โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ผอ.สถาบันทันตกรรม ชู นวัตกรรม 'ถ่ายฟัน' ปรึกษาหมอ ก่อนไป รพ. ชี้ 5 ปัญหาปากคนไทย

MATICHON ONLINE

อัพเดต 09 ก.ค. 2565 เวลา 07.41 น. • เผยแพร่ 09 ก.ค. 2565 เวลา 07.41 น.
1

ผอ.สถาบันทันตกรรม ชู นวัตกรรม ‘ถ่ายฟัน’ ปรึกษาหมอ ก่อนไป รพ. ชี้ 5 ปัญหาปากคนไทย

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ทพญ.ดร.สุมนา โพธิ์ศรีทอง ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาสุขภาพช่องปากของคนไทย ว่า ปัญหาหลักๆ จะพบ 5 อันดับแรกคือ 1.ฟันผุ 2.โรคเหงือกอักเสบ 3.โรคปริทันต์อักเสบที่เป็นการร่นของเหงือกและกระดูก ทำให้มีการละลายตัวของกระดูก 4.การสูญเสียฟันในช่องปาก และ 5.ฟันสึก ทั้งนี้ปัญหาช่องปากเจอได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย แต่กลุ่มที่มีปัญหาและกระทบกับการดำเนินชีวิตมากที่สุดคือ ผู้สูงอายุ

“การสูญเสียฟันในผู้สูงอายุจะเยอะกว่าวัยอื่น ส่งผลต่อจำนวนฟันที่จะใช้บดเคี้ยวอาหารไม่เพียงพอ ฉะนั้นมีความจำเป็นต้องทดแทนฟัน เพื่อให้บดเคี้ยวอาหารได้” ทพญ.ดร.สุมนา กล่าว

ทพญ.ดร.สุมนา กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการสูญเสียฟันของผู้สูงอายุคือ บดเคี้ยวอาหารไม่ได้ก็จะส่งผลต่อการรับประทานอาหาร และจะส่งผลต่อเนื่องกับสุขภาพด้านอื่น เช่น ขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแรง เบื่ออาหาร ฉะนั้น การหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากเป็นสิ่งจำเป็น คือ 1.การดูแลด้วยตนเอง จะต้องตรวจฟันด้วยตัวเอง แปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ 2.พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจช่องปาก ที่อาจจะต้องใช้เทคโนโลยีอื่นเข้าช่วยเช่นการเอกซเรย์ เพื่อหาการละลายของกระดูก

ทพญ.ดร.สุมนา กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ที่ประชาชนไม่สามารถเข้ารับบริการตรวจสุขภาพช่องปากได้ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ป่วยติดเตียง ทำให้สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ได้มีการปรับรูปแบบการให้บริการดูแลสุขภาพช่องปากกับประชาชน ด้วยการพัฒนานวัตกรรมการถ่ายภาพช่องปาก เพื่อที่ผู้ป่วยสามารถตรวจฟันเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง และยังสามารถถ่ายภาพและวิดีโอฟันและช่องปากตัวเอง ส่งไปยังสถาบันทันตกรรมเพื่อรับคำปรึกษาจากแพทย์ หรือประเมินอาการและวางแผนการรักษาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วงแรกนี้มีการทดสอบระบบใช้กับผู้ป่วยในก่อน และจะมีการพัฒนาระบบใช้สำหรับผู้ป่วยนอกในปีงบประมาณหน้า

“ซึ่งในการดำเนินการเช่นนี้ก็พบว่าบางกรณีแพทย์จะต้องออกไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ดังนั้นการที่ผู้ป่วยสามารถใช้เครื่องมือถ่ายภาพและวีดีโอช่องปากส่งมาก่อนก็ทำให้แพทย์เตรียมเครื่องมือไปได้ถูก ซึ่งเครื่องมือนี้มีราคาที่ถูกลงประมาณ 1,000 บาท และยังสามารถเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่น ที่สามารถดูแบบออนไลน์ได้” ทพญ.ดร.สุมนากล่าว

ทพญ.ดร.สุมนากล่าวว่า ภายในงานมหกรรม 80 ปีกรมการแพทย์ สถาบันทันตกรรมได้นำเทคโนโลยีการสร้างต้นแบบ(Mock-ups) เพื่อให้ผู้ป่วยได้ดูว่าก่อนและหลังทำการซ่อมแซมฟันจะออกมาเป็นอย่างไร เพื่อเป็นการประกอบการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เช่นบางคนมีฟันหน้าบิ่น แตกหัก ก็จะมีการทำรูปต้นแบบว่าหากรักษาเสร็จแล้วจะออกมาเป็นอย่างไร พร้อมกับอธิบายผู้ป่วยว่าจะต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้างเพื่อให้ฟันออกมาสวยงามเหมือนอย่างในรูปต้นแบบ

สำหรับการประชุมวิชาการ กรมการแพทย์ จัดระหว่างวันที่ 8-10 กรกฎาคม ภายใต้แนวคิด “ทำดีที่สุดเพื่อทุกชีวิต : Do our best for all” เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นำไปพัฒนาการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ศึกษาวิจัยต่อยอดผลงาน นวัตกรรม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีการนำเสนอผลงานประวัติศาสตร์และแนวทางในอนาคตของกรมการแพทย์ (DMS Next Normal) จัดบริการด้านสุขภาพจาก 14 หน่วยงานของกรมการแพทย์ให้กับประชาชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมกิจกรรมเสวนาสุขภาพจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและศิลปินดารา สัมมนาเชิงลึกด้านการแพทย์แขนงต่างๆ และสินค้าสุขภาพ ผู้ที่สนใจสามารถร่วมงานได้ ที่ บางกอก คอนเวนชั่น เซ็นทรัลเวิร์ล กรุงเทพมหานคร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0