เมนู

5 วิธีแก้ปัญหาไม้กระถาง คนมือร้อนก็ปลูกได้ รอดแน่นอน

จัดสวนกระถางในบ้านให้รอด

วิธีแก้ปัญหาจัดสวนไม้กระถาง

เคยบ้างไหมที่จะต้องพบกับสถานการณ์ที่ว่า แม้คุณจะพยายามอย่างเต็มที่ในการประคบประหงม ดูแลรักษาพื้นที่สีเขียวรอบๆ บ้าน หรือต้นไม้ในกระถาง แต่ท้ายที่สุดใบไม้และดอกไม้ก็ยังค่อย ๆ เหี่ยวเฉาและจากไปโดยไม่มีคำร่ำลา หนึ่งคำอธิบายที่เรามักจะได้รับเสมอคือ “มือร้อนหรือเปล่า” ถึงปลูกอะไรไม่ขึ้น บ้านไอเดียในฐานะกลุ่มคนที่เผชิญหน้ากับภัยพิบัติการสูญเสียต้นไม้มามากมาย จึงอยากพาไปสำรวจสิ่งที่อาจจะเป็นปัญหา ในกระถางต้นไม้ไปด้วยกัน เพื่อช่วยให้รอดจากอาถรรพ์คนปลูกอะไรก็ตาย โดยได้รวบรวมปัญหาที่มักพบบ่อยเกี่ยวกับการดูแลต้นไม้ในบ้านให้แข็งแรงและเจริญเติบโต รวมถึงวิธีตรวจหาปัญหาแต่ละข้อ ไปจนถึงวิธีแก้ไข ลองดูให้ครบก่อนแล้วค่อยโทษมือร้อนก็ยังไม่สายครับ

เนื้อหา: บ้านไอเดีย

ภาพ: fast-growing-trees.com

1. ปัญหา: การรดน้ำมากเกินไป

แม้ว่าการรดน้ำต้นไม้ในบ้าน จะเป็นสิ่งสำคัญเพื่อช่วยให้รากพืชชอนไชไปหาธาตุอาหารได้ น้ำยังช่วยละลายธาตุอาหารให้พืชดูดไปใช้ในการเจริญเติบโต แต่การให้น้ำมากเกินไปก็จะเกิดผลเสียกับต้นไม้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในชนิดพืชที่ไม่ได้ต้องการน้ำมาก ลองสังเกตว่าหากคุณไม่ได้รดน้ำมาสัก 2-3 วัน แต่ถ้าลองสัมผัสใต้พื้นผิวประมาณหนึ่งนิ้ว แล้วรู้สึกยังชื้นจากการรดน้ำครั้งล่าสุด แสดงว่าน้ำอาจอิ่มตัวมากเกินไป ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนชนิดหนึ่งเพื่อบ่งบอกให้ทราบว่าคุณควรรดน้ำให้น้อยลงอีกนิด หากปล่อยเอาไว้นาน ๆ  การรดน้ำมากเกินไปจะทำให้พืชมีอาการใบเหลือง ใบจะอ่อนปวกเปียก เกิดจุดสีน้ำตาล หรือใบค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และรากเน่าได้ในที่สุด จึงจำเป็นต้องสังเกตดูสัญญาณเตือนตั้งแต่เนิ่น ๆ

