พาราควอต : 1 ใน 3 สารเคมีอันตรายในอุตสาหกรรมการเกษตร

พาราควอต

ที่มาของภาพ, Panumas Sanguanwong/BBCThai

  • Author, ธันยพร บัวทอง
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ความพยายามในไทยในการผลักดันการห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด (พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต) ยืดเยื้อมาเกือบสองปี ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติ 16 ต่อ 5 เสียง สนับสนุนให้การอนุญาตใช้สารพาราควอต หนึ่งในสารเคมีอันตรายทางการเกษตรต่อ

มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งนี้ เป็นการยืนยันมติที่ประชุมเดิมเมื่อเดือน พ.ค. 2561 ไม่ยกเลิกนำเข้าและใช้สารเคมีการเกษตรอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยอ้างว่า ปัจจุบันยังไม่มีสารหรือมาตรการทดแทน โดยระหว่างนี้ให้กรมวิชาการเกษตรศึกษาวิจัย ลดการใช้และหามาตรการทดแทน คาดว่าอีก 2 ปี จึงจะยกเลิกได้ถาวร

ขณะที่เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร แสดงความผิดหวังต่อมติดังกล่าว โดยมูลนิธิชีววิถี (Biothai) ชี้ว่า เหตุผลของกรมวิชาการเกษตร ที่ระบุถึงสถิติการใช้พาราควอตลดลงในปี 2561 นั้น แท้จริงเกิดจากบริษัทสารพิษได้นำเข้าสารดังกล่าวมากักตุนในช่วงปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 กว่าร้อยละ 41 หลังจากกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้มีการแบนเมื่อเดือน เม.ย. 2560

การเสนอยกเลิกใช้สารเคมีอันตรายชนิดนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางข้อถกเถียงของฝ่ายที่เป็นห่วงเรื่อง สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีงานวิจัยจากภาควิชาการออกมาหลายชิ้นเกี่ยวกับการตกค้างในสิ่งแวดล้อมของสารเคมีเกษตรดังกล่าว กับฝ่ายธุรกิจเคมีและภาคเกษตรบางส่วนที่เห็นว่า การใช้สารเคมียังมีความจำเป็นเพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้

บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลและข้อถกเถียงในเรื่องนี้มานำเสนออีกครั้ง

อะไรคือพาราควอต

พาราควอต เป็นชื่อของสารเคมีกำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรไทยนิยมใช้ในพืชไร่ เป็นยาเผาไหม้ออกฤทธิ์เร็ว ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากของพืชประธาน ใช้ในไร่อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา

ปี 2560 ไทยนำเข้าสารพาราควอต 44,501 ตัน มูลค่า 3,816 ล้านบาท เป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย ตามด้วยสารไกลโฟเซต ที่ไทยนำเข้า 59,852 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,283 ล้านบาท

พาราควอต

ที่มาของภาพ, Panumas Sanguanwong/BBCThai

วันที่ 23 พ.ค.2561 คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด แต่ให้จำกัดการใช้ สวนทางกับข้อเสนอของ กระทรวงสาธารณสุขที่เสนอให้ยกเลิก

การตกค้างของพาราควอตต่อพืชผัก นักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างที่ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ในเดือน ธ.ค. 2560 ตรวจพบสารพาราควอตในผักท้องถิ่นทุกตัวอย่าง ได้แก่ พริกแดง กระเพรา คะน้า ชะอม ขณะที่การตรวจสารตกค้างของผักผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกของเครือข่ายเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) พบสารพาราควอตในผักผลไม้ในระดับเกินมาตรฐานสูงถึง 38 ตัวอย่างจาก 76 ตัวอย่าง

ขวดสารเคมียี่ห้อราวนด์อัพ

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, สารไกลโฟเซตเป็นส่วนประกอบสำคัญในยาปราบศัตรูพืช "ราวด์อัพ" (RoundUp)

ทว่าในรายงานของอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้อ้างรายงานการตรวจวิเคราะห์ของ กรมวิชาการเกษตร ตรวจสารพิษตกค้างพาราควอต ในตัวอย่างพืช มะเขือเปราะ และหน่อไม้ฝรั่ง ที่ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ช่วงเดือน มี.ค. 2561 ไม่พบสารพิษตกค้าง ซึ่งบีบีซีไทยเข้าใจว่า เป็นการตรวจในกลุ่มตัวอย่างคนชนิดและต่างช่วงเวลา

ข้อถกเถียงเรื่องพิษพาราควอต

ตามข้อมูลของสำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ระบุว่า พาราควอตมีพิษสูง แค่การกินเพียงจิบเดียวก็ถึงแก่ชีวิตได้ โดยไม่มียาถอนพิษ

เมื่อปี 2009 องค์การอนามัยโลก จัดให้พาราควอต เป็นสารเคมีอันตรายปานกลาง แต่มีข้อสังเกตในรายงานว่า มีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวหากถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย และเป็นอันตรายแก่ชีวิตหากรับประทาน หรือสัมผัสกับผิวหนังในบริเวณกว้าง

