โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ชีวิตและประชาธิปไตยของภาพยนตร์ อารมณ์ความรู้สึกของคนดู ในทัศนะ 'เจี่ยจางเคอ'

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 24 เม.ย. เวลา 10.01 น. • เผยแพร่ 28 เม.ย. เวลา 01.00 น.
man see movie 2280
“เจี่ยจางเคอ” ระหว่างเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปี 2018 (LOIC VENANCE / AFP)

“เจี่ยจางเคอ” ผู้กำกับภาพยนตร์ (อินดี้) คนสำคัญของจีนแผ่นดินใหญ่ กำลังจะมีผลงานหนังเรื่องใหม่ชื่อ “Caught by the Tides” ที่เตรียมเปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลกในสายการประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

อย่างไรก็ดี ในเดือนเมษายน เจี่ยจางเคอได้เดินทางไปรับรางวัลเกียรติยศ (เกียรติคุณความสำเร็จทางวิชาชีพ) จากเทศกาลภาพยนตร์สารคดี “วิชันส์ ดู รีล” ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

นี่ถือเป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกของนักทำหนังรายนี้ ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่ผ่านมา หนังของเจี่ยจางเคอมักเป็นที่โปรดปรานของเทศกาลภาพยนตร์สำคัญๆ ในยุโรปอยู่เสมอ

โดยเขาได้รับรางวัลสิงโตทองคำที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิสจากผลงานเรื่อง “Still Life” เมื่อปี 2006 และมีผลงานได้เข้าประกวดที่เทศกาลภายนตร์เมืองคานส์มาแล้วหลายเรื่อง กระทั่งได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง “A Touch of Sin” เมื่อปี 2013

ภายหลังได้รับรางวัลเกียรติยศที่สวิส เจี่ยจางเคอได้เข้าร่วมกิจกรรมมาสเตอร์คลาสเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิจารณ์และเหล่าผู้ชมภาพยนตร์

เมื่อถูกถามถึงนโยบายการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ในจีนแผ่นดินใหญ่ เจี่ยจางเคอซึ่งเคยมีประสบการณ์ถูกเซ็นเซอร์ผลงาน เมื่อคราวทำหนังยาวเรื่องแรกในชีวิต ได้แสดงทัศนะว่า

“ผมจะไม่ประนีประนอม ผมจะยืนหยัดแน่วแน่กับหลักการของตนเอง ต่อให้หนังของผมจะไม่ได้ฉายบนจอภาพยนตร์ ผมก็จะไม่ยอมจำนนและอ่อนข้อให้ผู้มีอำนาจ”

นอกจากนั้น ผู้กำกับฯ รายนี้ ยังเล่าว่าเขาและเพื่อนๆ กลุ่มหนึ่ง ได้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์อิสระขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่มาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว

“ในปีหนึ่งๆ ประเทศจีนผลิตหนังออกมามากกว่า 1,000 เรื่อง โดยเจ้าของผลงานส่วนใหญ่ก็คือผู้กำกับฯ รุ่นใหม่ๆ ผมต้องการจะจัดเทศกาลหนังที่มุ่งความสนใจไปยังผลงานของคนรุ่นใหม่เหล่านั้น เพื่อผู้ชมจำนวนมากจะได้รู้จักพวกเขามากขึ้น

“ขณะเดียวกัน หนังอีกหลายเรื่องที่เข้าฉายในเทศกาลนี้ยังมาจากยุโรปตะวันออก, อเมริกาใต้ และประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาโดยไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนมากมายนัก ผมต้องการอุทิศเทศกาลของตนเองให้แก่ภาพยนตร์เหล่านี้ เพื่อเผยให้เห็นถึงโลกทัศน์ที่แตกต่างออกไป

“นี่คือเทศกาลหนังอิสระ ซึ่งไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อนร่วมงานของผมและตัวผมเองเลยต้องทำงานหนักมากเพื่อประคับประคองเทศกาลให้อยู่รอด พวกเราทั้งหมดล้วนเป็น ‘นักอุดมคติ’ งานที่พวกเราทำต้องการความเสียสละมหาศาล แต่เราก็ผลักดันมันจนสำเร็จ”

ผลงานของเจี่ยจางเคอมักถูกจัดประเภทเป็น “สโลว์ ซีเนมา” (หนังเนิบช้า) ซึ่งมีจุดเด่นตรงการตั้งกล้องนิ่งๆ จับภาพระยะกลางหรือไกล ในเวลาที่ค่อนข้างยาวนานต่อหนึ่งช็อต (ลองเทก)

