Thailand E-commerce Landscape รวมธุรกิจในตลาด E-commerce ไทยแบบเจาะลึกปี 2020 | Techsauce

Thailand E-commerce Landscape รวมธุรกิจในตลาด E-commerce ไทยแบบเจาะลึกปี 2020

เพราะการดำรงชีวิตจับจ่ายใช้สอยในปัจจุบันทำได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ผู้บริโภคสนใจสิ่งไหนก็สามารถเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์เพื่อค้นหาข้อมูล พร้อมเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ ตกลงสั่งซื้อและรับของได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงอย่างง่ายดาย ทั้งหมดนี้ทำให้คุณสามารถช้อปปิ้งได้โดยที่ไม่ต้องออกเดินทางไปยังหน้าร้าน

มูลค่าตลาด E-commerce ปี 2020

จากความสะดวกสบายในการช้อปปิ้งออนไลน์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 (COVID-19)ในประเทศไทย เป็นแรงผลักให้ผู้บริโภคหันมาช้อปปิ้งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจกลุ่ม E-commerce มีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี คาดการณ์มูลค่าตลาด E-commerce ปี 2020 อาจมีมูลค่าสูงถึง 220,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 35% จากปีก่อนหน้าเลยทีเดียว

ผู้เล่นหน้าเก่าและหน้าใหม่ยังคงร้อนแรงในสมรภูมิ E-commerce

จากการแข่งขันทางธุรกิจกลุ่ม E-commerce ที่มากขึ้นทุกปี วันนี้ไพรซ์ซ่าได้รวบรวมผู้เล่นหน้าเก่า และผู้เล่นหน้าใหม่ในแวดวงธุรกิจนี้มาให้ทุกท่านได้ศึกษา แต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจภาพ Thailand E-commerce Landscape ปี 2020 กันก่อน Thailand E-commerce Landscape สามารถแบ่งผู้เล่นทั้งหมดออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่

1. เครื่องมือการทำการตลาด (Marketing Tools)

กว่าที่แบรนด์จะเป็นที่รู้จักและประสบการณ์ความสำเร็จนั้น ไม่ได้ใช้เวลาเพียงแค่วันสองวันก็สามารถโด่งดังเป็นพลุแตกได้ แต่แบรนด์ต้องมีการวางแผนการตลาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงโฆษณา การคิดรายการส่งเสริมการขาย การบริหารจัดการดูแลฐานลูกค้าที่ดี วางแผนช่องทางในการโปรโมท หรือจะเป็นประชาสัมพันธ์ให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักต่อผู้บริโภคมากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้แบรนด์ของคุณประสบความสำเร็จ ดังนั้นการเลือกใช้เครื่องมือการทำการตลาดต่างๆ จึงสำคัญกับแบรนด์ผู้ผลิตเป็นอย่างมาก

2.อีคอมเมิร์ซ (E-commerce Channel)

เมื่อแบรนด์ผู้ผลิตได้มีการเลือกใช้เครื่องมือในการทำ Marketing เรียบร้อยแล้ว ก็มาในส่วนของช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce ได้เลย เรียกได้ว่า ช่องทาง E-commerce เป็นหนึ่งในช่องทางที่ผู้ผลิตต่างๆควรที่จะเข้ามาแข่งขันในช่องทางนี้ได้แล้ว เนื่องจากว่าปัจจุบันเทคโนโลยี และความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ตทำให้ไม่มีช่องวางระหว่างผู้ค้าและผู้ซื้ออีกต่อไป การจับจ่ายใช้สอยสามารถทำได้ง่ายๆที่บ้าน ในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที

ทำให้การขายผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแบรนด์ผู้ผลิตสามารถขายผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่

  • E-marketplace การนำสินค้าไปขายบนเว็บไซต์ตลาดสินค้าออนไลน์ ที่รวมร้านค้าหลายแห่งไว้ในที่เดียว ซึ่งเราสามารถไปเปิดร้านในนั้นได้ เช่น Lazada Shopee เป็นต้น
  • Social Commerce การขายออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, หรือ Line@ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน Social Media หลายตัวได้เพิ่มฟังก์ชั่นสำหรับการขายสินค้า ทำให้ง่ายต่อการวางขายมากขึ้น
  • E-tailer/Brand.com คือการทำร้านค้าออนไลน์ของตัวเอง ไม่ต้องผ่าน Marketplace คนกลาง ดังนั้นจึงไม่มีการถูกหักค่าคอมมิชชั่นเมื่อเราขายได้ ซึ่งสามารถเปิดร้านค้าออนไลน์เองผ่าน Webstore Platform ต่างๆ เช่น Tarad, LnwShop หรือเปิดร้านค้าออนไลน์เอง ทำเว็บเอง ขายเอง เช่น com และ Beauticool.com เป็นต้น

3. ระบบการชำระเงิน (Payment)

แน่นอนว่าเมื่อธุรกิจ E-commerce มีการเติบโตมากขึ้นในทุกๆปี สิ่งหนึ่งที่จะต้องเติบโตควบคู่กันไปนั่นก็คือ ระบบการชำระเงิน เมื่อเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู้สังคมยุคไร้เงินสด (cashless society) เห็นได้จากผู้คนเริ่มใช้เงินสดในชีวิตประจำวันน้อยลง และหันมาใช้บริการระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แทน ไม่ว่าจะเป็น การชำระเงินเพื่อซื้อสินค้า การชำระบิลค่าบริการต่างๆ ทำให้การแข่งขันของระบบการชำระเงินมีความดุเดือดมากยิ่งขึ้นทั้งจากผู้เล่นธนาคารและกลุ่มบริษัทเอกชน

4. ระบบขนส่ง (Logistic)

จากพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัลและการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ชที่สอดคล้องกัน ส่งผลให้ตลาดบริษัทขนส่งในไทยมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากการวิเคราะห์ของ SCB: Economic Intelligence Center โดยการคำนวณจากบริษัทขนส่งพัสดุในไทยรายใหญ่ประมาณ 22 ราย ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา 2017-2019 พบว่ามูลค่าตลาดของบริษัทขนส่งในไทยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 40 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเลยทีเดียว เป็นผลให้การแข่งขันของธุรกิจบริษัทขนส่งมีความดุเดือด รุนแรงมากขึ้นทุกปี เห็นได้จากการกดราคาค่าบริการ เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการต่างๆหันมาใช้บริการขนส่งของตน ซึ่งระบบขนส่งก็ยังแบ่งออกยิบย่อยได้อีกเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ประกอบการและผู้บริโภค

ข้อมูลเเบบเจาะลึกในเเต่ละภาคส่วน

มาเริ่มจากกลุ่มของเหล่าเครื่องมือ Marketing การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่น่าจดจำ เกือบทุกแบรนด์จะต้องผ่านการใช้บริการแพลตฟอร์มการทำมาเก็ตติ้ง (Marketing) เหล่านี้อย่างแน่นอน

Search engine

โปรแกรมที่ช่วยในการสืบค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่เป็นที่นิยมทั่วโลก ได้แก่ Google / Bing / Baidu / yahoo

Shopping Search Engine

เว็บไซต์แพลตฟอร์มค้นหา ราคาสินค้า อาทิ Google Shopping , Priceza  ผู้ให้บริการเครื่องมือค้นหาสินค้า และบริการเปรียบเทียบราคาอันดับหนึ่งในประเทศไทย

Social Media AD Platform

การทำโฆษณาต่างๆผ่านแพลตฟอร์ม Social Media ที่เป็นที่นิยมทั่วโลกแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram สามารถจัดการโฆษณาผ่าน Business Manager ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยจัดการโฆษณาออนไลน์และวางแผนการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถจัดการบัญชีโฆษณา (Ad Account) ได้หลายบัญชี พร้อมทั้งสร้างกลุ่มเป้าหมายเชิงลึกได้ และยังมีแพลตฟอร์มอื่นให้เลือกใช้หลากหลาย อาทิ Tiktok ad / twitter ad manager  /Youtube Ad / LINE Ads Platform ทางเลือกใหม่ในการทำโฆษณาผ่าน LINE ซึ่งจะต้องซื้อผ่าน Agency เท่านั้น ปัจจุบันในประเทศไทยมี Agency ให้บริการอยู่หลากหลายเจ้า

Email Marketing (EDM) 

หรือที่เรียกกันว่า Electronic Direct Mail การทำการตลาดผ่านช่องทางการส่งอีเมล โดยจะส่งข้อมูลบริการหรือโปรโมชั่นต่างๆของธุรกิจให้แก่ลูกค้า เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายและเพิ่มโอกาสในการซื้อซ้ำ ปัจจุบันมีให้เลือกใช้บริการหลากหลาย อาทิ

