ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #521 : 9 การ์ตูนมังงะของเทะสึกะ โอซามุที่อยากให้เป็นอนิเมะใหม่

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.98K
      22
      7 มี.ค. 62

                    หลังจาก Dororo ออกฉายไป มีหลายคนชอบมาก และบางคนก็อยากเห็นการ์ตูนของโอซามุมาทำเป็นอนิเมะอีก ดังนั้นในบทความนี้ผมก็คัดการ์ตูนของโอซามุที่น่าจะทำเป็นอนิเมะดู สัก 9 เรื่อง

                    เทะสึกะ โอซามุถือว่าเป็นนักวาดการ์ตูนในตำนานของญี่ปุ่น แม้เด็กสมัยใหม่ยังต้องรู้สึก คุ้นหูบ้าง เพราะวันนี้ยังมีการรีเม็กซ์เจ้าหนูปรมาณู และแบล็กแจ็คให้เห็นอยู่

                    แม้ว่าหลายคนอาจรู้จักเจ้าหนูปรมาณู และแบล็กแจ็คมากเป็นที่สุด แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าโอซามุนั้นแต่งการ์ตูนหลายเรื่องมาก  รวมถึงอีกหลายเรื่องที่ยังไม่เคยเอามาพิมพ์เป็นฉบับภาษาไทย โดยลิขสิทธิ์สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ซึ่งก็ยกย่องที่ตีพิมพ์โอซามุหลายเรืองท่ามกลางการ์ตูนใหม่ๆ ที่วางแผง และตีพิมพ์จนจบด้วย

                    ส่วนมากการ์ตูนของเทะสึกะนั้นลายเส้นเหมือนจะเป็นการ์ตูนเด็ก และออกไปทางไซไฟ ไม่ก็แฟนตาซี แต่ถึงอย่างนั้นหลายเรื่องก็มีการเล่าเรื่องที่น่าติดตาม ดราม่าเครียด วิพากษ์สังคม เช่นกัน

                   

    10. Dororo


    โดโรโระถือว่าเป็นการ์ตูนโอซามุที่ผมกาไว้เลยว่าจะดูแน่นอน และมันก็ไม่ผิดหวัง แถมตัวอนิเมะก็ปรับรายละเอียดทำออกมาน่าสนใจไม่แพ้ต้นฉบับด้วยซ้ำ

                    โดโรโระฉบับมังงะ มีทั้งหมด 4 เล่ม (1967-1968) และเคยมีอนิเมะช่วงปี 1969-1969  จำนวน 26 ตอน  (เป็นขาวดำ) มีภาพยนตร์คนแสดงปี 2007 (เนื้อหาพอรับได้ แต่อาจไม่สนุกมาก) และเคยมีมังงะในปี 2018 และปี 2019 ก็มีอนิเมะ

    เนื้อเรื่องการ์ตูนได้กล่าวถึง  ในญี่ปุ่นยุคเซ็นโกคุหรือในยุคสงครามระหว่างแคว้น มีชายคนหนึ่งเป็นซามุไรครองแคว้นชื่อ คาเงะมิตสึ ไดโกะ ได้ทำข้อตกลงกับเหล่าปีศาจทั้ง 48 ตัว โดยมีเงื่อนไขให้ตนชนะสงครามและเป็นผู้   ซึ่งเขาได้แลกเปลี่ยนสัญญากับปีศาจ โดยใช้ 48 อวัยวะสำคัญของร่างกายของลูกชายที่กำลังเกิดเพื่อเป็นสิ่งค้ำประกันกับพวกปีศาจ

    ต่อมาลูกของคาเงะมิตสึได้ถือกำเนิดขึ้น โดยไร้อวัยวะสำคัญของร่างกายทั้ง 48 จนดูเหมือนตัวหนอน แต่ก็ยังมีชีวิต คาเงะมิตสึจึงสั่งให้นำเด็กน้อยใส่ตะกร้าแล้วปล่อยลอยไปตามน้ำ