ทั้งนี้ ตัวเขาเองได้อธิบายถึงการเลือกทำงานในแนวทางดังกล่าว โดยอ้างอิงแนวความคิดของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส “อองเดร บาแซง” ว่า

“ผมชอบถ่ายหนังแบบลองเทก เพราะกระบวนการแบบนั้นอนุญาตให้ผมสามารถเปิดเผยรูปแบบความเป็นประชาธิปไตยในภาพยนตร์ออกมาได้

“ผมสามารถเข้าใจความคิดของบาแซง ภาพยนตร์ในยุคปัจจุบันได้ละทิ้ง ‘พื้นที่ว่าง’ ของตัวเอง ทั้งๆ ที่ภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะมีความสมบูณ์แบบได้ ก็ด้วยพื้นที่ว่างเหล่านี้นี่แหละ เพราะพื้นที่ว่างดังกล่าวจะเปิดช่องให้ผู้ชมสามารถสอดแทรกอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวลงไปในหนังที่พวกเขาดูได้

“การทำหนังแนวสโลว์ ซีเนมา จึงถือเป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ชม เพราะผมมองเห็นว่าคนดูกับตัวผมเองในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ นั้นมีสถานะเท่าเทียมกัน

“ผมไม่ต้องการให้หนังของตัวเองเป็นโฆษณาชวนเชื่อ ที่คอยชักจูงให้ผู้ชมร้องไห้หรือหัวเราะ เรามีภาพยนตร์ที่ทำหน้าที่แบบนั้นดาษดื่นจนเกินไป

“ผู้กำกับหนังไม่ใช่เทพเจ้า เราไม่จำเป็นต้องพยายามยัดเยียดอุดมการณ์ลงไปในภาพยนตร์ เราควรจะแชร์ประสบการณ์ร่วมกับคนดูอย่างเรียบง่าย แล้วปล่อยให้พวกเขาตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง”

เจี่ยจางเคอคืนคนทำหนังที่เคารพและเชื่อมั่นในคนดูอย่างสูง เห็นได้จากคำตอบของเขา ที่มีต่อคำถามเรื่องความแตกต่างระหว่างคนดูหนังชาวจีนกับคนดูหนังในโลกตะวันตก

“เมื่อผมลงมือทำหนัง ผมไม่เคยนึกกังวลเรื่องผู้ชมเลย เพราะผู้ชมทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ พวกเขาล้วนมีอารมณ์ความรู้สึก ผมคิดว่ามนุษยชาติมีจุดร่วมกันมากกว่าจุดต่าง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้แหละที่อยู่เหนือความแตกต่างทั้งหลาย

“เราต้องมั่นใจว่าผลงานของตัวเองถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแชร์กับมนุษย์ทุกคน”

ท้ายสุด นักทำหนังจากจีนแผ่นดินใหญ่รายนี้อยากให้ผลงานของเขามีลักษณะ “ขี้เล่น” ดังคำบรรยายที่ว่า

“ผมต้องการให้หนังของตัวเองมีความผ่อนคลาย บางครั้งอาจมีมุขตลกก็ได้ ผมไม่อยากให้หนังของตัวเองถูกมองว่าเป็นผลงานคลาสสิค หนังทุกเรื่องของผมเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิต ที่ดำเนินชีวิตไปได้ด้วยตัวเอง”

เจี่ยจางเคอบอกเล่าปณิธานของตนเอง ก่อนจะเล่นมุขว่า ผลงานภาพยนตร์แต่ละเรื่องก็เหมือนลูกๆ ในครอบครัว ซึ่งคนเป็นพ่อแม่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจที่จะปล่อยให้พวกเขาออกไปใช้ชีวิตในโลกภายนอก เมื่อมีอายุครบ 18 ปี •

ข้อมูลจากhttps://variety.com/2024/film/news/jia-zhangke-ai-cannes-caught-by-the-tides-1235976481/

ภาพประกอบ : “เจี่ยจางเคอ” ระหว่างเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปี 2018 (LOIC VENANCE / AFP)

| คนมองหนัง

สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj

— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ชีวิตและประชาธิปไตยของภาพยนตร์ อารมณ์ความรู้สึกของคนดู ในทัศนะ ‘เจี่ยจางเคอ’

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichonweekly.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0