20 ตระกูลที่รวยที่สุดในเอเชีย 2024 ปีที่เศรษฐกิจเอเชียจะเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่ | Techsauce

20 ตระกูลที่รวยที่สุดในเอเชีย 2024 ปีที่เศรษฐกิจเอเชียจะเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่

Bloomberg ได้จัดอันดับ 20 ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียปี 2024 สำหรับปีนี้มีแนวโน้มที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ไร้เงาตระกูลชาวจีนแผ่นดินใหญ่ติด 1 ใน 20 ตระกูลที่รวยที่สุด เกิดอะไรขึ้นในเอเชียกันแน่ ?

ภาพรวม 2024 ปีที่อินเดียเติบโตแซงหน้าจีน

นับตั้งแต่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ส่งผลให้ตระกูลเศรษฐีฮ่องกงเก่าแก่ต้องเผชิญกับความอยากลำบาก เช่น มูลค่าหุ้นลดลง และมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ก็ตกต่ำ เนื่องจากเสี่ยงต่อวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังดำเนินอยู่ในจีน  ส่งผลให้ความมั่งคั่งของตระกูลเก่าแก่เหล่านี้ต่ำกว่าในปีที่ผ่านมา 

แต่ทว่าปริมาณความมั่งคั่งโดยรวมของตระกูลชาวเอเชียที่ร่ำรวยกลับเพิ่มขึ้นถึง 55 พันล้านดอลลาร์ รวมเป็น 534 พันล้านดอลลาร์  เนื่องจากได้แรงหนุนจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอินเดีย และทำให้ตลาดหุ้นของอินเดียกลายเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกแซงหน้าฮ่องกงไป

กระทั่ง Goldman Sachs หนึ่งในวาณิชธนกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก ยังเคยคาดการณ์ว่าอินเดียจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกภายในปี 2075 แซงหน้าญี่ปุ่น เยอรมนี รวมถึงสหรัฐอเมริกา เพราะมีกำลังและศักยภาพแรงงานพร้อมสรรพ

ปีนี้นับเป็นปีแรกตั้งแต่ปี 2020 ที่ไม่มีตระกูลจากจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ในรายชื่อตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย

สถานการณ์นี้ยิ่งแสดงให้เห็นว่าขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชียกำลังเปลี่ยนแปลงไป จากจีนที่เคยเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมาอย่างยาวนานและทำให้กลุ่มตระกูลที่มีธุรกิจเชื่อมโยงกับการเติบโตของจีนร่ำรวยมหาศาล กลับกลายเป็นว่าอินเดียกำลังมีอำนาจมากขึ้นในแง่ของความมั่งคั่งและอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียแทน

20 อันดับตระกูลที่รวยที่สุดในเอเชีย 2024

สำรวจจาก Lombard Odier ในปี 2023 พบว่า คนรวยในเอเชียแปซิฟิก 76.1% มองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การรักษาความมั่งคั่งให้อยู่ต่อไปเรื่อย ๆ และอีกกว่า 56.4% มองว่าสิ่งสำคัญคือ การปกป้องทรัพย์สินของตนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว

หรืออาจพูดง่าย ๆ คือ คนรวยในเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่มองว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นคนรวย คือ การยังคงรวยต่อไปนั่นเอง

อันดับ 1: ตระกูล Ambani จากอินเดีย มีมูลค่าทรัพย์สิน 3.6 ล้านล้านบาท ($102.7BN) 

Ambani คือ เจ้าของบริษัท Reliance Industries บริษัทที่ประกอบธุรกิจหลายประเภทรวมกัน หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์กลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในอินเดีย 

นอกจากนี้ปัจจุบันบริษัทของตระกูลนี้ยังได้จับธุรกิจมากมาย เช่น ธุรกิจเทคโนโลยี การค้าปลีก และพลังงานสะอาด ซึ่งบริหารโดยคนในตระกูลเดียวกัน ซึ่งดำเนินกิจการโดยคนในตระกูลรุ่นที่ 3 และพวกเขายังเป็นตระกูลที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ที่แพงที่สุดในโลกอีกด้วย

อันดับ 2: ตระกูล Hartono จากอินโดนีเซีย มีมูลค่าทรัพย์สิน 1.6 ล้านล้านบาท ($44.8BN)

