ThaiPublica > คอลัมน์ > จากตลาดสดถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต: 5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาสินค้าในประเทศไทย

จากตลาดสดถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต: 5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาสินค้าในประเทศไทย

8 พฤษภาคม 2018


ปิติ ดิษยทัต [email protected], พิม มโนพิโมกษ์ [email protected],
ทศพล อภัยทาน [email protected] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=5485

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “จากตลาดสดถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต 5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาสินค้าในประเทศไทย” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ในชีวิตประจำวันของผู้อ่านแทบทุกท่าน คงต้องมีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการหลากหลายชนิด แต่มีผู้อ่านท่านใดเคยสังเกตหรือไม่ว่า น้ำอัดลมกระป๋องที่ท่านดื่มเป็นประจำมีการปรับราคาครั้งสุดท้ายเมื่อไร หรือค่าทำผมร้านประจำแพงขึ้นกว่าเมื่อปีก่อนกี่บาท พฤติกรรมการปรับราคาของผู้ประกอบการ นอกจากจะมีผลต่อการการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคแล้ว ยังมีนัยในทางเศรษฐศาสตร์และการดำเนินนโยบายอีกด้วย งานวิจัยของผู้เขียนได้ศึกษาการปรับราคาของสินค้าและบริการกว่า 24,000 รายการ ระหว่างปี 2002-2017 ซึ่งรวบรวมโดยกระทรวงพาณิชย์ โดยในงานวิจัยได้ทำการสรุปข้อเท็จจริงสำคัญที่ได้จากข้อมูล 5 ประการ ดังนี้

ข้อเท็จจริงที่ 1: ราคาสินค้าในประเทศไทยโดยรวมมีการปรับเปลี่ยนไม่ค่อยบ่อย โดยระยะเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7 เดือนต่อครั้ง (ดูรูปที่ 1) แต่สินค้าในแต่ละหมวดจะมีระยะเวลาในการปรับราคาแตกต่างกันไป เช่น หมวดอาหารและเครื่องดื่มจะมีการเปลี่ยนราคาที่ค่อนข้างถี่ ในขณะที่สินค้าในหมวดเครื่องแต่งกายโดยเฉลี่ยมีราคาคงที่มากกว่า 1 ปี ซึ่งความแตกต่างนี้อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยเชิงโครงสร้างของแต่ละหมวดสินค้า เช่น ประเภทของวัตถุดิบ หรือโครงสร้างการแข่งขันในตลาด

รูปที่ 1 ระยะเวลาในการปรับราคาโดยเฉลี่ย (เดือน) ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ คำนวณโดยผู้เขียน

ข้อเท็จจริงที่ 2: การลดราคาสินค้าเป็นเรื่องปกติ โดยรวมแล้ว ความถี่ในการปรับเปลี่ยนราคาขึ้นและลงไม่แตกต่างกันมากนัก และการปรับราคาที่เกิดขึ้นเป็นการลดราคาถึง 40% ซึ่งแปลว่า การลดลงของราคาสินค้าในประเทศไทยเป็นเรื่องปกติ และพบเห็นบ่อยพอๆ กับการขึ้นราคา

ข้อเท็จจริงที่ 3: การเปลี่ยนราคาในแต่ละครั้งนั้นจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกันเงินเฟ้อโดยรวม ขนาดโดยเฉลี่ยของการปรับขึ้นราคาอยู่ที่ 10% ในขณะที่การลดราคาอยู่ที่ 8% ซึ่งใหญ่กว่าเงินเฟ้อโดยรวมที่มีการเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 0.3% และยังพบข้อสังเกตว่า ขนาดของการปรับราคามีความสัมพันธ์ในทางตรงข้ามกับความถี่ในการปรับราคา เช่น หมวดอาหารและเครื่องดื่มมีการเปลี่ยนราคาบ่อย แต่ขนาดในการปรับราคาค่อนข้างเล็ก ในขณะที่หมวดการบันเทิงและการศึกษาซึ่งมีราคาคงที่ค่อนข้างนานเปลี่ยนราคา แต่การเปลี่ยนราคาในแต่ละครั้งจะมีขนาดใหญ่ถึง 20-30% เลยทีเดียว

