เครื่องจักรกลจะมาทำงานเกษตรแทนคนหรือไม่

เครื่องจักรกลทางการเกษตรระบบอัตโนมัติ

ที่มาของภาพ, CNH INDUSTRIAL

คำบรรยายภาพ, รถแทรกเตอร์ระบบอัตโนมัติที่ทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน

ในอนาคตอีกไม่ใกล้ไม่ไกล เครื่องจักรกลทางการเกษตรระบบอัตโนมัติที่ทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน จะเข้ามามีบทบาทในการทำเกษตรมากขึ้นถึงขั้นที่ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าแรงงานภาคการเกษตรอาจได้รับผลกระทบ

ปัจจุบันฟาร์มขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลกนำรถแทรกเตอร์ไร้คนขับที่สามารถตั้งโปรแกรมทำงานโดยอัติโนมัติมาใช้แล้ว และมีการใช้โดรนช่วยตรวจตราสภาพพืชผลทางการเกษตรและคุณภาพดิน นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบเซ็นเซอร์ภาคพื้นดินช่วยควบคุมปริมาณน้ำและแร่ธาตุในดิน ปล่อยน้ำสำหรับการชลประทานและให้ปุ๋ยแก่พืช

เครื่องจักรกลทางการเกษตรระบบอัตโนมัติ

ที่มาของภาพ, CNH INDUSTRIAL

คำบรรยายภาพ, ในอนาคตเครื่องจักรกลทางการเกษตรระบบอัตโนมัติ อาจมีให้เห็นทั่วไป

ในปีหน้าญี่ปุ่นเตรียมจะเปิดตัวฟาร์มผักกาดหอมแห่งแรกของโลกที่ใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรระบบอัตโนมัติทั้งหมด ชี้ให้เห็นแนวโน้มในอนาคตของการทำการเกษตรว่าจะไม่พึ่งพิงแรงงานคน แต่เป็นแรงงานจากเครื่องจักรกลที่ทำงานได้เองโดยอัตโนมัติตามโปรแกรมที่ตั้งไว้

การขาดแคลนอาหารและธุรกิจขนาดใหญ่

ธนาคารโลกรายงานว่า ภายในปี 2593 โลกจำเป็นต้องผลิตอาหารเพิ่มอีก 50 เปอร์เซ็นต์ หากประชากรโลกยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราปัจจุบัน อย่างไรก็ดีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอาจทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงมากกว่า 1 ใน 4 ดังนั้นการทำการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีจักรกลอัตโนมัติจะช่วยให้ผลิตอาหารได้มากขึ้นและเป็นไปอย่างยั่งยืนโดยมีต้นทุนที่ต่ำกว่า จึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้เห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจการผลิตหุ่นยนต์ที่ใช้ในงานเกษตร นอกเหนือไปจากที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกลอัตโนมัติหลายรายกำลังแข่งขันกันผลิตรถแทรกเตอร์ไร้คนขับ

ทุ่งนา

ที่มาของภาพ, HARPER ADAMS UNIVERSITY

บริษัทวิจัยกรีนวินเทอร์ในสหรัฐฯ ประเมินว่า ตลาดของธุรกิจประเภทนี้จะเติบโตจาก 29,100 ล้านบาท ในปี 2556 ไปเป็น 578,000 ล้านบาท ภายในปี 2560

ดร. โรแลนด์ เลเดนฟรอสต์ จากบริษัทดีพฟิลด์โรบอติคส์ กล่าวว่า เครื่องจักรกลไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือเล็กสามารถวิเคราะห์ข้อมูลผลผลิตในพื้นที่การเกษตรแต่ละขนาดให้เกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว ดร.เลเดนฟรอสต์เรียกสิ่งนี้ว่าเป็น "อินเทอร์เน็ตแห่งพันธุ์พืชและทุ่งนา"

ดีพฟิลด์โรบอติคส์ ธุรกิจสตาร์ทอัพของบ๊อซในเยอรมนี ใช้การทำงานของเครื่องจักรกลอัตโนมัติมาควบคุมการเพาะปลูก ทดลอง และวิเคราะห์ความทนทานต่อวัชพืชและภัยแล้งของเมล็ดพันธุ์พืชสายพันธุ์ต่าง ๆ

ขณะเดียวกันวิศวกรในอังกฤษพยายามแสดงให้เห็นว่าการทำเกษตรยุคนี้ไม่จำเป็นต้องย่ำเท้าลงผืนดิน โดยในเร็ว ๆ นี้โครงการแฮนด์สฟรีเฮกตาร์ จะเริ่มใช้ โดรน และแทรกเตอร์อัตโนมัติเพื่อปลูกและเก็บเกี่ยวธัญพืช โดยทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัยฮาร์เปอร์อดัมส์ร่วมกับบริษัทพรีซิชั่น ดีซิชั่นส์ ในอังกฤษ กำลังทดสอบเครื่องจักรต้นแบบ และมีเป้าหมายที่จะลงมือปลูกในเดือนมีนาคมและเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายนปีหน้า

แต่งเล็มอย่างแม่นยำ

การปลูกองุ่นเพื่อใช้ในการผลิตไวน์เป็นภาคการเกษตรเก่าแก่ที่แรงงานเครื่องจักรกลกำลังเข้าไปมีบทบาทเช่นกัน ผู้ปลูกองุ่นใช้โดรนในการสำรวจไร่องุ่นมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยติดตั้งกล้องที่ถ่ายภาพได้อย่างคมชัดมีความละเอียดสูงและมีตัวเซ็นเซอร์ที่สามารถประเมินคุณภาพพืชและดินได้ด้วย

