โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“ข้าวสาร” พาเหรดขึ้นราคา “ข้าวถุงห้าง” จ่อคิวขยับเพิ่ม

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 19 ส.ค. 2566 เวลา 00.50 น. • เผยแพร่ 19 ส.ค. 2566 เวลา 00.49 น.
ข้าวสารพาเหรดขึ้นราคา
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

หวั่นเกิดวิกฤตราคาข้าวในประเทศ หลังผู้ประกอบการ-โรงสีแห่ปรับขึ้นราคาข้าวสาร ตามราคาข้าวเปลือกที่ขยับขึ้นและออร์เดอร์ส่งออกข้าวต่างประเทศ สวนทางคำขอร้อง กรมการค้าภายใน ให้ช่วยตรึงราคา “ข้าวถุง” รอเวลาสต๊อกเก่าหมด พบในจังหวัดใหญ่ต่างปรับขึ้นราคาข้าวสารทุกประเภทกันหมดแล้วเฉลี่ย กก.ละ 2-3 บาท

ความตื่นตระหนกหลังจากที่ประเทศอินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ประกอบกับคาดการณ์ปริมาณข้าวนาปีในประเทศจะลดลง อันเนื่องมาจากภาวะเอลนีโญ หรือฝนน้อย น้ำน้อย ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยา

มีผลทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดเริ่มปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตข้าวสาร จนผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศต้องปรับราคาขายข้าวสารเพิ่มขึ้น เบื้องต้นเฉลี่ย กก.ละ 10 บาท และมีแนวโน้มว่าราคาข้าวสารในประเทศจะพุ่งขึ้นไปอีกตามราคาข้าวส่งออกที่มีความต้องการในประเทศผู้นำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น

รับปากตรึงราคาเฉพาะข้าวถุง

ความกังวลว่า ราคาข้าวสารภายในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้นในภาวะที่ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องออกมา “เบรก” ด้วยการ “ขอร้อง” ไม่ให้ ข้าวถุง ขึ้นราคา ล่าสุด กรมการค้าภายใน ได้เรียกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง กับสมาคโรงสีข้าวไทย มาหารือพร้อมกับขอให้ “ตรึงราคา” ข้าวสารบรรจุถุง แม้จะสวนทางกับต้นทุนราคาข้าวเปลือกที่ขยับขึ้นมาก็ตาม

โดยนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังการหารือว่า ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการข้าวถุงตรึงราคาจำหน่ายและไม่ปรับขึ้นราคาในช่วงนี้ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยผู้ประกอบการ “ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ” แต่ต้องดูสถานการณ์ต้นทุนราคาข้าวประกอบด้วย ว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ จากการติดตามราคาข้าวถุงของกรมการค้าภายในพบว่า ข้าวหอมมะลิบรรจุถุง 5 กก.มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 210 บาท/ถุง เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 209 บาท/ถุง ข้าวขาว 100% ราคาเฉลี่ย 117.94 บาท/ถุง เทียบกับปีก่อนที่ราคา 119 บาท/ถุง ถือว่าราคาข้าวถุงขนาดนี้ยังเป็นปกติอยู่

ส่วนราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ 15,000-16,900 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 12,000-12,500 บาท/ตัน ส่งผลให้ราคาข้าวถุงในห้างค้าส่งค้าปลีกยังไม่มีการปรับขึ้นราคา

แต่มีการจัดโปรโมชั่นลดราคาต่อเนื่อง แต่หากเกิดสถานการณ์จำเป็น กรมการค้าภายใน ได้เตรียมแผนทำข้าวถุงราคาโรงงานเพื่อนำไปเปิดจุดจำหน่ายให้กับประชาชนได้ทันที ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน

ด้านสมาคมโรงสีข้าวไทยยืนยันที่จะจัดส่งข้าวสารให้กับสมาชิกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีข้าวสารบรรจุถุงออกสู่ตลาด “จะไม่มีปัญหาข้าวสารขาดแคลนแน่นอน” ขณะที่นายยงยุทธ พฤกษ์มหาดำรง นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนข้าวสารเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะ “ข้าวขาว” แต่สมาคมจะตรึงราคาอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค

สำหรับราคาข้าวเปลือก โดยข้าวหอมมะลิเฉลี่ยอยู่ที่ 15,600 บาทต่อตัน จากสัปดาห์ก่อน 15,125 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี อยู่ที่ตันละ 13,700 บาท จากสัปดาห์ก่อน 12,300 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ปรับขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 12,500 บาท จาก 11,325 บาท และข้าวเหนียว อยู่ที่ตันละ 14,900 บาท จากสัปดาห์ก่อน 13,580 บาท

ราคาข้าว
ราคาข้าว

อินเดียห้ามส่งออกมีผลจิตวิทยา

นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า ปัจจุบันราคาข้าวถุง 5 กิโลกรัม ยังอยู่เฉลี่ยราคากว่า 100 บาท และตลาดยังมีการแข่งขันที่สูง แบรนด์ข้าวถุงในตลาดก็มีจำนวนมาก ห้างสรรพสินค้า ห้างโมเดิร์นเทรดยังทำโปรโมชั่น ส่งเสริมการขายล่วงหน้า 2 เดือน

ดังนั้น “ราคาข้าวถุงยังไม่ได้ปรับขึ้นราคา” ถึงแม้ 80-90% ต้นทุนของราคาข้าวถุงจะมาจากวัตถุดิบที่เป็นข้าวสาร จึงมั่นใจว่าโอกาสที่ข้าวถุงจะปรับลดราคาจากปัจจุบันนั้นมีน้อย และยังคงต้องรอดูสถานการณ์ไปจนถึงปลายเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากข้าวนาปรังจะออกสู่ตลาด ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณและราคาข้าวในตลาด ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดใน 1-2 เดือนจากนี้ ส่วนปัญหาภัยแล้งยังมองว่า “ยังไม่กระทบต่อการเพาะปลูกข้าวไทยในปีนี้ แต่ในปี 2567 ยังต้องดูอีกครั้ง”

ส่วนกรณีที่รัฐบาลอินเดียห้ามส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ หรือห้ามส่งออกข้าวขาว มีผลให้ราคาวัตถุดิบข้าวขาวในประเทศไทยปรับขึ้นราคา 2-3 บาท/กก. ในช่วง 1-2 อาทิตย์ที่ผ่านมา จากเดิม 16 บาท/กก. มาเป็น 18-19 บาท/กก. ขณะที่ข้าวหอมมะลิยังคงปกติ

ในส่วนนี้ยอมรับว่า “มีผลด้านจิตวิทยา” แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า ราคาข้าวถุงจะปรับขึ้นราคา เพราะต้องดูสต๊อกข้าวของผู้ประกอบการข้าวถุงด้วยว่ามีปริมาณเหลืออยู่เท่าไร หากเป็นสต๊อกเดิมก็ยังคงจำหน่ายราคาเดิมได้ หากต้องมีการรับซื้อข้าวใหม่ก็จะต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้ง

ข้าวสารพาเหรดขึ้นราคา

อย่างไรก็ตาม คำประกาศขอความร่วมมือให้ตรึงราคาจำหน่ายข้าวสารในประเทศ ดูเหมือนว่าจะใช้ได้เฉพาะกับ “ข้าวถุง” ในขณะที่ข้าวกระสอบตามร้านจำหน่าย “ข้าวตัก” ทั่วประเทศต่างขยับราคาขึ้นมาจนหมดแล้ว จากการสำรวจของ “ประชาชาติธุรกิจ” ในหลายจังหวัดทั่วประเทศพบว่า ขณะนี้ข้าวขาวปรับขึ้นราคาเฉลี่ย กก.ละ 3 บาท, ข้าวหอมปทุมเฉลี่ย กก.ละ 2 บาท, ข้าวหอมมะลิ กก. 1-2 บาท และข้าวเหนียวปรับราคาขึ้นถึง กก.ละ 8-10 บาท

โดยร้านจำหน่ายข้าวสารอ้างว่า เป็นการปรับขึ้นราคาตามราคาข้าวสารที่ซื้อมาจากโรงสีข้าว และมีแนวโน้มว่าราคาข้าวสารจะปรับขึ้นไปอีก ตามราคาข้าวส่งออกที่มีความต้องการให้ตลาดโลกมากขึ้น