    แต่เป็นโชคดีของเด็กน้อยที่ได้รับการช่วยเหลือจากแพทย์ผู้มีนามว่า จูไค และตั้งชื่อเด็กนี้ว่า เฮียกกุมารุ และสร้างอวัยวะเทียมที่ทำจากไม้มาแทนอวัยวะที่หายไป ต่อมาพวกเขาถูกพวกปีศาจระราน แต่เมื่อฆ่ามันอวัยวะที่หายไปก็กลับคืนมา ดังนั้นเมื่อ เมื่อเติบโตจนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เขาได้ออกเดินทางเพื่อกำจัด ปีศาจทั้ง 48 เพื่อนำเอาร่างกายของเขากลับคืนมา หลังจากเดินทางได้ไม่นานเขาก็ได้เพื่อนร่วมทางเป็นเด็กน้อยกำพร้าที่ชื่อ โดโรโระ  ทั้งเฮียกกุมารุและโดโรโระเดินทางไปทั่วอาณาจักรญี่ปุ่นเพื่อปราบปีศาจ

    Dororo เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำการ์ตูนเก่ามาดัดแปลงเป็นอนิเมะ และทำออกมาได้ดี แม้หลายคนรู้รู้เรื่องราวในต้นฉบับมาแล้ว แต่ตัวอนิเมะนำเสนอสิ่งใหม่ๆ รายละเอียดปรับเปลี่ยน และนำเสนอมิติตัวละครอย่างเฮียกุมารุใหม่ ที่แตกต่างจากต้นฉบับ

    และเนื่องด้วยโดโรโระมีอนิเมะแล้วจึงไม่ขอเอามารวมในอันดับ



    The Vampires (manga)


    The Vampires เป็นนิยายของโอซามุ แต่งในระหว่างปี 1966-1967 รวมเล่มมีทั้งหมด 4 เล่มจบ

    จุดเด่นของการ์ตูนเรื่องนี่คือ ตัวหลัก (และอาจเป็นตัวเอก) คือโอซามุเอง ที่เขาเป็นนักเขียนการ์ตูนที่สตูดิโอมุชิโปรดักชั่น วันหนึ่งมีเด็กหนุ่มลึกลับคนหนึ่งเดินทางออกจากภูเขาลึกชื่อ ทาจิบานะ ทปเป มาขอสมัครงานเป็นลูกมือ  แต่โอซามุก็ปฏิเสธ แล้วภายหลังโอซามุก็ได้รู้ว่าทปเปไม่ใช่คนธรรมดา หากแต่เป็นคนของเผ่าพันธุ์แวมไพร์ (ในที่นี้แวมไพร์คือคนที่สามารถเปลี่ยนเป็นสัตว์ได้) โดยเขามาที่นี้ก็เพื่อตามหาพ่อของเขา  ซึ่งเป็นเกี่ยวพันกับองค์กรลับที่เหล่าแวมไพร์ ที่คิดครองโลกก็กำลังต้องการพลังพิเศษของทปเปไปใช้ในการก่อการร้าย

    ในขณะเดียวกัน  ชายคนหนึ่งชื่อ “ร็อค” (หนุ่มตัวร้ายประจำจักรวาลของโอซามุ) เขาเป็นพ่อบ้านของคุณหนูที่ร่ำรวยคนหนึ่ง  ที่ต้องกล่าวครอบครองสมบัติตระกูลของคุณหนู จึงจัดแผนลักพาตัวคุณหนูเรียกค่าไถ่  จากนั้นก็ฆ่าคุณหนู พร้อมฆ่าพ่อแม่ของคุณหนูเหมือนอุบัติเหตุทางรถยนต์ แล้วก็เข้าองค์กรของพวกแวมไพร์อีกด้วย (เลวครบสูตร)

    The Vampires ถือว่าเป็นเรื่องติดตามอีกเรื่องหนึ่งของโอซามุ  เพราะมันเล่าลำดับเรื่องราว มีการวางผม อะไรต่างๆ มากมาย แม้ลายเส้นจะเหมือนการ์ตูนเด็ก มีมุกตลกแทรกเป็นระยะ แต่เนื้อหาหลักๆ มันเป็นการ์ตูนเชิงผู้ใหญ่มากกว่า เพราะมันมีฉากโหดร้าย ละครหลังข่าว ไปจนถึงการจิกกัดสังคมเหมือนกัน โดยเฉพาะเจ้าแวมไพร์ที่เป็นค้างคาวที่พูดเรื่องมนุษย์เรานั้นโดนกฎหมายกดสัญชาติดิบอยู่ ทำไมไม่ปล่อยมันออกละ  ซึ่งพล็อตการเหยียดชาติพันธุ์ก็ถือว่าเป็นงานถนัดของโอซามุอยู่แล้ว ซึ่งยอมรับว่าคนขโมยซีนเรื่องนี้ก็คือ “ร็อค” กับ “โอซามุ” นี้แหละ

    น่าแปลกที่การ์ตูนเรื่องนี้ยังไม่เคยเป็นอนิเมะ แต่เคยเป็นละครโททัศน์ ฉายในปี 1968 ซึ่งมีจำนวน 26 ตอน (จุดเด่นคือใช้เทคนิคการ์ตูนแสดงร่วมกับคนจริงๆ  และเนื้อเรื่องออกไปทางฮีโร่หน่อยๆ)   ซึ่งคิดว่าเหมาะในการทำอนิเมะมาก หากเพิ่มเรื่องแอ็คชั่นเข้าไป

                     

                        Ambassador Magma

                        หุ่นอภินิหาร โกลด้า ถือว่าเป็นหุ่นยักษ์ฮีโร่คล้ายอุลตร้าแมนที่หลายคนคุ้นตาบ้าง   เพราะมันเคยดังในอดีต ซึ่งเนื้อหาของโอซามุก็นำเสนออะไรที่แตกต่างจากแนวยอดมนุษย์ยักษ์สมัยนั้นด้วย

                        เนื้อเรื่องกล่าวถึงมนุษย์ต่างดาวโหดร้ายชื่อโรดัคที่ต้องการจะยึดครองโลก โดยใช้สัตว์ประหลาดต่างๆ เข้าโจมตีญี่ปุ่น ที่เป็นศูนย์กลางของโลก แต่ ผู้เฒ่ามาทุเซ็น (มีตำแหน่งคล้ายๆ พระเจ้าของโลก) ได้ต่อต้านการรุกรานนั้น โดยผู้เฒ่ามี หุ่นยนต์มีชีวิต โกลด้า พร้อมภรรยา ซิลเวอร์ และลูกชาย (ถูกสร้างทีหลัง) คอยต่อต้าน 

                        โรดัค รังครวญนักข่าวที่มีชื่อเสียง มุราคามิ อิโตมุระ และครอบครัว จนกระทั่งลูกชายของพวกเขา มิกโก้ได้รับการช่วยเหลือโกลด้า และโกลด้าได้มอบนกหวีดให้ เพื่อใช้เรียกหุ่นยนต์ยามมีเหตุร้าย โดยเป่านกหวีด 1 ครั้งจะเรียก คำ... เป่า 2 ครั้งเรียก ซิลเวอร์... เป่า 3 ครั้งเรียก โกลด้า...


                   อาจเป็นแนวฮีโร่เด็กสมัยก่อน แต่ผมว่าถ้าดัดแปลงอนิเมะให้เหมาะกลุ่มคนดูที่ป็นผู้ใหญ่ เน้นใส่เนื้อเรื่องเป็นเรื่องเข้าไป ผมว่าไหวอยู่นะ ขนาดอุลตร้าแมน, เก็ตเตอร์ ยังดีความใหม่ได้เลย เรื่องนี้ก็น่าจะทำได้ ต้นฉบับเองก็มีฉากยิ่งใหญ่ ฉากเมืองหลวงพังพินาศ  น่ากลัวไม่น้อย ตัวละครก็มีสเน่ห์ โดยเฉพาะตัวบอสใหญ่นี้เป็นบอสใหญ่ที่นิสัยน่ารักอย่างหนึ่งคือ แม้มันจะโหดร้าย แต่มันอ่อนโยนกับเด็ก ไม่อยากให้เด็กบาดเจ็บ  ถือว่าเป็นบอสใหญ่ที่น้อยมากที่จะมีนิสัยแบบนี้  ถือว่าเป็นงานเก่าที่น่าจะมาทำเป็นอนิเมะสมัยใหม่ได้ดีอีกเรื่องหนึ่ง

