ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าหนูแดเนียล ลารุสโซจากหนังเรื่อง คาราเต้คิด ผู้ซึ่งบังเอิญมาอาศัยอยู่ข้างบ้านปรมาจารย์คาราเต้อย่างมิสเตอร์มิยากิ ก็เป็นไปได้มากว่าคุณต้องทำการบ้านหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตหลายยกกว่าจะตัดสินใจได้ว่าศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวแขนงไหนที่คุณอยากจะฝึก คุณจำต้องเข้าใจเป้าหมายของการจะฝึกศิลปะการต่อสู้ของตัวเองก่อน แล้วหาว่าแขนงไหนที่เหมาะกับเป้าหมายที่วางไว้ที่สุด จากนั้นจึงเลือกโรงฝึกหรือครูผู้สอนคนไหน จำไว้ว่ามันไม่มีรูปแบบศิลปะการต่อสู้แบบใดที่จะเหนือกว่าแบบใด มีแค่ผู้ใช้ศิลปะการต่อสู้ที่ฝีมือเก่งกว่า ศิลปะทุกแขนงล้วนมีจุดแข็งและจุดอ่อน เลือกหนึ่งแขนงที่เหมาะกับคุณที่สุด

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

เลือกรูปแบบของศิลปะการต่อสู้

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ส่วนใหญ่แล้วคนเราจะเลือกฝึกศิลปะการต่อสู้เพื่อจุดประสงค์ของการป้องกันตัวเอง แดเนียล ลารุสโซก็เป็นเช่นนั้น เขาถูกรังแก คุณก็ถูกรังแกมาหรือเปล่า หรือกลัวว่าจะโดนเข้าสักวันหนึ่ง ศิลปะการต่อสู้ทุกแขนงจะสอนคุณให้รู้จักป้องกันตัวเอง เป้าหมายของคุณคือการสามารถหาศิลปะการต่อสู้ที่เน้นไปที่เทคนิคการป้องกันตัวกับการสลัดออกจากการถูกรัดกุม[1] ในหลายๆ ด้านนั้นยิวยิตสูถือเป็นศิลปะการต่อสู้แนวนี้ เพราะมันใช้ความแข็งแกร่งของคู่ต่อสู้และแรงที่ใช้จู่โจมมาเป็นอาวุธโต้กลับ ดังนั้นจึงสามารถทำให้ผู้จู่โจมที่แข็งแรงกว่าและตัวใหญ่กว่าพ่ายแพ้ไปได้
    • เวลาอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องป้องกันตัวเอง ยิวยิตสูจะช่วยคุณหลบการโจมตีจากทางด้านหน้า มุดหนีจากการจับกุม และพลิกมาเป็นฝ่ายได้เปรียบโดยเร็ว จำไว้ว่าศิลปะการต่อสู้ทุกรูปแบบมีท่าที่ใช้ป้องกันตัวเอง บางแขนงอาจจะเหมาะกับการประจัญหน้ามากกว่าแขนงอื่น ยิวยิตสูเป็นส่วนผสมที่พอดีๆ
  2. เหตุผลที่ผู้คนสนใจจะฝึกศิลปะการต่อสู้ที่ได้รับความนิยมมากรองลงมาก็คือเพื่อจะได้ออกกำลังกาย เพื่อแปรไขมันไปเป็นกล้ามเนื้อ และเพื่อเพิ่มการทำงานให้ประสานกันของร่างกาย ศิลปะการต่อสู้ทุกแขนงทำเช่นว่านี้ได้ แต่คุณอาจเลือกแขนงหนึ่งมากกว่าอีกแขนง ขึ้นอยู่กับเป้าหมายความฟิตที่คุณวางไว้[2] กังฟูเป็นการออกกำลังทุกส่วนของร่างกายได้พอเหมาะพอดี เนื่องจากกังฟูใช้ประโยชน์จากการตั้งท่าย่อต่ำและการกันที่แข็งแกร่ง มันจึงช่วยให้ออกกำลังไปทั่วทั้งร่าง มันยังเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีระเบียบวินัยมากที่สุดอีกด้วย[3]