ภาพ: bustlingnest.com

การแก้ไข: ลดการให้น้ำ/รู้จักชนิดพืชก่อนปลูกว่าต้องการน้ำมากหรือน้อย

กุญแจสำคัญในการทำกิจวัตรการรดน้ำต้นไม้ของคุณถูกต้อง คือ การหาข้อมูล ทำความรู้จักคุ้นเคยกับพืชที่ต้องการจะปลูกว่ามีต้องการน้ำเท่าไหร่ มากหรือน้อย รดน้ำประมาณวันละครั้ง หรือกี่ครั้ง/วัน เนื่องจากพืชบางชนิดมีความต้องการน้ำไม่เท่ากัน เช่น ต้นชบา ต้นโมก ต้อยติ่งฝรั่ง ต้องรดน้ำบ่อย ในขณะที่พืชชนิดอื่น เช่น ชวนชมและแก้วเจ้าจอม มีความต้องการน้ำในระดับปานกลาง ไม่ชอบน้ำมาก ให้รดน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้งเท่านั้น, ลิ้นมังกรและยางอินเดีย สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องรดน้ำถึง 1 เดือน, ทั้งนี้เพื่อกันลืมควรตั้งตารางการรดน้ำของคุณให้เหมาะสม หรือจะใช้วิธีตั้งเวลาเครื่องรดน้ำอัตโนมัติก็ใช้ได้เช่นกัน

ภาพ: newzealandrabbitclub

2. ปัญหา: รากเน่า

ปัญหาข้อนี้มักจะสัมพันธ์กับข้อที่ 1. แต่บางคนอาจไม่ทราบ เมื่อพบว่าต้นไม้ในบ้านเริ่มดูทรุดโทรมก็คิดว่าเป็นอาการขาดน้ำหรือขาดปุ๋ย ให้สังเกตขอบใบและปลายใบเริ่มเปลี่ยนสีซีด เหลืองหลายใบ ต้นไม้มีอาการคอตก สิ่งแรกที่ต้องลองตรวจสอบคือ รากของต้นไม้เน่าหรือไม่ เราพบว่าต้นไม้กระถางที่ไม่มีการระบายน้ำที่เหมาะสม เครื่องปลูกชื้นเกินไปทำให้รากบางส่วนตายได้เนื่องจากขาดออกซิเจน หรืออาจเป็นเชื้อราในดิน พืชที่ปลูกในร่มจะเริ่มมีอาการรากเน่าอย่างรวดเร็ว วิธีการตรวจเช็คให้ลองค่อยๆ นำต้นไม้ออกจากดินอย่างเบามือ และดูที่รากของมันว่ามีสีน้ำตาล อมน้ำ นิ่ม มีกลิ่นหรือไม่ (รากปกติจะมีสีขาว อวบ แน่น)  ถ้าเริ่มเน่าแล้วไม่แก้ปัญหาอย่างทันท่วงทีต้นไม้ก็จะไปสู่สุขคติได้โดยเร็ว

การแก้ไข: ล้าง ตัดแต่ง และปลูกใหม่

การแก้ปัญหาสำหรับต้นที่อาการน้อยอาจทำโดยใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3% ผสมน้ำอัตราส่วน 1:1 แล้วรดตรงส่วนโคนต้น (อย่าให้โดนใบ) ถ้าอาการมากจะต้องรื้อเครื่องปลูกออกมาให้คงเหลือรากมากที่สุด แล้วทำการล้างรากด้วยน้ำสะอาดให้ไหลผ่านๆ และเล็มส่วนที่ได้รับผลกระทบออกด้วยกรรไกรที่คมและสะอาด ในกรณีที่ต้องเล็มรากจำนวนมาก คุณอาจต้องการตัดใบจริงของต้นออกด้วยสักสองสามใบ (โดยเฉพาะใบเหลือง) ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมการเจริญเติบโตของรากใหม่ในต้น แช่ต้นไม้ด้วยไฮโดรเจนผสมน้ำไว้สักครู่แล้วปล่อยให้แห้ง หรือจุ่มรากลงในน้ำยาฆ่าเชื้อราเพื่อฆ่าเชื้อราที่เป็นไปได้ของรากเน่า เมื่อเสร็จแล้วให้ย้ายต้นไม้ในดิน และในภาชนะที่มีรูระบายน้ำเยอะๆ

หมายเหตุ: การใช้ไฮโดรเจนฯ ที่ผสมน้ำแล้วรดในกระถางจะช่วยเติมอากาศในดิน เสริมสร้างระบบราก และกระตุ้นการเจริญเติบโต

ภาพ: plantura.garden

3. ปัญหา: ได้รับแสงไม่เพียงพอ

แสงแดดก็เป็นองค์ประกอบหลัก ๆ ที่มีความสำคัญต่อการเติบโตและแข็งแรง เพราะต้องใช้แสงในกระบวนการสังเคราะห์แสง บางบ้านปลูกต้นไม้ที่ร่มไม่ได้รับแสงเพียงพอ หรืออยู่ในฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงเข้าหน้าหนาว ซึ่งช่วงแสงในแต่ละวันจะสั้นลง อาจแสดงอาการต่างๆ เช่น ใบพืชจะลดการผลิตคลอโรฟิลลง ส่งผลให้ใบซีดลงจนกลายเป็นสีเหลืองหรือขาว ไม่สามารถเติบโตได้เต็มขนาด กิ่งก้านจะหันหรือยื่นยาวออกไปในทิศทางที่มีแสง นี่อาจเป็นสัญญาณว่าต้นไม้ของคุณต้องการแสงที่ส่องเข้ามาโดยตรงมากขึ้น

การแก้ไข: ย้ายที่ตั้งหรือเพิ่มแสง

ต้องลองย้ายต้นไม้ไปใกล้หน้าต่างมากขึ้นเพื่อให้เปิดรับแสงได้มากขึ้น โดยแสงที่ส่องจากทางทิศตะวันออกจะมีคุณภาพและอุณหภูมิที่เหมาะสมกับพืชภายในอาคารมากที่สุด สามารถรับแสงโดยตรงตั้งแต่เช้าจนเกือบเที่ยงวัน แต่กรณีถ้าปลูกในคอนโดหรือมีบริเวณน้อยที่แสงส่องไม่ถึงจริงๆ ก็สามารถใช้หลอดไฟที่เรียกว่าไฟเลี้ยงต้นไม้ได้ เช่น ไฟเลี้ยงต้นไม้ SMD หรือ COB LED ที่มีความยาวคลื่นที่เหมาะสมต่อการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช อย่างไรก็ตามก่อนซื้อต้นไม้มาปลูกควรถามผู้ขายหรือศึกษาข้อมูลก่อนว่าไม้ชนิดใดสามารถปลูกในร่มได้ ต้องการแสงมากหรือน้อยต่อวัน เนื่องจากต้นไม้แต่ละชนิดมีความต้องการแสงต่างกัน

ภาพ: blog.backtotheroots.com

4. ปัญหา: ใบไหม้ไม่สวยงาม

อาการใบไหม้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เราเผลอวางกระถางต้นไม้ในบริเวณที่แสงที่รุนแรง หรือเผชิญกับอากาศร้อนนานเกินไป ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ใบไหม้ หรือใบเป็นวงด่างซีด ใบไม่สวยได้ อีกหนึ่งสาเหตุอาจจะเป็นเพราะใส่ปุ๋ยมากเกินไป (โดยเฉพาะปุ๋ยคอก) หรือช่วงหน้าร้อนจะทำให้น้ำระเหยเร็ว แร่ธาตุที่ละลายอยู่ในน้ำก็เข้มข้นขึ้น พืชที่มีความไวต่อความเข้มข้นของแร่ธาตุในน้ำ และไวต่อความเค็ม จะแสดงอาการใบไหม้ครึ่งใบได้

การแก้ไข: ย้ายที่ตั้งหรือลดปุ๋ย

หากสังเกตว่าใบไม้เริ่มแห้งหรือเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ควรลองย้ายต้นไม้ไปวางไว้ในที่ที่มีแดดรำไร พร้อมกับตัดใบส่วนที่ไหม้นั้นทิ้งไป ส่วนเรื่องการใส่ปุ๋ยเบื้องต้นควรงดใส่ปุ๋ยไปสักระยะประมาณ 1-2 เดือน แต่รดน้ำตามปกติ เพื่อให้น้ำเจือจางปุ๋ยออกไปเรื่อยๆ เมื่อปุ๋ยย่อยสลายดีแล้วก็จะหายได้เอง

