/

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

Start
506 views
7 mins read

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งจำเพาะเจาะจงเนื้อหานิทรรศการด้านมานุษยวิทยา ที่มีพิพิธภัณฑ์ด้านนี้ไม่มากนักในประเทศไทย ดำเนินงานโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มีคลังของสะสมโบราณวัตถุจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีภาคสนาม และได้รับบริจาคโบราณวัตถุและวัตถุทางวัฒนธรรมจำนวนมากจาก ดร.วินิจ วินิจนัยภาค จึงนำมาจัดแสดงเพื่อนำเสนอวิชาว่าด้วยเรื่องตัวคน และสิ่งที่คนสร้างขึ้น ทำให้ผู้เข้าชมได้ขยายมุมมอง ใคร่ครวญถึงสิ่งของที่นำมาจัดแสดง นำไปสู่การเข้าใจผู้คนในมิติที่รอบด้านขึ้น พร้อมกับมีนิทรรศการหมุนเวียนในหัวข้อต่างๆ เช่น นิทรรศการ “ทุ่งรังสิต” จากสมัน นาข้าว สาวโรงงาน ถึงนักศึกษาและเหี้ย ที่ทำให้รู้จักพื้นที่รังสิตและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ดียิ่งขึ้น และนิทรรศการ “มรดกวัฒนธรรมเชิงช่างเมืองเพชร” แสดงผลงานชั้นครูของช่างเมืองเพชรบุรี อาทิ ตำราดาว วัดขุนตรา และภาพวาดมหาชาติกัณฑ์กุมาร และนครกัณฑ์ ฝีมืออาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช ขณะที่นิทรรศการซึ่งได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษคือ นิทรรศการ “เจ้าชายน้อย : หนังสือ ของสะสมและการสนทนาข้ามวัฒนธรรม” ที่เปิดมุมมองวรรณกรรมฝรั่งเศสให้กว้างไกลกว่าการจัดแสดงประวัติผู้ประพันธ์ สิ่งของสะสม หากสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ผ่านการเผชิญหน้าทางวัฒนธรรมและบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในโลกร่วมสมัย

นิทรรศการ “ฃุนน้อย : เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาถิ่นสุโขทัย-ลายสือไท” ซึ่งย้ายจากส่วนแสดงหลักภายในอาคารนิทรรศการ ที่ปิดปรับปรุงหลังคาและซ่อมแซมอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มาจัดแสดง พร้อมกับนิทรรศการ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ณ อาคารส่วนต่อขยายที่อยู่ด้านข้างเชื่อมต่อกับพิพิธภัณฑ์ฯ โดยนำเสนอหนังสือ “ฃุนน้อย” ฉบับแปลขึ้นใหม่เป็นภาษาท้องถิ่นสุโขทัยและถ่ายถอดคำแปลด้วยอักษรลายสือไท สมัยสุโขทัย เพื่อเป็นสื่อกลางการสนทนาข้ามวัฒนธรรม เปิดประเด็นข้อถกเถียงและการศึกษาด้านการแปล-ภาษา-วัฒนธรรม (ท้องถิ่น) อันจะช่วยส่งเสริมความเข้าใจในความแตกต่างหลายหลากของมนุษย์และวัฒนธรรม ซึ่งก็เป็นเหตุผลและสิ่งที่ได้รับจากการเยี่ยมชมนานาพิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะด้านประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เทคโนโลยี การเกษตร ศิลปะ วัฒนธรรม และ “ผู้คน”

ศึกษาข้อมูลและรายละเอียดของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเพิ่มเติมได้ที่ https://museum.socanth.tu.ac.th

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย