ยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาโรคเอดส์สำหรับสตรีตั้งครรภ์

ยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาโรคเอดส์สำหรับสตรีตั้งครรภ์
(Antiretroviral medications in pregnant HIV-infected patients)

นพ.ภักดี แก้วแปงจันทร์
รศ.พญ.พรรณี ศิริวรรธนาภา


โรคเอดส์ (AIDS)

โรคเอดส์ (AIDS) หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Acquired immune deficiency syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Human immunodeficiency virus (HIV) ซึ่งเป็น RNA virus ที่มีคุณสมบัติเฉพาะในการทำลาย T-helper lymphocyte หรือ CD4 cells เป็นผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเสื่อมลงอย่างรวดเร็วจนทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้แก่ร่างกายไม่ได้ ในระยะสุดท้ายของโรคผู้ป่วยมักเสียชีวิตเนื่องจากอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อฉวยโอกาสบางชนิด เช่น เชื้อรา เชื้อวัณโรค เป็นต้น

การรักษาการติดเชื้อ HIV ในสตรีตั้งครรภ์

การรักษาผู้ที่ติดเชื้อ HIV ในสตรีตั้งครรภ์ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องถึง 25 ปี โดยได้มีการพัฒนาสูตรยาต้านไวรัสมาใช้ในสตรีตั้งครรภ์ซึ่งเป้าหมายของการให้ยา คือ เพื่อรักษาโรคติดเชื้อในส่วนของแม่ และเพื่อลดการถ่ายถอดเชื้อจากแม่ไปยังลูกในประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่าหลังจากมีการให้ยาต้านไวรัสแก่สตรีตั้งครรภ์แล้วโอกาสที่จะถ่ายทอดเชื้อจากแม่ไปยังลูกในครรภ์ได้ลดลงมาก

ความสำเร็จในการลดการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกนั้นเกิดจาก การตรวจคัดกรองภาวะการติดเชื้อ HIV ในสตรีตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ทุกรายและให้ยาต้านไวรัสตั้งแต่ต้น การผ่าตัดคลอดในรายที่มีข้อบ่งชี้อย่างเหมาะสม และการงดให้นมบุตรในรายที่แม่ติดเชื้อ

โดยการให้ยาต้านไวรัสจะให้กับสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อทุกราย โดยไม่ได้คำนึงถึงระดับCD4 T lymphocyte count และระดับPlasma HIV RNA copy number โดยจะต้องให้ยาต้านไวรัสทั้ง 3 ระยะ คือ ขณะตั้งครรภ์ ขณะเจ็บครรภ์คลอด ขณะคลอด และขณะให้นมบุตรด้วย โดยพบว่าสามารถลดโอกาสการถ่ายถอดเชื้อไปสู่ลูกในครรภ์ให้ลดลงเหลือน้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์

วงจรชีวิตของเชื้อ HIV

อนุภาคไวรัส HIV เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีการเกาะติดระหว่าง GP120 ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนที่อยู่บน Envelop ของเชื้อกับ CD4 receptor ที่อยู่บน CD4 cell หลังจากนั้นเชื้อจะแทรกตัวเข้าไปในCytoplasm ของ CD4 cellแล้วทำการแยกส่วนชั้นเปลือกนอกที่เป็นโปรตีนออกจากส่วนแกนกลางที่เป็นสารพันธุกรรม คือ Single stranded RNA หลังจากนั้น เอนไซม์ Reverse transcriptase จะเปลี่ยน RNA ของเชื้อให้เป็น Single stranded DNA ก่อน จากนั้น Single stranded DNA จึงจะถูกเปลี่ยนต่อให้อยู่ในรูป Doluble stranded DNA ก่อนที่จะเข้าไปเชื่อมต่อกับโครโมโซมของ เซลล์เจ้าบ้าน โดยอาศัยการทำงานของเอนไซม์ Integraseโดย Integrated viral DNA จะทำหน้าที่เป็นตัวก่อไวรัส (Provirus) กล่าวคือ Gene ของไวรัสจะสงบนิ่งเพื่อรอโอกาสที่เหมาะสม เช่น เมื่อ เซลล์เจ้าบ้าน อ่อนแอลงเนื่องจากมีการติดเชื้อชนิดอื่น โดย Provirus จะเร่งสร้างทั้ง RNAที่เป็นสารพันธุกรรมของเชื้อ และ mRNA ซึ่งจะไปควบคุมการสร้างโปรตีนของเชื้อ ซึ่งโปรตีนเหล่านี้บางตัวจะถูกสร้างในรูปโปรตีนต้นแบบ (Precursor) ที่มีโมเลกุลค่อนข้างใหญ่ก่อนแล้วจึงจะถูกย่อยด้วยเอนไซม์ Proteaseของเชื้อให้มีขนาดเล็กลงที่พร้อมจะไปใช้งานได้ จากนั้นจึงมีการประกอบตัวกันของส่วนประกอบต่าง ๆ ของไวรัสกลายเป็นอนุภาคไวรัสที่สมบูรณ์แบบ (Mature virus) และถูกปลดปล่อยออกจากเซลล์ไปติดเซลล์อื่น ๆ ต่อไป

กลไกการออกฤทธิ์ของยาต้านไวรัส HIV

นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนายาที่จะใช้ทำลายหรือต้านการเจริญเติบโตของไวรัสชนิดนี้ ซึ่งยาที่พัฒนาขึ้นมาจะมีกลไกการออกฤทธิ์ในขั้นตอนต่าง ๆ ในวงจรชีวิตของเชื้อดังต่อไปนี้

  1. ป้องกันไม่ให้อนุภาคไวรัสเข้าจับกับตัวรับ CD4 receptor บนCell membrane เช่นใช้สารสะลายRecombinant CD4 ฉีดเข้าไปในกระแสเลือดเพื่อขัดขวางไม่ให้ไวรัสจับกับ CD4
  2. ยับยั้งการหลอมตัวของไวรัสเข้ากับบนCell membrane (Fusion inhibitor)
  3. ยับยั้งการแยกส่วน (Uncoating) ของไวรัสที่เข้าสูเซลล์ ปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดที่มีประสิทธิภาพเช่นนี้
  4. ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Reverse transcriptase ยาหลายตัวที่นิยมใช้ในการรักษาโรคเอดส์ ในปัจจุบันจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อโดยอาศัยกลไกนี้
  5. ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Integraseขั้นตอนนี้น่าจะเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่จะสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ HIV แต่ยังไม่มีการศึกษากันมากนัก
  6. ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Protease ปัจจุบันมียาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งขั้นตอนนี้หลายชนิดที่ได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาโรคเอดส์ได้
  7. รบกวนหรือยับยั้งการประกอบตัวระหว่าง RNA กับโปรตีนเปลือกนอกของไวรัส และการเคลื่อนตัวของไวรัสออกจากเซลล์ ยังไม่มียาที่มีประสิทธิภาพเช่นนี้ในปัจจุบัน

ยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาโรคเอดส์ในสตรีตั้งครรภ์ในปัจจุบัน

1.1 ย าที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Reverse transcriptase ที่เป็นอนุพันธุ์ของสารNucleosides (Nucleoside reverse transcriptase inhibitors; NRTIs)

1.1.1 Zidovudine (Azidothymidine, Retrovi,AZT)

Zidovudineเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : C โดยสามารถผ่านออกทางรกได้เร็วและดี สามารถขับออกทางน้ำนมได้เป็นยาตัวแรกที่พบว่ามีผลยับยั้งเชื้อ HIV ทั้งในห้องปฏิบัติการ

กลไกการออกฤทธิ์ของAZT โดยตัวมันเองจะไม่มีฤทธิ์ แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูป Triphosphate โดยอาศัยเอนไซม์ Kinase ในเซลล์ ซึ่ง AZT triphosphate จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ Reverse transcriptase ได้อย่างค่อนข้างเฉพาะเจาะจง โดยจะมีผลยับยั้ง Reversetranscriptase ของเชื้อมากกว่า Cellular DNA polymerase ถึง 100 เท่า นอกจากนี้แล้ว AZTtriphosphateซึ่งมีสูตรโครงสร้างคล้ายคลึงกับ Thymidine บางส่วนจะถูกนำเข้าไปในสายของ DNA ของเชื้อแทน Thymidine เป็นผลให้การสร้าง DNA ของเชื้อหยุดชะงักด้วย

เภสัชจลนศาสตร์ยานี้จะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดี ถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับและขับออกทางปัสสาวะในรูป Glucoronide conjugate AZT ในรูป Triphosphaseจะมีค่าครึ่งชีวิตในเลือดประมาณ 1 ชม.

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยได้แก่ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้นอนไม่หลับ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งอาจเนื่องมาจากพิษของยาต่อ Erythoroid stemcell ภาวะซีดที่เกิดจากยานี้อาจแก้ไขได้ด้วยการให้สาร Erythropoietin เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง หรือเลี่ยงไปใช้ยาต้านไวรัสตัวอื่น นอกจากนี้แล้วการใช้ AZT ติดต่อกันนานๆ จะทำให้เล็บมีสีเข้มขึ้น กล้ามเนื้อเสื่อม(Myopathy) รวมทั้งเกิดพิษต่อตับ

ประโยชน์ในทางการแพทย์Zidovudineถือเป็นยาที่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยหญิงที่ตั้งครรภ์มากที่สุดซึ่งจากการศึกษาต่าง ๆ พบว่ามีประสิทธิภาพดีที่สุดสามารถลดการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และไม่ผลที่เป็นToxicityต่อทารกในครรภ์

การดื้อยา ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ได้รับยา AZT ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เชื้อ HIV เกิดการดื้อยาขึ้นได้ ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากการกลายพันธุ์ (Mutation) ของเอนไซม์ Reverse transcriptaseปัจจุบันนิยมใช้ AZT ร่วมกับยาอื่น ๆ เป็นแบบ double หรือ triple combination ในการรักษาโรคเอดส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและป้องกันการดื้อยาของเชื้อ

1.1.2 Dianosine(Dideoxyinosine, Videx,ddI)

Didanosineเป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่ม Category : Bพบว่าสามารถผ่านทางรกได้เล็กน้อย แต่ไม่มีข้อมูลเรื่องการผ่านทางน้ำนม

Didanosineเป็น Nucleoside analog อีกตัวหนึ่งที่นิยมใช้ในการรักษาโรคเอดส์ ยานี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูป2′,3′-dideoxyadenosine-5′-triphosphate (ddATP) ซึ่งจะมีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับ AZT

เภสัชจลนศาสตร์ddIจะไม่ทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร ดังนั้นจึงควรให้ร่วมกับยาลดกรด หรือให้มีการผสม Buffer ลงในเม็ดยาเพื่อเพิ่มการดูดซึมของยา ค่าครึ่งชีวิตของ ddIจะประมาณ 0.8-2.8 ชม.ยาที่รับประทานจะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะในรูปเดิมและเภสัชจลนศาสตร์ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยภาวะการตั้งครรภ์

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยได้แก่ ท้องเสีย ซึ่งอาจเนื่องมาจาก Buffer ที่ผสมในเม็ดยาอาการที่รุนแรงได้แก่การอักเสบของเส้นประสาทส่วนปลายและตับอ่อน ซึ่งโอกาสเกิดตับอ่อนอักเสบจะเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่ติดเหล้า ผู้ที่เคยเป็นตับอ่อนอักเสบมาก่อน หรือผู้ที่ใช้ยาในขนาดสูง อาการอื่น ๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง มีไข้ ผื่น สับสน

สำหรับผลกระทบของทารกในครรภ์ คือ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Fatal lactic acidosis

ประโยชน์ในทางการแพทย์ใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ เป็นแบบ Double หรือ Triple combination ในการรักษาโรคเอดส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและป้องกันการดื้อยาของเชื้อ

1.1.3 Zalcitabine (Deoxycytidine, ddC)

Zalcitabineหรือ ddCจะมีกลไกการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับ AZT และ ddIปัจจุบันเป็นยาตัวหนึ่งที่ใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสตัวอื่น ๆ ในการรักษาโรคเอดส์

เภสัชจลนศาสตร์ddCถูกดูดซึมได้ดีเมื่อให้โดยการ ค่าครึ่งชีวิตของยาในเลือดประมาณ 1-2 ชม. ยานี้จะถูกขับออกจากร่างกายทางไตประมาณ 75% มีเพียงส่วนน้อยที่ขับออกทางอุจจาระ

อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญจะคล้ายคลึงกับ ddIได้แก่ ทำให้เกิดการอักเสบเส้นประสาทส่วนปลายและตับอ่อนนอกจากนี้ยังมีผลทำให้เกิดแผลในหลอดอาหาร ท้องเสีย ผื่น ไข้ และกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง

1.1.4 Stavudine(2′,3′-Didehydro-3′-Deoxythymidine, Zerit, d4T)

Stavudineเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : C โดยสามารถผ่านออกทางรกและขับออกทางน้ำนมได้มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ HIV โดยการยับยั้งการงานของเอนไซม์ Reverse transcriptase

เภสัชจลนศาสตร์ยานี้จะถูกดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหาร และผ่าน Blood brain barrier ได้ดีพอสมควร ค่าครึ่งชีวิตของยาในเลือดประมาณ 1-2 ชม.ประมาณ 25-50% ของขนาดยาที่รับประทานจะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะในรูปเดิม

อาการไม่พึงประสงค์คล้ายคลึงกับ ddCคือ ทำให้ประสาทส่วนปลายอักเสบ

ผลกระทบต่อทารกในครรภ์ คือ เพิ่มโอกาสเกิดภาวะ Fatal lactic acidosisเมื่อใช้ยานี้แบบ Combination ที่มียาDidanosineและ Stavudineร่วมกัน

1.1.5 Abacavir (Ziagen, ABC)

Abacavirเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : C โดยสามารถผ่านออกทางรกและขับออกทางน้ำนมได้

เภสัชจลนศาสตร์ จากการศึกษาต่างๆ พบว่า Abacavir ไม่มีความแตกต่างในภาวะการตั้งครรภ์

อาการไม่พึงประสงค์สามารถทำให้เกิดการแพ้แบบรุนแรง Serious hypersensitivityได้ โดยจะพบอาการแสดงต่าง ๆ เช่น ไข้ ผื่นตามผิวหนัง อ่อนเพลีย อาการทางระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียถ่ายเหลว หรือ มีอาการปวดท้อง ดังนั้นคนที่ประวัติสงสัยจะแพ้ยาแนะนำให้ตรวจ Testing for HLA-B*5701 ก่อนการให้ยาเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อภาวะแพ้รุนแรง

1.1.6 Emtricitabine (Emtriva, FTC)

Emtricitabineเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : B โดยสามารถผ่านออกทางรกได้ดีมากและยังสามารถขับออกทางน้ำนมได้ด้วย

เภสัชจลนศาสตร์ พบว่า Emtricitabineมีเภสัชจลนศาสตร์ลดลงประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ แต่ไม่ส่งผลต่อการลดระดับของเชื้อไวรัสและการลดโอกาสการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก

1.1.7Lamivudine (Epivir, 3TC)

Lamivudineเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : Cโดยสามารถผ่านออกทางรกได้ดีมาก และยังสามารถขับออกทางน้ำนมได้

Lamivudine เป็น (-) –enantiomer ของ 2′,3′ –dideoxycytidineซึ่งเป็น –dideoxycynucleoside analog ที่สังเคราะห์ขึ้นมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับ 2′,3′ –dideoxycytidine (ddCzalcitabine) ต่างกันที่ต่ำแหน่ง 3′- ของน้ำตาล ribose ของ lamivudine เป็น sulfur จากการทดลองพบว่า(-)-enantiomer มีความสามารถในการยับยั้งเชื้อ HIV-1 และ HIV-2 ได้ใกล้เคียงหรือดีกว่า(+)-enantiomer แต่มีดวามเป็นพิษต่อเซลล์น้อย

เภสัชจลนศาสตร์ Lamivudineไม่ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยภาวะตั้งครรภ์เมื่อเทียบกับคนปกติ ใช้ในผู้ป่วยที่ติดเชื่อ HIV โดยใช้ร่วมกับ Zidovudineแต่ไม่แนะนำให้ใช้ Lamivudieตัวเดี่ยวเนื่องจากจะเกิดเชื้อดื้อยาได้เร็วมาก

1.2 ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Reverse transcriptase ที่ไม่ใช่อนุพันธุ์ของสารNucleosides (Non-nucleoside reverse transcriptase inhibitors; NNRTIs)

ยาในกลุ่มนี้มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้ง reverse transcriptase ที่แตกต่างจากพวกที่เป็นอนุพันธุ์ของNucleoside โดยจับกับเอนไซม์ Reverse transcriptase ที่ตำแหน่งใกล้ ๆ กับตำแหน่งที่อนุพันธุ์ของ Nucleoside จับ ออกฤทธิ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูป Triphosphate ก่อน

1.2.1.Efavirenz (Sustiva, EFV)

Efavirenzเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : Dโดยสามารถผ่านออกทางรกและขับออกทางน้ำนมได้

เภสัชจลนศาสตร์ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยการตั้งครรภ์ และมี Clearance ค่อนข้างสูง และพบว่าระดับในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์จะต่ำกว่าช่วงอื่น ๆ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มประมาณยาEfavirenzจะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดี มีค่าครึ่งชีวิตที่ค่อนข้างนานสามารถให้วันละครั้งได้ จับกับพลาสมาโปรตีนได้ดีทำให้เข้าสู่ CSF ได้น้อย ยานี้จะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับโดยเอนไซม์ CYP3A4 และ CYP2B6

จากการใช้ Efavirenzในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ พบว่ามีรายงานการเกิด Teratogenicity คือ Neural tube defect (Meningomyelocele) และ Anophthalmia with severe facial clefts and amniotic banding แต่จากผลการรวบรวมแล้วพบว่าEfavirenz ไม่ได้เพิ่มความผิดปกติของทารกในครรภ์อย่างมีนัยสำคัญที่แตกต่างจากกลุ่มคนทั่วไป

1.2.2 Nevirapine (Viramune, NVP)

Nevirapineเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : Cโดยสามารถผ่านออกทางรกและขับออกทางน้ำนมได้

เภสัชจลนศาสตร์ Nevirapineเป็นยาในกลุ่ม nonnucleoside analog ตัวแรกที่ FDA ของสหรัฐอเมริกายอมรับให้ใช้ในผู้ป่วยโรค AIDS Nevirapineเป็นอนุพันธุ์ของ dipyridoiazepinoneมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกับยาในกลุ่ม Benzodiazepine nevirapineออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Reverses transcriptase ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยน RNA ของไวรัสให้เป็น Single-strand DNA หลังจากนั้น DNA ที่สร้างจะถูกแยกออกจาก RNA โดยเอนไซม์ Ribonuclease H นอกจากนี้เอนไซม์ Reverses transcriptase ยังทำให้เกิด Duplication ของ Single-strand DNA ได้เป็น Double-stranded DNA ด้วย Nevirapineยับยั้งการทำงานของอนไซม์ Revesre transcriptase ฃองเชื้อ HIV-1 อย่างเฉพาะเจาะจงโดยจะจับกับเอนไซม์ Nonsubstrate binding site

จากการศึกษาพบว่า Nevirapineจะใช้ได้ผลดีต่อเชื้อ HIV ที่ดื้อต่อ AZT และยังเสริมฤทธิ์ของ AZT ในการต้านเชื้อ HIV ด้วย ยานี้จะถูกดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหารเมื่อให้โดยการรับประทาน ยาส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับเอนไซม์ Cytochrome P450 3A4 (CYP3A4) ก่อนที่จะขับออกจากร่างกาย

อาการไม่พึงประสงค์คือ การเกิดผื่นมักจะเกิดในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกของการรักษาและมีโอกาสเกิดเพิ่มขึ้นถ้าใช้ nevirapineร่วมกับยาต้านไวรัสอื่น ๆ ได้แก่ ผื่นที่ผิวหนังSevere skin rash (Stevens Johnson syndrome) และอันตรายต่อตับ Hepatotoxicityหรือ Liver failureได้ซึ่งเป็นผลอันตรายต่อชีวิต เกิดในผู้หญิงบ่อยกว่าผู้ชาย โดยมักจะเกิดในช่วง 18 สัปดาห์หลังได้รับยา Nevirapine และเกิดขึ้นได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ที่รับยาอาการอื่นๆ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ง่วง อ่อนล้าเป็นต้น

โดยอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวจะเกิดได้ในรายที่มีระดับ CD4 counts >250 cells/microLทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงบ่อยกว่าคนทั่วไปถึง 9.8 เท่า โดยเฉพาะHepatotoxicity

1.2.3 Etravirine (Intelence, ETV)

Etravirineเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : Bโดยสามารถผ่านออกทางรกและขับออกทางน้ำนมได้

ยังไม่มีการศึกษาที่ดีในมนุษย์ แต่จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า Etravirineไม่ได้มีผลเป็น teratogenic effects

1.2.4 Rilpivirine (Edurant, RPV)

Rilpivirineเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : B ยังไม่ทราบเรื่องการขับออกทางรกและขับออกทางน้ำนม

1.2.5 Delavirdine (Rescriptor)

Delavirdineเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : Cยังไม่ทราบเรื่องการขับออกทางรกและขับออกทางน้ำนม

สำหรับ Delavirdineพบว่าเมื่อใช้ร่วมกับ ddIและ AZT ในการรักษาโรคเอดส์จะให้ผลดีกว่าใช้ AZT ตัวเดียว Delavirdineจะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดีเมื่อให้รับประทาน แต่ถ้าได้รับยาร่วมกับอาหารที่มีไขมันจะลดการดูดซึม ยานี้จะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับเอนไซม์ CYP3A4 ก่อนขับออกจากร่างกาย

อาการไม่พึงประสงค์ คือ ผื่น แผลผุพอง แผลในปาก มีไข้ เยื่อตาอักเสบ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ

ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจาก Delavirdineมีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำใน และจากการทดลองพบว่ามี teratogenic ในสัตว์ทดลองด้วย

1.3 ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Reverse transcriptase ที่เป็นอนุพันธุ์ของสารNucleotides (Nucleotide inhibitors)

1.3.1Tenofovirdisoproxilfumaratem(Tenofovir DF, Viread)

Tenofovir DF เป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : C โดยสามารถผ่านออกทางรกและขับออกทางน้ำนมได้

เภสัชจลนศาสตร์Tenofovirdisoproxilfumaratemเป็น Prodrugที่จะต้องถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายเป็น Tenofovirซึ่งเป็นอนุพันธ์ของ Adenine ยานี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Reverse transcriptase และทำให้การต่อสายของ DNA หยุดชะงักTenofovir DF มีภาวะเภสัชจลนศาสตร์ลดลงประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ แต่ก็ไม่ส่งผลต่อการลดระดับของเชื้อไวรัสและการลดการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ chronic hepatitis B infection แนะนำให้ใช้ Tenofovir DF เป็นส่วนประกอบในยาต้านไวรัสซึ่งสามารถให้ร่วมกับ emtricitabineหรือ lamivudine ซึ่ง Tenofovir DF ถือว่าเป็นPreferred NRTI backbone ในผู้ป่วยกลุ่มนี้

Tenofovirจะต้องใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคเอดส์ตัวอื่นๆ จากการศึกษาพบว่ายานี้สามารถยับยั้งเชื้อ HIV-1 ที่รุนแรงในผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อน

อาการไม่พึงประสงค์ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืด

2. ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Protease

Protease เป็นเอนไซม์ที่สำคัญของไวรัสในการแยก Gag-pol polyproteinให้เป็น Reverse transcriptase protease และ Integaseซึ่งเป็นโปรตีนที่สำคัญของไวรัส ปัจจุบันได้มีการพัฒนายาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์นี้เพื่อใช้ในการรักษาโรคเอดส์ เนื่องจากเอนไซม์ Protease ของเชื้อ HIV จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างจาก Protease ของคน ดังนั้นยาในกลุ่มนี้จึงน่าจะมีผลต่อ เซลล์เจ้าบ้าน cell น้อยมากจากผลการวิจัยพบว่า เมื่อผู้ป่วยได้รับ Protease inhibitor เพียงตัวเดียวหรือได้รับร่วมกับยาต้านไวรัส HIV ตัวอื่น ๆ จะทำให้เชื้อไวรัสในกระแสเลือดลดลงอย่างมาก ในขณะที่ CD4 cell จะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วโดยทั่วไปจะแนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาต้านไวรัส HIV ตัวอื่น ๆ เพราะนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาแล้วยังช่วยชะลอการดื้อยาอีกด้วย

2.1 Saquinavir

Saquinavirเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : C โดยสามารถผ่านออกทางรกได้ แต่ไม่ทราบการขับออกทางน้ำนม เป็นยาในกลุ่ม Protease inhibitor ตัวแรกที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาให้ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์

เภสัชจลนศาสตร์ยานี้จะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยมากจะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับ โดยเอนไซม์ Cytochrome P4503A4 และขับออกจากร่างกายทางอุจจาระ ค่าครึ่งชีวิตของยาประมาณ 13.2 ชม.

อาการไม่พึงประสงค์พบน้อยได้แก่ ท้องเสีย คลื่นไส้ ไม่สบายในท้อง ปวดหัว อ่อนเพลีย

ข้อควรระวัง เนื่องจากยานี้จะถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายโดยเอนไซม์ CYP3A4 ดังนั้นจึงควรระวังเมื่อใช้ร่วมกับยาหรือสารใด ๆ ที่สามารถเหนี่ยวนำ (เช่น Rifampin carbamazepine dexamethasone phenytoin) หรือยับยั้งการทำงานของเอนไซม์นี้ได้ เช่น Ketoconazoleเพราะจะมีผลทำให้เกิดอันตรกิริยาซึ่งจะมีผลต่อระดับยาSaquinavirในกระแสเลือด และมีผลต่อการรักษาโรคได้

2.2 Ritonavir (Norvir)

Ritonavir เป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : C โดยสามารถผ่านออกทางรกได้ แต่ไม่ทราบการขับออกทางน้ำนม

เภสัชจลนศาสตร์ยานี้เมื่อใช้รับประทานจะดูดซึมจากร่างกายได้ดีพอสมควร ค่าครึ่งชีวิตของยาในร่างกายประมาณ 3-5 ชม. ประมาณ 35% ของขนาดยาที่ได้รับจะถูกขับออกจากร่างกายทางอุจจาระในรูปเดิมจากผลการวิจัยเมื่อใช้ยานี้ร่วมกับ AZT และ Lamivudine ปรากฏว่าจะให้ผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ HIV ได้ดีมาก

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยได้แก่ คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดศีรษะ การรับรสผิดปกติ ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น เอนไซม์ที่แสดงถึงการทำงานของตับสูงขึ้น

ข้อควรระวัง Ritonavir อาจจะเกิดอันตรกิริยาเมื่อใช้กับยาอื่น ๆ ได้ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยาบางตัว เช่น Alprazolam, Astemizole, Amiodarone, Cisapride, Clozapine, Encainide, Midazolam, Quinidine และ Rifabutinเป็นต้น

2.3 Indinavir(Crixivan)

Indinavirเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : C โดยสามารถผ่านออกทางรกได้ แต่ไม่ทราบการขับออกทางน้ำนมได้

Indinavirให้ผลในการลดจำนวนเชื้อ HIV ได้ดีมาก ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ที่ได้รับยานี้ร่วมกับ AZT หรือ Stavudineจะมีการพัฒนาจนเกิดอาการของโรคเอดส์และอัตราการตายน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับ AZT ร่วมกับ Lamivudine

อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญคือ นิ่วในไตดังนั้นจึงควรดื่มน้ำหรือของเหลวมาก ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ผื่นที่ผิวหนัง ปวดศีรษะ ท้องเสีย อ่อนเพลีย การรับรสผิดปกติระดับเอนไซม์ที่แสดงถึงการทำงานของตับเปลี่ยนแปลง คือHyperbilirubinemiaแต่อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง ไม่ถึงกับต้องหยุดยา

ข้อควรระวังเนื่องจาก Indinavirจะถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายโดยอาศัยเอนไซม์ CYP3A4 นอกจากนี้ยังพบว่ายานี้ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์นี้อีกด้วย ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเมื่อใช้ร่วมกับยาบางชนิด ยกตัวอย่างเช่นMidazolam, Astemizoleและ Cisaprideเพราะอาจจะเกิดอันตรกิริยาต่อกันได้

2.4 Nelfinavir (Viracept)

Nelfinavirเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : Bโดยสามารถผ่านออกทางรกได้เล็กน้อย แต่สามารถขับออกทางน้ำนมได้ดี

เภสัชจลนศาสตร์ ยาจะดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ช้ามากเมื่อเทียบกับยาที่ออกฤทธ์ยับยั้ง Protease ตัวอื่นๆการดูดซึมจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าถ้าให้ยาร่วมกับอาหาร ยานี้จะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับโดยเอนไซม์ CYP3A4, CYP2C19 และ CYP2D6 เมทตาบอไลท์ที่ได้จะยังคงมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ถูกขับออกจากร่างกายทางอุจจาระ

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย ได้แก่ ท้องเสีย

2.5 Atazanavir (Reyataz)

Atazanavirเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : B โดยสามารถผ่านออกทางรกและขับออกทางน้ำนมได้

อาการไม่พึงประสงค์ ทำให้ค่าการทำงานของตับผิดปกติ เช่นElevation in indirect (unconjugated) bilirubin

2.6 Darunavir (Prezista)

Darunavirเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : B โดยสามารถผ่านออกทางรกและขับออกทางน้ำนมได้จากการศึกษาพบว่ายานี้ไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ในด้าน Congenital or major metabolic anomalies

2.7 Fosamprenavir (Lexiva)

Fosamprenavirเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : Cยังไม่ทราบเรื่องความสามารถขับผ่านออกทางรกและการขับออกทางน้ำนมได้หรือไม่ และยังไม่มีการศึกษาที่ดีพอในหญิงตั้งครรภ์

2.8 Lopinavir-ritonavir (Kaletra)

Lopinavir-ritonavirเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : Cโดยสามารถผ่านทางรกและขับออกทางน้ำนมได้

อาการไม่พึงประสงค์ คือ การทำงานของตับและไตของทารกแรกคลอดจะลดลง เนื่องจากส่วนประกอบของยามีAlcohol 4.2 เปอร์เซ็นต์ และ Propylene glycol 15.3 เปอร์เซ็นต์ และยังอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อระบบหัวใจ ไต การหายใจและระบบเมทตาบอลิซึมได้

2.9 Tipranavir (Aptivus)

Tipranavirเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : C ยังไม่ทราบเรื่องความสามารถผ่านออกทางรกและการขับออกทางน้ำนมได้หรือไม่ และยังไม่มีการศึกษาที่ดีพอในหญิงตั้งครรภ์

3. ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลอมตัวของไวรัสเข้ากับCell membrane (Fusion inhibitor)

3.1 Enfuvirtide

Enfuvirtideเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : Bโดยสามารถขับผ่านออกทางรกได้เล็กน้อยหรือไม่ผ่านรกเลย แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการขับออกทางน้ำนม

Enfuvirtideเป็นยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคเอดส์ตัวใหม่ ที่ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการหลอมตัวของเชื้อเข้า

กับCell membrane ของเซลล์เจ้าบ้าน (Fusion) จึงสามารถยับยั้งกระบวนการเข้าเซลล์ (Penetration) ของไวรัสได้ ยานี้เป็นเปปไทด์ของกรดอะมิโนที่ได้จากการสังเคราะห์

เภสัชจลนศาสตร์ ยานี้จะจับกับ gp41 subunit ของเปลือกหุ้มที่เป็นไกลโคโปรตีนของไวรัส ป้องกัน

การเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (Conformation change) ที่จำเป็นต่อการหลอมรวมของเชื้อเข้ากับCell membraneยานี้จะจับกับ Plasma protein ได้ประมาณ 92 เปอร์เซ็นถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายโดยกระบวนการ Proteolytic hydrolysis มีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 3.8 ชั่วโมง

อาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ การเกิดปฏิกิริยาของบริเวรที่ฉีดยา อาจเกิด Hypersensitivity ได้

4. ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Integrase

ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Integrase ซึ่งเป็นเอนไซน์สำคัญของกระบวนการเพิ่มจำนวนของไวรัส HIVในช่วง Viral replication การยับยั่งเอนไซม์ Integraseจะทำให้วงจรการเพิ่มจำนวนของไวรัสถูกยับยั้งขั้นตอนนี้เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่จะสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ HIV ได้แต่ยังไม่มีการศึกษากันมากนัก

4.1 Raltegravir

Raltegravirเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : C โดยสามารถผ่านออกทางรกและขับออกทางน้ำนมได้แต่ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่เพียงพอในการใช้กับมนุษย์

4.2 Elvitegravir

Elvitegravirเป็นยาที่จัดอยู่ใน Category : B ยังไม่มีข้อมูลเกียวกับการขับผ่านออกทางรกและขับออกทางน้ำนมแต่ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่เพียงพอในการใช้กับมนุษย์

เอกสารอ้างอิง

  1. การป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากมารดาสู่ทารกด้วยยาต้านไวรัส. ใน: ประพันธ์ ภานุภาค และคณะ, บรรณาธิการ. แนวทางการตรวจวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ระดับชาติ ปี พ.ศ. 2553. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด, 2553: 293-327.
  2. Cunningham FG, Leveno KJ, Bloom SL, Hauth JC, Rouse, DJ, Spong CY. Sexually transmitted diseases. Williams Obstetrics. 23rd ed. New York: McGraw-Hill, 2010: 1235-1257.
  3. The use of antiretroviral drug for treating and preventing HIV infection , World Health Organization , June 2013
  4. ยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาโรคเอดส์ (ANTIVIRAL THERAPY IN AIDS) รศ. ดร. วิจิตรา ทัศนียกุลภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  5. www.uptodate.com/Use of antiretroviral medications in pregnant HIV-infected patients and their infants in resource-rich settings
  6. www.uptodate.com/Antiretroviral medications in pregnancy: Entry and integrase inhibitors” and “Antiretroviral medications in pregnancy: Protease inhibitors” and “Antiretroviral medications in pregnancy: Non-nucleoside reverse transcriptase inhibitors” and “Antiretroviral medications in pregnancy: Nucleoside reverse transcriptase inhibitors” and “Prenatal evaluation and intrapartum management of the HIV-infected patient in resource-rich settings
Read More

ทางเลือกในการสงวนภาวะเจริญพันธุ์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งนรีเวช

ทางเลือกในการสงวนภาวะเจริญพันธุ์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งนรีเวช

พญ.สุพรรษา ศรีชุ่มจิตร
อ.มนัสวี มโนปัญญา


 บทนำ

โรคมะเร็งถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของระบบสาธารณสุขทั่วโลก ในปีค.ศ.2010 ทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จำนวน1,529,560 ราย มีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตจำนวน569,000 ราย ในจำนวนดังกล่าวมีผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชจำนวน 83,750 ราย และเสียชีวิตจำนวน 27,710 ราย(1)โดยประมาณร้อยละ15-21 จะเกิดกับผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 40 ปี สำหรับในประเทศไทย จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปีค.ศ.2011 โรคมะเร็งในสตรีที่พบมากคือสุดตามลำดับคือ มะเร็งเต้านม(ร้อยละ 47),มะเร็งปากมดลูก(ร้อยละ 16),มะเร็งลำไส้(ร้อยละ 10) ส่วนมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งรังไข่พบมากเป็นอันดับที่ 5และ6 ตามลำดับ

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่บางครั้งไม่มีการนำเสนอทางเลือกในการสงวนภาวะเจริญพันธุ์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งนรีเวชอย่างเหมาะสม อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น ขาดความรู้ ไม่มีความชำนาญในการผ่าตัดที่เหมาะสม หรือมีความกังวลเกี่ยวกับผลการรักษาของโรคมะเร็งดังกล่าว เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรก อาจยังไม่พร้อมที่จะรับฟังหรือตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาที่ซับซ้อนดังกล่าวได้

มะเร็งปากมดลูก

ในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ 12,200 ราย จำนวน 1,800 รายเป็นผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี (1) และยังเป็นมะเร็งนรีเวชที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 ของไทยอีกด้วย

มาตรฐานของการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกตาม International FederationofGynecology andObstetrics (FIGO) ระยะที่ I-IIA คือการผ่าตัดมดลูกแบบถอนรากถอนโคน (Radical hysterectomy) อย่างไรก็ตาม สามารถทำการคัดเลือกผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้นที่มีความเหมาะกับการรักษาแบบสงวนภาวะเจริญพันธุ์ได้ ดังนี้

ระยะ IA1หมายถึงมีการลุกลามไปในสโตรมาน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร อาจสามารถให้การรักษาโดยการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย หรือตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้าขนาดใหญ่นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงวิธีการตัดปากมดลูกด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย(2)โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ป่วยที่สามารถใช้วิธีการรักษาแบบอนุรักษ์คือ(3)

  1. การขูดชิ้นเนื้อ endocervixให้ผลลบ
  2. ไม่มีการลุกลามเข้าไปในหลอดเลือดหรือหลอดน้ำเหลือง (LVSI)เนื่องจากพบว่ามีการกลับเป็นซ้ำของโรคมากขึ้นจากร้อยละ 3.2 เป็น 9.7 เมื่อมีการลุกลามเข้าไปในหลอดเลือดและหลอดน้ำเหลือง
  3. ขอบเขตของ endocervixให้ผลลบ พบว่าหากผลการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจให้ผลบวก มีโอกาสเกิดการลุกลามบริเวณข้างเคียงของโรคประมาณร้อยละ 10

โดยผู้ป่วยที่เข้าได้กับเกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าว จะมีความเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำของโรคน้อยกว่าร้อยละ 0.5(3)แต่สำหรับมะเร็งปากมดลูกชนิด Adenocarcinoma นั้นเป็นปัญหาในหารประเมินความลึกของการลุกลามมากกว่า อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่ามีการกลับเป็นซ้ำของโรคเพียงเล็กน้อยในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกชนิด Adenocarcinoma ที่ได้รับการรักษาโดยการตัดปากมดลูก

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการรักษามะเร็งปากมดลูกเพื่อสงวนภาวะเจริญพันธุ์คือ ต้องตัดให้ปราศจากขอบเขตของรอยโรค และผู้ป่วยต้องมีความเข้าใจต่อความเสี่ยงในการเกิดการคลอดก่อนกำหนดเมื่อมีตั้งครรภ์ มีการศึกษาพบว่าภายหลังจากการตัดปากมดลูกรูปกรวย จะมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น 2.59 เท่า และความเสี่ยงต่อทารกน้ำหนักน้อยเพิ่มขึ้น 2.53 เท่า ภายหลังจากการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น 1.70 เท่า และความเสี่ยงต่อทารกน้ำหนักน้อยเพิ่มขึ้น 1.82 เท่า(4) แต่อย่างไรก็ตามมีรายงานการศึกษาล่าสุดโดยเก็บข้อมูลย้อนหลังพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้าไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการคลอดก่อนกำหนด(5)

ระยะ IA2 และ IB1 คือมีการลุกลามไปในสโตรมามากกว่า 3 มิลลิเมตร ในกลุ่มนี้จะมีอัตราการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองร้อยละ7 และการรักษามาตรฐานจะหมายรวมถึงการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานร่วมด้วย ดังนั้นแนวทางในการรักษาเพื่อสงวนภาวะเจริญพันธุ์ คือ การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยแบบกว้าง (Radical trachelectomy) ร่วมกับการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน โดยวิธีการผ่าตัดอาจทำได้ทางช่องคลอด ช่องท้อง ส่องกล้อง หรือใช้หุ่นยนต์ มีเกณฑ์การคัดเลือกผู้ป่วยให้เข้ารับการรักษาดังกล่าวคือ(3)

  1. ต้องการรักษาแบบสงวนภาวะเจริญพันธุ์
  2. สามารถเข้ารับการตรวจติดตามได้
  3. เซลล์มะเร็งชนิด Squamous cell และ Adenocarcinoma ที่ได้รับการแยกออกจากชนิด Undifferentiated หรือ Clear cell แล้ว
  4. ระยะ IA1 ที่มี LVSI หรือระยะ IA- IB1ที่ขนาดรอยโรคน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 เซนติเมตร
  5. ไม่มีหลักฐานการกระจายของโรคไปยังต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน

สำหรับวิธีการรักษาดังกล่าวพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนโดยรวมประมาณร้อยละ 2.5 และมีอัตราการ

กลับเป็นซ้ำร้อยละ 4ส่วนอัตราการตายใกล้เคียงกับการรักษาโดยผ่าตัดมดลูกแบบกว้างตามปกติ โดยหลังจากรักษาด้วยการตัดปาดมดลูกเป็นรูปกรวยแบบกว้าง มีการแนะนำให้ตรวจติดตามด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกร่วมกับตรวจหาเชื้อ HPV ความเสี่ยงสูง (PAP with high risk HPV testing)ทุก 3 เดือน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของกายวิภาคภายหลังผ่าตัด อาจทำให้มีเซลล์ glandular ปรากฏในการตรวจคัดกรอง ทำให้เกิดการวินิจฉันคลาดเคลื่อนเป็น Atypical glandular cell of undetermined significant ได้ สำหรับผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว แสดงในตารางที่1(3)

ตารางที่1

ผู้ป่วยควรรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหลังการตั้งครรภ์ คือ มีโอกาสเกิดการคลอดก่อนกำหนดและการแท้งมากขึ้น พบอัตราการแท้งช่วงไตรมาสแรกร้อยละ 19 และร้อยละ 9.5 ในช่วงไตรมาสที่สอง(6) ดังนั้นจึงควรมีการส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกเพื่อวางแผนก่อนการผ่าตัดด้วย

อีกแนวทางที่มีบทบาทในแถบยุโรปคือการให้เคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด ซึ่งมีการเก็บข้อมูลติดตามผู้ป่วยไม่พบมีการกลับเป็นซ้ำของโรคหลังการรักษา 69 เดือน(7) แต่ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดมดลูกแบบกว้างแต่ยังต้องการมีบุตร คือ lateral ovarian transposition(LOT) จากการศึกษาพบว่าภายหลังการทำ LOT และฉายแสงบริเวณอุ้งเชิงกราน ผู้ป่วยร้อยละ 71 สามารถคงการทำงานของไร่ไข่ไว้ตามปกติได้ และอัตราการการทำงานล้มเหลวของรังไข่ประมาณร้อยละ 11 เมื่อได้รับการฉายแสงน้อยกว่าหรือเท่ากับ 300 cGyและเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 เมื่อได้รับการฉายแสงมากกว่า 300 cGy

มะเร็งรังไข่

พบผู้ป่วยมะเร็งรังไข่รายใหม่ในสหรัฐอเมริกาปีค.ศ.2010 จำนวน 21,880 ราย(1) สำหรับในประเทศไทย เป็นมะเร็งนรีเวชที่พบบ่อยเป็นอันดับ 3 หรือประมาณร้อยละ 4 ของมะเร็งในสตรีทั้งหมด

Low malignant potential

ถึงแม้ว่าผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ส่วนมากมักจะมาพบแพทย์เมื่อเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว แต่ยังมีผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกชนิด Low malignant potential(LMP) ,มะเร็งรังไข่ระยะที่1()FIGO และ Germ cell tumor ซึ่งมักจะอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ พบว่าอายุเฉลี่ยของผู้ป่วย LMPครั้งแรกที่วินิจฉัยมีค่ากลางอยู่ที่อายุ 45 ปี และพบว่าร้อยละ 34 ของผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 40 ปี(8)โดยทั่วไปเนื้องอกรังไข่ชนิดนี้ รักษาโดยการผ่าตัดมดลูกและรังไข่สองข้างทางหน้าท้อง พบว่ามีร้อยละ 25 ของกลุ่ม LMP ที่พบว่ามีการลุกลามเป็นมะเร็งเมื่อมีการทบทวนทางพยาธิวิทยา

ในรายที่ผู้ป่วยต้องการสงวนภาวะเจริญพันธุ์ วิธีการผ่าตัดคือ ผ่าตัดรังไข่ 1 ข้างและผ่าตัดกำหนดระยะโรค(complete surgical staging)ซึ่งใช้ในกรณีที่มีเนื้องอกอยู่ในรังไข่ข้างเดียว สำหรับการผ่าตัดเลาะเฉพาะถุงน้ำรังไข่ออก(Cystectomy)ไม่ได้เป็นข้อห้าม แต่ผู้ป่วยต้องยอมรับโอกาสกลับเป็นซ้ำได้มากกว่าร้อยละ 30 ในกรณีเป็นเนื้องอกรังไข่2ข้าง การรักษาที่เหมาะสมที่สุดคือ การผ่าตัดเลาะถุงน้ำรังไข่ทั้งสองข้างผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ของผู้ป่วยที่มีเนื้องอกรังไข่ชนิด LMP ที่เข้ารับการผ่าตัดแบบสงวนภาวะเจริญพันธุ์ดังในตารางที่2(3) ซึ่งการเลือกการรักษาเพื่อสงวนภาวะเจริญพันธุ์นั้น ควรพิจารณาในผู้ป่วยอายุน้อย ที่มีความต้องการมีบุตรในอนาคต และเนื้องอกนั้นสามารถผ่าตัดออกได้หมด ขณะผ่าตัดหากผลชิ้นเนื้อด่วน(Frozen section)ได้ข้อมูลไม่ชัดเจน แนะนำให้ทำการรักษา2ขั้นตอน คือ 1. ผ่าตัดเลาะเฉพาะเนื้องอก/รังไข่ เพื่อสงวนการเจริญพันธุ์ และ2. เมื่อผลชิ้นเนื้อสุดท้ายพบว่ามีการลุกลามเป็นมะเร็ง ให้ผ่าตัดเพิ่มเติมภายหลังได้

ตารางที่2

มะเร็งชนิด Germ cell

มะเร็งชนิด Germ cell พบได้ประมาณร้อยละ 5 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด ค่ากลางของอายุในผู้ป่วยกลุ่มนี้คืออายุ 19 ปี และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะอยู่ในระยะที่ 1ดังนั้นการรักษาแบบสงวนภาวะเจริญพันธุ์จึงเป็นแนวทางการรักษามาตรฐาน โดยมีขั้นตอนที่แนะนำดังนี้

  1. การตัดเนื้องงอกออกโดยไม่มีการแตกรั่วของก้อน
  2. เก็บท่อนำไข่ไว้กรณีที่ไม่ได้ติดแน่นกับก้อนเนื้องอกรังไข่มาก
  3.  เก็บน้ำล้างช่องท้องหรือเนื้อในช่องท้อง
  4. ตรวจและคลำบริเวณเยื่อแขวนกระเพาะในช่องท้อง(Omentum) และตัดบริเวณที่สงสัยออก
  5. ตรวจและคลำต่อมน้ำเหลืองบริเวณ iliac และ aortocavalและตัดบริเวณที่สงสัยออก

มีการรายงานพบว่า ร้อยละ 90-95 ของผู้ป่วยมะเร็งชนิด Germ cell tumor หายจากโรคเมื่อได้รับยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัด สำหรับผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบสงวนภาวะเจริญพันธุ์ แสดงในตารางที่3(3)ส่วนการเกิดภาวะขาดระดูหลังการผ่าตัดและให้เคมีบำบัดน้อยกว่าร้อยละ 3

ตารางที่ 3

มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่

มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่พบได้ประมาณร้อยละ 80 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด การรักษาแบบสงวนภาวะเจริญพันธุ์ในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีน้อย และมีการศึกษาเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ภายหลังการรักษาไม่มากนัก โดยทั่วไปมาตรฐานการรักษาของมะเร็งรังไข่ชนิดนี้ประกอบด้วย การผ่าตัดมดลูกและรังไข่สองข้าง ตัดเยื่อแขวนกระเพาะ เก็บน้ำในช่องท้อง และการเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานและข้างหลอดเลือดแดงใหญ่ และตามด้วยการให้เคมีบำบัด อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ป่วยที่ลักษณะทางพยาธิวิทยาเป็น Well differentiated ,ก้อนไม่แตก, มีก้อนอยู่ที่รังไข่ข้างเดียวโดยไม่มีพังผืด และไม่มีน้ำในช่องท้อง สามารถให้ทางเลือกในการรักษาแบบสงวนภาวะเจริญพันธุ์ ทำได้โดยการผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่1ข้างและผ่าตัดกำหนดระยะโรค แต่สงวนมดลูก รังไข่และท่อนำไข่อีกข้างไว้(9) ไม่แนะนำให้ทำการสุ่มตัดชิ้นเนื้อปกติของรังไข่อีกข้างเนื่องจากอาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยากได้ และหากลักษณะภายนอกของรังไข่อีกข้างปกติ โอกาสที่จะกลายไปเป็นมะเร็งน้อยกว่าร้อยละ 3 ผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยกลุ่มนี้แสดงในตารางที่4(3)

ตารางที่ 4

ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจำเป็นต้องได้รับเคมีบำบัดหลังการผ่าตัด ซึ่งมีอัตราของการขาดระดูหรือระดูลดลงสูง เมื่อ รักษาด้วย Alkylating agent และการเจริญเติบโตของ Follicle ลดลง การกลับมามีรอบระดูปกติขึ้นอยู่ กับอายุและปริมาณของ Follicle ของรังไข่ จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 ปี มีภาวะขาดระดูประมาณร้อยละ 40 เทียบกับร้อยละ 76 ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปี

การรักษาทางเลือกอื่นๆ เช่น การแช่แข็งเพื่อรักษาสภาพตัวอ่อน ,ไข่ และเนื้อเยื่อรังไข่ โดยวิธีการที่ได้ผลมากที่สุด คือการเก็บไข่จากรังไข่ ตามด้วยการปฏิสนธิในหลอดแก้วและแช่แข็งตัวอ่อน สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่พร้อมสำหรับการผสมเทียม หรือไม่มีอสุจิสำหรับผสม อาจทำการแช่แข็งไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสมหรือเนื้อเยื่อรังไข่ได้ อย่างไรก็ตามอัตราความสำเร็จของวิธีต่างๆดังกล่าวยังน้อยอยู่มาก ถึงแม้จะมีความพยายามพัฒนาเทคนิคการผสมเทียมและการแช่แข็งเพื่อเพิ่มอัตราการคลอดก็ตาม ดังนั้นทางเลือกในการอุ้มบุญและการเลี้ยงบุตรบุญธรรมจึงเป็นทางเลือกที่มีการพูดถึงมากขึ้น

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

พบผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกรายใหม่ในสหรัฐอเมริกาปีค.ศ.2010 จำนวน43,470 ราย(1) สำหรับในประเทศไทย เป็นมะเร็งนรีเวชที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 หรือประมาณร้อยละ 4 ของมะเร็งในสตรีทั้งหมด

พบว่าร้อยละ 8-14 ของผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ดังนั้นการรักษาแบบสงวนภาวะเจริญพันธุ์จึงมีความสำคัญในกลุ่มดังกล่าว โดยแนวทางการผ่าตัดรักษาทั่วไปผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก คือ การผ่าตัดมดลูก รังไข่และท่อนำไข่สองข้าง รวมถึงการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกรานและหลอดเลือดแดงใหญ่ตามความเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละราย สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกการรักษาด้วยฮอร์โมนเป็นวิธีหลักในการรักษาแบบสงวนการเจริญพันธุ์ ดังนั้นความสำเร็จของการรักษาขึ้นอยู่กับจำนวนรีเซ็ปเตอร์(Receptor)ที่อยู่บนเซลล์มะเร็ง โดยพบว่ามะเร็งที่มีรีเซ็ปเตอร์ของโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจน จะมีอัตราตอบสนองต่อการรักษาร้อยละ26-89และมะเร็งที่ไม่มีรีเซ็ปเตอร์ดังกล่าวจะมีอัตราการตอบสนองเพียงร้อยละ 8-17 เท่านั้น เกณฑ์การคัดเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมกับการรักษาด้วยฮอร์โมนคือ (3)

  1. Grade1 ,Well differentiated
  2. ไม่มีการลุกลามเข้าไปในหลอดเลือดและหลอดน้ำเหลืองในเนื้อเยื่อที่เพียงพอจากการขูดมดลูก
  3. ไม่มีการลุกลามเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูกจากการตรวจด้วยเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
  4. ไม่พบการกระจายของโรคจากการตรวจด้วยเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์
  5. ไม่พบก้อนบริเวณปีกมดลูกจากการเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์หรืออัลตราซาวด์ เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในวัยที่ยังไม่หมดประจำเดือนมักมีการเกิดมะเร็งรังไข่ร่วมด้วยได้ถึงร้อยละ 29
  6. ตรวจพบปริมาณและการกระจายของโปรเจสเตอร์โรนรีเซ็ปเตอร์อย่างมากของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกจากการตัดชิ้นเนื้อหรือขูดมดลูก

การให้คำปรึกษาผู้ป่วยเกี่ยวกับความเสี่ยงของการใช้ฮอร์โมนเพื่อการรักษามีความสำคัญ

แพทย์ผู้ให้การรักษาควรตระหนักว่ายังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้โปรเจสเตอโรนที่เหมาะสม ก่อนหน้านี้มีการใช้megestrolacetate, medroxyprogesterone acetate,และห่วงคุมกำเนิดชนิดที่มีโปรเจสเตอโรน แต่ระยะเวลาขนาดของการใช้ยังไม่มีข้อตกลงกันแน่ชัด ในปัจจุบันมีการใช้ megestrolacetate ขนาด 160 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ medroxyprogesteroneacetae 600 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลานาน 3 เดือน จากนั้นตรวจเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกมาตรวจซ้ำภายใน3 เดือน เพื่อประเมินการดำเนินโรคว่าลดลง คงเดิม หรือลุกลาม โดยมีการศึกษาพบว่าร้อยละ 76 ของผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาภายใน 12 สัปดาห์ ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยร้อยละ 24 ที่มีการกลับเป็นซ้ำของโรค(10)ในรายที่การดำเนินของโรคคงเดิมหรือลุกลาม ควรพิจรณาผ่ตัดมดลูกในรายที่การดำเนินโรคลดลง การให้โปรเจสเตอโรนต่อ 6-9 เดือนเป็นแนวทางที่ยอมรับได้ เมื่อได้รับการรักษาครบแล้ว และไม่พบการกลับเป็นซ้ำ จะแนะนำให้ผู้ป่วยมีบุตรทันที และตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดภายหลังคลอด และเนื่องจากการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมักเกี่ยวกับโรคอ้วน โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ และภาวะไม่ตกไข่ ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้มักมีภาวะมีบุตรยากปฐมภูมิและทุติยภูมิอยู่แล้ว และต้องอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เพื่อการมีบุตร ส่วนเรื่องความปลอดภัยของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์และยาที่ใช้ในเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด สำหรับผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ของผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่รักษาแบบสงวนภาวะเจริญพันธุ์ แสดงเห็นในตารางที่ 5

ตารางที่ 5

สรุป

ผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกจำนวนหนึ่ง ที่การรักษาแบบสงวนภาวะเจริญพันธุ์มีความจำเป็น แพทย์ควรมีความรู้เกี่ยวกับทางเลือก ข้อห้าม และเกณฑ์การคัดเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสม ถึงแม้ในปัจจุบันการรักษาแบบสงวนภาวะเจริญพันธุ์ไม่ได้เป็นการรักษามาตรฐานของทุกโรค แต่ผู้ป่วยควรได้รับการเสนอเป็นทางเลือกการรักษา ให้เปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับจากการรักษาดังกล่าวการได้คำปรึกษาจากแพทย์สหสาขาทั้งแพทย์มะเร็งนรีเวช เวชศาสตร์มารดาและทารก เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ จะให้ประโยชน์สูงสุดต่อการเข้าใจทางเลือกการรักษาและส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ป่วยด้วย

บรรณานุกรม

  1. Jemal A, Siegel R, Xu J, Ward E. Cancer Sta-tistics, 2010. CA Cancer J Clin 2010;60:277-300.
  2. Diakomanolis E, Haidopoulos D, RodolakisA, et al. Laser CO(2) conization: a safe mode oftreating conservatively microinvasivecarci-noma of the uterine cervix. Eur J ObstetGyne-col ReprodBiol2004;113:229-33
  3. Eskander RN, Randall LM, Berman ML, Tewari KS, Disaia PJ, Bristow RE. Fertility preserving options in patients with gynecologic malignancies. Am J ObstetGynecol 2011;205:103–10.
  4. Kyrgiou M, Koliopoulos G, Martin-Hirsch P,Arbyn M, Prendiville W, Paraskevaidis E. Ob-stetric outcomes after conservative treatmentfor intraepithelial or early invasive cervical le-sions: systematic review and meta-analysis.Lancet 2006;367:489-98
  5. Werner C, Lo J, Heffernan T, Griffith W,McIntire D, Leveno K. Loop electrosurgical ex-cision procedure and risk of preterm birth. Ob-stet Gynecol 2010;115:605-8.
  6. Jolley J, Battista L, WingD. Management ofpregnancy after radical trachelectomy: case re-ports and systematic review of the literature.Am J Perinatol 2007;24:531-9
  7. Maneo A, Chiari S, Bonazzi C, MangioniC.Neoadjuvant chemotherapy and conservativesurgery for stage IB1 cervical cancer. GynecolOncol 2008;111:438-43
  8. Skírnisdóttir I, Garmo H, Wilander E, Holm-berg L. Borderline ovarian tumors in Sweden1960-2005: trends in incidence and age at di-agnosis compared to ovarian cancer. Int J Can-cer 2008;123:1897-901
  9. Tewari K, Di Saia P. Ovulatory failure, fertilitypreservation and reproductive strategies in thesetting of gynecologic and non-gynecologicmalignancies. Eur J GynaecolOncol 2006;27:449-61
  10. Ramirez P, FrumovitzM, BodurkaD, SunC,Levenback C. Hormonal therapy for the man-agement of grade 1 endometrial adenocarci-noma: a literature review. GynecolOncol 2004;95:133-8.
Read More

การคุมกำเนิดในวัยรุ่น

การคุมกำเนิดในวัยรุ่น

พ.ญ. ธิติกาญจน์ เลิศหิรัญวงศ์
อ.ที่ปรึกษา ร.ศ. พ.ญ. สายพิณ พงษธา


อัตราการตั้งครรภ์และการแท้งในวัยรุ่นของสหรัฐอเมริกามีอัตราส่วนสูงกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากการใช้วิธีการคุมกำเนิดที่ไม่ต่อเนื่อง, ไม่เหมาะสม หรือไม่ได้คุมกำเนิด ข้อมูลระดับชาติ (National data) จากการสำรวจในปี 2006-2008 พบว่า การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ใช้มากที่สุดในวัยรุ่น เนื่องจากสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ อัตราส่วนการใช้วิธีคุมกำเนิดมีดังนี้

  • ถุงยางอนามัย 95%
  • การหลั่งภายนอก 58%
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด 55%
  • ยาฉีดคุมกำเนิด 17%

นอกจากนี้ ในวัยรุ่นพบว่ามีการใช้การคุมกำเนิดฉุกเฉิน 17%, แผ่นแปะคุมกำเนิด 13%, การใส่ห่วงในช่องคลอด (Vaginal ring) 7% การวางแผนเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิดของวัยรุ่นตอนต้นเป็นเรื่องยาก ถ้าไม่มีผู้ใหญ่คอยช่วยดูแลให้คำแนะนำ เมื่อเปรียบเทียบกับวัยรุ่นตอนปลายจะสามารถวางแผนในการคุมกำเนิดและมีการตัดสินใจที่ดีกว่า

ปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นต้องการการคุมกำเนิด คือ

  • รู้สึกว่าการตั้งครรภ์เป็นผลเสีย
  • วางแผนที่จะศึกษาต่ออีกเป็นระยะเวลานาน
  • อายุมากขึ้น
  • กลัวการตั้งครรภ์หรือเคยตั้งครรภ์มาก่อน
  • ครอบครัว เพื่อน หรือแพทย์ให้การสนับสนุนในการคุมกำเนิด

ปัจจัยที่มีผลทำให้วัยรุ่นไม่สามารถที่จะเริ่มการคุมกำเนิดได้

เกิดจากการไม่สามารถเข้ารับบริการอย่างเป็นส่วนตัวได้, กลัวการตรวจภายในเมื่อมารับบริการ หรือกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด เป็นต้น

1. ต้องการความเป็นส่วนตัวและปิดเป็นความลับ

แพทย์ควรตระหนักว่าวัยรุ่นก็ต้องการการบริการที่เป็นความลับ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อวัยรุ่นวิธีหนึ่งก็คือการที่แยกดูแลวัยรุ่นโดยไม่ขึ้นกับพ่อแม่ (independent)

ผู้ปกครองและวัยรุ่นจำเป็นต้องได้รับทราบข้อมูลในการคุมกำเนิดร่วมกัน โดยที่วัยรุ่นเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ ต่างจากในวัยเด็กที่ผู้ปกครองจะเป็นผู้สื่อสารและตัดสินใจโดยตรง และในการเข้ารับบริการการที่แพทย์เปิดโอกาสพูดคุยกับวัยรุ่นเป็นการส่วนตัว โดยปราศจากพ่อแม่ ทั้งในเรื่องการซักประวัติทั่วไป ประวัติทางสูติกรรมและนรีเวช รวมทั้งเรื่องเพศสัมพันธ์ จะทำให้ทราบข้อมูลได้มากกว่าและอาจทราบพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงของวัยรุ่นได้ เพราะบางครั้งวัยรุ่นต้องการปิดเป็นความลับจากผู้ปกครอง

2. ทางด้านกฎหมาย

ในแต่ละรัฐของสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกันอยู่เรื่องกฎหมาย การเข้ารับบริการเกี่ยวกับการคุมกำเนิดของวัยรุ่น โดยที่ไม่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย บางรัฐวัยรุ่นสามารถเข้ารับบริการได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่บางรัฐจำเป็นต้องมีผู้ปกครองอยู่ด้วย และต้องให้ผู้ปกครองเป็นผู้เซ็นต์ใบยินยอม เป็นการขัดขวางการเข้ารับบริการด้านการคุมกำเนิดของวัยรุ่น

3. การตรวจภายใน

วัยรุ่นส่วนมากรู้สึกว่าการตรวจภายในเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่ต้องการเข้ารับบริการในการคุมกำเนิด และประสบการณ์ที่ดีในการตรวจภายในครั้งแรกก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับวัยรุ่น ด้วยเหตุนี้ FDA จึงไม่แนะนำว่ามีความจำเป็นในการตรวจภายแก่วัยรุ่นตั้งแต่การมารับบริการคุมกำเนิดครั้งแรกในวัยรุ่นที่ไม่มีปัญหาทางนรีเวช (เช่น ตกขาวผิดปกติ, คันหรือมีกลิ่นเหม็นในช่องคลอด เป็นต้น) วัยรุ่นเหล่านี้มักจะกลับมาตรวจภายในเอง ภายใน 3-6 เดือน

นอกจากการตรวจภายในแล้ว เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายทั่วไปแล้วพบการบาดเจ็บตามร่างกาย ต้องซักประวัติเกี่ยวกับการถูกทำร้ายร่างกายหรือทางเพศร่วมด้วย

4. การกังวลต่อผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด

  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น
    วัยรุ่นมีความกังวลว่า การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ดังนั้นแพทย์มีหน้าที่ที่จะอธิบายให้วัยรุ่นเข้าใจว่ายาเม็ดคุมกำเนิดไม่ได้มีผลทำให้น้ำหนักเพิ่ม, การใช้ยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA) อาจจะมีผลทำให้น้ำหนักขึ้นได้ แต่ก็มีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัยที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากยาฉีดคุมกำเนิด
  • มวลกระดูก
    ยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA) และยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ (20 mcg) มีผลต่อค่าสูงสุดของมวลกระดูกในวัยรุ่น เนื่องจากยาทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกหรือรบกวนการเพิ่มขึ้นของมวลกระดูก เอกสารกำกับยาได้เตือนให้ใช้อย่างระวังในการใช้ยาฉีดคุมคุมกำเนิดนานเกิน 2 ปี แต่ก็ยังไม่มีรายงานการเกิดกระดูกพรุน หรือกระดูกหักในผู้หญิงที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิด

ในเรื่องที่ว่า แนะนำให้หลีกเลี่ยงยาฉีดคุมกำเนิดในวัยรุ่นตอนต้นก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน มีผู้เชี่ยวชาญบางท่านกล่าวว่าการใช้ยาฉีดคุมกำเนิด เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมในวัยรุ่น เนื่องจากประโยชน์ของการคุมกำเนิดมีมากกว่าข้อเสียในเรื่องของมวลกระดูก

The Society for Adolescent Health and Medicine แนะนำว่า

1. ยาฉีดคุมกำเนิดสามารถใช้ต่อเนื่องได้ในวัยรุ่นที่ต้องการคุมกำเนิด

2. พิจารณาการตรวจติดตามค่ามวลกระดูกตามความเห็นสมควรของแพทย์และความกังวลของผู้ปกครอง

3. สามารถใช้ยาฉีดคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปี ได้

4. วัยรุ่นที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิดอาจจะแนะนำให้ทาน แร่ธาตุแคลเซียมปริมาณ 1300 มิลลิกรัมต่อวัน และทานวิตามินดี 400 ยูนิตต่อวัน

5. ให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริมในวัยรุ่นที่สามารถคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยยาฉีดคุมกำเนิดและมีภาวะกระดูกบางหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกบาง ที่ไม่มีข้อห้ามในการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน

  • การเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด (Thromboembolism)
    การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ ความสัมพันธ์นี้ขึ้นอยู่กับขนาดของฮอร์โมนเอสโตรเจนและชนิดของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน โดยยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน 30-50 มิลลิกรัม จะเพิ่มความเสี่ยงมากที่สุด และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนรุ่นที่สาม (third generation) เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดน้อยที่สุด
    ดังนั้นแพทย์จำเป็นต้องซักประวัติเกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำในอดีตและประวัติในครอบครัว และความเสี่ยงต่างๆ ในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ในผู้หญิงเหล่านี้
  • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
    มีการศึกษาพบว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน, ปากมดลูกอักเสบและมดลูกอักเสบ แต่ไม่ทำให้เกิดการอักเสบของท่อนำไข่ จึงช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้ และไม่มีรายงานว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานในคนที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิด
    การใส่ห่วงอนามัยไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน แต่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งส่งผลให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานเพิ่มขึ้น
  • การมีบุตรยาก (Infertility)
    วัยรุ่นกังวลว่าการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะมีผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์ ทำให้มีบุตรยาก ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดมีผลทำให้มีบุตรยาก
  • ความกังวลของแพทย์
    การใช้ฮอร์โมนในการคุมกำเนิดระยะยาวด้วยการฉีดยาคุมกำเนิด หรือยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำในวัยรุ่นตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน จะมีผลต่อการลดลงของมวลกระดูก และการเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ (Incomplete growth) ทำให้แพทย์มีความกังวลในการใช้ฮอร์โมนในการคุมกำเนิดแก่วัยรุ่น

การเริ่มต้นคุมกำเนิด

สิ่งสําคัญที่สุดในการคุมกำเนิดในวัยรุ่นคือ”ความเชื่อใจ” ต้องรับฟังความคิดเห็นและต้องได้รับความยินยอมก่อนเริ่มต้นคุมกำเนิด

1. การซักประวัติ (History)
ก่อนการเลือกวิธีการคุมกำเนิด การซักประวัติอย่างครบถ้วนเป็นสิ่งที่จำเป็น ข้อมูลจากการชักประวัติจะช่วยในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับข้อห้าม หรือข้อบ่งชี้ในการเริ่มการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน

2. การให้คำปรึกษา (Counseling)

  • เลือกวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมที่สุดโดยประเมินจากประสิทธิภาพ, ความถี่ในการใช้การคุมกำเนิด, และความสะดวกในการใช้ การใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาว (LARC: Long-acting reversible contraception) เช่น ยาฝังคุมกำเนิด (implant) และการใส่ห่วงคุมกำเนิด (Copper and levonorgestrel) เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ
  • ความเสี่ยงเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการใช้ยา
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิควิธีการใช้การคุมกำเนิดให้ต่อเนื่อง
  • การใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยเพื่อป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • แนะนำวิธีการที่ช่วยให้การคุมกำเนิดสามารถใช้ได้อย่างสะดวก เช่นการแนะนำให้พกถุงยางอนามัยไว้ในกระเป๋าสตางค์
  • ให้คำแนะนำในเรื่องการคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency Contraception)

โดยทั่วไปในวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ต้องการที่จะตั้งครรภ์ แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเริ่มคุมกำเนิดด้วยวิธีใด ในกรณีเช่นนี้ แพทย์ควรจะพูดถึงประเด็นเรื่องความเสี่ยงในการตั้งครรภ์และการติดซื้อจากเพศสัมพันธ์ การยกตัวอย่างกรณีแม่วัยรุ่น โดยใช้บุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย อาจจะเป็นพี่สาว, น้องสาว หรือเพื่อนที่โรงเรียน ช่วยทำให้ผู้ป่วยมีความตระหนักมากขึ้น การกำหนดเป้าหมายระยะสั้นอาจช่วยให้ได้ผลมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การให้เงื่อนไขว่า ให้ผู้ป่วยป้องกันการตั้งครรภ์ไปจนกว่าจะจบการศึกษาในปีนี้ และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการคุมกำเนิดฉุกเฉินและการใช้ถุงยางอนามัยก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สําคัญในการพูดคุยแนะนำผู้ป่วย

ในบางกรณี ผู้ปกครองที่มีความกังวลสูงมากเกินไป อาจจะมาด้วยการต้องการให้บุตรหลานรับการคุมกำนิดแบบการใช้ฮอร์โมนทั้งที่ยังไม่อยู่ในวัยเจริญพันธ์ ทั้งนี้อาจจะเกิดจากการที่บุตรหลานเริ่มมีความสนใจในเพศตรงข้าม หรืออาจจะมีประสบการณ์แม่วัยรุ่นจากบุคคลที่รู้จักหรือใกล้ชิด ในกรณีเช่นนี้ แพทย์ต้องพูดคุยกับทั้งผู้ปกครองและวัยรุ่น ทั้งเรื่องการบอกถึงความกังวลของผู้ปกครอง ความเชื่อใจ และทักษะในการเฝ้าระวังให้กับผู้ปกครอง สิ่งที่สําคัญที่สุดคือการประเมินผลดีและผลเสียในการคุมกำเนิดโดยการใช้ฮอร์โมนเปรียบเทียบกับความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์

3. ผลข้างเคียง (adverse effects)

การอธิบายถึงผลข้างเคียงจากการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน เช่น เลือดออกกะปริบกะปรอย (Breakthrough bleeding), ประจำเดือนขาดจากการทานยาคุมกำเนิด, อารมณ์หงุดหงิดง่ายจากการใช้ยาคุมกำเนิด (DMPA: Depot Medroxyprogesterone acetate) หรือแผ่นแปะคุมกำเนิด ก่อนการเริ่มต้นคุมกำเนิด การให้คำแนะนำเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างมาก ผื่นแดงคันหลังจากการใช้การคุมกำเนิดแบบแผ่นแปะอาจสร้างความกังวลใจให้กับผู้ใช้

จากการศึกษาในกลุ่มวัยรุ่นพบว่าประมาณ 35%ของผู้ใช้ประสบปัญหาการลอกหลุดของแผ่นแปะคุมกำเนิด และเมื่อเปรียบเทียบกับวัยผู้ใหญ่ที่พบว่ามีปัญหานี้ <5% และในวัยผู้ใหญ่ไม่พบปัญหาการหลุดลอกหากแปะไว้ที่บริเวณแขน ทั้งนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่วัยรุ่นน่าจะดูแลแผ่นแปะไม่ดีพอและ การเคลื่อนไหวร่างกายที่มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวัยผู้ใหญ่

4. ประโยชน์ (benefits)

การพูดถึงประโยชน์นอกเหนือจากการคุมกำเนิดของ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดกิน, ยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA)และ แผ่นแปะคุมกำเนิด(Transdermal patch) ก็มีส่วนสําคัญในการตัดสินใจเช่นเดียวกัน

ยาเม็ดคุมกำเนิดและแผ่นแปะคุมกำเนิดมีส่วนช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก และช่วยป้องกันมะเร็งรังไข่, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, ท่อนำไข่อักเสบ, ภาวะท้องนอกมดลูก, โรคของเต้านมที่ไม่ใช่มะเร็ง, ปวดท้องประจำเดือน และป้องกันภาวะขาดธาตุเหล็ก

ยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA) มีประโยชน์เช่นเดียวกันกับยาเม็ดคุมกำเนิด ยกเว้นประโยชน์ด้านการช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก

5. การให้ข้อมูลและเซ็นต์ยินยอม (Informed consent)

ไม่จำเป็นต้องเซ็นต์ยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนที่จะเริ่มคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนในวัยรุ่น แต่ต้องบันทึกไว้ว่าได้อธิบายถึงข้อดีข้อเสียของการคุมกำเนิด

วิธีการคุมกำเนิด

ในวัยรุ่นที่เริ่มต้นคุมกำเนิด ควรให้เอกสารที่เข้าใจง่าย ประกอบด้วย ชื่อของคลินิก, รายชื่อติดต่อ, เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ในกรณีที่วัยรุ่นพบปัญหาเกี่ยวกับการคุมกำเนิด วัยรุ่นไม่ควรเชื่อถือข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ด้านการคุมกำเนิดที่ได้จากเพื่อนหรือบุคคลในครอบครัว

1. ยาเม็ดคุมกำเนิด (Oral contraceptives)

ปัญหาที่พบได้บ่อยจากการทานยาเม็ดคุมกำเนิดเช่น ทานยาไม่สม่ำเสมอ, ลืมทานยา, เริ่มแผงถัดไปล่าช้า และไม่ใช้วิธีการคุมกำเนิดวิธีอื่นในกรณีที่การคุมกำเนิดโดยการทานยาล้มเหลว จากการศึกษาพบว่า วัยรุ่นจำนวน 33% จะลืมทานยาภายในช่วงเวลา 3 เดือน วัยรุ่นควรได้รับคำแนะนําในการทานยาคุมกำเนิดทั้งทางการพูดคุยและการเขียนคำแนะนำ การสาธิตด้วยแผงยาจริงหรือแผงยาตัวอย่างจะช่วยให้มีความเข้าใจในการทานยาเพิ่มมากขึ้น

สิ่งที่วัยรุ่นควรท่องจำให้ขึ้นใจ ได้แก่ 1.จะเริ่มทานยาเมื่อใด 2.ทานยาทุกวัน เวลาเดิม และช่วยให้จำได้ง่ายขึ้นหากทานยาพร้อมๆกับกิจวัตรที่ต้องทำทุกๆวันเช่นการแปรงฟัน 3.ติดต่อคลินิกหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการคุมกำเนิด วัยรุ่นควรได้รับเอกสาร ที่มีข้อมูลสําคัญประกอบด้วย ชื่อคลินิก, รายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ, วิธีการปฏิบัติตัวหากลืมทานยา

ยาเม็ดคุมกำเนิดสามารถเริ่มยาได้ทุกเวลา ในวัยรุ่นมักจะให้เริ่มยาเม็ดแรก ในวันแรกที่ประจำเดือนครั้งถัดไปเริ่มมา หรือเริ่มยาในวันอาทิตย์ หลังจากที่เริ่มมีประจำเดือน (Sunday start method) เนื่องจากต้องการให้แน่ใจจริงๆว่าไม่ได้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น

2. การทานยาเม็ดคุมกำเนิดต่อเนื่อง (Extended-cycle or continuous pill use)

จุดประสงค์ของการคุมกำเนิดชนิดนี้เกิดจากความต้องการที่จะเลื่อนช่วงการมีประจำเดือนออกไป ในกลุ่มนักกีฬาที่อยู่ในช่วงการแข่งขัน, วัยรุ่นที่ต้องเข้าแคมป์ฤดูร้อน หรือในกลุ่มที่ไม่สะดวกในการที่จะต้องมีประจำเดือนทุกเดือน วิธีนี้จะทานยาต่อเนื่อง 84 วัน และมีเว้นช่วง 1 สัปดาห์ที่ไม่ต้องทานยาเพื่อให้ประจำเดือนมา ช่วยเพิ่มการทานยาที่ต่อเนื่อง

ปัจจุบันยาคุมกำเนิดชนิดที่ทำให้ประจำเดือนมาปีละครั้ง ได้รับการรับรองแล้วจาก องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ประกอบด้วย Levonorgestrel 90 mcg. และ Ethinyl estradiol 20 mcg. จากการศึกษาการใช้ยาคุมกำเนิดแบบรายปีดังกล่าวในกลุ่มผู้ใหญ่ พบว่าหนึ่งในสอง ถึงสองในสาม มีอัตราการลดลงของการเกิดเลือดออกกะปริบกะปรอย (Breakthrough Spotting or Bleeding) ในช่วง 2 เดือนหลัง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนแรก

การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ทำให้เกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ในช่วงเดือนแรก ทำให้การใช้ยาอย่างต่อเนื่องลดลง แต่การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ช่วยให้อาการปวดศีรษะและการปวดประจำเดือนดีขึ้น

3. ยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA)

เริ่มฉีดครั้งแรกในช่วงที่มีประจำเดือนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ และนัดวันฉีดครั้งต่อไปเพื่อความต่อเนื่องของการคุมกำเนิด แพทย์ควรอธิบายให้ทราบว่าควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อฉีดยาคุมกำเนิดเกินกำหนด ยาฉีดคุมกำเนิดมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักได้เมื่อเทียบกับวัยรุ่นทั้งไป แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆอีกหลายปัจจัยที่มีผลต่อน้ำหนักของวัยรุ่นจึงจำเป็นต้องอธิบายให้วัยรุ่นเข้าใจ

4. แผ่นแปะคุมกำเนิด (Transdermal patch)

การที่ต้องเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิดทุกสัปดาห์ และการลอกหลุดของแผ่นแปะคุมกำเนิด ทำให้ความต่อเนื่องของการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ลดลง

5. การใส่ห่วงในช่องคลอด (Vaginal ring)

การใส่ห่วงในช่องคลอดจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนทุก 3 สัปดาห์ และเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการคุมกำเนิดไม่ควรเอาห่วงออกจากช่องคลอดมากกว่า 3 ชั่วโมงในช่วง 3 สัปดาห์ ดังนั้นวัยรุ่นที่รู้สึกว่าการใส่ห่วงในช่องคลอดไม่สะอาดและต้องการล้างทำความสะอาดบ่อยๆ จะลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดและทำให้เกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดได้

6. ถุงยางอนามัย (Condoms)

การใช้ถุงยางอนามัยมีข้อดี คือ สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่มีโอกาสการตั้งครรภ์สูงจากการใช้ไม่ต่อเนื่องในวัยรุ่นที่ต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ควรจะได้รับถุงยางอนามัยกลับไปด้วยเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ใช้วิธีนี้อย่างต่อเนื่อง

7. ยาฝังคุมกำเนิด (Etonogestrel implant)

เป็นการคุมกำเนิดระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดอยู่ที่ 24 ชั่วโมงหลังจากฝังยาคุมกำเนิด และสามารถตั้งครรภ์ได้ในระยะเวลาไม่นานหลังจากเอายาฝังคุมกำเนิดออก

ยาฝังคุมกำเนิดทำให้เกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยใน 3 เดือนแรก หลังจากนั้นทำให้ไม่มีประจำเดือน การที่มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทำให้ความต่อเนื่องในการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ลดลง การที่มีเลือดออกกะปริบกะปรอยสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ NSAIDs ร่วมกับการทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเป็นช่วงสั้นๆ

การคุมกำเนิดด้วยวีนี้มีข้อดีในเรื่องของการป้องกันภาวะซีด(การไม่มีประจำเดือน), ช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือน แต่ผลต่อมวลกระดูกไม่แตกต่างกันเมื่อเทียบกับการใส่ห่วงคุมกำเนิดหลังจากใช้ไปเป็นระยะเวลา 2 ปี

ยาฝังคุมกำเนิดไม่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักหรือมีผลพียงเล็กน้อย (แตกต่างจากการใช้ยาฉีดคุมกำเนิด)

8. การใส่ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device) : ชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และชนิดที่มีทองแดง

การใส่ห่วงคุมกำเนิดสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในวัยรุ่นหรือผู้หญิงที่ยังไม่เคยคลอดลูกทางช่องคลอด

การใส่ห่วงคุมกำเนิดเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานในช่วง 20 วันแรกหลังจากใส่ห่วง หลังจากนั้นความเสี่ยงของการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานจะเท่ากับคนที่ไม่ได้ใส่ห่วงคุมกำเนิด การติดเชื้อในช่วงแรกนี้สัมพันธ์กับการปนเปื้อนแบคทีเรียในขณะใส่ ไม่ได้เกิดจากตัวห่วงคุมกำเนิดเอง นอกจากนี้ห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมน โปรเจสเตอโรนยังช่วยลดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เนื่องจากฮอร์โมนมีผลทำให้มูกบริเวณปากมดลูกหนาตัวและเยื่อบุโพรงมดลูกบางตัว

การใส่ห่วงคุมกำเนิดไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการมีบุตรยากหลังจากที่หยุดคุมกำเนิด แต่การที่ตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อคลามีเดีย (Chlamydial antibodies) มีความสัมพันธ์ต่อการมีบุตรยาก

ขณะที่ใส่ห่วงคุมกำเนิด วัยรุ่นควรได้รับการตรวจหาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ เชื้อหนองใน, เชื้อคลามีเดีย ถ้าพบการติดเชื้อก็สามารถใส่ห่วงคุมกำเนิดได้และให้การรักษาเรื่องการติดเชื้อไปพร้อมกัน หรือถ้าพบการติดเชื้อหลังจากใส่ห่วงคุมกำเนิดก็สามารถให้การรักษาได้โดยที่ไม่ต้องเอาห่วงคุมกำเนิดออก แต่ไม่แนะนำให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

การหลุดของห่วงคุมกำเนิด พบได้ 3-5% ในผู้ใช้ห่วงคุมกำเนิดทั้งหมด และพบ 5-22% ในวัยรุ่น

การใส่ห่วงคุมกำเนิดทำให้เกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ในช่วงเดือนแรกหลังจากใส่ ห่วงคุมกำเนิดที่มีทองแดงอยู่จะทำให้ประจำเดือนมามาก ส่วนห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำให้ประจำเดือนมาน้อยลงหรือไม่มีประจำเดือนได้ และสามารถเกิดเลือดออกกะปริบกะปรอย

การใส่ห่วงคุมกำเนิดไม่แนะนำในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน, ปากมดลูกอักเสบเป็นหนองอยู่หรือเคยเป็นในระยะเวลา 3 เดือน หรือมีคู่นอนหลายคน วิธีนี้สามารถใช้ได้ในผู้หญิงที่มีประวัติติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานในอดีตที่ในปัจจุบันไม่ได้มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์แล้ว

การใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาว (LARC: Long-acting reversible contraception)

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาว (การใส่ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนหรือทองแดง และยาฝังคุมกำเนิด) จึงเป็นวิธีแรกในการใช้คุมกำเนิด (first-line method)

องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ปี 2006 ให้การยอมรับการคุมกำเนิดในวัยรุ่นด้วยยาฝังคุมกำเนิด (etonogestrel single-rod contraceptive implant) เนื่องจากมีอัตราการใช้ต่อเนื่องใน 12 เดือนสูงในวัยรุ่นมากกว่าวิธีอื่น และมีโอกาสตั้งครรภ์ต่ำ ทางด้านวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะสั้น (short-acting contraceptive methods) ได้แก่ ถุงยางอนามัย, ยาเม็ดคุมกำเนิด, แผ่นแปะคุมกำเนิด, การใส่ห่วงในช่องคลอด และยาฉีดคุมกำเนิด เป็นทางเลือกในการคุมกำเนิดในวัยรุ่น วิธีเหล่านี้มีอัตราการใช้ต่อเนื่องใน 12 เดือนต่ำ และมีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่าเมื่อเทียบกับการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาว โดยพบว่าอัตราการตั้งครรภ์สูงกว่าการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาว 22 เท่า

อัตราการใช้การคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องใน 12 เดือน

  • ยาฝังคุมกำเนิด 82%
  • การใส่ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน 81%
  • การใส่ห่วงอนามัยที่มีทองแดง 76%
  • ยาฉีดคุมกำเนิด 47%
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด 47%
  • แผ่นแปะคุมกำเนิด 41%
  • การใส่ห่วงในช่องคลอด 31%

การคุมกำเนิดในกลุ่มเฉพาะ

วัยรุ่นที่มีความพิการทางสมอง

วัยรุ่นที่มีความพิการทางสมองและต้องการคุมกำเนิด การคุมกำเนิดด้วยวิธียาฉีดคุมกำเนิด, แผ่นแปะคุมกำเนิด หรือทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบต่อเนื่องและให้มีประจำเดือนมาทุก 3 เดือน เป็นวิธีที่สามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และดูแลเรื่องความสะอาดในขณะที่มีประจำเดือนได้ดีขึ้น

วัยรุ่นที่มีโรคเรื้อรัง

วัยรุ่นที่มีโรคลิ้นหัวใจผิดปกติที่ต้องทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดไม่แนะนำให้คุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน ในวัยรุ่นเหล่านี้สามารถคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฉีดคุมกำเนิด แต่ต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากการคั่งของสารน้ำในร่างกาย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

วัยรุ่นที่เป็นโรค Antiphospholipid antibody abnormalities, ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้, โรคลมชัก หรือโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสามารถคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฉีดคุมกำเนิด แต่ไม่ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน เนื่องจากยาหลายชนิดมีผลต่อประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดของฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น anticonvulsants, rifampicin, griseofuvin เป็นต้น

ในวัยรุ่นที่มีโรคเรื้อรังเหล่านี้ มีความจำเป็นที่จะต้องอธิบายถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น และเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่ทานได้ อธิบายถึงผลเสียของการตั้งครรภ์เมื่อมีโรคทางอายุรกรรม หรือยาที่รักษาโรคทางอายุรกรรมที่มีผลต่อความพิการของทารกซึ่งมีมากกว่าการความเสี่ยงจากการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด รวมทั้งอธิบายวิธีการควบกำเนิดฉุกเฉินให้วัยรุ่นทราบ

การคุมกำเนิดในแม่วัยรุ่น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

  1. การคุมกำเนิดหลังคลอด ในแม่วัยรุ่นที่มีความเสี่ยงสูงในการตั้งครรภ์ซ้ำภายใน 2 ปี แนะนำให้ใส่ห่วงคุมกำเนิดหรือฝังยาคุมกำเนิดทันทีหลังคลอดเพื่อให้แน่ใจว่าได้รับการคุมกำเนิด ในรายที่ใส่ห่วงคุมกำเนิดทันทีหลังคลอดพบว่ามีโอกาสห่วงคุมกำเนิดหลุดสูงกว่าคนที่ใส่ห่วงคุมกำเนิดตอนมาตรวจหลังคลอด
  2. การคุมกำเนิดหลังแท้ง การใส่ห่วงคุมกำเนิดหรือการใช้ยาฝังคุมกำเนิดทันทีหลังแท้ง ช่วยลดการเกิดการแท้งซ้ำได้ ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยในการใช้คุมกำเนิดหลังจากแท้งทุกชนิด ทั้งการแท้งใน first trimester/second trimester หรือการแท้งติดเชื้อ การใส่ห่วงคุมกำเนิดเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยในการใช้คุมกำเนิดหลังจากแท้งใน first trimester และ second trimester

การคุมกำเนิดในประเทศยากจน

จากข้อมูลของ UNICEF ปี 2006-2010 ในประเทศยากจน 81% ของหญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์กับแพทย์อย่างน้อย 1 ครั้ง, 67% ของหญิงตั้งครรภ์ได้รับการทำคลอดโดยผู้เชี่ยวชาญทางการทำคลอด และมีส่วนน้อยที่มาตรวจติดตามหลังคลอด ส่งผลให้จำนวนผู้หญิงที่ได้รับการบริการเรื่องการคุมกำเนิดหลังคลอดบุตรน้อย จึงได้มีการให้บริการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาวตั้งแต่ขณะมาฝากครรภ์

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาวมี 2 วิธีดังที่กล่าวข้างต้น คือ การใส่ห่วงอนามัยและการฝั่งยาคุมกำเนิด แต่การใส่ห่วงอนามัยถือเป็นข้อห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นในประเทศยากจนจึงแนะนำการคุมกำเนิดโดยการฝั่งยาคุมกำเนิด(levonorgestrel implant)ตั้งแต่ขณะมาฝากครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ที่ทารกสร้างอวัยวะต่างๆเสร็จแล้ว ยาฝั่งคุมกำเนิดจะปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด 435 พิโคกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งมีขนาดน้อยกว่าในยาคุมกำเนิดและพบว่าปลอดภัยต่อหญิงตั้งครรภ์และทารก ยาฝังคุมกำเนิดไม่ทำให้เกิดความพิการต่อทารกในครรภ์ แต่ผลต่อทารกในระยะยาวยังไม่ทราบแน่นอน ในประเทศยากจนเมื่อเปรียบเทียบประโยชน์จากการฝั่งยาคุมกำเนิดแก่ผู้หญิงตั้งครรภ์ในช่วงมาฝากครรภ์ถือว่ามีประโยชน์มากกว่าผลเสียจากการที่ตั้งครรภ์ถี่

เอกสารอ้างอิง

  1. Mariam R Chacko, MD Contraception: Overview of issues specific to adolescents. In: UpToDate, Amy B Middleman, MD, MPH, MS (Ed), UpTaDate, Mary M Torchia, MD, Sep 2013.
  2. Committee opinion no. 539: adolescents and long-acting reversible contraception: implants and intrauterine devices. Obstetrics and gynecology. 2012;120(4):983-8. Epub 2012/09/22.
  3. Pittrof R, Filippi V, Some DA, Compaore G, Meda N. Antenatal contraception – simple, feasible, but is it safe and ethical in resource-poor environments? Contraception. 2013;88(3):337-40. Epub 2012/12/25.
  4. Beerthuizen R, van Beek A, Massai R, Makarainen L, Hout J, Bennink HC. Bone mineral density during long-term use of the progestagen contraceptive implant Implanon compared to a non-hormonal method of contraception. Human reproduction (Oxford, England). 2000;15(1):118-22. Epub 1999/12/28.
  5. Chen BA, Reeves MF, Hayes JL, Hohmann HL, Perriera LK, Creinin MD. Postplacental or delayed insertion of the levonorgestrel intrauterine device after vaginal delivery: a randomized controlled trial. Obstetrics and gynecology. 2010;116(5):1079-87. Epub 2010/10/23.
  6. Davtyan C. Evidence-based case review. Contraception for adolescents. The Western journal of medicine. 2000;172(3):166-71. Epub 2000/03/29.
  7. Goodman S, Hendlish SK, Reeves MF, Foster-Rosales A. Impact of immediate postabortal insertion of intrauterine contraception on repeat abortion. Contraception. 2008;78(2):143-8. Epub 2008/08/02.
  8. Alan Guttmacher Institute. Facts on American Teens’ Sexual and Reproductive Health. Alan Guttmacher Institute, New York 2011.
  9. Hatcher RA, Trussel J, Nelson AL, et al. Contraceptive Technology, 20th ed, Ardent Media, Inc, New York 2012.
  10. Espey E, Ogburn T. Long-acting reversible contraceptives: intrauterine devices and the contraceptive implant. Obstetrics and gynecology. 2011;117(3):705-19. Epub 2011/02/24.
  11. Mohllajee AP, Curtis KM, Peterson HB. Does insertion and use of an intrauterine device increase the risk of pelvic inflammatory disease among women with sexually transmitted infection? A systematic review. Contraception. 2006;73(2):145-53. Epub 2006/01/18.
  12. Braverman PK, Breech L. American Academy of Pediatrics. Clinical report–gynecologic examination for adolescents in the pediatric office setting. Pediatrics. 2010;126(3):583-90. Epub 2010/09/02.
  13. Bonny AE, Ziegler J, Harvey R, Debanne SM, Secic M, Cromer BA. Weight gain in obese and nonobese adolescent girls initiating depot medroxyprogesterone, oral contraceptive pills, or no hormonal contraceptive method. Archives of pediatrics & adolescent medicine. 2006;160(1):40-5. Epub 2006/01/04.
  14. Donovan P. Delaying pelvic exams to encourage contraceptive use. Family planning perspectives. 1992;24(3):136, 44. Epub 1992/05/01.
  15. Cromer BA, Scholes D, Berenson A, et al. Depot medroxyprogesterone acetate and bone mineral density in adolescents–the Black Box Warning: a Position Paper of the Society for Adolescent Medicine. J Adolesc Health 2006; 39:296.
  16. Rinehart W. WHO updates medical eligibility criteria for contraceptices. Info Reports. Johns Hopkins University population information program. Baltimore, MD, April 2004.
  17. Committee on Adolescent Health Care Long-Acting Reversible Contraception Working Group, The American College of Obstetricians and Gynecologists. Committee opinion no. 539: adolescents and long-acting reversible contraception: implants and intrauterine devices. Obstet Gynecol 2012; 120:983.
  18. Rosenstock JR, Peipert JF, Madden T, et al. Continuation of reversible contraception in teenagers and young women. Obstet Gynecol 2012; 120:1298.
  19. Andersson K, Odlind V, Rybo G. Levonorgestrel-releasing and copper-releasing (Nova T) IUDs during five years of use: a randomized comparative trial. Contraception. 1994;49(1):56-72. Epub 1994/01/01.
  20. Andersson K, Odlind V, Rybo G. Levonorgestrel-releasing and copper-releasing (Nova T) IUDs during five years of use: a randomized comparative trial. Contraception. 1994;49(1):56-72. Epub 1994/01/01.
  21. U S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 2010. MMWR Recommendations and reports : Morbidity and mortality weekly report Recommendations and reports / Centers for Disease Control. 2010;59(RR-4):1-86. Epub 2010/06/19.
  22. Grimes DA, Schulz KF. Antibiotic prophylaxis for intrauterine contraceptive device insertion. The Cochrane database of systematic reviews. 2000(2):CD001327. Epub 2000/05/05.
  23. Dilbaz B, Ozdegirmenci O, Caliskan E, Dilbaz S, Haberal A. Effect of etonogestrel implant on serum lipids, liver function tests and hemoglobin levels. Contraception. 2010;81(6):510-4. Epub 2010/05/18.
Read More

การเจ็บครรภ์คลอด

PARTURITION (การเจ็บครรภ์คลอด)

น.พ. ณัฐพัชร์ จันทรสกา
อาจารย์ที่ปรึกษา อ.พ.ญ. สุชยา ลือวรรณ


 

การหัดรัดตัวของมดลูกและการเปิดขยายปากมดลูกในช่วงไม่กี่ชั่วโมงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการเคลื่อนต่ำในช่องทางคลอดของทารกและเกิดการคลอดในที่สุดโดยในช่วง 36 – 38 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ปกติเป็นช่วงของการเตรียมพร้อมของมดลูกและปากมดลูกการควบคุมการเจ็บครรภ์คลอดนั้นมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก จุดเริ่มต้นของการครรภ์คลอดเป็นกระบวนการที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารชีวเคมีมากที่สุด แต่เมื่อไรก็ตามที่เกิดการเจ็บครรภ์คลอดผิดปกติไป อาจนำไปสู่ภาวะคลอดก่อนกำหนด การคลอดยาก หรือคลอดเกินกำหนดได้

PHASES OF PARTURITION

ประกอบด้วย4 ระยะ1)First stage – Quiescence2) Second stage –Activation 3) Third stage – Stimulationและ 4) Fourth stage – Involutionในบางตำราหรือการศึกษากำหนดระยะที่ 0, 1, 2, และ 3 ตามลำดับในที่นี้ขอใช้เป็นระยะที่ 1 – 4 สำหรับstage of labor อยู่ในระยะที่สามของการเจ็บครรภ์คลอด

Phase 1 (Quiescence): Uterine Quiescence and Cervical Softening

Uterine Quiescence

ระยะนี้เริ่มก่อนการฝังตัวอ่อน กล้ามเนื้อมดลูกอยู่ในระยะสงบไม่ตอบสนองต่อส่งกระตุ้นตามธรรมชาติ ไปจนกระทั่งใกล้ระยะสิ้นสุดการตั้งครรภ์ และปากมดลูกในระยะนี้คงความสมบูรณ์ (cervical integrity) ใช้ระยะยาวนาน 95% ของการตั้งครรภ์ มดลูกเพิ่มขนาดและปริมาณเส้นเลือด และเตรียมพร้อมสำหรับการหดรัดของมดลูกในระยะที่สามของการเจ็บครรภ์คลอด ถึงแม้จะพบการหดรัดตัวของมดลูกได้บ้างในระยะนี้แต่ไม่สามารถทำให้ปากมดลูกเปิดขยาย ลักษณะการหดรัดตัวจะเป็นแบบคาดเดาไม่ได้ ความแรงของการหดรัดตัวต่ำ และเกิดในช่วงสั้นๆ อาจทำให้สตรีตั้งครรภ์รับรู้และรู้สึกไม่สบายที่บริเวณท้องน้อยและขาหนีบได้ ในสตรีที่เคยตั้งครรภ์จะพบภาวะนี้ได้บ่อยขึ้นเมื่อเข้าสู่ระยะใกล้คลอด บางครั้งเราเรียกการหดรัดตัวนี้ว่า Braxton Hicks contractionหรือ False labor pain

Cervical Softening

ระหว่างตั้งครรภ์ปากมดลูกมีหน้าที่ 1) ผลิตมูกเหนียวข้นออกมามากขึ้น อุดกั้นที่ปากดลูกช่วยป้องกันการติดเชื้อทางเดินระบบสืบพันธุ์ 2) คงความสามารถของปากมดลูก (cervical competence)รองรับน้ำหนักมดลูกที่เพิ่มมากขึ้น และ 3) เปลี่ยนแปลง extracellular matrix เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ปากมดลูกของสตรีไม่ตั้งครรภ์จะปิดและค่อนข้างแข็ง (firm) เหมือนกับกระดูกอ่อนจมูก ในระยะท้ายของการตั้งครรภ์ปากมดลูกจะนุ่มและง่ายต่อการเปิดขยายเหมือนกับริมฝีปากของช่องปาก การเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกในระยะแรกนี้เรียกว่า softeningอาจคลำได้ส่วนของ lower uterine segment นุ่มในช่วงอายุครรภ์ 4 -6 สัปดาห์เป็นอาการแสดงหนึ่งของการตั้งครรภ์

การคงความสมบูรณ์ของปากมดลูกทั้งกายวิภาคและโครงสร้างเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปจนครบกำหนด ภาวะปากมดลูกมดขยายก่อนกำหนด หรือ cervical incompetence อาจทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้

การทำให้ปากมดลูกนุ่มเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเส้นเลือด, stromal hypertrophy,glandular hypertrophy and hyperplasia, และ การเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบและโครงสร้างของ extracellular matrix ทำให้รูปร่างของ collagen fibril เปลี่ยนแปลงและเกิดปากมดลูกนุ่นก่อนกำหนด อีกการค้นพบในสัตว์การเพิ่ม collagen solubility นำไปสู่การทำให้ปากมดลูกนุ่ม สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการของ collagen หรือการเปลี่ยนแปลงของจำนวนหรือชนิดของ covalent cross-links ระหว่าง collagen triple helices ซึ่งจำเป็นต่อการสร้าง collagen fibril อย่างเสถียร การลดลงของ transcription หรือ activity ของ lysyl oxidase ที่เป็น cross-linking enzyme ทำให้ลดการ cross-link และเกิดการทำให้ปากมดลูกนุ่มในหนูได้ สำหรับในมนุษย์ กลุ่มสตรีที่มีความผิดปกติในการสร้าง collagen และ elastin เช่น Ehlers-Danlos syndromeและ Marfan syndromeจะเพิ่มความชุกของการเกิด cervical incompetence

Progesterone andEstrogen พบว่าในบาง species การขาด progesterone ทำให้การเจ็บครรภ์คลอดดำเนินจากระยะ 1 ไประยะ 2 และในบาง species การให้ progesterone สามารถ myometrium activity และรักษาสภาวะ cervical competence ในมนุษย์ทั้ง progesterone และ estrogen มีผลและรักษาสภาวะ phase 1 การให้ progesterone-receptor antagonist RU486 จะส่งเสริมให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดผ่านกระบวนการ cervical ripeningเพิ่มความสามารถในการบวมขยายปากมดลูกและเพิ่มความไวของมดลูกต่อ uterotoninการให้ RU486 กระตุ้นการสร้างโปรตีน connexin 43 ส่งผลให้เกิดการเจ็บครรภ์ ในทางคลินิกได้ใช้ progesterone หรือ 17-hydroxyprogesterone ซึ่งเป็น metabolite ของมันเพื่อลดการคลอดก่อนกำหนดในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับ estrogen พบว่ามีผลช่วยส่งเสริมการตอบสนองต่อ progesterone กระตุ้นการสังเคราะห์ progesterone receptor ซึ่งทำให้มดลูกสงบ

Beta-Adrenoreceptor เป็นตัวอย่างG-protein receptor ที่เมื่อถูกกระตุ้นผ่าน Gαs protein ไปเพิ่มระดับเอ็นไซม์ adenylyl cyclaseแล้วเอ็นไซน์นี้เปลี่ยน AMP ไปเป็น cAMP ทำให้เกิด myometrium relaxation ในที่สุด ด้วยคุณสมบัตินี้จึงพัฒนา B-mimetic agent เช่น ritodrineและ terbutalineจำนวนของ receptor น่าจะเป็น rate-limiting factor ในกรณีนี้

LH/hCG receptor เพิ่มปริมาณมากขึ้นที่กล้ามเนื้อมดลูกในระหว่างตั้งครรภ์ chorionic gonadotropin ออกฤทธิ์เพิ่มการสร้าง cAMPทำให้ลดความถี่และความแรงของหดรัดตัวกล้ามเนื้อมดลูก และลด gap junction

Relaxin ประกอบด้วย A และ B chain โครงสร้างคล้าย insulin มีปริมาณสูงสุดที่อายุครรภ์ 8-12 สัปดาห์ เชื่อว่าในสตรีตั้งครรภ์ถูกหลั่งมาจาก corpus luteumเมื่อ relaxinจับกับrelaxin family peptide receptor 1 (RXFR1) ที่อยู่บนเยื่อหุ้มเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก และกระตุ้น adenylyl cyclaseอาจช่วยส่งเสริม myometrium relaxation

Corticotropin-releasing hormone (CRH) มีส่วนในการกำหนดการเจ็บครรภ์คลอด ในระหว่าง phase 2 ถ้า CRH จับกับ CRH-R1 receptor แล้วส่งสัญญาณผ่านทาง G5α protein และ adenylyl cyclaseเพิ่มระดับ cAMPมีผลยับยั้ง myometrium activity แต่ถ้าผ่านทางGqα protein มีผลส่งเสริมการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก

Prostaglandin ถูกสังเคราะห์มาจาก arachidonic acid บนเยื่อหุ้มเซลล์พบ PGE2และ PGI2ทำหน้าที่รักษาสภาวะมดลูกสงบโดยเพิ่มการส่งสัญญาณ cAMPแต่เมื่อ PGE2จับกับ EP1receptorและ EP3 receptor สามารถส่งเสริมการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก การศึกษาพบว่า PGF2αกระตุ้นการสร้าง progesterone receptor-A เกิด functional progesterone withdrawal ดังนั้น prostaglandin ที่จำเพาะหรือการแสดงออกของ receptor ที่หลากหลาย อาจกำหนดการตอบสนองของกล้ามเนื้อมดลูกแตกต่างกัน

Atrial and Brain Natriuretic Peptides (ANP and BNP)การกระตุ้น guanylylcyclaseทำให้เพิ่ม cGMPในเซลล์ ส่งเสริมให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งทั้งสองตัวนี้จะเพิ่มในระยะก่อนคลอด ระดับของ cGMPในเซลล์สามารถถูกกระตุ้นได้จาก ANP receptor และ BNP receptor ซึ่งพบ receptor เหล่านี้ในกล้ามเนื้อมดลูกในช่วงตั้งครรภ์ BNP หลั่งมาจาก amnion ในปริมาณมาก และ ANP สร้างจากรกยังพบว่า nitric oxideซึ่งสังเคราะห์จาก decidua, myometrial blood vessels และ nervesสามารถไปกระตุ้นการผลิต cGMP

Phase 2 (Activation): Preparation for Labor

ภาวะสงบนิ่งของกล้ามเนื้อมดลูกในระยะที่หนึ่งได้หยุดลงที่เรียกภาวะนี้ว่า uterineawakeningหรือ activationเกิดในช่วง 6 – 8 สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่สัมพันธ์กับภาวะคลอดก่อนกำหนดและเกินกำหนด

Myometrial Changes การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ในระยะนี้เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการหดรัดตัวเพื่อการเจ็บครรภ์คลอด การเปลี่ยนแปลงโปรตีนที่ความคุมการหดรัดตัว (contracted-associated protein; CAP) รวมทั้ง oxytocin receptor, prostaglandin F (PGF) receptor และconnexin 43 การเพิ่มขึ้นของ oxytocin receptor ตามด้วยการเพิ่มของจำนวนและพื้นที่ผิวสัมผัสของโปรตีน gap junction ทั้งสองภาวะนี้ทำให้มดลูกตื่นตัวและไวต่อการสอบสนองต่อ uterotoninที่กระตุ้นให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูก มีอีกการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระยะนี้คือการสร้างส่วนของ lower segment จากส่วนของ isthmus เกิดไปพร้อมกับการเคลื่อนลงต่ำของศีรษะทารกหรือที่เรียกว่า lighteningมดลูกส่วนนี้มีหน้าที่แตกต่างไปจากส่วน upper segment ในระหว่างคลอด ในมนุษย์พบความแตกต่างของ oxytocin receptor ซึ่งพบ receptor นี้มากบริเวณยอดมดลูก

Cervical Ripening การเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกในระยะที่สองเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเป็นสำคัญ เรียกว่าการทำให้ปากมดลูกสุก(cervical ripening) ต่อเนื่องมาจากการทำให้ปาดมดลูกนุ่มโดยใช้ระยะเวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ก่อนเริ่มมีการหดรัดตัวของมดลูก บางกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกควบคุมด้วยฮอร์โมนเดียวกับฮอร์โมนที่ควบคุมหน้าที่ของมดลูก พบว่าปากมดลูกประกอบด้วยกล้ามเนื้อเรียบ 10 – 15% ส่วนที่เหลือเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน collagen ชนิด I, II และ IV, glycosaminoglycan, proteoglycan และ elastinมีการสลาย collagen มากขึ้น ปรับสัดส่วนให้สาร hyaluronanให้มีมากขึ้นซึ่งเป็นตัวอมน้ำ และ dermatan sulfate ลดลง ทำให้ปากมดลูกนุ่น

Collagen เป็นส่วนประกอบหลักและทำหน้าที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง มีเส้นทางในการสร้างที่ซับซ้อนและใช้เอ็นไซม์อย่างน้อย 6 ชนิด และ chaperone ในระหว่างการทำให้ปากมดลูกสุก collagen fibril ถูกทำให้ไม่เป็นระบบ (disorganize) และมีพื้นที่ว่างระหว่าง fibril เพิ่มขึ้น สาร matrix metalloprotease (MMP) สามารถทำให้โปรตีน extracellular matrix เสื่อมสภาพ หนึ่งใน MMP คือ collagenase มีการศึกษาที่สนับสนุนว่า MMP มีบทบาทในการทำให้ปากมดลูกสุก แต่มีการศึกษากลับพบว่าการทำให้ปากมดลูกสุกเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ collagen มากกว่าการทำให้เสื่อมสภาพ การแพร่กระจายของ fibril นำไปสู่การสูญเสียความสมบูรณ์ของเนื้อเยื่อ (tissue integrity) และเพิ่มการยอมทำตามของเนื้อเยื่อ (tissue compliance) ภาวะ collagen solubility เป็นเครื่องแสดงถึงความสมบูรณ์ของ collagen น้อย พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของ solubility ของ collagen ในระหว่างการทำให้ปากมดลูกสุก ภาวะ gene polymorphism หรือ mutation ที่จำเป็นต่อการรวมตัวของ collagen สัมพันธ์กับการเพิ่มของอุบัติการณ์ของ cervical insufficiency

Glycosaminolycan (GAG) เป็น high-molecular-weight polysaccharide ซึ่งประกอบไปด้วย amino sugar สามารถรวมตัวกับโปรตีนอย่างซับซ้อนกลายเป็น proteoglycan ตัวอย่างหนึ่งของ GAG คือ hyaluronan (HA) สังเคราะห์ขึ้นโดยใช้เอนไซม์ hyaluronan synthase โดย hyaluronan synthase 2 เพิ่มขึ้นในปากมดลูกที่กำลังสุก หน้าที่ของ HA ขึ้นอยู่กับขนาดโมเลกุล สิ่งสำคัญในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงขนาดของ HA คือเอนไซน์ hyaluronidaseการศึกษาให้ hyaluronidaseส่งผลให้ลดการเจ็บครรภ์และการผ่าตัดคลอด

Proteoglycan มีเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบ proteoglycan ภายใน cervical matrix ไปพร้อมกับ cervical ripening สาร decorinและ biglycanพบในปากมดลูก decorinมีปฏิกิริยากับcollagen และส่งผลfibril อัดแน่นและเป็นลำดับพบว่าการพร่อง decorinทำให้ผิวหนังหลวมและเปราะบางได้ เนื่องจาก collagen fibril รวมตัวเป็นโครงสร้างอักแน่นได้

Endocervical Epithelia มีการศึกษาในหนูเมื่อไม่นานมานี้พบว่าเยื่อบุปากมดลูกอาจช่วยให้เกิด cervical remodeling โดยควบคุม cervical hydrationและคง barrier functionโดยภาวะ hydration อาจถูกควบคุมโดย aquaporin ซึ่งเป็นโปรตีน water channel ในขณะที่การขนส่งไอออนและตัวถูกละลายระหว่างเซลล์ และคง barrier function ถูกควบคุมโดยโปรตีน tight junction ตัวอย่างเช่น claudin 1 และ 2

Functional Progesterone Withdrawal มีการศึกษาอยู่มากมายซึ่งพบว่าสนับสนุนแนวคิดที่ว่ามีหลายกลไกที่ทำให้เกิด functional progesterone withdrawal ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับ nuclearprogesterone receptor (PR) protein isoformโดยอัตราส่วนของ PR-A ต่อ PR-B เพิ่มขึ้น หรือ PR-A และ PR-C เพิ่มขึ้น,การเปลี่ยนแปลง membrane-bound progesterone receptorเช่นการเปลี่ยนแปลง mPRและ mPRส่งผลยับยั้ง G-protein, การเปลี่ยนแปลงระดับ receptor co-activator หรือ co-repressorซึ่งทำหน้าที่ปรับการตอบสนองต่อฮอร์โมน, หรือถูก inactivate โดยเอนไซน์เฉพาะที่หรือ progesterone antagonist เพื่อส่งผลให้ทำงานน้อยลง โดยสุดท้ายส่งผลให้เกิดการเจ็บครรภ์

Oxytocin Receptor ยังไม่เป็นที่สรุปว่าoxytocin ทำหน้าที่กระตุ้นมดลูกในช่วงแรกหรือในช่วงที่กำลังเบ่งคลอด progesterone และ estrogen สามารถควบคุมการแสดงออกของ oxytocin receptor พบว่าการให้ estrogen ทำให้ receptor เพิ่มมากขึ้นแต่ผลนี้ป้องกันได้ด้วยการให้ progesterone โดย progesterone อาจมีผลทำให้ receptor เสื่อมสภาพหรือยับยั้งการกระตุ้นของ oxytocinความหนาแน่นของ oxytocin receptor จะเพิ่มตลอดการตั้งครรภ์และเพิ่มเป็นสองเท่าเมื่อเจ็บครรภ์ในการศึกษาในมนุษย์พบว่า ยีนที่ตอบสนองต่อกระบวนการอักเสบอาจควบคุม oxytocin receptor

Relaxin ใน phase 2 ของการเจ็บครรภ์คลอดrelaxinทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน extracellular matrix ของมดลูก ปากมดลูก ช่องคลอด และเต้านม กระตุ้นให้การแบ่งตัวของเซลล์และยับยั้ง apoptosisโดยผ่านทาง RXFP1 receptor ซึ่งเป็น G-protein receptor

Uterine stretch การยืดขยายมดลูกจำเป็นสำหรับการชักนำ CAPs ที่จำเพาะและเพิ่มการแสดงออกของ gap junction protein เช่น connexin 43 หรือ oxytocin receptor สมมุติฐานอื่นเสนอว่าการยืดขยายมดลูกอาจทำหน้าที่ร่วมกับระบบต่อมไร้ท่อในการกระตุ้นมดลูก การยืดขยายมดลูกอาจเป็นการส่งสัญญาณเพื่อควบคุมเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกหรือที่เรียกว่า Mechanotransductionโดยอาจกระตุ้นreceptor หรือ ion channel, นำพาสัญญาณ, หรือหลั่ง autocrine molecule ที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อกล้ามเนื้อมดลูก

Corticotropin-Releasing Hormone เมื่ออายุครรภ์ครบกำหนดต่อมหมวกไตของทารกจะมีน้ำหนักเท่ากับของผู้ใหญ่และมีขนาดใกล้เท่าเคียงกับไตของทารก สามารถผลิตสเตียรอยด์ได้สูงประมาณ 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน เมื่ออายุครรภ์ใกล้ครบกำหนดเป็นผลให้ระดับcortisol และ dehydroepiandosterone sulfate (DHEA-S) สูงขึ้น แต่ในขณะที่ระดับ ACTH ในเลือดทารกมีระดับต่ำ ACTH ของแม่ไม่สามารถเข้าไปในระบบไหลเวียนของทารกได้หรืออาจได้เพียงเล็กน้อย cortisol จากทารกมีผลไปกระตุ้นการผลิต placental CRH ที่trophoblastถ้าระดับplacental CRH เพิ่มอาจไปการเพิ่มการสังเคราะห์ adrenal cortisol ของทารกและ cortisol นี้จะไปกระตุ้นแบบ positive-feedback ทำให้เพิ่มการผลิต placental CRH ให้มากขึ้นไปอีกปอดทารกมีความสามรถในการเปลี่ยน cortisone ให้เป็น cortisol ได้ซึ่งอาจเป็นแหล่ง cortisol ที่สำคัญสำหรับความเจริญของปอดทารก placental CRH กระตุ้นการสังเคราะห์ DHEA และ DHEA-S โดยตรงที่ fetal zoneสำหรับ DHEA-S ที่สูงขึ้นนำไปสู่การเพิ่มระดับ estriolของมารดา ในเรื่องของกำหนดเวลาการเจ็บครรภ์คลอดนั้นplacental CRH ที่สูงขึ้นเมื่อทำปฏิกิริยากับ CRH-R1d receptor ทำให้การตอบสนองการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ CRH สามารถกระตุ้นการสังเคราะห์ C19-steroid ที่ต่อมหมวกไตของทารกส่งผลให้เพิ่มการผล estrogen และส่งเสริมการแสดงออกของ CAPs ในกล้ามเนื้อมดลูก นำไปสู่การสูญเสียภาวะสงบของมดลูกภาวะเครียด (stress) จากภาวะแทรกซ้อนใดๆก็ตาม ส่งผลให้ความเข้มข้นของ CRH ในเลือดทารก น้ำคร่ำและเลือดมารดาเพิ่มสูงขึ้นนอกจากนี้CRH ยังผลิตจากเยื่อหุ้มทารก และ decidua ในระหว่างตั้งครรภ์ระดับ CRH ในน้ำคร่ำและเลือดมารดาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระดับสูงสุดในเลือดแม่เมื่อเจ็บครรภ์และคลอดทารก ในขณะที่ระดับ CRH-binding protein ลดลงก่อนการเจ็บครรภ์ทำให้เพิ่ม CRH activity

Surfactant Protein A (SP-A) ถูกสร้างมากจากปอดของทารกซึ่งจำเป็นต่อการเจริญพัฒนาปอดของทารกในครรภ์ ระดับ SP-Aสูงขึ้นในน้ำคร่ำเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด มีรายงานว่าเมื่อ SF-A เข้าสู่น้ำคร่ำ สามารถกระตุ้นการสังเคราะห์ PGE2และการหดรัดตัวของมดลูก

Fetal Anencephaly พบว่ามีความสัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ที่นานขึ้น ทารกกลุ่มนี้มีการเจริญของต่อมหมวกไตต่ำ จากความผิดปกติของ fetal brain-pituitary-adrenal function เมื่ออายุครรภ์ครบกำหนดต่อมหมวกไตอาจมีขนาดเพียง 5-10% ของขนาดปกติ ส่วน fetal zone ไม่พัฒนา ดังนั้นจึงการผลิต cortisol หรือสเตียรอยด์ไม่เพียงพอ

Phase 3 (Stimulation): Labor

คือระยะของ stage of labor ระยะที่มีการหดรัดตัวของมดลูกนำไปสู่การเปิดขยายปากมดลูกอย่างต่อเนื่องและคลอดทารกออกมา โดยถูกแบ่งเป็นสามระยะ 1)first stage เป็นระยะที่มดลูกหดรัดตัวอย่างมีประสิทธิภาพและเกิด cervical effacement จนปากมดลูกเปิดขยายถึง 10 เซนติเมตร 2) second stage เป็นระยะตั้งแต่ปากมดลูกเปิดขยายอย่างเต็มที่ไปจนสิ้นสุดทารกคลอด และ 3) third stage เป็นระยะที่ต่อเนื่องจากระยะที่สองไปจนรกลอกตัวและคลอดออกมา มี uterotoninจำนวนหนึ่งที่อาจเป็นสารสำคัญให้ phase 3 เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์

First stage of labor ในสตรีตั้งครรภ์บางราย เมื่อเริ่มเข้าระยะคลอดจะมีมูกปนเลือดปริมาณเล็กน้อยออกจากช่องคลอดซึ่งเรียกว่า show หรือ bloody show บ่งบอกว่าการเจ็บครรภ์พร้อมที่จะดำเนินต่อไป ระยะนี้พบอาการเจ็บในระหว่างที่มดลูกมีการหดรัดตัว อาการเจ็บครรภ์นี้อาจเกิดจาก 1) เกิดภาวะ hypoxia ของกล้ามเนื้อมดลูกที่หดรัดตัว เช่นเดียวกับangina pectoris 2) การกด nerve gangliaในปากมดลูกและมดลูกส่วนล่าง 3)การยืดของปากมดลูกขณะที่มีการเปิดขยายปากมดลูก หรือ 4)การยืดของ peritoneum ที่ปกคลุมยอดมดลูก

การยืดของปากมดลูกทำให้เพิ่ม uterine activity ปรากฏการณ์ถูกเรียกว่า Ferguson reflexซึ่งกลไกที่แท้จริงยังไม่ทราบ ช่วงเวลาระหว่างมดลูกหดรัดตัวเป็นช่วงที่มดลูกคลายตัวจะค่อยๆ สั้นลงจนน้อยกว่า 1 นาทีเมื่อเข้าสู่ระยะที่สองของการเจ็บครรภ์ การหดรัดตัวของมดลูกที่ไม่หยุดคลายตัวทำให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกและรกไม่เพียงพอเป็นสาเหตุให้เกิด fetal hypoxiaได้

ในระหว่าง active labor ถ้าคลำมดลูกจากทางหน้าท้อง บางครั้งคลำได้มดลูกเป็นสองส่วนแตกต่างกันขณะมดลูกหดรัดตัว โดยบริเวณส่วนบนจะแข็งแน่น ขณะที่ส่วนล่างจะนุ่มกว่า ขยายออกและถูกดึงยืดไปข้างบน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้มดลูกส่วนล่างกลายเป็นท่อที่มีความบางเพียงไม่กี่มิลลิเมตรได้ ซึ่งทารกจะผ่านลงมาได้ ชั้นกล้ามเนื้อมดลูกของมดลูกส่วนบนจะไม่มีการคลายตัวหลังจากหดรัดตัว ทำให้มดลูกส่วนบนนี้เล็กลงเรื่อยๆ พร้อมกับการหดรัดตัวในแต่ละครั้ง เนื่องมาจากเส้นใยกล้ามเนื้อถูกทำให้สั้นลง แต่ความตึงของชั้นกล้ามเนื้อมดลูกยังคงอยู่ มดลูกส่วนบนจึงหนาตัวอย่างก้าวหน้าตลอดระยะที่หนึ่งและสองของการเจ็บครรภ์ และขบวนการเหล่านี้ดำเนินต่อเนื่องส่งผลให้มดลูกส่วนบนหนาตัวอย่างมากมายทันทีหลังคลอด ขณะที่มดลูกส่วนบนหดตัวไปเรื่อยๆ มดลูกส่วนล่างจะยาวและบางขึ้น จะเกิดขอบเขตเป็นแนวสันระหว่างสองส่วนนี้ภายในผิวภายในของมดลูก ซึ่งเรียกว่า physiological retraction ring เมื่อเกิดภาวะคลอดยากแนวสันนี้จะยืนเด่นกลายเป็น pathological retraction ring หรือที่รู้จักกันในชื่อ Bandl ringนอกจากนี้การยืดของมดลูกส่วนล่างจะกระตุ้นให้ decidua ซึ่งมีความพร้อมอยู่แล้วหลั่งสาร bioactive agent เช่น TNF, IL-1b, CSF นำไปสู่การกระตุ้นให้หลั่ง uterotoninเช่น PGF2, PGE2, endothelin-1, PAF เป็นต้น

หลังจากปากมดลูกเปิดเต็มที่ แรงกดดันจากในท้องของมารดาที่สำคัญที่สุดในการคลอด เกิดจากการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อหน้าพร้อมกับความพยายามกลั้นหายใจโดยการปิดกล้องเสียง หรือที่เรียกว่าการเบ่ง เป็นแรงเดียวกันที่เกิดขึ้นขณะเบ่งอุจารระแต่มีความแรงมากกว่า แรงกดดันจากในช่องท้องนี้จำเป็นสำหรับการคลอดในระยะที่สอง แต่หากเริ่มเบ่งตั้งแต่ระยะแรกของการเจ็บครรภ์โอกาสของการคลอดได้น้อยและมารดาหมดแรงก่อนและอาจทำอันตรายต่อทารกในครรภ์

effacement และ dilatation เกิดกับปากมดลูกที่สุกแล้ว ศีรษะทารกจะผ่านปากมดลูกลงมาได้ปากมดลูกต้องเปิดประมาณ 10 เซนติเมตรหรือที่เรียกว่า fully dilated สำหรับ cervical effacement เป็นการสั้นลงของปากมดลูกจากประมาณ 2 เซนติเมตรไปเป็นบางเท่ากับขอบของกระดาษ เกิดจากinternal cervical osถูกดึงขึ้นไปข้างบนเข้าไปในมดลูกส่วนล่าง เมื่อเริ่ม effacement ในสตรีที่เคยตั้งครรภ์ internal osจะเปิดขยายและเป็นรูปกรวย(funneling) ไปสู่ external osขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นน้อยกว่าในสตรีตั้งครรภ์แรก บางครั้งเกิด effacement ในปากมกลูกที่นุ่นก่อนการเจ็บครรภ์ทำให้มีมูกเหนียวข้นออกจากช่องคลอดได้ เนื่องจากปากมดลูกเป็นส่วนที่ความต้านทานน้อยกว่าระหว่างมดลูกหดรัดตัว ทำให้เกิดแรงออกจากศูนย์กลางทำให้ปาดมดลูกเปิดขยายhydrostatic action ของถุงน้ำคร่ำหรือส่วนนำของทารกในตำแหน่งที่เหมาะในกรณีที่ถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว สามารถทำให้ปากมดลูกเปิดขยายได้

ระยะเวลาของ latent phase มีความแปรปรวนอย่างมากและไวต่อการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกเช่นการทำให้สตรีตั้งครรภ์สงบ หรือการกระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูก อย่างไรก็ตาม latent phase มีผลต่อการดำเนินการคลอดในขั้นตอนต่อไปเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ accelerated phase ของ active phase ใช้ทำนายผลของการคลอดที่ผิดปกติได้

