โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

คำถามถึงชีวิตกำลังพล เรือหลวงสู่รถถัง อุบัติเหตุ 2 ครั้งใน 2 เดือน ของกองทัพ

MATICHON ONLINE

อัพเดต 15 ก.พ. 2566 เวลา 08.59 น. • เผยแพร่ 15 ก.พ. 2566 เวลา 07.29 น.
รถถัง1548

เปิดสเปก รถถัง ‘สกอร์เปี้ยน’ คันเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ กับคำถามถึงความปลอดภัย กำลังพล

22 ธันวาคม 2565 กลายเป็นเหตุการณ์ช็อกคนไทย เมื่อเรือรบหลวงสุโขทัย อับปางลง จมลูกเรือหลายสิบชีวิต และยังคงมีผู้สูญหายที่ ณ ปัจจุบันยังไม่พบร่าง

ผ่านมาไม่ถึง 2 เดือนเต็ม เช้าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 กองทัพไทยเจอกับอุบัติเหตุ ที่ชวนให้สังคมตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องความมั่นคงของคนในชาติอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุรถถังเบา สกอร์เปี้ยน ถ.เบา 21 ม.พัน 27 พล.ม.2 รอ. พลิกตะแคงจนเกิดแรงเหวี่ยง ขณะที่ปีนขึ้นเนินดิน บริเวณโค้งหักศอก ที่ทัศนวิสัยจำกัด ในการฝึกปฏิบัติการร่วม พลเรือน ตำรวจ ทหารประจำปี 2566 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ย่อมต้องทำให้คนตั้งคำถาม บ้างก็ว่ายุทโธปกรณ์เก่าเกินไปหรือไม่ ได้รับการซ่อมแซมบ้างไหม ขณะที่หลายคนก็ต้องคำถามถึงกระบวนการการสื่อสาร ที่อาจจะผิดพลาดจนทำให้เกิดเหตุการณ์สลดขึ้นอีกครั้ง

มติชนออนไลน์ ชวนคุยกับ พริสร์ สมุทรสาร ผู้ชำนาญการด้านวิชาการทางทหาร และเทคนิคอาวุธ ผู้ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับตำรวจทหารมาอย่างนาน ที่มาถกถึงประเด็นดังกล่าว

เปิดสเปก สกอร์เปี้ยน รถถังเบา ประจำการตั้งแต่ 2521

พริสร์ เปิดบทสนทนาด้วยการพาไปรู้จัก รถถังยานเกราะเบาเหล่านี้ว่า รถถังเหล่านี้ เข้าประจำการในปี 2521 ตามรหัส รถถังเบาแบบ 21 ประเทศไทยซื้อรถถังยานเกราะเบามา 3 รุ่น ได้แก่ FV101 สกอร์เปี้ยน, FV105 รถบังคับการรหัส สุลต่าน และ FV106 รหัสแซมซัน โดยรถถังซีรีส์ FV เป็นของบริษัทอัลวิส วิกเกอร์ส จากประเทศอังกฤษ

“สำหรับรถรุ่นสกอร์เปี้ยนนี้ เป็นรถถังมาตรฐานสูง เป็น 1 ในรถถัง ยานเกราะเบา ที่ได้รับความนิยมสุดในโลก ช่วงทศวรรษ 70-80 ยอดขายจากอังกฤษอยู่ที่ประมาณ 3,500 คัน มีขีดความสามารถ คือปืนใหญ่ 76 มม. ปืนรอง เป็นปืนกลร่วมแกนขนาด 7.62 รถถังออกแบบมาเพื่อภารกิจลาดตระเวน จึงถือว่าเหมาะกับไทยที่ไม่ได้เน้นรถถังหนักขนาดนั้น ถือได้ว่าเหมาะกับภารกิจลาดตระเวน ซึ่งหนีจากการตรวจพบได้รวดเร็ว ทันเวลา และคล่องตัวสูง”

ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคทหาร กล่าวต่อว่า สำหรับรุ่นสุลต่าน เป็นรถสำหรับติดตั้งวิทยุความถี่สูง ติดตั้งสั่งการให้กลุ่มทหารม้า สื่อสารไปถึงรถคันอื่นๆ เช่นรถถังหนัก เอ็ม 60 ผู้บัญชาการจะอยู่ประจำรถถังเบาคันเดียว และเคลื่อนที่รอบๆ เรียกว่าเป็น Survival Ability ขณะที่ รถถังแซมซัน เป็นรถกู้ซ่อม กรณีมีความเสียหายเกิดขึ้นในหน่วย หรือยานเกราะเบาอื่นๆ เสียหาย ก็เข้าไปใช้เครนประจำรถ ยก ลาก จูง เอาซากรถถังออกมาได้

ไทยเป็น 1 ในประเทศที่เรียกว่ามีรถถังคันนี้ เยอะเป็นอันดับต้นๆ แม้ไม่ได้อยู่ในท็อป 10 คือมีอยู่ 100 คัน อันดับที่ 2 คือเบลเยียม 700 คัน ส่วนอังกฤษนั้นมีอยู่ 1500 คัน ปลดประจำการไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา ส่วนมาเลเซียก็มีอยู่ 26 คัน”

“มองในแง่ความเหมาะสม ตระกูล FV ก็ถือว่าเหมาะสมกับการใช้งานในไทยแล้ว เพราะตะลุยไปพื้นที่อ่อนนุ่มได้ เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว ถอนกำลังเร็ว ลาดตระเวนพรมแดนได้ มีปืนใหญ่ด้วย”

รถถังเก่า แต่มีประสิทธิภาพ

ผู้ชำนาญการด้านเทคนิคทหาร บอกต่อว่า อังกฤษใช้รถถังรุ่นนี้ในภารกิจต่างๆ ทั้ง รบในฟอลค์แลนด์ สงครามมอิรักอิหร่าน จนถึงสงครามอ่าว ปัจจุบันก็ยังมีการใช้รถถังรุ่นนี้อยู่ และมีการอัพเกรดเป็นระยะ ซึ่ง FV101 เพิ่งอัพเกรดเครื่องยนต์ไปใหม่ ให้ใช้งานได้พอสมควร

“ถ้าพูดในเรื่องของอาวุธ ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่เรื่องปืน เรามักคิดว่า ปืนโบราณ ปืนเก่า อาจจะมองย้อนไปสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ เอ็ม 16 และ เอ็ม 4 ที่เราใช้อยู่ ก็เป็นระบบอาวุธที่ตกทอดมาจากสงครามเวียดนาม 50-60 ปีแล้ว สิ่งที่เราต้องดูคือ การอัพเกรดสอดคล้องยุคสมัยแค่ไหน (เช่นจาก M16 เป็น M4 เป็นต้น) อย่างสกอร์เปี้ยน อังกฤษ อัพเกรดปืนไปเป็น 90 มม. เพราะในยุคใหม่ อังกฤษ เป็นพันธมิตรกับอเมริกา เขาไปสงครามบ่อยๆ ซึ่งรถถังจากจีน หรือของรัสเซียใหม่ๆ มีเกราะหนาขึ้น ทันสมัยขึ้นขึ้น อังกฤษก็จะต้องอัพเกรดไปสู้”

แม้ว่า ไทยอาจไม่ได้เปลี่ยนปืน แต่อัพเกรดเครื่องยนต์ และปรับปรุงช่วงล่าง รวมถึงระบบช่วยเล็งยิง ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ถามว่าเก่าไหม ก็เก่า แต่ไทยอัพเกรดเรื่อยๆ