                    Ambassador Magma เคยดัดแปลงเป็นอนิเมะมาแล้ว ในปี 1993 จำนวน 13 ตอน

               

    Message to Adolf

                   

                เรื่องนี้คงหวังเป็นอนิเมะยาก เพราะเนื้อหายากไปหน่อย แต่ถ้าทำเป็นภาพยนตร์ถือว่าเป็นผลงานชั้นดีเลยทีเดียว โดยโอซามุได้เขียนผลงานนี้ระหว่างปี 1983-1985 จำนวนสองเล่มจบ 

    เนื้อหากล่าวถึงช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเป็นเรื่องราวของนักข่าวชาวญี่ปุ่นชื่อโซเอ โทเกะที่มาทำข่าวกีฬาโอลิมปิกในเบอร์ลิน และกำลังอยู่ในช่วงฮิตเลอร์กำลังเรืองอำนาจ ต่อมาเขามาเยี่ยมน้องชาย แต่กลายเป็นว่าน้องชายของเขาตายเพราะไปรู้ความลับว่าฮิตเลอร์เป็นยิว และนั้นทำให้โทเกะพยายามตามหาความจริง

                    โทเกะได้ตามค้นหาเอกสารที่สามารถพลิกโฉมหน้าของสงครามสนับสนุนว่าฮิตเลอร์เป็นยิว จ นได้พบตัวละครอดอฟ์สามคน คนแรกคืออดอลฟ์ ฮิตเลอร์, คนที่สองอดอลฟ์ คามิล ชาวยิวเยอรมัน และอดอล์ฟ คอฟแมนลูกครึ่งเยอรมัน-ญี่ปุ่น  

    โอซามุเป็นนักวาดการ์ตูนที่เก่งการเล่าเรื่องเสมอ  ที่เนื้อหาค่อนข้างจริงจัง  ไม่ใช่แนวฮีโร่เหมือนที่ผ่านมา รวมถึงการนำเสนอทฤษฏีฮิตเลอร์เมีบรรพบุรุษเป็นยิวหรือไม่ รวมไปถึงการเหยียดชาติพันธุ์   การครอบงำทางความคิดของนาซีต่อชาวเยอรมัน ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้เต็มไปด้วยความมากมาย มากกว่าการ์ตูน และตัวการ์ตูนยังจัดอยู่ในหนังสือนอกเวลาน่าอ่าน 100 เรื่องด้วย


    ฮิโนโทริ วิหคเพลิง




    ฮิโนโทริ วิหคเพลิง เป็นหนึ่งในผลงานที่สร้างชื่อของโอซามุ และในขณะเดียวกันก็เป็นการ์ตูนที่อเนื้อหาค่อนข้างดราม่า อ่านยากพอสมควรเรื่องเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด งสอดแทรกปรัชญาที่หลากหลาย และเป็นแนวคิดที่สื่อออกมาให้เห็นภาพของสังคมมนุษย์  ที่ดิ้นรนอยากเป็นอมตะด้วย

    ความจริงเรื่องนี้ทำเป็นอนิเมะมาแล้ว โดยเรื่องนี้แบ่งออกเป็นหลายภาค ตัวละครและยุคแตกต่างกันไป แต่มีส่วนหนึ่งที่ผมชอบคือ ภาคไฟสงคราม เล่ม 11-12  พิมพ์ครั้งแรกระหว่างปี ค.ศ. 1978-1980 โดยเนื้อเรื่องจับความในปลายสมัยเฮอัน เป็นเรื่องของชายตัดไม้ชื่อ "เบนตะ" และคู่หมั้นชื่อ "โอบุ" ซึ่งต้องพลัดพรากกันไปอยู่คนละฝ่ายในสงครามโดยโอบุกลายเป็นคนรักของไทระ โนะ คิโยโมริหัวหน้าตระกูลไทระที่ต้องการความเป็นอมตะ

