พ่อค้าอาวุธ : 5 เรื่องน่าสนใจจากงานแสดงอาวุธนานาชาติในไทย

Defense and Security 2019 ตั้งแต่วันที่ 18-21 พ.ย.ที่ผ่านมาภายใต้แนวคิด "พลังแห่งความร่วมมือ" หรือ The Power of Partnership จัดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 8

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, Defense and Security 2019 ตั้งแต่วันที่ 18-21 พ.ย.ที่ผ่านมาภายใต้แนวคิด "พลังแห่งความร่วมมือ" หรือ The Power of Partnership จัดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 8

งานแสดงอาวุธนานาชาติที่เมืองทองธานี ที่เพิ่งจบไปเมื่อ 21 พ.ย. สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของหลายชาติที่พัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธจนสามารถส่งขายต่างแดนได้ หนึ่งในนั้นคือ เมียนมา

พิธีเปิดงานแสดงอาวุธนานาชาติ Defense and Security 2019 ที่เมืองทองธานี เมื่อ 18 พ.ย. เป็นไปอย่างคึกคัก เมื่อ รัฐมนตรีกลาโหม 10 ชาติอาเซียนที่อยู่ระหว่างการประชุมในไทย มาร่วมชมการสาธิต ปฏิบัติการทางทหารในการต่อต้านการก่อการร้ายสากล และ การบรรเทาสาธารณภัย ที่ลานทะเลสาบ เมืองทองธานี

การแสดงดังกล่าวได้นำเสนอยุทโธกรณ์ที่ผลิตขึ้นด้วยฝีมือคนไทย โดย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) และ บริษัทเอกชนของไทย

ถ้าไม่ใช่คนที่สนใจเรื่องยุทโธปกรณ์ หรืออยู่ในแวดวงกองทัพ น้อยคนนักจะทราบว่าประเทศไทยมีการจัดงานนิทรรศการอาวุธมานานแล้ว ครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาในชื่องาน Defense Asia จนกระทั่งปัจจุบันมีการจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ภายใต้ชื่อ Defense and Security 2019 ตั้งแต่วันที่ 18-21 พ.ย.ที่ผ่านมาภายใต้แนวคิด "พลังแห่งความร่วมมือ" หรือ The Power of Partnership แต่ก็ถือเป็นปีแรกที่มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการประกาศว่าเป็นงานแสดงยุทโธปกรณ์เทคโนโลยีด้านการทหาร ขีปนาวุธ รถถัง อาวุธนำทาง รถหุ้มเกราะ เรือเดินทะเล เรือดำน้ำ ดาวเทียมโทรคมนาคม รวมถึงอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

ภายในงาน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

เพจเฟซบุ๊กของผู้จัดงานระบุว่า ภายในงานมีผู้ผลิตชั้นนำกว่า 500 บริษัท จาก 60 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม มีการจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีล่าสุดของอาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร โดยในปีนี้งานเน้นไปที่ความร่วมมือและการสร้างสัมพันธ์ทางธุรกิจของภาครัฐและภาคเอกชนทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ ตามนโยบายส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของรัฐบาลไทย

บีบีซีไทย สรุปความน่าสนใจของงานนี้ ออกมาเป็น 5 เรื่อง คือ

1) ตุรกี และ จีน มาแรง

ผู้จัดงาน ระบุว่า บนเนื้อที่กว่า 40,000 ตารางเมตร ตุรกี และ จีน มีพื้นที่แสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุด โดย ตุรกี นำเสนอยุทโธปกรณ์หลากหลาย เช่น อากาศยานไร้คนขับ รถหุ้มเกราะ อาวุธนำวิถี เรือรบ เป็นต้น ถือเป็นประเทศที่ขึ้นมาอยู่ในลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

รองลงมาคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ส่ง NORINCO รัฐวิสาหกิจผลิตอาวุธหลากชนิดของจีน และ China State Shipbuilding Corporation หรือ CSSC เข้าร่วมงาน โดยมี พล.อ.เว่ย เฟิ่งเหอ รมว.กลาโหม จีน ซึ่งเข้าร่วมประชุม รมว.กลาโหมอาเซียนและคู่เจรจา เดินทางมาชมพาวิลเลี่ยนของชาติตนเองอย่างสนใจ

คำบรรยายวิดีโอ, กองทัพบกจัดการทดสอบสมรรถนะของรถถัง VT4 สัญชาติจีน

NORINCO คือผู้ผลิตรถถัง VT-4 และ รถเกราะล้อยาง VN-1ที่กองทัพบกของไทยจัดหาเข้าประจำการ ส่วน CSSC คือผู้ต่อเรือเรือดำน้ำ S26Tและ เรือยกพลขึ้นบก หรือ LPD Type 071E ที่กองทัพเรือไทยจัดหาเข้าประจำการ