“ข้าวสารกระสอบปรับขึ้นราคาไปหมดแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังอินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาว ประกอบกับความกังวลที่ว่า ผลผลิตข้าวนาปีในประเทศจะลดลงเพราะขาดแคลนน้ำทำนา กรมชลประทานไม่ปล่อยน้ำเกินกว่าแผนที่วางเอาไว้ แถมการปลูกข้าวนาปีรอบสองก็ขอให้งดปลูกเพราะน้ำไม่พอ ใครปลูกก็ต้องเสี่ยงเอาเพราะต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว ส่วนข้าวถุงนั้นดูเผิน ๆ ว่าไม่ได้ขึ้นราคา

แต่ข้อเท็จจริงตามร้านค้าปลีกขึ้นราคาไปหมดแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมามีการจำหน่ายข้าวถุงต่ำกว่าราคาป้ายเสมอ ยกตัวอย่าง ราคาป้าย 130 บาท/ถุง 5 กก. ขายจริงประมาณ 110-115 บาท แต่ตอนนี้ปรับราคาขึ้นมาเป็น 125 บาท/ถุง ก็ยังไม่เกินไปกว่าราคาป้าย ที่ต้องปรับขึ้นราคาข้าวถุงเพิ่มขึ้นก็เพราะร้านค้าปลีกรับข้าวถุงลอตใหม่มาในราคาที่แพงขึ้น” ผู้ประกอบการค้าข้าวสารกล่าว

ขณะที่ร้านค้าส่งข้าวสารอีกรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า การปรับขึ้นราคาข้าวสาร ปกติเวลาผู้ส่งออกมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามา “หยงหรือพ่อค้าคนกลาง” จะออกมาหาซื้อข้าวสารจากโรงสีตามออร์เดอร์ที่ผู้ส่งออกต้องการ หากต้องการปริมาณมาก โรงสีก็จะปรับขึ้นราคาข้าวตามกลไกตลาด ซึ่งจะส่งผลต่อราคาขายส่งและขายปลีกพ่อค้าปลายทางของตลาดข้าวภายในประเทศด้วย โดยปกติราคาเฉลี่ยขึ้นไปประมาณ 1-1.50 บาท/กก.ต่อออร์เดอร์ที่เข้ามา

ข้าวสาร
ข้าวสาร

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นราคาข้าวสารในประเทศครั้งนี้แตกต่างจากครั้งอื่น ๆ โดยเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเข้ามา ประกอบกับผลผลิตข้าวน้อยจากสถานการณ์เอลนีโญและอินเดียหยุดการส่งออกข้าวขาว ส่งผลให้โรงสีเริ่มปรับราคาข้าวสารขึ้นภายในวันเดียวจาก “เช้า 1 บาท เย็น 1 บาท” และวันรุ่งขึ้นปรับขึ้นราคาข้าวสารอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มต่อเนื่องไปถึงเดือนกันยายน 2566

ยกตัวอย่าง ข้าวขาวขนาด 50 กก./กระสอบ ต้นเดือน ก.ค. ราคา 900 บาทต่อกระสอบ ปัจจุบันปรับขึ้นไปเป็น 1,050-1,100 บาทต่อกระสอบ เท่ากับราคาปรับขึ้นไปเฉลี่ยประมาณ 100-200 บาทต่อกระสอบ คล้ายกับเมื่อ 10 ปีก่อนที่เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ราคาข้าวขาวเคยวิ่งขึ้นไปถึง 500 บาทต่อกระสอบ

ขณะที่ข้าวสารที่ตักขายเป็นกิโลกรัม ข้าวปทุมธานี จ.เชียงราย จาก 25 บาท ปรับขึ้นเป็น 26 บาท และ 27 บาท/กก. เรื่อยมาจนถึงกลางเดือน ก.ค. พุ่งแรงเป็น 30 บาท/กก. ขณะที่ข้าวเหนียวได้ปรับขึ้นไปสูงมาก เนื่องจากผลผลิตน้อย โดยข้าวเหนียว กข.6 จาก 26 บาท/กก. ปรับขึ้นมาถึงปัจจุบัน 35 บาท/กก.

ส่วนข้าวถุง 5 กก. แบรนด์ท้องถิ่นที่โรงสีที่เป็นเจ้าของแบรนด์ส่วนใหญ่ประกาศปรับราคาขึ้นไปประมาณ 20-30 บาท/กก. หรือจาก 150 บาทเป็น 170 บาท/ถุง และมีแนวโน้มข้าวถุงจะปรับขึ้นไปถึง 40 บาท/กก.ด้วย

“เมื่อผลผลิตน้อย ออร์เดอร์ต่างประเทศมีความต้องการสูง หยงก็เสนอราคาแย่งกันซื้อ ทำให้ราคาข้าวพุ่งขึ้นไป สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้โรงสีที่ส่งสินค้าข้าวกระสอบให้พวกโมเดิร์นเทรด ซึ่งปกติมีสัญญาต้องส่งสินค้าล่วงหน้า 2 เดือน มีโรงสีบางแห่งยอมเบี้ยวบอกโมเดิร์นเทรดว่า หาซื้อข้าวมาสีส่งให้ไม่ได้ ยอมถูกโมเดิร์นเทรดปรับในราคาไม่กี่บาท แต่จริง ๆ แล้วมีข้าวอยู่ในมือมาขายให้หยงและให้ผู้ส่งออก เพราะได้ราคาดีกว่า”

ข้าวเหนียวราคาพุ่งสุด

นายชนรรจน์ โอฬารวงศ์ เจ้าของร้านสีฟ้าท่าข้าว ถนนเอกาทศรฐ อ.เมือง จ.พิษณุโลก กล่าวถึงตลาดข้าวสารในพื้นที่ จ.พิษณุโลก ว่า สถานการณ์ราคาข้าวในช่วงนี้เริ่มมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้กลุ่มผู้ซื้อไม่สามารถซื้อข้าวสารได้ในปริมาณที่มาก ซื้อเฉพาะเท่าที่จำเป็น ตนในฐานะผู้ประกอบการร้านข้าวรายใหญ่จึงใช้วิธีการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทางอ้อม ด้วยการ “สต๊อกข้าวไว้ราคาเดิม เพื่อดึงราคาไว้ให้นานที่สุด เพื่อรอการปรับตัวให้ทันของกลุ่มลูกค้า”

โดยราคาข้าวตอนนี้ขยับขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ถือเป็นการปรับราคาทางตลาดครั้งใหญ่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่ากว่าราคาข้าวสารจะนิ่งน่าจะต้องรอจนถึงช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 ว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการทำนาปรังหรือไม่

นอกจากนี้ต้องดูว่า เมื่ออินเดียงดการส่งออกข้าวและอินเดียจะหันมาสั่งซื้อข้าวของไทยหรือไม่ และไทยจะมีข้าวเพียงพอส่งออกหรือไม่ “ชั่วโมงนี้ผู้ส่งออกมีออร์เดอร์เพิ่มจากเดิมมาก โรงสีเมื่อตลาดมีความต้องการข้าวมากขึ้น โรงสีปรับราคาขึ้น สำหรับรายได้จากการขายข้าว หักต้นทุนจะได้กำไรเฉลี่ยอยู่ที่ 10% แบ่งเป็น ราคาขายปลีก 5% ขายส่ง 3% ขึ้นอยู่กับปริมาณการขาย ราคาปรับขยับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่ทางโรงสีแจ้งมา

และเมื่อเทียบราคาข้าวสารระหว่างเดือนกรกฎาคม 2566 กับราคาในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ระยะเวลาเพียง 1 เดือนพบว่า มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมาก โดยข้าวขาว เดือนกรกฎาคมอยู่ที่กิโลกรัมละ 16-20 บาท แต่เดือนสิงหาคมนี้มีการปรับราคาเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 21-24 บาท, ข้าวหอมมะลิ เมื่อเดือนกรกฎาคมอยู่ที่กิโลกรัมละ 27-35 บาท ในเดือนนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 30-37 บาท, ข้าวหอมไทย เดือนกรกฎาคมอยู่ที่กิโลกรัมละ 17-20 บาท ในเดือนสิงหาคมนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 23.50-25 บาท

ข้าวปทุมธานี เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 21-22 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่เดือนสิงหาคมนี้ปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 26-29 บาทต่อกิโลกรัม, ข้าวเหลืองอ่อน เดิมราคากิโลกรัมละ 20 บาท ในเดือนสิงหาคม 2566 ขยับราคาเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 24 บาท และข้าวเหนียว มีการปรับราคาสูงที่สุด คือจากเดิมกิโลกรัมละ 23 บาท ปรับเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 32 บาท, ข้าวเหลืองอ่อน เดิมราคากิโลกรัมละ 20 บาท ในเดือนสิงหาคม 2566 ขยับราคาเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 24 บาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0