    เบนตะเป็นคนตัวใหญ่ไม่ฉลาดนัก เขาพยายามตามหาคู่หมั่น ก่อนไปๆ มาๆ เขาก็กลายเป็นเบ็นเค พระนักรบไปซะอย่างงั้น และเขาก็ได้รู้จักเด็กกำพร้าคนหนึ่งซึ่งภายหลังคือ  มินาโมโตะ โนะ โยชิซึเนะ

    บทไฟสงคราม เป็นบทที่ผมชอบที่สุดของโอซามุ  เพราะเป็นการตีความโยชิซึเนะเสียใหม่ จากภาพโยชิซึเนะเป็นพระเอกที่เท่ มีคุณธรรม แต่โอซามุกลับทำตรงข้าม สร้างโยชิซึเนะกลายป็นคนมีชีวิคตอยู่แต่การแก้แค้นโดยไม่คิดถึงศีลธรรมใดๆ  ส่วนเบ็นเคนจากนักบวชยักษ์ที่ซื่อสัตย์กลายเป็นชายที่ไม่ชอบสงคราม อยากใช้ชีวิตสงบสุขกับคนรักเงียบๆ เท่านั้น แต่เขาต้องมาเป็นคู่หูกับโยชิซึเนะ ที่ตัวเขาเกลียดโยชิซึเข้าไส้ นำไปสู่จุดจบที่หลายคนไม่เชื่อว่านี้คือการกระทำเบ็นเคนที่มีต่อโยชิซึเนะ

       มันน่าจะเป็นเรื่องดีที่จะเอาบทไฟสงครามมาทำใหม่  นำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้หลายคนอึ้งเหมือนกับผมอึ้งในตอนจบบทนี้มาแล้ว

       เอาง่ายๆ ผมชอบความชิบหายเรื่องนี้มาก 


    Microid S

                  

                ความจริง Microid S เคยถูกทำเป็นอนิเมะมาแล้ว แต่ตัวอนิเมะเก่ามาก ออกอากาศ ปี ค.ศ.1973 เริ่มวันที่ 7 เมษายน - 6 ตุลาคม ทุกวันเสาร์เวลา 20:00 - 20:55 น. ประเทศไทยออกอากาศทาง ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. มี 26 ตอน ออกไปทางการ์ตูนเด็กดู มากกว่านำเสนอความน่ากลัวของหายนะของฝูงแมลงถล่มโลกเหมือนในมังงะ ที่ทำออกมาได้อลังการมาก ช่วงแรกๆ อนิเมะโอซามุมักออกโทนการ์ตูนเด็กมากกว่าจะนำเสนอความโหดร้ายเหมือนในมังงะ 

                    เนื้อเรื่องเป็นแนวแอ็คชั่นผสมไซไฟ โดยกล่าวถึงเผ่าพันธุ์หนึ่ง Gidron ซึ่งเป็นแมลงขั้นสูงชนิดที่สร้างอาณาจักรยักษ์ลึกลงไปใต้พื้นดินของทะเลทรายแอริโซนาในอเมริกา  คนในเผ่ารูปร่างมีขนาดเล็กเท่าแมลง แต่พวกเขามีพลังอำนาจสามารถควบคุมแมลง และมีพลังพิเศษที่มนุษย์ไม่มี วันหนึ่งพวกเขาไม่พอใจมนุษย์ที่สร้างมลพิษให้ผืนดินเสื่อมถอย จึงได้บังคับกองทัพแมลงกำจัดมนุษย์และยึดโลก หากแต่แผนของพวกเขามีอุปสวรรค์เมื่อคนในเผ่าสามคนเห็นว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้องจึงเข้าร่วมกับมนุษย์ โดยมนุษย์กลุ่มแรกที่รับฟังคำเตือนพวกเขาคือเด็กชายกล้าหาญคนหนึ่งที่พ่อเป็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลชาวญี่ปุ่น