ด้านศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษพาราควอต ช่วงปี 2553-2559 ว่ามีจำนวน 4,223 ราย มีผู้เสียชีวิตคิดเป็น 46.18% สาเหตุหลักเกิดจากการนำไปใช้ฆ่าตัวตาย 56.60%

สถิติที่น่าในใจอีกอย่างหนึ่งคือ มีผู้เสียชีวิตด้วยพาราควอตจากการประกอบอาชีพ 8.19% คิดเป็นจำนวน 171 ราย

เมื่อเดือน มิ.ย. 2561 บีบีซีไทยพยายามติดต่อศูนย์พิษวิทยาแห่งนี้ เพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติมในทางวิชาการต่อกรณีการเสียชีวิตจากสารพิษพาราควอตจากการประกอบอาชีพ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

พาราควอต

ที่มาของภาพ, Panumas Sanguanwong/BBCThai

ขณะเดียวกัน ประชาคมนักวิชาการที่สนับสนุนการยกเลิกพาราควอต ได้เผยแพร่งานวิชาการหลายชิ้นที่ระบุว่า พาราควอต สัมพันธ์กับการก่อโรคพาร์กินสัน เป็นพิษเฉียบพลันสูงจากการสูดดม

การสวมเสื้อผ้าแบบปกปิดมิดชิดก็ไม่สามารถป้องกันการสัมผัสทางผิวหนังได้ และบาดแผลเผาไหม้ที่เกิดจากพาราควอตเองจะทำให้พาราควอต ผ่านเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการปฏิรูปสาธารณสุข กล่าวกับบีบีซีไทยว่า กลไกของพาราควอตเมื่อเข้าไปทำลายร่างกายแล้ว สามารถทำลายอวัยวะต่าง ๆ ได้หมด กลุ่มอาการของโรคที่สารเคมีสะสม เป็น โรคที่รักษาไม่ได้ทั้งสิ้น ตั้งแต่โรคไต มะเร็ง โรคตับ น่าจะมีส่วนร่วมอยู่ด้วย และโรคทางสมองที่รักษาไม่ได้

"รายงานที่ตรงกันพบว่า ความสำคัญของมันอยู่ที่ได้รับบ่อย ๆ ถึงจะปริมาณน้อยก็ตามเข้าไปสม่ำเสมออยู่เรื่อย ๆ ถึงทำให้เกิดโรค" นพ. ธีระวัฒน์ กล่าว "การบอกว่าเมื่อเจาะเลือดแล้วไม่เจอ ได้รับการพิสูจน์เรียบร้อยแล้วว่า ไม่ใช่แค่ปริมาณเยอะอย่างเดียว แต่แม้ปริมาณน้อยจนแทบตรวจไม่ได้ แต่ได้อยู่เรื่อย ๆ ก็ทำให้เกิดโรคชัดเจน"

การห้ามใช้พาราควอตในต่างประเทศ

ปัจจุบันมีอย่างน้อย 51 ประเทศทั่วโลกที่ ยกเลิกการใช้พาราควอต ซึ่งรวมถึงประเทศในสหภาพยุโรป ที่ยกเลิกเมื่อปี 2007

ศาลแห่งสหภาพยุโรปมีคำสั่งยกเลิกการใช้พาราควอต เนื่องจากข้อกังวลด้านสุขภาพและการประเมินความปลอดภัยในสารเคมี รวมทั้งการไม่นำรายงานผลกระทบต่อโรคพาร์กินสัน มาพิจารณา

ในเอเชีย ห้ามใช้พาราควอตแล้วใน 9 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน คูเวต ลาว เกาหลีใต้ ศรีลังกา ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศที่จำกัดการใช้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

จีนทยอยยกเลิกการใช้พาราควอตตั้งแต่ปี 2012 ด้วยเหตุผลเพื่อการปกป้องสุขภาพของประชาชน และยกเลิกการใช้และจำหน่ายสูตรน้ำเมื่อปี 2016

พาราควอต

ที่มาของภาพ, FTA watch

สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นกลุ่มประเทศที่ยังไม่ยกเลิกพาราควอต แต่จำกัดการใช้อย่างเข้มงวด

ส่วนในไทย นอกจากมติไม่ยกเลิกของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. แล้ว สำนักข่าวอิศรา ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย ทั้ง 3 ชนิด ของกรมวิชาการเกษตรว่า ได้ดำเนินการจำกัดการนำเข้า โดยสามารถลดการนำเข้าสารพาราควอต ได้ร้อยละ 25 จากสถิติเฉลี่ยการนำเข้า ปี 2557-2559

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ทางมูลนิธิชีววิถี ได้โต้แย้งว่า ในปี 2560 ได้มีการนำเข้าพาราควอตสูงกว่าปี 2559 ถึงร้อยละ 41.2 และเห็นว่าเป็นการกักตุน ภายหลังจากกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้ยกเลิกนำเข้าเมื่อเดือน เม.ย. 2560