ค้นหาเซรุ่มต้านพิษครอบจักรวาล ยอมให้งูกัด 200 ครั้ง ฉีดพิษงูเข้าสู่ร่างอีก 700 ครั้ง

งูแบล็กแมมากัด ทิม ฟรีเดอ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พิษงูแบล็กแมมบาเพียง 2 หยด ก็ทำให้คนเสียชีวิตได้
  • Author, สวามินาทาน นาทาราจัน
  • Role, บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส

ทุก ๆ 5 นาที มีคนเสียชีวิตจากการถูกงูกัด และมีอีก 4 คน ที่ต้องกลายเป็นผู้พิการถาวร

แต่มีคนบางส่วนที่กำลังเสี่ยงชีวิตทดลองกับสัตว์เลื้อยคล้ายที่มีพิษนี้

ทิม ฟรีเดอ ซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐวิสคอนซินของสหรัฐฯ ถ่ายคลิปขณะที่ตัวเองจงใจให้งูพิษกัด แล้วก็อัปโหลดวิดีโอเหล่านี้ลงยูทิวบ์

รู้สึกปวดขึ้นมาทันที

แขนที่มีเลือดไหล หลังถูกงูกัด ของ ทิม ฟรีเดอ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, บางครั้ง ทิม ฟรีเดอ เล่าให้ผู้ชมทางยูทิวบ์ฟังถึงความรู้สึกหลังจากถูกงูพิษกัด

ในคลิปวิดีโอหนึ่ง เขาได้เล่าความรู้สึกหลังจากที่ถูกงูแมมบากัด 2 ครั้ง โดยไม่สนว่า เลือดกำลังไหลลงมาตามแขนทั้ง 2 ข้าง

"งูแบล็กแมมบา ทำให้รู้สึกปวดขึ้นมาทันที มันเหมือนกับโดนผึ้งนับพันรุมต่อย ผึ้งอาจมีพิษเพียง 1 หรือ 2 มิลลิกรัม แต่การถูกงูแบมบากัด อาจจะได้รับพิษ 300 ถึง 500 มิลลิกรัม"

เขาเล่าให้บีบีซีฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น

"ตัวผมบวมขึ้นหลังจากนั้น ในช่วง 2-3 วันถัดมา ผมได้แต่นอนซม อาการบวมที่เกิดกับผม ทำให้ผมพอจะเดาได้ว่า มีพิษงูถูกฉีดเข้าร่างผมมากแค่ไหน มันเจ็บปวดมาก" เขากล่าวด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบเหมือนไม่รู้สึกอะไร

อันตรายและผิดจริยธรรม

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับเรื่องนี้เหมือนกับแฟน ๆ ทางยูทิวบ์ของเขา

ทิม ฟรีเดอ กำลังถูกงูกัด

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ทิม ฟรีเดอ กล่าวว่า ร่างกายของเขาได้สร้างภูมิต้านทานที่มากพอต่อการต้านพิษงู

ดร.สจ๊วต เอนส์เวิร์ธ จากวิทยาลัยการแพทย์เขตร้อนเมืองลิเวอร์พูล (Liverpool School of Tropical Medicine) กล่าวว่า "เราไม่รู้ว่า คนเหล่านี้ทำอะไรอยู่ นี่มันอันตรายและผิดจริยธรรม เราไม่ร่วมงานกับพวกเขา"

สถาบันของเขาก็กำลังพยายามค้นหายาต้านพิษงูครอบจักรวาลชนิดใหม่เช่นกัน

ตามปกติแล้ว วัคซีนชนิดใหม่จะถูกทดลองในหนูและสัตว์ในห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ก่อน หากปลอดภัยจึงจะมีการทดลองในมนุษย์ ซึ่งจะต้องจัดทำขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุม

ดร. เอนส์เวิร์ธ กล่าวว่า "คนสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง เพราะไม่มีกฎที่ควบคุม แต่การทำเช่นนี้อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ไม่ควรมีใครทำเช่นนี้"

แต่ในอุตสาหกรรมยาทั่วโลก ไม่มีแนวปฏิบัติในการทำวิจัยเกี่ยวกับยาต้านพิษงู

เวลล์คัม ทรัสต์ (Wellcom Trust) องค์กรที่อยู่ในสหราชอาณาจักร ที่เป็นหัวหอกในการผลักดันทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อหาวัคซีนชนิดใหม่ ระบุว่า "ไม่มีมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพ มาตรฐานด้านความปลอดภัย หรือ การผลิต ร่วมกัน"

เสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิต

ฟรีเดอ ปฏิเสธเสียงแข็งว่า เขาไม่ได้เสี่ยงชีวิตเพื่อเพิ่มผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย

"ผมไม่ได้ทำเรื่องนี้เพื่อทำวิดีโอออกยูทิวบ์ ผมอยากจะช่วยชีวิตคน และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น ผมเพียงแต่ใช้ยูทิวบ์ในการหาหมอที่จะมาร่วมทำงานด้วยกัน มันเป็นการเสี่ยงโชค แล้วมันก็ได้ผล" เขากล่าว

ทิม ฟรีเดอ นำงู 1 ตัว ที่เขาเก็บไว้มาแสดง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ทิม ฟรีเดอ กล่าวว่า เขารอดตายมาได้อย่างหวุดหวิดกว่า 10 ครั้ง

ในบรรดางูเกือบ 3,000 สายพันธุ์ มีเพียงราว 200 สายพันธุ์เท่านั้นที่มีพิษรุนแรงถึงขั้นทำให้คนเสียชีวิตหรือพิการได้ ฟรีเดอ คุ้นเคยกับงูหลายชนิดเหล่านี้

เขาเคยถูกงูกัดแล้วกว่า 200 ครั้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งงูเห่า งูแมวเซา หรืองูแมมบา นอกจากนี้ยังฉีดพิษงูเข้าสู่ร่างกายอีกกว่า 700 ครั้ง

พิษที่งูปล่อยเข้าสู่ร่างผู้ที่ถูกกัดมีปริมาณที่ไม่แน่นอน บางครั้งงูอาจกัดโดยไม่ปล่อยพิษเข้าสู่คนเลยก็ได้ ดังนั้น การฉีดพิษงูจึงเป็นวิธีในการกำหนดปริมาณพิษที่ได้รับ

"ถ้าคุณไม่มีภูมิต้านทานพิษงู อย่างงูแบล็กแมมบา พิษงูจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนปลายของคุณ ทำให้กระบังลมไม่ทำงาน แล้วก็คุณหายใจไม่ออก ตาจะปิดลง แล้วก็พูดไม่ได้ คุณจะค่อย ๆ หมดสติแล้วก็เป็นอัมพาต มันจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง ดังนั้น คุณจะยังมีความคิดความรู้สึก จนกระทั่งคุณเสียชีวิตลง" ฟรีเดอ กล่าว

งูเห่ากัดโหดร้ายมาก

ฟรีเดอ เลี้ยงงูพิษไว้ที่สวนหลังบ้านของเขา แล้วก็ทดลองให้งูกัดด้วยตัวเอง

งูแบล็กแมมบา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, งูแบล็กแมมบา เป็นหนึ่งในงูที่อันตรายที่สุดในโลก คนที่ถูกกัดอาจเสียชีวิตในเวลาไม่ถึง 30 นาที

"ผมมีงูเห่าน้ำจากแอฟริกา ถูกงูเห่าน้ำกัดโหดร้ายมาก มันร้ายกาจ เป็นความรู้สึกที่น่าหวาดกลัว"

พิษของงูเห่าน้ำมีพิษต่อระบบประสาท (neurotoxin) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเซลล์ประสาทได้

"งูเห่าอื่น ๆ มีพิษที่มีสารเป็นพิษต่อเซลล์ (cytotoxin) ซึ่งทำให้กลุ่มเซลล์หรือเนื้อเยื่อตายได้ เหมือนกับงูหางกระดิ่ง ทำให้อาจต้องเสียนิ้วมือ หรือมือทั้งมือไปได้"

ฟรีเดอเชื่อในทฤษฎีที่ว่า การที่คนค่อย ๆ รับพิษงูเข้าสู่ร่างกายในปริมาณเล็กน้อย คน ๆ นั้น จะสามารถสร้างระบบภูมิต้านทานในร่างกายขึ้นมาได้ แต่วิธีการที่เขาทำถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

พัฒนาภูมิคุ้มกัน

วิธีการที่คล้ายคลึงกัน แต่ใช้สัตว์แทน ทำให้มีเซรุ่มต้านพิษงูที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