    • ในขณะที่กังฟูใช้งานกล้ามเนื้อของคุณทุกส่วน ยังมีศิลปะการต่อสู้อย่างอื่นที่เน้นความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นของร่างกายส่วนบนหรือส่วนล่าง ถ้าคุณอยากฝึกความแข็งแกร่งของร่างกายท่อนบน คุณอาจเลือกการต่อยมวยสากลหรือบางทีอาจเป็นโชโตกันคาราเต้จากญี่ปุ่น อีกทางเลือกถ้าอยากให้ท่อนขาแข็งแรง คุณอาจเลือกศิลปะการต่อสู้ที่เน้นความแข็งแกร่งของขาอย่างมากเช่นเทควันโด[4]
  3. ปัจจุบันนี้นางินาตะเป็นทั้งศิลปะการต่อสู้และเป็นทั้งรูปแบบแขนงหนึ่งของศิลปะที่สอนทั้งมารยาท ความเคารพนับถือ และความมั่นใจในตนเอง ศิลปะการต่อสู้อย่างนางินาตะเสริมสร้างความมั่นใจเพราะมันจะปลดปล่อยศักยภาพในตัว สร้างกล้ามเนื้อ และสอนทักษะใหม่ๆ แก่คุณ ผู้คนมากมายที่แรกเข้ามาในโรงฝึกด้วยความรู้สึกไม่มีความมั่นใจในตัวเองหรือแค่ไม่เชื่อในความสามารถที่ตนมี บางทีนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงเลือกเรียนศิลปะการต่อสู้ หากเป็นเช่นนั้น คุณต้องการหาโปรแกรมและครูฝึกที่จะสร้างความมั่นใจของคุณขึ้นมามากกว่าจะเป็นการสลายทิฐิของคุณ[5] ครูฝึกนางินาตะจะเน้นไปที่การกระตุ้นความรู้สึกกับประสบการณ์เชิงบวก การเสริมส่งในเชิงบวกนี้จะเป็นมุมมองหลักในกระบวนการตัดสินใจเลือกของคุณเลย[6]
  4. เทควันโดเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก ทั้งนี้ต้องขอบคุณการเพิ่มมันเข้าไปในมหกรรมกีฬาโอลิมปิคในปี 1988 หลายคนมองว่าเทควันโดเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวที่เป็นศิลปะและการจะทำเช่นนั้นได้คุณจำต้องมีการควบคุมร่างกายตนเองที่เยี่ยมยอด คุณจะต้องมีวินัยในตัวเองเพื่อทำให้การเคลื่อนไหวทุกท่วงท่าพลิ้วไหล สง่างามและสุขุมรอบคอบ[7] เนื่องจากการเน้นไปที่การเคลื่อนไหวและรูปแบบเป็นอย่างมาก หลายคนจึงเห็นว่าเทควันโดเป็นวิธีที่ดีในการใช้สอนเรื่องวินัยและการควบคุมคนเอง (สำหรับเด็กและใครก็ตาม)[8]
    • ศิลปะการต่อสู้นั้นถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีระเบียบวินัยที่เคร่งครัดและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องการการมีวินัยและการควบคุมตนเองในระดับสูงเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในแขนงนั้นๆ ในระหว่างการฝึกซ้อมคุณอาจได้เผชิญหน้ากับบทเรียนที่สวนทางกับความคิดก่อนหน้านั้นของคุณ “ลงแว็กซ์ ขัดแว็กซ์ออก” มิสเตอร์ยานากิบอกแดเนียลใน คาราเต้คิด แดเนียลนั้นสับสนเพราะเขาไม่เข้าใจว่าการลงแว็กซ์ขัดรถยนต์นั้นจะมาเกี่ยวข้องกับการเรียนศิลปะการต่อสู้ตรงไหน กว่าจะมาค้นพบในภายหลังว่าท่านอาจารย์นั้นรู้ลึกซึ้งกว่าที่คิด ให้ทำตามครูผู้สอนดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฟังคำสั่งสอนของเขา แล้วฝึกบ่อยๆ นอกจากวินัยเหล่านี้จะช่วยคุณให้กลายเป็นนักศิลปะการต่อสู้ที่เก่งขึ้นแล้ว มันยังส่งผลมาถึงชีวิตประจำวันของคุณอีกด้วย[9]