ช่องคลอดถูกค้ำจุนและปิดโดยเนื้อเยื่อหลายชั้น รวมทั่ง pelvic floor โครงสร้างที่สำคัญที่สุดคือกล้ามเนื้อ levatoraniและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ปกคลุมพื้นผิวส่วนบนและล่างของกล้ามเนื้อนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนของทั้งโครงสร้างและส่วนประกอบของ extracellular matrix ของโครงสร้างเหล่านี้ระหว่างการเจ็บครรภ์คลอด ระหว่างตั้งครรภ์กล้ามเนื้อ levatoraniจะหนาตัวขึ้นเป็นแผ่นหนา เกาะจากกระดูก pubis ไปทางด้านหลังโดยโอบล้อมรอบช่องคลอดที่ระดับ 2 เซนติเมตรเหนือระดับเยื่อพรหมจรรย์ ลำไส้ตรงและช่องคลอดถูกดึงข้างหน้าและขึ้นบนเข้าหา symphysis pubis ขณะที่กล้ามเนื้อนี้หดรัดทำให้ช่องคลอดถูกปิด เมื่อเข้าสู่ระยะแรกของการเจ็บครรภ์ กรณีที่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก ส่วนนำของทารกขยายช่องคลอดส่วนบนทำให้กล้ามเนื้อ levatoraniถูกยืดขยายพร้อมกับการบางลงของ central portion ของ perineum

Second stage of labor ในสตรีตั้งครรภ์แรกหลายๆ คน ศีรษะทารกจะเครื่องลงต่ำก่อนเริ่มการเจ็บครรภ์ รูปแบบของการเคลื่อนลงของศีรษะทารกในการคลอดปกติจะเป็นแบบ hyperbolic curve เมื่อจุดลงบน partographในสตรีตั้งครรภ์แรกอัตราการเคลื่อนลงของศีรษะทารกจะเพิ่มขึ้นมากใน phase of maximum slopeเพิ่มขึ้นจนเร็วที่สุดต่อเนื่องจนกระทั่งส่วนนำถึง perineal floor

Third stage of labor เริ่มทันทีหลังจากคลอดทารก พร้อมกับการลอกตัวและคลอดรกและเยื่อหุ้มทารกยอดมดลูกอยู่ต่ำกว่าสะดือเล็กน้อย หลังคลอดทารกมดลูกหดรัดตัวและลดขนาดลงทันทีจนแถบไม่มีว่างในโพรงมดลูก ทำให้รกมีพื้นที่เกาะน้อยลงรกจึงเพิ่มความหนา โค้งงอดึงและลอกตัวออกจากมดลูกจากชั้น decidualspongiosaเพราะเป็นชั้นที่อ่อนแอที่สุด หลังรกลอกตัวเกือบสมบูรณ์เยื่อหุ้มทารกเกิดการลอกตัวตามมา ส่วนหนึ่งเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูก อีกส่วนหนึ่งเกิดการดึงโดยรกที่ลอกตัวออกมาก่อนแล้ว เมื่อรกลอกตัวหมดรกจะอยู่บริเวณมดลูกส่วนล่างหรือช่องคลอดส่วนบน ไม่บ่อยที่รกคลอดเองถ้าสตรีอยู่ในท่านอนหงายซึ่งบางครั้งอาจใช้แรงดันจากในช่องท้องช่วย การช่วยกดและยกยอดมดลูกขึ้นร่วมกับออกแรงดันสายสะดือเพียงเล็กน้อยทำให้การคลอดระยะที่นี้เสร็จสิ้นretroplacental hematoma ซึ่งเป็นผลจากการลอกตัวของรกและอาจช่วยเร่งการลอกตัว hematoma อาจเห็นตามหลังรกคลอดแล้วหรือหลังเยื่อหุ้มทารกซึ่งเรียกกลไกลการคลอดรกแบบนี้ว่า Schultze mechanismแต่ถ้ารกเริ่มลอกตัวที่บริเวณขอบรก เลือดที่เกิดจากการลอกตัวและสะสมอยู่หลังรก จะไหลออกทางช่องคลอด เรียกกลไกลการคลอดรกแบบหลังว่า Duncan mechanism

Oxytocin เป็น potent nanopeptideถูกสังเคราะห์ใน supraoptic neuronและ paraventricular neuron ในระหว่างที่ถูกขนส่งผ่าน axon โดย neurophysinซึ่งเป็น carrier protein ไปยัง posterior pituitary gland จะอยู่ในรูปของ prohormoneและถูกเปลี่ยนเป็น oxytocin มีบทบาทใน phase 3 และ 4 ถือเป็น uterotoninตัวแรกที่เกี่ยวข้องกับการเหนี่ยวนำการเจ็บครรภ์คลอดโดยมีข้อมูลสนับสนุนดังนั้น 1)oxytocin receptor มากขึ้นอย่างโดดเด่นในเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อมดลูกและ decidua เมื่อใกล้สิ้นสุดการตั้งครรภ์2)สามารถออกฤทธิ์ต่อ decidua และกล้ามเนื้อมดลูกเพื่อส่งเสริมการหลั่ง PG และ 3) oxytocinสามารถสังเคราะห์ได้จาก decidua เนื้อเยื่อทารกหรือรก oxytocin มีระดับสูงในช่วงระหว่าง second-stage labor, หลังคลอดใหม่ๆ และระหว่างให้นมบุตร การให้ oxytocin ทางเส้นเลือดช่วยส่งเสริมให้ระดับ mRNA ในยีนกล้ามเนื้อมดลูกเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะสร้างโปรตีนที่จำเป็นสำหรับมดลูกเข้าอู่ไม่ว่าจะเป็น intestinal collagenase, monocyte chemoattractant protein-1, IL-8, urokinase plasminogen activator receptorพบว่า CRH, activin A, vasopressin, และ PGF2กระตุ้นการหลั่ง oxytocin จากรก เพิ่มการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ความถี่ของการเจ็บครรภ์และการคลอดเกิดขึ้นบ่อยกว่าในตอนกลางคืน อาจเนื่องจากการ oxytocin หลั่งมากกว่าในช่วงกลางคืน

Prostaglandin มี uterotoninที่สำคัญที่หน้าที่ใน phase 3 มีหลักฐานสนับสนุนดังนี้ 1) ระดับของ PG และ metabolite ในน้ำคร่ำ ในเลือดและปัสสาวะมารดาสูงขึ้น 2)การรักษาด้วย PG สามารถทำให้เกิดการแท้งหรือคลอดได้ทุกช่วงอายุครรภ์ 3)การให้ PGHS-2 (COX-2) inhibitor สามารถชะลอการเจ็บครรภ์และหยุดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด 4) ระดับ arachidonic acid ในน้ำคร่ำสูงขึ้นเมื่อเจ็บครรภ์ เริ่มมีการเจ็บครรภ์คลอดหลังฉีด arachidonateเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ 5) ผู้ป่วยที่รับประทาน ASA ในขนาดที่สูง สามารถยืดอายุครรภ์เฉลี่ย เพิ่มอุบัติการณ์ของการคลอดเกินกำหนด และเพิ่มระยะเวลาการเจ็บครรภ์ 6) cervical manipulation, membrane stripping หรือการเจาะถุงน้ำคร่ำ สามารถกระตุ้นการหลั่ง PG และเพิ่มหรือชักนำกล้ามเนื้อมดลูกรัดตัวในระหว่างการคลอดมีการสังเคราะห์ PG สูงตลอด phase 2 และ 3 พบ PGF2receptor เพิ่มขึ้นใน decidua เมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด นอกจากนี้กล้ามเนื้อมดลูกยังสังเคราะห์ PGHS-2 เมื่อเริ่มมีการเจ็บครรภ์แต่ PG ส่วนมากน่าจะมาจาก decidua พบว่าเยื่อหุ้มและรกยังสามารถผลิต PG ได้ ระหว่างทารกเจริญเติบโตขึ้น ระดับ PG ในน้ำคร่ำจะค่อยๆ สูงขึ้นและจะเพิ่มอย่างมากหลังจากเริ่มเจ็บครรภ์ การเพิ่มขึ้นทั้ง cytokine และ PG ทำให้ extracellular matrix เสื่อมสภาพมากยิ่งขึ้นทำให้เยื่อหุ้มทารกแข็งแรงน้อยลง การติดเชื้อในน้ำคร่ำสัมพันธ์กับการลดระดับความเข้มข้นของ 15-hydroxyprostaglandin dehydrogenase (PGDH)ซึ่งจะไปชะลอ PG ส่งผลให้เปลี่ยนแนวโน้มไปทางสังเคราะห์และกระตุ้นมากกว่า การเพิ่มการสังเคราะห์ PG ร่วมกับการลดลงของPDGH ทำให้เพิ่มระดับ PG ในระหว่างเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งน่าจะเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงปริมาณและบทบาทของ estrogen, progesterone, CRH และ cortisol

Platelet-Activating Factor (PAF) พบ PAF ในการตอบสนองต่อภูมิแพ้และการอักเสบ สร้างมาจาก basophil, neutrophil, eosinophil, monocyte และ endothelial cell โดย PAF receptor จัดเป็น G-protein receptor บนเยื่อหุ้มเซลล์ เมื่อถูกกระตุ้นจะเพิ่มปริมาณแคลเซียมในเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก ส่งเสริมให้เกิดการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ระดับ PAF ในน้ำคร่ำสูงขึ้นเมื่ออยู่ในระหว่างการเจ็บครรภ์ โดยมีPAF-acethylhydrolaseเป็นเอนไซม์ในการยับยั้ง PAF พบเอนไซน์นี้มากใน macrophage ที่มีมากใน decidua อาจช่วยปกป้องฤทธิ์ของ PAF ในระหว่างตั้งครรภ์นอกจาก PAF แล้ว epidermal growth factorและ transforming growth factor-สามารถกระตุ้นการสร้าง PG ได้อีกด้วย

Endothelin-1 เป็น 21-amino acid peptide ที่มีประสิทธิภาพอย่างมากในการชักนำให้เกิดการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ถูกผลิตขึ้นในกล้ามเนื้อมดลูกและ amnion โดยมี endothelinA receptor ที่มีผลเพิ่มแคลเซียมในเซลล์ และ enkephalinase ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการเสื่อมสภาพของ endotheli-1 พบว่าออกฤทธิ์อย่างมากใน chorionleave

Angiotesin II มี AT1 receptor และ AT2 receptor ขณะตั้งครรภ์จะพบ AT1 receptor เด่นกว่าและเมื่อ angiotensin II จับกับ receptor จะกระตุ้นให้เกิดการหดรัดตัว อย่างไรก็ตาม angiotensin II อาจมีส่วนในระบบ uterotonin

Corticotropin-Releasing Hormone (CRH)ใน phase 1 และ 2 จะมีการเปลี่ยนแปลง CRH receptor ซึ่งส่งเสริมการเพิ่มระดับแคลเซียมในเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกผ่าน cAMP พบว่า CRH เสริมฤทธิ์ oxytocin ในการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก CRH กระตุ้นการหลั่ง PG ในเยื่อหุ้มทารก, decidua และกล้ามเนื้อมดลูกและออกฤทธิ์เพิ่มแรงหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกเมื่อตอบสนองผ่าน PGF2นอกจากนี้ CRH ยังเพิ่มการหลั่ง MMPs ในรกและเยื่อหุ้มทารก นำไปสู่การฉีกขาดของเยื่อหุ้มทารก

Intrauterine Tissue to Parturition

Amnion เป็นเนื้อเยื่อที่ไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยง เพิ่มความแข็งแรงให้กับเยื่อหุ้มทารก ต่อต้านการเคลื่อนผ่านของเม็ดเลือดขาว จุลชีพ และเซลล์มะเร็ง ทำหน้าที่เป็นตัวกรองอนุภาคที่เคลื่อนผ่านระหว่างน้ำคร่ำและมารดา ในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ amnion เพิ่มการสั่งเคราะห์ PG ซึ่งเข้าสู่น้ำคร่ำ ส่งผลกระตุ้นกระบวนการที่ส่งเสริมให้เกิดน้ำเดิน

ChorionLaeve ชั้นเนื้อเยื่อที่มีหน้าที่ในการปกป้องเป็นหลัก อุดมไปด้วยเอนไซม์ที่ทำให้ uterotoninเฉื่อยชาลง เช่น PGDH, oxytocinase, enkephalinaseมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าระดับ PGDH ใน choriorลดลงในระหว่างเจ็บครรภ์ ทำให้เพิ่ม prostaglandin-stimulated MMP activity ซึ่งสัมพันธ์กับเยื่อหุ้มทารกฉีกขาด จากนั้น PG เข้าสู่มารดา ส่งเสริมการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก อาจเป็นไปได้ว่า progesterone คงการแสดงออกของ PGDH ในขณะที่ cortisol มีผลลดการแสดงออก

Decidual Parietalis มีส่วนทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอด โดย decidualuterotoninออกฤทธิ์แบบ paracrine ต่อกล้ามเนื้อมดลูกที่อยู่ใกล้เคียง ยังสามารถผลิตเอนไซน์ที่ไปสลาย progesterone ที่อาจควบคุม progesterone withdrawal เฉพาะที่ ภาวะ decidual activation คือการเปิดออกของdecidua ที่บุบนเยื่อหุ้มทารกส่วนล่างการได้รับบาดเจ็บภาวะขาดออกซิเจน และการเผชิญของ decidualต่อ endotoxin, จุลชีพ และ IL-1ในของเหลวจากช่องคลอด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบและเจ็บครรภ์ตามมาก และ cytokine เช่น TNF-, IL-1,6,8,12 จากกระบวนการอักเสบ เพิ่มการผลิต uterotoninและเพิ่มการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ยังเรียก neutrophil และ eosinophil สู่กล้ามเนื้อมดลูก เพิ่มการหดรัดตัวและเจ็บคลอดตามมา

Phase 4 (Involution): The puerperium

ระยะนี้ใช้เวลาหลายชั่วโมงหลังคลอดทันที มดลูกแข็งขึ้นและหดรัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เส้นเลือดของมดลูกถูกกดและเกิดลิ่มเลือดภายในหลอดเลือด เพื่อป้องกันการตกเลือดหลังคลอด เกิดสายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก ร่วมกับเริ่มต้นการสร้างน้ำนมและหลั่งน้ำนม โดยทั้งสองเหตุการณ์ข้างต้นเกิดจาก oxytocin มดลูกเริ่มเข้าอู่ โดยการสังเคราะห์ matrix และเซลล์ที่จำเป็น มีการซ่อมแซมปากมดลูก ขจัด GAGs และ proteoglycans และปรับ collagen ให้กลับสู่สภาวะก่อนการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อและทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกกลับมาตอบสนองต่อฮอร์โมน ภาวะมีบุตรยาก (infertility) จะคงต่อไปตราบที่ยังให้นมบุตรอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากการให้นมลูกและ prolactin ที่ทำให้เกิดภาวะไม่ตกไข่และขาดประจำเดือน

เอกสารอ้างอิง

  1. Cunningham FG, Leveno KJ, Bloom SL, et al. Parturition: Williams obstetrics. 23rd ed. McGraw-Hill: New York, 2010:136-162
  2. Fritz MA, Speroff L. The endocrinology of pregnancy: Clinical gynecologic endocrinology and infertility. 8thed. Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia, 2011:311-322
  3. Roger Smith. Parturition. N Engl J Med 2007;356:271-83
  4. Roger S, Dirk VH, Jon H, Tamas Z, Mark R, Eng-Cheng C, et al. Pathology interactions with the timing of birth and uterine activation.Aust N Z J ObstetGynecol 2007;47:430-37
  5. Victoria S, Joong SP, Errol RN. Endocrinology of parturition. EndocrinolMetabClin N Am 2006;35:173-91
  6. ธีระ ทองสง และคณะ. สรีรวิทยาของคลอด: สูติศาสตร์.ฉบับที่ 5. บริษัทลักษมีรุ่ง:กรุงเทพ, 2555:111-124
  7. สายพิณ พงษธา. Parturition: ไมโสพรอสตอล. โครงการ ตำราคณะแพทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: เชียงใหม่, 2554
Read More

Pelvic organ prolapse

Pelvic organ prolapse

พ.ญ. ดังชีวัน ตินนังวัฒนะ
ผ.ศ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร


คืออวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานหย่อนมักเกิดในผู้หญิงวัยสูงอายุเป็นส่วนใหญ่เกิดจากการอ่อนแอของกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆในบริเวณอุ้งเชิงกราน(1) โดยผู้ป่วยอาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ อาการสำคัญที่พบได้ คือ

  • Lower urinary tract symptoms
  • Pelvic pain
  • Defecatory problems
  • Fecal incontinence
  • Back pain
  • Dyspareunia

ร้อยละ 11 ของผู้หญิงที่อายุมากกว่า 80 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอุ้งเชิงกรานหย่อน และ 1/3 จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดซ้ำ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุ้งเชิงกรานหย่อน

  • Vaginal delivery โดยหากเคยคลอดบุตรทางช่องคลอด 1 ครั้ง จะเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนเป็น 2 เท่า
  • มีประวัติคลอดยาก เช่น คลอดทารกที่มีภาวะ macrosomia
  • อายุ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุกๆ 10 ปี ในช่วงอายุ 20-59 ปี
  • เชื้อชาติ
  • ภาวะอ้วน
  • มีประวัติผ่าตัด pelvic surgery มาก่อน
  • Increase intraabdominal pressure เช่น ท้องผูก ไอเรื้อรัง ยกของหนัก
  • มีประวัติโรค connective tissue disease

ระบบการพยุงของมดลูกและช่องคลอด(1, 2)

Level I : uterosacral and cardinal ligament complex for maintain vaginal length and axis

Level II : support paravaginal attachments of the lateral vagina and endopelvic fascia to arcustendineus for maintain midline position

Level III : muscle and connective tissue surrounding distal vagina and perineum for maintain distal vagina

Endopelvic connective tissue(1)

  1. uterosacral and cardinal ligament complex attach upper vagina and posterior cervix
  2. lateral connective tissue attach anterior vaginal wall to arcustendineus and attach posterior vaginal wall to fascia of levatorani and posterior arcustendineus
  3. less dense areolar connective tissue

สามารถแบ่งลักษณะความผิดปกติตามตำแหน่งพยาธิสภาพได้ดังนี้

  1. Apical compartment
  2. Anterior compartment
  3. Posterior compartment

Apical compartment

ประกอบด้วย cardinal ligament, uterosacral ligament และ upper paravaginal fibromuscular connective tissue โดยความผิดปกติที่พบมักเกิดจาก

  1. Loss cardinal and US support ทำให้เกิด cervix, uterus or vaginal cuff หย่อน
  2. เกิดการลอกของfibromuscular connective tissue จาก anterior rectum ทำให้เกิด enterocele
  3. เกิดการฉีกขาดของ upper fibromuscular tissue ทำให้เกิด central apical descent ( ballooning effect)

Anterior compartment

ประกอบด้วย vaginal wall, urethra, bladder โดยความผิดปกติที่พบมักเกิดจากการฉีกขาดของ vaginal fibromuscular wall หรือเกิดการลอกตัวของส่วนนี้จาก pelvic side wall, cervix หรือ cardinal ligament โดยตรวจร่างกายมักพบ

  1. Central bollooning type effect
  2. Descent of vaginal wall below bladder neck
  3. Descent of cervix or apical vaginal area
  4. Present or absent of sulci lateroanteriorly

Posterior compartment

ประกอบด้วย pelvic floor muscle, connective tissue, pararectal fascia (Denovilliar’s fascia)

การรักษาอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานหย่อนแบ่งเป็น

1. Nonsurgical methods

A. Conservative Treatment

B. Mechanical devices

2. Surgical methods

A. Vaginal approach

B. Abdominal approach

C. Laparoscopic approach

1. Nonsurgical methods

A. Conservative management

Pelvic floor muscle training โดยมีจุดประสงค์คือ

  • ป้องกันไม่ให้เกิดการหย่อนมากขึ้น
  • ลดโอกาสการเกิดอาการมากขึ้น
  • เพิ่มความแข็งแรงของ pelvic floor muscle
  • ลดโอกาสการผ่าตัด

Life style intervention เช่น การลดน้ำหนัก หรือลดพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดความดันในช่องท้องมากขึ้น(3)

B. Mechanical devices เหมาะสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มที่

  • ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากมีข้อห้ามทางด้านอายุรกรรม
  • ไม่ต้องการการผ่าตัด
  • มีการหย่อนมากจนไม่สามารถรักษาแบบ conservative ได้

ปัจจัยที่ทำให้การรักษาล้มเหลวคือ(1)

  • ความยาวของช่องคลอดสั้นน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6 เซนติเมตร
  • Introitusกว้าง
  • ยังมีเพศสัมพันธ์
  • มีภาวะ stress incontinence
  • มี posterior compartment prolapse stage III or IV
  • ผู้ป่วยมีความต้องการที่จะผ่าตัด

2. Surgical methods

มีจุดประสงค์เพื่อลดอาการที่เกิดจาก ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน และช่วยให้ผู้ป่วยยังคงมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ โดยแบ่งได้ตามประเภทของการผ่าตัด คือ(1)

  1. Restorative procedure โดยการใช้ endogenous support structure ของผู้ป่วยเอง
  2. Compensatory procedure โดยการใช้ permanent graft material
  3. Obliterative procedure คือการเย็บปิดช่องคลอด ในผู้ป่วยที่ไม่ต้องการ sexual function แล้ว

การที่จะเลือกวิธีหรือรูปแบบที่จะใช้ในการผ่าตัดขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้(4)

  • Degree or stage of herniation
  • Location of defect
  • Prior vaginal or pelvic repairs
  • Associated or unmasked stress incontinence
  • Associated voiding dysfunction
  • Sexual function
  • Level of activity
  • Upper tract status
  • Hormonal status
  • Presence or absence of uterus
  • Medical comorbidities
  • Patient expectations
  • Risk factor for recurrence (obesity, chronic pulmonarydisease, chronic constipation)

A. Vaginal procedure

Apical compartment

  • Hysterectomy(3)ซึ่งสามารถทำได้ทั้ง vaginal, abdominal ,laparoscopic approach และทำร่วมกับหัตถการอื่น
  • Modified Mccall Culdoplasty(3)เป็นหัตถการแก้ไข enteroceleทำโดยการเย็บปิด Cul-de-sac ทำให้เกิดapical support มากขึ้น และเพิ่มความยาวของ vagina ซึ่งเป็นวิธีที่ประสบผลสำเร็จมากกว่าuterosacral ligament suspension โดยหลังทำหัตถการเสร็จ แนะนำให้ทำ cystoscopeร่วมกับฉีด indigo carmine เพื่อตรวจดูว่ามีการบาดเจ็บของ ureter หรือไม่ วิธีนี้มีโอกาสการกลับเป็นซ้ำ 4-5%
  • Vaginal enterocele repair(3)คือการเย็บปิดเฉพาะจุดที่มีenteroceleมักทำร่วมกับหัตถการอื่น เช่น anterior colporrhaphy, posterior colporrhaphyหรือ vaginal vault suspension
  • Sacrospinous ligament fixation คือการยึดตรึง vaginal apex ติดกับ sacrospinous ligament(4)โดยเข้าทางด้าน rectovaginal space ผ่านpararectal fascia

ข้อดี(1) เป็นการผ่าตัดทางช่องคลอด โอกาสประสบความสำเร็จ 89 – 97%

ข้อเสีย(1)

  • expose ligament ยาก
  • หลังทำจะเกิด tension มาก ทำให้ต้องผ่าตัดซ้ำ
  • เสี่ยงต่อการเกิด sciatic nerve injury, pudendal nerve injury(4)
  • ช่วง upper vagina สั้นและแคบลง

• Iliococcigeal vaginal suspension

คือการยึด vaginal apex ติดกับiliococcigeous muscle and fascia โดยการทำวิธีนี้ง่ายกว่าและโอกาสการเกิด nerve/vessel/ureteral injury ต่ำกว่าการทำsacrospinous ligament fixation ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับการทำหัตถการนี้น้อยแต่จากการศึกษาที่มีพบว่ามีโอกาสการกลับเป็นซ้ำ 8%(1)

• Uterosacral ligament suspension

สามารถทำได้ทั้ง vagina, abdomen และ laparoscopic approach การยึด vaginal apex กับ uterosacral ligament ในตำแหน่งเหนือต่อischial spine เป็นวิธีที่ได้ผลดีมาก และโอกาสการกลับเป็นซ้ำน้อย 2 – 5% ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ureteral obstruction ซึ่งเกิดจากการคดงอจากการดึงรั้ง หรือจากการผูกปมไหม จึงแนะนำให้ทำ cystoscopeและฉีด indigo carmine เพื่อดูการทำงานของ ureter หลังจากการทำoperation นี้เนื่องจากมีโอกาส ureteral inju ry 1-11%(1)

• Vaginal uterine preservation(5)

Manchester procedure คือการตัดบริเวณปากมดลูก และเย็บตรึงกับ cardinal ligaments และ modified Manchester procedure คือการตัดบริเวณปากมดลูกร่วมกับการเย็บติดกับ uterosacral ligaments ทางด้านหลัง และเย็บ cardinal ligaments ทางด้านหน้า เพื่อช่วยเพิ่ม ความแข็งแรงทางด้าน apex แต่มีผลเสียคือทำให้ช่องคลอดตัน และประจำเดือนมาผิดปกติได้ ประสบผลสำเร็จ 40%

Sacrospinous hysteropexy คือการเย็บปากมดลูก หรือ uterosacral ligaments ติดกับ sacrospinous ligament มีข้อดีคือเสียเลือดน้อย ใช้เวลาผ่าตัดและพักฟื้นไม่นาน มีอัตราการ ประสบความสำเร็จ 87 % แต่มีอัตราการกลับเป็นซ้ำได้สูง 11-51 %

Vaginal mesh hysteropexy การทำ hysteropexy ร่วมกับ mesh placement เป็นวิธีที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของ pelvic support ได้ดีมากในผู้ป่วยที่ต้องการเก็บมดลูกไว้ มีผลสำเร็จ 75% อัตราการกลับเป็นซ้ำ 12% แต่มีผลข้างเคียงคือเกิด mesh erosion ได้ 11%

Anterior compartment

• Anterior vaginal colporrhaphy

เป็นการแก้ไขความผิดปกติบริเวณด้าน anterior vagina และ cystocele รวมถึงช่วยลดอาการที่เกิดจากการหย่อนได้(4) โดยวิธีการทำคือตัดเนื้อเยื่อส่วนที่หย่อนและเย็บปิดส่วนนั้น หากผู้ป่วยมีภาวะ stress incontinence ควรทำ bladder neck suspension ร่วมด้วย วิธีนี้มีอัตราการกลับเป็นซ้ำ 3-92% ขึ้นอยู่กับระยะของการหย่อนเดิม

• Paravaginal repair

เป็นการซ่อมแซมส่วน lateral wall vagina โดยทำการเย็บติดกับ obturator internus fascia วิธีการนี้สามารถทำได้ทั้ง vaginal, abdominal และ laparoscopic access ประสบความสำเร็จ 80-95%

• Transvaginal mesh procedure

โดยการใช้ graft ในการพยุงส่วนที่หย่อน และช่วยกระตุ้น fibroblast infiltration ทำให้เพิ่มความแข็งแรงมากขึ้น และช่วยลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำ โดย graft ที่ดี มักมีลักษณะ

  • เกิดการแพ้ได้น้อย
  • โอกาสการติดเชื้อน้อย
  • ลดการเกิดการกลับเป็นซ้ำของโรค
  • ไม่รบกวนการทำงานของลำไส้และไต
  • ไม่แพง

โดย graft แบ่งได้หลายชนิดคือ

  • Autologous tissue คือได้tissue มาจากตัวผู้ป่วยเอง มีข้อจำกัดในเรื่องขนาดที่อาจไม่เหมาะสม
  • Cadaveric allograft and fascia
  • Dermis and other connective tissue
  • Xenograft from animal
  • Synthetic material ซึ่งเป็น permanent graft ข้อดีคือโอกาสล้มเหลวจากการรักษาน้อยกว่าการใช้ autograft, allograft และ xenograft(6, 7)แต่อาจเกิดแผลเป็นและเจ็บแผลได้มากกว่าจากการเกิด erosion(8)

Posterior compartment

• Posterior colporrhaphy

คือการเย็บ pubococcygeus muscle ข้ามanterior rectum และทำ perineal body reconstruction มีผลสำเร็จ 76-96% แต่ไม่มีผลช่วยในเรื่องของ fecal incontinence และหลังจากการทำหัตถการนี้อาจเกิด dyspareunia ได้ 8-26%

Vaginal obliterative procedure

เหมาะในผู้ป่วยที่ไม่ต้องการ sexual function โอกาสประสบความสำเร็จ 100%(1, 9) เมื่อทำร่วมกับ hysterectomy โดยแบ่งเป็น 2 แบบ (1)คือ

• Partial colpocleisisคือการเย็บปิดช่องคลอด แต่ยังเหลือ vaginal epithelium เป็น tract ไว้เพื่อ drain discharge

• Total colpectomyเป็นการเย็บปิดช่องคลอดและเอา vaginal epithelium ออกทั้งหมด ไม่มี tract สำหรับการ drain discharge

B. Abdominal procedure

• Abdominal uterosacral ligament suspension

คือการรักษา apical prolapse ที่เกิดจากความผิดปกติของ cardinal ligament และ uterosacral ligament หรืออาจทำเพื่อเป็นการป้องกันอุ้งเชิงกรานหย่อนหลังผ่าตัดมดลูกหลังจากการทำ hysterectomy โดยอาจทำเป็น laparotomy หรือ laparoscopic approach ก็ได้ หลังจากการทำหัตถการควรทำ cystoscope เพื่อดู ureteral patency(1)วิธีนี้มีโอกาสการกลับเป็นซ้ำ 5-12%

• Abdominal approach to posterior repair

โดยมีการทำ 2 แบบคือ เย็บซ่อม หรือการใช้ graft วิธีนี้ประสบความสำเร็จ 82%

• Abdominal sacrocolpoplexy

เป็นวิธีมาตรฐานของการเย็บซ่อม apical compartment จาก transabdominal approach วิธีทำคือการใช้ graft ยึดส่วนที่มีความผิดปกติเข้ากับ anterior longitudinal ligament of sacrum เป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จได้สูง 78 – 100%(4)และประสบผลสำเร็จมากกว่า sacrospinous fixation(10)โดยมีข้อดีคือ

• ไม่มีแผลที่ช่องคลอด

• เกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาทได้น้อยกว่าการผ่าตัดทางช่องคลอด

ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด(11)

  • เกิด graft erosion ทำให้เกิดการติดเชื้อ และการบาดเจ็บเป็นแผลของช่องคลอด
  • เสียเลือดมากจากการบาดเจ็บของ presacral vessel
  • Post-op bowel ileus
  • Small bowel obstruction
  • Intraabdominal adhesion
  • Wound complication เช่น infection, seroma
  • Abdominal hysteropexy(5) คือการเย็บมดลูกติดกับ anterior abdominal wall เป็น procedure of choice ใน abdominal approach ในผู้ป่วยที่ต้องการรักษาโดยการเก็บมดลูกไว้ อาจทำโดยการใช้ laparoscopic หรือ robotic approach
  • Abdominal sacral hysteropexy คือการเย็บมดลูกติดกับ anterior longitudinal ligament ประสบความสำเร็จ 95-100% อาจทำโดยการใช้ laparoscopic หรือ robotic approach

C. Laparoscopic and robotic technique

  • Laparoscopic approach to posterior repair คือการแยก rectovaginal space ออกจาก perineal body และทำการเย็บซ่อม
  • Sacrocolpoplexy ยังมีการศึกษาในเรื่องนี้อยู่น้อย อัตราการประสบความสำเร็จของการผ่าตัดอยู่ในช่วง 84-94% แต่เมื่อเทียบกับabdominal approach แล้วจะลด adhesion และ bowel ileus ได้มากกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. berek JS. Berek and Novak’s gynecology. In: berek DL, editor. Berek and Novak’s gynecology. Philadelphia: Lippincott williwiams & willkins; 2012. p. 906-39.
  2. karram M. Surgical management of pelvic organ prolapse. In: maher CF, editor. Surgical management of pelvic organ prolapse. philadelphia: daunders 2013.
  3. Sokol AI. The requisites in Cbstetrics and gynecology. In: Sokol ER, editor. The requisites in Cbstetrics and gynecology. philadelphia: Mosby, Inc; 2007. p. 557-80.
  4. Chapple CR. multidisciplinary management of female pelvic floor disorder. multidisciplinary management of female pelvic floor disorder: Elsevier Inc; 2006. p. 189-218.
  5. Gutman R, Maher C. Uterine-preserving POP surgery. Int Urogynecol J. 2013 Nov;24(11):1803-13.
  6. Maher C. Anterior vaginal compartment surgery. Int Urogynecol J. 2013 Nov;24(11):1791-802.
  7. Rudnicki M, Laurikainen E, Pogosean R, Kinne I, Jakobsson U, Teleman P. Anterior colporrhaphy compared with collagen-coated transvaginal mesh for anterior vaginal wall prolapse: a randomised controlled trial. BJOG. 2013 Oct 1.
  8. Iglesia CB, Sokol AI, Sokol ER, Kudish BI, Gutman RE, Peterson JL, et al. Vaginal mesh for prolapse: a randomized controlled trial. Obstet Gynecol. 2010 Aug;116(2 Pt 1):293-303.
  9. Chaudhury N, Sen M. Le Fort’s procedure–an option for the aged. J Indian Med Assoc. 2011 Mar;109(3):182, 7.
  10. Barber MD, Maher C. Apical prolapse. Int Urogynecol J. 2013 Nov;24(11):1815-33.
  11. Lumley J. New technique in genital prolapse surgery. In: Hakim N, editor. New technique in genital prolapse surgery. new York: Springer 2011.
Read More

ภาวะการมีบุตรยากที่มีสาเหตุจากเพศชาย

ภาวะการมีบุตรยากในเพศชาย (Male Infertility)

น.พ. ธนัท จิรโชติชื่นทวีชัย
อ.ที่ปรึกษา : อ.อุบล แสงอนันต์


 บทนำ

ภาวะการมีบุตรยาก คือ การที่คู่สมรส ที่ฝ่ายหญิงอายุน้อยกว่า 35ปี ไม่สามารถมีบุตรได้ หลังจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอโดยไม่ได้คุมกำเนิดอย่างน้อยเป็นเวลา 12 เดือน หรือคู่สมรส ที่ฝ่ายหญิงอายุตั้งแต่ 35ปีไม่สามารถมีบุตรได้ ภายในเวลา 6 เดือน ภายหลังจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอโดยไม่ได้คุมกำเนิด(1) โดยปกติคู่สมรสที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุมกำเนิด จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลา 12 เดือน(2)

สาเหตุของภาวะการมีบุตรยากเกิดหลายปัจจัยสาเหตุจากเพศชายประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุจากเพศหญิงประมาณ 40-55 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุจากทั้งเพศชายและหญิงประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ และที่ไม่ทราบสาเหตุอีกประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์(3)

Novak E. Berek & Novak’s gynecology. 15th ed.

การสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชาย (Spermatogenesis)

จากสมองส่วน hypothalamus สร้างฮอร์โมน gonadotropin releasing hormone (GnRH) ไปกระตุ้น anterior pituitary gland ให้สร้าง Gonadotropin ไปออกฤทธิ์กระตุ้นเซลล์สองกลุ่มในอัณฑะ

  • luteinizing hormone (LH) กระตุ้นLeydig cells ในการสร้างฮอร์โมน testosterone
  • follicle stimulating hormone (FSH) กระตุ้น Sertoli cells ในการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชาย

Clinical Gynecologic Endocrinology & Infertility, 7th Edition p.1137

ที่บริเวณ seminiferous tubules มีการแบ่งตัว และพัฒนาเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชายเป็นลำดับ จนกลายเป็น spermatids และกลายเป็น spermatozoa ผ่าน seminiferous tubules เข้าสู่ epididymis จะกลายเป็น mature spermatozoa ที่สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ผ่านเข้าสู่ vas deferens เมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิ ( ejaculation) mature spermatozoa จะผ่าน prostate, seminal vesicles, bulbourethral glands เข้าสู่ penile urethra ซึ่งความผิดปกติในขั้นตอนต่างๆดังกล่าว เป็นสาเหตุของภาวะการมีบุตรยากในเพศชาย

http://buffonescience9.wikispaces.com/UNIT+3+-+Cell+Reproduction

ระยะเวลาในการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชายประมาณ 70 วัน หลังจากนั้นใช้เวลาอีกประมาณ 12-21 วันในการขนส่งจากepididymis จนถึง ejaculatory duct เนื่องจากระยะเวลาในการพัฒนาการ และการขนส่ง ใช้เวลานาน เพราะฉะนั้นการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ (Semen Analysis)จะบ่งบอกถึงภาวะสุขภาพในช่วงวลาที่ผ่านมา(4)

แนวโน้มของการมีบุตรยากในเพศชาย

จากข้อมูลพบว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ปริมาณตัวอสุจิที่วัดได้ในชายที่สามารถมีบุตรได้ปกติ มีแนวโน้มที่ลดลงประมาณ 2เปอร์เซ็นต์ต่อปีมาประมาณ 20ปี(5) และพบความแตกต่างกันทั้งในคุณภาพ และปริมาณของน้ำเชื้อในแต่ละพื้นที่ทั่วโลก ทำให้ยังมีข้อสงสัยว่าคุณภาพของน้ำเชื้อที่ลดลงไม่เกี่ยวตราการมีบุตรยาก(6) อาจเป็นเพราะปริมาณของน้ำเชื้อมีสำรองค่อนข้างมาก จากการศึกษาพบว่า sperm counts ต้องต่ำกว่า 106/mL ถึงสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้(7) แต่ถึงอย่างไรก็ตามพบว่าในรายที่มี ความเข้มข้นของน้ำอสุจิลดลงตั้งแต่ 21-47เปอร์เซ็นต์ จะพบว่าความสามรถในการมีบุตรลดลงประมาณ 30-40เปอร์เซ็นต์ (8)

สาเหตุของภาวะการมีบุตรยากในเพศชาย

สามารถแบ่งออกเป็น 4 สาเหตุตามตำแหน่งได้ดังนี้ (5)

  • Pre-testicular: Hypothalamic pituitary disease เป็นสาเหตุประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์
  • Testicular: เป็นความบกพร่องตั้งแต่แรกเกิด(congenital) หรือได้รับมาภายหลัง(acquired) เป็นสาเหตุประมาณ 30-40เปอร์เซ็นต์
  • Post-testicular: ความบกพร่องของการขนส่งเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชาย เป็นสาเหตุประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์
  • กลุ่มไม่ทราบสาเหตุชัดเจน (Idiopathic) ประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์

Novak E. Berek & Novak’s gynecology. 15th ed.

