สถานที่ท่องเที่ยว 5 แห่งใน 5 ประเทศ กำลังรับมือกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป

นักท่องเที่ยวบนชายหาดของเกาะโบราไกย์ จังหวัดอักลัน วันที่ 6 เม.ย. 2018

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, รัฐบาลฟิลิปปินส์ ระบุว่า จะให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการเกาะปิดโบราไกย์
  • Author, วิกกี เบเคอร์
  • Role, บีบีซี นิวส์

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการไทยและฟิลิปปินส์ได้ประกาศปิดการท่องเที่ยวในสถานที่ ที่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่สุดของนักท่องเที่ยวในทั้งสองประเทศ

เริ่มจาก ทางการไทย ระบุว่า จำเป็นต้องปิดอ่าวมาหยาไม่ให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปท่องเที่ยวแบบวันเดียวเข้า หลังจากที่นักท่องเที่ยวประเภทนี้เดินทางมาเยือนอ่าวมาหยาจำนวนมาก นับตั้งแต่ภาพของอ่าวมาหยาปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง เดอะ บีช (The Beach) ในปี 2000

จากนั้น ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์ ได้ประกาศว่า จะปิดเกาะโบราไกย์เป็นเวลา 2-3 เดือน ซึ่งเขากล่าวว่า เกาะนี้ได้กลายเป็น "ส้วม" ที่คนใช้มากเกินไป

นี่เป็นเพียงสถานที่ 2 แห่งที่ถูกประกาศปิด ยังมีเมืองอีกหลายแห่งในยุโรป รวมถึงเมืองเวนิสของอิตาลี และเมืองดูบรอฟนิกของโครเอเชีย ที่เผชิญกับการหลั่งไหลเข้าไปของนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับเกาะสกาย (Isle of Skye) ในสกอตแลนด์

ในปี 2017 นครบาร์เซโลนาของสเปน ได้ปราบปรามที่พักที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งถูกปล่อยให้เช่าในเครือข่าย AirBnB โดยระบุว่า เป็นการทำให้คนในพื้นที่ต้องเผชิญกับค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อรักษาสถานที่ของพวกเขาไม่ให้ได้รับความเสียหายมากเกินไป อย่างเช่น รวันดา ซึ่งคิดค่าใบอนุญาตชมกอริลลา 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน หรือประมาณ 48,000 บาท ต่อวัน

ลองมาดูกันว่า สถานที่ท่องเที่ยว 5 แห่งทั่วโลกมีวิธีการรับมือกับการได้รับความนิยมมากเกินไปอย่างไร

1. ไทย: อ่าวมาหยาได้พักผ่อนเสียที

อ่าวมาหยา ประเทศไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในเดือนมีนาคม ทางการไทยประกาศว่ากำลังจะปิดอ่าวมาหยา ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ เพื่อให้อ่าวมาหยาได้หยุดพักเป็นการชั่วคราว ชายหาดที่มีน้ำใส ทรายขาว และมีหน้าผาหินปูนหลายแห่ง กลายเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียง หลังจากถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง เดอะ บีช (The Beach) ซึ่งนำแสดงโดยลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ นับจากนั้น มีก็มีผู้เดินทางไปเยือนอ่าวมาหยาราว 4,000-5,000 คนต่อวัน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า 77% ของปะการังของอ่าวมาหยากำลังเผชิญความเสี่ยงรุนแรง ส่วนใหญ่มาจากการได้รับความเสียหายจากสมอเรือ แต่การปิดอ่าวมาหยา 4 เดือนในปีนี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ไม่สามารถที่จะฟื้นฟูความเสียหายนี้ได้

สายเกินไปหรือไม่ที่จะพิทักษ์อ่าวมาหยา?

นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักสมุทรศาสตร์ ไม่คิดเช่นนั้น เขากล่าวกับบีบีซีว่า ถ้าเราคิดว่า สายเกินไป เราจะไม่ทำอะไร เราได้ปิดเกาะแห่งหนึ่งชื่อว่า เกาะยูง เมื่อ 3 ปีก่อน ตอนนี้ปะการังกำลังโตขึ้นมาก เราจะใช้วิธีการเดียวกันนี้กับอ่าวมาหยา และพยายามปลูกปะการังเพิ่มด้วย

ประเทศไทยได้ปิดจุดดำน้ำสำหรับนักท่องเที่ยวหลายสิบแห่งในปี 2011 เกาะยูง ซึ่งอยู่ในแนวเกาะพีพีและเกาะตาชัย ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้เริ่มจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงกลางปี 2016

เจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานจับตามองนักท่องเที่ยวที่เดินบนชายหาดของอ่าวมาหยาของไทย วันที่ 9 เม.ย. 2018

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, หนึ่งวันก่อนที่อ่าวมาหยาจะถูกปิด

เอลิซาเบธ เบ็กเคอร์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Overbooked: The Exploding Business of Travel and Tourism กล่าวว่า "ฉันคิดว่า มันมีเหตุผลที่ปิดเกาะ อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงกดดันทางเศรษฐกิจมหาศาลในประเทศไทย โดยเฉพาะระหว่างช่วงเวลาที่เผชิญความยุ่งยากทางการเมือง การท่องเที่ยวได้เป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ดังนั้น ภาคธุรกิจและเจ้าหน้าที่ทางการของไทยต่างเกรงว่า การจำกัดการท่องเที่ยวรูปแบบต่าง ๆ จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย"

นายธรณ์ คิดว่า นี่คือเหตุผล ที่กว่าจะดำเนินการปิดอ่าวมาหยาได้ต้องใช้เวลานานถึงขนาดนี้ เขากล่าวว่า ถ้าคุณอยู่ในประเทศที่มีรายได้มากกว่า 22% ของจีดีพีมาจากการท่องเที่ยว คุณจะเข้าใจว่า ทำไมจึงเป็นเรื่องยาก คนส่วนใหญ่ไม่คิดว่า เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้จริง ๆ

เมื่ออ่าวมาหยากลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง จะมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 2,000 คนต่อวัน และจะไม่อนุญาตให้เรือเข้ามาในเขตปะการังน้ำตื้นอีกต่อไป นอกจากนี้ก็จะมีการปิดเกาะอีก 4 เดือนในปีหน้าด้วย

อย่างไรก็ตาม นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ กล่าวกับภูเก็ตนิวส์ว่า เขาไม่แน่ใจว่า เขาจะบังคับใช้การห้ามเข้าอ่าวมาหยาได้อย่างไร เขาอาจต้องการเจ้าหน้าที่มาเสริมกำลังของกลุ่มเจ้าหน้าที่ขนาดเล็กที่ลาดตระเวนแนวชายฝั่งอยู่แล้วในขณะนี้

ด้านเว็บไซต์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ห้ามนักท่องเที่ยวค้างคืนบนเกาะสิมิลัน ซึ่งเป็นหนึ่งในเกาะ 9 แห่งของหมู่เกาะสิมิลันในจังหวัดพังงาด้วย เพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางทะเล โดยจะเริ่มมีผลในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปิดอุทยานให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอีกครั้ง หลังจากที่เพิ่งปิดไปในเดือนนี้

2. อิตาลี: ชินเคว เทร์เร ลองใช้เทคโนโลยี

บ้านที่มีสีสันหลากหลายในเมืองชินเควเทร์เร ประเทศอิตาลี

ที่มาของภาพ, Getty Images

นักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลมายังเมืองที่เต็มไปด้วยสีสัน 5 แห่งที่อยู่ริมหน้าผาทางตอนเหนือของอิตาลี หรือที่รู้จักกันในชื่อชินเคว เทร์เร (Cinque Terre) พื้นที่นี้มีผู้พักอาศัยอยู่ราว 5,000 คน เป็นอุทยานแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 1999 และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเยือนมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี

ผู้คนมาที่นี่เพื่อเดินไปตามทางชมวิวที่เชื่อมระหว่างเมืองต่าง ๆ และไร่องุ่นขั้นบันได หลายปีผ่านไป ทางเดินก็ชำรุดทรุดโทรมจากการสึกกร่อนและการถูกใช้งานมากเกินไป