หมองูในปากีสถาน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, งู มีความน่ากลัว แต่ก็ได้รับการเคารพนับถือในหลายวัฒนธรรม

การผลิตเซรุ่มต้านพิษงูยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยจะมีการฉีดพิษงูในปริมาณเล็กน้อยเข้าสู่ตัวม้าหรือแกะ จากนั้นจะเก็บสารภูมิต้านทาน (antibody)จากเลือดของสัตว์เหล่านั้น

ฟรีเดอ ตั้งคำถามว่า "เรามีสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ที่ทำให้ผมตายได้ แต่ผมไม่อยากตาย ผมก็เลยทำให้ตัวเองเป็นเหมือนม้า ทำไมเราถึงจะสร้างภูมิต้านทานให้ตัวเองไม่ได้"

อดีตคนขับรถบรรทุกวัย 51 ปี ไม่ใช่นักภูมิคุ้มกันวิทยา แล้วก็ไม่เคยเรียนมหาวิทยาลัย เขากลัวว่าจะถูกสิ่งมีชีวิตที่มีพิษกัดจนเสียชีวิต ทำให้เขาเริ่มหาวิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองอย่างที่ไม่ค่อยมีใครทำเมื่อราว 20 ปีก่อน

เขาเริ่มจากการให้แมงมุมและแมงป่องกัด ก่อนจะพัฒนามาเป็นงูเห่าและงูคอปเปอร์เฮด (copperhead)

"ผมยังใช้งูพิษทุกชนิดบนโลกไม่ครบเลย ผมเลือกเฉพาะชนิดที่ทำให้คนเสียชีวิตได้เร็วที่สุด"

เขามีรอยแผลเป็นจากการทดลองนี้เต็มไปหมด แล้วก็เคยเฉียดตายมาแล้ว แต่เขาก็ยังยินดีที่จะให้งูกัดโดยไม่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ต่อไป

"มีราว 12 ครั้ง ที่ผมฟื้นตัวช้ามา ในการทดลองช่วงปีแรก ผมต้องเข้าโรงพยาบาลหลังจากถูกงูเห่า 2 ตัวกัด คุณต้องเรียนรู้หลายอย่าง ไม่มีหมอ หรือมหาวิทยาลัยแห่งใดในโลกที่จะสอนเรื่องนี้ให้คุณ"

สารภูมิต้านทานเพิ่มเป็น 2 เท่า

ผลการตรวจร่างกายของเขาทำให้เขามีความมั่นใจมากขึ้นว่า วิธีการของเขาได้ผล

งูเห่าที่กำลังถูกรีดพิษ

ที่มาของภาพ, Swaminathan Natarajan

คำบรรยายภาพ, เซรุ่มต้านพิษงู อาจมีราคาแพงมาก และอาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

"เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ผมมีภูมิต้านทานมากเป็น 2 เท่า ซึ่งเกิดจากการต้านพิษ ผลการตรวจในห้องปฏิบัติการยืนยันเช่นนั้น" เขากล่าวอ้าง

ราว 2 ปีก่อน วิดีโอทางยูทิวบ์ของทิม ฟรีเดอ ดึงดูดความสนใจของ เจค็อบ แกลนวิลล์ นักภูมิต้านทานวิทยา ที่ออกจากงานในฐานะนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) บริษัทยายักษ์ใหญ่ เพื่อเปิดบริษัทที่ทำงานด้านเซรุ่มต้านพิษของตัวเอง

"สิ่งที่ทิมทำเป็นเรื่องน่าทึ่งมาก แต่มันอันตราย แล้วผมก็ไม่แนะนำให้ใครทำ" แกลนวิลล์ กล่าว

บริษัทของเขากำลังใช้ตัวอย่างเลือดของฟรีเดอเพื่อผลิตเซรุ่มต้านพิษชนิดใหม่

"พวกเขาเอา ดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ แล้วก็สารภูมิต้านทาน ของผมไปโคลน นี่คือความเป็นไปได้มากที่สุดในทางวิทยาศาสตร์" ฟรีเดอ กล่าว

โรคที่ถูกเพิกเฉย

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organisation--WHO) ระบุว่า แต่ละปี มีคนถูกงูกัดราว 5.4 ล้านคน คาดว่ามีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ระหว่าง 81,000-138,000 คน ส่วนอีกกว่า 400,000 คน ต้องกลายเป็นผู้พิการถาวร ซึ่งทำให้มีคุณภาพชีวิตแย่ลง

งูพิษในหญ้า

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, หลายพื้นที่ของโลก มนุษย์และงูใช้พื้นที่ร่วมกัน ซึ่งทำให้มีโอกาสที่คนจะถูกงูกัดได้มากขึ้น

จนกระทั่งปี 2017 WHO จึงจัดให้ การถูกงูกัด เป็นโรคเขตร้อนที่ถูกเพิกเฉย

ปัจจุบัน วันที่ 19 ก.ย. ของทุกปี เป็นวันตระหนักถึงการถูกงูกัด เพื่อสนับสนุนให้มีการแก้ปัญหาที่คุกคามชุมชนที่อยู่ห่างไกลในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ซึ่งยังไม่ได้เข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ทันสมัยอย่างเต็มที่

ในหลายประเทศ เซรุ่มต้านพิษงูที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผล เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับการเก็บรักษา หรือไม่ก็ใช้ได้ผลกับงูเพียงบางชนิดเท่านั้น ไม่สามารถได้กับงูพิษอีกหลายชนิด

หนู

ในเดือน พ.ค. ปีนี้ เวลล์คัม ทรัสต์ ประกาศสนับสนุนเงินทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการหาเซรุ่มต้านพิษที่ใช้ได้ผล และวิธีการรักษาแบบใหม่

นักวิจัยทดลองกับหนูในห้องปฏิบัติการในจีน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ยาที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ กำลังได้รับการทดสอบกับสัตว์หลายชนิด เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น

มีองค์กรอีกหลายแห่งที่กำลังพยายามพัฒนายาที่ปลอดภัยและราคาไม่แพง

การทำสัญญากับแกลนวิลล์ จะทำให้ฟรีเดอได้เงินก้อนใหญ่มาก้อนหนึ่ง ถ้าพวกเขาสามารถพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ขึ้นมาได้สำเร็จ

"คุณไม่ต้องมาให้งูกัดเพื่อหาเงิน แต่ถ้าเราพัฒนาวัคซีนได้ จะได้เงินก้อนใหญ่ ผมมีทนายความและได้เซ็นสัญญาไว้แล้ว" ฟรีเดอกล่าว

แกลนวิลล์ กำลังตื่นเต้นเกี่ยวกับการทดลองที่กำลังจะเกิดขึ้น

"งานวิจัยนี้ค่อนข้างยาวไกล เรากำลังจะเริ่มทดลองในหนู"

แนวคิดสุดโต่งที่มีเป้าหมาย

คนในวงการวิทยาศาสตร์ วิพากษ์วิจารณ์ แกลนวิลล์ และฟรีเดอ อย่างหนัก จากวิธีการแหกคอกที่พวกเขาใช้ แต่ทั้งสองคนออกมาปกป้องการวิจัยของตัวเอง

ทิม ฟรีเดอ ที่บ้านของเขา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ทิม ฟรีเดอ กล่าวว่า เขาเสี่ยงชีวิตเพื่อแก้ปัญหานี้

แกลนวิลล์ บอกว่า "เราจัดการกับเรื่องจริยธรรมด้านชีววิทยาอย่างระมัดระวัง เราใช้แบบจำลองที่คล้ายคลึงกันกับที่ถูกใช้ในการศึกษาสารที่มีความเสี่ยงสูงที่คนอาจสัมผัสกับสารเหล่านั้นได้ อย่าง การปฏิบัติเมื่อมีบาดแผลที่เกิดจากการทำงาน หรือการสัมผัสกับเชื้อเอชไอวี เป็นต้น"

แต่เขาก็ยอมรับว่า วิธีการของเขาไม่ใช่หนทางที่ง่ายดายที่จะให้คนอื่นมาทำตาม ทิม ฟรีเดอ กล่าวว่า มันเป็นเรื่องของผลตอบแทนที่จะได้

"มีเป้าหมายอยู่เบื้องหลังความสุดโต่งนี้ของผม ผมเอาตัวเองเข้ามาเสี่ยง เพื่อหาเซรุ่มต้านพิษครอบจักรวาลที่ราคาไม่แพง"