Hartono คือ เจ้าของบริษัท DJARUM บริษัทผลิตยาสูบที่ตระกูลนี้ซื้อกิจการมาในปี 1950 และปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวเติบโตขึ้นจนกลายเป็นผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย 

ต่อมาในปี 1963 ลูกชายของตระกูลนี้ได้หันมาเริ่มต้นธุรกิจด้านการเงินด้วยการลงทุนในธนาคารกลางเอเชีย โดยมีลูกชายรุ่นที่ 3 ของตระกูลดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการธนาคารกลางเอเชีย และปัจจุบันการลงทุนในธนาคารแห่งนี้กลายเป็นแหล่งรายได้หลักของตระกูล

อันดับ 3: ตระกูล Mistry จากอินเดีย มีมูลค่าทรัพย์สิน 1.2 ล้านล้านบาท ($36.2BN)

Mistry คือ เจ้าของบริษัท Shapoorji Pallonji Group บริษัทที่ครอบคลุมธุรกิจหลากหลายสาขา รวมถึงวิศวกรรมและการก่อสร้าง มีจุดเริ่มต้นมาจากการทำธุรกิจก่อสร้างร่วมกับชาวอังกฤษในปี 1865 ถือเป็นบริษัทก่อสร้างที่สำคัญของอินเดีย เพราะมีส่วนร่วมในการก่อสร้างอาคารสำคัญต่าง ๆ เช่น ธนาคารกลางอินเดียในมุมไบ และพระราชวังอัลอาลัมสำหรับสุลต่านแห่งโอมาน เป็นต้น

อันดับ 4: ตระกูล Kwok จากฮ่องกง มีมูลค่าทรัพย์สิน 1.1 ล้านล้านบาท ($32.3BN)

Kwok คือ เจ้าของบริษัท Sun Hung Kai Properties หนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง ตระกูลนี้ทำรายได้มหาศาลจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และส่วนใหญ่มักเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูง ในปัจุบัน Sun Hung Kai Properties กำลังดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกงด้วยจำนวนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ 14,600 แผง

อันดับ 5: ตระกูลเจียรวนนท์ จากไทย มีมูลค่าทรัพย์สิน 1.1 ล้านล้านบาท ($31.2BN)

เจียรวนนท์ ตระกูลมหาเศรษฐีของไทยเจ้าของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่มีทั้งธุรกิจอาหาร การค้าปลีก และโทรคมนาคม ปัจจุบันมีธนินท์ เจียรวนนท์ดำรงตำแหน่งประธานอาวุโสของบริษัท ล่าสุดตระกูลเจียรวนนท์ได้ก่อตั้งกองทุนมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ร่วมกับ LDA Capital เป็นกองทุนเพื่อการลงทุนในบริษัทที่กำลังเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อันดับ 6: ตระกูลอยู่วิทยา จากไทย มีมูลค่าทรัพย์สิน 1 ล้านล้านบาท ($30.2BN)

อยู่วิทยา คือ ตระกูลเจ้าของบริษัท TCP GROUP บริษัทอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของประเทศไทย ในปี 1975 เฉลียว อยู่วิทยาได้คิดค้นเครื่องดื่มชูกำลังชื่อ ‘กระทิงแดง’ ออกมาขายและได้รับความนำยิมอย่างมากมาจนถึงปัจจุบัน

อันดับ 7: ตระกูล Jindal จากอินเดีย มีมูลค่าทรัพย์สิน 9.8 แสนล้านบาท ($27.6BN)

Jindal คือ เจ้าของบริษัท OP Jindal Group เป็นกลุ่มบริษัทที่ครอบคลุมภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่เหล็กไปจนถึงพลังงาน ซีเมนต์ และกีฬา ปัจจุบันดำเนินการโดยลูกชายรุ่นที่ 3 ของตระกูลทั้ง 4 คน ปัจจุบันบริษัท OP Jindal Group และ Jindal Steel & Power มีแผนดำเนินการสร้างเหมืองแร่เหล็กมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ในแอฟริกาใต้

อันดับ 8: ตระกูล Tsai จากไต้หวัน มีมูลค่าทรัพย์สิน 8.5 แสนล้านบาท ($24.0BN)