  5. ในช่วงทศวรรษที่ 1970 นักสู้คาราเต้ชาวอเมริกันเกิดหงุดหงิดกับข้อจำกัดอันเข้มงวดที่ใช้ในการแข่งขัน พวกเขาต้องการการสัมผัสถึงตัวกันอย่างเต็มรูปแบบ ปัจจัยตัวนี้ได้ตกสะเก็ดกลายเป็นการกำเนิดคิกบ็อกซิ่ง ผู้เข้าแข่งขันสามารถใช้นักมวยคู่ซ้อม ทั้งเตะทั้งต่อยและกัน หรือจะซ้อมเดี่ยวเพื่อเตรียมตัวขึ้นชกก็ได้ เนื่องจากต้นกำเนิดของมันอยู่ที่การแข่งขันและการสัมผัสตัวเต็มรูปแบบ คิกบ็อกซิ่งจึงเป็นศิลปะการต่อสู้ที่เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจจะขึ้นเวทีชก[10]
    • ศิลปะการต่อสู้บางแขนงไม่ได้เน้นไปที่การขึ้นเวทีประลอง กังฟูแบบดั้งเดิมอย่างเช่นมวยหย่งชุนหรือมวยหงฉวนไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อสอนคุณขึ้นเวทีประลอง คุณสามารถและจะได้เรียนรู้การป้องกันตนเองที่เหนือชั้นในระบบมวยเหล่านี้ แต่มันจะใช้เวลานานพอสมควรก่อนที่พื้นฐานของคุณจะแน่นพอจนสร้างความแตกต่างในสถานการณ์การต่อสู้ได้
  6. ถ้าคุณมีความเคารพนับถือหรือมีความสนใจในวัฒนธรรมใดเป็นเฉพาะ การเรียนรู้เพิ่มขึ้นผ่านทางศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่งแขนงใดของวัฒนธรรมนั้นจะเป็นประสบการณ์ชั้นเยี่ยม ฝึกคราฟมากาถ้าคุณสนใจในอิสราเอล ฝึกเทควันโดถ้าคุณใคร่รู้วัฒนธรรมเกาหลี ลองซูโม่เพื่อทำความเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
    • ถ้านั่นเป็นส่วนหนึ่งในเป้าหมายของคุณ ให้เลือกโรงเรียนฝึกที่สอนโดยครูที่มาจากวัฒนธรรมนั้น หรือคนที่ได้รับการฝึกภายใต้อาจารย์ของวัฒนธรรมนั้นโดยตรง คำสอนจะดู “น่าเชื่อถือ” และแน่นอนว่าคุณจะได้เก็บเกี่ยวมุมมองด้านอื่นๆ ของวัฒนธรรมนั้นไปในระหว่างที่เรียน อย่างเช่น ภาษา มารยาท ประวัติศาสตร์ และปรัชญาความคิด[11]
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

เลือกโรงฝึกกับครูผู้สอน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. โดยมากแล้วคุณมักจะลงเอยด้วยการเรียนศิลปะการต่อสู้แขนงที่มีให้ฝึกในละแวกบ้าน หากมันต้องใช้เวลาหรือไปโรงฝึกอย่างลำบาก คุณก็จะมีข้ออ้างเพิ่มขึ้นที่จะไม่ไป ค้นหาในอินเทอร์เน็ตหรือในสมุดโทรศัพท์เรื่องโรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้
