี้สิน 3.5 แสนล้านบาท จากลูกค้าที่ยังไม่ได้เงินคืนถึงบริษัทให้เช่าเครื่องบิน

เครื่องบินการบินไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

นับตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. เป็นต้นมา เจ้าหนี้ของการบินไทยเริ่มได้รับสำเนาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการจากศาลล้มละลายกลางทั้งผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ข้อความสั้น หรือ SMS และทางไปรษณีย์ ขณะที่การบินไทยได้ออกคำชี้แจงกรณีลูกค้าได้รับแจ้งดังกล่าวว่า ผ่านเฟซบุ๊กว่าไม่จำเป็นต้องดำเนินการใด ๆ ในการยื่นขอรับชำระหนี้ โดยเน้นย้ำนโยบายที่จะดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าราว 3 แสนรายที่ขอคืนค่าบัตรโดยสารทุกคนอย่างดีที่สุด

นี่ถือเป็นความคืบหน้าล่าสุดของกระบวนการฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลังจากยื่นคำร้องต่อศาลฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา และศาลฯ รับคำร้องดังกล่าวพร้อมกับนัดไต่สวนในวันที่ 17 ส.ค. เวลา 9.00 น.

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลายสำนักว่า การส่งสำเนาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯ ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้การดำเนินคดีดังกล่าวเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม เนื่องจากเจ้าหนี้มีจำนวนมาก ก่อนที่ในวันอังคารที่ (16 มิ.ย.) ศาลฯ จะประกาศคำสั่งรับคำร้องฟื้นฟูกิจการทางหนังสือพิมพ์รายวันและรวมถึงรายละเอียดของคำร้องบนเว็บไซต์ของศาลอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหนี้ประสงค์คัดค้านคำร้องดังกล่าว สามารถยื่นคำคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่า 3 วัน มิฉะนั้นถือว่าไม่คัดค้าน

กราฟิกประกอบ

ที่มาของภาพ, Getty Images

เอกสารที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของศาลล้มละลายกลางที่แนบมากับอีเมลถึงเจ้าหนี้ของการบินไทยได้ระบุถึงหนี้สินของสายการบินแห่งชาติรายนี้ ณ วันที่ 31 มี.ค.ว่ามีมูลค่าถึง 352,494,285,416 บาท โดยแบ่งเป็น

หนี้สินหมุนเวียนมูลค่า 1.04 แสนล้านบาท

1.เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้หมุนเวียนอื่น 13,642 ล้านบาท

2.ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย 15,010 ล้านบาท

3.ส่วนของหนี้สินระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี ประกอบด้วย

  • เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน 3,768 ล้านบาท
  • เงินกู้ยืมระยะยาวจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน 1,816 ล้านบาท
  • หนี้สินภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 7,504 ล้านบาท
  • หนี้สินตามสัญญาเช่า 11,688 ล้านบาท
  • หุ้นกู้ 10,085 ล้านบาท

4.เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน 4,000 ล้านบาท

5.เงินกู้ยืมระยะสั้นจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน 12,000 ล้านบาท

6.หนี้สินตราสารอนุพันธ์ระยะสั้น 6,663 ล้านบาท

7.เงินปันผลค้าจ่าย 54.24 ล้านบาท

8.รายรับด้านขนส่งที่ยังไม่ถือเป็นรายได้ 18,093 ล้านบาท

9.หนี้สินหมุนเวียนอื่น 341.64 ล้านบาท

เครื่องบินการบินไทย

ที่มาของภาพ, EPA

หนี้สินไม่หมุนเวียนรวม 2.48 แสนล้านบาท

1. หนี้สินระยะยาว แบ่งเป็น

  • เงินกู้ยืมระยะยาวสถาบันการเงิน 4,743 ล้านบาท
  • เงินกู้ยืมเงินระยะยาวจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน 12,773 ล้านบาท
  • หนี้สินภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 40,293 ล้านบาท
  • หนี้สินตามสัญญาเช่า 85,761 ล้านบาท
  • หุ้นกู้ 64,023 ล้านบาท