เส้นทางยอดนิยมระหว่างเมืองริโอมาจจอเรและเมืองมานาโรลา ถูกปิดมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2012 หลังจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียได้รับบาดเจ็บจากดินถล่ม เว็บไซต์ข่าว La Nazione ยังระบุว่า เส้นทางเดินเขาอีกเส้นทางหนึ่งก็เพิ่งได้รับความเสียหายในช่วงสุดสัปดาห์อีสเตอร์ด้วย

มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการบังคับใช้

เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่ทางการอุทยาน ได้ลองใช้แอปพลิเคชัน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถดาวน์โหลดเพื่อดูจำนวนคนบนเส้นทางต่าง ๆ ได้แบบตามเวลาในขณะนั้น หรือ เรียลไทม์ เมื่อมีสัญญาณเตือนสีแดงปรากฏขึ้น แสดงว่าเส้นทางนั้นมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินไป จากนั้นผู้ใช้แอปพลิชั่นสามารถตัดสินใจได้ว่า ต้องการจะใช้เส้นทางนั้นหรือไม่ ในอนาคต อาจจะมีการทดลองใช้ระบบลงรายชื่อรอใช้บริการเสมือนจริง

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวซื้อบัตรชินเควเทร์เร ซึ่งจะทำให้ใช้งานเส้นทางต่าง ๆ และบริการขนส่งสาธารณะได้ ขณะนี้กำลังมีแผนการดำเนินการหลายอย่าง รวมถึงการซ่อมแซมเส้นทางที่ได้รับความเสียหาย แต่ยังไม่มีการยืนยันจากทางการ

ริชาร์ด แฮมมอนด์ ซึ่งดูแลเว็บไซต์ GreenTraveller.com กล่าวกับบีบีซีว่า ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทั่วโลก

"ผู้คนกำลังตระหนักถึงการเดินทางและการใช้ชีวิต" เขากล่าว

"ยกตัวอย่าง จู่ ๆ ก็มีการตระหนักถึงการใช้พลาสติกอย่างกว้างขวางมากขึ้น เพียงแค่ปีที่แล้วปีเดียว และยังมีการกระจายไปยังเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตของคนเราด้วย ทำให้การสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่คนยอมรับได้มากขึ้น เป็นการเปิดทางให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นเข้ามาดำเนินการ เพราะพวกเขาจะไม่ต้องเผชิญกับการต่อต้านเช่นที่เคยเผชิญในอดีต"

3. เปรู: มาชูปิกชู ใช้ระบบแบ่งเวลาเข้าชม

มาชูปิกชู ประเทศเปรู

ที่มาของภาพ, Getty Images

เมืองโบราณมาชูปิกชูของเปรูเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ต้องไปเยี่ยมชมของนักเดินทางจำนวนมาก

เส้นทางอินคาเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปยังมาชูปิกชู ซึ่งระหว่างทางจะได้ชมทิวทัศน์ของเทือกเขาแอนดีส และกลุ่มเมฆจำนวนมาก ผู้คนจำนวนมากบอกว่า เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม การมีคนและผู้นำเที่ยวอย่างไม่เป็นทางการมากเกินไป กำลังนำไปสู่เส้นทางที่ชำรุดทรุดโทรม กองขยะทับถม และจุดกางเต็นท์ที่ไม่สามารถควบคุมไม่ได้

ในปี 2005 รัฐบาลเปรูได้จำกัดจำนวนคนที่ได้รับอนุญาตให้เดินขึ้นไปตามเส้นทางนั้นต่อฤดูกาล และยังมีการปิดเพื่อทำความสะอาดและซ่อมบำรุงในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีด้วย

นักท่องเที่ยวได้ปรับตัวด้วยการจองล่วงหน้า และบริษัทนำเที่ยวต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามกฎเพื่อจะได้ไม่ถูกตัดลดใบอนุญาตที่ได้รับการจัดสรรมา

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปยังมาชูปิกชูด้วยตัวเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ด้วยรถยนต์

ปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ทางการได้นำระบบใหม่มาใช้ ซึ่งจะต้องมีการซื้อตั๋วเข้าชมช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย เพื่อพยายามควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมท้องถิ่นคนหนึ่งกล่าวกับบีบีซีว่า พวกเขาเกรงว่า นี่จะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวเกินจำนวนที่องค์การยูเนสโกแนะนำไว้ที่สูงสุด 2,500 คนต่อวัน

4. เกาหลีใต้: เกาะเชจู

เกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้

ที่มาของภาพ, Shutterstock

คุณเดาออกไหมว่าเส้นทางบินที่พลุกพล่านที่สุดในโลกคือที่ไหน?

ปีที่แล้ว เส้นทางนั้นอยู่ระหว่างกรุงโซลและเกาะเชจูของเกาหลีใต้ จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวแห่งนี้อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ราว 90 กิโลเมตร ผู้คนเดินทางมาเพื่อชมวิวภูเขาไฟ น้ำตก และสวนสนุกอีโรติก ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับคู่รักที่อยู่ระหว่างการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์

ในปี 2017 มีเที่ยวบินเกือบ 65,000 เที่ยวระหว่างสนามบินทั้งสองเมืองนี้ หรือประมาณเกือบ 180 เที่ยวต่อวัน เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ระบุว่า แต่ละปี มีนักท่องเที่ยว 15 ล้านคนเดินทางเยือนเกาะเชจู นั่นถือว่าเป็นจำนวนคนที่มาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ของเกาะขนาดไม่ถึง 2,000 ตารางกิโลเมตร

คัง วอน โบ ผู้อำนวยการกลุ่มประท้วงในพื้นที่ กล่าวกับโคเรียไทมส์ว่า "สิ่งแวดล้อมที่เคยบริสุทธิ์ [ของเกาะเชจู] ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง หลังจากที่ได้รับความนิยมจากคนภายนอก มีขยะและการจราจรติดขัดเพิ่มมากขึ้น"

แคทเธอรีน เกอร์เมียร์-อาเมล ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในกรุงโซล กล่าวกับบีบีซีว่า "เกาะเชจูกำลังมีนักท่องเที่ยวที่ล่องเรือไปเยือนจำนวนมากด้วย ซึ่งพวกเขาไปแวะเที่ยวเพียงไม่กี่ชั่วโมง และไม่ได้มีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่สักเท่าไหร่"

เกอร์เมียร์-อาเมล กล่าวว่า ผู้คนทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะวัดความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวโดยพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเท่านั้น เรื่องนี้จำเป็นต้องมีการแก้ไข

แล้วการปล่อยคาร์บอนจากเที่ยวบินที่เดินทางมาทุกเที่ยวเป็นอย่างไร?

เรื่องนี้ดูเหมือนจะยังไม่ได้รับการแก้ไขในเวลาอันรวดเร็ว รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพิจารณาใช้สนามบินอีกแห่งหนึ่งทางใต้ของเกาะเชจู ซึ่งทางรัฐบาลคิดว่าจะรองรับนักท่องเที่ยวต่อปีได้ 45 ล้านคนหรือคิดเป็น 3 เท่าจากเดิมภายในปี 2035

เกาะเชจูยังคงเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน การเติบโตของตลาดท่องเที่ยวชาวจีนกำลังถูกมองว่า ทำให้เกิดปัญหาใหม่ที่สำคัญไปทั่วภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเกาะเชจู กลับเผชิญกับสิ่งที่ผิดคาด เมื่อจีนห้ามบริษัทนำเที่ยวของจีนขายแพ็คเกจทัวร์ไปเกาหลีใต้ เพื่อแสดงการประท้วงการตัดสินใจของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ใช้ระบบต่อต้านขีปนาวุธของสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลจีนเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของจีน แต่การห้ามดังกล่าวได้ถูกยกเลิกแล้วในตอนนี้