Mailchimp / Active Campanign / Sendgrid บริการที่เป็นที่นิยมทั่วโลก ใช้งานง่าย มีระบบจัดการฐานข้อมูลลูกค้า สามารถส่งอีเมลจำนวนมากพร้อมกัน และวัดผลได้อย่างแม่นยำ เหมาะสำหรับใช้สื่อสารในเชิงธุรกิจ

nipamail บริษัท นิภา เทคโนโลยี จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2539 โดย ดร. อภิศักดิ์ จุลยา เป็นบริษัทสัญชาติไทย ได้เปิดบริการด้าน E-mail Marketing ตั้งแต่ปี 2556 ภายใต้แบรนด์ NipaMail สำหรับผู้ที่ต้องการทำการตลาดผ่าน Email ประชาสัมพันธ์ข่าวสารถึงสมาชิก ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นสำหรับส่ง Email Marketing โดยเฉพาะ

Retarketing Platform

หลายๆคนอาจเคยมีประสบการณ์เข้าเว็บไซต์หนึ่ง แล้วพอออกไปใช้เว็บไซต์ที่สอง แต่โฆษณาของเว็บไซต์แรกยังตามมาให้เราเห็น นั่นเป็นเพราะว่า คุณได้ถูกเก็บข้อมูลเป็นกลุ่มเป้าหมาย (Lead Generation) แล้วเรียบร้อย สิ่งเหล่านี้เรียกว่าการทำ Retarketing นั่นเอง ซึ่งมีผู้ให้บริการหลากหลายให้เลือกใช้อย่าง Google/ Facebook / criteo / Adroll

AD network

ตัวแทนรับลงโฆษณา และดูแลโฆษณาในเว็บไซต์ต่างๆให้ โดยโฆษณาจะปรากฏบนเว็บจากทั่วโลกที่เป็นพันธมิตรกับ Google โดยจะเน้นการโฆษณาที่มีการใช้แบนเนอร์ รูปภาพประกอบ ซึ่งไม่ว่าผู้ใช้จะคลิกไปที่เว็บไซต์ไหนก็จะเห็นโฆษณาของคุณ อาทิ Google Display Ad Network (GDN) / Facebook Audience Network / Taboola / bumq เป็นต้น

Affiliate Marketing

ปัจจุบันมีร้านค้าออนไลน์นิยมใช้รูปแบบการตลาดนี้กันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การให้ผู้ใช้แชร์ Link สินค้าต่างๆผ่านโซเชียลมีเดีย การแชร์เปรียบเสมือนการช่วยโฆษณาสินค้าของร้านค้าและผู้แชร์จะได้ผลตอบแทน หากเกิดการซื้อขายผ่าน link ที่แชร์นั่นเอง

ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มทำ Affiliate Marketing ที่โดดเด่น เป็นที่รู้จักอย่าง Lazada Affiliate Program / Joy Pay ของ JD Central เพียงแค่แชร์สินค้า หน้าโฮมเพจ หรือหน้าแคมเปญใดก็ได้ของ JD CENTRAL บนสื่อสังคมออนไลน์ จากนั้นมีเพื่อนสั่งซื้อสินค้าผ่านลิงก์ของคุณภายใน 30 วัน เท่านี้ก็จะได้รับค่าคอมมิชชั่นเข้ากระเป๋าแบบเต็มๆ โดยที่ไม่ต้องลงทุนสต๊อกสินค้าแม้แต่บาทเดียว

Content Marketing

เป็นที่นิยมอย่างมากในยุคสมัยที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อของใครหลายคน ทำให้การทำ Content Marketing ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ (Facebook Fanpage) หรือเว็บไซต์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

เริ่มต้นด้วย Pantip แหล่งคอมมูนิตี้ของคนไทย ไม่รู้ข้อมูลสินค้าไหน เพียงแค่พิมพ์ชื่อสินค้า และต่อท้ายด้วยคำว่า pantip จะปรากฏกระทู้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็นมากมาย เป็นเว็บไซต์ที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี และยังคงเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

มาต่อกันที่ ปันโปร เพจโปรโมชั่นเจ้าแรกของประเทศไทย เป็นที่รู้จักในหมู่แบรนด์สินค้า ร้านอาหารต่างๆที่อยากจะใช้บริการโปรโมทให้แบรนด์ของคุณเป็นที่รู้จักมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีเพจอื่นๆอีกมากมายอาทิ ชอบช้อป – ShobShop / SALE HERE เป็นต้น