  2. ปกติไม่ค่อยมีโรงฝึกที่จะลงราคาค่าเล่าเรียนตามโฆษณา ราคามักจะพิจารณากันเป็นรายเดือนล่วงหน้าไปหลายเดือน หรือขึ้นกับว่าคุณจะเข้ามาฝึกบ่อยแค่ไหนในแต่ละสัปดาห์ ในบางกรณีนั้นอาจต่อรองราคากันได้ขึ้นอยู่กับว่ามีคนมาร่วมเรียนพร้อมคุณมากน้อยขนาดไหน (เช่น ลงแบบแพ็คเกจครอบครัว) ครูผู้สอนบางคนคิดราคาค่าสอนเพียงแค่ 2,000 บาทต่อเดือน และก็มีครูผู้สอนที่คิดราคาเดียวกันต่อการสอนเพียงคาบเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณที่จะพิจารณาในสิ่งที่คุณรู้สึกว่ายุติธรรมและสามารถควบคุมการจ่ายนี้ได้ หลังจากได้ลงมือค้นหาสักหน่อย คุณก็จะทราบเองว่าใครที่โก่งราคาไปหน่อย
    • อีกวิธีที่ดีในการประหยัดเงินก็คือมองหาคลาสเรียนที่ไม่ได้จัดตั้งเป็นโรงฝึกในเชิงพาณิชย์ อาจจะมีโรงเรียนสอนตามศูนย์ชุมชน สมาคม หรือเทศบาล การที่พวกนี้ไม่ได้เปิดในเชิงพาณิชย์ ใช่ว่าคุณภาพการสอนจะด้อยลงไปด้วย[12] ให้โทรศัพท์สอบถามเรื่องการทดลองเรียน สิ่งที่ต้องใช้ และค่าสมาชิก/ค่าเล่าเรียน มองหาค่าใช้จ่ายที่แฝงเร้น บางที่อาจคิดราคาต่อคลาสสูงขึ้นเมื่อคุณใช้คลาสครบตามกำหนดเบื้องต้น[13]
  3. วิธีหนึ่งที่จะได้สัมผัสสไตล์ของศิลปะการต่อสู้และโรงฝึก/ครูผู้สอนว่าโดนใจไหมก็คือการเข้าไปร่วมคลาสก่อนจะสมัคร คุณจะมีโอกาสเห็นสถานที่ พบเจอกับผู้มาฝึก และได้พบกับครูผู้สอน
    • พูดคุยกับนักเรียนคนอื่นๆ ดูว่าพวกเขาชอบและไม่ชอบอะไรบ้าง นักเรียนศิลปะการต่อสู้บางคนยังอาจมีประสบการณ์การฝึกแขนงอื่นมา ซึ่งจะช่วยคุณตีวงการตัดสินใจให้แคบลงได้ง่าย
  4. ตัดสินใจว่าสไตล์การสอนนั้นเหมาะกับบุคลิกของคุณหรือไม่. ถ้าคุณมองหาการเรียนศิลปะการต่อสู้ คลาสนั้นได้มีการกระตุ้นหรืออนุญาตให้ผู้ฝึกระดับเบื้องต้นได้ร่วมเป็นคู่ฝึกซ้อมหรือ “ซ้อมอิสระ” หรือไม่ หรือว่ากันเอาไว้สำหรับนักเรียนฝีมือระดับสูงที่ใช้เวลาและจ่ายให้โรงฝึกมากกว่า? คุณต้องการเทรนเนอร์ที่มาคอยกระตุ้นให้คุณพยายามขึ้นไหม? คุณต้องการใครสักคนมาช่วยสร้างความมั่นใจในตนเองหรือเปล่า? คุณอยากเรียนแบบตัวต่อตัวหรือเข้าร่วมคลาสใหญ่? สไตล์การสอนของครูผู้ฝึกจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเป้าหมายและรูปแบบที่คุณต้องการเข้าร่วม[14]
    • ตระหนักด้วยว่าการซ้อมของผู้ที่อยู่ระดับเริ่มต้น แม้จะมีการปลุกเร้ากระตุ้น ควรจะมีข้อจำกัดมากกว่านักเรียนที่มีประสบการณ์มากกว่า เพราะผู้อยู่ระดับเริ่มต้นนั้นมักจะไม่มีการควบคุมการปล่อยอาวุธได้ดีเพียงพอที่จะลดโอกาสการบาดเจ็บอย่างได้ผล
  5. สังเกตดูว่านักเรียนในโรงฝึกเป็นแบบไหนและปฏิสัมพันธ์ที่มีระหว่างกันและกับผู้ที่อาวุโสกว่า พวกเขาดูเป็นมิตรและเปิดกว้างไหม ทำตัวน่าเคารพหรือเปล่า คุณจะมองพวกเขาเหมือนเพื่อนได้หรือเปล่า คุณต้องใช้เวลาจำนวนไม่น้อยกับพวกเขา มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณต้องเข้าใจบุคลิกของพวกเขา ความปลอดภัยของคุณอยู่ในกำมือของพวกเขา ถ้ารู้สึกยังไม่สะดวกใจ ก็ให้มองหาที่อื่นต่อไป[15]
  6. อย่ากังวลกับใบปริญญาหรือประกาศนียบัตรทั้งหลายแหล่ มันไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวในเรื่องการแบ่งระดับหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากทุกแขนงในศิลปะการต่อสู้ สิ่งที่สำคัญอยู่ที่:
    • ครูคนนี้ได้รับการฝึกฝนมากจากใคร
    • เขาได้รับการฝึกจากคนนี้มานานแค่ไหน
    • เขาฝึกศิลปะการต่อสู้แขนงนี้มานานเท่าใด
    • ครูผู้ฝึกคนนี้มีประสบการณ์เป็นครูผู้สอนมาก่อนหรือไม่ หรือว่าเขาแค่เป็นนักต่อสู้ในศิลปะแขนงนี้ที่เก่งกาจ ก็เหมือนกับที่นักฟุตบอลฝีเท้าดีอาจเป็นโค้ชที่แย่ (และในทางกลับกันด้วย) นักต่อสู้ที่เก่งกาจก็ไม่จำเป็นต้องเป็นครูที่เก่งเสมอไป
    • รับรู้ไว้ก่อนเลยว่าเวลามองหาที่เรียนนั้น ครูส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าโรงฝึก/ระบบการสอนของเขาน่ะดีที่สุดทั้งนั้น มีผู้ชำนาญในศิลปะการต่อสู้หลายคนที่รักในศิลปะนี้ชนิดยอมถวายหัวและจะแสดงท่าทีไม่พอใจหากคุณแสดงความสนใจในศิลปะการต่อสู้แขนงอื่น ระมัดระวังถ้าเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น พวกเขาคงไม่น่าจะเป็นครูที่ดีนักถ้าหากไม่ได้แสดงความเคารพในศิลปะการต่อสู้แขนงอื่นแบบนี้[16]
  7. คุณอาจจำเป็นต้องสละเวลาสำคัญจำนวนหนึ่งมาอุทิศให้กับการฝึกฝน ศิลปะการต่อสู้ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบการฝึกหรือออกกำลังกายที่คุณสามารถซ้อมที่บ้านเพื่อทำให้ขึ้นใจได้ ถ้ามัวแต่ฝึกเฉพาะในคลาส คงยากที่จะพัฒนาไปได้ดี[17]
    • ให้แน่ใจว่าคุณอุทิศเวลาเข้าคลาสและฝึกซ้อมที่บ้านอย่างเพียงพอ จำไว้ว่าศิลปะการต่อสู้นั้นมีวินัยเป็นหัวใจหลัก อย่าไปลงเรียนถ้าคุณยอมรับในจุดนี้ไม่ได้ มิเช่นนั้น คุณคงเรียนจนจบโปรแกรมไม่ได้แน่
  8. ทำเสียตอนนี้ยังดีกว่าผัดผ่อนออกไปอีก เข้าร่วมวงแล้วเริ่มต้นกันเลย คุณได้ทำการบ้านมาจนกระจ่างแล้ว คุณได้ตัดสินใจเลือกศิลปะการต่อสู้แขนงที่เลือกเหนือแขนงอื่น คุณรู้แล้วว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง จงสนุกกับมันเลย!
    โฆษณา


เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

Herb Perez
ร่วมเขียน โดย:
ปรมาจารย์ด้านเทควันโด
บทความนี้ ร่วมเขียน โดย Herb Perez. เฮิร์บ เปเรซเป็นนักเทควันโดเหรียญทองโอลิมปิกประจำปี 1992 เปเรซได้จัดทำแผนการพัฒนานักกีฬาและโค้ชเทควันโดให้ทีมชาติสหรัฐ และตอนนี้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการด้านการให้ความรู้ของสมาพันธ์เทควันโดโลก บทความนี้ถูกเข้าชม 34,691 ครั้ง
มีการเข้าถึงหน้านี้ 34,691 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา