เครื่องมือเครื่องจักรโรงสุรากลั่นชุมชน

ไม่ว่าสมรภูมิสุราขาวจะดุเดือดเพียงใด แต่ก็ยังมีผู้สนใจจะผลิตสุรากลั่นชุมชนอยู่ เนื่องจากมีตลาดอยู่ในท้องถิ่น อีกทั้งเป็นการนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่ราคาตกต่ำมาแปรรูปเป็นสินค้าที่มูลค่าเพิ่มได้ โดยปัจจุบันกรมสรรพสามิตมีหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการผลิตสุรา สามารถขออนุญาตผลิตสุรากลั่นชุมชนได้ (เฉพาะประเภทสุราขาว) โดยผู้ขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด และต้องขออนุญาตสร้างโรงงานจากกรมฯ ก่อน ทั้งนี้ขั้นตอนต่างๆ สามารถสอบถามได้จากสรรพสามิตพื้นที่

อย่างไรก็ตาม โรงสุราชุมชนในปัจจุบันยังถูกกำหนดให้มีเครื่องจักรที่ใช้กำลังงานไม่เกิน 5 แรงม้า ทำให้มีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่สังคมชาวสุราชุมชน ได้พัฒนากันมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี จนได้หลักการทำโรงสุรากลั่นที่อยู่ในข้อกำหนดดังกล่าวและใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

และเนื่องจาก พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2562 ฉบับที่ 2 ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และจะมีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน (6 เดือน) ทำให้กรมสรรพสามิต จะต้องแก้ไขกฎกระทรวง เรื่องการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ขยายกำลังงานให้เพิ่มเป็น 50 แรงม้า เพื่อให้สอดคล้องกับ พรบ. โรงงาน ฉบับใหม่นี้ แต่ก็ยังต้องรอให้พ้น 6 เดือนไปก่อน หรือเขาอาจจะไม่เพิ่มแรงม้าให้เลยก็ได้ ดังนั้นในระยะนี้หากผู้ใดจะสร้างโรงกลั่นสุราชุมชน จึงต้องยึดหลักเกณฑ์เดิมไปก่อน

อุปกรณ์เตรียมวัตถุดิบ

เตานึ่งข้าวเหนียว เครื่องคั้นน้ำผลไม้ หากอยู่ในบริเวณโรงกลั่น จะต้องนำมาคำนวณแรงม้าด้วย เพราะเป็นอุปกรณ์ที่มีการใช้พลังงาน

ถังหมัก

หากจะกลั่นสุราขาว 40 ดีกรี 1 ลิตร จะต้องใช้น้ำหมัก 8 ลิตร ถ้าน้ำหมักมีแอลกอฮอล์ 5 ดีกรี หรือใช้น้ำหมัก 4 ลิตรถ้ามีแอลกอฮอล์ 10 ดีกรี

ตัวเลขนี้คำนวณตรงๆ จากสูตรคณิตศาสตร์ แต่ปกติการทำสุราจะมีการตัดหัวตัดหาง ดังนั้นจึงต้องใช้น้ำหมักมากกว่าที่คำนวณได้ข้างต้นอีกสัก 50 % ทำให้โรงกลั่นต้องมีถังหมักที่เพียงพอ

นอกจากนั้นอุณหภูมิการหมักยังมีผลอย่างมากต่อปริมาณน้ำเหล้าที่ได้ จึงต้องใช้วิธีการต่างๆ ในการควบคุม เช่นใช้น้ำหล่อเย็น ใช้ภาชนะหมักขนาดเล็กให้ระบายความร้อนได้ดี หรือแม้แต่พ่นละอองน้ำไว้ในห้องหมักเพื่อลดอุณหภูมิเป็นต้น

ตัวถังหมักไม่ใช้พลังงาน จึงไม่ต้องคำนวณแรงม้า แต่ระบบหล่อเย็นไม่ว่าด้วยวิธีใด ต้องนำมาคำนวณแรงม้าด้วย

ถังหมักน้ำส่ามีรูปแบบต่างๆ กันตามลักษณะของวัตถุดิบ และคุณภาพหรือราคาของสุรา โดยหากเป็นสุราที่ขายราคาถูก ก็จะไม่ใช้ถังหมักโลหะเนื่องจากมีราคาแพง ลักษณะของถังหมักที่ใช้กันในวงการสุราชุมชน แสดงในภาพข้างล่างนี้

เครื่องกลั่น

ในวงการสุราชุมชน มีรูปแบบเครื่องกลั่นอยู่ 2 แบบคือแบบหม้อต้ม กับแบบหอกลั่น ทั้งสองแบบต่างใช้พลังงานความร้อนซึ่งต้องคำนวณแรงม้า

หม้อต้ม

ถ้าใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ให้คำนวณแรงม้าตามวิธีของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยคิดตามเส้นผ่านศูนย์กลางของเตา ถ้าใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง ให้คำนวณจากน้ำหนักแก๊สที่ใช้ต่อชั่วโมง รายละเอียดดังบทความนี้

หอกลั่น

หอกลั่นสุราชุมชนมีหลายรูปแบบ โดยอาจต้มน้ำในหม้อต้มเพื่อผลิตไอน้ำไปขับหอกลั่น หรือใช้ฟืนหรือแก๊สไปต้มน้ำส่าใต้หอกลั่นโดยตรงก็ได้ ถ้าใช้ไอน้ำจากหม้อต้มน้ำ จะต้องไม่เข้าเกณฑ์เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือบอยเลอร์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม รายละเอียดจากบทความนี้

หม้อต้มไอน้ำด้วยฟืนสำหรับขับหอกลั่น ขนาด 0.5 แรงม้า

แต่ถ้าใช้แก๊สต้ม ก็คำนวณเช่นเดียวกับเครื่องกลั่นแบบหม้อต้ม

ถังบ่ม ถังผสม

เมื่อกลั่นได้น้ำสุราแล้ว จะต้องมีถังพักเก็บ และบ่มไว้ ก่อนที่จะนำมาผสมน้ำเป็นสุราที่มีดีกรีตามต้องการในถังผสม ถังเหล่านี้ควรเป็นถังโลหะสเตนเลสเกรดที่สามารถทนแอลกอฮอล์ความเข้มข้นสูงๆ ได้ แต่ก็ยังพบผู้ผลิตที่ใช้ถังน้ำตามบ้านทั่วไปอยู่

เครื่องกรองน้ำ RO หรือน้ำดีมิน

น้ำที่ใช้ผสมสุราในการปรับดีกรีให้ได้ตามต้องการ จะต้องเป็นน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุ เพราะสุราที่มีดีกรีสูงที่ได้จากการกลั่น เมื่อผสมกับน้ำที่มีแร่ธาตุ จะทำให้แร่ธาตในน้ำตกตะกอนเกิดเป็นฝ้าขุ่น ในโรงกลั่นสุราจึงจำเป็นต้องมีเครื่องผลิตน้ำสำหรับผสมสุรา ซึ่งเครื่องผลิตน้ำนี้ก็มีปั๊มที่สร้างแรงดันในการกรองทำให้ต้องคำนวณแรงม้าด้วย

เครื่องบรรจุ เครื่องปิดฝา เครื่องติดฉลาก

เมื่อได้น้ำสุราที่ผสมแล้ว ต้องบรรจุขวด ปิดฝา และติดฉลาก เครื่องมือเหล่านี้ถ้าใช้มอเตอร์ต้องคำนวณเป็นแรงม้าด้วย แต่มีเครื่องรุ่นที่ใช้คนหมุนแบบกึ่งอัตโนมัติ (โรงสุรากลั่นชุมชน อนุญาตให้มีคนงานได้ น้อยกว่า 7 คน)

เครื่องกรองสุรา

ก่อนบรรจุสุราลงขวด จะต้องแน่ใจว่าน้ำสุราใสไม่มีตะกอนปะปนอยู่ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องกรองสุรา ซึ่งก็ต้องใช้ปั๊มในการดันน้ำสุราให้ผ่านตัวกรอง จึงเป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่ใช้แรงม้า

ปั๊ม

ในโรงงานสุราต้องใช้ปั๊มในการถ่ายน้ำส่าจากถังหมักไปเครื่องกลั่น ถ่ายน้ำสุราไปถังผสม ปั๊มเหล่านี้จะระบุกำลังแรงม้าไว้ที่ฉลากของปั๊ม บางชนิดอาจระบุเป็นหน่วยกิโลวัตต์ ก็สามารถแปลงหน่วยได้โดย 1 กิโลวัตต์ = 1.34 แรงม้า

แหล่งซื้อเครื่องจักร

ในแหล่งผลิตสุรากลั่นหลักๆ เช่นจังหวัดแพร่ และโคราช อาจจะมีช่างทำเครื่องกลั่นในท้องถิ่น แต่เราไม่มีข้อมูลของช่างเหล่านั้นเลย ส่วนพันธมิตรเว็บสุราไทยที่ได้ร่วมงานจัดอบรมสุรากลั่นกันมาตั้งแต่ปี 2547 ทำให้มีประสบการณ์สร้างเครื่องกลั่นมายาวนาน ปัจจุบันพร้อมที่จะสร้างเครื่องให้แล้ว โดยผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่

ร้านเครื่องกลั่นสุราไทย
โทร 062 284 2489

Leave a comment