                    แม้อารมณ์ Microid S จะเหมือนการ์ตูนฮีโร่สมัยก่อน แต่สิ่งที่ชอบคือฉากฝูงแมลงโจมตีโตเกียวจนกลายเป็นหายนะ มันเป็นอะไรที่น่ากลัวมากในเวลานั้น ฉากบ้านเมืองถูกทำลาย ผู้คนกลายเป็นศพ กลายเป็นอาหารแมลง ผู้คนเห็นแก่ตัว เอาตัวรอด สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรมากกว่าการ์ตูนลายเส้นน่ารัก

                    สิ่งที่ชอบคือการพัฒนาตัวละครเด็กชายมนุษย์ ที่พยายามมีชีวิตรอด และพยายามช่วยเหลือผุ้คน ต้องผจญหน้ากับพวกผู้นำเผ่าแมลงที่มีความสามารถน่ากลัว โดยเฉพาะตัวที่ควบคุมสมองมนุษย์นี้มันน่ากลัวจริงๆ

                    น่าเสียดายการ์ตูนก็มีบทสรุปเหมือนโดโรโระที่สุดท้ายสามตัวเอกต้องแยกกับพวกมนุษย์เพื่อไปยุติปัญหา ซึ่งการ์ตูนก็เล่าสั้นๆ ว่าทั้งสามคนไม่กลับมาอีกเลย และแมลงก็ไม่รุกรานมนุษย์อีก


        Metrolpolis

                   

          เมโทรโพลิส เป็นผลงานของโอซามุ เท็ตซึกะ (Osamu Tezuka 1928-1989) เขียนขึ้นระหว่างทศวรรษที่ 1940-1950 ก่อนที่จะกำเนิดเจ้าหนูอะตอม มนุษย์ แม้ว่าตัวเรื่องจะใช้ชื่อ Metropolis เหมือนภาพยนตร์คลาสสิคตลอดกาล ของ Fritz Lang ปี 1927 ที่มีตัวเอกเป็นหุ่นยนต์สตรีเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม โอซามุเขียนการ์ตูน Metropolis ทั้งเรื่องด้วยแนวคิดส่วนตัว และนำแนวคิดของภาพยนตร์มาก่อกำเนิดของเจ้าหนูปรมาณู (Astro Boy) ในปี 1952 ในเวลาต่อมา

            ความจริงเรื่องนี้เคยเป็นอนิเมะมาก่อน และภาพออกมางามมาก กำกับโดยรินทาโร่ (กาแลกซี่เอ็กซ์เพรส 999)   โดยเนื้อหากล่าวถึงโลกอนาคตที่พัฒนาก้าวไกล สามารถสร้างหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ทำงานต่างๆ ได้ หากแต่เหล่าหุ่นยนตร์ถูกปฏิบัติเยี่ยมทาส จนกระทั่งมีหุ่นยนต์ขั้นสูงชื่อทิม่าเกิดขึ้นชื่อทิม่า แต่ร็อค ลูกชายอารมณ์ร้ายของดยุคเร้ดไม่ไว้ใจหุ่นยนต์และตั้งใจจะค้นหาและทำลายทิม่า  ทำให้ทิม่าต้องหนีต่อมาก็เจอพระเอกที่เป็นด้หลานชายของตำรวจญี่ปุ่นคนหนึ่ง เรื่องวุ่นวายก็ตามมา

          ส่วนต้นฉบับจริงๆ ก็แตกต่างจากรายละเอียดเล็กน้อย ตรงที่ทิม่าเป็นเด็กสังเคราะห์ไม่มีเพศ ไม่ใช่ชายและหญิง และดยุคเร้ดหมายมั่นจะล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่อ่อนด้อยแล้วสร้างกองทัพทาสหุ่นยนต์ที่เขาควบคุมได้มากกว่า

           ด้วยเนื้อเรื่องที่ดูอลังการ และมีอะไรให้เล่นเยอะ ที่สำคัญไม่ใช่เจ้าหนูปรมาณู  จึงเหมาะเอามาทำเป็นอนิเมะน่าสนใจ


