จีนห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด หลังเดินหน้าปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงทะเล

.

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, จีนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นมากถึง 20,900 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ส่วนฮ่องกงนำเข้ามากกว่า 18,000 ล้านบาทเมื่อปี 2022

แผนการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้ว ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ก่อให้เกิดความวิตกกังวล และความโกรธเคือง ไม่เพียงจากคนญี่ปุ่นในประเทศ รวมถึงประเทศใกล้เคียง

หลังญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดและเจือจางเพื่อลดระดับสารกัมมันตภาพรังสีลงสู่ทะเล เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ได้ไม่กี่ชั่วโมง รัฐบาลจีนประกาศสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด เพื่อปกป้องผู้บริโภคในประเทศ

"เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางอาหาร จากการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี... และเพื่อพิทักษ์ผู้บริโภคชาวจีน และเพื่อให้มั่นใจว่าอาหารนำเข้าทั้งหมดปลอดภัย กรมศุลกากรได้ตัดสินใจระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางทะเล (รวมถึงสัตว์ทะเลสด) ที่มาจากญี่ปุ่นทั้งหมด ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2023 เป็นต้นไป" แถลงการณ์จากกรมศุลกากรจีน ประกาศ

อันที่จริง จีนจำกัดการนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น รวมถึงฟุกุชิมะและโตเกียว ตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่ฮ่องกงก็ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่นเช่นกัน

ส่วนเกาหลีใต้นั้น ยังห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดฟุกุชิมะ ตั้งแต่ปี 2013

ประเทศเหล่านี้ ถือเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่นรายใหญ่ โดยเฉพาะจีน ที่นำเข้ามากถึง 20,900 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ส่วนฮ่องกงนำเข้ามากกว่า 18,000 ล้านบาทเมื่อปี 2022

ส่วนรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารทะเลจำนวนมากจากญี่ปุ่น ยังไม่ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนต่อเรื่องนี้ แต่ประเทศไทย ถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่ผ่อนคลายการนำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น ในปี 2561

แล้วการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ถูกบำบัดของญี่ปุ่น น่ากังวลแค่ไหน

คำบรรยายวิดีโอ, นายกญี่ปุ่นกินปลาดิบโชว์ หลังปล่อยน้ำเสียจากโรงงานไฟฟ้าลงสู่ทะเล
.

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ญี่ปุ่นจะเริ่มปล่อยน้ำเสียที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในเวลา 12.00 น. ของวันพรุ่งนี้ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากคนญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้าน ที่ประกาศจะแบนการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น

นับแต่เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อปี 2011 ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อโรงไฟฟ้า และเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย จนต้องปล่อยน้ำเข้าไปหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ส่งผลให้มีน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีหลายล้านตันสะสมอยู่ในโรงงาน เป็นเหตุให้ทางการญี่ปุ่นอ้างว่า จำเป็นต้องปล่อยน้ำเหล่านี้ลงสู่ทะเล

แม้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ จะอนุมัติแผนดังกล่าว แต่ก็ยังสยบกระแสวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงภาคชุมชนที่กังวลต่อการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีไม่ได้

กลุ่มอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลในญี่ปุ่น รวมถึงในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ได้แสดงความวิตกกังวลถึงวิถีชีวิตของพวกเขา เพราะกลัวว่า ผู้บริโภคจะเมินหนีอาหารทะเลจากญี่ปุ่น และประเทศเหล่านี้

จีนเอง กล่าวหาญี่ปุ่นว่า ใช้มหาสมุทรที่เป็นทรัพยากรส่วนรวม เหมือน “บ่อน้ำทิ้งส่วนตัว” พร้อมวิจารณ์ ไอเออีเอ ว่า “เลือกข้าง” ขณะที่ รัฐบาลเกาหลีใต้ แม้จะสนับสนุนแผนการของญี่ปุ่น แต่ประชาชนจำนวนมากกลับออกมาต่อต้าน

ญี่ปุ่นกำลังทำอะไรกับน้ำเสียจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์

นับแต่ภัยพิบัติเมื่อปี 2011 บริษัท เทปโก ผู้บริหารจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้ปั๊มน้ำเข้าไปในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อหล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิง ที่เกิดการหลอมละลาย นั่นหมายความว่า ทุกวันโรงไฟฟ้าจะสร้างน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ที่ปัจจุบัน บรรจุอยู่ในแทงค์น้ำขนาดมหึมา

จนถึงตอนนี้ แทงค์น้ำมากกว่า 1,000 ถัง ถูกบรรจุเต็มแล้ว ซึ่งญี่ปุ่นระบุว่า นี่เป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน จึงต้องการทยอยปล่อยน้ำเหล่านี้ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ตลอด 30 ปีนับจากนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. โดยยืนกรานว่า น้ำที่จะปล่อยลงทะเลนั้นปลอดภัย

ตามปกติแล้ว การปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงมหาสมุทร เป็นสิ่งที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำอยู่เป็นประจำ แต่ด้วยความที่น้ำปนเปื้อนรังสีของญี่ปุ่น เกิดจากวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทำให้พวกมันเป็นกากนิวเคลียร์ที่ผิดแผกจากปกติ

.

เทปโก ได้ใช้ระบบปั๊มและกรองน้ำขั้นสูงที่เรียกว่า เอแอลพีเอส เพื่อบำบัดน้ำเสียมีระดับกัมมันตรังสีต่ำถึงระดับมาตรฐานที่ยอมรับได้ แต่การบำบัดขั้นสูงนี้ ขจัดสารอย่างทริเทียม และคาร์บอน-14 ออกไปไม่ได้หมด

สารทริเทียม และคาร์บอน-14 เป็นสารกัมมันตรังสีในรูปแบบของไฮโดรเจนและคาร์บอน ที่คัดแยกออกจากน้ำได้ยากมาก อันที่จริง สารเหล่านี้มีอยู่ในธรรมชาติ น้ำ และในร่างกายมนุษย์ด้วย เพราะเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศโลก ก่อนเข้ามาสู่วงจรของน้ำ และเข้าสู่ร่างกายมนุษย์

ทั้งสารทริเทียมและคาร์บอน-14 ปล่อยกัมมันตรังสีออกมาในระดับที่ต่ำ แต่ “หากบริโภคสารนี้ (ทริเทียม) เข้าไปมากพอ อาจเป็นอันตรายได้ ถ้าดื่มเข้าไป” จิม สมิธ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม บอกกับบีบีซี

“แต่น้ำที่ฟุกุชิมะมีแผนจะปล่อย มีทริเทียมอยู่ที่ 1,500 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ส่วนมาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลกสำหรับทริเทียม คือ 10,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ดังนั้น ตามทฤษฎีแล้ว ถ้าน้ำไม่เต็มไปด้วยเกลือ น้ำบำบัดจากฟุกุชิมะ ก็สามารถดื่มกินได้”

ข้าม YouTube โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน: บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มาจากภายนอก เนื้อหาจาก YouTube อาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์

เทปโก ยืนกรานว่า สารคาร์บอน-14 เอง ก็มีระดับกัมมันตรังสีไม่เกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้

หลังการบำบัดด้วย เอแอลพีเอสแล้ว น้ำปนเปื้อนจะถูกทำให้เจือจางด้วยน้ำทะเล เพื่อลดทอนความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสี ก่อนจะปล่อยลงสู่มหาสมุทร ซึ่ง เทปโก ระบุว่า ระบบที่ทางบริษัทเตรียมไว้จะช่วยทำให้มั่นใจได้ว่า น้ำปนเปื้อนรังสีที่ยังไม่ผ่านการบำบัดและเจือจาง จะไม่ถูกปล่อยลงสู่ทะเลแน่นอน

นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็จะสนับสนุนแผนของญี่ปุ่น รวมถึง เจอร์รี โทมัส นักพยาธิวิทยาทางอณูชีวโมเลกุล ที่ทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น ด้านการวิจัยกัมมันตรังสี และเป็นผู้ทำรายงานให้คำแนะนำ ไอเออีเอ ต่อกรณีฟุกุชิมะ เขาระบุว่า “น้ำที่ถูกปล่อยออกมา จะเหมือนหยดน้ำที่ลงไปในมหาสมุทร ทั้งในเชิงปริมาณและระดับกัมมันตภาพรังสี แล้วมันก็ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ระดับกัมมันตรังสีที่ต่ำมาก ๆ นี้ จะมีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ”

.
.

แต่หลายคนไม่คิดเช่นนั้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยองค์การสหประชาชาติหลายคน ได้ออกมาต่อต้านแผนการดังกล่าว เช่นเดียวกับนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง "กรีนพีช" ที่เผยแพร่รายงานที่ตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการบำบัดน้ำปนเปื้อนรังสีของเทปโก โดยกล่าวหาว่า เทปโก ดำเนินมาตรการไม่มากเพียงพอ เพื่อขจัดสารกัมมันตรังสี

ผู้ที่ต่อต้านแผนการนี้ ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นควรจะกักเก็บน้ำปนเปื้อนไว้ในแทงค์น้ำไปก่อน จนกว่าเทคโนโลยีการบำบัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีแบบใหม่จะเกิดขึ้น รวมถึงปล่อยให้น้ำปนเปื้อนลดทอนระดับกัมมันตรังสีไปเองโดยธรรมชาติ

นักวิทยาศาสตร์บางคนก็กังวลต่อแผนการของญี่ปุ่น โดยกล่าวว่า ต้องทำการศึกษาถึงผลกระทบต่อพื้นมหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตทางทะเลให้มากกว่านี้

“เราเห็นการประเมินผลกระทบด้านกัมมันตรังสี และสิ่งแวดล้อมที่ไม่เพียงพอ ทำให้เรากังวลว่า ญี่ปุ่นจะตรวจไม่พบความผิดปกติต่อการปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเล รวมถึงตะกอนและสิ่งมีชีวิต ซึ่งหากเกิดผลกระทบจริง ก็ไม่มีทางจะย้อนกลับมาแก้ไขมันได้... เราเรียกยักษ์กลับลงตะเกียงไม่ได้แล้ว” โรเบิร์ต ริชมอนด์ นักชีววิทยาทางทะเล และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแห่งฮาวาย บอกกับในรายการนิวส์เดย์ ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี

.

ที่มาของภาพ, EPA

ด้าน ทัตสุจิโร ซูซูกิ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์ จากศูนย์วิจัยการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ของมหาวิทยาลัยนางาซากิ บอกกับบีบีซีว่า ไม่ได้หมายความว่าแผนของญี่ปุ่น “จะนำไปสู่มลพิษร้ายแรง หรืออันตรายอย่างปัจจุบันทันด่วนต่อสาธารณชน หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน”

แต่จากการที่ เทปโก ยับยั้งภัยพิบัติเมื่อปี 2011 ได้ เขายังคงวิตกถึงการเผลอปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงทะเลโดยอุบัติเหตุอยู่

ชาติเพื่อนบ้านญี่ปุ่นว่าอย่างไร

จีนเรียกร้องให้ญี่ปุ่นทำข้อตกลงกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค และสถาบันระหว่างประเทศ ให้เรียบร้อยก่อนจะปล่อยน้ำเสียที่บำบัดแล้วจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ลงทะเล

จีนยังกล่าวหาญี่ปุ่นว่า ละเมิด “ศีลธรรมระหว่างประเทศ และภาระผูกพันทางกฎหมาย” และเตือนว่า หากญี่ปุ่นเดินหน้าแผนการนี้ “จะต้องรับผลของการกระทำ”

อย่างไรก็ดี จีนและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงกันมานาน และทวีความรุนแรงขึ้น จากการสั่งสมกำลังทางทหารของญี่ปุ่น และการซ้อมรบใหญ่ของจีนรอบเกาะไต้หวัน

รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าหารือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพาผู้เชี่ยวชาญเกาหลีใต้เข้าชมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้มีท่าทีต่อแผนของญี่ปุ่น ต่างจากจีน โดยระบุว่า เคารพ “ผลการตรวจสอบของไอเออีเอ”

แต่จุดยืนของรัฐบาลเกาหลีใต้ ทำให้ประชาชนเกาหลีใต้ไม่พอใจ โดยผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า 80% กังวลต่อการที่ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงทะเล และประชาชนหลายพันคนเข้าร่วมการประท้วงในกรุงโซลหลายครั้ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้ดำเนินมาตรการ เพราะผู้บริโภคเริ่มวิตกกังวล และสะสมอาหารจำพวกเกลือ และอื่น ๆ บ้างแล้ว

กระแสต่อต้าน ทำให้รัฐสภาเกาหลีใต้ลงมติ เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ต่อต้านแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีของญี่ปุ่น แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่า มติดังกล่าวจะส่งผลต่อการตัดสินใจของญี่ปุ่นอย่างไร