Cash back  

Shopback / dealcha / rebatemango / Cashback World Thailand / mycashback แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ มีโปรโมชั่น โค้ดส่วนลด เหมือนเว็บไซต์ช้อปปิ้งทั่วไป แต่ที่พิเศษคือจะได้เงินคืนกลับมาด้วย

Supporting

E-commerce Enabler

ผู้ให้บริการและผู้ช่วยด้านการตลาด (Marketing) ที่จะช่วยสร้างเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงคิดกลยุทธ์ดูแลธุรกิจ E-commerce ให้ตั้งแต่ต้นจนจบ อย่าง acommerce / N-Squared / JetCommerce / silken

Training

บริการให้ความรู้ อบรมตามหัวข้อต่างๆที่สนใจ ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนได้พัฒนาองค์ความรู้ให้เท่าทันปัจจุบันเสมอ อาทิ หลักสูตรอบรมให้แก่นักธุรกิจ SMEs ที่จัดโดยธนาคาร เช่น AEC Business Leader ของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการแบบเจาะลึก เหมาะสำหรับนักธุรกิจ และผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเตรียมความพร้อมและเริ่มต้นธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนให้ประสบความสำเร็จ / SCB SME / Krungthai MMS / Krungsri Business Talk สำหรับลูกค้า SME เพื่อให้ข้อมูลและมุมมองการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล ตลอดจนแบ่งปันประสบการณ์การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม เป็นต้น

Finance for Online Sellers

มาถึงกลุ่มธนาคาร ที่เหมาะสำหรับ SMEs พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ อย่าง Kbank ที่ได้จับมือกับ LAZADA ปฏิวัติวงการเงินกู้ผู้ขายออนไลน์ รองรับการเติบโตของธุรกิจ E-commerce สนับสนุนเงินกู้ให้กับผู้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มลาซาด้า ให้เข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายขึ้น กดปุ่มขอเงินกู้ปั๊บ รู้ผลอนุมัติไว 1 นาทีรับเงิน

รวมทั้งยังมี SCB ที่จับมือกับ LAZADA อีกเช่นกัน ในการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ได้ทันทีไม่ต้องขอเอกสาร เจาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

E-commerce Channel

เมื่อแบรนด์เลือกใช้เครื่องมือในการทำการตลาดแล้ว อีกหนึ่งช่องทางขายออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมในประเทศไทยเป็นอย่างมาก คือ E-commerce ในที่นี้ ไพรซ์ซ่า ได้แบ่งออกเป็น 3 ช่องทาง ได้แก่

1. Marketplace

C2C ให้บริการติดต่อซื้อขายระหว่างพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยกับผู้บริโภค

  • เจ้าใหญ่ผู้นำตลาด Marketplace อย่าง Lazada และ Shopee นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม Marketplace C2C ที่รวบรวมสินค้าเกษตรกรไทยอย่าง Thailandpostmart ที่เป็นช่องทางการกระจายสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน และสินค้าโอทอปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมให้บริการจัดส่งถึงมือผู้บริโภคในระยะเวลา 1 – 2 วันทำการ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายละเอียดของสินค้า และสั่งซื้อ พร้อมชำระเงินค่าสินค้าออนไลน์ได้ทันที

B2C ให้บริการติดต่อซื้อขายระหว่างธุรกิจผู้จัดจำหน่ายสินค้าโดยตรงถึงผู้บริโภค

  • ตัวอย่างเช่น LazMall / Shopee Mall / JD Central / WeMall / NocNoc

B2B ให้บริการติดต่อซื้อขายระหว่างหน่วยงานธุรกิจถึงหน่วยงานธุรกิจ

  • ตัวอย่างเช่น OfficeMate / pantavanij / thaitrade

Cross-boarder

  • ซื้อขายสินค้าข้ามพรหมแดนยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Alibaba และแพลตฟอร์มอื่นเช่น ebay / jd.com / amazon / Taobao

2. Social Commerce

ธุรกิจออนไลน์ไทย 95% ขายสินค้าผ่าน Social Commerce ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยมากที่สุดในโลก (Source : Paypal Asia Social commerce report 2018) แน่นอนว่าแพลตฟอร์มที่นิยมเป็นอย่างมากก็คงหนีไม่พ้น Facebook / Twitter / IG