“ต้องเข้าใจก่อนว่าอาวุธ ไม่ได้เกิดและดับไปในเวลาสั้นๆ อย่างบริษัทปืน ก็มองว่า ปืนมีเชลฟ์ไลฟ์ 40-50 ปี หรือเรือหลวงสุโขทัยก็อัพเกรดบ่อยๆ สำหรับเครื่องบิน หากแอร์เฟรมไม่เสียหาย ก็ซ่อมใช้ไปได้ เพราะยุทโธปกรณ์เหล่านี้มีราคาอัพเกรดค่อนข้างสูง บางอย่างยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เอ็ม 48 บลูด็อก รถถังใหญ่ ก็อาจจะเก่าไปแล้ว เพราะระบบโครงสร้าง ต่อยอดมาจากรถถังสงครามโลกครั้งที่ 2 เอ็ม 60 ก็อัพเกรดให้เท่าเทียมกัน”

“คำถามที่ว่ายุทโธปกรณ์เราเก่าไปไหม จึงมองว่า รถถังเก่า แต่มีประสิทธิภาพ แง่การใช้งานภาพรวม”

แค่ไหน ความปลอดภัย กำลังพล

พริสร์ บอกว่า ปกติแล้ว รถถังสกอร์เปี้ยน FV 101 จะมีเข็มขัดนิรภัยโดยพื้นฐาน และพวกอุปกรณ์ดับเพลิงต่างๆ ในรถ กรณีนี้จากที่ได้อ่านข่าว ความบาดเจ็บที่เกิดขึ้น เป็นบาดเจ็บจากการกระแทกอย่างรุนแรง ต้องเข้าใจว่ารถถังน้ำหนักไม่เบา ต่อให้อยู่ในกลุ่มยานเกราะเบาก็จริง แต่น้ำหนักอยู่ประมาณ 7.9 ตัน จากข่าวอุบัติเหตุเกิดขึ้นเมื่อมาถึงจุดโค้งหักศอก ต่างหักหลบกัน เข้าใจว่า น่าจะเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะเซฟตี้ช่วยไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เวลาคนกระแทกอย่างรุนแรง บางที เข็มขัดนิรภัยไม่ได้ช่วย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยทั่วไปบางครั้ง ผบ.รถถังอาจต้องขยับตัวให้เห็นรอบทิศ แต่หมวกกันน็อก ต้องใส่อยู่แล้ว ส่วนกรณีนี้ไม่กล้าเดา

อุบัติเหตุลักษณะนี้ คาดว่าเป็น พลังงานจลน์ ทำให้เกิดแรงกระแทกอย่างรุนแรง เมื่อน้ำหนักผนวกกับแรงปะทะ ก็ทำให้ปะทะ และอาจจะหล่นจากรถ หรือ ลำตัวกระแทกเข้ากับขอบหรือกำแพงรถถัง พอพลังงานถ่ายไป ก็เข้าสู่คนเต็มๆ เป็นอุบัติเหตุที่โทษใครไม่ได้เลย รถถังอัพเกรด ดูแลอย่างดีมาตลอด ไม่มีร่องรอยความเก่า หรือสนิมเลย จึงเรียกว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

เมื่อถามพริสร์ว่า จากลักษณะเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นไปได้หรือไม่ ว่าอาจเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาด ได้คำตอบว่า อาจเป็นความผิดจากการประสานงานกันไม่ดีในเส้นทางโดยทั่วไปการปฏิบัติภารกิจ ต้องมีการวางเลย์เอาท์ สนามฝึก ควรบอกว่า เคลื่อนที่เมื่อไหร่ตอนไหน พอเป็นการฝึก อาจจะหละหลวมขึ้นได้ พอมันหละหลวม ก็ทำให้เกิดความเสียหายแบบนี้ ลึกๆ แล้ว อุบัติเหตุไม่อยากมีให้อยากให้เกิดขึ้น

คำถามถึงคุณภาพชีวิตกำลังพล

ด้วยทำงานใกล้ชิดกับเหล่าทหารและตำรวจมาอย่างยาวนาน พริสร์ จึงตั้งคำถามไปถึงคุณภาพชีวิตของกำลังพล ซึ่งเขามองว่า เมื่อกำลังพลมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะมีกำลังที่จะทำเพื่อประเทศชาติได้มากกว่านี้

โดยเขาบอกว่า ครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนที่กองทัพสามารถเรียนรู้ได้ เอาไปพัฒนาต่อเรื่องทักษะการสื่อสารระหว่างรถด้วยกันเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ อย่างกรณีเรือหลวงสุโขทัย ก็เกิดจากความผิดพลาดเรื่องการสื่อสาร ฝั่งหนึ่งขอเข้าจอด อีกฝั่งไม่จอด เลยเจอพายุ จมลงทะเล กลายเป็นว่าทุกคนหาคนผิด แต่อุบัติเหตุบางทีเกิดจากความไม่ระมัดระวังในการสื่อสาร ต้องนำไปเป็นบทเรียน และแก้ไขกันต่อไป

ถามว่ามองว่า เป็นปัญหาเรื่องการสื่อสารหรือไม่ พริสร์ กล่าวว่า พูดตรงๆ คือหลักนิยมที่โบราณ และ ล้าสมัย จากที่ทำงานกับทหารตำรวจ ทุกคนพูดว่า หลักนิยม เก่า ล้าสมัย ไม่เปลี่ยนแปลง ผบ.เปลี่ยน ก็เปลี่ยนแนวทางที การใส่ใจความปลอดภัยกำลังพลต่ำมาก เพิ่งให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลแค่ไม่กี่ปีนี้เอง คนมีคำถามว่า รล.สุโขทัย มีชูชีพพอไหม ทหารบก มีอุปกรณ์ดามคอ ห้ามเลือด พอหรือยัง ได้อัพเกรดไหม

เราไปมองคุณค่าของกองทัพอยู่ที่ยุทโธปกรณ์ ไม่ใช่แค่คน กองทัพควรให้ค่ามนุษย์มากกว่านี้ การฝึกคนต้องใช้เงิน ใช้งบประมาณ ภาษีเหมือนกัน แต่ดันไปโฟกัสเครื่องจักร ไม่คุยเรื่องความปลอดภัย กองทัพ ต้องพิจารณาเรื่องกำลังพลให้มากกว่านี้ รักษาชีวิตคน ถ้าคนปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เขาก็ดูแลเครื่องจักรได้ ถ้าคนตาย เครื่องจักรพัง ก็สูญเสียทั้ง 2 ฝั่ง”

“กรณีรถถัง ต้องพัฒนาระบบความปลอดภัย เช่น หมวก อุปกรณ์นิรภัย หรือ โปรโตคอล หลักการด้านนิรภัย เพียงพอไหม ผบ.เหล่าทัพ ต้องพิจารณามากกว่านี้”

กองทัพไทย มีบทเรียนแต่ไม่ใส่ใจ ใส่ใจแค่เครื่องจักร มองว่าเมื่อกำลังพล มีกำลังใจ เขาจะคิดว่าเขาทำได้มากขึ้น ทำได้มากกว่า พอคุณภาพกำลังพลดีขึ้น ก็เอาไปสั่งการ ทำให้ดียิ่งขึ้นได้ บทเรียนมีแล้วต้องบอกด้วยว่าจะป้องกันอุบัติเหตุอย่างไร หรือถ้าจะเกิด แล้วทำอย่างไรให้สูญเสียน้อยที่สุด

และว่า “ตายแล้วเชิดชูก็ดี แต่ไม่ตายดีกว่าไหม ผบ.เหล่าทัพ ต้องเอาใจใส่กำลังพล ให้มีขวัญกำลังใจ ไม่อย่างนั้นตอนนี้กำลังพลก็ไม่กล้าฝึก เดี๋ยวตาย เพราะไม่รู้ชูชีพพอไหม เครื่องบินดีไหม หรือหมวกนิรภัยอายุกี่ปีแล้ว”

พริสร์ทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0