    Princess Knight


    เจ้าหญิงอัศวินมีความแตกต่างจากการ์ตูนของโอซามุตรงที่ตัวการ์ตูนเน้นตัวเอกเป็นผู้หญิง และดำเนินเรื่องสไตล์การ์ตูนผู้หญิง (โชโจ) เรียกว่าเป็นนักวาดการ์ตูนในตำนานที่แต่งการ์ตูนได้หลายแนว หลายแบบ และได้รับความนิยม

    Princess Knight, 1953 แซฟไฟร์เป็นหญิงที่ถูกเลี้ยงมาแบบผู้ชายเพื่อให้สืบทอดบัลลังก์ของพ่อ ไม่ให้ตกไปอยู่ในมืออำมาตย์ชั่ว  และมีความรักกับเจ้าชายต่างเมือง (ที่เข้าใจว่าเจ้าหญิงเป็นเจ้าชาย) เนื้อเรื่องมีกลิ่นเทพนิยาย มีแม่มด มีเวทมนต์อยู่ และโด่งดังในหมู่เด็กผู้หญิงสมัยก่อนเป็นอย่างมาก

    ที่มาของเรื่องนี้เกิดขึ้นจากโอซามุได้รับคำสั่งจากบรรณาธิการของนิตยสาร Shojo Club ของ Kodansha ผู้ซึ่งต้องการให้ Tezuka ผลิตมังงะมุ่งเป้าไปที่คนอ่านเพศหญิง โดยแต่งเนื้อเรื่องโดยยึดผลงานผจญภัยแบบผู้ชายที่ผ่านมา  จากนั้นฑโอซามุจึงแต่งเรื่องนี้ขึ้น ผลคือมันเป็นการ์ตูนที่แม้จะเน้นผู้หญิง แต่ผู้ชายก็ดูได้  และมันก็ได้รับความนิยมจนเป็นผลงานอีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นของโอซามุ มีทั้งละครเวที และเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานของนักเขียนคนอื่นๆ (แน่นอนว่าเคยทำเป็นอนิเมะ) แม้ว่าจะมีเสียงวิจารณ์ว่าเนื้อหาแทบสอดแทรกลัทธิเกลียดชังสตรีในสังคมญี่ปุ่นช่วง 1950-60 (ผู้หญิงในเรื่องไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียงมากนัก)

    ดังนั้นก็ไม่แปลกแต่อย่างใดที่น่าจะเอาการ์ตูนเรื่องนี้มาทำอนิเมะใหม่ ใส่อะไรที่ทันสมัยเข้ากับยุคสมัย ก็กลายเป็นการ์ตุนที่น่าสนใจแล้ว


    MW (อ่านว่า มิว) (1976-1978)  


    MW  เป็นมังงะสามเล่มจบ  ที่โอซามุตั้งใจจะแต่งเพื่อเจาะตลอดผู้ใหญ่ ฉีกแนวการ์ตูนลายเส้นเด็กยุคแรกๆ (เสียดายที่การ์ตูนเรื่องนี้มี่ลิขสิทธิ์ในไทย) โดยเนื้อหากล่าวถึงชายคนหนึ่งชื่อมิจิโอะ ยูกิ ที่ถูกวางยาพิษโดยบังเอิญจาก MV ซึ่งเป็นอาวุธเคมีที่ทรงพลัง   แม้ว่าเขาจะรอดชีวิตมาได้ แต่เพราะการสูดดมก๊าซทำให้เขาเปลี่ยนไปมีจิตใจชั่วร้ายโหดเหี้ยม เขามีแผนจะผลิต MW และทำลายมนุษยชาติทั้งหมด ซึ่งกาไร เพื่อนสนิทที่รอดจากเกาะก๊าซพิษมาด้วยกันต้องพยายามเข้าขัดขวาง

    ผลงานเรื่องนี้โอซามุพยายามที่จะทำแนว Gekiga แนวลายเส้นจริงจัง ดราม่าที่เริ่มเป็นที่นิยมในมังงะในช่วงทศวรรษ 1960 และ 70 ผิดจากผลงานที่ผ่านมาของเขาที่ลายเส้นออกไปทางการ์ตูนดิสนีย์ที่นุ่มนวล ทำให้เป็นแนวที่แฟนโอซามุอยากจะดูมาก และยกเป็นมังงะที่ดีที่สุดอีกเรื่องของโอซามุก็ว่าได้


    Ayako (1972 - 1973)


    อายาโกะ (3 เล่มจบ) เป็นหนึ่งในการ์ตูนที่ดีมากของโอซามุ และในขณะเดียวกันมันก็เป็นการ์ตูนที่มืดมนมากที่สุดของโอซามุอีกด้วย    ที่เนื้อหาของเรื่องเป็นช่วงญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลก ที่ญี่ปุ่นกำลังฟื้นสงคราม แต่ในขณะเดียวกันก็มีโศกนาฏกรรมหนึ่งที่น่ากลัวซ่อนอยู่ เกี่ยวกับตระกูลเทงเงเคยยิ่งใหญ่ ตัวเอกคือ อายาโกะลูกสาวคนสุดท้องของตระกูลได้มีส่วนรู้เห็นคดีฆาตกรรมของพี่ชาย เมื่อเหล่าญาติทราบเรื่อง จึงต้องการปกปิดความจริงเพื่อชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล พวกเขาต้องเลือกที่จะกักขังอายาโกะไว้ในห้องใต้ดิน ไม่ได้เห็นเดือน เห็นตะวัน หรือรู้จักสังคมถึง 20 ปี เมื่อถึงเวลาที่เธอกลายเป็นสาวงามเธอก็ได้มีโอกาสออกมายังโลกภายนอก แต่กลายเป็นว่าเธอไม่สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมนี้ได้....

    อายาโกะกลายเป็นการ์ตูนที่สุดยอด ไม่ว่าจะผ่านไปทุกยุคทุกสมัย เนื้อหาก็ยังคงสนุก น่าติดตามอย่างไม่น่าเชื่อ  แม้ไม่มีสิงมหัศจรรย์เหมือนเรื่องอื่นๆ ของโอซามุ แต่ ด้วยเนื้อหาซับซ้อน  การเล่าเรื่อง  งานภาพที่ไม่ตกยุค (ไม่ใช้ลายเส้นแบบดีสนีย์สไตล์โฮวามุ)  ทำให้อายาโกะได้รับเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ดีมาก แต่ในขณะเดียวกันแฟนโอซามุบางส่วนรับไม่ได้ เพราะเนื้อหาการ์ตูนรุนแรง  มีฉากฆาตกรรม  เปลือยกาย  ฉากเซ็กต์   การร่วมประเวณีระหว่างพี่น้อง และโศกนากฎกรรมที่เจ็บปวดมากกว่าการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ของโอซามุที่ผ่านมา

     หากใครสนใจรายละเอียดการ์ตูนเรื่องนี้ว่ามันมืดมนยังไง โหดร้ายยังไ มีบล็อกเขียนแบบละเอียดที่ https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=shiryu&month=04-12-2012&group=5&gblog=16


    ก็จบลงเพียงเท่านี้  ซึ่งจะเห็นได้ว่าโอซามุทำผลงานการ์ตูนออกมาเยอะมาก แต่ละเรื่องก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง  บางเรื่องคนไทยอย่างเราก็ไม่เคยเห็น แต่มีเนื้อเรื่องที่น่าสนใจจนอยากเอามาทำอนิเมะเสียใหม่มาก และบางเรื่องก็ไม่ใช่การ์ตูนเด็กอย่างที่หลายเข้าใจผิด

    เนื้อเรื่องของโอซามุความจริงนั้น ทุกเรื่องมีความดาร์กซ่อนอยู่เสมอ

                    ปัจจุบันการ์ตูนของโอซามุมีสตูดิโอเฉพาะอยู่แล้ว เพียงแต่จะรวมมือกับอีกสตูดิโอไหนก็ว่ากันไป และเชื่อว่าอาจมีเรื่องใหม่ๆ ที่น่าสนใจออกมา หลังจากโดโรโระจบลงก็เป็นได้


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×