ทั้งยังมีบริการใหม่อย่าง Facebook Marketplace บริการที่ให้สมาชิกสามารถค้นหาและโพสต์สินค้าและบริการที่ต้องการซื้อหรือขายระหว่างผู้คนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน โดยใช้การส่งข้อความผ่านบริการ Messenger เพื่อติดต่อและนัดพบกันตามสถานที่ต่างๆ ที่จะใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าหรือบริการนั้น

นอกจากนี้แพลตฟอร์มที่ให้บริการด้าน Chatbot ดูแลเรื่องการตอบข้อความ อำนวยความสะดวกให้ผู้ค้า ก็มีให้เลือกใช้อีกมากมาย เช่น Chatpify/ Chatfuel และบริษัทสัญชาติไทยอย่าง botio และยังมีบริการด้าน Order Management ดูแลจัดการเรื่องสต๊อกสินค้าให้อย่าง xCommerce / Zort / Page365 เป็นต้น

3. e-Tailer

การขายสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งนั่นคือจะไม่ผ่านแพลตฟอร์มกลาง โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. Webstore Platform/Software แพลตฟอร์มบริการเปิดร้านค้าออนไลน์ให้แก่พ่อค้าแม่ค้าอาทิ LnwShop / BentoWeb / Tarad

2. B2C Multi-Category เว็บไซต์รวบรวมหลากหลายหมวดให้ได้เลือกช้อป เช่น Central / Shopat24 / Robinson / TVdirect

3. B2C Vertical เว็บไซต์ที่โดดเด่นเฉพาะตามหมวดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • กลุ่ม Electronics เครื่องใช้ไฟฟ้า อย่าง Powerbuy / Jib ที่มีบริการส่งฟรีภายใน 3 ชั่วโมง / Advice เป็นต้น
  • กลุ่ม Home & Living รวมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน Homepro / Koncept furniture SB Design Square เป็นต้น
  • กลุ่ม Fashion & Apparel เสื้อผ้าแฟชั่น Pomelo / Zara / Uniqlo / H&M เป็นต้น
  • กลุ่ม Beauty ความสวยความงาม Watson / Konvy / Beauticool เป็นต้น
  • กลุ่ม Book&Entertainment หนังสือ Kinokuniya / B2S / Se-ed เป็นต้น
  • กลุ่ม Grocery สินค้าอุปโภคบริโภค Makroclick / Tops / Tescolotus / BigC / CP Freshmart และ Grocer lock
  • กลุ่ม Insurance ประกันออนไลน์ Priceza Money / Tip insure / Frank เป็นต้น

Payments

ต่อมาเข้าสู่ขั้นตอนระบบการชำระเงิน ปัจจุบันเนื่องจากธุรกิจ E-commerce ได้รับความนิยม จึงทำให้ระบบ Payment มีการแข่งขันกันมากขึ้น ทั้งจากผู้เล่นธนาคารและกลุ่มบริษัทเอกชน ในที่นี้ขอแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ Payment Gateway และ E-Wallet          

กลุ่ม Payment Gateway ผู้เล่นอย่าง Omise เป็นระบบรับชำระเงินและจัดการเงิน โดยสามารถควบคุมได้เองทุกอย่าง ดูแลแบบครบวงจรตั้งแต่จบการขายที่หน้าเว็บไซต์ของร้านค้า ไม่มีป็อปอัพกวนใจ หรือการส่งผู้ซื้อไปยังหน้าต่างใหม่ / 2C2P บริการชำระเงินออนไลน์เช่นเดียวกัน เป็นที่นิยมมากเห็นได้ว่าบริษัทใหญ่ๆที่ต้องมีระบบชำระเงินออนไลน์ส่วนใหญ่จะใช้บริการจากเจ้านี้