ข้อเท็จจริงที่ 4: จำนวนสินค้าที่มีการปรับราคาในแต่ละเดือนค่อนข้างคงที่ อัตราเงินเฟ้อโดยรวมมักจะถูกขับเคลื่อนจากขนาดของการเปลี่ยนแปลงมากกว่าจำนวนสินค้าที่มีการปรับราคา โดยในแต่ละเดือนจะมีสินค้าเพียงประมาณ 15% เท่านั้นที่มีการปรับราคา และสัดส่วนนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

รูปที่ 2 การเปลี่ยนแปลงระดับราคาสินค้า (2006-2016)
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์; CEIC; คำนวณโดยผู้เขียน

การที่ราคาของสินค้าแต่ละอย่างเปลี่ยนแปลงไม่พร้อมกันหรือในขนาดที่แตกต่างกันหมายความว่า การเปลี่ยนแปลงราคาโดยเปรียบเทียบระหว่างสินค้า (relative prices) เป็นปัจจัยอธิบายที่สำคัญของเงินเฟ้อรวม จากรูปที่ 2 ซึ่งแสดงการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า สินค้าในแต่ละหมวดมีการเปลี่ยนแปลงราคาที่แตกต่างกันอย่างมาก หมวดอาหารมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมาก ตรงข้ามกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ที่ราคาลดลงอย่างต่อเนื่องและมีราคาถูกกว่าเมื่อทศวรรษก่อน ในขณะที่สินค้าอีกหลายอย่าง เช่น เสื้อผ้า ของเล่น มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

ข้อเท็จจริงที่ 5: ราคาสินค้าและบริการมีความแตกต่างระหว่างพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น ราคาของแกงเขียวหวานบรรจุถุง (รูปที่ 3 – สีเข้มหมายถึงราคาสูง) ซึ่งเป็นกับข้าวทั่วไปที่หาซื้อได้ทั่วประเทศ แต่ก็มีราคาที่แตกต่างกันมากในแต่ละจังหวัด เช่น แกงเขียวหวานในภาคใต้จะมีราคาสูง จากข้อมูลเราพบว่า ราคาของบริการจะมีความแตกต่างระหว่างพื้นที่ได้มากกว่าราคาสินค้า และหากคำนวณเป็นค่าครองชีพโดยรวม ค่าครองชีพในภาคใต้ตอนบนจะมีค่าสูงสุด ในขณะที่ค่าครองชีพในภาคเหนือตอนล่างมีค่าต่ำที่สุด

รูปที่ 3 ราคาแกงเขียวหวานทั่วประเทศ (ธ.ค. 2017)
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ คำนวณโดยผู้เขียน

ข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาข้อมูลที่มีความละเอียดสูงข้างต้น ได้ช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการตั้งราคาในประเทศไทย และมีนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินในหลายมิติ เช่น การที่ราคาสินค้าปรับเปลี่ยนไม่บ่อยสะท้อนว่า นโยบายการเงินจะส่งผลต่อเศรษฐกิจจริงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน ในขณะที่การตอบสนองของราคาที่เชื่องช้าต่อปัจจัยที่มากระทบเศรษฐกิจบ่งชี้ถึงความสำคัญที่นโยบายการเงินต้องมองไปข้างหน้า และอาจต้องให้เวลาในการปรับตัวเข้าสู่เป้าหมายเงินเฟ้อที่ยาวนานขึ้น

นอกจากนี้ การที่ราคาสินค้าสามารถปรับลดลงได้พอๆ กับการขึ้นราคา แสดงให้เห็นว่าธนาคารกลางอาจไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่สูงมากนักเพื่อชดเชยผลของความหนืดในการปรับลดราคา และที่สำคัญ ตัวเลขเงินเฟ้อโดยรวมมีส่วนที่สะท้อนการเปลี่ยนราคาที่แตกต่างกันมากระหว่างแต่ละสินค้า การเปลี่ยนแปลงราคาเชิงเปรียบเทียบนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของนโยบายการเงิน แต่สะท้อนปัจจัยเกี่ยวกับโครงสร้างการผลิตและความต้องการของตลาดมากกว่า การดำเนินนโยบายที่เหมาะสมย่อมต้องพยายามแยกแยะระหว่างการเปลี่ยนแปลงราคาทั่วไปและการเปลี่ยนแปลงเชิงเปรียบเทียบนี้

หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์