ตารางสรุปอัตราส่วนของสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของภาวะการมีบุตรยากในเพศชาย(9)

Guidelines on Male Infertility, European Association of Urology 2013

HYPOTHALAMIC-PITUITARY DISORDERS

โรคในกลุ่มนี้เกิดจากความผิดปกติที่ hypothalamus หรือ ต่อมpituitary ทำให้ไม่สามรถสร้าง gonadotropin-releasing hormone (GnRH) หรือ gonadotropinได้ ทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยากในเพศชายตามมา โดยสาเหตุต่างๆเหล่านนี้สามารถแบ่งแยกได้เป็นกลุ่มย่อยดังนี้คือ

  • Congenital disorders กลุ่มนี้จะพบภาวะ isolated gonadotropin deficiency ทำให้อวัยวะสืบพันธุ์ไม่พัฒนา (sexual infantilism) อาจพบภาวะบกพร่องในการดมกลิ่น(anosmia) ตาบอดสี midline facial defects การได้ยิน renal malformations เราเรียกภาวะผิดปกตินี้ว่า Kallmann’s syndrome(10) และยังมีโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม ที่พบความบกพร่องในการหลั่ง gonadotropin อื่นๆ อีก เช่น Prader-Willi syndrome, Laurence-Moon-Biedl syndrome, Lowe oculocerebral syndrome และfamilial cerebellar ataxia(11)
  • Acquired diseases เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจาก hypothalamic disease, ความผิดปกติของ pituitary ทำให้การขนส่ง การหลั่ง Gonadotropins ผิดปกติไป หรือเป็นผลจากการรักษาทีทำให้ GnRH หลั่งลดลง โรคในกลุ่มนี้ได้แก่
    • เนื้องอก (Tumors) เนื้องอกที่ตำแหน่ง hypothalamus, pituitary เกิดการกดเบียด จนทำให้การหลั่ง Gonadotropes ผิดปกติไป เช่น Pituitary macroadenomas
    • Infiltrative diseases โรคในกลุ่มนี้ได้แก่ Sarcoidosis, histiocytosis, tuberculosis, fungal infections, transfusion siderosis และhemochromatosis ซึ่งการสะสมที่ผิดปกติในบริเวณนี้ ทำให้การหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ
    • ภาวะฮอร์โมนผิดปกติ (Hormonal) ภาวะ hyperprolactinemia จากสาเหตุต่างๆ เช่น hypothyroid, ยา, ภาวะestrogen หรือandrogen ที่มากเกิน ที่เกิดจากเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมน หรือการได้รับ ยาจากภายนอก (12-14)
    • ยา (Drugs) ผลข้างเคียงจากการใช้ยาหลายกลุ่ม สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น GnRH analogues ไปกดการหลัง gaonadotropins, การใช้ยากลุ่ม glucocorticoid ในระยะยาว จะส่งผลทำให้ระดับ testosterone ลดลง(15), ยากลุ่ม opioid, ยากลุ่ม psychotropic
    • ภาวะความเจ็บป่วยต่างๆ (Systemic illness) ทั้งจากความเจ็บป่วยรุนแรง, อุบัติเหตุรุนแรง, โรคขาดสารอาหาร, ภาวะโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ hypogonadotropic hypogonadism
    • โรคอ้วน (Obesity) เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะ hypogonadotropic hypogonadism เนื่องจากการหลั่ง gonadotropinที่ลดลง, ระดับของ testosterone แปรผกผันกับน้ำหนักตัว, BMI และไม่สัมพันธ์กับระดับ sex hormone binding globulin (SHBG) ที่เปลี่ยนแปลงไป(16-19), ระดับของ Estrogen สูงขึ้นจาก การ aromatization ที่เพิ่มขึ้นในเนื้อเยื่อไขมัน(20)

PRIMARY HYPOGONADISM

โรคกลุ่มนี้เกอดจาก Primary gonadal deficiency ทำให้เกิดภาวะ hypergonadotropic hypogonadism ตามมาซึ่ งโรคในกลุ่มนี้ ทำให้ไม่สามารถสร้างสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชายได้ จึงเกิดภาวะการมีบุตรยากในเพศชายตามมา โดยสาเหตุต่างๆเหล่านนี้สามารถแบ่งแยกได้เป็นกลุ่มย่อยดังนี้คือ

Congenital & developmental disorders

Klinefelter’s syndrome เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในโรคกลุ่มนี้ ทำให้เกิด testicular failure พบในเพศชายประมาณ 1 ใน 1,000 คน สาเหตุเกิดจาก X chromosome เกินมา ที่พบบ่อยสุดคือ 47,XXY แต่อาจพบแบบ 48,XXXY, 46,XY/46,XXY mosaicism ก็ได้ หรือใน 46,XX ที่มี testis-determining factor อยู่บน X chromosome ด้วย ลักษณะอาการแสดงจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปริมาณ X chromosome ลักษณะที่พบบ่อยคืออัณฑะฝ่อ เนื่องจาก seminiferous tubules และ Leydig cells ถูกทำลาย ส่ผลให้ FSH, LH สูงแต่ testosterone ต่ำจากภาวะนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีลักษณะเพศชายน้อยกว่าปกติ แต่มีกระดูกขาแขนยาวกว่าปกติ และยังส่งผลต่อสติปัญญา การพูด ความคิด ความเข้าใจ สมาธิสั้น และเพิ่มความเสื่ยงต่อ มะเร็งเต้านม เบาหวาน SLE COPD varicose vein mediastinal germ cell tumors (4)

Autosomal และ X chromosome defects เซลล์สืบพันธุ์ของเพศชายต้องอาศัย การควบคุมทั้งจาก Autosomal และ X chromosome เช่น Mutations ของ SYCP3 ทำให้เกิดภาวะ azoospermia

Y chromosome deletions ในผู้ป่วยมีบุตรยากในเพศชายประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ พบว่ามี microdeletions บริเวณแขนยาวของ Y chromosome เป็นสาเหตุของภาวะ azoospermia และ severe oligozoospermia (21) ภาวะนี้สามรถถ่ายทอดสู่บุตรชายได้ผ่าน Y chromosome ดังนั้นก่อนการทำเทคโนโลยีเพื่อช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น intracytoplasmic sperm injection (ICSI) ควรต้องมีการตรวจทาง genetics และมีการอธิบายผู่ป่วยให้เข้าใจ ถึงความเสี่ยงในการถ่ายทอดทางพันธุกรรม(22)

ภาวะทองแดง (cryptorchidism) คือการที่อัณฑะไม่เคลื่อนลงมาในถุงอัณฑะตามปกติตั้งแต่แรกเกิด สามารถเกิดข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ซึ่งเป็นผลจากการขาด testosterone ตัวอย่างโรคในกลุ่มนี้ เช่น Kallmann syndrome, ภาวะandrogen resistance, ภาวะการสร้าง testosteroneบกพร่อง ภาวะนี้เกิดความผิดปกติต่อการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชาย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอัณฑะได้ (4) ความรุนแรงของโรคในกลุ่มนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่อัณฑะอยู่นอกถุง ยิ่งนานก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อเนื้องอกอัณฑะ และการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ที่แย่ลง(23) มีการศึกษา observational study หนึ่งพบว่าจากผู้ป่วยที่มีภาวะ oligozoospermia ทั้งหมด 3,847 คน พบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งอัณฑะ 10คน (มีภาวะcryptorchidism 2คน) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรทั่ไป พบว่ากลุ่มศึกษากมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งอัณฑะมากกว่าถึง 18เท่า (standardized incidence ratio 18.3, 95% CI 18.0-18.8)(24) แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากปริมาณข้อมูลยังจำกัด จึงยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนถึงแนวทางการตรวจหามะเร็งอัณฑะในผู้ป่วยกลุ่มนี้

เส้นเลือดขอดในถุงอัณฑะ (varicoceles) ก้อนที่เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดดำpampiniform plexus ของ spermatic veins ในถุงอัณฑะ พบข้างซ้ายบ่อยกว่าข้างขวาประมาณ 10เท่า น่าจะเกิดจากที่ spermatic veins ข้างซ้ายที่ยาวกว่า และต้องไปเชื่อมต่อกับ renal veinข้างซ้าย ด้วยมุมประมาณ 90องศา ในขณะที่ข้างขวาต่อเข้า inferior vena cava โดยตรง พบว่าภาวะนี้พบในในผู้ป่วยมีบุตรยากในเพศชายประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พบได้ในคนปกติประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ (27) แต่อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของภาวะเส้นเลือดขอดในถุงอัณฑะ ที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในเพศชาย สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากที่ภาวะนี้ทำให้อุณหภูมิภายในถุงอัณฑะสูงขึ้น การไหลเวียนโลหิตช้าลง ทำให้ขาดออกซิเจน และการระบายของเสียได้ช้า(4)

ภาวะดื้อต่อแอนโดรเจนไม่สมบูรณ์ (Incomplete AIS) มีหลายระดับความรุนแรง ตั้งแตเกือบเปนเพศหญิงสมบูรณ์ โดยอวัยวะสืบพันธุภายใน เป็นเพศชาย แตไม สมบรูณ์ จนถึงเกือบเปนเพศชายโดยสมบูรณ เนื่องจากดื้อต่อแอนโรเจนเพียงบางส่วน เช่น Reifenstein’s syndrome พบอวัยวะสืบพันธุ์กำกวม อัณฑะพัฒนาไม่เต็มที่ และพบภาวะมีบุตรยาก หรือในบางรายอาจปกติทั้งหมด ยกเว้นมีภาวะมีบุตรยากอย่างเดียว

Acquired disorders ภาวะที่เกิดจากอัณฑะมีความผิดปกติที่ได้รับมาในภายหลัง ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก โดยไม่จำเป็นต้องมี Leydig-cell dysfunction ร่วมด้วยก็ได้ เพราะฉะนั้นระดับ testosterone อาจอยู่ในเกณฑ์ปกติ

การติดเชื้อ(Infection) อัณฑะอักเสบ (orchitis) โดยเฉพาะจากโรคคางทูม (mumps) สามารถทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในผู้ป่วยบางส่วนที่มีภาวะอัณฑะอักเสบร่วมด้วย เนื่องจากการทำลายของ germinal cell การภาวะการขาดเลือด และการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ โดยส่วนมากแล้วภาวะอัณฑะอักเสบ จะเกิดในผู้ป่วยโรคคางทูมที่เป็นในวัยผู้ใหญ่มากกว่าเป็นในวัยเด็ก โดยพบประมาณ 15-25 เปอร์เซ็นต์ในผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ (25, 26) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่น โรคหนองใน (gonorrhea and chlamydia infection) สามารถทำให้เกิดภาวะอัณฑะอักเสบได้ ในผู้ป่วย HIV-infectedพบว่าคุณภาพของน้ำเชื้อลดลง ส่วนโรควัณโรค(tuberculosis) และโรคเรื้อน(leprosy) สามารถทำให้เกิดการอุดตันของท่อนำอสุจิได้(epididymal obstruction)

ยา(drugs) มียาหลายกลุ่มที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชาย และการทำงานของ Leydig-cell เช่น alkylating drugs (cyclophosphamide and chlorambucil) Antiandrogens (flutamide, cyproterone,bicalutamide, spironolactone) ketoconazole, cimetidine และยากลุ่ม nanaboloc steroids

การได้รับรังสี(Radiation) ระดับรังสีสะสมเพียง 0.015 Gy (15 rads) สามารถกดการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชายได้ชั่วคราว แต่ถ้ามากกว่า 6 Gy (600 rad) จะกดการสร้างได้ถาวร(28)

ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ สารพิษต่างสามารถทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ เช่นยาฆ่าแมลง โลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท(29) การสูบบุหรี่ จากการศึกษาพบว่าในผู้ชายที่สูบบุหรี่จะมีปริมาณอสุจิลดลง(30) อุณหภูมิที่สูงเกินก็ทำให้การสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชายบกพร่อง เช่นการอบซาวน่า การแช่น้ำร้อนนานๆ (31)ภาวะไข้สูงเป็นเวลานาน การใส่ชุดชั้นในรัดรูป หรือการนั่งทำงานอยู่กับที่เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้เช่นกัน(32, 33)

โรคเรื้อรัง เช่น โรคไตเรื้อรัง ภาวะขาดสารอาหาร โรคตับแข็ง พบว่าในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมี gonadal failure ได้(4)

การทำเทคโนโลยีเพื่อช่วยการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะ intracytoplasmic sperm injection (ICSI) เป็นกระบวนการที่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีบุตรยากในเพศชายที่เคยหมดหวังในอดีต สามารถมีบุตรได้ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามกลับทำให้ความบกพรื่องในการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ในฝ่ายชายอาจถ่ายทอดไปยังบุตรได้ และจากระบวนการนี้อาจทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่มีความผิดปกติสามารถผสมพันธุ์ได้สำเร็จ ทารกที่เกิดจากเทคโนโลยีนี้ มีความเสี่ยงที่จะพบ de novo sex chromosomal aberrations ได้มากขึ้นกว่าทารกจากการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติประมาณสามเท่า(34, 35) เพราะฉะนั้นต้องมีการให้ข้อมูลและทำความเข้าใจตังแต่สาหตุของปัญหาการมีบุตรยาก กระบวนการรักษา ICSI และความเสี่ยงที่จะเกิดดังกล่าว แก่คู่สมรส เพื่อการตัดสินใจที่เหมาะสมต่อไป

ความผิดปกติต่อการขนส่งเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชาย (Disorders of sperm transport)

ถึงแม้ว่าการสร้างเซลล์สืบพันธุ์จะปกติ แต่ถ้ามีการอุตันในส่วนของท่อนำอสุจิ ในตำแหน่งต่างๆแล้วก็สามารถทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยากได้ แบ่งตามตำแหน่ง ดังนี้

epididymis พบว่าสัมพันธ์กับภาวะ asthenospermia โดยสาเหตุอสจเกิดจากการได้รับ estrogen ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

vas deferens สาเหตุเกิดจาก ภาวะacquired เช่นเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่น โรคหนองใน (gonorrhea and chlamydia infection) การทำหมันชาย(vasectomy) ถึงแม้ว่าจะสามารถแก้หมันได้ แต่ผลการรักษาไม่ค่อยดี เนื่องจากอาจทีภาวะภูมิคุ้มกันร่างการต่อตัวอสุจิ(36) หรือ ภาวะcongenital โดยในผู้ป่วยมีบุตรยากประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์พบสาเหตุจากภาวะcongenital bilateral absence of the vas deferens (CBAVD) (37)ซึ่งสัมพันธ์กับการกลายพันธ์ของ CFTR gene และภาวะ renal agenesis ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องส่งตรวจเพิ่มเติมด้วย

อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว(Ejaculatory dysfunction) เกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้เส้นประสาทบาดเจ็บ(spinl cord injury) หรือจากภาวะเบาหวานที่ทำให้ระบบประสาทควบคุมมีปัญหา

การประเมินผู้ป่วยมีบุตรยากในเพศชาย

แบ่งออกเป็นหัวข้อหลักๆดังนี้

  • การซักประวิติ (History)
  • การตรวจร่างกาย (Physical examination)
  • การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ (Semen analysis)
  • การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic tests)
  • การตรวจระดับฮอร์โมน (Endocrine testing)

การซักประวิติ (History) (4)

  • ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีบุตรยาก และประวัติที่เคยมีบุตรได้ปกติ
  • ความถี่และปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์
  • การตรวจรักษาเรื่องภาวะมีบุตรยาก
  • การพัฒนาการ และความเจ็บป่วยในวัยเด็ก
  • ประวัติโรคประจำตัว การผ่าตัดที่เคยได้รับ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • อาชีพและสิ่งแวดล้อมการทำงาน การใช้สารเคมี ความร้อน
  • ประวัติแพ้ยา การใช้ยาประจำตัว บุหรี่ สุรา และสารเสพย์ติด

การตรวจร่างกาย (Physical examination) (4)

  • • องคชาติ และตำแหน่งทางเปิดของท่อปัสสาวะ
  • • คลำและวัดขนาดของอัณฑะ
  • • ลักษณะท่อท่อนำอสุจิทั้งสองข้าง (vasa and epididymides)
  • • ตรวจหาเส้นเลือดขอดในถุงอัณฑะ (varicoceles)
  • • ลักษณะการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศ รูปร่าง การกระจายของขน เต้านม
  • • ตรวจทางทวารหนัก

การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ (Semen analysis)

เป็นการตรวจที่สำคัญ จำเป็นต้องทำเพื่อหาสาเหตุในผู้ป่วยมีบุตรยากในเพศชายทุกราย ในกรณีที่ผลตรวจผิดปกติ พิจารณาส่งตรวจอีกครั้งโดยต้องเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 4เดือนขึ้นไป(38) การตรวจประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • วัดปริ มาณและค่า pH
  • การตรวจหาสิ่งปลอมปน และการagglutination
  • ประเมินความเข้มข้น การเคลื่อนที่ และรูปร่างของตัวอสุจิ (sperm concentration, motility, and morphology)
  • ปริมาณเม็ดเลือดขาว
  • ตรวจหาเซลล์สืบพันธุ์ ที่เจริญไม่เต็มวัย (immature germ cells)

การเก็บน้ำอสุจิที่ถูกต้อง(4)

ควรงดการมีเพศสัมพันธ์รวมหรือ หลั่งอสุจิอย่างน้อย 2-3 วัน แต่ไม่เกิน 7วัน เก็บโดยวิธีการช่วยตัวเอง (masturbation) เก็บใส่ภาชนะสะอาดโดยตรง ถ้าใช้ถุงยางอนามัยต้องใช้แบบเฉพาะที่ไม่มีสารฆ่าอสุจิ (silastic condom) ไม่แนะนำวิธีเก็บหลังร่วมเพศ เนื่องจากจะเสีส่วนต้นของน้ำอสุจิ ซึ่งมีความเข้มข้นของตัวอสุจิสูงสุดไป แนะนำให้เก็บภายในห้องที่จัดไว้ในโรงพยาบาล ถ้าไม่สามารถเก็บได้ สามารถเก็บที่บ้าน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลภายใน 1 ชั่วโมง เก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง

ตารางแสดงค่าอ้งอิงต่ำสุดของการตรวจน้ำอสุจิ(39, 40) Lower reference limits (5th centiles and their 95% CIs) for semen characteristics

ปริมาณน้ำอสุจิ และค่าpH(Semen volume&pH) ปริมาตรไม่น้อยกว่า 1.5ml ค่า pH ตั้งแต่ 7.2 เป็นการบอกความสมดุลระหว่าง สารที่เป็นกรดจากต่อมลูกหมาก และสารที่เป็นด่างจาก seminal vesicle ถ้า pH น้อยกว่า 7 หรือปริมาตรน้อยกว่าปกติ บ่งบอกถึงภาวะอุดตันของ ejaculatory duct, absence of vas deferens, retrograde ejaculation, incomplete collection ในกรณีที่ปริมาณมากกว่า 5 ml จะบอกถึงการอักเสบภายใน(40)

ความเข้มข้นของน้ำอสุจิ (sperm concentration) ความเข้มข้นต้องไม่น้อยกว่า 15 ล้าน/mL โดยนับแต่ตัวที่ปกติเท่านั้น ประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ในผู้ป่วยมีบุตรยากพบภาวะไม่มีตัวอสุจิ (azoospermia) และประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์พบว่าความเข้มข้นน้อยกว่า1 ล้าน/mL(40)

การเคลื่อนที่ของอสุจิ และจำนวนตัวที่มีชีวิต (Sperm motility&viability) ต้องมีตัวที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าโดยไม่สนใจความเร็วไม่น้อยกว่า 32เปอร์เซ็นต์ จากทั่งหมด และจำนวนตัวที่มีชีวิตไม่น้อยกว่า 58เปอร์เซ็นต์ พบว่าถ้าเม็ดเลือดขาวจำนวนมากจะทำให้การเคลื่อนที่ของตัวอสุจิลดลงจาก oxidative stress จำนวนตัวอสุจิที่ไม่มีชีวิตมากกว่าปกติ บอกถึงพยาธิภาพของ epidermis(40)

รูปร่างของตัวอสุจิ (sperm morphology) ต้องมีลักษณะปกติตั้งแต่ 4เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โดยอ้างอิงตาม Tygerberg criteria อย่างเคร่งครัด โดยตั้งดูตั้งแต่ หัว ส่วนลำตัว และหาง ถ้ามีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยก็ไม่นับ(40)

เซลล์อื่นนอกจากตัวอสุจิ (Nonsperm cells) หมายถึงเม็ดเลือดขาว และเซลล์สืบพันธุ์ ที่เจริญไม่เต็มวัย (immature germ cells) ปริมาณเม็ดเลือดขาวจะบอกถึงภาวะอักเสบ โดยปกติควรน้อยกว่า 1ล้าน/mL และเซลล์สืบพันธุ์ ที่เจริญไม่เต็มวัย บ่งบอกถึงการถูกทำลายของอัณฑะ (40)

การตรวจพิเศษอื่นๆ นอกเหนือกว่าการตรวจแบบปกติ

Sperm autoantibodies พบว่ามีความสัมพันธ์กับการมีบุตรยาก จะทำในกรณีที่มีประวัติ อุบัติเหตุบริเวณอัณฑะ เคยทำหมันชาย ติดเชื้อที่บริเวณอัณฑะ ไม่จำเป็นต้องทำในกรณีที่จะใช้วิธี ICSI อยู่แล้ว (3) และวิธีอื่นๆที่ปัจจุบันไม่นิยมทำเนื่องจากความน่าเชื่อถือน้อย เช่น ตรวจหาสารประกอบน้ำเชื้อ(semen biochemistry) เช่น ฟรุกโตส, เพาะเชื้อน้ำอสุจิ ในรายที่ติดเชื้อ (semen culture), ประเมินจำนานตัวอสุจิที่มูกปากช่องคลอด หลังการมีเพศสัมพันธ์ (sperm-cervical mucus interaction) เป็นต้น

การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic tests)

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างการทำเทคโนโลยีเพื่อช่วยการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะ intracytoplasmic sperm injection (ICSI) เป็นกระบวนการที่สามารถทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะ oligozoospermiaและ azoospermia สามารถมีบุตรได้ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามกลับทำให้ความบกพรื่องในการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ในฝ่ายชายอาจถ่ายทอดไปยังบุตรได้ และจากระบวนการนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงการถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ยีนcystic fibrosis conductance regulator (CFTR)ที่ทำให้เกิดภาวะ CBAVD ความผิดปกติของ somatic หรือsex chromosomeเช่น Klinefelter syndrome และตรวจหา microdeletions ของY chromosome(4) แนะนำให้ตรวจ Karyotyping ในผู้ป่วยที่มี อสุจิน้อยกว่า 5 ล้าน/mL (severe oligozoospermia) หรือไม่มีตัวอสุจิ (azoospermia) โดยไม่ได้เกิดจากการอุดตันของท่อนำอสุจิก่อนการทำ ICSI หรือ IVF(41)

ข้อแนะนำในกลุ่มโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม(39)

Guidelines on Male Infertility European Association of Urology 2013

การตรวจระดับฮอร์โมน (Endocrine testing)

การตรวจวัดระดับ testosterone, luteinizing hormone (LH), and follicle-stimulating hormone (FSH),เพื่อหาสาเหตุที่เกี่ยวของกับ hypothalamic-pituitary-testicular axis

ข้อบ่งชี้ในการตรวจคือผู้ป่วยที่ มีผลการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ (Semen analysis) ผิดปกติ มีความผิดปกติในการมีเพศสัมพันธ์(sexual dysfunction) อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ไม่มีความต้องการทางเพศ(41) เบื้องต้นส่วนใหญ่ตรวจวัดระดับ testosterone, FSH ก่อน ในกรณีที่ testosterone <300 ng/dL จะพิจารณาส่งตรวจซ้ำอีกครับรวมถึงส่ง LH,Prolactin เพิ่มเติมด้วย ในกรณีที่พบ ภาวะ hypogonadotropic hypogonadism โดยมีภาวะ hyperprolactinemia ร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม อาจพิจารณาส่ง Brain MRI เพื่อหาเนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมอง(4)

การตรวจทางระบบปัสสาวะ

ในผู้ป่วยที่รวจพบขนาดอัณฑะปกติ ระดับฮอร์โมนปกติ แต่ไม่พบตัวอสุจิ อาจพิจารณาตรวจหาการอุดตันของท่อนำอสุจิเพิ่มเติม โดยการส่งตรวจ transrectal ultrasound โดยสามารถวินิจฉัยได้ถ้าพบ seminal vesicles ขยาย(42, 43)

การรักษาภาวะการมีบุตรยากในเพศชาย

การรักษาในกลุ่มที่ไม่มีภาวะ azoospermia

ยา (drugs) การใช้ยารักษาตามสาเหตุของโรคมักจะได้ผล คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภาวะไทรอยด์ผิดปกติ การใช้ FSH พบว่าช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ ส่วน comiphne citrate ช่วยกระตุ้นการหลั่งganodatropin มีประโชน์ไม่ชัดเจน แต่ไม่แนะนำให้ใช้ testosterone ในการรักษาภาวะมีบุตรยาก เรื่องจากจะยิ่งลดการสร้างเซลล์สืบพันธ์ (3) (9) การใช้ยากลุ่ม corticosteroid ในผู้ป่วยที่พบภาวะ Sperm autoimmunity จากการศึฏษาการใช้ยา prednisolone ในระดับสูง 40 to 80 mg/day เป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือนพบว่าได้ผลดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ(44) แต่เนื่องจากมีผลข้างเคียงจากยาค่อนข้างมากการรักษาโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยการเจริญพันธุ์ จึงเป็นที่นิยมกว่า

อาหารเสริม เช่น glutathione carnitine หรือวิตามินอี ไม่พบว่ามีประโยชน์ในการรักษา แต่การได้รับ zinc folate พยว่าช่วยเพิ่มปริมาณ และคุณภาพของตัวอสุจิ(3)

การรักษาภาวะ varicocele

การรักษามีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของแพทย์ ส่วนใหญ่พบว่าการรักษาไม่ช่วยเพิ่มอัตราการมีบุตร วิธีการรักษาแบ่งออกเป็นการทำหัตรถการผ่าตัดขนาดเล็ก การส่องกล้อง และการผ่าตัดเปิดแบบดั้งเดิม การรักษาควรทำเฉพาะรายที่มีอาการ มีผลตรวจน้ำเชื้อผิดปกติ และพบภาวะมีบุตรยาก ร่วมด้วยเท่านั้นภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเป็นซ้ำดังแสดงในตาราง(9)

Guidelines on Male Infertility European Association of Urology 2013

Guidelines on Male Infertility European Association of Urology 2013

การผสมเทียม (artificial Insemination)

เป็นวิธีการรักษาในภาวะมีบุตรยากในเพศชายที่ไม่ทราบสาเหตุ โดยนิยมใช้ร่วมกับวิธีการกระตุ้นไข่(superovulation) โดยการฉีดน้ำเชื้อที่ผ่านกระบวนการเข้าไปภายในอวัยวะเพศหญิง ให้อสุจิกับไข่ ปฏิสนธิกันเอง โดยไม่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ มีหลายวิธีที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน คือการฟฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก (intrauterine insemination) (3)

เทคโนโลยีเพื่อช่วยการเจริญพันธุ์(Assisted reproductive techniques)

การฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก (intrauterine insemination) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการผสมเทียม โดยการนำน้ำอสุจิที่ผ่านการล้าง ทำให้เข้มข้นขึ้น แล้วฉีดผ่านท่อที่สอดผ่านปากมดลูกเข้าในโพรงมดลูกประมาณ 0.2-0.3ml โดยปริมาณตัวอสุจิที่เคลื่อนที่ได้อย่างน้อยประมาณ 5-10ล้านตัว โดยผลการตั้งครรภ์ประมาณ 10.5%/รอบ และประมาณ38% หลังทำไป4-6รอบ(3) การฉีดน้ำเชื้อสองครั้งต่อหนึ่งรอบไม่พบว่ามีประโยชน์(45)

การปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือการทำเด็กหลอดแก้ว(In vitro fertilization) โดยเริ่มจาการใช้ยากระตุ้นไข่ แล้วเก็บไข่ออกมา เพื่อปฏิสนธิภายนอก หลังจากนั้นนำตัวอ่อนย้ายกลับเข้าไปภายในโพรงมดลูก ปัจจุบันผลการรักษาดีขึ้นมาก และสามารถนำไปช้รักษาภาวะมีบุตรยากได้จากหลายสาเหตุทั้งจากฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงหรือ กรณีไม่ทราบสาเหตุ แต่ข้อเสีบคือค่าใช้จ่ายสูง และมีอัตราทารกแฝดสูงขึ้นกว่าปกติ

การทำอิกซี่ (ICSI Intracytoplasmic sperm injection) เป็นการฉีดตัวอสุจิเข้าไปในไข่โดยตรง เพื่อตัดปัญหาเรื่องความผิดปกติของตัวอสุจิ ทั้งการเคลื่อนที่ และกระบวนการต่างๆของตัวอสุจิก่อนปฏิสนธิ โดยนิยมทำในกรณีที่มีตัวอสุจิที่สามารถเคลื่อนที่ได้น้อยกว่า 2ล้านตัว หรือน้อยกว่า 5เปอร์เซ็นต์ หรือในกรณีที่ต้องใช้หัตถการในการช่วยเก็บตัวอสุจิ เคยทำวิธีอื่นแล้วล้มเหลว หรือต้องการตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมก่อนฝังตัว(3)

แต่เนื่องจากกระบวนการทำมีความเสี่ยงที่จะทำให้ไข่เสียหายหาย และโดยกระบวนการสามารถทำให้ตัวอสุจิที่มีความผิดปกติสามารถปฏิสนธิได้ จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิดได้ (congenital anormaly) ประมาณ 4.2เปอร์เซ็นต์ มากกว่าการทำ IVF แบบปกติประมาณ 2-3เปอร์เซ็นต์(46) จึงต้องมีการอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความเสี่ยงก่อนเสมอ

การรักษาในกลุ่มที่มีภาวะ azoospermia จะแบ่งออกตามตำแหน่งของสาเหตุ ดังนี้

  • Pre-testicular azoospermia ในกลุ่มนี้สาเหตุเกิดจากการขาดฮอร์โมน gonadotropins การรักษาจึงเป็นการให้ฮอร์โมนทดแทน เช่น gonadotropins, pulsatile GnRH, HCG โดยการพยากรณ์ของโรคที่ดีในผู้ป่วยที่ขาดฮอร์โมน gonadotropins ภายหลังโตเต็มที่แล้ว และมีปริมาตรของอัณฑะมากกว่า 8 ml(47)
  • Testicular azoospermia ในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอัณฑะฝ่อจากสาเหตุต่างๆดังที่กล่าวไปแล้ว ในรายที่ตรวจพบว่าระดับฮอร์โมนปกติทั้งหมด การตรวจชิ้นเนื้อจากอัณฑะเพื่อประเมินอสุจิ หากยังพอมีบ้าง อาจเก็บอสุจิเพื่อใช้วิธีการICSI ต่อไป แต่โดยส่วนมากผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะไม่พบตัวอสุจิ วิธีที่ได้ผลดีคือการใช้ donor sperm พบว่าในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีโครโมโซมผิดปกติได้มากกว่าปกติ เช่น Klinefelter syndrome, Y chromosome deletion ซึ่งสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกชายได้ จึงต้องมีการอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความเสี่ยงก่อนเสมอ(3)
  • Post-testicular azoospermia สาเหตุมักเกิดจากการพยาธิสภาพของการนำส่งอสุจิ

การต่อหมันชาย (vasovasostomy or vasoepididymostomy) เป็นวิธีเดียวกับการรักษา การอุดตันที่บริเวณ epididymis โอกาสต่อสำเร็จสูง และเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ได้มากขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ภายในสองปี แต่โอกาสตั้งครรภ์จะลดลงในกรณีที่เว้นระยะหลังจากการทำหมันนานขึ้น พบว่าหลังผ่าตัดมีโอกาสอุดตันซ้ำได้ ประมาณ 3-21เปอร์เซ็นต์ และโอกาสสำเร็จในการซ่อมและโอกาสตั้งครรภ์จะลดลง ในกรณีที่เป็นซ้ำเร็วกว่า 6เดือนพิจารณาการทำ ICSI(48)

การทำหัตถการในการเก็บอสุจิ (Sperm retrieval techniques)

พิจารณทำในผู้ป่วยที่มีภาวะ azoospermia จากการอุดตันขอท่อนำอสุจิ หลังจากขั้นตอนการเก็บอสุจิ ก็จะนำอสุจิไปทำ ICSI ต่อไป มีวิธีการทำหลายแบบ ดังนี้

  • Microsurgical epididymal sperm aspiration (MESA) การผ่าตัดเข้าไปหาท่อพักน้ำเชื้อส่วน epididymis แล้วจึงใช้เข็มแทงเข้าไป และดูดตัวอสุจิออกมาภายใต้กล้องส่องขยาย
  • Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration (PESA) การใช้เข็มเจาะผ่านผิวหนังบริเวณอัณฑะไปยังท่อพักน้ำเชื้อส่วน epididymis เพื่อดูดตัวอสุจิออกมา
  • Percutaneous testicular sperm fine-needle Aspiration (TESA) การใช้เข็มเจาะผ่านผิวหนังบริเวณอัณฑะเข้าไปในลูกอัณฑะ เพื่อดูดตัวอสุจิออกมา
  • Testicular sperm extraction (TESE) การตัดชิ้นเนื้อจากอัณฑะมา ผ่านกระบวนการเพื่อแยกตัวอสุจิออกจาก seminiferous tubules

การผสมเทียมโดยใช้อสุจิบริจาค (artificial Insemination with donor sperm)

เป็นทางเลือกในกรณีที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted reproductive techniques) ไม่สำเร็จ ในคู่สมรสที่สาเหตูการมีบุตรยากไม่ได้เกิดจากฝ่ายหญิง พบว่ามีโอกาสสำเร็จค่อนข้างสูง ประมาณ 90เปอร์เซ็นต์ภายใน12 รอบในการผสมเทียม (3)

Guidelines on Male Infertility European Association of Urology 2013

เอกสารอ้างอิง

  1. Definitions of infertility and recurrent pregnancy loss. Fertility and sterility. 2008;90(5 Suppl):S60. Epub 2008/11/26.
  2. Guttmacher AF. Factors affecting normal expectancy of conception. Journal of the American Medical Association. 1956;161(9):855-60. Epub 1956/06/30.
  3. Berek JS, Novak E. Berek & Novak’s gynecology. 15th ed. Philadelphia: Wolters Kluwer Health/Lippincott Williams & Wilkins; 2012. xix, 1539 p. p.
  4. Fritz MA, Speroff L. Clinical gynecologic endocrinology and infertility. 8th ed. Philadelphia: Wolters Kluwer Health/Lippincott Williams & Wilkins; 2011. x, 1439 p. p.
  5. de Kretser DM. Male infertility. Lancet. 1997;349(9054):787-90. Epub 1997/03/15.
  6. Swan SH. Semen quality in fertile US men in relation to geographical area and pesticide exposure. International journal of andrology. 2006;29(1):62-8; discussion 105-8. Epub 2006/02/10.
  7. Contraceptive efficacy of testosterone-induced azoospermia in normal men. World Health Organization Task Force on methods for the regulation of male fertility. Lancet. 1990;336(8721):955-9. Epub 1990/10/20.
  8. Slama R, Kold-Jensen T, Scheike T, Ducot B, Spira A, Keiding N. How would a decline in sperm concentration over time influence the probability of pregnancy? Epidemiology. 2004;15(4):458-65. Epub 2004/07/03.
  9. Andrology. In: Nieschlag E BHaNSe. Male reproductive health and dysfunction. 3rd ed. Berlin: Springer Verlag; 2010.
  10. Spratt DI, Carr DB, Merriam GR, Scully RE, Rao PN, Crowley WF, Jr. The spectrum of abnormal patterns of gonadotropin-releasing hormone secretion in men with idiopathic hypogonadotropic hypogonadism: clinical and laboratory correlations. The Journal of clinical endocrinology and metabolism. 1987;64(2):283-91. Epub 1987/02/01.
  11. Castro-Magana M, Bronsther B, Angulo MA. Genetic forms of male hypogonadism. Urology. 1990;35(3):195-204. Epub 1990/03/01.
  12. Freeman DA. Steroid hormone-producing tumors of the adrenal, ovary, and testes. Endocrinology and metabolism clinics of North America. 1991;20(4):751-66. Epub 1991/12/01.
  13. Contraceptive efficacy of testosterone-induced azoospermia and oligozoospermia in normal men. Fertility and sterility. 1996;65(4):821-9. Epub 1996/04/01.
  14. Schurmeyer T, Knuth UA, Belkien L, Nieschlag E. Reversible azoospermia induced by the anabolic steroid 19-nortestosterone. Lancet. 1984;1(8374):417-20. Epub 1984/02/25.
  15. MacAdams MR, White RH, Chipps BE. Reduction of serum testosterone levels during chronic glucocorticoid therapy. Annals of internal medicine. 1986;104(5):648-51. Epub 1986/05/01.
  16. Allen NE, Appleby PN, Davey GK, Key TJ. Lifestyle and nutritional determinants of bioavailable androgens and related hormones in British men. Cancer causes & control : CCC. 2002;13(4):353-63. Epub 2002/06/21.
  17. Gapstur SM, Gann PH, Kopp P, Colangelo L, Longcope C, Liu K. Serum androgen concentrations in young men: a longitudinal analysis of associations with age, obesity, and race. The CARDIA male hormone study. Cancer epidemiology, biomarkers & prevention : a publication of the American Association for Cancer Research, cosponsored by the American Society of Preventive Oncology. 2002;11(10 Pt 1):1041-7. Epub 2002/10/12.
  18. Sethi JK, Vidal-Puig AJ. Thematic review series: adipocyte biology. Adipose tissue function and plasticity orchestrate nutritional adaptation. Journal of lipid research. 2007;48(6):1253-62. Epub 2007/03/22.
  19. Tsai EC, Matsumoto AM, Fujimoto WY, Boyko EJ. Association of bioavailable, free, and total testosterone with insulin resistance: influence of sex hormone-binding globulin and body fat. Diabetes care. 2004;27(4):861-8. Epub 2004/03/30.
  20. Hammoud AO, Gibson M, Peterson CM, Hamilton BD, Carrell DT. Obesity and male reproductive potential. Journal of andrology. 2006;27(5):619-26. Epub 2006/06/06.
  21. Ferlin A, Arredi B, Speltra E, Cazzadore C, Selice R, Garolla A, et al. Molecular and clinical characterization of Y chromosome microdeletions in infertile men: a 10-year experience in Italy. The Journal of clinical endocrinology and metabolism. 2007;92(3):762-70. Epub 2007/01/11.
  22. McLachlan RI, Aitken RJ, Cram D, Krausz C, O’Bryan M. Need for standardization and confirmation of STS deletions on the Y chromosome. Fertility and sterility. 2008;90(2):463-4; author reply 4. Epub 2008/07/04.
  23. Lee PA, Coughlin MT, Bellinger MF. Inhibin B: comparison with indexes of fertility among formerly cryptorchid and control men. The Journal of clinical endocrinology and metabolism. 2001;86(6):2576-84. Epub 2001/06/09.
  24. Raman JD, Nobert CF, Goldstein M. Increased incidence of testicular cancer in men presenting with infertility and abnormal semen analysis. The Journal of urology. 2005;174(5):1819-22; discussion 22. Epub 2005/10/12.
  25. Beard CM, Benson RC, Jr., Kelalis PP, Elveback LR, Kurland LT. The incidence and outcome of mumps orchitis in Rochester, Minnesota, 1935 to 1974. Mayo Clinic proceedings Mayo Clinic. 1977;52(1):3-7. Epub 1977/01/01.
  26. Adamopoulos DA, Lawrence DM, Vassilopoulos P, Contoyiannis PA, Swyer GI. Pituitary-testicular interrelationships in mumps orchitis and other viral infections. British medical journal. 1978;1(6121):1177-80. Epub 1978/05/06.
  27. Pryor JL, Howards SS. Varicocele. The Urologic clinics of North America. 1987;14(3):499-513. Epub 1987/08/01.
  28. Rowley MJ, Leach DR, Warner GA, Heller CG. Effect of graded doses of ionizing radiation on the human testis. Radiation research. 1974;59(3):665-78. Epub 1974/09/01.
  29. Schrag SD, Dixon RL. Occupational exposures associated with male reproductive dysfunction. Annual review of pharmacology and toxicology. 1985;25:567-92. Epub 1985/01/01.
  30. Vine MF, Margolin BH, Morrison HI, Hulka BS. Cigarette smoking and sperm density: a meta-analysis. Fertility and sterility. 1994;61(1):35-43. Epub 1994/01/01.
  31. Kandeel FR, Swerdloff RS. Role of temperature in regulation of spermatogenesis and the use of heating as a method for contraception. Fertility and sterility. 1988;49(1):1-23. Epub 1988/01/01.
  32. Wong WY, Zielhuis GA, Thomas CM, Merkus HM, Steegers-Theunissen RP. New evidence of the influence of exogenous and endogenous factors on sperm count in man. European journal of obstetrics, gynecology, and reproductive biology. 2003;110(1):49-54. Epub 2003/08/23.
  33. Thonneau P, Ducot B, Bujan L, Mieusset R, Spira A. Effect of male occupational heat exposure on time to pregnancy. International journal of andrology. 1997;20(5):274-8. Epub 2005/09/01.
  34. Van Steirteghem A, Bonduelle M, Devroey P, Liebaers I. Follow-up of children born after ICSI. Human reproduction update. 2002;8(2):111-6. Epub 2002/07/09.
  35. Davies MJ, Moore VM, Willson KJ, Van Essen P, Priest K, Scott H, et al. Reproductive technologies and the risk of birth defects. The New England journal of medicine. 2012;366(19):1803-13. Epub 2012/05/09.
  36. Belker AM, Thomas AJ, Jr., Fuchs EF, Konnak JW, Sharlip ID. Results of 1,469 microsurgical vasectomy reversals by the Vasovasostomy Study Group. The Journal of urology. 1991;145(3):505-11. Epub 1991/03/11.
  37. Patrizio P, Asch RH, Handelin B, Silber SJ. Aetiology of congenital absence of vas deferens: genetic study of three generations. Hum Reprod. 1993;8(2):215-20. Epub 1993/02/01.
  38. Filicori M, Cognigni GE, Taraborrelli S, Spettoli D, Ciampaglia W, de Fatis CT, et al. Luteinizing hormone activity supplementation enhances follicle-stimulating hormone efficacy and improves ovulation induction outcome. The Journal of clinical endocrinology and metabolism. 1999;84(8):2659-63. Epub 1999/08/12.
  39. Jungwirth A, Giwercman A, Tournaye H, Diemer T, Kopa Z, Dohle G, et al. European Association of Urology guidelines on Male Infertility: the 2012 update. European urology. 2012;62(2):324-32. Epub 2012/05/18.
  40. Lu JC, Huang YF, Lu NQ. [WHO Laboratory Manual for the Examination and Processing of Human Semen: its applicability to andrology laboratories in China]. Zhonghua nan ke xue = National journal of andrology. 2010;16(10):867-71. Epub 2011/01/20.
  41. Sharlip ID, Jarow JP, Belker AM, Lipshultz LI, Sigman M, Thomas AJ, et al. Best practice policies for male infertility. Fertility and sterility. 2002;77(5):873-82. Epub 2002/05/16.
  42. Meacham RB, Hellerstein DK, Lipshultz LI. Evaluation and treatment of ejaculatory duct obstruction in the infertile male. Fertility and sterility. 1993;59(2):393-7. Epub 1993/02/01.
  43. Jarow JP. Transrectal ultrasonography in the diagnosis and management of ejaculatory duct obstruction. Journal of andrology. 1996;17(5):467-72. Epub 1996/09/01.
  44. Hendry WF, Hughes L, Scammell G, Pryor JP, Hargreave TB. Comparison of prednisolone and placebo in subfertile men with antibodies to spermatozoa. Lancet. 1990;335(8681):85-8. Epub 1990/01/13.
  45. Boomsma CM, Heineman MJ, Cohlen BJ, Farquhar C. Semen preparation techniques for intrauterine insemination. The Cochrane database of systematic reviews. 2004(3):CD004507. Epub 2004/07/22.
  46. Genetic considerations related to intracytoplasmic sperm injection (ICSI). Fertility and sterility. 2008;90(5 Suppl):S182-4. Epub 2008/11/26.
  47. Bhasin S. Approach to the infertile man. The Journal of clinical endocrinology and metabolism. 2007;92(6):1995-2004. Epub 2007/06/08.
  48. Vasectomy reversal. Fertility and sterility. 2008;90(5 Suppl):S78-82. Epub 2008/11/26.
Read More