กลุ่ม E-Wallet

  • Bank ระบบการชำระเงินจากแอพพลิเคชั่น (Mobile Banking) ตรงจากธนาคาร เริ่มด้วยแม่มณีจาก SCBeasy จากการสร้างความไว้วางใจให้แก่พ่อค้าแม่ค้า สู่ของมงคล ที่ต้องมีแม่มณีตั้งไว้หน้าร้านแทบทุกร้านจนกลายเป็นคาแรกเตอร์ของ SCBeasy และแอพพลิเคชั่นธนาคารอื่นๆอีกมากมายเช่น KPlus / Krungthai NEXT / KMA (กรุงศรี) / Thanachart Connect / TMB Touch / UOB Mighty Thailand / Bualuang mBanking
  • Pure Wallet  กระเป๋าเงินออนไลน์สะดวกสบาย ไม่ต้องพกเงินสด จ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟค่าบัตรเครดิตอย่าง true money wallet / rabbit line pay ซื้อสติ๊กเกอร์ธีมไลน์ต่างๆและไว้เติมเงินขึ้นขนส่งสาธารณะอย่าง BTS เป็นต้น
  • E-commerce wallet กระเป๋าเงินสำหรับแอพพลิเคชั่นของ E-commerce อย่าง LAZADA ที่มี LAZADA Wallet สามารถเติมเงินและชำระเงินสำหรับไว้ใช้ซื้อของในแอพได้

Logistics & Fulfilment 

การแข่งขันในธุรกิจระบบขนส่งก็ร้อนแรงดุเดือดไม่แพ้กัน ไพรซ์ซ่าได้แบ่งกลุ่มไว้ 6 กลุ่มดังนี้

  • 3PL หรือ Third Party Logistics การให้บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการขนส่งมาทำหน้าที่บางอย่างหรือเกือบทั้งหมด เช่น ระบบขนส่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น อาทิ ไปรษณีย์ไทย / Kerry / Flash express เป็นต้น
  • 3PL Export ที่เชี่ยวชาญด้านการขนส่งต่างประเทศอย่าง DHL / smeshipping
  • Fulfillment บริการช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ มีทั้งระบบจัดการสต๊อกสินค้า การแพ็คสินค้า และจัดส่งให้ถึงมือลูกค้า เช่น siam outlet / meowlogis / shipyours เป็นต้น
  • Shipping Aggregator ตัวกลางบริษัทขนส่งสินค้า ที่ได้รวบรวมบริการขนส่งพัสดุเจ้าต่างๆ เข้ามาอยู่ในระบบ เช่น shippop / easyparcel / Smartship
  • On Demand แพลตฟอร์มบริการรับส่งสินค้าตามความต้องการ อาทิ Grab / Lineman / Lalamove / เป็นต้น
  • Parcel Locker ระบบตู้ล็อคเกอร์ทางเลือกใหม่ในการจัดส่งสินค้า เสมือนตู้ไปรษณีย์ที่ผสมผสานเทคโนโลยี สร้างความสะดวกสบายให้ผู้ใช้งานมากขึ้น ผู้ให้บริการได้แก่ Kerry / Lockbox / box24corp

สุดท้ายสำหรับองค์กรและหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่-เล็กในการดำเนินธุรกิจอย่าง ThaiEcommerce หรือสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพในการทําธุรกิจ พร้อมช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจประเทศไทยพัฒนา และเกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง และยังมีองค์กรอีกมากมายที่พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการทุกท่านอาทิ DBD กรมพัฒนาธุรกิจการค้า / ETDA สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ / สสว. SME / DITP กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ / DAAT Digital Advertising Association

บทความโดย priceza.com

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

DeFi เกิดมาเพื่อทำลายระบบธนาคารจริงหรือไม่

เก็บตกประเด็นน่าสนใจจากงานเสวนาในหัวข้อ he Rise of Decentralized Finance (DeFi): Disruption or Distraction? จาก Money 20/20 Asia...

Responsive image

EV จีนวิกฤตหนัก สงครามราคาเดือด รถขายไม่ออก ผู้ผลิตรายเล็กส่อไปไม่รอด

ประเทศจีนเจ้าของตลาดรถยนต์ EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังตกอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กำลังเผชิญกับภาวะอุปทานส่วนเกินและการแข่งขันราคาที่ดุเดือด สร้างผลกระทบครั้งใหญ่ให้กับผู้ผลิตร...

Responsive image

AI จีนไปไกลแค่ไหน สู้สหรัฐฯ ได้ไหม ในวันที่ถูกบีบจนมุม

จีนเข้าสู่ภาวะขาดแคลนชิปอย่างหนัก ชิปที่สต็อกไว้อาจเพียงพอสำหรับใช้พัฒนา AI ได้อีก 1 ปี หรืออีก 18 เดือนข้างหน้าเท่านั้น สงครามครั้งนี้เพิ่งเริ่ม และยังไม่มีทีท่าที่จะจบลงง่าย ๆ เพ...