ห้องที่ล็อกถาวรในทัชมาฮาล เก็บงำความลับอะไรไว้

ทัชมาฮาล

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, ทัชมาฮาลเป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนมากที่สุดของอินเดีย
  • Author, ซูติก บิสวาส
  • Role, ผู้สื่อข่าวประจำอินเดีย

ห้องต่าง ๆ ในอนุสรณ์สถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกแห่งนี้ เก็บงำความลับอะไรไว้อยู่หรือไม่

ผู้พิพากษาศาลสูงในอินเดีย ไม่คิดเช่นนั้น โดยเมื่อวันพฤหัสบดี (12 พ.ค.) ศาลได้ยกคำร้องที่ยื่นโดยสมาชิกพรรคภราติยะ ชนะตะ (Bharatiya Janata Party--BJP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของอินเดีย ที่เรียกร้องให้เปิดประตู "ห้องที่ถูกล็อกไว้ถาวร" มากกว่า 20 ห้องในทัชมาฮาล เพื่อตรวจสอบ "ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของอนุสรณ์สถานแห่งนี้"

รัชนีศ ซิงห์ กล่าวต่อศาลว่า เขาต้องการตรวจสอบว่า "ข้อกล่าวอ้างของบรรดานักประวัติศาสตร์และผู้ศรัทธา" ที่ว่า ห้องเหล่านั้นเป็นที่ประดิษฐานของศาลบูชาพระศิวะ เทพเจ้าของศาสนาฮินดู

ทัชมาฮาล เป็นสุสานในสมัยศตวรรษที่ 17 ที่ตั้งอยู่ติดกับริมแม่น้ำในเมืองอัครา ซึ่งสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระจักรพรรดิ์ชาห์ จาฮาน แห่งราชวงศ์โมกุล เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระราชินีมุมตัซ พระชายาของพระองค์ซึ่งเสด็จสวรรคต ขณะทรงมีพระประสูติกาลองค์ทายาทองค์ที่ 14 ของทั้งสองพระองค์ อนุสรณ์สถานที่น่าอัศจรรย์แห่งนี้สร้างจากอิฐ หินทรายสีแดง และหินอ่อนสีขาว และมีชื่อเสียงจากสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อน เป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนมากที่สุดของอินเดีย

แต่นายซิงห์ไม่เชื่อในประวัติศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับ "เราทุกคนควรรู้ว่า อะไรอยู่ภายในห้องเหล่านี้" เขาเรียกร้องต่อศาล

ห้องที่ถูกล็อกไว้หลายห้องที่นายซิงห์กล่าวถึงนั้น ตั้งอยู่ในบริเวณห้องใต้ดินของสุสานแห่งนี้ และจากคำบอกเล่าอย่างเป็นทางการส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่มีอะไรมากนักในห้องเหล่านั้น

ภาพของสมเด็จพระจักรพรรดิ์ชาห์ จาฮาน และสมเด็จพระราชินีมุมตัซ มาฮาล พระชายา

ที่มาของภาพ, Hulton Archive/Getty Images

คำบรรยายภาพ, สมเด็จพระจักรพรรดิ์ชาห์ จาฮาน (ขวา) ทรงสร้างทัชมาฮาลขึ้นเพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระราชินีมุมตัซ มาฮาล พระชายาของพระองค์ (ซ้าย)

เอบบา ค็อก ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านสถาปัตยกรรมราชวงศ์โมกุลและผู้เขียนการศึกษาที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับทัชมาฮาล เคยเข้าไปข้างในและถ่ายรูปห้องต่าง ๆ และทางเดินในอนุสรณ์สถานแห่งนี้ในช่วงที่เธอทำงานวิจัย

ห้องเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของห้องใต้ดินสำหรับใช้ในช่วงฤดูร้อนที่ยาวนานหลายเดือน โดยทางเดินใต้ดินฝั่งระเบียงที่ติดกับแม่น้ำของทัชมาฮาลประกอบด้วย "ห้องติดกันจำนวนมาก" นางค็อก พบว่า มี 15 ห้องที่ตั้งอยู่ในแถวเดียวกัน ตามแนวของแม่น้ำ และมีทางเดินแคบ ๆ ไปยังแต่ละห้อง

มีห้องที่ขนาดใหญ่ 7 ห้องต่อออกไปในแต่ละด้าน มีห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัส 6 ห้อง และห้อง 8 เหลี่ยม 2 ห้อง ห้องที่มีขนาดใหญ่จะหันหน้าไปทางแม่น้ำโดยมีซุ้มประตูโค้งที่สวยงาม เธอสังเกตเห็นว่า ห้องต่าง ๆ เหล่านี้ "ปรากฏร่องรอยของการทาสีตกแต่งภายใต้สีขาวที่ทาทับไว้" และ "พบลวดลายเป็นตาข่ายที่เชื่อมต่อกันระหว่างดวงดาวหลายดวงที่ล้อมรอบเป็นวงกลมกับเหรียญขนาดใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง

"มันคงเป็นพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกที่สวยงามสำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิ์ พระชายาและข้าราชบริพารที่ตามเสด็จเยือนสุสานแห่งนี้ เพื่อทำให้รู้สึกเย็นสบาย แต่ตอนนี้มันไม่มีแสงจากธรรมชาติแล้ว" นางค็อก ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านศิลปะเอเชียที่มหาวิทยาลัยเวียนนากล่าว

ทางเดินใต้ดินเหล่านี้มักพบในสถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์โมกุล โดยที่ป้อมปราการสมัยราชวงศ์โมกุลในเมืองลาฮอร์ของปากีสถาน มีห้องประตูโค้งแบบนี้หลายห้องที่หันหน้าไปทางแม่น้ำ

ภาพทัชมาฮาล Felice Beato (ชาวอังกฤษ เกิดในอิตาลี มีชีวิตระหว่างปี 1832 - 1909), Henry Hering (ชาวอังกฤษ, 1814 - 1893); อินเดียวช่วงประมาณ เม.ย. 1859

ที่มาของภาพ, Sepia Times/Universal Images Group via Getty Image

คำบรรยายภาพ, สมเด็จพระจักรพรรดิ์ชาห์ จาฮาน ทรงโปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินทางพระชลมาร์ค (ทางเรือ) ในแม่น้ำยมุนามายังทัชมาฮาล

สมเด็จพระจักรพรรดิ์ชาห์ จาฮาน ทรงโปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินทางพระชลมาร์ค (ทางเรือ) ในแม่น้ำยมุนามายังทัชมาฮาล โดยจะเสด็จขึ้นบันไดที่กว้างและสูงเพื่อเข้าไปที่สุสาน "ฉันจำทางเดินที่มีการทาสีไว้อย่างสวยงามตอนที่ไปเยือนที่นี่ได้ ฉันจำได้ว่า ทางเดินที่นำไปสู่พื้นที่กว้างแห่งหนึ่ง ค่อนข้างชัดเจนว่า นั่นคือทางสำหรับเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระจักรพรรดิ์" อมิตา เบย์ก นักอนุรักษ์ชาวอินเดียที่ได้เดินทางเยือนที่นี่เมื่อ 20 ปีก่อน เล่า

รานา ซาฟวี นักประวัติศาสตร์ที่อยู่ในกรุงนิวเดลีซึ่งเติบโตมาในเมืองอัครา จำได้ว่า ห้องใต้ดินเหล่านี้เคยเปิดให้คนเข้าชมจนกระทั่งเกิดน้ำท่วมในปี 1978 "น้ำเข้ามาในอนุสรณ์สถาน ห้องใต้ดินบางส่วนเต็มไปด้วยโคลน และมีรอยร้าว เจ้าหน้าที่ทางการปิดห้องเหล่านี้ไม่ให้คนทั่วไปเข้าชมหลังจากนั้น ในนั้นไม่มีอะไรอยู่" เธอกล่าว โดยมีการเปิดห้องเหล่านี้เป็นระยะเพื่อการบูรณะปฏิสังขรณ์

ตำนานเกี่ยวกับทัชมาฮาล

ตำนานหรือเรื่องที่เล่าขานต่าง ๆ เกี่ยวกับทัชมาฮาลรวมถึงแผนการของสมเด็จพระจักรพรรดิ์ชาห์ จาฮาน ในการสร้าง "ทัชมาฮาลสีดำ" ตรงข้ามกับอนุสรณ์สถานที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ก็มีเรื่องที่เล่าว่า ทัชมาฮาลสร้างขึ้นโดยสถาปนิกชาวยุโรป นักวิชาการจากชาติตะวันตกบางส่วนเคยระบุว่า ไม่สามารถสร้างทัชมาฮาลเพื่ออุทิศแด่สตรีได้ เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งของผู้หญิงที่ต่ำต้อยในสังคมมุสลิม ซึ่งมักจะไม่มีการสร้างสุสานให้แก่ผู้หญิงในโลกอาหรับ เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเยือนที่นี่ มัคคุเทศก์มักจะเล่าเรื่องสนุกต่าง ๆ ให้ผู้มาเยี่ยมชมฟังเกี่ยวกับวิธีการที่สมเด็จพระจักรพรรดิ์ชาห์ จาฮาน ทรงสังหารสถาปนิกและคนงาน หลังจากที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ

ในอินเดีย มีเรื่องเล่าขานที่สืบต่อกันมานานว่า ทัชมาฮาล แต่เดิมคือวัดฮินดูที่อุทิศต่อพระศิวะ หลังจากที่สุราช มาล กษัตริย์ที่นับถือศาสนาฮินดูทรงยึดเมืองอัคราได้ในปี 1791 นักบวชประจำราชสำนักได้แนะนำให้เปลี่ยนทัชมาฮาลเป็นวัด พีเอ็น โอ๊ก ซึ่งก่อตั้งสถาบันเพื่อการเขียนประวัติศาสตร์อินเดียใหม่ในปี 1964 ระบุในหนังสือว่า จริง ๆ แล้ว ทัชมาฮาลเป็นวัดของพระศิวะ

นักท่องเที่ยวถ่ายรูปหน้าทัชมาฮาล ปี 2020

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, มีตำนานหรือเรื่องที่เล่าขานต่าง ๆ เกี่ยวกับทัชมาฮาล

ในปี 2017 สังคีต โซม ผู้นำพรรคบีเจพี เรียกทัชมาฮาลว่า "รอยแปดเปื้อน" ของวัฒนธรรมอินเดีย เพราะที่นี่ "สร้างขึ้นโดยคนทรยศ" สัปดาห์นี้ ดิยา กุมารี สมาชิกรัฐสภาของพรรคบีเจพี กล่าวว่า สมเด็จพระจักรพรรดิ์ชาห์ จาฮาน "ทรงยึดที่ดิน" ของสมาชิกราชวงศ์ที่นับถือศาสนาฮินดูและสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้น

นางซาฟวี กล่าว่า ในกลุ่มฝ่ายขวาได้มีการพูดถึงทฤษฎีต่าง ๆ เหล่านี้อีกครั้งในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่าน "กลุ่มฝ่ายขวาบางส่วนได้ใช้ข่าวปลอม ประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นความจริง และความรู้สึกสูญเสียและการตกเป็นเหยื่อของฝ่ายฮินดู" เธอกล่าว หรืออย่างที่นางค็อก ตั้งข้อสังเกตว่า "มันดูเหมือนว่า มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับทัชมาฮาลมากกว่างานวิจัยทางวิชาการที่จริงจังเสียอีก"