5. โคลอมเบีย: กาโญ กริสตาเลส เริ่มด้วยการออกกฎระเบียบ

แม่น้ำกาโญ กริสตาเลส ในโคลอมเบีย

ที่มาของภาพ, Alamy

กาโญ กริสตาเลส ของโคลอมเบีย เป็นสถานที่ที่เหลือเชื่อ มันเป็นแม่น้ำที่มีสีสันหลากหลาย ซึ่งเป็นผลมาจากพืชน้ำและแสง ทำให้มันมีทั้งสีแดง, สีชมพู, สีเขียวมะนาว และสีเหลือง คนในท้องถิ่นในจังหวัดเมตาทางตอนกลางของประเทศเรียกมันว่า รุ้งน้ำ

ในอดีต ที่นี่เป็นใจกลางของพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มกองโจรฟาร์ก ซึ่งหมายความว่า การท่องเที่ยว ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงได้

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากมีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพปี 2016 นักท่องเที่ยวได้เริ่มเดินทางเข้ามาพื้นที่ด้านในของประเทศมากขึ้น เพื่อชมทิวทัศน์ที่น่ามหัศจรรย์ด้วยตาตัวเอง โดยมีการพักที่เมืองเล็ก ๆ ที่ชื่อมากาเรนา

กาโญ กริสตาเลส ยังไม่ได้มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเช่นเดียวกับสถานที่อื่น ๆ ในบทความนี้ (มีนักท่องเที่ยวราว 16,000 คนในปี 2016) แต่ก็มีภารกิจที่สำคัญในการรักษาสมดุลของจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้าไปกับระบบนิเวศที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง

น้ำตกที่แม่น้ำกาโญ กริสตาเลส ในโคลอมเบีย

ที่มาของภาพ, Alamy

มีความกังวลหลายอย่างว่า การมีคนเข้าไปในพื้นที่มากขึ้นอาจทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและสร้างความเสียหายต่อพืชน้ำที่มีค่า

ไม่เหมือนกับแหล่งท่องเที่ยวที่กลายเป็นที่นิยมอื่น ๆ กาโญ กริสตาเลส มีการเริ่มต้นที่ถูกทางด้วยการออกกฎระเบียบหลายข้อได้แก่ ห้ามขวดน้ำพลาสติก, ห้ามใช้สารกันแมลงและครีมกันแดดเมื่อลงน้ำ, ห้ามว่ายน้ำในบางพื้นที่, ห้ามสูบบุหรี่ และห้ามให้อาหารปลา เมื่อเดินทางไปถึง นักท่องเที่ยวต้องเข้าไปรับฟังการอธิบายถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ชัดเจนก่อน

เอนรี เกเวโด ประธานกรรมการท่องเที่ยวของกาโญ กริสตาเลส กล่าวว่า การท่องเที่ยวที่นี่เป็นโครงการในพื้นที่ มีผู้คนหลายร้อยครอบครัวกำลังมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ไกด์นำเที่ยวและรับนักท่องเที่ยวเข้าไปพัก พวกเขากำลังได้รับการฝึกอบรมและเรียนรู้ภาษาต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายอย่างเกี่ยวกับ จำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น (ปกตินักท่องเที่ยวเดินทางมาจากกรุงโบโกตา ซึ่งอยู่ห่างไปทางเหนือราว 274 กิโลเมตร) และรถตู้เอนกประสงค์ ซึ่งนำคนจากเมืองมากาเรนาไปยังแม่น้ำ

ในเดือนธันวาคม มีการจำกัดการเข้าถึงเพื่อให้แม่น้ำสายนี้ได้หยุดพัก ฟาเบร์ รามอส ผู้ประสานงานโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กล่าวกับเว็บไซต์ข่าวเซมานาโซสเตนิเบลว่า "การเข้าไปของคนอาจทำความเสียหายต่อกระบวนการขยายพันธุ์ของพืชได้ นั่นคือเหตุผลที่เราตัดสินใจบังคับใช้กฎนี้"

Presentational grey line

คุณอาจจะชอบ:

Presentational grey line

ภาพทุกภาพเป็นลิขสิทธิ์ของ Alamy, Getty Images และ Shutterstock