โรงงานสิ่งทอพลาสติกนครปฐม เกิดสารเคมีรั่วไหล กระทบประชาชนใกล้เคียงหลายอำเภอ

โรงงานอินโดราคา เขตนครชัยศรี

ที่มาของภาพ, มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

คำบรรยายภาพ, โรงงานอินโดรามา ตั้งอยู่ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

เหตุสารเคมีรั่วไหลออกจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เกิดกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายในหลายพื้นที่รวมทั้งบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และ จ.นนทบุรี ล่าสุด กรมควบคุมมลพิษระบุว่า เป็นโรงงานผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และเส้นใยประดิษฐ์ รั่วไหลของน้ำมันถ่ายเทความร้อน

พื้นที่เกิดเหตุเป็นโรงงานแห่งหนึ่งใน ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

ประชาชนในหลายอำเภอของ จ.นครปฐม ได้แก่ อ.นครชัยศรี ศาลายา สามพราน พุทธมณฑล บางส่วนของ อ.บางกรวย ของ จ.นนทบุรี และเขตทวีวัฒนา กทม. ได้กลิ่นเหม็นคล้ายสารเคมีตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา

หลายหน่วยงานในพื้นที่ อ.ศาลายา จ.นครปฐม ตั้งแต่โรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศหยุดเรียน ขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศให้นักศึกษาและบุคลากร หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคาร ไม่อยู่ในบริเวณพื้นที่โล่งแจ้ง และสวมใส่หน้ากากอนามัย ตลอดเวลา เพื่อป้องกันระบบทางเดินหายใจ

เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงเหตุที่ประชาชนได้รับกลิ่นเหม็นคล้ายสารเคมี ว่า หน่วยปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กำลังลงพื้นที่ตรวจสอบ

เบื้องต้นทราบว่าที่เกิดเหตุ คือ โรงงานอินโดรามา โพลิเอสเตอร์ อินดัสตรี จำกัด ตั้งอยู่ 535/8 หมู่ 4 ถนนเพชรเกษม ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ประกอบกิจการ ผลิตเส้นใยโพลีเอาเตอร์และเส้นใยประดิษฐ์  

กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่บริษัท ได้ข้อมูลว่า เกิดเหตุรั่วไหลของน้ำมันถ่ายเทความร้อน เมื่อเวลาประมาณ 06.15 น. และได้ทำการแก้ไขแล้ว แต่กลิ่นส่งผลกระทบในวงกว้าง  ทั้งนี้กรมฯ ได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันถ่ายเทความร้อน ให้กับเจ้าหน้าที่กู้ภัยสารเคมีที่เข้าพื้นที่รับทราบแล้ว หลังจากเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ จะแจ้งผลการตรวจสอบให้ทราบต่อไป

โรงงานที่เกิดสารเคมีรั่วไหล

สำหรับโรงงานโรงงานอินโดรามา โพลิเอสเตอร์ อินดัสตรี จำกัด ข้อมูลบนเว็บไซต์ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่มาจากโรงงานรองรับลูกค้าในตลาดหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย วัสดุสิ่งทอที่ใช้ในบ้าน สิ่งทอทางเทคนิค เป็นต้น

สำนักงานอุตสาหกรรม จ.นครปฐม ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ จากการตรวจสอบพบว่า เวลาเกิดเหตุประมาณ 06.00 - 06.15 น. จึงสามารถปิดวาล์วได้ สารดังกล่าวเป็นสารกลุ่มอะโรเมติกเบนซีนบริเวณระบบการผลิตเม็ดพลาสติก ทำให้สารแลกเปลี่ยนความร้อนของระบบความเย็น (cooling) รั่วไหล ซึ่งจากโพสต์แจ้งเหตุของประชาชนในพื้นที่ มีลักษณะเป็นกลิ่นฉุน เหม็นเปรี้ยว และทำให้แสบตา

ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 จ.นครปฐม ยืนยันแล้วว่า สารที่รั่วไหลเป็นสารกลุ่มอะโรเมติกเบนซีนที่ชื่อว่า ไดฟีนีล ออกไซด์ และ ไบฟีนีล "ซึ่งสารเคมีดังกล่าวมีน้ำหนักเบา ลอยไปในอากาศได้ระยะไกล"

เทศบาลตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

ที่มาของภาพ, เทศบาลตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

ประชาชนในพื้นที่โพสต์ผ่านสังคมออนไลน์ ถึงปัญหาทางสุขภาพที่เริ่มรู้สึกได้ ขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดลออกประกาศ เตือนกรณีเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลต่อบุคลากรและนักศึกษาให้หลีกเลี่ยงออกนอกอาคาร สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และควรพบแพทย์เพื่อประเมินหากมีอาการ

“สารเคมีรั่ว มหิดลได้รับผลกระทบ ทุกคนแสบจมูกแสบคอ มหิดลเลยออกประกาศให้อยู่แต่ในอาคารอย่าออกมาที่โล่งแจ้ง แต่คุณพี่ไม่ประกาศหยุดเรียน แล้วใครมันจะไปอยู่แต่ในอาคารได้” โพสต์หนึ่งในทวิตเตอร์ กล่าว ด้านโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล ก็ประกาศหยุดเรียน 1 วัน เช่นกัน

ข้าม Twitter โพสต์ , 1
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน: บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มาจากภายนอก

สิ้นสุด Twitter โพสต์, 1

“เราอยู่เลียบคลองมหาสวัสดิ์ กลิ่นยังแรงมาถึงนี่ เห็นพ่อบอกแถวศาลายากลิ่นแรงมาก เมื่อกี้มีเสียงประกาศในชุมชนว่าทางเขตให้ใส่แมส 2 ชั้น อยู่แต่ในบ้าน” 

ด้านเจ้าหน้าที่ดับเพลิงระบุว่า สารเคมีที่รั่วไหล คาดว่าเป็นท่อน้ำมันร้อนรั่ว ทำให้เกิดกลุ่มควันฟุ้งกระจาย และมีกลิ่นเหม็นไหม้จากวัสดุห่อหุ้มท่อ เบื้องต้นไม่มีความเสียหายใด ๆ และไม่มีใครได้รับอันตราย ตอนนี้ ทางโรงงานได้หยุดเดินเครื่องบริเวณดังกล่าวแล้ว และกำลังซ่อมบำรุงท่อน้ำมันร้อน

ข้าม Twitter โพสต์ , 2
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน: บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มาจากภายนอก

สิ้นสุด Twitter โพสต์, 2

คุมสถานการณ์ได้แล้ว

เทศบาลตำบลขุนแก้ว อ.นครชัยศรี พื้นที่โรงงานที่่เกิดเหตุ ระบุเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ที่ผ่านมาว่าสามารถควบคุมสถานการณ์สารเคมีรั่วไหลได้แล้ว และจากการสำรวจเบื้องต้น "พบว่ามีสารเคมีดังกล่าวเป็นน้ำมันที่ใช้ในกระบวนการผลิต"

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ยืนยันว่า ปิดรอยรั่วของสารเคมีได้มาตั้งแต่เช้า แต่ยังคงมีกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจาย แต่ไม่มีอันตราย

"ยุติการรั่วไหลได้ตั้งแต่เช้าแล้ว ไม่นานก็จะหมดไป...กลิ่นยังมีอยู่ แต่ตอนนี้ เจือจางไปเยอะแล้ว คงไม่มีอันตรายสักเท่าไหร่"

สารกลุ่มอะโรเมติกเบนซิน อันตรายแค่ไหนเมื่อสูดดม

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เป็นการรั่วไหลของน้ำมันหล่อเย็นของเครื่องจักร

นายสนธิได้ให้ข้อมูลความปลอดภัยของสารกลุ่มอะโรเมติกเบนซีนว่า เมื่อสารดังกล่าวถูกความร้อนจะกลายเป็นสารไฮโดรคาร์บอนลอยไปได้ไกล หากหายใจเข้าไปจะมีอาการมึนงง เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ  อาเจียน ทำลายถุงลมปอด มีผื่นคันตามผิวหนัง ถ้าได้รับในระดับที่มีความเข้มข้นมากอาจทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

ศูนย์บริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (COSHEM) มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเพิ่มว่า จากการศึกษาข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (Safety Data Sheet) พบว่า สารที่รั่วไหลเป็นของเหลวที่ใช้ในการให้ความร้อน หากได้รับสัมผัสโดยตรงผ่านการสูดดม อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว คลื่นไส้ หรือหากได้รับสัมผัสผ่านผิวหนังและดวงตาโดยตรง อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ หากมีอาการแสดงในลักษณะดังกล่าวให้เคลื่อนย้ายผู้ได้รับสัมผัสไปยังที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ หรือหากมีอาการรุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ และสำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่หรือบริเวณใกล้เคียงดังกล่าว ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงการออกนอกอาคาร

ประชาชนจะเรียกร้องค่าเสียหายได้หรือไม่

 จากเหตุการณ์นี้ที่ประชาชนสูดดมสารเคมีและได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเรียกร้องค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบจากสุขภาพได้หรือเปล่า

 นายธารา บัวคำศรี ผอ. กรีนพีซประจำประเทศไทย และผู้ร่วมก่อตั้งกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมปี 2535 ที่อาจจะเข้ากรณีเช่นนี้ได้ แต่ทว่าก็เป็นกฎหมายที่ "ครอบจักรวาล" อย่างมาก เพราะสุดท้ายไม่สามารถเอาผิดกับผู้ก่อมลพิษได้

 "เรามีเป็นไกด์ไลน์ แต่ว่ามันหลวมมาก ไม่มีกรอบที่ชัดเจน เป็นเพียงการพูดคุยในแวดวงแคบ ๆ ของนักวิชาการ ที่ทำงานด้านความปลอดภัยสารเคมี" ธารา ระบุ

 ผอ. กรีนพีซประจำประเทศไทย อธิบายว่า เหตุที่ทำให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเรียกร้องการชดเชยค่าเสียได้ยาก เพราะผลกระทบจากกรณีการรั่วไหลจากสารเคมี ต้องมีข้อมูลว่าสารเคมีนั้นคืออะไร รวมกับข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาเวลาเกิดเหตุว่าแบบแผนการกระจายเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว ต้องมีหน่วยเคลื่อนที่สำรวจขอบเขตความเสียหายในพื้นที่ ซึ่งจากที่ผ่านมา เป็นกระบวนการที่ประเทศไทย ขาดแคลนอย่างมาก

 "เรียกว่าล้าหลังมาก ๆ เพราะฉะนั้นการประเมินผลกระทบ เรียกว่าตามมีตามเกิด อาจจะใช้เพียงการแจ้งเหตุเดือดร้อนรำคาญไปยังราชการในพื้นที่" ธารากล่าว พร้อมบอกว่า ในกรณีของสารเคมีแบบนี้ ต้องมีการพิสูจน์ทราบว่าได้รับผลกระทบอย่างไรแค่ไหนจากการดูหลักฐานทางการแพทย์ ซึ่งหากเป็นคนทั่วไปคงจะล้มเลิกที่จะเรียกร้อง ดังนั้น จึงเห็นว่ากระบวนการต่าง ๆ ไม่ได้อำนวยให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาชดเชย

 "มันเป็นกระบวนการที่ไม่เอื้อให้เราใช้สิทธิขั้นพื้นฐานได้"

แม้การชดเชยความเสียหายจะเคยเกิดขึ้นในบางกรณี เช่น เหตุการณ์น้ำมันรั่วใน จ.ระยอง แต่ก็ต้องใช้เวลายาวนานมาก การชดเชยเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้ก่อมลพิษที่เข้าไปช่วยในลักษณะการตั้งกองทุน แต่ไม่มีกลไกในการเก็บรวบรวมหลักฐานผลกระทบที่เกิดขึ้นว่ามากน้อยแค่ไหน เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผลกระทบมีทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว ซึ่งตรงนี้กรอบในการสร้างความรับผิดชอบของผู้ก่อมลพิษยังอ่อนอยู่มาก

 "เป็นการชดเชยเฉพาะหน้า คำนวณมูลค่าทางเศรษฐกิจที่คิดว่าคำนวณได้ แต่ผลกระทบที่มองไม่เห็น ผลกระทบระยะยาว หรือทางอ้อม เช่น สูดสารนี้ไป ไม่สบาย ทำงานไม่ได้ต้องลางาน เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดเยอะมาก ซึ่งกรอบนี้มีในทางทฤษฎีแต่ปฏฺบัติได้ยากมาก"

หากพิจารณาในเรื่องนี้ ถือได้ว่าประเทศไทยไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะทำให้การเรียกร้องการชดเชยทางสิ่งแวดล้อมสุขภาพเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

 ธารากล่าวว่า องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม 3 องค์กร ได้แก่ กรีนพีซประเทศไทย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ เคยเสนอกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ แต่ถูกปัดตกไปโดยรัฐบาล แต่ขณะนี้ได้เข้าสู่กระบวนการทางสภาอีกครั้ง และกำลังอยู่ในขั้นเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อ 10,000 ชื่อ

 ร่างกฎหมายนี้มีชื่อว่า กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) เป็นกฎหมายที่จะบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตภายในโรงงานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่

 "เป็นกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงว่าถ้าเราจะจัดการอุบัติภัยจากสารเคมี จะต้องทำอะไรบ้าง อุตสาหกรรมนี้ใช้สารเคมีอะไร ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมปริมาณเท่าไหร่ เคลื่อนย้ายจากไหนไปไหน... ในระยะยาวมันต้องมีระบบนี้ เป็นข้อมูลที่ประชาชน หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยเข้าถึงได้ ไม่ใช่ข้อมูลที่ปิดลับ" ผอ. กรีนพีซประจำประเทศไทย กล่าว