2.หนี้สินตราสารอนุพันธ์ระยะยาว 891.54 ล้านบาท

3.หนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี 1,693 ล้านบาท

4.เงินกองทุนบำเหน็จพนักงาน 3,693 ล้านบาท

5.ประมาณการหนี้สินไม่หมุนเวียนสำหรับผลประโยชน์พนักงาน 16,726 ล้านบาท

6.ประมาณการหนี้สินไม่หมุนเวียนอื่น ๆ 15,323 ล้านบาท

7.หนี้สินไม่หมุนเวียนอื่น ๆ 1,901 ล้านบาท

มีหนี้สิ้นเกินกำหนดชำระอีกกว่าหมื่นล้านบาท

ก่อนการยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว การบินไทยยังมีหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระในวันที่ 21 พ.ค.หลายรายรวมกันเป็นจำนวนถึง 10,248 ล้านบาท อาทิ เจ้าหนี้การค้าที่อยู่ต่างประเทศ 5,472 ล้านบาท เจ้าหนี้ค่าน้ำมัน 2,259 ล้านบาท เจ้าหนี้การค้าที่อยู่ในประเทศ 1,333 ล้านบาท เจ้าหนี้ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ (กรมสรรพากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) 994 ล้านบาท เป็นต้น

ภาพเครื่องบินการบินไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

นอกจากนี้ยังมีเจ้าหนี้รายอื่น ๆ เช่นเจ้าหนี้รายรับด้านขนส่งที่ยังไม่ถือเป็นรายได้อีกด้วย ในขณะที่การบินไทยมีเจ้าหนี้ในประเทศและต่างประเทศหลายรายที่ได้ส่งหนังสือมาเพื่อปฏิเสธการผ่อนระยะเวลาชำระหนี้ แจ้งการผิดนัดชำระ และทวงถามให้ชำระหนี้ และแสดงเจตนาหักเงินประกันตามสัญญา เนื่องจากการบินไทยผิดนัดชำระหนี้หลายราย อย่างน้อย 9 ราย แบ่งเป็นเจ้าหนี้ในประเทศ 4 ราย คือ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง

ส่วนเจ้าหนี้จากต่างประเทศอีก 5 ราย ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเครื่องบิน ได้แก่ บริษัท แอร์แคป ไอร์แลนด์ แคปปิทัล ดีซิคเนท แอคทิวิตี้ (AerCap Ireland Capital Designated Activity Company) บริษัท แอร์แคป ไอร์แลนด์ แคปปิทัล ดีซิคเนท แอคทิวิตี้ (AerCap Ireland Capital Designated Activity Company) บริษัท โกลด์ฟิช ฟันดิ้ง จำกัด (Goldfish Funding Limited) บริษัท ดีพี แอร์คราฟ ยูเค ลิมิเต็ด (DP Aircraft UK Limited) และบริษัท ดีพี แอร์คราฟ ยูเค ลิมิเต็ด (DP Aircraft UK Limited)

เร่งช่วยเหลือลูกค้า 3 แสนรายที่ขอคืนค่าตั๋ว

เมื่อวันที่ (14 มิ.ย.) การบินไทยได้ออกคำชี้แจงกรณีลูกค้าได้รับแจ้งประกาศจากศาลล้มละลายกลาง โดยสาระสำคัญคือ เน้นนโยบายที่จะดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสารทุกคนอย่างดีที่สุด โดยการบินไทยได้หารือกับคณะผู้ทำแผนที่บริษัทฯ เสนอเพื่อกำหนดแนวทางที่สามารถทำได้ตามกฎหมายเพื่อลดภาระหน้าที่ของลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสาร ซึ่งมีจำนวนประมาณ 3 แสนราย

พนักงานต้อนรับบนเครื่่องบินของการบินไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

โดยแนวทางเบื้องต้นที่สามารถลดภาระของลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสารทุกคนได้อย่างดีที่สุด คือ การที่คณะผู้ทำแผนอาจกำหนดเงื่อนไขหรือรายละเอียดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการให้ครอบคลุมและรองรับสิทธิของลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสารทุกคน โดยที่ลูกค้าแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้การดำเนินการข้างต้นเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะผู้ทำแผนของบริษัทฯ ที่จะกำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการได้

ในขณะเดียวกันยังอธิบายว่า สมาชิกสะสมไมล์ของการบินไทย ไม่ได้ถือเป็นเจ้าหนี้ของการบินไทย แต่พวกเขาจะได้รับการรักษาสิทธิประโยชน์เช่นเดิม โดยจะมีการขยายอายุของไมล์สะสมออกไปอีก ในระยะเวลาที่การบินไทยยังไม่สามารถทำการบินได้เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19