การรักษาภาวะปวดประจำเดือน

Management of dysmenorrhea
(การรักษาภาวะปวดประจำเดือน)

พญ.ศิรินาถ ศิริเลิศ
อ.พญ.อุษณีย์ แสนหมี่


บทนำ

อาการปวดประจำเดือน (dysmenorrhea) ถือเป็นปัญหาที่สำคัญของสตรีวัยเจริญพันธุ์ ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดท้องน้อยสัมพันธ์กับรอบประจำเดือน อาการปวดท้องน้อยอาจเป็นตั้งแต่ก่อนประจำเดือนจะมา อาจเริ่มหลังจากตกไข่ และสิ้นสุดเมื่อหมดประจำเดือนแต่ละรอบ อาการปวดมักจะมีความรุนแรงจนเป็นอุปสรรค รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

การรักษาภาวะปวดประจำเดือน

การรักษาภาวะปวดประจำเดือนขึ้นกับลักษณะ ความรุนแรงของอาการ ความต้องการของผู้ป่วย และศักยภาพของสถานพยาบาลนั้นๆ การรักษาภาวะปวดประจำเดือนมีทั้งการรักษาโดยการใช้ยา ทั้งยาประเภทยาแก้ปวดและประเภทยาฮอร์โมน หรือการรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การประคบร้อน เป็นต้น โดยทั่วไปการรักษามักเริ่มต้นด้วยการให้ยาโดยเฉพาะยากลุ่ม NSAIDS และการใช้ Hormone

ผู้ป่วยที่มีประวัติปวดประจำเดือนที่เกิดขึ้นเร็ว ภายใน 20-30 วินาทีหลังประจำเดือนมา ประจำเดือนมามากหรือไม่สม่ำเสมอ เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ มีบุตรยาก เป็นต้น จะสงสัยภาวะปวดประจำเดือนที่มีสาเหตุจำเพาะ (secondary dysmenorrhea) (1) ซึ่งจะต้องให้การรักษาที่จำเพาะต่อโรคนั้นๆ แต่โดยทั่วไปแล้วอาจแยกภาวะปวดประจำเดือนที่มีสาเหตุได้ยาก บางครั้งจึงอาจเริ่มต้นให้การรักษาเช่นเดียวกันไปก่อน

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของภาวะปวดประจำเดือน หรือเป็นการตรวจหา secondary dysmenorrhea ซึ่งหมายถึง การปวดประจำเดือนจากพยาธิสภาพของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น endometriosis, leiomyoma, adenomyosis, ovarian tumor เป็นต้น โดยทั่วไปภาวะดังกล่าวเหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถตรวจพบได้จากประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจภายใน ยกเว้นภาวะ endometriosis ที่อาจต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติม ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยในผู้ป่วยทุกราย

การตรวจวินิจฉัยจำเพาะ คือ การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อดูพยาธิสภาพบริเวณอุ้งชิงกราน (laparoscopic examination) ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำ (sensitivity 97.68%, specificity 79.23%, positive predictive value 72%, negative predictive value 98.42% ) (2) แต่เป็นการตรวจที่ invasive ส่วนการตรวจด้วย ultrasonography ทางช่องคลอดนั้น จะสามารถวินิจฉัยได้หากมีพยาธิสภาพที่ขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็น cyst หรืออยู่บริเวณกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ (หากพยาธิสภาพอยู่บริเวณ bladder Sensitivity 61% and specificity 99%, rectovaginal septum sensitivity 52% and specificity 96%, rectum endometriosis sensitivity 65% and specificity 99% , sigmoid colon sensitivity 69% and specificity 98%) (3)

การตรวจด้วย laparoscopic examination จะทำเฉพาะใน

  1. มีประวัติสงสัยภาวะปวดประจำเดือนที่มีสาเหตุ เช่น ประวัติ Progressive dysmenorrhea ภาวะมีบุตรยาก
  2. ให้การรักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น (treatment failure) หลังได้รับการรักษามาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน (4)

การรักษาโดยการใช้ยา

การรักษาโดยการใช้ยามักเริ่มต้นด้วยยากลุ่ม NSAIDS ฮอร์โมน โดยมักใช้เป็นฮอร์โมนกลุ่มฮอร์โมนรวม (estrogen และ progesterone) ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งแบบ cyclic, long cyclic หรือ continuous หรืออาจใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน การเลือกการรักษาเริ่มต้นขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ต้องการผลของยาในด้านการคุมกำเนิด อาจเริ่มต้นการรักษาโดยการใช้ฮอร์โมน แต่ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งห้ามสำหรับการใช้ยาฮอร์โมนอาจเลือกการรักษาโดยการใช้ยากลุ่มยาแก้ปวด

1. ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDS

ระงับอาการปวดประจำเดือนได้โดยยับยั้งหรือต่อต้านฤทธิ์ของสาร prostaglandins ยานี้ส่วนมากใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ต้องการคุมกำเนิด มีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติโรคกระเพาะอาหารอักเสบอยู่เดิม ผลข้างเคียงต่อระบบประสาท เช่น ปวดหลัง มึนงง ปวดศีรษะ ง่วงซึม ตาพร่า และผลข้างเคียงต่อตับและไตได้

จากการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาในกลุ่ม NSAIDS เทียบกับ placebo หรือ paracetamol พบว่ามีประสิทธิแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(5,6) แต่ไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่าง NSAIDS กับ Hormonal treatment เนื่องจากมักถูกใช้ควบคู่กัน หรือเลือกใช้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วย

ในกลุ่มยาแก้ปวด NSAIDS มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างตัวยาโดยเฉพาะยากลุ่ม Fenamates (Mefenamic acid) และยากลุ่ม phenylproprionic acid derivatives (Ibuprofen, naproxen) พบว่ายากลุ่ม Fenamates มีประสิทธิภาพค่อนข้างดีกว่ากลุ่ม phenylproprionic acid derivatives(7) ส่วนยาในกลุ่ม COX-2 inhibitors อาจใช้ได้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคทางเดินอาหาร แต่ยาในกลุ่มนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากการศึกษาเรื่องผลข้างเคียงยังไม่มากพอ ส่วนในผู้ป่วยที่มีปัญหามีบุตรยาก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDS เนื่องจากมีผลข้างเคียงทำให้การตกไข่ผิดปกติ (delay ovulation)(8,9,10)

การเริ่มทานยาในแต่ละเดือนควรเริ่มตั้งแต่เมื่อเริ่มมีอาการ (อาจเป็นช่วงก่อนประจำเดือนมา) จนถึง 3 วันแรกหลังจากประจำเดือนมา

{tabulizer:style[gr.alterora.elemental_1_blue_green.css]}

Drug Initial dose, mg Subsequent dose, mg
Acetic acid
Indomethacin 25 25 tid
Tolmetin 400 400 tid
Sulindac 200 200 bid
Diflunisal 1000 500 bid
Diclofenac 75 75 bid
Etodolac 400 400 every 6-8 hr
Ketorolac 10 10 every 4-6 hr
Propionic acids
Ibuprofen 400 400 every 6 hr
Naproxen 500 250 every 6-8 hr
Naproxen sodium 550 275 every 6-8 hr
Fenoprofen calcium 200 200 every 4-6 hr
Ketoprofen 75 75 tid
Fenamates
Mefenamic acid 500 250 every 4 hr
Meclofenamates 100 50-100 every 6 hr
Oxicans
Piroxicam 20 20 once a day

ตารางที่ 1 แสดงขนาดยา NSAIDS ที่ใช้ในการรักษาภาวะปวดประจำเดือน

2. ฮอร์โมน

ส่วนใหญ่มักเลือกใช้ฮอร์โมนรวม estrogen และ progesterone เป็นทางเลือกแรก ในผู้ป่วยที่ไม่มีข้อบ่งห้ามในการใช้ฮอร์โมน และต้องการผลของการคุมกำเนิดร่วมด้วย

2.1 Combined Estrogen and Progesterone

ออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ ทำให้ endometrium เกิดการฝ่อบางลงกว่าปกติ จึงช่วยลดปริมาณเลือดประจำเดือนหรืออาจทำให้ขาดประจำเดือน และลดปริมาณการสร้าง arachidonic acid ลดการสร้าง prostaglandin ในมดลูกและในเลือดลง จึงช่วยลดอาการปวดจากการหดรัดตัวของมดลูกลงได้ด้วย

  • Oral contraceptive pills
    จากการศึกษาเปรียบเทียบขนาดของ Estrogen ที่เป็นส่วนประกอบของยา ในขนาด >35 mg < 35 mg และ 20 mg พบว่าไม่มีความแตกต่างกันในผลของการลดอาการปวดประจำเดือน ส่วน Progesterone ในกลุ่ม third generation มีผลลดอาการปวดประจำเดือนได้ดีกว่า(11) การใช้ยากลุ่มนี้สามารถใช้ได้ทั้งแบบ cyclic, long cyclic หรือ continuous ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการให้ยาแบบ long cyclic หรือ continuous ได้ผลการรักษาดีกว่าการให้แบบ cyclic
  • patch or ring contraception
    ฮอร์โมนแบบวงแหวนสอดช่องคลอดมีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดประจำเดือนได้ดีเท่าๆกับฮอร์โมนแบบรับประทาน(12) ส่วนฮอร์โมนแบบแผ่นแปะประสิทธิภาพด้อยกว่าฮอร์โมนแบบรับประทาน(13)

2.2 Progesterone only contraception

ออกฤทธิ์ทำให้การฝ่อบางของ endometrium แต่ไม่ได้ยับยั้งการตกไข่โดยตรง ฮอร์โมนในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงเรื่องเลือดออกกระปริดกระปรอยได้บ่อย จะใช้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งห้ามในการใช้ฮอร์โมน estrogen

  • DMPA
    ยาฉีดคุมกำเนิดช่วยลดเลือดประจำเดือน โดยประมาณ 50% จะขาดประจำเดือนหลังจากใช้ยาไปนาน 1 ปี แต่จะมีผล fertility ที่จะกลับสู่ภาวะปกติหลังหยุดยาช้า ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่วางแผนจะแต่งงานใน 1-2 ปี
  • IUD
    การใส่ห่วงคุมกำเนิดในกลุ่มที่มีฮอร์โมน Levonorgestrel-IUD ช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ทั้งจากการปวดท้องประจำเดือนที่ไม่มีสาเหตุ และมีสาเหตุจาก endometriosis หรือ adenomyosis ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(14) ส่วนห่วงคุมกำเนิดแบบ copper IUD มีผลให้อาการปวดท้องประจำเดือนแย่ลง
  • Implantation contraception
    ยาฝังคุมกำเนิดมีผลลดอาการปวดท้องน้อยทั้งที่สัมพันธ์และไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน และยังลดอาการ dyspareunia ในผู้ป่วยที่ตรวจพบ endometriosis ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

3. ยายับยั้งการหดรัดตัวของมดลูก (tocolytic drug)

ยังมีการศึกษาไม่มาก พบว่า nifedipine (single dose 20-40 mg) และ magnesium sulfate มีผลช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ดีกว่า placebo แต่ไม่ดีเท่ากับยาในกลุ่ม NSAIDS และยังมีผลข้างเคียงมากกว่า โดยเฉพาะผลข้างเคียงทางด้านหัวใจและหลอดเลือด(15)

4. ยากลุ่ม GnRH agoist

ออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อ ใช้ขนาด 3.75 mg ฉีดเดือนละ 1 เข็ม แต่มีราคาแพงและมีผลข้างเคียงระยะยาว เช่น กระดูกพรุน เป็นต้น

5. ยากลุ่ม danazol

เป็น synthetic steroid ethisterone (modified testosterone) ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง sex steroid hormones จากรังไข่ ทำให้ estradiol ลดน้อยลงแต่ไม่มีผลต่อการสร้าง pituitary hormones มากนัก แต่อาจมี LH และ androgen เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ endometrium ฝ่อบางลง แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้เนื่องจากผลข้างเคียงจากภาวะ androgen excess

การรักษาโดยไม่ใช้ยา

การรักษาโดยการใช้ความร้อน มีการศึกษาการใช้ถุงน้ำร้อนอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ประคบบริเวณท้องน้อย โดยเปรียบเทียบกับการให้ยา Ibuprofen และ paracetamol พบว่าประสิทธิภาพในการลดอาการปวดได้ดีเทียบเท่ากับยา Ibuprofen(16) และดีกว่ายา paracetamol(17) และหากให้ยา ibuprofen ร่วมกับประคบร้อนจะช่วยลดระยะเวลาที่จะทำให้หายปวดได้

การออกกำลังกายโดยเฉพาะการเล่นโยคะ(18,19,20) อาหารไขมันต่ำ มีผักมาก มีวิตามิน E วิตามิน B1 วิตามิน D3 (21,22,23,24,25,26) มีส่วนช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ นอกจากนี้การปรับปรุงแก้ไขสิ่งแวดล้อมและจิตใจของผู้ป่วยยังช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวกับความเจ็บปวดได้ดีขึ้น

การรักษาโดยการฝังเข็มยังมีข้อมูลการศึกษาน้อย จากการศึกษาพบว่าสามารลดอาการปวดประจำเดือนได้ แต่ข้อมูลยังมีไม่มากเพียงพอที่จะยืนยันความปลอดภัยได้ การใช้สมุนไพรจีนก็เช่นกันสามารลดอาการปวดประจำเดือนได้ แต่ข้อมูลยังมีไม่มากเพียงพอ(27)

การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (Transcutaneous electrical nerve stimulation ; TENS ) ทำให้เพิ่ม pain threshold ในขณะ uterine hypoxia หรือ hypercontraction และยังเพิ่ม endorphins ในร่างกาย แต่ไม่ได้มีผลต่อการหดรัดตัวของมดลูก ประสิทธิภาพต่ำกว่าการรักษาโดยการใช้ยา มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง (มากกว่า 6 เดือน) และใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ต้องการใช้ยา(28)

การรักษาล้มเหลว (treatment failure)

หากผู้ป่วยได้รับการรักษามาด้วยยากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาก่อนแต่อาการยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยา 2 ชนิดขึ้นไป โดยทั่วไปจะเป็นยากลุ่ม NSAIDS ร่วมกับ hormone แต่หากยังไม่ดีขึ้นอาจต้องเปลี่ยนชนิดของ hormone และวิธีการบริหารยา เช่น ทานเป็นแบบ continuous หรือเปลี่ยนเป็น progestin only contraception หรือ GnRH agonist ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนและต้องได้รับการรักษาทุกเดือน หากอาการยังคงอยู่หลังจากรักษาไปนาน 6 เดือน มีโอกาสที่จะมีภาวะ endometriosis ได้ถึงร้อยละ 80 (29) ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้วดังได้กล่าวมาข้างต้นเป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

  1. Patient Education Pamphlet: Dysmenorrhea By American Congress of Obstetricians and Gynecologists, retrieved January 2011
  2. Almeida Filho DP, Oliveira LJ, Amaral VF. Accuracy of laparoscopy for assessing patients with endometriosis. Sao Paulo Med J. 2008 Nov;126(6):305-8.
  3. Nicola Fratelli, MD, Marco Scioscia, MD, PhD, Emma Bassi, MD, Mariella Musola, MD,Luca Minelli, MD, Giamberto Trivella, MD. Transvaginal Sonography for Preoperative Assessment of Deep Endometriosis. J Clin Ultrasound. 2013 Feb;41(2):69-75.
  4. ACOG Practice Bulletin Number 11. Medical Management of Endometriosis. December 1999.
  5. Marjoribanks J, Proctor M, Farquhar C, Derks RS. Nonsteroidal anti-inflammatory drugs for dysmenorrhoea. Cochrane Database Syst Rev 2010; :CD001751.
  6. Milsom I, Minic M, Dawood MY, et al. Comparison of the efficacy and safety of nonprescription doses of naproxen and naproxen sodium with ibuprofen, acetaminophen, and placebo in the treatment of primary dysmenorrhea: a pooled analysis of five studies. Clin Ther 2002; 24:1384.
  7. Budoff PW. Use of mefenamic acid in the treatment of primary dysmenorrhea. JAMA 1979; 241:2713.
  8. Pall M, Fridén BE, Brännström M. Induction of delayed follicular rupture in the human by the selective COX-2 inhibitor rofecoxib: a randomized double-blind study. Hum Reprod 2001; 16:1323.
  9. Duffy DM, VandeVoort CA. Maturation and fertilization of nonhuman primate oocytes are compromised by oral administration of a cyclooxygenase-2 inhibitor. Fertil Steril 2011; 95:1256.
  10. Bata MS, Al-Ramahi M, Salhab AS, et al. Delay of ovulation by meloxicam in healthy cycling volunteers: A placebo-controlled, double-blind, crossover study. J Clin Pharmacol 2006; 46:925.
  11. Wong CL, Farquhar C, Roberts H, Proctor M. Oral contraceptive pill for primary dysmenorrhoea. Cochrane Database Syst Rev 2009; :CD002120.
  12. Roumen FJ. The contraceptive vaginal ring compared with the combined oral contraceptive pill: a comprehensive review of randomized controlled trials. Contraception 2007; 75:420.
  13. Audet MC, Moreau M, Koltun WD, et al. Evaluation of contraceptive efficacy and cycle control of a transdermal contraceptive patch vs an oral contraceptive: a randomized controlled trial. JAMA 2001; 285:2347.
  14. Petta CA, Ferriani RA, Abrao MS, et al. Randomized clinical trial of a levonorgestrel-releasing intrauterine system and a depot GnRH analogue for the treatment of chronic pelvic pain in women with endometriosis. Hum Reprod 2005; 20:1993.
  15. Andersson KE, Ulmsten U. Effects of nifedipine on myometrial activity and lower abdominal pain in women with primary dysmenorrhoea. Br J Obstet Gynaecol 1978; 85:142.
  16. Akin MD, Weingand KW, Hengehold DA, et al. Continuous low-level topical heat in the treatment of dysmenorrhea. Obstet Gynecol 2001; 97:343.
  17. Akin M, Price W, Rodriguez G Jr, et al. Continuous, low-level, topical heat wrap therapy as compared to acetaminophen for primary dysmenorrhea. J Reprod Med 2004; 49:739.
  18. Israel RG, Sutton M, O’Brien KF. Effects of aerobic training on primary dysmenorrhea symptomatology in college females. J Am Coll Health 1985; 33:241.
  19. Brown J, Brown S. Exercise for dysmenorrhoea. Cochrane Database Syst Rev 2010; :CD004142.
  20. Golomb LM, Solidum AA, Warren MP. Primary dysmenorrhea and physical activity. Med Sci Sports Exerc 1998; 30:906.
  21. Barnard ND, Scialli AR, Hurlock D, Bertron P. Diet and sex-hormone binding globulin, dysmenorrhea, and premenstrual symptoms. Obstet Gynecol 2000; 95:245.
  22. Abdul-Razzak KK, Ayoub NM, Abu-Taleb AA, Obeidat BA. Influence of dietary intake of dairy products on dysmenorrhea. J Obstet Gynaecol Res 2010; 36:377.
  23. Ziaei S, Faghihzadeh S, Sohrabvand F, et al. A randomised placebo-controlled trial to determine the effect of vitamin E in treatment of primary dysmenorrhoea. BJOG 2001; 108:1181.
  24. Ziaei S, Zakeri M, Kazemnejad A. A randomised controlled trial of vitamin E in the treatment of primary dysmenorrhoea. BJOG 2005; 112:466.
  25. Proctor ML, Murphy PA. Herbal and dietary therapies for primary and secondary dysmenorrhoea. Cochrane Database Syst Rev 2001; :CD002124.
  26. Lasco A, Catalano A, Benvenga S. Improvement of primary dysmenorrhea caused by a single oral dose of vitamin D: results of a randomized, double-blind, placebo-controlled study. Arch Intern Med 2012; 172:366.
  27. Cho SH, Hwang EW. Acupuncture for primary dysmenorrhoea: a systematic review. BJOG 2010; 117:509.
  28. Proctor ML, Smith CA, Farquhar CM, Stones RW. Transcutaneous electrical nerve stimulation and acupuncture for primary dysmenorrhoea. Cochrane Database Syst Rev 2002; :CD002123.
  29. Ling FW. Randomized controlled trial of depot leuprolide in patients with chronic pelvic pain and clinically suspected endometriosis. Pelvic Pain Study Group. Obstet Gynecol 1999; 93:51.
Read More

การตั้งครรภ์เกินกำหนด (Postterm pregnancy)

การตั้งครรภ์เกินกำหนด (Postterm pregnancy)

จัดทำโดย พ.ญ. อรพิน จิตคุณธรรมกุล
อาจารย์ที่ปรึกษา พ.ญ. สุชยา ลือวรรณ


นิยาม (Definition)

การตั้งครรภ์เกินกำหนด (Postterm pregnancy, Prolonged pregnancy) หมายถึง การตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 42 สัปดาห์เต็ม (294 วัน) หรือมากกว่า โดยเริ่มนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย (Last menstrual period : LMP) [1]

การกำหนดอายุครรภ์

การประเมินอายุครรภ์ที่ถูกต้องและแม่นยำ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนดูแลสตรีตั้งครรภ์เกินกำหนด จากนิยามอายุครรภ์จะนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย (LMP) ซึ่งจะตามหลังการตกไข่ประมาณ 2 สัปดาห์ [2] บางครั้งปัญหาการคำนวณอายุครรภ์ผิดพลาดเกิดขึ้นมาจากการจำประจำเดือนครั้งสุดท้ายผิดพลาด หรือการตกไข่ช้ากว่าปกติ ดังนั้นอายุครรภ์ที่แน่นอนจึงต้องนับจากวันที่ตกไข่ หรือวันที่ปฏิสนธิเท่านั้น แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลประวัติ หรือวิธีการตรวจที่บ่งบอกอายุครรภ์ที่แน่นอนได้ จึงต้องอาศัยข้อมูลหลายอย่างประกอบกัน ได้แก่ ประวัติวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย (LMP) การตรวจภายในเพื่อประเมินขนาดมดลูกในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ การได้ยินเสียงหัวใจทารกเต้นเป็นครั้งแรก [3, 4] ข้อมูลดังกล่าวสามารถคำนวณอายุครรภ์คลาดเคลื่อนได้ 2 สัปดาห์หรือมากกว่า [4] นอกจากนี้จากหลายการศึกษาพบว่าการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) เพื่อประเมินอายุครรภ์ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ ก็มีความคลาดเคลื่อนได้ตั้งแต่ 3 – 10 วัน แต่สามารถระบุอายุครรภ์ได้แม่นยำมากกว่าจากประจำเดือนครั้งสุดท้าย [5-9] ดังนั้นจากข้อมูลทั้งหมดประกอบกันจะเป็นตัวกำหนดอายุครรภ์ และให้การดูแลรักษาครรภ์เกินกำหนดได้อย่างเหมาะสม

อุบัติการณ์ (Incidence)

การตั้งครรภ์เกินกำหนดพบประมาณร้อยละ 4 – 19 ของการตั้งครรภ์ [10]

พยาธิสรีรวิทยา (Pathophysiology)

สาเหตุ

สาเหตุของการตั้งครรภ์เกินกำหนดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น Anencephaly ต่อมใต้สมองผิดปกติ ต่อมหมวกไตฝ่อ และการขาดฮอร์โมน Placental sulfatase deficiency [11, 12] ทำให้สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง จึงไม่มีอาการเจ็บครรภ์รวมถึงปากมดลูกไม่พร้อมที่จะนำไปสู่กระบวนการคลอด

ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดการตั้งครรภ์เกินกำหนด (Risk factors) [13-15]

  1. ดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ (Prepregnancy body mass index : BMI) ≥ 25 kg/m2
  2. ครรภ์แรก (Nulliparity) พบได้มากกว่าครรภ์หลัง
  3. มีประวัติเคยตั้งครรภ์เกินกำหนดมาก่อน

Postmaturity syndrome

จากรายงานของ Clifford [16] ได้อธิบายลักษณะทารกที่คลอดจากครรภ์เกินกำหนด (Postmature, Postmaturity syndrome) ดังนี้ ผิวหนังแห้งแตก เหี่ยวย่น และหลุดลอก เนื่องจากสูญเสียไขมันใต้ผิวหนัง มีขี้เทาเคลือบติดตามตัว รูปร่างผอม มีลักษณะขาดสารอาหาร แต่ตื่นตัว (alert) หน้าตาดูแก่กว่าเด็กทั่วไป และเล็บยาว ดังรูปภาพที่ 1 – 4 แต่ลักษณะดังกล่าวพบแค่ร้อยละ 10 – 20 ของทารกที่อายุครรภ์เกินกำหนด แต่ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) ตรวจพบได้สูงถึงร้อยละ 88 ของทารกที่มีลักษณะ postmature ทั้งหมด [17] ซึ่งอาจพบร่วมกับภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ เนื่องจากปัญหารกเสื่อมสภาพ (Uteroplacental insufficiency) ทำให้ทารกมีขนาดเล็กกว่าอายุครรภ์ (Small-for-gestational-age : SGA) [18]

รูปที่ 1-4 ลักษณะของทารกที่คลอดจากครรภ์เกินกำหนด

รกเสื่อมสภาพ (Placental dysfunction)

จากการศึกษาของ Smith และ Baker ในปี ค.ศ. 1999 พบว่าตั้งแต่อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ขึ้นไปจะมีการตายของเซลล์รก (Placental apoptosis) มากขึ้น [19] และจากการศึกษาของ Jazayeri และคณะ ในปี 1998 ได้ทำการศึกษาระดับ Erythropoietin ในเลือดจากสายสะดือของทารกที่คลอดระหว่างอายุครรภ์ 37 – 43 สัปดาห์ พบว่าทารกที่คลอดหลังอายุครรภ์ 41 สัปดาห์มีระดับของ Erythropoietin สูงขึ้น แสดงถึงภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่รกเสื่อมสภาพ [20]

ทารกอยู่ในภาวะคับขัน (Fetal distress) และน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios)

ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) เป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้สายสะดือถูกกด (Cord compression) และทารกอยู่ในภาวะคับขัน (Fetal distress) [21] ซึ่งจะแสดงให้เห็นได้จากการตรวจติดตามด้วย Electronic monitoring จะพบว่ามีรูปแบบของ prolong fetal heart rate deceleration หรือ variable deceleration ดังรูปภาพที่ 5 และ 6 แต่ถ้าเป็น Late deceleration จะพบในภาวะรกเสื่อมสภาพ

รูปภาพที่ 5 Prolonged deceleration [21]

รูปภาพที่ 6 Severe variable deceleration [21]

รูปภาพที่ 7 เปรียบเทียบปริมาณน้ำคร่ำในแต่ละอายุครรภ์ [22]

ในการตั้งครรภ์ปกติปริมาณน้ำคร่ำจะลดลงหลังจากอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ ดังรูปภาพที่ 7 ในรายที่ทารกถ่ายขี้เทาในครรภ์ ปัญหาน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) จะเสริมให้ขี้เทาที่ปนในน้ำคร่ำมีความเข้มข้นมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการสำลักขี้เทา (Meconium aspiration syndrome) หลังคลอดตามมาได้ สาเหตุของภาวะน้ำคร่ำน้อยเกิดจากทารกที่อายุครรภ์เกินกำหนดจะมีเลือดไปเลี้ยงที่ไต (Fetal renal blood flow) ลดลง ทำให้มีการสร้างปัสสาวะ (Fetal urine production) ลดลง [23]

ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (Fetal-Growth restriction)

จากการศึกษาของ Clausson และคณะ ในปี ค.ศ. 1999 พบว่า 1 ใน 3 ของทารกที่คลอดหลังอายุครรภ์ 42 สัปดาห์ และเกิดทารกตายคลอด (Stillbirth) จะเป็นทารกที่เจริญเติบโตช้าในครรภ์ (Fetal-Growth restriction) [18, 24]

ผลกระทบของการตั้งครรภ์เกินกำหนดต่อทารก (Perinatal risks)

1. Morbidity and Mortality

ทารกมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในครรภ์เพิ่มขึ้น ถ้าคลอดหลังอายุครรภ์ 42 สัปดาห์ โดยจะเพิ่มเป็น 3 เท่าในอายุครรภ์ 43 สัปดาห์ และเพิ่มเป็น 4 – 6 เท่าในอายุครรภ์ 44 สัปดาห์ [4] และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่อายุครรภ์ระหว่าง 41 – 42 สัปดาห์ [25] ดังรูปภาพที่ 8

รูปภาพที่ 8 กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในครรภ์ของทารกกับอายุครรภ์ [25]

จากการศึกษาของ Alexander และคณะ ในปี ค.ศ. 2000 เกี่ยวกับผลลัพธ์ของการคลอดที่อายุครรภ์ 40 สัปดาห์เปรียบเทียบกับการคลอดที่อายุครรภ์ 41 และ 42 สัปดาห์ พบว่าอายุครรภ์ 41 สัปดาห์ ระยะที่ 1 และ 2 ของการคลอดนานขึ้น อัตราการทำหัตถการทางสูติศาสตร์ทั้งผ่าตัดคลอดและช่วยคลอดด้วยคีมมากขึ้น ในอายุครรภ์ 42 สัปดาห์ มีอัตราการชักนำคลอด การผ่าท้องทำคลอดจากสาเหตุการคลอดติดไหล่ และ fetal distress มากขึ้น และทารกคลอดต้องเข้ารับการรักษาใน Neonatal Intensive Care Unit (NICU) มากขึ้น อุบัติการณ์ของ Neonatal seizure และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ดังตารางที่ 1 จากผลลัพธ์ดังกล่าวทำให้ต้องเฝ้าระวังมากขึ้นเมื่ออายุครรภ์เกินกำหนด หรือมีการชักนำคลอดเมื่ออายุครรภ์ 42 สัปดาห์ [26]

ตารางที่ 1 แสดง Pregnancy outcomes ที่อายุครรภ์ 40, 41 และ 42 สัปดาห์ [26]

2. การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ผิดปกติ (Abnormal fetal growth)

ได้แก่ Postmaturity syndrome, ทารกที่เจริญเติบโตช้าในครรภ์ (Fetal-Growth restriction) ดังที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น และทารกตัวโตกว่าปกติ (Macrosomia)

ทารกตัวโตกว่าปกติ (Macrosomia)

การเจริญเติบโตเพิ่มน้ำหนักของทารกในครรภ์จะสูงสุดที่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์เต็ม ดังรูปภาพที่ 9 หลังจากนั้นการเจริญเติบโตจะช้าลง แต่ยังคงดำเนินต่อไป ทำให้ทารกมีขนาดโตกว่าปกติ

รูปภาพที่ 9 กราฟแสดงอัตราการเจริญเติบโตของทารกตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น [20]

ทารกตัวโตกว่าปกติ (Macrosomia) ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีภาวะผิดสัดส่วนระหว่างศีรษะทารกกับช่องเชิงกราน (CPD) การคลอดไหล่ยาก ต้องใช้หัตถการทางสูติศาสตร์ เกิดอันตรายต่อช่องทางคลอดของมารดา และเกิดอันตรายต่อทารก เช่น ภาวะเลือดออกที่เยื่อหุ้มสมองใต้กะโหลกศีรษะ (Cephalhematoma) กระดูกหัก และบาดเจ็บต่อเส้นประสาท Brachial plexus [27]

วิธีการคลอดของทารกตัวโตกว่าปกติ ถ้าคะเนน้ำหนักไม่มากเกินไป สามารถให้คลอดทางช่องคลอดได้ ทั้งนี้ขึ้นกับการประเมินดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล ถึงแม้ว่าคะเนน้ำหนักทารกเกิน 5000 กรัม และมารดาไม่ได้เป็นเบาหวาน ก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามในการคลอดทางช่องคลอด แต่แนะนำให้ผ่าท้องทำคลอดในรายที่คะเนน้ำหนักทารกเกิน 4500 กรัม และมีระยะที่ 2 ของการคลอดยืดเยื้อ (Prolonged second-stage of labor) หรือ Arrest of descent [28]

3. ขี้เทาปนในน้ำคร่ำ และปัญหาการสำลักขี้เทา (Meconium staining and Pulmonary aspiration)

จากปัญหาขี้เทาปนในน้ำคร่ำ ทำให้ทารกสำลักขี้เทา (Meconium aspiration syndrome) และปัญหาน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) ยิ่งเสริมให้ขี้เทาที่ปนในน้ำคร่ำมีความเข้มข้นมากขึ้น [29] ในรายที่รุนแรงทำให้ทารกเสียชีวิตได้

การประเมินทารก และการดูแลรักษา (Fetal evaluation and management)

เมื่อทราบว่าทารกที่อายุครรภ์เกินกำหนดมีความเสี่ยง สิ่งสำคัญจึงต้องทราบอายุครรภ์ที่แน่นอน และให้การดูแลรักษา โดยการตรวจติดตามสุขภาพทารกในครรภ์ก่อนคลอดอย่างใกล้ชิด หรือการชักนำคลอด

การตรวจติดตามสุขภาพทารกในครรภ์ก่อนคลอด (Antepartum fetal monitoring)

จากการศึกษาพบว่าภาวะแทรกซ้อนของมารดาและทารกในครรภ์เพิ่มขึ้นหลังอายุครรภ์ 41 สัปดาห์ [10, 24, 30, 31] การศึกษาส่วนใหญ่จึงแนะนำให้เริ่มตรวจติดตามสุขภาพทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ และทำการตรวจสัปดาห์ละ 2 ครั้ง [1, 30, 32, 33] ซึ่งพบว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของทารกได้ [29, 34, 35] ส่วนการตรวจที่อายุครรภ์ก่อน 41 สัปดาห์นั้นยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการลดอัตราการเสียชีวิตของทารก วิธีการตรวจ และความถี่ในการตรวจที่เหมาะสม

วิธีการตรวจมีหลายวิธีสามารถใช้ประเมินร่วมกันได้แล้วแต่ดุลยพินิจของผู้ตรวจ ประกอบด้วย

  1. Non stress test (NST) [1, 33]
  2. Biophysical profile (BPP) หรือ Modified BPP [1, 33]
  3. Contraction stress test (CST) [1, 34]
  4. การวัดปริมาณน้ำคร่ำด้วยการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) [1, 33]

การวัด Doppler ultrasound ของเส้นเลือดสายสะดือของทารก (Umbilical artery) ยังไม่มีข้อมูลว่ามีประโยชน์ในการตรวจติดตามสุขภาพของทารกในครรภ์ที่อายุครรภ์เกินกำหนด [36] และจากการศึกษาของ Oz และคณะ ในปี ค.ศ. 2002 พบว่าการวัด Renal artery Doppler resistance index สามารถพยากรณ์ภาวะน้ำคร่ำน้อยได้ดีกว่าการวัด Umbilical artery Doppler resistance index [23]

วิธีการที่ใช้วัดปริมาณน้ำคร่ำยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน เนื่องจากมีข้อจำกัดจากตัวผู้วัดแต่ละคนแตกต่างกัน และมีหลากหลายเกณฑ์ที่ใช้วินิจฉัยภาวะน้ำคร่ำน้อย เกณฑ์ที่ดีที่สุดที่ใช้วินิจฉัย [37] คือ Amniotic fluid index (AFI) ≤ 5 หรือ Pocket ที่ใหญ่ที่สุดของน้ำคร่ำ ≤ 2 cm หากพบว่าน้ำคร่ำน้อยอาจนำไปสู่การทำหัตถการอื่นๆ เกินความจำเป็น แต่ช่วยบ่งบอกภาวะแทรกซ้อนและอันตรายที่อาจตามมา ได้แก่ สายสะดือถูกกด Fetal hypoxemia ทารกสำลักขี้เทา และอัตราการเต้นของหัวใจทารกผิดปกติ เกิดภาวะ fetal distress และนำไปสู่การผ่าท้องทำคลอด และความเสี่ยงที่ทารกจะต้องอยู่ใน Neonatal Intensive Care Unit (NICU) ดังรูปภาพที่ 10 ดังนั้นน้ำคร่ำน้อยจึงเป็นข้อบ่งชี้หนึ่งของการให้ยุติการตั้งครรภ์

รูปภาพที่ 10 กราฟแสดงการเปรียบเทียบปริมาณน้ำคร่ำในสตรีอายุครรภ์เกินกำหนดกับ outcomes [37]

การชักนำคลอด (Induction of labor)

การชักนำคลอด คือ การทำให้มดลูกมีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกอย่างมีประสิทธิภาพ และปากมดลูกนุ่ม บางลง และถ่างขยาย

ปัจจัยที่ส่งผลให้การชักนำคลอดสำเร็จ (Prognostic factors for successful induction)

1. ความพร้อมของปากมดลูก (Cervical ripening)

การประเมินความพร้อมของปากมดลูก สามารถใช้ Bishop score ดังตารางที่ 2 เป็นเครื่องมือในการเลือกวิธีการชักนำคลอด การประเมินนี้เหมาะกับสตรีครรภ์แรกมากที่สุด

ตารางที่ 2 Bishop score [2]

คะแนนจาก Bishop score ที่น้อยกว่า 7 ถือว่าปากมดลูกอยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสม (Unfavorable cervix) ต่อการชักนำคลอด มีโอกาสล้มเหลวสูงและอาจเพิ่มภาวะแทรกซ้อนให้แก่มารดาและทารก ดังนั้นควรทำให้ปากมดลูกมีความพร้อมก่อนการกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก [38]

วิธีการทำให้ปากมดลูกพร้อมต่อการชักนำคลอด

  • การเซาะแยกถุงน้ำคร่ำ (Sweeping or stripping of the membrane) จะเริ่มทำ Membrane stripping เมื่ออายุครรภ์ 38 สัปดาห์ จะช่วยลดอุบัติการณ์ของการตั้งครรภ์เกินกำหนดได้ และไม่เพิ่มการติดเชื้อของมารดาและทารกในครรภ์ด้วย [39] แต่ผู้ป่วยอาจมีอาการปวด เลือดออกทางช่องคลอด และเจ็บครรภ์ไม่สม่ำเสมอได้ [40]
  • การใช้ยา Prostaglandin ACOG 2004 [1] แนะนำว่ายานี้ในรูปแบบ Gel สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในการตั้งครรภ์เกินกำหนด ได้แก่
    • Prostaglandin E2 : PGE2 (Dinoprostone หรือชื่อทางการค้า Prepidil และ Cervidil) ใช้สอดทางช่องคลอดหรือในรูปากมดลูก
    • Prostaglandin E1 : PGE1 (Misoprostol หรือชื่อทางการค้า Cytotec) ใช้สอดทางช่องคลอด หรือรับประทาน

ในปัจจุบันยังไม่มีขนาดยามาตรฐานที่ระบุให้ใช้ แต่ที่แนะนำ คือขนาดของยา Misoprostol คือ 25 µg ใช้สอดทางช่องคลอดทุก 4 ชั่วโมง พบว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ยา Dinoprostone เล็กน้อย แต่มีโอกาสเกิด Uterine tachysystole ได้สูงกว่า [1, 40, 41] และการใช้ยาทั้ง 2 แบบมีประสิทธิภาพในการเพิ่ม Bishop score และส่งผลให้เวลาที่ใช้ในการคลอดสั้นลง และโอกาสการชักนำคลอดล้มเหลวลดลงด้วย [42]

  • การใช้ Balloon catheter สอดทางช่องคลอด เพื่อถ่างขยายปากมดลูก พบว่ายังไม่มีการเปรียบเทียบวิธีนี้กับการใช้ยาในแง่ของโอกาสสำเร็จในการคลอด แต่วิธีนี้การเกิด Uterine hypercontractility น้อยกว่า [43] แต่เกิดการติดเชื้อในมารดาและทารกในครรภ์สูงขึ้น [40]
  • การเจาะถุงน้ำคร่ำ (amniotomy) ถ้าปากมดลูกมีความพร้อมแล้ว คือนุ่มลง บางลง และเริ่มถ่างขยาย การชักนำคลอดในทางปฏิบัติจะเริ่มจากการเจาะถุงน้ำคร่ำ (amniotomy) เป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการชักนำคลอด [4]
  • การให้ยา Oxytocin ทางกระแสเลือด เป็นการชักนำคลอดที่เหมาะสมเมื่อปากมดลูกมีความพร้อมแล้ว จะช่วยกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก แต่ถ้าปากมดลูกยังไม่พร้อม จะไม่สามารถเจาะถุงน้ำคร่ำได้ และการให้ยา Oxytocin ก็จะไม่สามารถทำให้ปากมดลูกนุ่มลงได้ และไม่ง่ายต่อการชักนำ ถึงแม้ว่าการให้ยา Oxytocin จะกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก และส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกได้ แต่อาจทำให้เกิดการคลอดยืดเยื้อ และนำไปสู่ Morbidity ได้แก่ เพิ่มความเสี่ยงของการตกเลือดหลังคลอด เพิ่มความเสี่ยงของการผ่าท้องทำคลอด [4]

2. ระดับของส่วนนำ (Station of vertex)

เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่บ่งบอกความสำเร็จในการชักนำคลอดได้ จากการศึกษาหนึ่งพบว่าสตรีที่อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ที่ได้รับการชักนำคลอดมีอัตราการผ่าท้องทำคลอดสูงขึ้นตามระดับของส่วนนำที่อยู่สูงขึ้น [44]

การตรวจติดตามสุขภาพทารกในครรภ์ กับ การชักนำคลอด (Fetal monitoring Vs Induction of labor)

ถึงแม้ว่าการตรวจติดตามสุขภาพทารกในครรภ์ระยะก่อนคลอดจะสามารถลด Fetal morbidity และ mortality ได้ แต่ถ้ามีความกังวลผลลัพธ์ที่ไม่ดีต่อทารกในครรภ์ วิธีการชักนำคลอดเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยทำให้ปากมดลูกมีความพร้อมก่อนที่จะชักนำคลอด

จากการศึกษาของ Hannah และคณะ ในปี ค.ศ. 1992 พบว่าการชักนำการคลอดมีอัตราการผ่าคลอดจากภาวะ fetal distress น้อยกว่าในรายที่รอคลอด และตรวจติดตามสุขภาพทารกอย่างใกล้ชิด [45] และอีกการศึกษาหนึ่งยืนยันว่า fetal morbidity และ mortality ไม่แตกต่างกัน และอัตราการผ่าท้องทำคลอดก็ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นทั้ง 2 วิธีการรักษาจึงมีประโยชน์ไม่แตกต่างกัน [46]

ข้อสรุปการดูแลรักษา [1]

1. กลุ่มที่ทราบอายุครรภ์แน่นอน

a. เมื่ออายุครรภ์ 41 สัปดาห์เต็ม

i. ร่วมกับไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ลูกดิ้นลดลง หรือน้ำคร่ำน้อย ให้เริ่มตรวจติดตามสุขภาพทารกในครรภ์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยใช้การตรวจด้วย NST หรือ BPP และการวัดปริมาณน้ำคร่ำ

ii. ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว ให้ชักนำคลอดเมื่อปากมดลูกมีความพร้อมแล้ว

b. เมื่ออายุครรภ์ 42 สัปดาห์เต็ม ให้ชักนำคลอด ประมาณร้อยละ 90 จะเข้าสู่ระยะคลอดภายใน 2 วัน แต่ถ้าการชักนำคลอดครั้งแรกล้มเหลว ให้เริ่มชักนำคลอดครั้งที่ 2 ภายใน 3 วันถัดมา แต่ถ้ายังไม่คลอด สามารถเลือกได้ระหว่างการชักนำคลอดครั้งที่ 3 หรือการผ่าท้องทำคลอด

2. กลุ่มที่อายุครรภ์ไม่แน่นอน ให้ตรวจติดตามสุขภาพทารกในครรภ์สัปดาห์ละ 1 ครั้งด้วย NST และการวัดปริมาณน้ำคร่ำ ถ้าพบว่า AFI ≤ 5 cm หรือลูกดิ้นลดลง ให้ชักนำคลอด

รูปภาพที่ 11 แผนภาพแสดงข้อสรุปการรักษาสตรีที่ตั้งครรภ์เกินกำหนด [1]

การดูแลรักษาในระยะคลอด (Intrapartum management)

ระยะคลอดเป็นระยะที่อันตรายที่สุดของการตั้งครรภ์เกินกำหนด ดังนั้นสตรีตั้งครรภ์เกินกำหนดควรมาโรงพยาบาลทันทีเมื่อเจ็บครรภ์คลอด เพื่อตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ตลอดเวลาด้วย Electronic Fetal Heart Rate Monitoring และตรวจติดตามการหดรัดตัวของมดลูกด้วย [47]

การเจาะถุงน้ำคร่ำ (amniotomy) มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เนื่องจากการเจาะถุงน้ำคร่ำจะทำให้น้ำที่มีปริมาณอยู่ไม่มากลดปริมาณลงอีก มีโอกาสเกิดสายสะดือถูกกดได้ แต่ข้อดีคือสามารถดูลักษณะน้ำคร่ำได้ว่ามีขี้เทาปนหรือไม่ และสามารถทำ Internal Fetal Heart Rate Monitoring ได้ด้วย

การเติมน้ำคร่ำ (Amnioinfusion) ไม่มีประโยชน์ในรายที่มีขี้เทาปนในน้ำคร่ำ เนื่องจากไม่ได้ช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดปัญหาการสำลักขี้เทา (Meconium Aspiration Syndrome) [48] แต่ ACOG 2005, 2006 แนะนำให้ทำเมื่อมีลักษณะของ Repetitive Variable Deceleration ซึ่งเกิดจากปัญหาการกดสายสะดือ โดยไม่คำนึงถึงลักษณะของขี้เทาปนในน้ำคร่ำ

การผ่าท้องทำคลอดอาจพิจารณาทำได้ เช่น น้ำคร่ำมีขี้เทาปนมากและคาดว่าใช้เวลาอีกนานกว่าทารกจะคลอด สงสัยภาวะการผิดสัดส่วนระหว่างเชิงกรานกับทารก (Cephalopelvic disproportion) หรือการหดรัดตัวของมดลูกผิดปกติ

การดูแลทารกแรกคลอด [49]

ในปี ค.ศ. 2006 The American Academy of Pediatrics และ The American Heart Association กล่าวถึงแนวทางในการกู้ชีพทารกแรกเกิด (Neonatal resuscitation) ไว้ว่าทารกแรกคลอดทุกคนที่มีขี้เทาปนในน้ำคร่ำ หลังจากศีรษะของทารกคลอดไม่ควรดูดเมือกออกจากปาก คอ จมูกของทารกก่อนจะคลอดไหล่ของทารก (Intrapartum suctioning) ดังเช่นแนวทางในการกู้ชีพทารกแรกเกิดเดิม ให้ทำคลอดไหล่และลำตัวของทารกต่อมา เนื่องจากการทำ Intrapartum suctioning ไม่ได้ช่วยป้องกันและเปลี่ยนแปลงการเกิด Meconium aspiration syndrome จากนั้นให้แพทย์ผู้ดูแลทารกแรกคลอดพิจารณา ถ้าทารกมีอาการหายใจช้า ติดขัด หรือไม่หายใจ (Non-vigorous) ให้ทำการดูดขี้เทาอย่างเพียงพอผ่านท่อช่วยหายใจ (Endotracheal tube) แต่ถ้าทารกหายใจได้ดี (Vigorous) หมายถึงหายใจเองได้เต็มที่ ความตึงตัวของกล้ามเนื้อดี และอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที ให้ทำการกู้ชีพทารกแรกคลอดตามปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องทำการดูดขี้เทาผ่านท่อช่วยหายใจ (Endotracheal tube) เนื่องจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นเสียง

พัฒนาการของทารกที่มีอายุครรภ์เกินกำหนด (Developmental effects of Postterm gestation)

จากการศึกษาพบว่าทารกที่มีภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (Growth-restricted neonate) โดยไม่คำนึงถึงอายุครรภ์ที่คลอด จะมีปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยง่าย ปัญหาการนอนหลับ และปัญหาการเข้าสังคมตั้งแต่อายุ 1 ปี และทารกที่มีภาวะ fetal distress และ Birth asphyxia จะมีระบบประสาทที่ผิดปกติได้มากในช่วงแรกเกิด [50] และอีกการศึกษาหนึ่งเปรียบเทียบทารกที่คลอดเมื่ออายุครรภ์เกินกำหนดกับทารกที่คลอดเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนดพบว่าเมื่อทารกอายุ 1 ปี หรือ 2 ปีไม่มีความแตกต่างกันในแง่ของระดับสติปัญญา และการเจ็บป่วย [51]

เอกสารอ้างอิง

  1.  ACOG Practice Bulletin. Clinical management guidelines for obstetricians-gynecologists. Number 55, September 2004 (replaces practice pattern number 6, October 1997). Management of Postterm Pregnancy. Obstet Gynecol, 2004. 104(3): p. 639-46.
  2. Cunningham, F.G., postterm pregnancy, in Williams obstetrics, K.D. Alyssa Fried, Editor. 2010. p. 832-841.
  3. Doherty, L. and E.R. Norwitz, Prolonged pregnancy: when should we intervene? Curr Opin Obstet Gynecol, 2008. 20(6): p. 519-27.
  4. Jamie L. Resnik, R.R., Post-term Pregnancy. 6th ed. CREASY AND RESNIK’S MATERNAL-FETAL MEDICINE: PRINCIPLES AND PRACTICE, ed. R.R. Robert K. Creasy, Jay D. Iams 2009, California: Saunders. 6.
  5. Bennett, K.A., et al., First trimester ultrasound screening is effective in reducing postterm labor induction rates: a randomized controlled trial. Am J Obstet Gynecol, 2004. 190(4): p. 1077-81.
  6. Blondel, B., et al., Algorithms for combining menstrual and ultrasound estimates of gestational age: consequences for rates of preterm and postterm birth. BJOG, 2002. 109(6): p. 718-20.
  7. Boyd, M.E., et al., Obstetric consequences of postmaturity. Am J Obstet Gynecol, 1988. 158(2): p. 334-8.
  8. Gardosi, J., T. Vanner, and A. Francis, Gestational age and induction of labour for prolonged pregnancy. Br J Obstet Gynaecol, 1997. 104(7): p. 792-7.
  9. Taipale, P. and V. Hiilesmaa, Predicting delivery date by ultrasound and last menstrual period in early gestation. Obstet Gynecol, 2001. 97(2): p. 189-94.
  10. Divon, M.Y. and N. Feldman-Leidner, Postdates and antenatal testing. Semin Perinatol, 2008. 32(4): p. 295-300.
  11. Macdonald, P.C. and P.K. Siteri, Origin of Estrogen in Women Pregnant with an Anencephalic Fetus. J Clin Invest, 1965. 44: p. 465-74.
  12. Taylor, N.F., Review: placental sulphatase deficiency. J Inherit Metab Dis, 1982. 5(3): p. 164-76.
  13. Mogren, I., H. Stenlund, and U. Hogberg, Recurrence of prolonged pregnancy. Int J Epidemiol, 1999. 28(2): p. 253-7.
  14. Oberg, A.S., et al., Maternal and fetal genetic contributions to postterm birth: familial clustering in a population-based sample of 475,429 Swedish births. Am J Epidemiol. 177(6): p. 531-7.
  15. Olesen, A.W., J.G. Westergaard, and J. Olsen, Prenatal risk indicators of a prolonged pregnancy. The Danish Birth Cohort 1998-2001. Acta Obstet Gynecol Scand, 2006. 85(11): p. 1338-41.
  16. Clifford, S.H., Postmaturity, with placental dysfunction; clinical syndrome and pathologic findings. J Pediatr, 1954. 44(1): p. 1-13.
  17. Trimmer, K.J., et al., Observations on the cause of oligohydramnios in prolonged pregnancy. Am J Obstet Gynecol, 1990. 163(6 Pt 1): p. 1900-3.
  18. Clausson, B., S. Cnattingius, and O. Axelsson, Outcomes of post-term births: the role of fetal growth restriction and malformations. Obstet Gynecol, 1999. 94(5 Pt 1): p. 758-62.
  19. Smith, S.C. and P.N. Baker, Placental apoptosis is increased in post-term pregnancies. Br J Obstet Gynaecol, 1999. 106(8): p. 861-2.
  20. Jazayeri, A., J.C. Tsibris, and W.N. Spellacy, Elevated umbilical cord plasma erythropoietin levels in prolonged pregnancies. Obstet Gynecol, 1998. 92(1): p. 61-3.
  21. Leveno, K.J., et al., Prolonged pregnancy. I. Observations concerning the causes of fetal distress. Am J Obstet Gynecol, 1984. 150(5 Pt 1): p. 465-73.
  22. Elliott, P.M. and W.H. Inman, Volume of liquor amnii in normal and abnormal pregnancy. Lancet, 1961. 2(7207): p. 835-40.
  23. Oz, A.U., et al., Renal artery Doppler investigation of the etiology of oligohydramnios in postterm pregnancy. Obstet Gynecol, 2002. 100(4): p. 715-8.
  24. Divon, M.Y., et al., Fetal and neonatal mortality in the postterm pregnancy: the impact of gestational age and fetal growth restriction. Am J Obstet Gynecol, 1998. 178(4): p. 726-31.
  25. Hilder, L., K. Costeloe, and B. Thilaganathan, Prolonged pregnancy: evaluating gestation-specific risks of fetal and infant mortality. Br J Obstet Gynaecol, 1998. 105(2): p. 169-73.
  26. Alexander, J.M., D.D. McIntire, and K.J. Leveno, Forty weeks and beyond: pregnancy outcomes by week of gestation. Obstet Gynecol, 2000. 96(2): p. 291-4.
  27. Usher, R.H., et al., Assessment of fetal risk in postdate pregnancies. Am J Obstet Gynecol, 1988. 158(2): p. 259-64.
  28. Chatfield, J., ACOG issues guidelines on fetal macrosomia. American College of Obstetricians and Gynecologists. Am Fam Physician, 2001. 64(1): p. 169-70.
  29. Eden, R.D., et al., Perinatal characteristics of uncomplicated postdate pregnancies. Obstet Gynecol, 1987. 69(3 Pt 1): p. 296-9.
  30. Guidetti, D.A., M.Y. Divon, and O. Langer, Postdate fetal surveillance: is 41 weeks too early? Am J Obstet Gynecol, 1989. 161(1): p. 91-3.
  31. Nakling, J. and B. Backe, Pregnancy risk increases from 41 weeks of gestation. Acta Obstet Gynecol Scand, 2006. 85(6): p. 663-8.
  32. Bochner, C.J., et al., The efficacy of starting postterm antenatal testing at 41 weeks as compared with 42 weeks of gestational age. Am J Obstet Gynecol, 1988. 159(3): p. 550-4.
  33. Mandruzzato, G., et al., Guidelines for the management of postterm pregnancy. J Perinat Med. 38(2): p. 111-9.
  34. Freeman, R.K., et al., Postdate pregnancy: utilization of contraction stress testing for primary fetal surveillance. Am J Obstet Gynecol, 1981. 140(2): p. 128-35.
  35. Johnson, J.M., et al., Biophysical profile scoring in the management of the postterm pregnancy: an analysis of 307 patients. Am J Obstet Gynecol, 1986. 154(2): p. 269-73.
  36. Stokes, H.J., R.V. Roberts, and J.P. Newnham, Doppler flow velocity waveform analysis in postdate pregnancies. Aust N Z J Obstet Gynaecol, 1991. 31(1): p. 27-30.
  37. Fischer, R.L., et al., Amniotic fluid volume estimation in the postdate pregnancy: a comparison of techniques. Obstet Gynecol, 1993. 81(5 ( Pt 1)): p. 698-704.
  38. Harris, B.A., Jr., et al., The unfavorable cervix in prolonged pregnancy. Obstet Gynecol, 1983. 62(2): p. 171-4.
  39. Boulvain, M., et al., Sweeping of the membranes to prevent post-term pregnancy and to induce labour: a systematic review. Br J Obstet Gynaecol, 1999. 106(5): p. 481-5.
  40. Winer, N., [Different methods for the induction of labour in postterm pregnancy]. J Gynecol Obstet Biol Reprod (Paris). 40(8): p. 796-811.
  41. Hofmeyr, G.J. and A.M. Gulmezoglu, Vaginal misoprostol for cervical ripening and induction of labour. Cochrane Database Syst Rev, 2003(1): p. CD000941.
  42. Crane, J.M., et al., Misoprostol compared with prostaglandin E2 for labour induction in women at term with intact membranes and unfavourable cervix: a systematic review. BJOG, 2006. 113(12): p. 1366-76.
  43. Boulvain, M., et al., Mechanical methods for induction of labour. Cochrane Database Syst Rev, 2001(4): p. CD001233.
  44. Shin, K.S., K.L. Brubaker, and L.M. Ackerson, Risk of cesarean delivery in nulliparous women at greater than 41 weeks’ gestational age with an unengaged vertex. Am J Obstet Gynecol, 2004. 190(1): p. 129-34.
  45. Hannah, M.E., et al., Induction of labor as compared with serial antenatal monitoring in post-term pregnancy. A randomized controlled trial. The Canadian Multicenter Post-term Pregnancy Trial Group. N Engl J Med, 1992. 326(24): p. 1587-92.
  46. A clinical trial of induction of labor versus expectant management in postterm pregnancy. The National Institute of Child Health and Human Development Network of Maternal-Fetal Medicine Units. Am J Obstet Gynecol, 1994. 170(3): p. 716-23.
  47. ACOG Practice Bulletin. Clinical Management Guidelines for Obstetrician-Gynecologists, Number 70, December 2005 (Replaces Practice Bulletin Number 62, May 2005). Intrapartum fetal heart rate monitoring. Obstet Gynecol, 2005. 106(6): p. 1453-60.
  48. Fraser, W.D., et al., Amnioinfusion for the prevention of the meconium aspiration syndrome. N Engl J Med, 2005. 353(9): p. 909-17.
  49. ACOG Committee Opinion No. 379: Management of delivery of a newborn with meconium-stained amniotic fluid. Obstet Gynecol, 2007. 110(3): p. 739.
  50. Lovell, K.E., The effect of postmaturity on the developing child. Med J Aust, 1973. 1(1): p. 13-7.
  51. Shime, J., et al., The influence of prolonged pregnancy on infant development at one and two years of age: a prospective controlled study. Am J Obstet Gynecol, 1986. 154(2): p. 341-5.
Read More

Array comparative genomic hybridization (aCGH)

Array comparative genomic hybridization (aCGH)

พ.ญ. บงกช ชาครบัณฑิต
อาจารย์ที่ปรึกษา ร.ศ. น.พ. โอภาส เศรษฐบุตร


1 Introduction

ความเจริญก้าวหน้าทางพันธุศาสตร์มีมากขึ้นและถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์หลายอย่าง ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในทางสูติศาสตร์ คือการตรวจคัดกรองทารกในครรภ์ (prenatal diagnosis, PND) เพื่อคัดกรองโรครุนแรง เช่นโลหิตจางธาลัสซีเมีย กลุ่มอาการดาวน์ เป็นต้น ในปัจจุบัน มีความเจริญก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีมากขึ้น จนสามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังไม่มีการตั้งครรภ์ นั่นคือ การตรวจทางพันธุกรรมของ ตัวอ่อนก่อนการตั้งครรภ์ หรือ preimplantation genetic testing ซึ่งมีการตรวจทั้งแบบคัดกรอง (preimplantation genetic screening, PGS) และการตรวจเพื่อการวินิจฉัย (preimplantation genetic diagnosis, PGD)

PGS คือการนำเซลล์ของตัวอ่อนมาใช้ในการตรวจทางพันธุกรรม โดยจุดประสงค์เพื่อการคัดกรองความผิดปกติทางด้านจำนวนโครโมโซมของตัวอ่อน (aneuploidy) ในคู่สมรสที่ปกติ ไม่มีโรคทางพันธุกรรมใดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการย้ายตัวอ่อนที่มีจำนวนโครโมโซมผิดปกติ ทำให้การฝังตัวหลังย้ายตัวอ่อนดีขึ้น(1)

PGD คือการนำเซลล์ของตัวอ่อนมาใช้ในการตรวจทางพันธุกรรม โดยจุดประสงค์เพื่อเลือกตัวอ่อนที่ไม่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมในคู่สมรสที่เป็นโรคหรือเป็นพาหะของโรคทางพันธุกกรมใดๆ หรือเพื่อเลือกตัวอ่อนที่มีโครโมโซมที่ต้องการเพื่อจุดประสงค์เฉพาะ เช่น เพศ หรือ แอนติเจนบนเม็ดเลือดขาว เป็นต้น

การตรวจทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนการตั้งครรภ์ (preimplantation genetic testing) จำเป็นต้องมีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ (assisted reproductive technology, ART) เพื่อให้ได้เซลล์มาตรวจก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ซึ่งเซลล์ที่นำมาใช้ในการตรวจทางพันธุกกรมนั้น สามารถได้จากหลายระยะของไข่หรือตัวอ่อน ได้แก่ polar body biopsy, blastomere biopsy และ blastocyst biopsy ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันในแต่ละระยะ

1. Polar body biopsy

Polar body คือเซลล์ที่แบ่งตัวจากไข่ก่อนการปฏิสนธิ สามารถใช้ first หรือ second polar body ก็ได้(2,3) การใช้ polar body สามารถใช้เพื่อตรวจความผิดปกติทางฝั่งมารดาเท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีรหัสพันธุกรรม จากฝั่งบิดาโดย polar body จะมีรหัสพันธุกรรมเหมือนไข่หากมารดา มีความผิดปกติชนิด homozygous แต่หากมาดาเป็นพาหะ (heterozygous) polar body จะมีรหัสพันธุกรรม แตกต่างกับไข่ ซึ่งจะสามารถเลือกไข่ที่ปกติเพื่อนำไปปฏิสนธิต่อไป แต่การใช้ polar body biopsy มีข้อจำกัดและข้อเสีย คือ

  1. หากเกิดการ crossing over ในขณะแบ่งตัวและเป็นตำแหน่งที่เราสนใจ ความแม่นยำในการตรวจ first polar body จะลดลง ดังนั้น จึงควรตรวจ second polar body ด้วย(4)
  2. การใช้ polar body เป็นการตรวจรหัสพันธุกรรมจากฝั่งมารดาเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นไข่ที่มี รหัสพันธุกรรมผิดปกติ แต่หากฝั่งบิดาปกติ ตัวอ่อนที่ได้จะเป็นพาหะ ซึ่งในบางโรค จะไม่แสดงออกทาง phenotype สามารถเติบโตเป็นเด็กปกติได้ ทำให้มีการทิ้งไข่ไปโดยไม่จำเป็น
  3. เนื่องจากหากมารดามีความผิดปกติแบบ homozygous polar body จะมีรหัสพันธุกรรมเหมือนไข่ จึงไม่จำเป็นต้องตรวจ

2. Blastomere biopsy

ประมาณวันที่ 3 หลังการปฏิสนธิ ตัวอ่อนจะมี 6-8 เซลล์ ยังไม่ยึดกันแน่น (รูปที่ 2) สามารถแยกไปตรวจ ได้ง่าย และยังไม่มีการกำหนดหน้าที่ของแต่ละเซลล์

3. Blastocyst biopsy

ประมาณวันที่ 5-6 หลังการปฏิสนธิ ตัวอ่อนจะอยู่ในระยะ blastocyst จะมีปริมาณเซลล์จำนวนมาก การนำเซลล์มาเพื่อใช้ในการวินิจฉัย จะดึงเซลล์ trophectoderm จากฝั่งที่ไม่มีตัวอ่อน (anembryonic pole) การ biopsy ระยะนี้ทำให้ได้เซลล์ปริมาณมาก ทำให้เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย(5) และส่งผลกระทบ กับตัวอ่อนน้อย แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการเพาะเลี้ยงเซลล์(6) ซึ่งจะมีตัวอ่อนตายมากขึ้น และเพิ่มโอกาสเกิด monozygotic twin มากขึ้น(7)

Genetic evaluation

1. G-banding karyotyping

การตรวจโครโมโซมด้วย Giemsa banding คือการย้อมสี Giemsa เพื่อให้มองเห็นโครโมโซม โดยการนำเซลล์ที่เพาะเลี้ยงจนอยู่ในระยะ metaphase ย่อยโครโมโซมบางส่วยด้วย Trypsin แล้วนำไปย้อมสี Giemsa การติดสีที่เข้มหรืออ่อน จะแตกต่างกันและเป็นลักษณะจำเพาะของแต่ละยีน ทำให้สามารถตรวจจำนวน และรูปร่างลักษณะของโครโมโซมได้ (8)

2. Fluorescent in situ hybridization (FISH)

เป็นการตรวจหาตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจงบนโครโมโซม ในเซลล์ในระยะ interphase หรือ metaphase โดยใช้ RNA หรือ DNA probe ซึ่งเป็น DNA หรือ RNA สายสั้นๆที่ติดสารกัมมันตรังสี ทำปฏิกิริยา hybridization กับ chromosome ที่ต้องการตรวจ จากนั้นนำเซลล์ไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะเห็นการเรืองแสงบนโครโมโซมที่จำเพาะต่อ probe ที่ใช้ตรวจ สามารถตรวจได้ครั้งละหลายสี แต่จำนวนสีที่มากขึ้นจะทำให้คุณภาพการอ่านแย่ลง ปัจจุบันที่นิยมตรวจคือ 5 สี ได้แก่การตรวจโครโมโซมคู่ที่ 13, 18, 21, X, Y หรือบางแห่งอาจตรวจ 7 สี โดยเพิ่มโครโมโซมคู่ที่ 16 และ 22 ด้วย

3. Comparative Genomic Hybridization (CGH)(9)

มีการรายงานการใช้ CGH ครั้งแรก ในปี 1992 ในการตรวจหา DNA ของเซลล์มะเร็ง CGH เป็นวิธีที่ใช้ในการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงจำนวนของโครโมโซม โดยไม่ต้องเพาะเลี้ยงเซลล์ แต่ใช้การเพิ่มจำนวน DNA ที่ต้องการตรวจ (whole genome amplification, WGA) และติดสารกัมมันตรังสี (fluorochromes) บน DNA ที่ต้องการตรวจ และ DNA ที่ใช้ควบคุม ด้วยสีที่แตกต่างกัน จากนั้นใช้การผสมในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยวิธีที่ใช้ มี 2 วิธี คือ Manual CGH (mCGH) และ array CGH (aCGH)

m-CGH จะใช้ เซลล์ของผู้ชายปกติในระยะ metaphase ยึดบนแผ่นกระจกบาง และทำให้เกิดปฏิกิริยา hybridization ในการตรวจสาย DNA อ่านผลโดยการอ่านสัดส่วนค่าสีจาก probe ตามความยาวของโครโมโซมในระยะนี้ วิธี m-CGH จะใช้เวลาประมาณ 72 ชั่วโมงในการทำปฏิกิริยายังไม่รวมระยะเวลาในการอ่านผล

a-CGH จะใช้ DNA probe ที่เป็นโครโมโซมควบคุม หรือส่วนโครโมโซมที่มีการเพิ่มจำนวนเตรียมไว้ เช่น bacterial artificial chromosome (BAC) oligonucleotide probe ยึดติดบนแผ่น microscope slide แทนการใช้เซลล์ในระยะ metaphase และใช้การเข้าคู่ของโครโมโซมที่ต้องการตรวจ โดยติดด้วยสารกัมมันตรังสีที่แตกต่างกัน จากนั้นใช้การอ่านผลสัดส่วนของสีโดยเครื่องอัตโนมัติ เพื่อดูโครโมโซมที่ขาดหรือเกิน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดของ a-CGH จะใช้เวลาได้เร็วที่สุดประมาณ 24 ชั่วโมง ซึ่งหากใช้เซลล์ในวันที่ 3 (blastomere biopsy) จะทำให้สามารถย้ายตัวอ่อนในวันที่ 5 ได้

array ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มี 2 ชนิด คือ targeted arrays โดยการใช้ probe ที่จำเพาะกับโรคหรือความผิดปกติที่ต้องการตรวจ แต่อาจไม่สามารถวินิจฉัยความผิดปกติใหม่ที่เกิดขึ้นได้ และ genome-wide arrays โดยสุ่มตำแหน่งจากโครโมโซมทั้งหมดซึ่งมักใช้ในเชิงศึกษาวิจัยมากกว่า เพราะสามารถค้นพบความผิดปกติ หรือกลุ่มอาการใหม่ๆได้(10)

4. Single nucleotide polymorphism arrays (SNP arrays)(9)

Single nucleotide polymorphism (SNP) คือความผิดปกติของลำดับเบสบน DNA ที่เกิดในประชากรปกติ SNP ส่วนใหญ่เกิดบนทั้ง 2 สายของ DNA เพิ่มจำนวน DNA ด้วย whole genome amplification อาจเลือกเพิ่มจำนวนเป็นบางส่วน หรือเพิ่มทั้ง genome เลยก็ได้ จากนั้นใช้การ hybridization เช่นเดียวกัน สามารถใช้เพื่อแยกโครโมโซมและระบุบุคคลได้ SNP เพิ่งเริ่มนำมาใช้ในการตรวจ PGD จึงยังไม่มีการตีพิมพ์งานวิจัยในเรื่องนี้

Comparative Genomic Hybridization array (a-CGH)

ในการใช้ aCGH มีทั้งข้อดี และข้อเสียแตกต่างกัน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการใช้วิธี G banding

ข้อดี

1. สามารถวินิจฉัยได้ดีกว่า (higher diagnostic yield)

การตรวจด้วย G banding จะสามารถเห็นความผิดปกติ เมื่อมีขนาด 3-10 ล้าน basepair แต่ความสามารถในการวินิจฉัยของ array จะแตกต่างกันตามชนิดของ array ขึ้นกับขนาดของ probe เช่น oligonucleotide probes มีความละเอียด 50-60 base pairs หรือ BAC มีความละเอียด 50,000 – 200,000 base pair(11) ทำให้การใช้ array สามารถตรวจพบความผิดปกติที่มีขนาดเล็กกว่า การใช้ G banding โดยหากมีความผิดปกติทางโครสร้าง การใช้ a-CGH จะสามารถตรวจพบได้มากกว่า G banding 5.6%(12) พบมีการศึกษาในสตรี 4406 คนซึ่งมารับการตรวจ PND ตามข้อบ่งชี้ต่างๆ เช่น อายุมาก ตรวจคัดกรอง serum marker และอัลตราซาวน์พบความผิดปกติ และตรวจ karyotype พบว่าปกติ เมื่อนำมาตรวจด้วยวิธี aCGH พบว่ามีความผิดปกติที่มีนัยสำคัญทางคลินิก โดยพบร้อยละ 6 ในกลุ่มที่มี structural anomaly และร้อยละ 1.7 ในกลุ่มมารดาอายุมากและพบความผิดปกติจากการตรวจคัดกรอง serum marker(13)

การศึกษาในชิคาโก ปี 2004 โดยการตรวจโครโมโซมของ conceptive product ในผู้ป่วยที่แท้งในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ที่ผ่านการตรวจด้วยวิธี G-banding มาก่อน พบว่า a-CGH สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ทั้งหมด และยังตรวจพบ genomic imbalance อื่นเพิ่มเติมด้วยโดยพบ mosaic ของ trisomy 20 ในชิ้นส่วนรกที่ได้รับการวินิจฉัยเป็น trisomy 21 จาก G-banding พบการเกิด duplication ของ 10q telomere region พบ interstitial deletion ของโครโมโซม 9p และ interstitial duplication ของ Prader-Willi/Angelman syndrome region บนโครโมโซม 15q (14)

2. ใช้เวลาสั้นกว่า (faster turnaround time)

วิธีการตรวจด้วย G banding ต้องมีการเพาะเลี้ยงเซลล์ เพื่อให้ได้ปริมาณ DNA มากพอในระยะที่กำลังแบ่งตัวอย่างเหมาะสม (metaphase) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ในการทำ aCGH สามารถทำได้โดยการสกัด DNA จากเซลล์ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านการเพาะเลี้ยง ซึ่งจะสามารถรู้ผลการตรวจได้ภายใน 1 วัน และใช้เครื่องอัตโนมัติในการแปลผล ทำให้มีความแม่นยำ และลดค่าใช้จ่ายจากแรงงานคน

ข้อจำกัด

1. Inability to detect balanced structural rearrangements

ความผิดปกติทางโครงสร้างโครโมโซม จะไม่สามารถตรวจด้วย aCGH ได้ เนื่องจากจำนวนโครโมโซมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความสำคัญทางคลินิกไม่มากนัก เนื่องจาก balance rearrangement พบน้อย โดยพบไม่ถึง ร้อยละ 0.1 ของประชากร (15) มักไม่ก่อให้เกิดโรค หรือความผิดปกติ และหากคู่สมรสมี balance rearrangement ที่ไม่แสดงอาการ บุตรก็จะไม่แสดงอาการเช่นกัน นอกจากนี้ การตรวจพบ balanced rearrangement จากการตรวจ G banding อาจมีความผิดปกติ ด้านจำนวนโครโมโซมใน section ของ DNA ซึ่งไม่สามารถตรวจพบโดย G banding ได้ซ่อนอยู่ พบว่าในกลุ่ม balance translocation มี ความผิดปกติทาง phenotype ประมาณร้อยละ6 (16)

2. Poor ability to detect polyploidies

polyploidies คือการเพิ่มจำนวนโครโมโซมทั้งหมด เช่น 69,XXX เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถตรวจได้ ด้วยการทำ standard aCGH เนื่องจาก gene content เปลี่ยนแปลงเท่ากันทั้งหมด ในกรณีที่ทารกเป็น 69,XXY อาจตรวจพบได้เนื่องจาก โครโมโซมเพศไม่เท่ากัน แต่ polyploidies พบน้อยมากในการเก็บข้อมูล จึงยังไม่แสดงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การวินิจฉัย polyploidies มักสงสัยจากการตรวจ พบความผิดปกติจากการตรวจอัลตราซาวน์ตั้งแต่ไตรมาสแรก หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือแรกคลอด ในบางห้องปฏิบัติการณ์จะใช้การตรวจ SNP array หรือใช้ FISH ก่อนการทำ aCGH ซึ่งทำให้สามารถตรวจวินิจฉัย polyploidies ได้ดียิ่งขึ้น (17)

3. Variable ability to detect low level mosaicism

ภาวะ mosaicism ที่เป็นไม่มาก จะให้การวินิจฉัยค่อนข้างยาก และการตรวจ aCGH จะไม่สามารถ mosaism ที่น้อยกว่าร้อยละ 20 ได้ (18)

4. Detection of variants of uncertain significance

variants of uncertain significance คือจำนวนโครโมโซมที่ผิดปกติในตำแหน่งที่ไม่เคยมีรายงาน ว่าควบคุมการแสดงออกของ phenotype อะไร ซึ่งความผิดปกตินี้ตรวจไม่พบโดยวิธี G Banding แต่ตรวจพบจากการตรวจด้วย aCGH ร้อยละ 1-2 (13) มีรายงานข้อมูลในปี 2008-2011 ว่า aCGH ตรวจพบ VUS ประมาณร้อยละ 3.4 ซึ่งตรวจ karyotype ปกติ แต่คาดการณ์ว่าเมื่อความรู้ในสาขานี้พัฒนาขึ้น VUS จะลดลงเนื่องจากเมื่อนำ VUS ดังกล่าวมาวิเคราะห์ใหม่ในปี 2012 พบว่า VUS ลดลงเหลือร้อยละ 1.5 (13) นอกจากนี้ การตรวจพบ VUS ยังก่อให้เกิดคำถามด้านจริยธรรมว่า จะแจ้งผลการตรวจให้คู่สมรส หรือไม่ และคู่สมรสจะตัดสินใจย้ายตัวอ่อนหรือไม่

5. Expense

aCGH มีราคาสูง แต่แนวโน้มราคาค่อยๆลดลง

6. Variable clinical sensitivity

Clinical sensitivity จะสูงหากความผิดปกติทางโครโมโซมนั้นเกิดจากการเพิ่ม หรือลดปริมาณ โครโมโซม (microdeletion หรือ microduplication syndrome) เช่น Velocardiofacial syndrome ซึ่งเกิดจาก 22q11.2 deletion CMA จะ detect ได้ มากกว่าร้อยละ 90 ซึ่งในกรณีที่ตรวจไม่พบ deletion จาก CMA มักเป็นการวินิจฉัยโรคอื่น ที่มีอาการใกล้เคียงกัน แต่หากกลุ่มอาการผิดปกติ เกิดได้จากหลายความผิดปกติทางโครโมโซม เช่น neurofibromatosis type-1 (NF1) ซึ่งประมาณร้อยละ 5 เกิดจาก microdeletion ส่วนใหญ่เกิดจาก ความผิดปกติของลำดับ base ที่ผิดปกติไป ซึ่งกรณีนี้จะไม่สามารถตรวจโดย CMA ได้

Clinical indication

ACOG recommendation (10)

มีหลายๆงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า aCGH เป็นเครื่องมือที่ดีในการตรวจคัดกรองความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะกรณีที่การตรวจ karyotyping ไม่พบความผิดปกติ โดย ACOG ได้ให้คำแนะนำ สำหรับการใช้ aCGH ในการตรวจคัดกรองความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ดังนี้ (ACOG committee opinion 2009)

  • Conventional karyotyping ยังคงแนะนำให้ใช้เป็นวิธีแรกในการตรวจคัดกรองทารกในครรภ์
  • อาจให้คำปรึกษาและให้ทางเลือกคู่สมรส ในการตรวจ targeted aCGH เพิ่มเติม หากตรวจพบ ความผิดปกติจากการอัลตราซาวน์ แต่ตรวจ karyotyping ไม่พบความผิดปกติ หรือในกรณีที่ทารก เสียชีวิตในครรภ์ที่ไม่สามารถเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่อตรวจ conventional karyotyping ได้
  • คู่สมรสที่เลือกวิธี aCGH ควรได้รับคำแนะนำ ทั้งก่อนและหลังการตรวจ และคู่สมรสควรมีข้อมูลว่า การตรวจ aCGH ไม่สามารถตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ทั้งหมด และบางครั้งอาจแปลผลได้ยาก
  • Targeted CGH อาจมีประโยชน์ในการใช้คัดกรองความผิดปกติของโครโมโซม แต่การจะนำมาใช้เป็นวิธีแรกในการตรวจแทน conventional karyotyping ยังต้องรอการศึกษาในอนาคต

ACMG recommendation (11)

นอกเหนือจากทางสูติกรรมที่ใช้ประโยชน์จากการตรวจ aCGH ขณะตั้งครรภ์ ยังมีข้อบ่งใช้ ในการตรวจทางอายุกรรมในทารกหลังคลอดด้วย โดยเฉพาะการเกิดภาวะพัฒนาการช้า (developmental delay, DD) หรือ การเรียนรู้ผิดปกติ (Intellectual disability, ID) American college of Medical Genetics (ACMG) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ a-CGH หลังคลอด (2010) ดังนี้

  • แนะนำให้ใช้ CMA ในการตรวจหา Copy number variants เป็นวิธีการแรกสำหรับ
    • สำหรับกรณีทารกมีความผิดปกติหลายอย่างที่ไม่จำเพาะ กับกลุ่มอาการใดๆทางพันธุกรรม
    • กรณีมี DD หรือ ID ที่ไม่จำเพาะกับกลุ่มอาการใดๆ
    • Autism spectrum disorders
  • ใช้ในการตรวจเพิ่มเติมกรณีที่เด็กมีปัญหาเรื่องการเจริญเติบโต (growth retardation) พัฒนาการการพูดช้า หรือภาวะอื่นๆที่ยังไม่มีการศึกษาชัดเจน
  • ใช้ในการตรวจติดตามกรณีที่พบความผิดปกติทางโครโมโซมจากการตรวจ CMA หรือ ใช้ในการประเมินพันธุกรรมของพ่อแม่ผู้ป่วย

Reference

  1. Practice Committee of the Society for Assisted Reproductive Technology, Practice Committee of the American Society for Reproductive Medicine. Preimplantation genetic testing: a Practice Committee opinion. Fertil Steril 2007; 88:1497.
  2. Verlinsky Y, Rechitsky S, Verlinsky O, et al. Prepregnancy testing for single-gene disorders by polar body analysis. Genet Test 1999; 3:185.
  3. Verlinsky Y, Rechitsky S, Verlinsky O, et al. Preimplantation diagnosis for sonic hedgehog mutation causing familial holoprosencephaly. N Engl J Med 2003; 348:1449.
  4. Verlinsky Y, Rechitsky S, Cieslak J, et al. Preimplantation diagnosis of single gene disorders by two-step oocyte genetic analysis using first and second polar body. Biochem Mol Med 1997; 62:182.
  5. Carson SA, Gentry WL, Smith AL, Buster JE. Trophectoderm microbiopsy in murine blastocysts: comparison of four methods. J Assist Reprod Genet 1993; 10:427.
  6. Sermon K, Van Steirteghem A, Liebaers I. Preimplantation genetic diagnosis. Lancet 2004; 363:1633.
  7. Veiga A, Sandalinas M, Benkhalifa M, et al. Laser blastocyst biopsy for preimplantation diagnosis in the human. Zygote 1997; 5:351.
  8. wendy A. Karyotype Analysis andChromosome Banding. ENCYCLOPEDIA OF LIFE SCIENCES, Nature Publishing Group,2001
  9. Joyce C, Gary H. The use of arrays in preimplantation genetic diagnosis and screening. Fertility and sterility 2010;94:1173-1177
  10. ACOG Committee Opinion No. 446: array comparative genomic hybridization in prenatal diagnosis. Obstet Gynecol 2009; 114:1161.
  11. Manning M, Hudgins L, Professional Practice and Guidelines Committee. Array-based technology and recommendations for utilization in medical genetics practice for detection of chromosomal abnormalities. Genet Med 2010; 12:742.
  12. Hillman S, Prtelove S, Coomarasamy A, et al. Additional information from array comparative genomic hybridization technology over conventional karyotyping in prenatal diagnosis: a systematic review and meta-analysis. Ultrasound Obstet Gynecol 2011; 37: 6–14
  13. Wapner RJ, Martin CL, Levy B, et al. Chromosomal microarray versus karyotyping for prenatal diagnosis. N Engl J Med 2012; 367:2175.
  14. Anthony J, June C, Konstantina H. Comparative Genomic Hybridization–Array Analysis Enhances the Detection of Aneuploidies and Submicroscopic Imbalances in Spontaneous Miscarriages. Am. J. Hum. Genet 2004; 74:1168–1174
  15. Warburton D. De novo balanced chromosome rearrangements and extra marker chromosomes identified at prenatal diagnosis: clinical significance and distribution of breakpoints. Am J Hum Genet 1991; 49:995.
  16. Savage MS, Mourad MJ, Wapner RJ. Evolving applications of microarray analysis in prenatal diagnosis. Curr Opin Obstet Gynecol 2011; 23:103.
  17. Breman A, Pursley AN, Hixson P, et al. Prenatal chromosomal microarray analysis in a diagnostic laboratory; experience with >1000 cases and review of the literature. Prenat Diagn 2012; 32:351.
  18. Stankiewicz P, Beaudet AL. Use of array CGH in the evaluation of dysmorphology, malformations, developmental delay, and idiopathic mental retardation. Curr Opin Genet Dev 2007;17:182–92.
  19. Chung M, Jeong H, et al.. Comprehensive chromosome analysis of blastocysts before implantation using array CGH. Molecular Cytogenetics 2013, 6:22
Read More