Tsai คือ เจ้าของบริษัท Cathay Insurance และ Fubon Insurance บริษัทด้านประกันภัยและการเงินรายใหญ่สองแห่งในไต้หวัน นอกจากนี้ตระกูล Tsai ยังได้ลงทุนในด้านอื่น ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์และโทรคมนาคมเพิ่มเติมอีกด้วย

อันดับ 9: ตระกูล Cheng จากฮ่องกง มีมูลค่าทรัพย์สิน 8.4 แสนล้านบาท ($23.6BN)

Cheng คือ เจ้าของบริษัท Chow Tai Fook Jewellery บริษัทที่จัดจำหน่ายอัญมณีรายใหญ่ในฮ่องกง นอกจากนี้ตระกูล Cheng ยังเป็น New World Development ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานรายใหญ่ของฮ่องกงอีกด้วย 

อันดับ 10: ตระกูล Birla จากอินเดีย มีมูลค่าทรัพย์สิน 7.7 แสนล้านบาท ($21.8BN)

Birla คือ เจ้าของบริษัท Aditya Birla Group เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย ธุรกิจของ Aditya Birla Group ประกอบด้วยกันหลายประเภท เช่น บริการทางการเงิน การค้าปลีก และธุรกิจโลหะ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย 

ปัจจุบัน Aditya Birla Group ทุ่มเงินมากกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐในธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับ ซึ่งกลายเป็นตลาดโลหะมีค่า เช่น ทองคำและเงิน ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

อันดับ 11: ตระกูล Pao/Woo จากฮ่องกง มีมูลค่าทรัพย์สิน 7.3 แสนล้านบาท ($20.7BN)

Pao คือ เจ้าของบริษัท BW Group บริษัทเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 1979 และเมื่อบริษัทเดินเรือเติบโต ตระกูลนี้จึงได้ขยายธุนกิจมาทำบริษัท Wheelock บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง

อันดับ 12: ตระกูล Lee จากเกาหลีใต้ มีมูลค่าทรัพย์สิน 6.5 แสนล้านบาท ($18.2BN)

Lee คือ เจ้าของบริษัท Samsung หนึ่งบริษัทเทคโนโลีชั้นนำของเกาหลีใต้ เริ่มต้นทำธุรกิจจากการส่งออกผักผลไม้และปลา จากนั้นในปี 1969 จึงเริ่มการก่อตั้ง Samsung Electronics และก้าวมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกในปัจจุบัน

อันดับ 13: ตระกูล Bajaj จากอินเดีย มีมูลค่าทรัพย์สิน 6.1 แสนล้านบาท ($17.1BN)

Bajaj คือ เจ้าของบริษัท Bajaj Group บริษัทประกอบธุกรกิจหลายประเภทย ตั้งแต่รถจักรยานยนต์ ซีเมนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ปัจจุบัน Bajaj Auto มียอดขายรถจักรยานยนต์มากกว่า 18 ล้านคันในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก

อันดับ 14: ตระกูล Kwek จากสิงคโปร์และมาเลเซีย มีมูลค่าทรัพย์สิน 5.7 แสนล้านบาท ($16.0BN)

ตระกูล Kwek เริ่มก่อตั้งบริษัท Hong Leong Group ที่สิงคโปร์เมื่อปี 1941 ทำธุรกิจหลายประเภท เช่น พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การบริการ และการเงิน หลังจากนั้นสมาชิกของตระกูลถูกส่งไปยังมาเลเซียเพื่อขยายกิจการ ต่อมา Hong Leong Group ก็เติบโตขึ้นมาเป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย

อันดับ 15: ตระกูล Sy จากฟิลิปปินส์ มีมูลค่าทรัพย์สิน 5.7 แสนล้านบาท ($16.0BN)

Sy เริ่มต้นจากการขายข้าว ปลาซาร์ดีน และสบู่ ต่อมาในปี 1958 เปิดร้านรองเท้าแห่งแรก จุดเริ่มต้นจากการเป็นร้านค้าเล็กๆ ในตัวเมืองมะนิลา ปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจหลากหลาย เช่น การค้าปลีก การธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์

อันดับ 16: ตระกูล Kadoorie จากฮ่องกง มีมูลค่าทรัพย์สิน 5.5 แสนล้านบาท ($15.4BN)

Kadoorie คือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ CLP Holdings ผู้ผลิตไฟฟ้าให้กับเกาลูนและเขตดินแดนใหม่ และ Hongkong & Shanghai Hotels ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นเจ้าของเครือโรงแรม Peninsula หนึ่งในเครือโรงแรมระดับโลกแห่งแรก ๆ ที่ห้ามเสิร์ฟหูฉลามในทุกเมนู

อันดับ 17: ตระกูล Lee จากฮ่องกง มีมูลค่าทรัพย์สิน 5.1 แสนล้านบาท ($14.3BN)

Lee คือ เจ้าของบริษัท Lee Kum Kee ผู้คิดค้นและผลิตซอสหอยนางรม เริ่มต้นจากตั้งโรงงานในมณฑลกวางตุ้งเมื่อปี 1902 แต่ถูกไฟไหม้ จึงย้ายไปยังมาเก๊าและย้ายไปยังเมืองที่เจริญรุ่งเรืองกว่าอย่างฮ่องกง นอกจากนี้ในปี 1992 ยังร่วมลงทุนในธุรกิจอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ และเป็นเจ้าของทรัพย์สินด้านอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก รวมถึงหอคอยเครื่องส่งรับวิทยุในลอนดอน

อันดับ 18: ตระกูลจิราธิวัฒน์ จากไทย มีมูลค่าทรัพย์สิน 5 แสนล้านบาท ($14.2BN)

จิราธิวัฒน์ หนึ่งในตระกูลใหญ่ของประเทศไทย ดำเนินการในธุรกิจ Central Group หนึ่งในกลุ่มบริษัทการค้าเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและมีบริษัทย่อยมากกว่า 50 แห่ง ล่าสุด Central Group เพิ่งซื้อกิจการห้างสรรพสินค้า Selfridges ในเครือสหราชอาณาจักร

อันดับ 19: ตระกูล Hinduja จากอินเดีย มีมูลค่าทรัพย์สิน 4.9 แสนล้านบาท ($13.9BN)

Hinduja คือเจ้าของ Hinduja Group เริ่มต้นธุรกิจด้านการค้าและการธนาคารในปี 1914 ปัจจุบันดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น พลังงาน ยานยนต์ การเงิน และการดูแลสุขภาพ ตระกูลนี้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มากมายทั้งในอินเดียและประเทศอื่น ๆ เช่น อังกฤษ (ลอนดอน)

อันดับ 20: ตระกูล Torii / Saji จากญี่ปุ่น มีมูลค่าทรัพย์สิน 4.7 แสนล้านบาท ($13.3BN)

Torii คือ เจ้าของบริษัท Suntory ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1899 จำหน่ายทั้งไวน์และเหล้า เบียร์ สุราสไตล์ตะวันตก ต่อมาในปี 1961 บริษัท Suntory ก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มบริษัทที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งดำเนินธุรกิจตั้งแต่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจนถึงอาหารเพื่อสุขภาพ

อ้างอิง: bloomberg, asia.nikkei

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Techsauce ร่วมมือ BE8-Scoutout จัดงาน AI Club by Techsauce ‘Exclusive Dinner Talk’

Techsauce ร่วมมือ BE8-Scoutout จัดงาน AI Club by Techsauce ‘Exclusive Dinner Talk’ มุ่งสร้าง Community ด้านเทคโนโลยี...

Responsive image

4 THAI (For Thailand) Techsauce เผยกลยุทธ์เชื่อมรัฐ เอกชน ดันประเทศไทยเป็น Tech Gateway

Techsauce เผยกลยุทธ์ 4 THAI ผสานรัฐ-เอกชน เร่งไทยเป็น Tech Gateway ของภูมิภาค พร้อมยก Techsauce Global Summit เป็นศูนย์กลางงานเทคโนโลยีระดับโลกจากไทย...

Responsive image

Krungsri Finnovate เปิด 4 ดีลความภาคภูมิใจระดับเอเชีย

Krungsri Finnovate เปิด 4 ดีล แห่งความภาคภูมิใจที่ลงทุนผ่านกองทุน Finnoventure Private Equity Trust I จุดสตารท์วงการ Startup ให้คึกคัก...