2 สหรัฐฯ ยังเป็นผู้นำในตลาดอาวุธโลก

สหรัฐฯ ยังถือว่าเป็นมหาอำนาจทางด้านความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของยุทโธปกรณ์ และยังให้ความสำคัญกับงานนี้ โดย นาย ไมเคิล ฮีท อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เป็นประธานตัดริบบิ้นเปิดพาวิลเลี่ยนในงานและ ได้เดินชมนิทรรศการอย่างสนใจ เว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊กของสถานทูตสหรัฐฯ ได้นำภาพกิจกรรมของ อุปทูตสหรัฐฯ เผยแพร่ โดยระบุว่า สหรัฐฯ แสดงเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความร่วมมือ และความเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจในภูมิภาค การจัดการภัยพิบัติ ความมั่นคงไซเบอร์ การต่อต้านก่อการร้าย ยุทโธปกรณ์ ทางฝ่ายการพาณิชย์ของสถานทูตสหรัฐฯ จึงเป็นตัวแทนบริษัทสหรัฐฯ เพื่อแนะนำวิธีทำธุรกิจในภูมิภาคนี้

3. เมียนมา ผู้ค้าหน้าใหม่ของงานนานาชาติ

พื้นที่แสดงของเมียนมา ใช้ชื่อว่า Myanmar Defense Industry เป็นน้องใหม่ในวงการที่เข้ามาเปิดตัวครั้งแรก ทั้งที่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเมียนมาเกิดขึ้นมานานแล้วและผู้จัดงานได้เชิญไปหลายครั้งแต่เพิ่งเข้าร่วมในครั้งนี้ ยุทโธปกรณ์ที่นำมาแสดงที่เมียนมาผลิตได้เอง ได้แก่ ปืนเล็กยาว ปืนพก ปืนกล กระสุน

โดยปัจจุบันเมียนมามีโรงงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 20 โรงงาน มีเจ้าหน้าที่รวมถึง 2.5 หมื่นคน มีขีดความสามารถในการผลิตกระสุนตั้งแต่กระสุนปืนเล็กไปจนถึงปืนใหญ่ ยานยนต์ทางทหาร เรือรบ และการซ่อมบำรุงอากาศยาน

ภายในงาน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

เพจเฟซบุ๊ก ThaiArmedForce.com อ้างคำให้สัมภาษณ์ของพันเอก เน โม โค เสนาธิการประจำสำนักงานผู้บัญชาการทหารบก ว่า การมาเข้าร่วมในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกของเมียนมาที่มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมาตั้งแต่ปี 1949 หรือ1 ปีหลังจากได้รับเอกราช และมีนโยบายที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่าทั้งกองทัพและรัฐบาลจะผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตั้งแต่ต้น

ปัจจุบันเมียนมามีโรงงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 20 โรงงาน มีเจ้าหน้าที่รวมถึง 2.5 หมื่นคน มีขีดความสามารถในการผลิตกระสุนตั้งแต่กระสุนปืนเล็กไปจนถึงปืนใหญ่ ยานยนต์ทางทหาร เรือรบ และการซ่อมบำรุงอากาศยาน

4 โดรน โดน ใจ ตอบโจทย์ ภัยคุกคาม

อากาศยานไร้คนขับ Unmanned Aerial Vehicle ( UAV) หรือ drone เป็นเทรนด์ของโลกที่ได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับกับภัยคุกคามในหลายรูปแบบ จากภารกิจทาทหารในการเข้าสู่พื้นที่อันตราย ค้นหา สอดแนม ถ่ายภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อป้องกันการสูญเสียของกำลังพลในกองทัพ แต่ปัจจุบันโดรนได้นำไปใช้แพร่หลายในภารกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานด้านสงคราม ข้ามเส้นไปยังงานด้านธุรกิจ และเชิงพาณิชย์ มากขึ้น

อากาศยานไร้คนขับ UAV RTAF U1 เพิ่งเปิดตัวไปโดยกองทัพอากาศ ซึ่งระบุว่า ออกแบบและผลิตเองโดยคนไทย 90%

อากาศยานไร้คนขับ UAV RTAF U1 เพิ่งเปิดตัวไปโดยกองทัพอากาศ ซึ่งระบุว่า ออกแบบและผลิตเองโดยคนไทย 90%

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, UAV RTAF U1 เพิ่งเปิดตัวไปโดยกองทัพอากาศที่ระบุว่า ออกแบบและผลิตเองโดยคนไทย 90%

การพัฒนา UAV เพื่อใช้ในภารกิจด้านความมั่นคง มีการพัฒนา และ ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการเชื่อมต่อ หลายประเทศได้คิดค้นนวัตกรรมเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับเป็นจำนวนมากสำหรับในงานนิทรรศการครั้งนี้ พื้นที่แสดงสินค้าของอิสราเอลได้รับความสนใจค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับ จีน ที่พัฒนาศักยภาพของ UAV ไปไกล ซึ่งขณะนี้กองทัพเรือของไทยกำลังมองหา UAV เข้าประจำการ โดยมีขีดความสามารถในการลาดตระเวนทางทะเล เน้นการปฏิบัติทางทหารเต็มรูปแบบ สามารถใช้งานได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน คาดว่า กองทัพเรือจะให้น้ำหนักกับผู้ผลิตจากจีน

ขณะที่ กองทัพอากาศไทย เพิ่งเปิดตัว UAV RTAF U1 ที่กองทัพอากาศเพิ่งเปิดตัวด้วยคุณสมบัติ ออกแบบและผลิตเองโดยคนไทย 90% ภายใต้แนวคิดเทคโนโลยีพึ่งพาตัวเอง และได้มีการนำมาแสดงในงานนี้ด้วย

ข้าม Facebook โพสต์

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์

5 "นิคมอาวุธ" ในไทย ?

ในงาน Defense and Security2019 นอกจาก สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) แล้ว ยังมี บริษัทไทยที่เข้าแสดงยุทโธปกรณ์ ได้แก่

  • บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิตยานยนต์หุ้มเกราะ
  • บริษัท RV Connex จำกัด ผู้ผลิตและพัฒนา UAV แบบ RTAF U 1
  • บริษัท มาร์ซัน จำกัด อู่ต่อเรือ ซึ่งต่อเรือรบให้กับกองทัพเรือมาแล้วหลายลำ
  • บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ที่คลุกคลีในแวดวงรถบรรทุกพ่วง คือ น้องใหม่ของวงการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
  • บริษัท ดาต้าเกท จำกัด ตัวแทนในโครงการจัดหายานเกราะล้อยางจากยูเครน
  • บริษัท ดีอาร์ซี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารของไทย ที่มีผลงานการพัฒนาระบบสื่อสารและวิทยุทางทหาร สามารถพบกับผลงานได้ที่บูท

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวกับบีบีซีไทยว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผ่านมาใช้เพื่อการสงครามแต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่นก่อการร้าย ภัยพิบัติ ซึ่งทุกประเทศกังวลในการรับมือกับภัยคุกคามที่ท้าทายนี้ เพราะรับมือเพียงลำพังไม่ได้ เกิดเป็นความคิดว่ายุทโธปกรณ์ที่มีอยู่นอกจากรับมือในการป้องกันประเทศแล้วต้องใช้ในการช่วยเหลือประชาชน จึงต้องพัฒนาอุตสาหกรรมประเทศ ในลักษณะแสวงหาความร่วมมือกัน รัฐบาลจึงผลักดันให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตัวที่ 11 ซึ่งกระทรวงกลาโหมมีเป้าหมายในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศขึ้นด้วยการแสวงหาความร่วมมือในและนอกประเทศ

บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิตยานยนต์หุ้มเกราะที่จำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิตยานยนต์หุ้มเกราะที่จำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การแสวงหาความร่วมมือนั้นไม่ใช่แค่การซื้อเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพึ่งพาตัวเองด้วย การ วิจัย พัฒนาต้นแบบ รับรองมาตรฐาน ร่วมทุนผลิต นำไปสู่การผลิตและจำหน่าย เป็นลักษณะใช้ควบคู่ คือ ใช้ทางด้านการทหาร และทางการพาณิชย์ด้วย พร้อมส่งเสริมให้เอกชนให้เข้มแข็ง

"ในอนาคตเรามีแผนที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ในอีอีซี เป็นศูนย์กลางในภูมิภาค ที่ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน ผลิตยุทโธปกรณ์ที่ใช้ทางทหาร และ ที่ไม่ใช้ในทางทหาร และยังใช้เป็นศูนย์ซ่อม เพราะไทยอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ และทุกประเทศก็มีอาวุธประจำการอยู่แล้ว ถ้าไทยจัดตั้งนิคมฯ ตรงนี้ขึ้นก็จะเป็นศูนย์กลางของฐานการผลิต และซ่อมสร้างที่สำคัญรองรับ "

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการเดินหน้าพัฒนางานด้านนี้ เรายังพบว่ามีปัญหาในกระบวนการร่วมทุน และ จัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ เพราะข้อกฎหมายยังไม่สามารถทำได้ในขณะนั้น เพราะยังไม่มี พ.ร.บ.อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ แต่ตอนนี้กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว เรามีสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ ดีทีไอ หน่วยงานที่แสวงหาความร่วมมือในการร่วมทุน ผลิตเพื่อจำหน่าย ขั้นตอนต่อไปคือการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่ จ.ชลบุรี

ภายในงาน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า แนวทางนี้จะทำให้การจัดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธลดลง แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการซื้อเลย เพราะของที่ซื้อก็ต้องซื้อ เพราะเราไม่สามารถทำเองได้ โดยเฉพาะยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย แต่ซื้อมาแล้วต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัย ต่อยอด เพื่อให้ยุทโธปกรณ์ เครื่องมือสื่อสารสามารถเชื่อมต่อกับมิตรประเทศได้ เพื่อตอบสนองการฝึกร่วมที่สำคัญ เช่น คอบร้าโกลด์ สามารถเชื่อมโยงระบบ และการสื่อสารกันได้ แต่ภาพรวมของการจัดหาอาวุธของไทยขอย้ำว่าเป็นการประเมินตามภัยคุกคามขั้นต่ำ ต้องมีกำลังที่เหมาะสมเพียงพอในการรับมือ ใช้ศักยภาพหน่วยรบเคลื่อนที่เร็วระงับยับยั้งไว้ได้ตั้งแต่ชายแดน ไม่ทำให้เกิดเหตุบานปลาย