โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รู้จัก "เมืองศรีเทพ" โบราณสถานสำคัญ ตำนานเมืองเทพ-เทวดา ก่อนเป็นมรดกโลก

Khaosod

อัพเดต 19 ก.ย 2566 เวลา 06.36 น. • เผยแพร่ 19 ก.ย 2566 เวลา 04.26 น.
ปกเว็บเมืองศรีเทพ0919-1

รู้จัก "เมืองศรีเทพ" ตำนานเมืองเทพ-เทวดา โบราณสถานแหล่งอารยธรรมสำคัญแห่งจังหวัดเพชรบูรณ์ ก่อนจะขึ้นเป็นมรดกโลก

ร่วมลุ้นไปพร้อม ๆ กัน สำหรับการประกาศ “เมืองศรีเทพ” จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย วันนี้ทีมข่าวสดขอพาทุกคนมาทำความรู้จักเมืองศรีเทพเพิ่มเติม

"ศรีเทพ" เมืองโบราณแหล่งอารยธรรมสำคัญ

เมืองศรีเทพ ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ถือเป็นเมืองโบราณอายุราว 1,400 ปี และเป็นแหล่งอารยธรรมสมัยทวารวดีที่ดีที่สุดของเมืองไทย

ที่มา เฟซบุ๊กอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

โดยภายในจะแบ่งเป็น 2 ส่วนส่วนแรกเป็นพื้นที่ในส่วนเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,889 ไร่ มีลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี มีโบราณสถานซึ่งได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้วทั้งหมดประมาณ 48 แห่งซึ่งมีโบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง และโบราณสถานปรางค์ศรีเทพ เป็นกลุ่มโบราณสถานสำคัญ รวมทั้งสระน้ำและหนองน้ำขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไปประมาณ 70 สระ

ในขณะที่เมืองนอกมีพื้นที่ 1,589 ไร่ เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อออกไปทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทาง และมีโบราณสถาน รวมทั้งมีสระน้ำขนาดใหญ่จนถึงเล็กกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ 30 แห่ง มีสระขวัญเป็นสระน้ำสำคัญที่มีขนาดใหญ่และตั้งอยู่กลางเมือง

เขาคลังใน

ส่วนที่สองเป็นโบราณสถานที่อยู่นอกเมือง ได้ขุดค้นสำรวจเกือบหมดแล้ว ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองโบราณศรีเทพ โดยมีโบราณสถานเขาคลังนอกที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี และโบราณสถานปรางค์ฤาษีที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมร

โดยเมืองศรีเทพถือเป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า สถานที่แห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยมีมนุษย์อาศัยอยู่และมีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ก่อนที่จะถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรง หรือปัญหาภัยแล้งประการใดประการหนึ่ง

เขาคลังนอก

การค้นพบเมืองศรีเทพ

ในปีพ.ศ. 2447สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ทรงค้นพบเมืองโบราณแห่งนี้ พระองค์ได้ค้นพบทำเนียบเก่าที่บอกรายชื่อหัวเมืองและมีชื่อเมืองศรีเทพ แต่ไม่มีผู้ใดรู้ว่าว่าเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ใด

ต่อมาพระองค์ทรงค้นพบสมุดดำเล่มหนึ่ง กล่าวถึงการให้คนเชิญตราสารไปบอกข่าวการสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 2 ไปตามหัวเมืองต่างๆ และมีอยู่เส้นทางหนึ่งไปทางเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ เมืองเพชรบูรณ์ จึงตั้งสมมติฐานว่าเมืองศรีเทพน่าจะอยู่ทางลำน้ำป่าสัก

เมื่อเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ได้จัดหาผู้ชำนาญพื้นที่ และถามไถ่หาความจากชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อที่จะสอบถามว่ามีเมืองโบราณอยู่ใกล้ลำน้ำป่าสักที่ไหนบ้าง และได้ทำการค้นหาอย่างจริงจัง จนในที่สุดก็ค้นพบเมืองโบราณแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำป่าสัก และทรงเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองศรีเทพ”

ซ้าย:ปรางค์ศรีเทพ ขวา:ปรางค์สองพี่น้อง

ตำนานเมืองเทพ-เทวดา

การขุดค้นเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยกรมศิลปากร และเป็นที่น่าแปลกใจเมื่อเห็นว่า ภายในพื้นที่บริเวณเขตเมืองโบราณนั้น ไม่มีชาวบ้านคนไหนเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในเมืองโบราณเลย แต่กลับสร้างบ้านและตั้งถิ่นฐานอยู่รอบนอกเขตเมืองโบราณเท่านั้น

โดยชาวบ้านเล่าว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความเชื่อว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่อยู่ของเทพเทวดา เมืองโบราณแห่งนี้เทพเทวดาได้สร้างเอาไว้ก่อนที่จะขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ ในสมัยก่อนจึงไม่มีใครกล้าเข้าไปอยู่อาศัย และมีความเชื่อว่าหากใครเข้าไปอยู่ในพื้นที่เมืองโบราณแห่งนี้จะเกิดอาเพศ บ้างก็ล้มป่วยโดยไม่มีสาเหตุ หรือบางคนถึงขั้นเสียสติ ชาวบ้านจึงทำได้แค่อาศัยพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ประกอบอาชีพ อย่างการล่าสัตว์ หรือหาอาหารเท่านั้น

คนแบกใต้ฐานเขาคลังใน

ด้านพิธีกรรมความเชื่อ สมัยก่อนชาวบ้านมักจะไปกราบไหว้และนำเครื่องเซ่นไปไหว้ ศาลที่ตั้งไว้บนเนินดินบริเวณขอบพื้นที่เมืองโบราณ หรือเนินที่กรมศิลปากรเชื่อว่าน่าจะเป็นกำแพงเมือง หลังจากที่เมืองโบราณเปลี่ยนเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ทางอุทยานฯได้อัญเชิญศาลลงมาไว้ด้านล่าง และเทวรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในศาลนั้น ชาวบ้านเรียกขานกันว่า“เจ้าพ่อศรีเทพ”

หลังจากที่ทำการย้ายศาลลงมา ทางอุทยานฯ ก็ได้เข้ามาควบคุมดูแลพื้นที่บริเวณศาล ทำให้การกราบไหว้ศาลของชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านเลิกนำของเซ่นเข้ามากราบไหว้ศาลแต่ยังจุดธูปเทียนอยู่ และส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนำอาหารมาเซ่นไหว้ศาลในวันที่ทางอุทยานฯ จัดงานบวงสรวงขึ้น ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จึงกลายเป็นงานประจำปีในปัจจุบัน

เจ้าพ่อศรีเทพ

โดยทางกรมศิลปากรได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้ จึงได้ดำเนินการและเตรียมนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพ และผลักดันให้ "ศรีเทพ" เป็นมรดกโลกด้วย

ขอบคุณที่มา SILPA-MAG.COM

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0