เครื่องจักรกลทางการเกษตรระบบอัตโนมัติ

ที่มาของภาพ, WELL-YE

ที่แคว้นเบอร์กันดีของฝรั่งเศสซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร ทำให้นักประดิษฐ์อย่างคริสตอฟ มิโญ่ พัฒนาหุ่นยนต์ "วอล-ยี" เพื่อใช้ในงานตัดเล็มเถาองุ่น โดยหุ่นยนต์รุ่นล่าสุดมี 4 ล้อ กล้อง 6 ตัว เซ็นเซอร์อินฟราเรด และแขนกล 2 ข้าง โดยมีแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ข้างในหุ่นยนต์ช่วยควบคุมการทำงาน

วอล-ยี ตัดเล็มเถาองุ่นหนึ่งครั้งในทุก ๆ 5 วินาที นอกจากนี้ยังสามารถเล็มหญ้ารอบ ๆ ต้นองุ่นได้ด้วย มันทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน โดยอาศัยแบตเตอรี่พลังแสงอาทิตย์ที่ชาร์จครั้งหนึ่งทำงานได้นาน 10-12 ชั่วโมง มิโญ่จะนำผลงานหุ่นยนต์ของเขาไปแสดงที่รัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ ในปีหน้า

สวนปลูกผักกาดหอมอัตโนมัติ

บริษัทสเปรดของญี่ปุ่น จะเปิดตัวโรงงานปลูกผักกาดหอมที่ใช้ระบบอัตโนมัติควบคุมทั้งหมด ที่เมืองเกียวโต ในปีหน้า โดยสามารถผลิตผักกาดหอมได้ 30,000 ต้นต่อวัน

สวนปลูกผักกาด

ที่มาของภาพ, SPREAD

เจเจ ไพร์ซ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดบอกว่าเป็นโรงงานปลูกผักในแนวตั้งคล้ายตึกคอนโดมิเนียม ไม่ใช่แนวนอนเช่นสวนผักทั่วไป ทั้งนี้ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใช้สอยน้อย การดำเนินงานภายในโรงงานปลูกผักแห่งนี้ใช้แรงงานจักรกลอัตโนมัติในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเพาะเมล็ดพันธุ์ การรดน้ำ การดูแลและเก็บเกี่ยว ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานคนไปได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาไฟแอลอีดีแบบพิเศษสำหรับการปลูกผัก ที่ช่วยประหยัดการใช้พลังงานได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไพร์ซชี้ว่าแม้สภาพอากาศภายนอกจะไม่ดี แต่ก็จะไม่กระทบต่อการผลิตด้านใน และการปลูกผักแนวตั้งนี้ยังสามารถนำน้ำมาหมุนเวียนได้ 98 เปอร์เซ็นต์ การปลูกแบบนี้สามารถทำได้ใกล้แหล่งชุมชม ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและลดมลพิษทางอากาศ

ยามภาคอากาศ

โดรนถูกนำมาใช้เพื่อเฝ้าติดตามการเติบโตของพืชผลตามทุ่งนา ศัตรูพืช และการพ่นยาฆ่าแมลง ปัจจุบันนักวิจัยพยายามพัฒนาให้โดนทำงานแบบสอดประสานงานกันเป็นทีม ดร. วิโต เทรียนนี จากสถาบันองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในกรุงโรม กล่าวว่า หากโดรนตรวจพบว่าจุดไหนมีวัชพืชขึ้นอยู่หนาแน่น พวกมันก็จะส่งสัญญาณให้โดรนตัวอื่นเข้าไปช่วยพ่นยากำจัดวัชพืช

โดรน

ที่มาของภาพ, HSE

ถึงแม้ว่า บริเวณพื้นที่เกษตรกรรมมักจะมีสัญญาณจีพีเอสค่อนข้างแรง แต่ความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับการใช้โดรนและหุ่นยนต์ในภาคเกษตรกรรมก็คือสัญญาณอินเทอร์เน็ตกับโทรศัพท์มือถือที่ไม่เสถียร ด้วยเหตุนี้ ทีมงานของ ดร. เทรียนนี จึงใช้เทคโนโลยีสื่อสารสัญญาณวิทยุแถบกว้างย่านความถี่สูงยิ่งยวด (Ultra-Wide Band Radio) สำหรับติดต่อกับโดรน โดยไม่ต้องพึ่งพาสัญญาณโทรศัพท์แบบ 3จี หรือ 4จี

มีแนวโน้มว่าแรงงานเครื่องจักรกลอัตโนมัติจะช่วยให้การผลิตอาหารมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยีนี้ก็จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์และทำให้ผู้ใช้แรงงานในภาคการเกษตรเสี่ยงที่จะตกงานเพิ่มขึ้น

องค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า ระหว่างปี 2493 - 2553 แรงงานภาคการเกษตรในประเทศกำลังพัฒนา ลดลงจาก 81 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 48.2 เปอร์เซ็นต์ และในประเทศที่พัฒนาแล้ว ลดจาก 35 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 4.2 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่าหุ่นยนต์คือตัวแปรสำคัญที่จะเร่งให้ผู้ใช้แรงงานในภาคการเกษตรตกงานเพิ่มขึ้น