Overview in Abdominal Hysterectomy

Overview in Abdominal Hysterectomy

พ.ญ. ศศิวิมล ศรีสุโข
อาจารย์ที่ปรึกษา ผ.ศ.พ.ญ. จารุวรรณ แซ่เต็ง


1.บทนำ

การผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy) การตัดมดลูกนับว่าเป็นการผ่าตัดที่มากที่สุดในทางนรีเวชวิทยาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณกันว่ามีการผ่าตัดมดลูกปีละมากกว่า 650,000 ราย(1-3) สำหรับในประเทศไทยมีการผ่าตัดมดลูก ประมาณ 32,000 รายต่อปี(4) ในปัจจุบัน วิธีการผ่าตัดมดลูกมีหลายวิธี(5)ด้วยกัน ซึ่งการจะเลือกใช้วิธีใดนั้น แพทย์จะพิจารณาจากสภาวะของผู้ป่วยและความร้ายแรงของโรคที่เป็น ทั้งนี้วิธีการผ่าตัดทั้ง 4 สามารถเรียงลำดับตามความนิยมและผลกระทบต่อผู้ป่วย อาทิ รอยแผล และระยะเวลาในการพักฟื้น ได้ดังนี้

  1. การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy)
  2. การผ่าตัดมดลูกโดยใช้กล้องส่องช่องท้อง (Laparoscopic Hysterectomy)
  3. การผ่าตัดมดลูกผ่านผนังหน้าท้องแบบแผลเล็ก (Minilaparotomy Hysterectomy)
  4. การผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้องแบบปกติ (Abdominal Hysterectomy)

ในที่นี้จะเน้นเกี่ยวกับการผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้องแบบปกติ (Abdominal Hysterectomy)

2.ข้อบ่งชี้ในการทำ Hysterectomy (2)

2.1 Benign diseases

  • Leiomyoma มักทำในกรณีที่มีอาการ เช่น ระดูมามาก อาการจากก้อนที่โตขึ้น
  • Dysfunctional uterine bleeding ไม่รวมพวกที่มี endometrial lesions การผ่าตัดทำเมื่อการรักษาทางยาล้มเหลว
  • Endometriosis ผ่าตัดมดลูกเมื่อมีอาการรุนแรงรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผลและผู้ป่วยไม่ต้องการมีลูกอีก
  • Pelvic relaxation การผ่าตัดรวมถึง vaginal hysterectomy และการแก้ไข pelvic support
  • Pelvic pain ยังมีหลักฐานไม่มากที่สนับสนุนให้ทำ hysterectomy เพื่อการรักษาใน Chronic pain ยกเว้นการปวดระดูหรือมีพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน

2.2 Preinvasive disease

  • Endometrial hyperplasia with atypia
  • Adenocarcinoma in situ of the cervix

2.3 Invasive disease

  • การตัดมดลูกเป็นทั้งการรักษาและการทำ staging สำหรับโรคมะเร็งของ uterus, cervix,epithelial ovarian carcinoma, fallopian tube carcinoma

2.4 Acute conditions

  • Pregnancy related hemorrhage เป็นการผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิต พบอุบัติการณ์(6) emergency hysterectomy 1.55 ต่อ การคลอด 1000 รายและทำเนื่องการการผ่าตัดคลอด 0.7% จากการคลอดปกติ 0.02% สำหรับสาเหตุที่ทำให้เลือดออกมาก เช่น เกิดจาก abnormal placentation, จาก uterine atony และสาเหตุอื่นๆเช่น uterine rupture, fibroid, extended of uterine scar
  • tubo-ovarian abscess แตก หรือให้ยาแล้วไม่ได้ผล
  • acute menorrhagia refactory to medical treatment

2.5 other indications

  • -hysterectomy and prophylactic oophorectomy for familial history of ovarian cancer

3.การวางแผนการผ่าตัด Surgical planning

เนื่องจากมากกว่าร้อยละ 85 ของการตัดมดลูกเป็น elective case มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าความพึงพอใจของผู้ป่วย และผลการรักษา ดีขึ้น ถ้าหากผู้ป่วยได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งในเรื่องทางเลือกของการรักษา เหตุผลในการผ่าตัด

3.1 การลงแผลผนังหน้าท้อง (Choice of incision)

โดยทั่วไปการลงแผลหน้าท้องทำได้ 2 แนว(5) ดังรูปภาพที่ 1 คือ การลงแผลในแนวกึ่งกลางลำตัวต่ำกว่าระดับสะดือ (Low midline incision) ความยาวของแผลผนังหน้าท้องประมาณ 10 -15 cm และการลงแผลในแนวขวางลำตัวตรงตำแหน่ง Skin crease เหนือหัวหน่าว (Pfannenstiel incision) การลงแผลที่สองนี้มีข้อดีคือ แผลสวยงามและรอยแผลซ่อนอยู่ใต้ขอบกางเกงชั้นใน ความแข็งแรงของแผลดีกว่า ทำให้เกิด Incision hernia น้อยกว่า แต่มีข้อเสียคือ การขยายขนาดของแผลผ่าตัดทำได้ไม่ดีเท่าแบบ midline incision และใช้เวลาการทำผ่าตัดนานกว่า

3.2 การผ่าตัดรังไข่ (Elective oophorectomy)

จากการรวบรวมข้อมูลการผ่าตัดรังไข่ในผู้หญิงที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกในbenign condition(7) พบว่า ผู้หญิงอายุ มากกว่า 50 ปี หรือในสตรีวัยหมดประจำเดือน BSO สามารถลดอัตราการเป็นมะเร็งรังไข่ได้โดยไม่ส่งผลกระทบกับโรคหลอดเลือดหัวใจเสื่อมสมรรถภาพทางเพศกระดูกสะโพกหัก สำหรับACOG(8) เอง แนะนำให้พิจารณาอายุของผู้ป่วย โอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดและโรคกระดูกพรุน ความเสี่ยงทางพันธุกรรมสำหรับโรคมะเร็งรังไข่หรือความเสี่ยงสำหรับการผ่าตัดรังไข่ในภายหลังถ้ารังไข่จะยังคงอยู่ และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต แล้วให้ผู้ป่วยเลือกอีกครั้ง ในผู้หญิงที่ไม่ได้มีความเสี่ยงสูงของโรคมะเร็งรังไข่ การวางแผนการผ่าตัดมดลูกผู้ป่วยควรได้รับการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ของการผ่าตัดเอารังไข่

ตารางที่ 1 ความเสี่ยงสำหรับการผ่าตัดรังไข่(8)

3.3 การเก็บรักษาหรือการกำจัดของปากมดลูก (Total versus subtotal hysterectomy; TH vs TSH)

จาก Cochrane Database of Systematic Reviews 2012 (9) พบว่า ไม่มีความแตกต่างของการทำงานของระบบปัสสาวะและลำไส้หรือการมีเพศสัมพันธ์ระหว่าง TH และ TSHทั้งในระยะสั้น (ไม่เกิน 2 ปีหลังการผ่าตัด) หรือระยะยาว ( 9 ปีหลังการผ่าตัด ) ระยะเวลาในการผ่าตัด (ความแตกต่างจาก 11 นาที) และปริมาณของเลือดที่หายไปในระหว่างการผ่าตัด (ความแตกต่างจาก 57 มล. ) อย่างมีนัยสำคัญในระหว่างการผ่าตัดมดลูกโดยเก็บปากมดลูก (TSH)เมื่อเทียบกับการผ่าตัดมดลูกทั้งหมด ( TH ) ความแตกต่างเหล่านี้ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางคลินิกและมีหลักฐานของความแตกต่างเล็กน้อย ในเรื่องการมีเลือดออกทางช่องคลอดได้ถึงสองปีหลังการผ่าตัดมดลูกโดยเก็บปากมดลูก (TSH) มีแนวโน้มมากขึ้น (OR 16.0, 95% CI 6.1-41.6) ดังนั้นถ้าสามารถตัดปากมดลูกออกได้โดยง่าย แนะนำให้ตัดปากมดลูกออกด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยต้องการเก็บปากมดลูกไว้หรือไม่สามารถตัดปากมดลูกออกได้ ผู้ป่วยควรคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างต่อเนื่อง (เช่นการตรวจ Pap smear)

4.มาตรการป้องกันโรคก่อนที่จะมีการผ่าตัดมดลูก ( Prophylactic measures prior to hysterectomy)

4.1 Thromboprophylaxis – การให้ยาเพื่อป้องกันโรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่ผ่าตัดนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยง โดยวิทยาลัยสูตินรีแพทย์และนรีแพทย์ (ACOG)(10) และวิทยาลัยแพทย์อเมริกันทรวงอก (ACCP)(11) มีแนวทางแตกต่างกันบ้าง แต่คำแนะนำโดยรวมสอดคล้องสำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ :

  • ACOG(10) สำหรับผู้ป่วยที่จะผ่าตัดมดลูก ถือเป็นความเสี่ยงในระดับปานกลาง ควรให้ยา Thromboprophylaxis
  • ACCP(11) สำหรับผู้ป่วยที่จะผ่าตัดมดลูก ถือเป็นความเสี่ยงในระดับปานกลาง ควรให้ยา Thromboprophylaxis (คะแนน Caprini 3 ถึง 4) ยกเว้น ประเมินแล้วมีความเสี่ยงต่ำ (Caprini คะแนนจาก 1 ถึง 2; ผู้หญิง≤ 40 ปีเท่านั้นและไม่มีมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ)

4.2 Prophylactic antibiotics – ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกทางช่องท้องควรได้รับการป้องกันโรคยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ (IV) สำหรับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม คือ กลุ่ม 1st generation cephalosporin ถ้าผู้ป่วยที่แพ้ cephalosporin พิจารณาให้เป็น clindamycin, erythromycin, หรือ metronidazole โดยควรจะบริหารยาปฏิชีวนะป้องกันโรค 15-60 นาทีก่อนที่จะลงแผลที่ผิวหนัง หากขั้นตอนการเปิดหน้าท้องนาน (เช่น> 3 ชั่วโมง) หรือถ้าการสูญเสียเลือดประมาณ> 1500 มิลลิลิตรปริมาณที่เพิ่มขึ้นของยาปฏิชีวนะป้องกันโรคอาจได้รับ 3-4 ชั่วโมงหลังจากที่ปริมาณเริ่มต้น ดังแสดงในตาราง (ตารางที่ 2)

ตารางที่ 2(11-14)

ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียในกรณีที่ไม่มีข้อบ่งชี้ความเสี่ยงสูง

4.3 Bacterial vaginosis treatment – (12) สำหรับผู้หญิงที่มีช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ควรได้รับการรักษายาปฏิชีวะนะMetronidazole เป็นเวลา แปดวัน โดยเริ่มต้นสี่วันก่อนการผ่าตัด สามารถลดความถี่ของการติดเชื้อในช่องคลอดได้(15)

5.เทคนิคการผ่าตัด OPERATIVE TECHNIQUE

5.1 การจัดท่าของผู้ป่วยและการเตรียมหน้าท้อง

  • จัดท่านอนหงายหรือ lithotomy
  • คาสายสวนกระเพาะปัสสาวะ
  • ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ช่องท้องและช่องคลอดโดย Povidine
  • ไม่จำเป็นที่จะกำจัดขน ผู้ป่วยที่โกนมีแนวโน้มที่จะพัฒนาติดเชื้อแผลผ่าตัด หากต้องการกำจัดขนให้เลือกเป็นตัดมากกว่าโกน

5.2 การลงแผลหน้าท้องและการสำรวจช่องท้อง – การลงแผลหน้าท้องเลือกลงได้ 2 แนว(5) ตามที่ได้กล่าวข้างต้น โดยทั่วไปลงแผลด้วยมีด หากมีแนวแผลเดิมอาจพิจารณาเลาะแนวแผลเป็นเดิมออกก่อน หากลงแผลในแนวขวาง (Pfannenstiel incision) ระวังโดน inferior epigastric artery หลังจากนั้นเปิดหน้าท้องผ่านชั้นไขมันและใยกล้ามเนื้อจนเข้าสู่ช่องท้อง หากสงสัยมะเร็งอาจพิจารณาเก็บperitoneal fluid for cytologic หลังจากนั้นควรตรวจดูอวัยวะต่างๆในเชิงกราน ช่วงท้อง และต่อมน้ำเหลือง โดยใช้มือคลำสำรวจอวัยะภายในต่างๆ เช่น มดลูก รังไข่ ตับ กระบังลม เป็นต้น

รูปภาพที่ 1 : Vertical skin incisions Transverse incisions of the abdominal wall Courtesy of William J Mann, Jr, MD.

5.3 การใส่ retractor – ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่ชอบที่จะใช้ self-retractor สำหรับการตัดมดลูกทางหน้าท้อง หรืออาจใช้มือถือ retractors ขึ้นอยู่กับความชอบ หากมดลูกขนาดใหญ่มากก็อาจจะต้องรอให้มดลูกถูกเลาะออกก่อนจนมีพื้นที่มากพอที่จะวาง retractor การวาง retractors ตำแหน่งเป็นสิ่งสำคัญควรหลีกเลี่ยงการกด femoral nerve หรือ bowel

5.4 Elevation of the uterus (รูปภาพที่ 2) – ใช้ Kocher clampsโค้งชนิดยาว 2 ตัว จับบริเวณเนื้อเยื่อมดลูกทั้ง 2 ข้าง โดยรวบ round ligament, ovarian ligaments และท่อนำรังไข่ ไว้ด้วยกัน ปลายของ Kocher clamps อยู่ที่ระดับ isthmus ของมดลูก จุดประสงค์คือเพื่อใช้จับโยกมดลูกในขณะที่ทำการผ่าตัดเนื้อเยื่อรอบมดลูกและปากมดลูกทั้งสองข้าง เพื่อช่วยดึงมดลูกขึ้นมา

รูปภาพที่ 2 : Elevation of the uterus

5.5 Round ligament ligation (รูปภาพที่ 3-5) – โยกมดลูกไปด้านตรงซ้าย โดย ใช้ Kocher clamps 2 ตัว จับ round ligament ข้างขวา แล้วใช้ Mayo scissors ตัดระหว่าง clamps แล้วเย็บผูก round ligaments ด้าน pelvic side wall แล้วใช้ clamps จับไว้เพื่อเปิด broad ligament ขนานกับinfundibulopelvic ligament แล้วใช้ Metzenbaum scissors หรือ จี้ไฟฟ้า เปิด anterior leaf ของ board ligament โดยเริ่มจากรอยตัดขวางของ round ligamnet ลงมาตามแนว vesicouterine peritoneal fold และตัด posterior leaf ของ board ligament ไปยัง pelvic wall ระวังท่อไตซึ่งทอดข้าม pelvic brim ที่ bifurcation ของ common iliac artery ท่อไตยังคงติดกับ posterior leaf ของ broad ligament อยู่

รูปภาพที่ 3 : Round ligament ligation

รูปภาพที่ 4 : Incision in the anterior board ligament

รูปภาพที่ 5 : Identification of the ureter

5.6 Infundibulopelvic ligament ligation (รูปภาพที่ 6-8) – ใช้นิ้วคล้อง infundibulopelvic ligament ข้างขวาไว้ในนิ้วมือ แล้วหนีบด้วย Kocher clamps 2 ตัว ตรงส่วน distal ต่อท่อนำรังไข่และรังไข่ ตัดระหว่าง clamps ด้วย Mayo scissors ผูก free tie ใต้ Kocher clamps ที่ชิด pelvic wall ด้วยไหม 2 เส้น ทีละเส้น ถ้าต้องการเก็บรังไข่ไว้ ให้หนีบ ตัด และผูก ovarian ligament ท่อนำรังไข่และเส้นเลือดด้านใต้ต่อรังไข่ หนีบ ตัด และผูกround ligament และinfundibulopelvic ligament ข้างซ้ายเช่นเดียวกับข้างขวา ผูกstump ของรังไข่และท่อนำรังไข่ไว้กับ Kocher clamps แล้วตัด vesicouterine peritoneum ทั้งสองข้างมาชนกันเพื่อแยกกระเพาะปัสสาวะออกจากปากมดลูก

รูปภาพที่ 6 : Utero-ovarian ligament ligation

รูปภาพที่ 7 : Infundibulopelvic ligament

รูปภาพที่ 8 : Infundibulopelvic ligament ligation

5.7 Bladder mobilization (รูปภาพที่ 9) – ดึงมดลูกไปด้านศีรษะชองผู้ป่วย แล้วสอดปลาย Metzenbaum scissors หรือ ปลายจี้ไฟฟ้า แหวกตรง avascular space ระหว่างกระเพาะปัสสาวะและปากมดลูกให้เป็นช่อง แล้วค่อยๆแยกกระเพาะปัสสาวะลงไปเรื่อยๆ จนถึงผนังช่องคลอด ให้เลยปากมดลูกไปเล็กน้อย ถ้ามีเลือกออกให้จี้ด้วยไฟฟ้าหรือหนีบผูกด้วยไหม

รูปภาพที่ 9 : Bladder mobilization

5.8 Uterine vessel ligation (รูปภาพที่ 10 ) – โยกมดลูกไปด้านซ้าย เพื่อช่วยตรึง lower uterine segment แล้วค่อยๆเลาะ loose connective tissue ที่อยู่ข้างๆ (skelentonized)เพื่อให้เห็นเส้นเลือดชัดเจนขึ้น แล้วค่อยๆเลาะ loose connective tissue รอบเส้นเลือดจนเห็น uterine artery ทั้งเส้น แยกออกมาจาก hypogastric artery ก่อนที่จะข้ามท่อไต แล้วใช้ Heaney clamps หนีบ uterine artery ตรงตำแหน่งรอยต่อมดลูกและตัวมดลูก แล้วตัดและผูกตามลำดับ และทำเช่นเดียวกับข้างซ้าย

รูปภาพที่ 10 : Uterine vessels ligation

Use of electrosurgery (16, 17) อาจพิจารณาใช้เป็นการจี้ไฟฟ้าปิดหลอดเลือดหรือ LigaSure vessel sealer แทนก็ได้ จากการศึกษาRCT ของ Lakeman M พบว่า คนไข้จะรู้สึกปวดหลังผ่าตัดลดลงและการฟื้นตัวเร็วขึ้น

5.9 Incision of posterior peritoneum (รูปภาพที่ 11) – ดึงมดลูกขึ้นมาบริเวณกระดูกหัวหน่าว เพื่อให้ uterosacral ligament ตึงและเห็น cul de sac ชัดเจน แล้วใช้ปลาย Metzenbaum scissors หรือ ปลายจี้ไฟฟ้า เลาะแยก peritoneum ที่บริเวณรอยต่อระหว่าง rectum กับ US ligament เพื่อดัน rectum ลงไปด้านหลัง

รูปภาพที่ 11 : Rectum mobilization

5.10 Cardinal ligament ligation (รูปภาพที่ 12) – เลาะแยก cardinal ligament ซึ่งอยู่ในต่อ Uterine vessel 2-3 cm ขนาน ต่อกับ uterus ค่อยๆ หนีบ ตัด และเย็บผูก cardinal ligament 2 ข้างลงไปเรื่อยๆพร้อมๆกับใช้นิ้วเลาะเเยก rectum ออกจากด้านหลังของผนังช่องคลอด จนเลยตำแหน่งปากมดลูกเล็กน้อย

รูปภาพที่ 12 : Cardinal ligament ligation

5.11 Removal of the uterus (รูปภาพที่ 13) – ดึงมดลูกไปทางศีรษะ แล้วคลำหาปากมดลูก แล้วใช้ curved Heaney clamps หนีบทั้งสองข้างใต้ต่อปากมดลูกที่ external cervical os แล้วใช้กรรไกรหรือมีดตัดมดลูกออกมา

รูปภาพที่ 13 : Removal of the uterus

5.12 Vaginal cuff closure (รูปภาพที่ 14-15) – เย็บมุมของช่องคลอดทั้ง 2 ด้าน ด้วย figure-of-eight suture of 0 braided absorbable material แล้ว เย็บปิดผนังช่องคลอดที่เหลือแบบ continuous-locked suture(18)

  • Supracervical (subtotal) hysterectomy (9, 19, 20) กรณีที่ต้องการเก็บปากมดลูกไว้ให้หนีบ cardinal and broad ligaments บริเวณตรงกลางระหว่าง internal and external cervical ostia หลังจากนั้นใช้มีดหรือจี้ไฟฟ้าตัดบริเวณ Endocervix แล้วเย็บปิดบริเวณ lower segment ด้วย 0 absorbable material แบบ continuous หรือ interrupted
  • Apical prolapse prevention: (21-24) ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ปลายช่องคลอดควรจะถูกเย็บซ่อมในช่วงเวลาของการผ่าตัดมดลูกเพื่อลดการหย่อนในเวลาต่อมา เทคนิคทั่วไปสำหรับการป้องการหย่อน (vaginal apex suspension) คือ การตัดมดลูกแบบintrafascial เพื่อที่จะรักษา the uterosacral-cardinal ligament complexไว้ รวมถึงการผูก uterosacral ligaments ไว้กับมุม vaginal ในขณะเย็บปิดช่องคลอด

 

รูปภาพที่ 14 : Vaginal cuff closure

รูปภาพที่ 15 : Vaginal cuff closure

5.13 Irrigation and hemostasis – ล้างอุ้งเชิงกรานด้วยน้ำเกลือ ตรวจหาจุดเลือดออกในบริเวณที่ผ่าตัด ด้วยการจี้ไฟฟ้าหรือการผูกห้ามเลือดตามความเหมาะสม

5.14 Peritoneum closure – เย็บปิดเยื่อบุช่องท้องเพื่อลดการเกิดเยื่อพังพืด (25)

5.15 Fascia closure – เย็บ fascia ด้วย interrupted หรือ continuous 0 or 1monofilament absorbable suture

5.16 Skin closure – เช็ดจุดเลือดออกและหยุดเลือด ถ้า fat หนามากกว่า 2 cm เย็บ fat ด้วย interrupted absorbable suture และเย็บปิดskinด้วย staples หรือ subcuticular sutures

6.สถานการณ์พิเศษ SPECIAL CIRCUMSTANCES

6.1 Large uterus – โดยทั่วไปแล้วหากมดลูกที่ขนาด≤ 16 สัปดาห์มักลงแผลแนวขวาง (Pfannenstiel, Cherney หรือ Maylard)(26) กรณีก้อนเนื้อมดลูกขนาดใหญ่ (27)(ขนาด≥ 16 สัปดาห์หรือ 350 กรัม) อาจพิจารณาลงแผลเป็นแนวตั้ง เพื่อที่จะได้เอามดลูกออกได้สะดวกหรือหากจำเป็นต้องขยายแผลก็สามารถขยายไปเหนือสะดือได้ นอกจากนั้นก้อนเนื้อมดลูกขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการสูญเสียเลือดระหว่างการผ่าตัด รวมกับขนาดของมดลูกใหญ่ อาจต้องประเมินการสูญเสียเลือดที่มองไม่เห็น เช่นปริมาณของเลือดที่บรรจุอยู่ภายในมดลูก ดังนั้นควรมีการเตรียมเลือดทดแทนและเตรียมช่วยให้มีการกู้ชีพในช่วงหลังผ่าตัดทันที

Preoperative GnRH analogues – การรักษาก่อนการผ่าตัดสามถึงสี่เดือนด้วย gonadotropin-releasing analogues (GnRH) จะช่วยลดลงขนาดมดลูกลง และส่งผลให้การเสียเลือดในระหว่างการผ่าตัดและเวลาการผ่าตัดน้อยลง จาก Cochrane Menstrual Disorders and Subfertility Group(28) พบว่า

  • hematocrit ก่อนผ่าตัดเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 3.1, 95% CI 1.8-4.5)
  • ขนาดมดลูกลดลง (-2.2 สัปดาห์ในขณะตั้งครรภ์ 95% CI -2.3 ถึง -1.9)
  • สัดส่วนของแผลแนวตั้งก็ลดลง (OR 0.36, 95% CI 0.2-0.6)
  • การสูญเสียเลือดระหว่างการผ่าตัดลดลง (-58 มล. , 95% CI, -75.7 ถึง -40.3)
  • ระยะเวลาของการผ่าตัดลดลง (-5.2 นาที, 95% CI -8.6 ถึง -1.8)
  • ระยะเวลาของการอยู่โรงพยาบาลสั้น (-1.1 วัน, 95% CI -1.2 ถึง -0.9)

Intraoperative vasopressin – การใช้ vasopressin intramyometrial (IMM) สามารถลดลงการสูญเสียเลือดระหว่างการผ่าตัดจากการผ่าตัดก้อนเนื้องอกมดลูกได้ จากการทดลองแบบRCT (29) เปรียบเทียบvasopressin (5 มิลลิลิตร IMM, 10 หน่วยในน้ำเกลือ 10 มิลลิลิตร) กับ น้ำเกลือ พบว่า การใช้ vasopressin ลดการสูญเสียเลือดโดยรวมลงอย่างมีนัยสำคัญ (445 กับ 748 mL)

6.2 Emergency or unplanned hysterectomy –(6)การตัดมดลูกโดยไม่ได้วางแผนหรือฉุกเฉิน อาจลงแผลหน้าท้องแนวตั้งเพื่อให้exposureดีที่สุดและสามารถขยายได้อย่างง่าย และควรผูกห้ามเลือดที่ ovarian and uterine vessels ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

6.3 Obesity – (30, 31)กรณีผู้ป่วยอ้วนหรือหน้าท้องหนา ควรหลีกเลี่ยงการลงแผลหน้าท้องบริเวณที่เป็นรอยพับ (panniculus) อาจพิจาณาทำ Panniculectomy ร่วมด้วยเพื่อให้การผ่าตัดง่ายขื้น แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาพักฟื้นหลังการผ่าตัดนานขึ้น การexpose เป็นสิ่งที่ท้าทายมากขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วน อาจเลือกใช้self-retractor มีขนาดเล็กหลายอัน เช่น Bookwalter retractor และถ้ากระดูกเชิงกรานอยู่ลึก อาจทำให้การตัด cardinal ligaments ยิ่งยาก อาจต้องมีอุปกรณ์ที่ยาวเป็นพิเศษ หรืออาจมีการใส้ผ้าหรือก๊อซไว้ทางช่องคลอดเพื่อดันให้มดลูกอยู่สูงขึ้น หรือไว้ให้ผู้ช่วยดันขึ้นในขณะตัดมดลูก

7.ภาวะแทรกซ้อน COMPLICATIONS (1, 32-35)

7.1 Hemorrhage – พบได้ประมาณ 1-3% ของการทำ hysterectomy ทั้งหมด แบ่งประเภทได้ 2 แบบคือ

1. Intraoperative hemorrhage ยังไม่มีมาตรฐานของคำจำกัดความจริงๆ บางรายงานให้ความหมายไว้ว่า เป็น การเสียเลือดระหว่างผ่าตัดที่ต้องให้เลือดทดแทน หรือ เสียเลือดมากกว่า 1000 ml และไม่มีภาวะซีดก่อนการผ่าตัด ( Hb<11mg%) ไม่มีเลือดออกหลังผ่าตัด และ ไม่มีการผ่าตัดอื่น นอกจาก colporrhaphy, adnexectomy, หรือ appendectomy โดยทั่วไปเสียเลือดระหว่างผ่าตัดประมาณ 238–660.5 mL

รายงานต่างๆพบว่ามี intraoperative hemorrhage ประมาณ 0.2-3.7 % ส่วนใหญ่รายงาน 1-2% การศึกษาของ CREST รายงาน 0.2% สำหรับการทำ Abdominal hysterectomy จากรายงานตั้งแต่ปี 1985 อัตราการให้เลือดประมาณ 1-5%

2. Postoperative hemorrhage หมายถึง การมีเลือดออกหลังการผ่าตัดที่ต้องให้การรักษา resuturing ของ Vaginal cuff หรือ vascular pedicles แบ่งเป็นสองระยะ

  • early postoperative hemorrhage(less than 48 hours after surgery)
  • late (greater than 48 hours after surgery)

7.2 Infection – คำจำกัดความของ postoperative febrile morbidity หมายถึงการมีไข้ มากกว่า 38 องศาเซลเซียสสองครั้ง จากการวัดห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง และเกิดขึ้นหลังผ่าตัดมากกว่า 24 ชั่วโมง แบ่งการติดเชื้อเป็นสามกลุ่มดังนี้

1. unexplained fever หมายถึง การมีไข้ที่ไม่สามารถหา source of infection ได้ พบว่า การมีไข้หลังผ่าตัด abdominal hysterectomy 10.5 % และจาก Cochrane meta-analysis(2009) (9)พบว่า หลังการผ่าตัดsubtotal abdominal hysterectomy มีไข้ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตต่ำกว่า total abdominal hysterectomy (odds ratio [OR] 0.43, confidence interval [CI] 0.25–0.75).1

2. Operative site infection พบอุบัติการณ์ของ operative site infection ประมาณร้อยละ 9(ได้รับ prophylactic antibiotic) ของการผ่าตัด abdominal การให้ prophylactic antibiotic สามารถลดอัตราการเกิด wound infection ได้ ได้แก่

  1. wound infection
  2.  pelvic infection แบ่งเป็น
    • pelvic cellulitis ,
    • vaginal cuff cellulitis or abscess : เป็นภาวะติดเชื้อที่พบได้บ่อย (0.3% – 8.3% ) คนไข้จะมาด้วย ไข้สูง มีหนองไหลจากช่องคลอด ปวดท้องน้อย ตรวจร่างกายพบว่ามี tenderness or induration of the vaginal cuff and purulent discharge
    • pelvic abscess

3. Infection remote from operative site ที่พบได้บ่อยคือ

Urinary tract infection พบ symptomatic UTI ได้ร้อยละ 0% -13.0% พบว่าอัตราการติดเชื้อจะลดลงหลังการเอาสายสวนปัสสาวะออกทันทีหลังการผ่าตัด (36)

Pneumonia เป็น rare complication (0–2.16%) พบว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่มีประวัติ underlying pulmonary disease, ประวัติ alcoholism และ ผู้ป่วยที่มีอายุมาก pneumonia ถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

7.3 Injuries to adjacent organs – อันตรายต่ออวัยวะข้างเคียงจากการผ่าตัดพบได้เสมอ อวัยวะที่เป็นอันตราย ได้แก่ Bladder, bowel และ ureter

  1. Bladder injuries ACOG review 2013(1) รายงานอุบัติการณ์ 1%ในการผ่าตัด abdominal hysterectomy โดย major risks ได้แก่ การผ่าตัดคลอดมาก่อน
  2. Bowel injuries มักเกิดขึ้นในการผ่าตัดที่ยาก เชน injury ต่อ small bowel จากการ lysis adhesion และ injury ต่อ rectum ตอนที่เลาะ posterior cul -de- sac โดยรวมอัตราการเกิด bowel injury พบได้ 0.3%
  3. Ureteral injuries เช่นเดียวกัน คือมักเกิดขึ้นในการผ่าตัดที่ยาก พบได้ 0.05-0.5%

7.4 Others

  1. Thromboembolic disease สัมพันธ์กับ risk factors เช่น อายุ, เชื้อชาติ, Malignancy, ประวัติdeep venous thrombosis, ขาบวม, varicose veins, obesity, ประวัติได้รับการฉายแสงมาก่อน และIntraoperative risks ได้แก่ ได้รับยาสลบนาน, เสียเลือดมาก, การให้เลือดระหว่างการผ่าตัด
  2. Wound dehiscence(แผลแยก) พบ fascial dehiscence หลังการทำผ่าตัดทางนรีเวชได้ 0.3-0.7% ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ vertical incision , อ้วน, มีโรคทางอายุรกรรม, อายุมาก หรือ พบ Vaginal cuff dehiscence ได้ประมาณ 0.15%
  3. Unintended major surgical procedure หมายถึง การผ่าตัดอื่นที่เกิดขึ้นเนื่องจากการตัดมดลูก เช่น การผ่าตัดทางศัลยกรรมเพื่อแก้ไขอันตรายที่ไม่ตั้งใจที่มีต่อ bowel, bladder และureters รวมถึงการที่ผู้ป่วยต้องกลับมาผ่าตัดอีกภายใน 8 สัปดาห์ พบอุบัติการณ์ 1.8% สำหรับ abdominal hysterectomy
  4. 4. Psychosexual disorders มีการศึกษาที่ขัดแย้งกันแต่มีเรื่องที่สรุปได้ตรงกัน
    • พบว่าการให้ preoperative counseling และการเตรียมตัวโดยการให้ข้อมูลที่ดียังทำให้ไม่มีปัญหา มีรายงานสนับสนุนว่าผู้ป่วยที่ทำ emergency hysterectomy ซึ่งไม่มีเวลาเตรียมผู้ป่วยจะทำให้มีปัญหาเพิ่มขึ้น
    • ปัญหา psychosexual dysfunctionหลังผ่าตัดมีความสัมพันธ์กับระดับของฮอร์โมนEstrogen ที่ลดต่ำลงภายหลังการตัดรังไข่ร่วมกับการตัดมดลูก แต่ยังไม่แน่ชัดว่าการให้ฮอร์โมนทดแทนจะช่วยได้หรือไม่
    • การที่ผู้ป่วยมี healthy sexual function ก่อนการผ่าตัดเป็นตัวทำนายที่ดีว่าหลังผ่าจะเป็นอย่างไร
  5. Dysfunction of the lower urinary tract จากการศึกษาด้าน urodynamic ผู้ป่วยก่อนและหลังผ่าตัด hysterectomy พบว่า การผ่าตัดมีผลน้อยมากต่อ lower urinary tract physiology
  6. Bowel dysfunction การผ่าตัดมีผลน้อยมากต่อการเกิด irritable bowel syndrome ส่วนภาวะท้องผูกหลังผ่าตัดมีรายงาน พบว่า rectal sensitivity เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังการผ่าตัด การเกิด Post-hysterectomy constipation อาจเกิดจากการไปรบกวนเส้นประสาท autonomic nervous system ที่ไปเลี้ยง left colon

เอกสารอ้างอิง

  1. Clarke-Pearson DL, Geller EJ. Complications of hysterectomy. Obstet Gynecol. 2013 Mar;121(3):654-73.
  2. Falcone T, Walters MD. Hysterectomy for benign disease. Obstet Gynecol. 2008 Mar;111(3):753-67.
  3. Wu JM, Wechter ME, Geller EJ, Nguyen TV, Visco AG. Hysterectomy rates in the United States, 2003. Obstet Gynecol. 2007 Nov;110(5):1091-5.
  4. ศรีสุภาพ ส. “การตัดมดลูกและรังไข่ในสตรีไทย พ.ศ. 2548-2553” รายงานประจำปี พศ 2548-2553 โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.
  5. Johnson N, Barlow D, Lethaby A, Tavender E, Curr E, Garry R. Surgical approach to hysterectomy for benign gynaecological disease. Cochrane Database Syst Rev. 2006(2):CD003677.
  6. Machado LS. Emergency peripartum hysterectomy: Incidence, indications, risk factors and outcome. N Am J Med Sci. 2011 Aug;3(8):358-61.
  7. Matthews CA. A Critical Evaluation of the Evidence for Ovarian Conservation Versus Removal at the Time of Hysterectomy for Benign Disease. J Womens Health (Larchmt). 2013 Jul 18.
  8. ACOG Practice Bulletin No. 89. Elective and risk-reducing salpingo-oophorectomy. Obstet Gynecol. 2008 Jan;111(1):231-41.
  9. Lethaby A, Mukhopadhyay A, Naik R. Total versus subtotal hysterectomy for benign gynaecological conditions. Cochrane Database Syst Rev. 2012;4:CD004993.
  10. ACOG Practice Bulletin No. 84: Prevention of deep vein thrombosis and pulmonary embolism. Obstet Gynecol. 2007 Aug;110(2 Pt 1):429-40.
  11. Gould MK, Garcia DA, Wren SM, Karanicolas PJ, Arcelus JI, Heit JA, et al. Prevention of VTE in nonorthopedic surgical patients: Antithrombotic Therapy and Prevention of Thrombosis, 9th ed: American College of Chest Physicians Evidence-Based Clinical Practice Guidelines. Chest. 2012 Feb;141(2 Suppl):e227S-77S.
  12. ACOG Practice Bulletin No. 74. Antibiotic prophylaxis for gynecologic procedures. Obstet Gynecol. 2006 Jul;108(1):225-34.
  13. Brummer T, Heikkinen AM, Jalkanen J, Fraser J, Makinen J, Tomas E, et al. Antibiotic prophylaxis for hysterectomy, a prospective cohort study: cefuroxime, metronidazole, or both? BJOG. 2013 Jun 21.
  14. Van Eyk N, van Schalkwyk J. Antibiotic prophylaxis in gynaecologic procedures. J Obstet Gynaecol Can. 2012 Apr;34(4):382-91.
  15. Larsson PG, Carlsson B. Does pre- and postoperative metronidazole treatment lower vaginal cuff infection rate after abdominal hysterectomy among women with bacterial vaginosis? Infect Dis Obstet Gynecol. 2002;10(3):133-40.
  16. Lakeman M, Kruitwagen RF, Vos MC, Roovers JP. Electrosurgical bipolar vessel sealing versus conventional clamping and suturing for total abdominal hysterectomy: a randomized trial. J Minim Invasive Gynecol. 2008 Sep-Oct;15(5):547-53.
  17. Petrakis IE, Lasithiotakis KG, Chalkiadakis GE. Use of the LigaSure vessel sealer in total abdominal hysterectomy. Int J Gynaecol Obstet. 2005 Jun;89(3):303-4.
  18. Berman ML, Grosen EA. A new method of continuous vaginal cuff closure at abdominal hysterectomy. Obstet Gynecol. 1994 Sep;84(3):478-80.
  19. Jaszczak SE, Evans TN. Intrafascial abdominal and vaginal hysterectomy: a reappraisal. Obstet Gynecol. 1982 Apr;59(4):435-44.
  20. Kives S, Lefebvre G, Wolfman W, Leyland N, Allaire C, Awadalla A, et al. Supracervical hysterectomy. J Obstet Gynaecol Can. 2010 Jan;32(1):62-8.
  21. Hur HC, Guido RS, Mansuria SM, Hacker MR, Sanfilippo JS, Lee TT. Incidence and patient characteristics of vaginal cuff dehiscence after different modes of hysterectomies. J Minim Invasive Gynecol. 2007 May-Jun;14(3):311-7.
  22. Aharoni A, Kaner E, Levitan Z, Condrea A, Degani S, Ohel G. Prospective randomized comparison between an open and closed vaginal cuff in abdominal hysterectomy. Int J Gynaecol Obstet. 1998 Oct;63(1):29-32.
  23. Colombo M, Maggioni A, Zanini A, Rangoni G, Scalambrino S, Mangioni C. A randomized trial of open versus closed vaginal vault in the prevention of postoperative morbidity after abdominal hysterectomy. Am J Obstet Gynecol. 1995 Dec;173(6):1807-11.
  24. Wall LL. A technique for modified McCall culdeplasty at the time of abdominal hysterectomy. J Am Coll Surg. 1994 May;178(5):507-9.
  25. Robertson D, Lefebvre G, Leyland N, Wolfman W, Allaire C, Awadalla A, et al. Adhesion prevention in gynaecological surgery. J Obstet Gynaecol Can. 2010 Jun;32(6):598-608.
  26. De Lia JE, Michelin DP, Johnson SC, Kajdacsy-Balla A. Cherney versus midline vertical incision for myomectomy or hysterectomy of a significantly enlarged uterus. Am J Obstet Gynecol. 1995 Dec;173(6):1714-7; discussion 7-8.
  27. Unger JB, Paul R, Caldito G. Hysterectomy for the massive leiomyomatous uterus. Obstet Gynecol. 2002 Dec;100(6):1271-5.
  28. Lethaby A, Vollenhoven B, Sowter M. Pre-operative GnRH analogue therapy before hysterectomy or myomectomy for uterine fibroids. Cochrane Database Syst Rev. 2001(2):CD000547.
  29. Okin CR, Guido RS, Meyn LA, Ramanathan S. Vasopressin during abdominal hysterectomy: a randomized controlled trial. Obstet Gynecol. 2001 Jun;97(6):867-72.
  30.  Mitas L, Rogulski L, Ziebinski J. Does obesity complicate perioperative course in patients undergoing abdominal hysterectomy? Arch Gynecol Obstet. 2012 Aug;286(2):385-8.
  31. Khavanin N, Lovecchio FC, Hanwright PJ, Brill E, Milad M, Bilimoria KY, et al. The influence of BMI on perioperative morbidity following abdominal hysterectomy. Am J Obstet Gynecol. 2013 Jun;208(6):449 e1-6.
  32. Brummer TH, Jalkanen J, Fraser J, Heikkinen AM, Kauko M, Makinen J, et al. FINHYST, a prospective study of 5279 hysterectomies: complications and their risk factors. Hum Reprod. 2011 Jul;26(7):1741-51.
  33. Saha R, Sharma M, Padhye S, Karki U, Pandey S, Thapa J. Hysterectomy: an analysis of perioperative and post operative complication. Kathmandu Univ Med J (KUMJ). 2003 Apr-Jun;1(2):124-7.
  34. Iversen L, Hannaford PC, Elliott AM, Lee AJ. Long term effects of hysterectomy on mortality: nested cohort study. BMJ. 2005 Jun 25;330(7506):1482.
  35. Makinen J, Johansson J, Tomas C, Tomas E, Heinonen PK, Laatikainen T, et al. Morbidity of 10 110 hysterectomies by type of approach. Hum Reprod. 2001 Jul;16(7):1473-8.
  36. Phipps S, Lim YN, McClinton S, Barry C, Rane A, N’Dow J. Short term urinary catheter policies following urogenital surgery in adults. Cochrane Database Syst Rev. 2006(2):CD004374.
Read More