ภาพ: marthastewart.com

5. ปัญหา: สารอาหารในดินไม่เพียงพอ

หลายครั้งที่เราซื้อวัสดุดินปลูกมามักโฆษณาว่าเต็มไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช แต่เมื่อเปิดถุงจะพบแต่ถ่านแกลบกับขุยมะพร้าว เมื่อปลูกนานไปต้นไม้ไม่โตแถมใบไม้ยังเริ่มเปลี่ยนสีเพียงเล็กน้อย นี่อาจเป็นสัญญาณว่าต้นไม้ในบ้านของคุณขาดสารอาหารได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารอาหารหลักที่จำเป็นที่สุดสำหรับพืช 3 ชนิด ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ลองสังเกตดูว่าต้นไม้ที่ปลูกมีอาการเหล่านี้หรือไม่

  • ใบพืชเหลืองจากส่วนปลายใบ ต้นโตช้า แคระแกร็น ออกดอกน้อย เข้ามาแสดงว่าพืชขาดไนโตรเจน
  • ใบแก่หรือใบล่างจะมีสีม่วงแซมเขียวอ่อน รากจะหยุดเจริญเติบโต เป็นอาการของพืชขาดฟอสฟอรัส
  • พืชขาดโพแทสเซียม ขอบใบแก่จะมีสีเหลืองซีด ขอบใบม้วนงอ และมีจุดสีน้ำตาลไหม้ขึ้นตามขอบใบ และหากเป็นไม้ผลก็จะมีขนาดเล็ก บิดเบี้ยวไม่สมประกอบ

การแก้ไข: ใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม

ในกรณีของการขาดธาตุอาหาร หากเราพอทราบจากอาการที่แสดงออกเบื้องต้น ก็แก้ปัญหาได้ง่ายด้วยการใส่ปุ๋ยที่อุดมด้วยสารอาหารตัวที่ขาด จะเป็นปุ๋ยเคมีก็ได้ อย่างเช่น ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15  หรือถ้าไม่ชอบการใช้สารเคมีกับต้นไม้ ก็อาจลองใช้วิธีแก้ปัญหาแบบออร์แกนิกต่างๆ เช่น กากกาแฟลงในดินของต้นไม้ในบ้านเพื่อเพิ่มปริมาณไนโตรเจน  การใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ โดยใช้ดิน 7 ส่วนผสมปุ๋ยหมัก 1 ส่วน นอกจากนี้ยังมีปุ๋ยแบบน้ำที่ให้ทางใบด้วย

ปุ๋ยและดิน ต้องหมั่นดูหมั่นเติมเสมอนะครับ เพราะปกติไม้กระถางหากเรารดน้ำทุกวัน น้ำจะพัดพาเอาอินทรียวัตถุและสารอาหารไหลออกไปข้างนอกอยู่ตลอดเวลา ดินในกระถางก็จะเริ่มแน่นขึ้น จุลินทรีย์ที่ดีก็ลดน้อยถอยลง ทำให้พืชอ่อนแอได้ง่ายครับ

ภาพ: www.bobvila.com

จากทั้ง 5 ข้อ  จะเห็นว่าปัญหาพืชกระถางจะเป็นเรื่องของคุณภาพดิน การให้น้ำ แสง และปุ๋ยที่พอเหมาะ เนื่องด้วยพืชอยู่ในกระถางไม่สามารถขยับหาแสง หรือขยายหาอาหารจากพื้นดินธรรมชาติได้เอง ต้องรับปัจจัยในการดำรงชีวิตอยู่ได้จากมือของผู้ปลูก ดังนั้นเจ้าของจึงต้องทำความเข้าใจจนรู้ใจชนิดพืชที่ต้องการปลูก เตรียมพื้นที่ปลูกให้เหมาะสม และหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ก็จะลดอัตราการจากไปของต้นไม้แสนรักได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียวครับ

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด