ทบ. เปิดตัวรถถัง VT4 จากจีน ซึ่งไทยเป็นลูกค้ารายเดียวในโลก

คำบรรยายวิดีโอ, กองทัพบกจัดการทดสอบสมรรถนะของรถถัง VT4 สัญชาติจีน

26 ม.ค. กองทัพบกจัดการทดสอบสมรรถนะของรถถัง VT4 ที่ซื้อมาจากประเทศจีน เพื่อทดแทนรถถัง M41 ที่ใช้มานานกว่า 50 ปี โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้หน่วยกำลังรบมียุทโธปกรณ์หลักที่มีอำนาจการทำลาย ข่มขวัญ และมีประสิทธิภาพสูงในการปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

การทดสอบสมรรถนะรถถังนี้มีขึ้นหนึ่งวัน หลังจากกองทัพอากาศเชิญนักข่าวไปในพิธีรับเครื่องบินขับไล่/ฝึก T-50TH "อินทรีทอง" 2 ลำที่สั่งซื้อมาจากเกาหลีใต้ที่ฐานทัพอากาศใน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

พล.ต.วันชาติ ผลไพบูลย์ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า จ.สระบุรี กล่าวว่า หลังจากที่มีการรับรถถังมา 28 คันไว้ที่ศูนย์ฯ และตรวจรับตามสัญญาที่ระบุไว้เมื่อปลายเดือน พ.ย. ที่แล้ว ก็ได้มีการฝึกการปฏิบัติเป็นเวลา 60 วัน ปัจจุบันเป็นสัปดาห์ที่ 8 และจากการทดสอบยุทโธปกรณ์ ทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด

"การทดสอบสมรรถนะวันนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อถือ เชื่อมั่นในกองทัพบกยิ่งขึ้น" พล.ต.วันชาติ กล่าว

รถถัง VT4 เป็นการทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยบริษัท Norinko เป็นผู้ผลิต และขายให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ซึ่งปัจจุบันมีการทดสอบในประเทศที่มีความสนใจ เช่น ปากีสถาน พล.ต.วันชาติ กล่าว

ทดสอบยิง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ทั้งนี้ กองทัพบกได้ส่งกำลังพลส่วนหนึ่งเข้าไปฝึกที่บริษัท Norinko ที่ประเทศจีนเป็นเวลา 4 เดือน ก่อนที่จะเข้ารับรถถัง โดยเน้นในเรื่องระบบการซ่อมบำรุง

แผนการจัดหารถถัง VT4 คือ ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 28 คัน เป็นจำนวนเงิน 5,020 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 จำนวน 10 คัน และปีงบประมาณ 2561 จำนวน 10 คัน

กองทัพบกมีแนวทางบรรจุรถถัง VT4 ไว้ให้เป็นยุทโธปกรณ์หลักของกองพลทหารม้าที่ 3 ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ซึ่งประจำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพิจารณาจาก สภาวะภัยคุกคาม สภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการใช้งาน และแผนการพัฒนาและเสริมสร้างหน่วยของกองทัพบก

รถถัง VT4 จากจีน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ในแผ่นพับที่กองทัพบกแจก ระบุว่า รถถัง VT4 เป็นรถถังรุ่นใหม่ที่ใช้การควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด มีน้ำหนัก 52 ตัน ปืนใหญ่รถถังมีขนาด 125 มม. บรรจุกระสุนแบบอัตโนมัติ ความเร็วในการเคลื่อนที่สูงสุดบนถนน 70 กม./ชม. และสามารถลุยน้ำลึกได้ 4-5 เมตร

นอกจากนั้นยังมีการติดเครื่องปรับอากาศในรถ มีระบบแจ้งเตือนป้องกันภัย และใช้กล้องในการยิงปืนและถอยรถ โดยที่ทหารไม่ต้องออกมาจากป้อม

การทดสอบสมรรถนะการขับเคลื่อนและอำนาจการยิงให้นักข่าวชมในวันนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ การทดสอบสมรรถนะของรถถัง VT4 ได้รับความสนใจจากสื่อประเทศจีนเป็นอย่างมาก มีนักข่าวจากจีนเดินทางมาทำข่าวที่ประเทศไทยทั้งหมด 18 คนจาก 10 สื่อ อาทิ สื่อโทรทัศน์ CCTV, สื่อวิทยุ CRI, สำนักข่าวซินหัว และสื่อออนไลน์ Sina โดยได้รับเชิญจากบริษัท Norinko

นอกจากนี้จีนมีโครงการที่จะมาเปิดศูนย์การส่งกำลังบำรุงและซ่อมบำรุงในประเทศไทยพร้อมส่งช่างเทคนิค วิศวกร มาประจำที่ประเทศไทยด้วย และมีการสะสมชิ้นส่วนซ่อม โดยมีระยะประกัน 1 ปี พร้อมสนับสนุนการซ่อมแซมและการปรนนิบัติบำรุงเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 25 ปี แต่จะไม่ผลิตหรือประกอบในไทย พล.ท.คงชีพ ตันตระวณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงว่าขณะนี้ไทยกับจีนกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อจัดตั้งโรงงานซ่อมบำรุงดังกล่าว

ลูกปืน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, กระสุนขนาด 125 มม.

นอกเหนือจากรถถัง VT-4 แล้ว รัฐบาลไทยก็ยังมีโครงการสั่งซื้อเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้ารุ่น Yuan Class S26T และยานเกราะ VN-1 "เสือดาวหิมะ" จากจีน 34 คัน อีกด้วย

ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยมักจะจัดซื้ออาวุธจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่หลังจากการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ 22 พ.ค. 2557 รัฐบาลสหรัฐฯภายในการนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา จึงประกาศแขวนงบช่วยเหลือทางทหาร มูลค่าราว 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลง และกดดันรัฐบาลไทยจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

รัฐบาลไทยเดินหน้าโครงการจัดซื้ออาวุธประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ เพื่อทดแทนยุทโธปกรณ์เดิมที่ใช้มานานและเสื่อมสภาพ ทางด้านรถถัง ก่อนหน้าซื้อจากจีน รัฐบาลไทยมีโครงการซื้อจากรถถังจากประเทศยูเครนรุ่น T-84 Oplot จำนวน 54 คัน แต่เนื่องจากการส่งมอบที่ล่าช้ามากทำให้ต้องหันไปซื้อจากจีนกลางคัน

เป้าเล็งจากห้องพลประจำรถถัง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เป้าเล็งจากห้องพลประจำรถถัง

นอกจากนี้เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้หวนกลับมาปรับความสัมพันธ์กับไทยอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติการซื้อขีปนาวุธฮาร์พูน การขายขีปนาวุธ ฮาร์พูน บล็อค ทูว์ รุ่น RGM-84L มูลค่า 24.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (828 ล้านบาท) ตามที่รัฐบาลไทยได้ยื่นความจำนง ขอซื้อขีปนาวุธดังกล่าวจำนวน 5 ลูกก่อนหน้านี้

ในช่วงสามปีกว่าที่ผ่านมาของรัฐบาลทหาร บีบีซีไทยพบว่า มีการตั้งโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้งบประมาณสูงและน่าสนใจ อย่างน้อย 9 โครงการ ประกอบด้วย

กองทัพบก

ปี 2558 โครงการจัดซื้อรถถังหลัก VT-4 จากจีน ไม่ระบุจำนวน รวมมูลค่า 4,985 ล้านบาท

ปี 2559 โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Mi7VS จากรัสเซีย จำนวน 2 ลำ รวมมูลค่า 1,698 ล้านบาท

ปี 2559 โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์จากรัสเซีย ไม่ระบุรุ่น จำนวน 4 ลำ รวมมูลค่า 3,385 ล้านบาท

ปี 2560 โครงการจัดซื้อรถถังหลัก VT-4 จากจีน ไม่ระบุจำนวน รวมมูลค่า 2,017 ล้านบาท

กองทัพเรือ

ปี 2558 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ไม่ระบุรุ่นและจำนวน มูลค่า 2,850 ล้านบาท

ปี 2558 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ไม่ระบุรุ่น จำนวน 4 ลำ รวมมูลค่า 490 ล้านบาท

ปี 2559 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ไม่ระบุรุ่น จำนวน 5 ลำ รวมมูลค่า 627 ล้านบาท

ปี 2560 โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T จากจีน จำนวน 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท

กองทัพอากาศ

ปี 2560 โครงการจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่เบื้องต้นจากเกาหลีใต้ จำนวน 8 ลำ รวมมูลค่า 8,997 ล้านบาท

รถถัง VT4 จากจีน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุกับบีบีซีไทยว่าโครงการมูลค่าจำนวนมากมายและซื้อหามาจากหลายชาติด้วยกัน เรียกได้ว่า เป็นการดำเนินการทูตผ่านการจัดหาอาวุธ (Procurement Diplomacy)

"การทูตที่ขับเคลื่อนด้วยการซื้ออาวุธนี้ มีขึ้นก็เพื่อสร้างความชอบธรรมในการบริหารประเทศหลังรัฐประหาร ซึ่งเห็นได้จากการให้ความสำคัญกับการซื้ออาวุธกับมหาอำนาจรายใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา" ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ บีบีซีไทย

กองทัพไทยกล่าวว่าเหตุผลสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการซื้อรถถัง VT4 คือเป็นการจัดหาโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาลและเป็นการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากมิตรประเทศ โดยมิได้หวังผลกำไรเชิงธุรกิจการค้า มีลักษณะของการช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้กองทัพไทยได้รับยุทโธปกรณ์รวดเร็วและราคาถูก เนื่องจากเป็นการซื้อขายไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง